พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๑๒

  “น จสฺส จิตฺตํ ราโค” อนึ่งราคะก็มิได้รันทำย่ำยีจิตแห่งพระภิกษุนี้ มีอุปมาดุจดังว่าหยาดน้ำฝนอันมิได้ตกลงมาสู่เรือนอันบุคคลมุงดีได้

   “วุตฺฺตมฺปิ เจตํ” นัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาไว้ว่า พระภิกษุรักษาอินทรีย์ ให้เว้นจากกิริยาที่จะถือเอาโดยนิมิตเป็นอาทิ ในรูปเสียงแลกลิ่นแลรส แลโผฏฐัพพะสัมผัสถูกต้อง ปิดทวารมีจักษุทวารเป็นอาทิไว้ โจรทั้งหลายคือกิเลสก็มิได้เบียดเบียนจิตสันดานของพระภิกษุ มีอุปมาดุจดังว่าโจรทั้งหลายไม่เบียดเบียนได้ ซึ่งบุคคลทั้งหลายอันปิดประตูแล้วแลอยู่ในบ้าน “ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ” เมล็ดฝนไม่รั่วลงมาสู่เรือนอันบุคคลมุงแล้วก็ดี “ยถา” อันนี้แลมีอุปมาฉันใด “เอวํ อุภาวิตํ จิตฺตํ” ราคะอันมิได้รันทำย่ำยีจิตพระภิกษุอันเจริญโลกุตตรภาวนาฉันนั้น

  พระคาถาทั้ง ๒ ที่องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนานี้เป็นพระธรรมเทศนาอันอุกฤษฏ์ “จิตตํ นาเมตํ ลหุปริวตฺติ” ธรรมดาจิตนี้ย่อมกลับกลายประพฤติไปเป็นพลัน เพราะเหตุนั้น ภิกษุบรรเทาเสียซึ่งราคะอันบังเกิดในจิต ด้วยกระทำไว้ในใจซึ่งอสุภกัมมัฏฐานภาวนาแล้ว แลยังอินทรีย์สังวรให้บริบูรณ์เหมือนพระวังคีลเถรเจ้า อันบรรพชาสิ้นกาลมิได้นาน

   “กิร” ดังได้สดับมา พระวังคีสเถระนี้ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าบวชใหม่ เที่ยวไปบิณฑบาตได้ทัศนาการเห็นหญิงคนหนึ่ง ราคะก็บังเกิดขึ้นในจิตพระผู้เป็นเจ้าจึงกล่าวแก่พระอานนท์เถรเจ้าว่า “กามราเคน ทยฺหา มิ” กามราคะเผาอันจิตแห่งข้าให้ได้ความร้อน เพราะแรงราคะเข้ารันทำดังข้าพระองค์ขออาราธนาท่านอันบังเกิดในโคตมวงศ์ ท่านจงกล่าวอุบายที่จะยังราคะให้ดับ เพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์ในกาลบัดนี้

  พระอานนท์เถรเจ้าจึงกล่าวว่า ดูกรอาวุโส จิตของท่านได้ความเดือดร้อนเพราะเหตุมีสำคัญวิปริต ท่านจงเว้นเสียซึ่งนิมิตเป็นเหตุที่จะยังราคะให้บังเกิดคือสำคัญว่างาม ด้วยสามารถมิได้กระทำไว้ในใจ จงเจริญจิตแห่งตนให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้ตั้งมั่นด้วยอสุภภาวนาสำคัญว่าไม่งาม จงเห็นซึ่งสังขารธรรมทั้งหลายคือนามแลรูป อันประพฤติเป็นไปโดยฝ่ายอื่น คือจะนำมาซึ่งทุกข์แลมิใช่ของแห่งตน “นิพฺพาเปหิ มหา ราคํ” จงยังกองแห่งกามราคะอันใหญ่ให้ดับ อย่าให้ราคะกระทำจิตแห่งท่านให้ร้อนเนือง ๆ

  “เถโร ราคํ วิโนเทตฺวา” พระวังคีสเถรเจ้าก็ยังราคะนั้นให้ดับแล้วก็เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต

   นัยหนึ่ง “อินฺทริยสํวรปริปูรเกน” พระภิกษุในพุทธศาสนาจะยังอินทรียสังวรให้บริบูรณ์ พึงปฏิบัติดุจดังว่าพระจิตตคุตตเถรเจ้าอันอยู่ในถ้ำชื่อว่ากุรุณฑกะ และพึงปฏิบัติให้เหมือนพระมหามิตตเถรเจ้าอันอยู่ในโจรกมหาวิหาร

   “กิร” ดังได้สดับ “จิตฺตกมฺมํ มโนรมฺมํ” จิตคือนายช่างเขียนเขาเขียนเรื่ืองราวพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ออกทรงบรรพชาอันเป็นที่จะยังจิตให้ยินดีมีในถ้ำอันใหญ่ชื่อว่า กุรุณฑกะ พระภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไปในเสนาสนะ ได้เห็นจตรกรรมในถ้ำที่อยู่พระจิตตคุตตเถรเจ้า จึงมากล่าวคำสรรเสริญในสำนักพระผู้เป็นเจ้าว่า “มโนรมํ ภนฺเต” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จิตรกรรมในถ้ำอันนี้ควรจะเป็นที่ยินดีแห่งจิต พระจิตตคุตตเถรเจ้าจึงกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย แต่เราอยู่ในถ้ำอันนี้มามากกว่าหกสิบวัสสาแล้ว เรามิได้รู้ว่าจิตกรรมมีหรือว่าไม่มีในถ้ำ เราพึ่งรู้ในเพลาวันนี้ เพราะเหตุอาศัยท่านทั้งหลายอันมีจักษุ แท้จริงพระจิตตคุตตเถรเจ้าอยู่ในถ้ำสิ้นกาลนานถึงเท่านี้ พระผู้เป็นเจ้าไม่เคยจะเงยหน้าลืมตาขึ้นแลในเบื้องบนถ้ำเลย อนึ่งต้นกากะทิงใหญ่มีอยู่แทบประตูน้ำ พระผู้เป็นเจ้าก็มิได้เงยพักตร์ แลขึ้นไปในเบื้องบนต้นกากะทิง ครั้นถึงปีต้นกากะทิงนั้นมีดอกเกสรดอกกากะทิงนั้นโรยร่วงมายังพื้นแผ่นดินภายใต้ใกล้ปากถ้ำ พระมหาเถรเจ้าจึงรู้ว่าต้นกากะทิงนี้มีดอก “ราชา ตสฺส คุณสมฺปตฺตึ สุตฺวา” บรมกษัตริย์ทรงทราบว่า พระหาเถรเจ้าบริบูรณ์ด้วยคุณดังนี้ มีความปรารถนาจะถวายนมัสการ ส่งข่าวสารไปอาราธนาเข้ามาสู่มหาคามถึงสามครั้ง พระมหาเถรเจ้าก็มิได้มา พระองค์จึงยังราชบุรุษ ให้ผูกถันแห่งหญิงทั้งหลายที่มีบุตรอันอ่อนอยู่ ในมหาคามด้วยผ้าผูกถันนั้นตีตราประทับมีให้แก้ด้วยพระโองการตรัสว่า พระมหาเถรเจ้ายังไม่มาตราบใด ทารกทั้งหลายอย่าได้ดื่มน้ำนมตราบนั้นพระหาเถรเจ้าก็มาสู่มหาคาม เพื่อจะอนุเคราะห์แก่ทารกทั้งหลาย บรมกษัตริย์ได้ทรงฟังว่า พระจิตตคุตตเถรเจ้ามาแล้ว จึงตรัสสั่งราชบุรุษทั้งหลายว่า ดูกรนายท่านจงเร่งออกไปอาราธนาพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาเราจะรักษาศีล ตรัสดังนี้แล้ว ราชบุรุษก็ไปนิมนต์พระมหาเถรเจ้าเข้าไปในพระราชฐาน แล้วทรงนมัสการอังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะ แล้วตรัสว่าข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพลาวันนี้ข้าพระอาว์ไม่มีโอกาสต่อวันพรุ่งนี้จึงจะสมาทานศีล ทรงถือเอาบาตรแห่งพระมหาเถรเจ้าตามไปส่งถึงวารพระราชวัง พระมหาเถรเจ้าก็มิได้กระทำเป็นแผนกแยกออกว่าบรมกษัตริย์แลราชเทวีกล่าวว่า “มหาราช” ดูกรมหาราช มหาบพิตรจงอยู่เป็นสุขเถิด แต่พระมหาเถรเจ้าประพฤติดังนี้ จนล่วงไปเจ็ดวันแล้ว พระภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อบรมกษัตริย์ถวายนมัสการพระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า มหาราชอยู่เป็นสุขเถิด เมื่อราชเทวีถวายนมัสการพระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า ดูกรมหาราช ท่านจงอยู่เป็นสุขเถิด เหตุดังฤๅพระผู้เป็นเจ้าจึงกล่าวเหมือนกันไปดังนี้ พระมหาเถรจึงกล่าวตอบคำว่า เรามิได้กำหนดว่า บุคคลนี้เป็นกษัตริย์ บุคคลนี้เป็นราชเทวี “สตฺตา หาติกฺกเม” ในเมื่อ ๗ วันล่วงไปแล้ว บรมกษัตริย์ทรงคิดว่าพระผู้เป็นเจ้ามาอยู่ในมหาคามนี้มีความลำบาก ทรงอนุญาตแล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็ไปสู่ถ้ำอันใหญ่ชื่อว่า กุรุณฑกะ ในเพลาราตรีก็ขึ้นสู่ที่จงกรม “นาครุกเขอธิวฏา เทวตา” เทพยดาที่สิงอยู่ ณ ต้นกากะทิง มีมือถือประทีปด้ามส่องแสงเพลิงถวายยื่นอยู่ในที่ใกล้จงกรม ในกาลนั้น พระกรรมฐานของพระผู้เป็นเจ้าบริสุทธิ์ยิ่งนักปรากกฏแก่พระผู้ที่เป็นเจ้า พระมหาเถรเจ้าก็มีจิตยินดีว่า วันนี้พระกรรมฐานปรากฏแก่เรายิ่งนัก ในเพลาลำดับมิชฌิมยาม พระผู้เป็นก็ยังภูเขาทั้งปวงให้สะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ได้บรรลุถึงพระอรหันต์

   เหตุการณ์นั้น กุลบุตรพุทธชิโนรสองค์อื่นในพระพุทธศาสนานี้มีความปรารถนาซึ่งประโยชน์ อย่ามีจักษุอันเหลือกลาน ดุจวานรในอรัญราวป่า แลเนื้อในอรัญประเทศอย่าตื่นตระหนกตกใจ จงทอดทิ้งจักษุทั้งหลายไปในเบื้องต่ำ “ยุคมตตทสฺโส” เล็งแลไปแต่ชั่วแอกหนึ่ง อย่าพึงถึงซึ่งอำนาจแห่งจิต ดุจพรานป่าอันลนลาน

   ในวัตถุนิทานพระมหามิตตเถรเจ้าว่า “วิสคณฺฑโรโค” โรคฝีอันมีพิษ บังเกิดขึ้นแก่อุบาสิกามารดาของพระมหามิตตเถรเจ้า

  อันธิดาของอุบาสิกานี้ ก็บวชเป็นภิกษุณี มหาอุบาสิกาจึงว่าแก่พระภิกษุณีนั้นว่า ท่านจงไปสู่สำนักแห่งพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพี่บอกว่ามารดาไม่สบาย ให้พระผู้เป็นเจ้าหายามารักษา พระภิกษุณีนั้นก็ไปบอกแก่พระมหามิตตเถรเจ้า ๆ จึงกล่าวว่า อาตมาไม่รู้จักที่จะประมาณมาซึ่งเภสัชมีรากไม้ เป็นอาทิ แล้วแลจะได้ปรุงต้มส่งไปให้แก่อุบาสิกา อนึ่งเราจะบอกให้แก่ท่าน ท่านจงไปเถิด ไปกล่าวว่า “อหํ ยโต ปพฺพชิโต” เราบวชแล้วกาลใด จำเดิมแต่กาลนั้นมา เรามิได้ทำลายอินทรีย์สังวรศีล แล้วแลเล็งดูซึ่งวิสภาครูปารมณ์ คือรูปแห่งหญิงด้วยจิตอันสหรคตถึงพร้อมด้วยโลภ ด้วยความสัตย์อันนี้ มารดาแห่งข้าจะผาสุกเถิด เมื่อท่านกล่าวคำดังนี้แล้วจงเอามือปรามาสลูบคลำสรีรกายแห่งอุบาสิกา “สา คนฺตวา ตมตฺถํ อาโรเจตวา” พระภิกษุณีนั้นกลับไปบอกประพฤติเหตุนั้นแก่มารดา แล้วก็กระทำเหมือนคำพระมหามิตตเถรเจ้าสั่งโรคคือฝีพิษแห่งอุบาสิกาก็ฝ่อไป ดุจดังว่าฟองน้ำอันตรธานหายในขณะนั้นแท้จริง อุบาสิกาก็ลุกขึ้นทันที เปล่งวจีเภทด้วยจิตอันชื่นชมว่า “สเจ สมฺมาสมฺพุทโธ” ถ้าแลว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังฤๅจะไม่พึงปรามาสศีรษะพระภิกษุเห็นปานดุจดังว่าบุตรแห่งเรา ด้วยพระหัตถ์อันวิจิตรอันเลขามีข้ออันตรงตั้งอยู่แล้วด้วยอาการดุจดังว่าข่าย อันบุคคลขึงไว้ในช่องหน้าต่าง

   เหตุการณ์นั้น กุลบุตรอื่นถือตนว่าบังเกิดในสกุลแห่งบุคคลอันเป็นอาจารย์แห่งสกุลทั้งหลาย บรรพชาในพระศาสนาแล้ว พึงตั้งอยู่ในอินทรียสังวรศีลอันประเสริฐ ดุจดังว่าพระมหาิมิิตตเถรเจ้านี้

   อนึ่ง มีคำอุปมาว่า “อนฺทริยสํวโร” อินทรียสังวรศีลนั้นพระภิกษุพึงกระทำให้บริบูรณ์ด้วยสติอย่างไร อาชีวปราริสุทธิศีลนั้น พระภิกษุพึงกระทำให้บริบูรณ์ด้วยความเพียรเหมือนอย่างนั้น

   แท้จริง อาชีวปาริสุทธิศีลนั้นสำเร็จด้วยความเพียร เพราะเหตุว่าความเพียรที่พระภิกษุปรารภด้วยอาการอันดีนั้น ก็จะสละเสียซึ่งมิจฉาชีวะ เพราะเหตุดังนั้น พระภิกษุไม่ปรารถนาจะเสพซึ่งปัจจัยอันไม่บริสุทธิ์ดุจดังอสรพิษ พึงละเสียซึ่งอเนสนะแสวงหามิได้ควรแล้ว ยังอาชีวปาริสุทธิศีลให้บริบูรณ์ ด้วยกิจที่จะแสวงหาด้วยอาจาระอันชอบธรรม มีบิณฑบาตจาริกวัตร คือเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นอาทิด้วยความเพียรแห่งตน ปัจจัยทั้งหลายบังเกิดขึ้นแต่สำนักแห่งสงฆ์ และคณะแก่พระภิกษุอันมิได้รักษาธุดงค์ ปัจจัยนั้นก็ได้ชื่อว่าบังเกิดขึ้นด้วยบริสุทธิ์ อนึ่งปัจจัยทั้งหลายบังเกิดขึ้นแต่สำนักแห่งคฤหัสถ์ อันเลื่อมใสด้วยคุณทั้งหลายของพระภิกษุนี้ีมีธรรมเทศนาคุณเป็นอาทิ ปัจจัยนั้นก็ได้ชื่อว่าบังเกิดขึ้นด้วยบริสุทธิ์ อนึ่งปัจจัยทั้งหลายบังเกิดด้วยสัมมาเอสนา คือภิกษุแสวงโดยชอบมีเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นอาทิ ชื่อว่าบังเอิญด้วยบริสุทธิ์ยิ่งนัก เมื่อพระภิกษุรักษาธุงดงค์อยู่ ปัจจัยทั้งหลายเกิดด้วยวัตร มีอันเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นอาทิ แลบังเกิดขึ้นแต่สำนักแห่งคฤหัสถ์ทั้งหลายอันเลื่อมใสในธุดงค์ คุณของพระภิกษุนี้โดยอนุโลมตากำหนดซึ่งธุดงค์นั้น ปัจจัยอันนั้นก็ชื่อว่าบังเกิดขึ้นด้วยบริสุทธิ์ อนึ่งเภสัชคือสมอดองด้วยมูตรโคบูด แลจตุมธุรสทั้ง ๔ บังเกิดแก่พระภิกษุอันเป็นไข้ เพื่อจะระงับเสียซึ่งพยาธิอันหนึ่ง พระภิกษุนั้นคิดว่าสพรหมจรรย์ทั้งหลายอื่นจะได้บริโภค จตุมธุรสตนก็บริโภค แต่ชิ้นสมอธุดงค์สมาทานของพระภิกษุนั้น ก็สมควรแก่พระภิกษุนั่น ก็ได้ชื่อว่ารักษาไว้ซึ่งวงศ์แห่งพระอริยเจ้าอันอุดม

  อนึ่ง เมื่อพระภิกษุชำระอาชีวปาริสุทธิศีล ธรรมทั้ง ๔ ประการคือ นิมิต ๑ โอภาส ๑ ปริกถา ๑ วิญญัติ ๑ อันพระภิกษุจะให้ประพฤติเป็นไปในจีวร แลบิณฑบาตนั่นมิได้ควร

  อนึ่ง พระภิกษุมิได้รักษาซึ่งธุดงค์ นิมิตแลโอภาสแลปริกถาทั้ง ๓ นี้ อันพระภิกษุนั้นให้ประพฤติเป็นไปในเสนาสนะนั้นควร

   จะสังวรรณนาในนิมิตนั้นก่อน มีเนื้อความว่า พระภิกษุกระทำกิจทั้งหลาย มีบริกรรมภาคพื้นเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ คือที่นอนที่นั่งคฤหัสถ์ทั้งหลายถาว่า “กึ ภนฺเต กริยติ” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากระทำกิจดังฤๅ บุคคลงดังฤๅ ยังพระผู้เป็นเจ้าให้กระทำกิจการนี้

  พระภิกษุก็กล่าวคำตอบว่า “น โกจิ การาเปติ” ใครที่ไหนจะให้รูปกระทำ รูปกระทำเอง กรรมคือพระภิกษุกระทำดังนี้ ชื่อว่านิมิตกรรม

   อนึ่ง พระภิกษุกระทำนิมิตอย่างอื่น เหมือนิมิตกรรมนี้ชื่อว่า นิิมิตกรรม

   โอกาสที่ ๒ นั้น มีเนื้อความอันพระภิกษุถามว่า ดูกรอุบาสกทั้งหลาย ท่านทั้งหลายนี้อยู่ในที่ดังฤๅ

  อุบาสกก็กล่าวคำตอบว่า “ปาสาเท ภนฺเต” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งปวงนี้ อยู่ในปราสาท

  พระภิกษุถามว่า ดูกรอุบาสกทั้งหลาย ปราสาทใหม่ควรแก่พระภิกษุแลฤๅ ดังนี้ชื่อว่า โอภาส

   ภิกษุกล่าวคำอันใดอันอื่นเหมือนอย่างนี้ คำอันนี้ก็ชื่อว่าโอภาสกรรม เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้

  "ปริกถา นาม ภิกฺขุสงฺฆสฺส เสนาสนํ สมฺพาธนฺติ วจนํ ยา วาปนญฺญาปิ เอวรูปา ปริยายกถา เกสชฺเช สพฺพํ วุฏฏติ ตถา อุปฺปนฺนํ ปน เภสชฺชํ โรเค วูปสนฺเต ปริภุญฺชิตุ ํ น วุฏฏติ ตตฺถ วินยธรา ภควตา ทฺวารํ ทินฺนํ ตสมา วุฏฏตีติ วาทนฺติ สุตฺตนฺติกา ปน กิญฺจาปิ อาปตฺโต ปโหติ อาชีวํ ปน โกเปติ ตสฺมา น วุฏฏติ อิจฺเจวํ วทนฺติ โย ปน ภควตา อนุญฺญาตาปิ นิมตฺโตภาสปริกถา วิญฺญตฺติ อกโรนฺโต อปฺปิจฺฉตาทิคฺเณเยว นิสฺสาย ชีวิตกฺขเยปิ ปจฺจุปฏฐิเต อญฺญเตรโวภาสาทีหิ อุปปนนํ ปจฺจเย ปฏิเสวติ"

  วาระนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในจตุปาริสุทธิศีล สืบอนุสนธิตามกระแสงวาระพระบาลี มีเนื้อความว่า พระภิกษุกล่าวว่า “เสนาสนํ สมฺพาธํ” เสนาสนะที่อยู่แห่งพระภิกษุสงฆ์คับแคบนักดังนี้ ชื่อว่าปริกถา

  อนึ่ง คำที่พระภิกษุกล่าวอย่างอื่น ๆ เหมือนอย่างนี้ ก็ชื่อว่าปริยายกถา “เภสชฺเช สพพมฺปิ วุฏฏติ” นิมิตแลโอภาส แลปริกถาทั้งปวงนี้ พระภิกษุให้ประพฤติเป็นไปในเภสัชก็ควร

   อนึ่ง เภสัชบังเกิดขึ้นแก่พระภิกษุ อันกระทำนิมิตแลโอภาส แลปริกถา เมื่อโรคระงับแล้ว พระภิกษุจะบริโภคเภสัชนั้นไม่ควรในเภสัชนั้น พระมหาเถระผู้ทรงวินัยกล่ว่า “ภควตา ทวารํ ทินุนํ” องค์พระผู้ทรงพระภาคประทานช่องไว้ให้อยู่ เพราะเหตุการณ์นั้น พระภิกษุบริโภคเภสัช ที่เกิดขึ้นด้วยนิมิตกรรมเป็นอาทิ ในกาลเมื่อไข้หายแล้วก็ควร

   พระมหาเถระทั้งหลาย อันทรงไว้ซึ่งพระสูตรกล่าวว่า

  “อาปตฺติ น โหติ” อาบัติไม่มีโดยแท้ ถึงกระนั้นก็ดี พระภิกษุบริโภคเภสัชอันบังเกิดขึ้นด้วยประการนั้น ชื่อว่ายังอาชีวปาริสุทธิศีลให้กำเริบ เหตใดเหตุนั้น พระภิกษุจะบริโภคเภสัชอันนั้นในกาลหาโรคมิได้ก็ไม่ควร

   อนึ่ง พระภิกษุรูปใด ไม่กระทำนิมิต แลโอภาส แลปริกถา แลวิญญัติที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตอาศัยคุณทั้งหลาย มีอัปปิจตาคุณคือมีความปรารถนาน้อยเป็นอาทิ ถึงว่าชีวิตจะสิ้นไปก็เสพแต่ปัจจัยทั้งหลายอันบังเกิดขึ้น ด้วยอันเว้นจากโอภาสเป็นอาทิ

  “เอส ปรมสลฺเลขวุตติ” พระภิกษุนั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ตรัสเทศนาสรรเสริญว่าประพฤติสัลเลขพึงกระทำให้น้อยแห่งกิเลสจิตอันอุดม “เสยฺยถาปิ เถโร สารีปุตฺโต” เหมือนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้า

   กิร ดังได้สดับมา ในสมัยหนึ่ง พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเจริญวิเวกอยู่ในอรัญราวป่าแห่งหนึ่ง กับด้วยพระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้าวันหนึ่งอาพาธลมในอุทรประเทศ บังเกิดแก่พระผู้เป็นเจ้าให้ได้ความทุกขเวทนาอันยิ่ง ครั้นถึงเพลาสายัณห์ พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้าผู้มีอายุไปสู่ที่อุปัฏฐาก เห็นพระผู้เป็นเจ้านอนอยู่ทราบว่าอาพาธจึงถามว่า “ปุพฺเพวเต อาวุโส” ข้าแต่ท่านผู้มีอายุแต่กาลปางก่อน ความไม่สบายนี้เคยบังเกิดแก่ท่านแลหรือ

   จึงมีเถรวาทบอกประพฤติเหตุแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่อาวุโส โมคคัลลานะ ในกาลเมื่ออาตมาเป็นคฤหัสถ์อยู่นั้น โรคลมอย่างนี้บังเกิดมีแล้ว อุบาสิกาผู้เป็นมารดาเคยให้ข้าวขีรปายาสอันมิได้เจือกับน้ำประกอบด้วยสัปปิแลน้ำผึุ้ง แลน้ำตาลกรวดแก่อาตมาครั้นบริโภคแล้วโรคลมนี้ก็ระงับหายได้รับความผาสุก พระมหาโมคคัลลานะผู้มีอายุจึงกล่าวว่า ข้าแต่อาวุโสเหตุอันนี้จงยกไว้ถ้าแลว่าบุญของข้าพระองค์ และบุญของพระผู้เป็นเจ้ามี วันพรุ่งนี้ก็จะได้ขีรปายาสโดยแท้ เมื่อพระมหาเถรเจ้าทั้งสองกล่าวถ้อยคำด้วยกันดังนี้ เทพยดาสิงสู่อยู่ในต้นไม้ใกล้ที่สุดที่จงกรม ได้ฟังแล้วคิดว่า ในวันพรุ่งนี้ เราจักยังขีรปายาสให้บังเกิดแก่พระผู้เป็นเจ้ารุกขเทพยดาก็ไปสู่สกุลกุลบุตร ผู้ปฏิบัติพระมหาเถรเจ้าเข้าสิงอยู่ในสรีระบุตรแห่งผู้ใหญ่ในสกุล ยังความลำบากให้บังเกิดขึ้นในกาลนั้น ญาติทั้งหลายแห่งกุลบุตรนี้ ประชุมกันพร้อมเพื่อว่าจะเยียวยารักษากัน เทพยดาจึงกล่าวว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะตกแต่งข้าวปายาสอย่างนี้ ไปถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าในเพลารุ่งเช้า เราก็จะปล่อยปละละเลยเสียซึ่งบุตรแห่งท่าน มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้นจึงกล่าวว่าถึงท่านไม่บอกแก่เรา ข้าพเจ้าทั้งปวงก็คงจะถวายภิกขาหาร แก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งสองนั้นสิ้นกาลเป็นนิตย์ กล่าวดังนี้แล้วในวันเป็นคำรบ ๒ ก็ตกแต่งข้าวปายาสไว้ คอยจะถวายใส่บาตรพระผู้เป็นเจ้าเพลาเช้า พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้าก็ไปยังสำนักแห่งพระธรรมเสนาบดี มีเถรวาทว่า ข้าแต่ผู้อาวุโส ท่านจงอยู่ในสถานที่นี้ ตราบเท่าถึงเพลาที่ข้าพระองค์จะกลับมา พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้ากล่าวคำสั่งพระธรรมเสนาบดีเถรเจ้าดังนี้แล้ว ก็เข้าไปสู่โคจรคามนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ก็กระทำต้อนรับโดยเคารพ รับเอาบาตรอาราธนาให้นั่งเหนืออาสนะ ใส่ข้าวปายาสในบาตร แล้วก็อังคาสถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้า รับข้าวปายาสแล้วก็กระทำอาการที่จะกลับไป มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจงกระทำภัตตกิจเสียก่อนเถิด เมื่อกลับไปข้าพระองค์จะถวายขีรปายาสอันอื่นแก่พระผู้เป็นเจ้า กล่าวดังนี้ยังพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้าให้บริโภค จึงใส่ข้าวปายาสอื่นลงให้เต็มบาตรถวายพระผู้เป็นเจ้า พระมหาโมคคัลลานะได้ขีรปายาสกลับมาถึงแล้วจึงเถรวาทว่า ข้าแต่อาวุโสสารีบุตร ขออาราธนาบริโภคขีรปายาส จึงน้อมบาตรเข้าสู่ที่ใกล้ “เถโรปิ ตํ ทิสฺวา” พระสารีบุตรเถรเจ้าได้เห็นข้าวปายาสนั้น จึงคิดว่าข้าวปายาสนี้ เป็นที่ยังจิตให้เจริญยิ่งนัก “กถํนุโข โส อุปฺปนฺโน” ดังเรารำพึงข้าวปายาสนั้นบังเกิดขึ้น เพราะพระผู้เป็นเจ้าบอกแก่พระมหาโมคคัลลานะ จึงมีเถรวาทว่า ข้าแต่พระมหาโมคคัลลานะ ท่านจงนำเอาข้าวปายาสนี้ออกไป บิณฑบาตินี้ไม่ควรที่เราจะบริโภค

   พระมหาโมคคัลลานะก็มิได้คิดว่า พระสารีบุตรไม่บริโภคบิณฑบาต บาตรอันพระภิกษุเห็นปานดังเรานี้นำมาถวาย ก็จับเอาขอบบาตรไปเททิ้งเสียในที่สุดข้างหนึ่ง ด้วยคำ ๆ เดียว อาพาธลมแห่งสารีบุตรเถรเจ้าก็อันตรธานหายไป พร้อมด้วยกาลที่ข้าวปายาสตกจากบาตรลงไปตั้งอยู่เหนือปฐพี

   จำเดิมแต่นั้นมา ลมอาพาธอย่างนั้นก็มิได้กลับมาบังเกิดมีแก่พระผู้เป็นเจ้าประมาณเข้านานถึง ๔๕ ปีเป็นกำหนด

  ในกาลเมื่ออาพาธอันตรธานหายไปนั้น พระธรรมเสนาบดีจึงกล่าวแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่อาวุโส ข้าวปายาสบังเกิดขึ้น เพราะเหตุอาศัยวจีวิญญัติ ถึงว่าไส้ใหญ่ในสรีกายแห่งเราออกมาแล้วแลเรียงรายอยู่เหนือแผ่นดิน ก็ไม่ควรที่เราจะบริโภคขีรปายาสนี้ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวคำดังนี้แล้ว ก็เปล่งขึ้นซึ่งอุทานกถาว่า “วจี วิญฺญตฺติวิปฺผารา อุปฺปนฺนํ มธุปายาสํ” เป็นอาทิ อรรถาธิบายในอุทานคาถาว่า ข้าแต่อาวุโสโมคคัลลานะ ถ้าแลข้าพเจ้าจะพึงบริโภคมธุปายาสอันบังเกิดขึ้น เพราะเหตุข้าพเจ้าเปล่งออกซึ่งวาจาอันประกอบด้วยอามิส อาชีวปาริสุทธิศีลของเรานั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระภาคก็พึงติเตียน

   อนึ่ง ไส้ใหญ่ในอุทรประเทศของเรานี้ จะออกจากกายแห่งเราแล้ว แลเรี่ยรายอยู่ภายนอก เราก็จะสละเสียซึ่งชีวิตแห่ง ที่เราจะทำลายอาชีวปาริสุทธิศีลแห่งเรานั้นหามิได้ “อาราเธมิ สกํ จิตฺตํ” เราจะยังจิตแห่งเราให้ยินดีที่จะเว้นเสีย ซึ่งอเนสนะแสวงหามิได้ควร นหํ “พุทฺธปฏิกุฏํ” เราก็มิได้กระทำอเนสนะที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียน

   ใช่แต่เท่านั้นวัตถุนิทานแห่งอัมพขาทกมหาติสสะเถระ อันบริโภคอัมพปานอยู่ในวิหารชื่อว่าจิรคุมพกะ อาจารย์พึงนำมาแสดงในประพฤติสัลเลขอันอุดม ในอาชีวปาริสุทธิศีลนี้

   เพราะเหตุการณ์นั้น พระยัติโยคาพจรภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธาประกอบด้วยวิจารณปัญญา อย่าพึงให้บังเกิดซึ่งจิตอันจะประพฤติเป็นไปในอเนนะคือแสวงหามิได้ควร พึงชำระอาชีวิปาริสุทธิศีลด้วยประการทั้งปวงดังนี้

   “ยถา จ วิริเยน อาชีวปาริสุทธิ” อนึ่งอาชีวปาริสุทธิศีลนั้น พระภิกษุจะพึงให้บริบูรณ์ด้วยความเพียรฉันใด ปัจจัยสันนิสสิตศีลนี้ พระภิกษุก็พึงกระทำให้บริบูรณ์ด้วยปัญญาเหมือนฉันนั้น

   แท้จริงปัจจัยสันนิสสิตศีลนั้นสำเร็จด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าพระภิกษุประกอบด้วยปัญญา จึงจะสามารถอาจเห็นซึ่งโทษแลอานิสงส์ในปัจจัยทั้งหลาย เหตุใดเหตุดังนั้น พระโยคาพจรภิกษุพึงสละเสียซึ่งความกำหนัดในปัจจัย พิจารณาปัจจัยทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นโดยธรรมโดยชอบด้ัวยปัญญาโดยวิธีกล่าวแล้วในหนหลัง จะยังปัจจัยสันนิสสิตศีลนั้นให้บริบูรณ์

   กิริยาที่พระภิกษุจะทำปัจจเวกขณะ คือพิจารณาในปัจจัยสันนิสสติศีลมี ๒ ประการ

  คือพิจารณาในกาลเมื่อได้ปัจจัยทั้งหลายประการ ๑ คือพิจารณาในกาลเมื่อบริโภคปัจจัยทั้งหลายประการ ๑ เป็นปัจจเวกขณะวิธี ๒ ประการด้วยกันดังนี้

  แท้จริงพระภิกษุบริโภคปัจจัยทั้งหลาย มีจีวรปัจจัยเป็นอาทิที่ตนพิจารณาด้วยธาตุปัจจเวกขณะ และปฏิกูลปัจจเวกขณะ แล้วแลตั้งไว้ในกาลเมื่อได้ก็หาโทษมิได้ แลบริโภคในกาลอันยิ่งขึ้นไปกว่ากาลที่ตนได้นั้น ก็หาโทษมิได้

  อนึ่ง ปัจจัยบริโภคแห่งพระภิกษุอันพิจารณาด้วยปัญญา ในวิธีอันเรากล่าวแล้วในกาลเมื่อบริโภคนั้นก็หาโทษมิได้

  วินิจฉัยตัดสินให้หายสนเท่ห์ในปัจจเวกขณะ คือพระภิกษุพิจารณาในกาลเมื่อบริโภค บัณฑิตพึงรู้โดยนัยอันเราจะกล่าวดังนี้

   ดังเราจะกล่าวโดยพิสดาร “จตฺตาโร ปริโภคา” บริโภคมี ๔ ประการคือ ไถยบริโภคต ๑ อิณบริโภค ๑ ทายัชชบริโภค ๑ สามีบริโภค ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกันดังนี้

  ไถยบริโภคปฐมนั้นมีเนื้อความว่า "ตตฺถ สงฺฆมชฺเฌปิ นิสีทิตฺวา" พระภิกษุทุศีลอยู่ในท่ามกลางสงฆ์แล้วแลบริโภค ชื่อว่าไถยบริโภค บริโภคด้วยภาวะแห่งตนเป็นโจร

   อิณบริโภคเป็นคำรบสองนั้นว่า พระภิกษุมีศีลมิได้พิจารณาแล้วบริโภค ชื่อว่าอิณบริโภค เพราะเหตุการณ์นั้น ภิกษุพึงพิจารณาจีวรในกาลเมื่อบริโภคนุ่งห่มทุก ๆ ครั้ง พระภิกษุพึงพิจารณาบิณฑบาตทุกคำรบบริโภค

   เมื่อพระภิกษุไม่อาจพิจารณาด้วยประการดังนั้น ก็พิจารณาจีวรแลบิณฑบาตนัน ในปุโรภัตตกาล แต่เช้าจนเที่ยง แลปัจฉาภัตตกาล แต่เที่ยงจนถึงเพลาเย็น แลปุริมยาม แลมัชฌิมยาม แลปัจฉิมยาม

  ถ้าแลว่าพระภิกษุไม่พิจารณาแล้วแลบริโภค แลมิได้พิจารณาในปุเรพัตตกาลเป็นอาทิ ยังอรุณให้ขึ้นมา พระภิกษุนั้นก็ตั้งอยู่ในที่แห่งอิณบริโภค

   อนึ่ง พระภิกษุพึงพิจารณาเสนาสนะ ในกาลเมื่อเข้าไปสู่ที่นอนแลที่นั่งทุก ๆ ครั้ง

   “สติปจฺจยตา วุฏฏติ” พระภิกษุมีสติระลึกอยู่ที่จะพึงพิจารณาให้เป็นเหตุปัจจัย ในกาลที่จะรับแลกาลที่จะบริโภคเภสัชจึงจะควรเมื่อพระภิกษุพิจารณาในกาลทั้ง ๒ ดังนี้มีแล้ว เมื่อพระภิกษุกระทำซึ่งสติพิจารณาในกาลเมื่อรับ เมื่อบริโภคไม่กระทำปัจจเวกขณะสติอาบัติก็มีแก่พระภิกษุนั้น

   เื่มื่อพระภิกษุพิจารณาในกาลทั้ง ๒ ดังนี้มีแล้ว เมื่อพระภิกษุกระทำซึ่งสติพิจารณาในกาลเมื่อรับ เมื่อบริโภคไม่กระทำปัจจเวกขณสติอาบัติก็มีแก่พระภิกษุนั้น

   อนึ่ง เมื่อพระภิกษุรับมิได้กระทำปัจจเวกขณะสติ เืมื่อจะบริโภคได้กระทำปัจจเวกขณสติแล้ว อาบัติก็ได้มีแก่พระภิกษุนั้น

   แท้จริง “สุทธิ” แปลว่าบริสุทธิ์ ๆ มี ๔ ประการคือ เทศนาสุทธิ ๑ สังวรสุทธิ ๑ ปริเยฏฐิสุทธิ ๑ ปัจจเวกขณสุทธิ ๑ เป็นสุทธิ ๔ ประการด้วยกันดังนี้

  “ตตฺถ เทสนาสุทฺธิ นาม” แท้จริงพระปาฏิโมกขสังวรศีลชื่อว่า เทศนาสุทธิ นับเข้าในสุทธิทั้ง ๔ ประการนั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ตรัสพระสัทธรรมเทศนาเรียกชื่อว่า เทศนาสุทธิ เพราะเหตุเพราะปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น บริสุทธิ์ด้วยกิริยาที่พระภิกษุแสดงซึ่งอาบัติ

   อินทรียสังวรศีลนี้ องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ตรัสเทศนาเรียกชื่อว่าสังวรสุทธิศีล เพราะเหตุว่าอินทรียสังวรศีลนั้น บริสุทธิ์ด้วยสังวรคือพระภิกษุอธิษฐานจิตว่า “น ปุเนวํ กริสฺสามิ” อาตมาจะไม่กระทำกรรมเหมือนที่กระทำมาแล้วใหม่เล่า

  อาชีวิปาริสุทธิศีลที่ ๓ ชื่อว่าปริเยฏฐิสุทธิ

  แท้จริงอาชีวปาริสุทธิศีลนั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาร้องเรียกชื่อว่าปริเยฏฐิสุทธิ เพราะเหตุว่าอาชีวิปาริสุทธิศีลนั้นบริสุทธิ์ด้วยกิริยาที่พระภิกษุละเสียซึ่งแสวงหาไม่ควร แล้วแลยังปัจจัยทั้งหลายให้บังเกิดขึ้นโดยธรรมโดยชอบ ปัจจัยสันนิสสิตศีลที่ ๔ นั้นชื่อว่าปัจจเวกขณสุทธิ

   แท้จริงปัจจัยสันนิสสิตศีลนั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาร้องเรียกชื่อว่าปัจจเวกขณสุทธิ เพราะเหตุว่าปัจจัยสันนิสสิตนั้นบริสุทธิ์ด้วยวิธีที่พระภิกษุพิจารณา โดยประการอันเรากล่าวแล้ว

  เพราะเหตุการณ์นั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาว่า “ปฏิคฺคหเณ ปน สติ อกตฺวา” ดังวิสุชนามาในหนหลัง

  ในทายัชชบริโภคที่ ๔ นั้น มีเนื้อความว่า การที่จะบริโภคซึ่งปัจจัยทั้ง ๔ แห่งพระเสขอริยบุคคล ๗ จำพวกนั้น ชื่อว่าทายัชชบริโภคคือบริโภคปัจจัยอันองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้ “เต หิ ภควโต ปุตฺตา”

  แท้จริงพระเสขอริยบุคคล ๗ จำพวกนั้น เป็นบุตรแห่งองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค เพราะเหตุการณ์นั้น พระเสขอริยบุคคลจึงควรเพื่อถือเอาซึ่งปัจจัยอันเป็นของแห่งบิดา จึงบริโภคได้ซึ่งปัจจัยทั้งหลายนั้น

   มีคำปุจฉาถามว่า “กึ ปน เต ภควโต” พระเสขริยบุคคลทั้งหลายนั้นบริโภคซึ่งปัจจัยทั้งหลาย อันเป็นของพระผู้ทรงพระภาคหรือว่าบริโภคปัจจัยอันเป็นของแห่งคฤหัสถ์

   อาจารย์วิสัชนาว่า “ดิหีหิ ทินฺนาปิ ภควตา” ปัจจัยทั้งหลายนั้นคฤหัสถ์ถวาย ก็ได้ชื่อว่าเป็นของแห่งพระผู้ทรงพระภาค เหตุว่าปัจจัยทั้งหลายนั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต เหตุใดเหตุดังนั้นนักปราชญ์พึงรู้ว่า พระเสขภิกษุทั้งหลายบริโภคซึ่งปัจจัยทั้ง ๔ อันเป็นของแห่งพระผู้ทรงพระภาค

   อาจารย์พึงนำมาซึ่งธรรมทายาทสูตร สาธกเข้าในอรรถ คือกล่าวว่าปัจจัยทั้งหลายเป็นของแห่งพระผู้ทรงพระภาคนี้

  อนึ่ง “ขีณาสวานํ ปริโภโค” พระภิกษุทั้งหลายมีอาสวะอันสิ้นแล้ว บริโภคปัจจัยก็ได้ชื่อว่าสามีบริโภค

   แท้จริงพระอเสขอริยบุคคลทั้งหลายจำพวกนี้ ชื่อว่าเป็นเจ้าของปัจจัยเพราะเหตุพระอเสขอริยเจ้าทั้งหลายจำพวกนั้น ล่วงเสียซึ่งภาวะเป็นทาสแห่งตัณหา แล้วแลบริโภคซึ่งจตุปัจจัย

  “อิเมสุ ปริโภเคสุ” ล้ำบริโภคทั้งหลาย ๔ นี้ อันว่าบริโภคทั้ง ๒ ประการ คือสามีบริโภคแลทายัชชบริโภค ควรแก่พระอริยบุคคลแลปุถุชนทั้งหลาย

   อิณบริโภค ไม่ควรแก่พระอริยบุคคลแลปุถุชนทั้งปวง การที่จะกล่าวในไถยบริโภคมิได้มี คือไม่ควรกล่าวแล้ว

  อนึ่ง กิริยาที่พิจารณาแล้วแลบริโภคอันใด แห่งพระภิกษุที่มีศีลบริโภคนั้นชื่อว่าบริโภคมิได้เป็นหนี้บ้าง สงเคราะห์เข้าในทายัชชบริโภคบ้าง เพราะเหตุว่าพิจารณาแล้วแลบริโภคนั้น เป็นข้าศึกแก่อิณบริโภค

   แท้จริงพระภิกษุที่มีศีลนั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคก็ทรงตรัสเรียกชื่อว่า เสขะ เพราะเหตุว่าพระภิกษุที่มีศีลนั้นประกอบพร้อมเพียงด้วยอธิศีลสิกขานี้

  อนึ่ง บริโภคทั้ง ๔ ประการนั้น สามีบริโภคสิ่งเดียว เลิศกว่าบริโภคทั้งปวง เหตุใดเหตุดังนี้ “ตํ ปตฺถยมาเนน ภิกฺขุนา” เมื่อพระภิกษุปรารถนาสามีบริโภคนั้น ให้พิจารณาด้วยปัจจเวกขณวิธีมีประการอันเรากล่าวแล้ว จึงบริโภคจตุปัจจัย ปัจจัยสันนิสสิตศีลแห่งพระภิกษุนั้นจึงบริบูรณ์ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com