บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. หมวดใหญ่
...ตั้งแต่ตรัสรู้
...ปฐมเทศนา
...อาทิตตปริยายสูตร
...สารีบุตร-โมคคัลลานะ
...อาจริยวัตร
...ห้ามบวช
...สามเณร
...ลักษณะที่ไม่ให้บวช

๒.อุโบสถ

๓.วันเข้าพรรษา

๔.หมวดปวารณา

 

ลักษณะที่ไม่ควรให้อุปสมบท (บวชเป็นพระ) อีก ๒๐ ประเภท

              ครั้นแล้วทรงบัญัติพระวินัยแสดงลักษณะที่ไม่ควรให้บวช (อุปสมบท) บุคคล รวม ๒๐ ประเภท ดังต่อไปนี้

              ๑. ผู้ไม่มีอุปัชฌายะ
              ๒. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นสงฆ์ (อุปัชฌายะต้องมีรูปเดียว ไม่ใช่มากรูป)
              ๓. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นคณะ (๒,๓ ชื่อว่าเป็นคณะ, ๔ ขึ้นไปเป็นสงฆ์)
              ๔. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นกะเทย
              ๕. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นคนลักเพศ (ผู้บวชเอาเอง)
              ๖. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์
              ๗. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน (มีเรื่องเล่าว่า นาคปลอมมาบวช)
              ๘. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ฆ่ามารดา
              ๙. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ฆ่าบิดา
              ๑๐. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์
              ๑๑. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ข่มขืนนางภิกษุณี
              ๑๒. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
              ๑๓. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้ประทุษร้ายพระพุทธเจ้า จนถึงยังพระโลหิตให้ห้อ
              ๑๔. ผู้มีอุปัชฌายะเป็นผู้มีอวัยะ ๒ เพศ
              ๑๕. ผู้ไม่มีบาตร
              ๑๖. ผู้ไม่มีจีวร
              ๑๗. ผู้ไม่มีทั้งบาตรทั้งจีวร
              ๑๘. ผู้ขอยืมบาตรเขามาบวช
              ๑๙. ผู้ขอยืมจีวรเขามาบวช
              ๒๐. ผู้ขอยืมทั้งบาตรทั้งจีวรเขามาบวช

              ทั้งยี่สิบประเภทนี้ ถ้า (สงฆ์) บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ลักษณะที่ไม่ควรให้บรรพชา (เป็นสามเณร) ๓๒ ประเภท

              ๑. คนมีมือขาด                                         ๒. คนมีเท้าขาด
              ๓. คนมีทั้งมือทั้งเท้าขาด                           ๔. คนมีหูขาด
              ๕. คนมีจมูกแหว่ง                                     ๖. คนมีทั้งหูขาดทั้งจมูกแหว่ง
              ๗. คนมีนิ้วมือขาด                                     ๘. คนมีนิ้วหัวแม่มือขาด
              ๙. คนมีเอ็น (เท้า) ขาด                             ๑๐. คนมีมือเป็นแผ่น (นิ้วติดกัน)
              ๑๑. คนค่อม                                           ๑๒. คนเตี้ย (เกินไป)
              ๑๓. คนคอพอก                                      ๑๔. คนถูกนาบด้วยเหล็กแดงจนเสียโฉม (ในการลงโทษ)
              ๑๕. คนถูกโบยถูกแส้ (มีรอยแผล)              ๑๖. คนถูกหมายจับ (ให้ฆ่าได้เมื่อพบ)
              ๑๗. คนมีเท้าปุก (เป็นตุ้ม)
              ๑๘. คนเป็นโรคอันเป็นโทษแห่งบาป (โรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย)
              ๑๙. คนประทุษร้ายบริษัท (คืออยู่ในหมู่แล้วทำให้หมู่ดูวิปริต ด้วยรูปร่างอันผิดปกติของตน เช่น สูงเกินไป เตี้ยเกินไป ดำเกินไป ขาวเกินไป ผอมเกินไป อ้วนเกินไป เป็นต้น)
              ๒๐. คนตาบอดข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง       ๒๑. คนเป็นง่อย
              ๒๒. คนกระจอก (เท้าผิดปกติ ต้องเดินด้วยหลังเท้า เป็นต้น)
              ๒๓. คนเป็นอัมพาต (ร่างกายตายไปซีกหนึ่ง)
              ๒๔. คนเปลี้ย (เดินเองไม่ได้)                   ๒๕. คนชรา ทุพพลภาพ
              ๒๖. คนตาบอดแต่กำเนิด                         ๒๗. คนใบ้
              ๒๘. คนหูหนวก                                      ๒๙. คนทั้งบอดทั้งใบ้
              ๓๐. คนทั้งบอดทั้งหนวก                           ๓๑. คนทั้งใบ้ทั้งหนวก
              ๓๒. คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวก
              บุคคลทั้งสามสิบสองประเภทนี้ ผู้บรรพชาให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
              (หมายเหตุ : การกำหนดข้อห้ามไม่ให้บวชคน ๓๒ ประเภทนี้เป็นสามเณรนั้นเป็นอันห้ามสำหรับบวชเป็นพระด้วย เพราะตามวิธีการบวช ผู้ที่จะบวชเป็นพระจะต้องผ่านลำดับจากการเป็นสามเณรมาก่อนแม้ชั่วครู่หนึ่ง. การตั้งข้อกำหนดนี้ เพื่อมิให้พระพุทธศาสนาเป็นเหมือนถังขยะรับคนที่ทางโลกไม่ต้องการแล้ว. แต่ก็ไม่มีข้อห้ามเด็ดขาดถึงขนาดว่า บวชให้แล้วต้องให้สึกไปเหมือนบุคคล ๑๑ ประเภทที่กล่าวไว้ในข้อห้ามบวชเด็ดขาด).

ข้อกำหนดเรื่องให้นิสสัยเพิ่มเติม

              ต่อมามีเหตุการณ์เกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติพระวินัย มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเรื่องการให้นิสสัย (รับเข้าในปกครอง) ดังนี้
              ๑. ห้ามให้นิสสัยแก่ภิกษุอลัชชี (ผู้ไม่ละอายในการต้องอาบัติ) ถ้าให้นิสสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
              ๒. จะรู้ว่าเป็นผู้มีความละอาย หรือเป็นอลัชชี ให้รอดู ๔-๕ วันได้ ว่าจะเข้ากับภิกษุทั้งหลายได้หรือไม่
              ๓. ภิกษุเดินทางไกล อนุญาตให้ไม่ต้องถือนิสสัยในเมื่อไม่มีภิกษุผู้ให้นิสสัย
              ๔. อนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้, ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ไม่ต้องถือนิสสัยได้ในเมื่อไม่มีภิกษุผู้ให้นิสสัย
              ๕. อนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ป่าไม่ต้องถือนิสสัยได้ในเมื่อไม่มีภิกษุผู้ให้นิสสัย แต่ถ้ามีภิกษุผู้ให้นิสสัยมา ต้องถือนิสสัย.

ข้อกำหนดเรื่องการอุปสมบท

              ต่อมาทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนา ไม่ต้องระบุนาม แต่ระบุเพียงโคตร (สกุล) ได้ และให้สวดประกาศครั้งละ ๒-๓ รูปได้ โดยมีอุปัชฌายะรูปเดียวกัน. และทรงอนุญาตให้นับอายุผู้บวชว่าครบ ๒๐ โดยคิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์.

ข้อบัญญัติในพิธีกรรมอุปสมบท

              ครั้นแล้วทรงแสดงวิธีการต่าง ๆ ในการอุปสมบท เช่น การสอบถามอันตรายิกธรรม (อุปสัคที่ต้องห้ามในการบวช) ๑๗ ข้อ มีโรค ๕ อย่างนั้น เป็นต้น ทั้งการซักถามเป็นส่วนตัวก่อน แล้วจึงซักถามในที่ประชุมสงฆ์ ตลอดจนการสวดประกาศ ๓ จบ แล้วอนุมัติให้เป็นภิกษุได้.

              เมื่อบวชแล้ว ให้วัดเงาแดด ให้บอกฤดู ให้บอกส่วนของวัน ให้บอกสังคีติ คือบอกรวมข้างต้นทั้งหมด เพื่อเป็นหลักฐาน.

              แล้วให้บอกนิสสัย ๔ (ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น).

              แล้วให้บอกอกรณียกิจ (สิ่งที่ไม่ควรทำ) ๔ อย่าง คือการเสพเมถุน, การลักทรัพย์, การฆ่าสัตว์ และมนุษย์, การอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน (เพื่อป้องกันการทำความผิดที่สำคัญในตอนแรก).

การปฏิบัติต่อผู้ทำผิด

              มีเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงแสดงข้อปฏิบัติในกรณีนั้น ๆ คือ
              ๑. เมื่อภิกษุไม่เห็นอาบัติ (คือต้องอาบัติแล้ว ไม่รับว่าต้อง) ถูกสงฆ์ประกาศยกเสียจากหมู่จึงสึกไป ภายหลังขอเข้ามาบวชใหม่, ถ้าสอบถามแล้วยอมรับว่าต้องอาบัติจริง ก็ให้บวชได้. เมื่อบวชแล้ว ให้ทำพิธีทำคืนอาบัติที่ต้องไว้แต่ครั้งก่อน
              ๒. เมื่อภิกษุไม่ทำคืนอาบัติ ถูกสงฆ์สวดประกาศยกเสียจากหมู่จึงสึกไป ภายหลังมาขอบวช ถ้ารับว่าจักทำคืนอาบัติ ก็ให้บวชได้ เมื่อบวชแล้ว ให้ทำคืนอาบัติที่ต้องไว้แต่ครั้งก่อนให้เรียบร้อย
              ๓. เมื่อภิกษุมีความเห็นชั่วหยาบ คือความเห็นผิดอย่างแรง ถูกสงฆ์สวดประกาศยกเสียจากหมู่จึงสึกไป ภายหลังมาขอบวช ถ้ารับว่าจักละความเห็นผิดนั้น ก็ให้บวชได้

              เมื่อบวชแล้วไม่ยอมทำคืนอาบัติก็ดี ไม่ยอมสละความเห็นผิดก็ดี สงฆ์มีสิทธิประกาศยกเสียจากหมู่ได้อีก. แต่ถ้าไม่ได้ภิกษุครบองค์สงฆ์ที่จะสวดประกาศ ก็อยู่ร่วมกับเธอได้ ไม่ต้องอาบัติ.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ