บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. หมวดใหญ่
...ตั้งแต่ตรัสรู้
...ปฐมเทศนา
...อาทิตตปริยายสูตร
...สารีบุตร-โมคคัลลานะ
...อาจริยวัตร
...ห้ามบวช
...สามเณร
...ลักษณะที่ไม่ให้บวช

๒.อุโบสถ

๓.วันเข้าพรรษา

๔.หมวดปวารณา

 

ทรงแสดงธรรมครั้งแรก

              เมื่อเสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสีแล้ว ครั้งแรกภิกษุปัญจวัคคีย์แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง แต่เมื่อทรงเตือนให้นึกถึงว่า เมื่อก่อนพระองค์ไม่เคยตรัสบอกเลยว่าตรัสรู้ บัดนี้ตรัสบอกแล้วจึงควรตั้งใจฟัง ก็พากันตั้งใจฟัง. พระผู้มีพระภาคจีงทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีใจความสำคัญ คือ ๑. ทรงชี้ทางที่ผิด อันได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค (การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วนสุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง) ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน. ๒. ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยละเอียด. ๓. ทรงแสดงว่าทรงรู้ตัวอริยสัจจ์ทั้งสี่, ทรงรู้หน้าที่อันควรทำในอริยสัจจ์ทั้งสี่ และทรงรู้ว่าได้ทรงทำหน้าที่เสร็จแล้ว จึงทรงแน่พระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว (อันแสดงว่าทรงปฏิบัติจนได้ผลด้วยพระองค์เองแล้ว). เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ขอบวชก่อน. ต่อมา พระวัปปะกับพระภัททิยะ สดับพระธรรมเทศนา ได้ดวงตาเห็นธรรมและได้ขอบวช. ต่อมา พระมหานามะกับพระอัสสชิสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ขอบวช เป็นอันได้บวชครบทั้งห้ารูป.

ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร

              ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีใจความสำคัญคือ ๑. รูป(ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉย ๆ) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (ความคิดหรือเจตนา) และวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา หู เป็นต้น) ไม่ใช่ตน. ถ้าเป็นตนก็จะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างนั้นได้ เพราะไม่ใช่ตนจึงบังคับบัญชาไม่ได้. ๒. แล้วตรัสถามให้ตอบเป็นข้อ ๆ ไปว่า ขันธ์ ๕ (มีรูป เป็นต้นนั้น) เที่ยงหรือไม่เที่ยง ? ตอบว่า ไม่เที่ยง. สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือสุข ? ตอบว่า เป็นทุกข์. สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ? ตอบว่า ไม่ควร. ๓. ตรัสสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า รูป เป็นต้น นั้น ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ๔. ตรัสแสดงผลว่า อริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เป็นต้นนั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. รู้ว่าสิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก. ภิกษุปัญจวัคคีย์มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน. ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ องค์ (ทั้งพระพุทธเจ้า).

แสดงธรรมโปรดยสกุลบุตรกับครอบครัวและมิตรสหาย

              ยสกุลบุตรเบื่อหน่ายชีวิตครองเรือน กลุ้มใจออกจากบ้านไปยังป่าอิสิปตนมิคทายวันในเวลาเช้ามืด ได้พบพระผู้มีพระภาค สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม. เศรษฐีผู้เป็นบิดาออกตาม พบพระผู้มีพระภาคได้สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย (พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์) เป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็นอุบาสกคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัย. ในขณะที่ฟังพระธรรมเทศนาที่แสดงแก่เศรษฐีผู้เป็นบิดา ยสกุลบุตรก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ และขอบวช. ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลก ๗ องค์. รุ่งเช้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระยสะเสด็จไปฉันที่เรือนเศรษฐีผู้บิดา ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภริยาของพระยสะให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสิกาถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต. นับเป็นอุบาสิกาชุดแรกในโลก. ครั้นแล้วมีเพื่อนของพระยสะ ๔ คน กับอีก ๕๐ คนตามลำดับ ได้มาฟังพระธรรมเทศนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงมีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ องค์.

ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา

              ผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายส่งไปประกาศพระศาสนา โดยให้ไปทิศทางละ ๑ รูป อย่าไปรวมกัน ๒ รูป ส่วนพระองค์ตรัสว่า จะเสด็จไปแสดงธรรม ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม.

ทรงอนุญาตการบรรพชาอุปสมบท

              ภิกษุที่ไปเผยแผ่พระศาสนาเหล่านั้น นำกุลบุตรที่ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทมาเฝ้า เพื่อให้พระผู้มีพระภาคทรงบรรพชาอุปสมบทให้ ได้รับความลำบาก จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ อนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นดำเนินการได้เอง โดยให้ผู้ประสงค์จะบวชโกนผม ปลงหนวด นุ่งห่มย้อมฝาด ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ครบ ๓ ครั้ง ก็เป็นอันได้บวชด้วยการถึงสรณะ ๓ (ติสรณคมนูปสัมปทา).

ตรัสเรื่องความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม

              เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาเสร็จแล้ว ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า เราได้บรรลุ ได้ทำให้แจ้งแล้วซึ่งความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม (อนุตตรวิมุติ) ด้วยการไตร่ตรองโดยแยบคาย (โยนิโส สัมมัปปธาน) แม้ท่านทั้งหลายก็ได้บรรลุ ได้ทำให้แจ้งแล้วซึ่งความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม ด้วยการไตร่ตรองอันแยบคาย และด้วยความเพียรชอบอันแยบคายเช่นเดียวกัน.

โปรดสหาย ๓๐ คน

              ครั้นประทับ ณ กรุงพาราณสีพอสมควรแล้ว ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ระหว่างทางทรงแวะพัก ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ได้แสดงธรรมโปรดภัททวัคคียกุมาร ซึ่งเป็นสหายกัน ๓๐ คน ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วขอบวช. พระองค์ก็ได้ประทานการบวชด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทา (คือตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด).

โปรดชฏิล ๓ พี่น้องและบริวาร

              ครั้นถึงตำบลอุรุเวลา ซึ่งชฏิล ๓ พี่น้องอาศัยอยู่ คืออุรุเวลากัสสป นทีกัสสป และคยากัสสป แต่ละคนมีบริวาร ๕๐๐, ๓๐๐, และ ๒๐๐ โดยลำดับ. ในชั้นแรกได้ทรงขอพักในเขตอาศรมของอุรุเวลากัสสป ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่าง จนอุรุเวลากัสสปคลายทิฏฐิมานะ ขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้บอกลาบริวารก่อน บริวารก็ตกใจ จะบวชด้วยจึงลอยบริขารลงในน้ำ ขอบวชร่วมกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ประทานการบวชด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทา (คือตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด).

              นทีกัสสป น้องคนที่สองเห็นบริขารลอยมาตามกระแสน้ำ คิดว่าเกิดอันตรายแก่พี่ของตน แต่เมื่อสอบถาม ทราบความถึงลอยบริขารของตนและบริวารขอบวช ทำนองเดียวกับพี่ชาย และคยากัสสปเห็นบริขารลอยมาก็สงสัย เมื่อสอบถาม ทราบความก็ขอบวช พร้อมด้วยบริวารเช่นเดียวกัน.


๑. เป็นพระโสดาบัน คือพระอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ