บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. หมวดใหญ่
...ตั้งแต่ตรัสรู้
...ปฐมเทศนา
...อาทิตตปริยายสูตร
...สารีบุตร-โมคคัลลานะ
...อาจริยวัตร
...ห้ามบวช
...สามเณร
...ลักษณะที่ไม่ให้บวช

๒.อุโบสถ

๓.วันเข้าพรรษา

๔.หมวดปวารณา

 

ขยายความ

๑. มหาขันธกะ (หมวดใหญ่)

              พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ประทับ ณ โคนไม้โพธิริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลา. พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้โพธิตลอด ๗ วัน. ในเวลาปฐมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย สายเกิด แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งต้นเหตุ. ในเวลามัชฌิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทสายดับ แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะได้ทราบถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัย. ในเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และโดยปฏิโลม (ย้อนลำดับ) แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ ดั่งดวงอาทิตย์ทำท้องฟ้าให้สว่างฉะนั้น.

ทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ที่ชอบตวาดคน

              เมื่อครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้โพธิ ไปยังไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทรที่เด็กเลี้ยงแพะชอบมาพัก) ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้นั้นตลอด ๗ วัน. มีพราหมณ์ผู้ชอบตวาดคนมาเฝ้า. กราบทูลถามถึงธรรมะที่ทำคนให้เป็นพราหมณ์ ทรงเปล่งอุทานเป็นใจความว่า ผู้ที่จะนับว่าเป็นพราหมณ์ คือผู้ลอยบาป ไม่มักตวาดคน ไม่มีกิเลสเหมือนน้ำฝาด สำรวมตน มีความรู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีความพอง (เย่อหยิ่ง).

ทรงเปล่งอุทานที่ต้นจิก

              ครั้นครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้อชปาลนิโครธ ไปยังต้นจิก ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้จิกนั้นตลอด ๗ วัน. ได้เกิดเมฆใหญ่ผิดฤดูกาล มีฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน. พญานาคชื่อมุจลินท์มาวงด้วยขนดรอบพระกายของพระผู้มีพระภาค ๗ รอบ เพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง เป็นต้น. ทรงเปล่งอุทานปรารภสุข ๔ ประการ คือ สุขเพราะความสงัด, สุขเพราะไม่เบียดเบียน, สุขเพราะปราศจากราคะ ก้าวล่วงกามเสียได้ และประการสุดท้าย สุดอย่างยอด คือการนำความถือตัวออกเสียได้.

เหตุการณ์ที่ต้นเกตก์

              ครั้นครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้จิก ไปยังไม้ราชายตนะ (ต้นเกตก์) ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้เกตก์นั้นตลอด ๗ วัน. มีพ่อค้า ๒ คนชื่อ ตปุสสะ กับภัลลิกะ เดินทางมาจากอุกกละชนบท ถวายข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง. ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจาตุมหาราชถวาย แล้วเสวยข้าวนั้น. พ่อค้า ๒ คนปฏิญญาตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะ นับเป็นอุบาสกชุดแรกในโลก ที่เปล่งวาจาถึงรตนะ ๒ (คือพระพุทธ พระธรรม).

เสด็จกลับไปต้นไทรอีก

              ครั้นครบ ๗ วันแล้ว ทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากโคนไม้เกตก์ ไปยังต้นไทรที่เด็กเลี้ยงแพะชอบมาพัก (อชปาลนิโครธ) และประทับ ณ โคนไม้ไทรนั้น ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ลึกซึ้ง ยากที่คนอื่นจะตรัสรู้ได้ ก็ทรงน้อมพระหฤทัยไปในที่จะไม่แสดงธรรม.

พระพรหมมาอาราธนา

              ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระพุทธดำริ จึงมาเฝ้ากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม อ้างเหตุผลว่า ผู้ที่มีกิเลสน้อย พอจะรู้พระธรรมได้มีอยู่. พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาสัตว์เปรียบเทียบด้วยดอกบัว ๓ ชนิด คือที่อยู่ใต้น้ำ, เสมอน้ำ, โผล่พ้นน้ำ อันเทียบด้วยบุคคล ๓ ชนิด (ที่พอจะตรัสรู้ได้ ส่วนประเภท ๔ คือดอกบัวที่ไม่มีหวังจะโผล่ได้ เทียบด้วยบุคคลผู้ไม่มีหวังจะตรัสรู้). จึงทรงตกลงพระหฤทัยที่จะแสดงธรรม. ทรงปรารภอาฬารดาบส กาลามโคตร ก็ทรงทราบว่าถึงแก่กรรมเสีย ๗ วันแล้ว ทรงปรารภอุททกดาบสรามบุตร ก็ทรงทราบว่าถึงแก่กรรมเสียเมื่อวานนี้เอง จึงตกลงพระหฤทัยเสด็จไปแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ (พวก ๕) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ระหว่างทางทรงพบอุปกาชีวก ได้รับสั่งโต้ตอบกับอาชีวกนั้น แต่อุปกะไม่เชื่อ.


๑. อรรถกถาแก้ว่า ความพองมีอยู่ ๕ อย่าง คือพองเพราะราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะและทิฏฐิ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ