บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. หมวดใหญ่
...ตั้งแต่ตรัสรู้
...ปฐมเทศนา
...อาทิตตปริยายสูตร
...สารีบุตร-โมคคัลลานะ
...อาจริยวัตร
...ห้ามบวช
...สามเณร
...ลักษณะที่ไม่ให้บวช

๒.อุโบสถ

๓.วันเข้าพรรษา

๔.หมวดปวารณา

 

สาริบุตร โมคคัลลานะออกบวช

              สมัยนั้น สัญชัยปริพพาชกอาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน ๒๕๐ คน และสมัยนั้น สาริบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง. สาริบุตรได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช. ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อ ๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น .

              สาริบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพพาชก ๒๕๐ คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้อาจารย์. สัญชัยขอให้อยู่ช่วยกันบริหารหมู่คณะถึง ๓ ครั้ง แต่สาริบุตร โมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพพาชกอีก ๒๕๐ คน. สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต.

              เมื่อไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา.

              ครั้งนั้นคนสำคัญชาวมคธออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเป็นอันมาก. คนทั้งหลายจึงพากันติเตียน ว่าเป็นปฏิปทาที่ทำสกุลวงศ์ให้ขาดสูญ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลายโต้ตอบว่าพระองค์แนะนำโดยธรรม มิใช่โดยอธรรม เมื่อมนุษย์ทั้งหลายจำนนต่อคำว่า "ธรรม" และหาทางจับผิดที่ว่ามีอะไรเป็น "อธรรม" ไม่ได้ ก็พากันเลิกติเตียนภายใน ๗ วัน.

ทรงอนุญาตให้มีอุปัชฌายะ

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่มีอุปัชฌายะ ไม่มีผู้ให้โอวาทสั่งสอน ก็นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีอากัปปกิริยาไม่เหมาะสมเที่ยวไปบิณฑบาต. เขากำลังบริโภคอยู่ก็ยื่นบาตรเข้าไปเหนือของบริโภค ของขบเคี้ยว เป็นต้น. บ้างก็ขอแกงบ้าง ขอข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน. บ้างก็ส่งเสียงสูงเสียงดังในโรงอาหาร เป็นที่ติเตียน. พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงอนุญาตให้มีอุปัชฌายะ. ให้อุปัชฌายะตั้งจิตในสัทธิวิหาริกเหมือนบุตร. ให้สัทธิวหาริกตั้งจิตในอุปัชฌายะเหมือนบิดา. ทรงสอนวิธีถืออุปัชฌายะซึ่งต้องเปล่งวาจาด้วยกันทั้งสองฝ่าย, (อุปัชฌายะ แปลตามศัพท์ว่า ผู้สอน หมายถึงผู้บวชให้และสั่งสอน สัทธิวิหาริก แปลว่า ผู้อยู่ด้วย หมายถึงศิษย์ที่อุปัชฌายะบวชให้).

ทรงบัญญัติอุปัชฌายวัตร

              ครั้นแล้วทรงบัญญัติอุปชาฌายวัตร คือข้อที่สัทธิวิหาริกจะพึงปฏิบัติชอบในอุปัชฌายะ มีการรับใช้การปฏิบัติตนต่อท่าน การช่วยจัดสิ่งต่าง ๆ ให้ท่าน ประมาณไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ข้อ.

ทรงบัญญัติสัทธิวิหาริกวัตร

              ครั้นแล้วทรงบัญญัติสัทธิวิหาริกวัตร คือข้อที่อุปัชฌายะจะพึงปฏิบัติชอบในสัทธิวิหาริก มีการสั่งสอนการสงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร การพยาบาลเมื่อป่วยไข้ การทำอะไรต่ออะไรให้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ข้อเช่นกัน.

ทรงปรับอาบัติ, อนุญาตให้ประณามและขอขมา

              ครั้งนั้น สัทธิวิหาริกไม่ปฏิบัติชอบในอุปัชฌายะ เป็นที่ติเตียน จึงทรงบัญญัติพระวินัย ปรับอาบัติทุกกฏแก่สัทธิวิหาริกผู้ไม่ปฏิบัติชอบในอุปัชฌายะ.

              แม้เช่นนั้น ก็ยังมีสิทธิวิหาริกที่ไม่ปฏิบัติชอบ, จึงทรงอนุญาตให้อุปัชฌายะประณาม คือไล่ลัทธิวิหาริกด้วยแจ้งให้ทราบด้วยกายหรือวาจาได้.

              สัทธิวิหาริกที่ถูกไล่แล้ว ไม่ขอขมา จึงทรงอนุญาตให้ขอขมาและ ปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ไม่ขอขมา.

              สัทธิวิหาริกขอขมาแล้ว อุปัชฌายะไม่ยอมยกโทษให้ จึงทรงอนุญาตให้อุปัชฌายะยกโทษให้. อุปัชฌายะไม่ยกโทษให้ก็มี สัทธิวิหาริกจึงจากไปบ้าง สึกไปบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง. ทรงทราบ จึงทรงบัญญัติพระวินัย ปรับอาบัติทุกกฏแก่อุปัชฌายะที่สัทธิวิหาริกขอขมาแล้วไม่ยอมยกโทษให้.

ทรงวางวิธีประณามให้รัดกุม

              สมัยนั้น อุปัชฌายะประณาม (ขับไล่) สัทธิวิหาริกที่ปฏิบัติชอบ ไม่ประณามสัทธิวิหาริกที่ไม่ปฏิบัติชอบ. ทรงทราบ จึงทรงบัญญัติว่า สัทธิวิหาริกที่ปฏิบัติชอบ ไม่ควรประณาม ผู้ใดประณาม ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ สัทธิวิหาริกที่ปฏิบัติไม่ชอบ จะไม่ประณามไม่ได้. ถ้าไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ.

              ครั้นแล้วจึงทรงแสดงองค์ ๕ ของสัทธิวิหาริกที่ควรประณาม มีขาดความละอาย ขาดความเคารพ เป็นต้น. แล้วทรงแสดงองค์ ๕ ของสัทธิวิหาริกที่ไม่ควรประณาม มีประกอบด้วยความละอาย ความเคารพ เป็นต้น. สัทธิวิหาริกที่ควรประณาม แต่ไม่ประณามก็มีโทษ ถ้าประณามก็ไม่มีโทษ. ส่วนสัทธิวิหาริกที่ไม่ควรประณาม ถ้าประณามก็มีโทษ ถ้าไม่ประณามก็ไม่มีโทษ.

ทรงอนุญาตการบวชเป็นการสงฆ์

              พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อราธะ ขอบวช ไม่มีภิกษุรูปใดบวชให้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ใครระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสาริบุตรตอบว่า ท่านระลึกได้ ว่าพราหมณ์ผู้นี้เคยถวายอาหารแก่ท่านทัพพีหนึ่ง พระผู้มีพระภาคจึงสรรเสริญที่กตัญญูและมอบให้พระสาริบุตรบวชให้พราหมณ์นั้น โดยทรงแสดงวิธีบวชเป็นการสงฆ์ที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา (การบวชด้วยกรรม มีการเสนอญัตติเป็นที่ ๔ คือการเสนอญัตติ ขออนุมัติสงฆ์ ๑ ครั้ง; เป็นการสวดประกาศฟังมติ ว่าจะคัดค้านหรือไม่อีก ๓ ครั้ง) ภายหลังมีเหตุเกิดขึ้น คือผู้บวชประพฤติไม่เรียบร้อย และอ้างว่าไม่ได้ขอบวช พระบวชให้เอง จึงทรงอนุญาตให้บวชเฉพาะแก่ผู้ขอบวช.

ผู้บวชเพราะเห็นแก่ท้อง

              พราหมณ์ผู้หนึ่งเห็นว่าบวชแล้วกินอิ่มนอนหลับ จึงออกบวช. ครั้นอาหารที่เขาถวายประจำหมดวาระ ภิกษุทั้งหลายจึงชวนออกบิณฑบาต ก็กล่าวว่า จะสึก เพราะคิดว่าจะบวชโดยไม่ต้องบิณฑบาต. มีผู้ติเตียนว่าบวชเพราะเห็นแก่ท้อง. พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้บอกนิสสัย ๔ แก่ผู้บวชใหม่ (นิสสัย ๔ คือปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต อันได้แก่อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค เพื่อซ้อมความเข้าใจกันก่อนว่า แม้ไม่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นของพออาศัยดำรงชีพอยู่ได้ก็ต้องอดทน เช่น อาหารที่เที่ยวบิณฑบาตได้มา, ผ้าที่เก็บตกมาปะติดปะต่อพอทำนุ่งห่ม, ที่อยู่อื่นไม่มีก็ใช้โคนไม้, ยาอื่นไม่มีก็ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ซึ่งปัจจุบันพบกันว่าเป็นยาปฏิชีวนะ).

ข้อบัญญัติเพิ่มเติมในการบวช

              ๑. ภิกษุบอกนิสสัยก่อน ผู้บวชไม่พอใจ จึงทรงห้ามบอกนิสสัยก่อน แต่ให้บอกเมื่อบวชเสร็จแล้ว ในเวลาติด ๆ กัน ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้บอกนิสสัยก่อน.

              ๒. ภิกษุที่ร่วมในการบวชเป็นคณะ คือ ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง ทรงทราบ จึงทรงบัญญัติพระวินัย ปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุที่ให้บวชมีคณะต่ำกว่า ๑๐ คณะ ครบ ๑๐ หรือเกิน ๑๐ ให้บวชได้.

              ๓. ภิกษุมีพรรษา ๑ บ้าง ๒ บ้าง ให้สัทธิวิหาริกบวช แม้พระอุปเสน วังคันตบุตรมีพรรษาเพียง ๑ ก็ให้สิทธิวิหาริกอุปสมบท จึงทรงบัญญัติพระวินัย ปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้มีพรรษาหย่อนกว่า ๑๐ ที่บวชให้สัทธิวิหาริก; พรรษาครบ ๑๐ หรือเกิน ๑๐ ให้บวชได้.

              ๔. ภิกษุมีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ให้สิทธิวิหาริกบวช ปรากฏเป็นผู้ด้อยกว่าสัทธิวหาริก. จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุที่ฉลาด สามารถ ผู้มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกิน ๑๐ ให้สัทธิวิหาริกบวชได้.

ทรงอนุญาตให้มีอาจารย์

              สมัยนั้น อุปัชฌายะทั้งหลายเดินทางไปที่อื่นบ้าง สึกไปบ้าง ถึงมรณภาพบ้าง ไปเข้ารีดเสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายไม่มีใครให้โอวาทสั่งสอน ก็นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ประกอบด้วยอากัปปกิริยาอันไม่สมควรต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้มีอาจารย์. ให้อาจารย์ตั้งจิตในอันเตวาสิก (ผู้อยู่ใต้ปกครอง) เหมือนบุตรและให้อันเตวาสิกตั้งจิตในอาจารย์เหมือนบิดา. แล้วทรงแสดงวิธีถือนิสสัย (การขออาศัยอยู่ใต้ปกครอง) ของอันเตวาสิก และคำกล่าวตอบของอาจารย์.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ