บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. หมวดใหญ่
...ตั้งแต่ตรัสรู้
...ปฐมเทศนา
...อาทิตตปริยายสูตร
...สารีบุตร-โมคคัลลานะ
...อาจริยวัตร
...ห้ามบวช
...สามเณร
...ลักษณะที่ไม่ให้บวช

๒.อุโบสถ

๓.วันเข้าพรรษา

๔.หมวดปวารณา

 

๓. วัสสูปนายิกาขันธกะ (หมวดวันเข้าพรรษา)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ยังมิได้ทรงบัญญัติเรื่องการจำพรรษา (คือพักอยู่ในวัดตลอด ๓ เดือนฤดูฝน) ภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไปทุกฤดูกาล. มีผู้ติเตียน ว่าเที่ยวเหยียบต้นหญ้า และเหยียบสัตว์ตาย. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยให้ภิกษุจำพรรษา.

              ครั้งแรกภิกษุทั้งหลายประชุมกัน แต่นั่งนิ่ง ๆ ชาวบ้านจะฟังธรรมก็ไม่ได้ฟัง จึงติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ประชุมกันเพื่อกล่าวธรรม.

              แล้วทรงแสดงว่า วันจำพรรษามี ๒ อย่าง คือ วันจำพรรษาต้น และวันจำพรรษาหลัง (เมื่อดวงจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงแล้ว ๑ เดือน คือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เป็นวันเข้าพรรษาหลัง ซึ่งสันนิษฐานว่า ทรงบัญญัติตามปีปกติและปีมีอธิกมาส จึงมี ๒ อย่าง).

              แล้วทรงห้ามจาริกไปไหนระหว่าง ๓ เดือนของวันเข้าพรรษาแรกหรือเข้าพรรษาหลัง แล้วแต่กรณี ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

              แล้วทรงบัญญัติพระวินัย ปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้เมื่อถึงวันเข้าพรรษาแล้วไม่จำพรรษา หรือพบวัดที่จะจำพรรษาแล้วแกล้งเดินทางเลยไปเสีย.

ทรงอนุมัติการเลื่อนวันจำพรรษา

              พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งทูตไปเฝ้า ขอให้เลื่อนวันจำพรรษาออกไปอีก ในวันเพ็ญหน้า (รวมเป็น ๑ เดือน) จึงทรงอนุญาตให้อนุวัตตามพระราชา (สันนิษฐานว่าทรงขอให้เลื่อนจำพรรษาไปตามวันอธิกมาสทางโลก).

ทรงอนุญาตให้ไปกลับภายใน ๗ วัน

              แล้วทรงอนุญาตให้เดินทางได้ในระหว่างพรรษาโดยให้กลับภายใน ๗ วัน ในเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น ที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ดังต่อไปนี้
              ๑. ทายกปรารถนาจะบำเพ็ญกุศล ส่งคนมานิมนต์ ในกรณีเช่นนี้ ทรงอนุญาตให้ไปได้เฉพาะที่เขาส่งคำนิมนต์มา ถ้าไม่ส่งคำนิมนต์มา ไม่ให้ไป
              ๒. เพื่อนสหธัมมิก คือผู้บวชร่วมกัน (ภิกษุ, ภิกษุณี, นางสิกขมานา, สามเณร, สามเณรี) เป็นไข้จะส่งคนมานิมนต์หรือไม่ก็ตาม ทรงอนุญาตให้ไปได้. นอกจากนั้นยังทรงบัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนสหธัมมิกอีก คือเมื่อเพื่อนสหธัมมิกเป็นไข้ ภิกษุปรารถนาจะช่วยแสวงหาอาหาร, ผู้พยาบาล, ยารักษาโรคก็ไปได้, เมื่อเพื่อนสหธัมมิกเกิดความไม่ยินดี เกิดความรังเกียจ หรือเกิดความเห็นผิดขึ้น ไปเพื่อระงับเหตุนั้น , เมื่อเพื่อนสหธัมมิก (เฉพาะภิกษุ, ภิกษุณี) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ปรารถนาจะอออกจากอาบัติในขั้นใด ๆ ก็ตาม หรือสงฆ์ปรารถนาจะทำสังฆกรรมลงโทษภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปที่จะถูกลงโทษต้องการให้ไป ก็ไปได้เพื่อไกล่เกลี่ยไม่ให้ต้องทำกรรม หรือให้ลงโทษเบาลงไป, เพื่อให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยพระวินัยเพื่อปลอบใจ เป็นต้น. หรือเมื่อนางสิกขมานาหรือสามเณรปรารถนาจะบวช ไปเพื่อช่วยเหลือในการนั้น
              ๓. มารดา บิดา พี่น้อง หรือ ญาติ เป็นไข้ ส่งคนมานิมนต์หรือไม่ รู้เข้า ไปได้
              ๔. วิหารชำรุด ไปเพื่อหาสิ่งของมาปฏิสังขรณ์.

ขาดพรรษาที่ไม่ต้องอาบัติ

              เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ไม่สามารถจะจำพรรษาในที่นั้น ๆ ต่อไปได้ ทรงอนุญาตให้ไม่ต้องอาบัติ ดังต่อไปนี้
              ๑. ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม
              ๒. ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ทรงอนุญาตให้ไปกับเขาได้ ชาวบ้านแตกกันเป็น ๒ ฝ่าย
              ๓. ขาดแคลนอาหารหรือยารักษาโรค หรือขาดผู้บำรุง ได้รับความลำบาก ทรงอนุญาตให้ไปได้
              ๔. มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ทรงอนุญาตให้ไปให้พ้นได้
              ๕. ภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกัน หรือมีผูพยายามให้แตกกัน หรือทำให้แตกกันแล้ว ไปเพื่อหาทางระงับได้.

ทรงอนุญาตการจำพรรษาในที่บางแห่ง

              มีภิกษุบางรูปประสงค์จะจำพรรษาในบางที่บางแห่งต่าง ๆ กัน ทรงผ่อนผันให้จำพรรษาได้ คือ
              ๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในที่ของนายโคบาล)
              ๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรงอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
              ๓. ในหมู่เกวียน
              ๔. ในเรือ.

ทรงห้ามจำพรรษาในที่ไม่สมควร

              ทรงห้ามการจำพรรษาในที่ไม่สมควร คือ
              ๑. ในโพรงไม้
              ๒. บนกิ่งหรือค่าคบไม้
              ๓. กลางแจ้ง
              ๔. ไม่มีเสนาสนะ (คือที่นอนที่นั่ง)
              ๕. ในโลงผี
              ๖. ในกลด (เช่น เต๊นท์ของนายโคบาล)
              ๗. ในตุ่ม

ข้อห้ามอื่น ๆ

              ๑. ห้ามตั้งกติกาที่ไม่สมควร เช่น ไม่บวชสามเณรให้ในพรรษา
              ๒. ห้ามรับปากว่าจะจำพรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น.


๑. อรรถกถาแก้ว่า ตั้งเสา ๔ เสา แล้วเอาร่มหรือกลดทาบลงไปบนเสานั้น

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ