พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๑๑

   “เสนาสนนฺติ สยนญฺจ ยตฺถ หิ เสติ วหาเร วา อฑฺ ฒโยคาทิมฺหิ วา ตํ ตํ เสนํ ยตฺถ อาสติ นิสีทติ ตํ ตํ อาสนํ ตํ เอกโตกตฺวา เสนาสนนฺติ วุจฺจติ อุตุปริสฺสยวิโนทนปฏิสลฺลานารามตฺถนฺติ ปริสหนตฺเถน อุตุเยว อุตุปริสฺสโย อุตุปริสฺสยวิ โนทนตฺถญจ ปฏิสลฺลานารามตฺถณฺจ โย สรีราพาธจิตฺตวิกฺเขปกโร อสปฺปาโย อุตุเสนาสนปฏิเสวเนน วิโนเทตพฺโพ โหติ ตสฺส วิโนทนตฺถํ”

  วาระนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนา ในปัจจัยสันนิสสิตศีล สังวรรณนาในบทคือ “ปฏิสงฺขา โยนิโส เสนาสนํ” เป็นอาทิสืบอนุสนธิตามกระแสวาระพระบาลี มีเนื้อความว่า พระภิกษุเสพซึ่งเสนาสนะนั้นด้วยมนสิการกำหนดจิตว่า

  “ปฏิสงฺขา โยนิโส” อาตมาพิจารณาแล้วด้วยอุบายปัญญา จะบริโภคเสนาสนะ

  มีอรรถสังวรรณนาในบทคือ “เสนาสนํ” นั้นว่า “สยนญฺจ อาสนญฺจ” ที่อันเป็นที่นอนแลที่อันเป็นที่นั่ง ชื่อว่าเสนาสนะ

   แท้จริงพระภิกษุนอนอยู่ในที่ใด ๆ คือวิหารก็ดี แลนอนอยู่ในที่มีปราสาทมีส่วนหนึ่ง อันบุคคลประกอบแล้วเป็นอาทิก็ดี ที่นั้น ๆ ชื่อว่าที่นอน

   “ยตฺถ ยตฺถ อาสติ นิสีทติ” พระภิกษุนั่งอยู่ในที่ใด ที่นั้นชื่อว่าที่นั่ง “ตํ เอกโต กตฺวา” องค์พระผู้ทรงพระภาคกระทำซึ่งศัพท์ทั้งสองคือ “สยน แล อาสน” ในที่อันเดียวกัน จึงตรัสเทศนาว่า เสนาสนัง ดังนี้

   ในบทคือ “อุตุปริสุสยวิโนทนปฏิสลฺลานารามตฺถํ” นั้นมีอรรถว่าพระภิกษุกำหนดจิตคิดว่า อาตมาจะเสพเสนาสนะนั้น เพื่อจะครอบงำเสียซึ่งอันตรายคือฤดู แลจะเสพซึ่งเสนาสนะนั้น เพื่อจะยินดีในกิริยาที่จะหลีกออกจากอารมณ์ต่าง ๆ แล้ว เร้นอยู่ด้วยสามารถแห่งพระกรรมฐาน ฤดูอันใดมิได้เป็นที่สบาย กระทำให้สรีรกายได้ความอาพาธเจ็บไข้ แลกระทำให้จิตกำเริบต่าง ๆ พระภิกษุก็จะพึงบรรเทาเสียได้ ด้วยการจะเสพซึ่งเสนาสนะ เพื่อว่าจะบรรเทาเสียซึ่งฤดูอันมิได้เป็นที่สบาย จะกระทำอันตรายต่าง ๆ อย่างนั้น

   มีอรรถรูปว่า พระภิกษุเสพเสนาสนะเพื่อจะอยู่ผู้เดียวให้เป็นสุข อนึ่งกิริยาที่จะบรรเทาเสียซึ่งอันตรายคือฤดู องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาแล้วด้วยบท มิคำกล่าวว่า “สีตสฺส ปฏิฆาฏาย” คือว่าเพื่อจะบำบัดเสียซึ่งความหนาวในจีวรปัจจัยโดยแท้ ถึงประการฉะนั้นก็ดี ในบทเสนาสนะปัจจัยนี้ องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาด้วยคำอุปมาด้วยจีวรปัจจัยว่า “หิริโกปินปฏิจฺฉาทนตฺถํ” พระภิกษุจะปกปิดไว้ได้ซึ่งอวัยวะที่จะยังความละอายให้กำเริบ ก็เพราะเหตุเสพซึ่งจีวรปัจจัย ต้องนุ่้งห่มไว้ให้เป็นประโยชน์อันเที่ยง ประโยชน์อื่น ๆ ก็มีแต่ละครั้งแต่ละที “ยถา” อันนี้แลมีอุปมาฉันใดก็มีอุปไมยเหมือนพระภิกษุจะอยู่ในเสนาสนะก็เป็นประโยชน์อันเที่ยง คือจะบรรเทาเสียซึ่งอันตราย ประโยชน์อื่น ๆ นั้น ก็มีแต่ละครั้งแต่ละที บัณฑิตพึงรู้ด้วยประการดังนี้

  มีเนื้อความในอปรนัยว่า “อยํ วุตฺตปฺปกาโร อุตุ” ฤดูที่มีประการอันองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาแล้วนี้ ชื่อว่าอุตุแท้จริง

  “ปริยสฺสโย ปน ทุวิโธ” อนึ่งอันตรายมี ๒ ประการคือ ปรากฏปริสสัย แปลว่าอันตรายอันปรากฏประการ ๑ ปฏิจฉัีนนปริสสัยคืออันตรายอันกำบังปกปิดอยู่ประการ ๑ อันตรายอันปรากฏคืออันตรายจะบังเกิดมีแต่เนื้อร้ายมีไกรสรราชสีห์ และเสือโคร่งเป็นอาทิ

   อันตรายอันกำบังปกปิดอยู่นั้น มีอันตรายคือราคะ แลอันตรายคือโทสะเป็นประธาน ย่อมกระทำให้ได้ความเดือดร้อน ด้วยแรงราครสฤดี แลกระทำร้ายให้น้ำใจขึ้งโกรธ ประทุษทารุณเร่าร้อนปกปิดป่วนอยู่ในสันดาน

   อันตรายทั้ง ๒ ประการ มิได้กระทำอันตรายให้ได้ความอาพาธ อันยุติในกายแห่งพระภิกษุอันอยู่ในเสนาสนะอันใด แลมิได้กระทำอันตรายให้ได้ความอาพาธอันยุติในจิต เพราะเหตุเห็นซึ่งรูปารมณ์ อันมิได้เป็นที่สบายเป็นอาทิแก่พระภิกษุอันอยู่ในเสนาสนะอันใด พระภิกษุรู้ว่าเสนาสนะนั้นป้องกันเสียซึ่งอันตรายได้ดังนี้แล้ว ก็บริโภคเสนาสนะนั้นปฏิบัติไปตามพระบาลี ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาไว้ ว่า “ปฏิสงฺขา โยนิโส เสนาสนํ” พระภิกษุพิจารณาด้วยอุบายปัญญาแล้ว แลเสพเสนาสนะเพื่อประโยชน์จะบรรเทาเสียซึ่งอันตรายคือฤดู บัณฑิตพึงรู้ด้วยประการดังนี้

   มีคำวินิจฉัยตัดสินในบทคือ “คิลานปจฺจยเภชฺชปริกฺขารํ”นั้นว่าวัตถุชื่อว่าปัจจัย เพราะเหตุว่าเป็นข้าศึกแก่โรค

  มีอรรถสังวรรณนาว่า วัตถุชื่อว่าปัจจัยนั้น เพราะเหตุยังโรคให้ระงับ คำกล่าวว่าปัจจัยนี้ เป็นชื่อแห่งความสบาย วัตถุอันใดเป็นการแห่งบุคคลอันมีวิชา คำไทยเรากล่าวว่าหมอ เพราะเหตุวัตถุนั้นอันหมอจะพึงตกแต่ง เหตุใดเหตุดังนั้น วัตถุอันนั้นจึงมีนามชื่อว่า เภสัชชะ วัตถุที่เป็นกรรมแห่งหมอ คือปัจจัยอันเป็นข้าศึกแก่โรค ชื่อว่า คิลานปัจจัยเภสัชชะ

  มีอรรถรูปว่า การแห่งหมออันเป็นที่สบาย แก่ภิกษุอันเป็นไข้นั้น มีน้ำมันแลน้ำอึ้งน้ำอ้อยเป็นอาิทิ

   อนึ่งเครื่องแวดล้อมอันมาแล้วในพระบาลี มีคำกล่าวว่า “นครํ สุปริกฺขิตตํ” เมื่อนายช่างสร้างพระนครนั้นย่อมกระทำกำแพงแวดล้อมพระนครนั้นถึง ๗ ชั้นเป็นอาิทิ องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ย่อมตรัสเทศนาเรียกว่า ปริกขาโร

  อนึ่งเครื่องประดับอันมาในพระบาลี มีคำกล่าวว่า “รโถ เสตปริกฺขาโร” รถคือพระอริยมรรคมีปริขารเครื่องประดับ คือศีลอันบริสุทธิ์ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นจักรเป็นอาทิดังนี้ สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ก็ย่อมตรัสเทศนนาเรียกชื่อว่า ปริกขาโร

   ใช่แต่เท่านั้นสัมภาระอันมาแล้วในพระบาลีว่า “เยเกจิ ชีวิตปริกฺขารา” ปริขารเครื่องสัมภาระอันจะยังชีวิตให้ประพฤติเป็นไปอันใดอันหนึี่ง บรรพชิตพึงแสวงหาเป็นอาทิ องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคก็ตรัสเทศนาเรียกว่า ปริกขาโร

   ในบทคือ “เภสชฺชปริกฺขรํ” องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาประสงค์เอาปริขารศัพท์นี้ ให้แปลว่าสัมภาระ ให้แปลว่าบริวารเครื่องแวดล้อมจึงจะควรในอธิการนี้

  แท้จริง วัตถุอันเป็นการแห่งหมอ อันเป็นที่สบายของพระภิกษุอันเป็นไข้ขึ้น ชื่อว่าสัมภาระบ้าง ชื่อว่าบริวารบ้างนั้น เพราะเหตุว่าวัตถุที่เป็นการแห่งหมอ เป็นที่สบายของภิกษุไข้นี้ เป็นเครื่องแวดล้อมของชีวิต แลชื่อว่าสัมภาระนั้น เพราะเหตุวัตถุที่เป็นการของหมอนี้ ไม่ให้ช่องไม่ให้โอกาสที่จะยังอาพาธกระทำให้พินาศแก่ชีวิตบังเกิดขึ้นได้ ย่อมปกครองรักษาชีวิต จะประพฤติเป็นไปสิ้นกาลช้านานฉันใด ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะยังชีวิตให้ประพฤติเป็นไปสิ้นกาลช้านานฉันนั้น

  เพราะเหตุการณ์นั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคจึงตรัสเทศนาว่า ปริกขาโร ดังนี้

  มีอรรถวิคคหะว่า วัตถุที่เป็นการแห่งหมอเป็นที่สบายของภิกษุเป็นไข้ เป็นเครื่องแวดล้อมของชีวิต วัตถุนั้นชื่อว่า คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

   มีอรรถรูปว่า เครื่องของชีวิตมีน้ำมันแลน้ำผึ้งแลน้ำอ้อยเป็นอาทิ ที่หมออนุญาตตกแต่งไว้ให้เป็นที่สบาย ของชนอันเป็นไข้ ชื่อว่าคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

  บัณฑิตพึงรู้ว่า พระภิกษุพิจารณาด้วยอุบายปัญญา แล้วแลเสพซึ่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร อันมีนัยดังกล่าวมาแล้วนี้ เพื่อบรรเทาเสียซึ่งความเวทนาทั้งหลาย มีโรคเรื้อน แลเป็นฝี แลเป็นต่อมเป็นอาทิ อันบังเกิดขึ้นเพราะเหตุกำเริบแห่งธาตุ และจะให้ปราศจากทุกข์เป็นประมาณ

  มีอรรถาธิบายว่า ทุกข์มีโรคเป็นเหตุให้ได้เวทนา เสวยผลแห่งอกุศลกรรมทั้งปวง พระภิกษุจะละเสียได้ตราบใด พระภิกษุนั้นก็บริโภคคิลานปัจจัยเภสัชบริขารไปตราบนั้น

   “เอวมิทํ สงฺเขปโต” ศีลอันนี้มีกิริยาที่พระภิกษุพิจารณาด้วยอุบายปัญญา แล้วบริโภคซึ่งปัจจัย เป็นลักษณะที่กำหนดบัณฑิตพึงรู้ชื่อว่าปัจจัยสันนิสสิตศีลโดยสังเขปดังวิสัชนามาฉะนี้

   ในบทคือ “ปจฺจยสนฺนิสฺสิตสีลํ” นี้มีอรรถแห่งพระบาลีว่าแท้จริง “จีวราทโย” วัตถุสิ่งของทั้ง ๔ มีจีวรเป็นต้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเรียกชื่อว่า ปัจจัย เพราะเหตุว่าพระภิกษุทั้งหลายอาศัยซึ่งวัตถุทั้ง ๔ สิ่งนั้น แล้วบริโภคจึงได้ประพฤติเป็นอยู่ เหตุใด เหตุดังนั้นวัตถุทั้ง ๔ จึงมีนามชื่ื่อว่าปัจจัย จีวรก็ชื่อว่าปัจจัย บิณฑบาตแลเสนาสนะ แลคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็มีนามบัญญัติชื่อว่า ปัจจัย

   “เต ปจฺจเย สทฺนิสฺสิตํ” ศีลอันใดอาศัยซึ่งปัจจัยทั้ง ๔ มีจีวรปัจจัยเป็นอาทิ ศีลนั้นชื่อว่า ปัจจัยสันนิสสิตศีล

   ล้ำศีลทั้ง ๔ ประการนี้ อันว่าพระปาฏิโมกขสังวรศีลนั้นพระภิกษุทั้งหลายพึงให้สำเร็จด้วยศรัทธา

   แท้จริง พระปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น “สทฺธสาธโน” มีศรัทธาเป็นเหตุที่จะให้สำเร็จ เพราะเหตุว่าสิกขาบทที่องค์พระผู้ทรงพระภาคทรงบัญญัติไว้นั้น ล่วงเสียซึ่งวิสัยแห่งสาวก พระสาวกบัญญัติมิได้ เมื่อกุลบุตรบวชในพระพุทธศาสนา มีศรัทธาเชื่อฟังพระพุทธวจนะคำของพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติกระทำให้บริบูรณ์

   เนื้อความที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรทูลอาราธนา ขอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท พระบรมศาสดาตรัสห้าม ข้อความอันนี้มีพิสดารอยู่ในพระวินัยปิฎก อาจารย์พึงสาธกยกมากล่าวในอธิการคือวินัย อันเป็นที่กล่าวซึ่งสิกขาบทบัญญัติล่วงเสียซึ่งวิสัยแห่งพระสาวกนี้

   เพราะเหตุการณ์นั้น อันว่าพระปาฏิโมกขสังวรศีลนี้ พระภิกษุมีศรัทธาสมาทานสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ด้วยประการใดอย่าให้เหลือแล้ว อย่ากระทำความอาลัยในชีวิต พึงมีจิตจำนงปลงรักเร่งปฏิบัติกระทำให้บริบูรณ์

   “วุตฺตํ เหตํ” คำที่กล่าวมานี้ก็จริงเหมือนพระบาลี ที่พระองค์ผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้เป็นคำอุปมาว่า “กิกีว อณฺฑํ จามรีว พาลธี” นางนกกระต้อยตีวิดรักษาฟอง ทรายจามรีรักษาขน มารดาบิดารักษาบุตรของตนเป็นบุตรผู้เดียว บุรุษมีจักษุข้างเดียว ข้างหนึ่งบอดเสียแล้ว ก็รักใคร่ห่วงใยดวงจักษุแห่งตน สัตว์ ๔ จำพวกนี้ ปฏิบัติฉันใด พระภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ เร่งปฏิบัติรักษาศีลแห่งตนโดยเคารพคารวะ จงรักภักดีต่อสิกขาบทบัญญัติให้จงได้ มีอุปไมยเหมือนสัตว์ ๔ จำพวกนั้น

  “อปรมฺปิ วุตตํ” ใช่แต่เท่านั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้เป็นอุปมาว่า “มหาสมุทฺโท ถีติธมฺโม” มหาสมุทรเป็นถีติธรรมตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่ไหลล่วงซึ่งฝั่งได้ “ยถา” อันนี้แลมีอุปมาฉันใด สิกขาบทที่เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกแห่งเราก็ไม่ประพฤติล่วงสิกขาบท เพราะเหตุชีวิตแห่งตน “เอวเมวโข ตถาเอว” อันนี้ก็มีอุปไมยเหมือนดังนั้น

  “โจเรหิ พนฺธเถรานํ” วัตถุนิทานแห่งพระเถระทั้งหลายที่โจรผูกไว้ในอรัญราวป่า บัณฑิตพึงรู้ในอรรถ คือพระสาวกมิได้ล่วงสิกขาบทบัญญัติเพราะเหตุชีวิตนี้

  “กิร” ดังได้สดับมา โจรทั้งหลายอยู่ในดงใกล้หนทางอันใหญ่ จับพระเถระนั้นให้นอนอยู่ในป่า พระมหาเถระนอนอยู่ด้วยประการนั้น เจริญพระวิปัสสนาเจ็ดทิวาราตรี บรรลุถึงพระอนาคามิผลกระทำกาลกิริยาตายในสถานที่นั้น ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

  “อปริปิ เถรํ พนฺธิตฺวา” ใช่แต่เท่านั้น โจรทั้งหลายในตามพปัณณิทวีป ผูกพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งไว้ด้วยปูติลดาเถาวัลย์เน่าให้นอนอยู่ในป่า เมื่อไฟป่ามาถึงพระผู้เป็นเจ้าก็มิได้ตัดปูติลดาเจริญพระวิปัสสนาได้สำเร็จพระอรหัตต์เป็นองค์พระอรหันต์ ชื่อสมสีสีแล้วก็ปรินิพพาน พระฑีฆภาณกอภัยเถรเจ้าไปในสถานที่นั้นกับด้วยพระภิกษุห้าร้อย ได้เห็นแล้วก็เผาสรีระให้ไหม้ได้พระธาตุ จึงให้ชนทั้งหลายกระทำพระเจดีย์ บรรจุพระธาตุไว้ในพระเจดีย์ เพราะเหตุการณ์นั้น กุลบุตรผู้บวชในพระศาสนาประกอบด้วยศรัทธาอื่น ๆ นั้นเมื่อจะชำระพระปาฏิโมกขสังวรศีล ก็พึงละเสียซึ่งชีวิต อย่าพึงทำลายศีลสังวรที่องค์พระบรมโลกนาถบัญญัติไว้โดยแท้จริง

  อนึ่งพระภิกษุในพระศาสนานี้ ยังพระปาฏิโมกขสังวรศีลให้บริบูรณ์ด้วยศรัทธาฉันใด ก็พึงยังอินทรีย์สังวรศีลให้บริบูรณ์ด้วยสติฉันนั้น

   อินทรีย์สังวรศีลนี้สำเร็จด้วยสติ เพราะเหตุอินทรีย์ทั้งหลายมีจักษุอินทรีย์เป็นอาทินั้น พระภิกษุตั้งไว้ยิ่งรักษาไว้ให้ดีด้วยสติแล้วบาปธรรมทั้งหลายมีอภิชฌา เป็นประธานก็มิอาจติดตามครอบงำได้เหตุใดเหตุดังนั้น พระภิกษุพึงมีจิตคิดคำนึงถึงพระอาทิตตปริยายสูตรที่องค์สมเด็จพระผู้่ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้โดยนัยเป็นอาทิว่า “ภิกฺขเว” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุอินทรีย์ที่บุคคลแทงเข้าด้วยซี่เหล็กอันไฟไหม้แล้วลุกรุ่งเรืองจำเดิมแต่ต้น แลมีเปลวไฟรุ่งเรืองไปโดยรอบคอบ ก็ประเสริฐกว่าอนุพยัญชนะ

   “โส นิมิตฺตคาโห” การที่พระภิกษุถือเอาซึ่งนิมิตโดยอนุพยัญชนะว่า เกศางามเป็นอาทิในรูปทั้งหลาย อันพระภิกษุจะพึงเห็นนั้นมิได้ประเสริฐโดยแท้

   เมื่อพระภิกษุ อนุสสร คำนึงถึงพระธรรมเทศนาพระอาิทิตตปริยายสูตรดังนี้แล้ว ห้ามเสียซึ่งนิมิตโดยอนุพยัญชนะ อันบาปธรรมทั้งหลาย มีอภิชฌาเป็นต้น จะพึงติดตามครอบงำเป็นของขวนแห่งวิญญาณ อันประพฤติเป็นไปด้วยทวารทั้งหลายมีจักษุทวารเป็นอาทิ ในอารมณ์เป็นประธาน ด้วยสติอันได้หลงลืมแล้ว แลพึงชำระอินทรีย์สังวรศีลนั้นให้บริสุทธิ์ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้

  เอวํ อสมฺปาทิเตหิ เอตสมึ ปาฏิโมกฺขสีลํปิ อนทฺธนียํ โหติ อจิรฏฐิติกํ อสํ วิหิตสาขาปริวารมิว สสฺสํ หญฺญเต จายํ กิเลสโจเรหิ วิวฏทฺวาโร วิย คาโม ปรสฺสหารีภี จิตฺตญฺจสฺส ราโค สมติ วิชฺฌติ ทุจฺฉนฺน อคารํ วุฏิ วิย วุตฺฺตมฺปิเจตํ

รูเปสุ สทฺเทสุ อโถ รเสสุ
คนฺเธสุ ผสฺเสสุ จ น รกฺขตินฺทฺริยํ
เอเต หิ ทฺวารา วิวฏา อรกฺขิตา
หินนฺติ คามํว ปรสฺส หาริโน
ยถา อคารํ ทุจฉนฺนํ วุฏฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺติ ราโค สมติวิชฺฌตีติ

   วาระนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในจตุปาริสุทธิศีลสืบ อนุสนธิตามกระแสวาระพระบารมี มีเนื้อความว่า “เอวํ อสมฺปาทิเตหิ” แท้จริงในเมื่ออินทรียสังวรศีล อันพระภิกษุมิได้กระทำให้บริบูรณ์แล้วพระปาฏิโมกขสังวรศีลนั้นก็ไม่ควรแก่กาล ไม่ตั้งอยู่สิ้นกาลช้านาน มีอุปมาดุจดังข้าวกล้า อันชาวนามิได้ล้อมรั้ว

  ไม่ฉะนั้น โจรทั้งหลายกล่าวคือราคาทิกิเลส ก็จะเบียดเบียนพระภิกษุมีอุปมาดุจดังว่าประตูบ้านอันบุคคลมิได้ปิด โจรทั้งหลายก็เข้าไปฉกลักสรรพพัสดุข้าวของเงินทองทั้งปวง “จิตฺตญฺจสฺส ราโค” ใช่แต่เท่านั้น ราคาทิกิเลสก็จะรันทำย่ำยีจิตสันดานแหล่งพระภิกษุนี้มีอุปมาดุจดังว่าหยาดน้ำฝนอันรั่วลงมาสู่เรือนอันบุคคลมุงห่าง

  “วุตตมฺปิ เจตํ” นัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ว่า “รูเปสุ สทเทสุ อโถ” อนึ่งโยคาวจรภิกษุไม่รักษาอินทรีย์ให้ปราศจากการที่จะถือเอาซึ่งนิมิตเป็นอาทิ ในรูปแลเสียงแลกลิ่น แลรส แลโผฏฐัพพะสัมผัสถูกต้อง ไม่รักษาทวารทั้งหลายมีจักษุทวารเป็นอาทิ เป็นทวารไม่สังวร โจรทั้งหลายคือราคาทิกิเลสก็จะเบียดเบียนจิตสันดานแห่งพระภิกษุนั้น มีอุปมาดังว่าโจรทั้งหลายอันเบียดเบียนชาวบ้าน

  อนึ่ง หยาดน้ำฝนย่อมรั่วลงมาสู่เรือนอันบุคคลมุงมิได้ดี “ยถา” อันนี้แลมีอุปมาฉันใด ก็มีอุปไมยเหมือนหนึ่งราคะ ย่อมรับทำจิตสันดานแห่งบุคคลอันเว้นแล้วจากโลกุตตรภาวนา “สมฺปาทิเต ปน ตสฺมึ” ในเมื่ออินทรีย์สังวรศีลนั้น อันพระภิกษุกระทำให้บริบูรณ์แล้ว พระปาฏิโมกขสังวรศีลควรแก่กาลนาน และจะตั้งแวดล้อมไว้เป็นดี กิเลสโจรทั้งหลายก็มิได้เบียดเบียนพระภิกษุนี้มีอุปมาดุจดัง บ้านมีทวารอันบุคคลปิดดีแล้ว โจรทั้งหลายก็มิได้เบียดเบียนได้


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com