บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. หมวดใหญ่
...ตั้งแต่ตรัสรู้
...ปฐมเทศนา
...อาทิตตปริยายสูตร
...สารีบุตร-โมคคัลลานะ
...อาจริยวัตร
...ห้ามบวช
...สามเณร
...ลักษณะที่ไม่ให้บวช

๒.อุโบสถ

๓.วันเข้าพรรษา

๔.หมวดปวารณา

 

ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร

              เมื่อประทับ ณ ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว ก็เสด็จไปยังตำบลยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ผู้เคยเป็นชฎิลมาก่อน. ณ ที่นั้นทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร มีใจความว่า

              ๑. ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ (ซึ่งเป็นอายตนะภายใน) เป็นของร้อน; รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย, ธรรมะ คือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ (ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก) เป็นของร้อน; วิญญาณ คือความรู้อารมณ์ทางตา, หู เป็นต้น เป็นของร้อน; ผัสสะ คือความกระทบอารมณ์ทางตา เป็นต้น เป็นของร้อน; เวทนา คือความเสวยอารมณ์เป็นสุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งเกิดจากสัมผัสทางตา เป็นต้น เป็นของร้อน. ร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ และความขัดใจ.

              ๒. เมื่ออริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นได้เช่นนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในตา, หู เป็นต้น (ซึ่งเป็นอายตนะภายใน), ย่อมเบื่อหน่ายในรูป, เสียง เป็นต้น (ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก), ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ มีความรู้อารมณ์ ทางตา เป็นต้น, ย่อมเบื่อหน่ายในผัสสะ มีความกระทบอารมณ์ทางตา เป็นต้น, ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนา มีความเสวยอารมณ์ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัส เป็นต้น. เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น, เมื่อพ้นก็มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว, รู้ว่าสิ้นความเกิด ได้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว, ได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว, ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก.

              ผลของการแสดงพระธรรมเทศนานี้ ภิกษุพันรูปมีจิตพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.

โปรดพระเจ้าพิมพิสาร

              เมื่อประทับ ณ ตำบลยาสีสะพอสมควรแล้ว จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุผู้เคยเป็นชฎิลพันรูป ประทับอยู่ ณ เจดีย์ซึ่งประดิษฐานไว้ดีแล้ว ณ สวนตาลหนุ่ม. พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ พร้อมด้วยพราหมณ์คฤหบดีชาวมคธ จำนวน ๑๒ นหุต ได้สดับกิติศัพท์ของพระผู้มีพระภาค จึงเสด็จไปและไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. ในชั้นแรกพระผู้มีพระภาคทรงให้อุรุเวลกัสสปประกาศความที่ตนละเลิกลัทธิเดิมมาขอบวชว่ามีเหตุผลอย่างไร เพื่อทำลายทิฏฐิมานะของบุคคลบางคนก่อน แล้วจึงทรงแสดงอนุบุพพิกถา (แสดงเรื่องทาน, ศีล, สวรรค์, โทษของกามและอานิสงส์ของการออกจากกามโดยลำดับ) แล้วจึงทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งพราหมณ์คฤหบดี ๑๑ นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นโสดาบันบุคคล).

              พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลในการที่ทรงสมพระราชประสงค์ ๕ ประการ คือ ขอให้ได้อภิเษกในราชสมบัติ, ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสู่แว่นแคว้น, ขอให้ได้เข้าไปนั่งใกล้, ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมและขอให้ได้รู้ธรรมะของพระผู้มีพระภาค. ครั้นแล้วกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนมชีพ แล้วทรงอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยและฉันในวันรุ่งขึ้น.

              ในวันรุ่งขึ้นที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปเสวย ณ ราชนิเวศน์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. เมื่ออังคาส (เลี้ยงดู) เสร็จแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าทอง ถวายเวฬุวันป่าไผ่แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข. พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้วเสด็จกลับ. ทรงปรารภเหตุนั้น จึงประทานพระพุทธานุญาตให้มีอาราม (คือวัด) ได้.


๑. นหุตหนึ่ง เท่ากับหนึ่งหมื่น

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ