พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๕

   อนึ่งพระวิสุทธิมรรคนี้ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาแสดงศีล แลสมาธิ แลปัญญา เป็นประธาน อันสงเคราะห์เอาพระคุณเป็นอันมากดังนี้ ได้ชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโดยย่อยิ่งนัก ไม่สามารถอาจให้เป็นอุปการแก่กุลบุตรทั้งหลาย อันเป็นวิปัจจิตัญญูบุคคลแลไนยบุคคล อันชอบในพระธรรมเทศนามิได้ย่อยิ่งนักแล มิได้พิสดารยิ่งนัก

   ในการนี้ข้าพระองค์ผู้มีนามชื่อว่า พุทธโฆษาจารย์จะปรารภศีลประกอบคำปุจฉาถามอรรถปัญหา เพื่อจะแสดงคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ให้พิสดารโดยนัยจะแสดงดังนี้

   ในปัญหาปุจฉกนัยนั้น มีวาระพระบาลรจนาไว้ถามว่า “กึ สีลํ” วัตถุสิ่งดังฤๅ เรียกว่า ศีล คำเรียกว่า ศีลนั้นด้วยอรรถดังฤๅ

   ธรรมดังฤๅเป็นลักษณะเป็นกิจเป็นผล เป็นอาสันนเหตุแห่งศีลนั้น

   ศีลมีธรรมดังฤๅเป็นอานิสงส์ ศีลมีกี่ประการ

   ธรรมดังฤๅเป็นธรรมอันเศร้าหมองของศีลนั้น มีธรรมดังฤๅเป็นธรรมบริสุทธิ์ของศีล

   เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวปัญหาปุจฉกนัยดังนี้แล้ว จึงกล่าวคำวิสัชนาในปัญหานั้น โดยพระวาระพระบาลตั้งบทปุจฉาขึ้นไว้ทีละบท ๆ แล้วก็กล่าวคำวิสัชนาไปทีละข้อ ๆ ในปุจฉาถามว่าสิ่งดังฤๅชื่อว่าศีลนั้น

   มีคำวิสัชนาว่า ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นอาทิของบุคคล ที่ละเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น และยังวัตตปฏิบัติ มีอุปชฌายวัตรเป็นประธานให้บริบูรณ์

   มีคำกล่าวรับว่าจริง วิสัชนาอย่างนี้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้คัมภีร์พระปฏิสัมภิทามรรคว่า “กึ สีลนฺติ” ในบทปุจฉาสถามว่า วัตถุสิ่งดังฤาชื่อว่าศีลนั้น

   อาจารย์วิสัชนาว่า เจตนาชื่อว่าศีล เจตสิกชื่อว่าศีล สังขารชื่อว่าศีล มิได้กระทำให้ล่วงสิกขาบท ชื่อว่าศีล

   อรรถาธิบายว่า เจตนาของบุคคลที่เว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาตเป็นต้น และปฏิบัติยังอุปัชฌายวัตรเป็นประธานให้บริบูรณ์ดังนี้ ชื่อว่าเจตนาศีล

   วิรัติแห่งบุคคลอันเว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาตเป็นอาทิ ชื่อว่าเจตสิกศีล

   นัยหนึ่งกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ของบุคคลที่จะละเสียซึ่งบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นอาทิ ชื่อว่าเจตนาศีล

   ธรรม ๓ ประการ คืออนภิชฌาไม่โลภ คืออพยาบาทไม่พยาบาทคือสัมมาทิฏฐิ ที่องค์พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้โดยนับเป็ฯอาทิว่า “อภิชฺฌํ ปหาย” พระภิกษุในพระพุทธศาสนาละอภิชฌาเสียแล้ว มีจิตปราศจากอภิชฌา อยู่เป็นสุขในอิริยาบถทั้ง ๔ ธรรม ๓ ประการนี้ชื่อว่า เจตสิกศีล เอวังก็มีด้วยประการดังนี้

   “สํวโร สีลนฺติ เอตฺถ ปญฺจวิเธน สํวโร เวทิตพฺโพ ปาฏิโมกฺข สํวโร สติสํวโร ญาณสํวโร ขนฺติสํวโร วิรียสํวโรติ ตตฺุถ อิมินา ปาฏิโมกฺขสํวเรน อุเปโต โหติ สมุเปโตติ อยํปาฏิโมกฺขสํวโรติ รกฺขติ จกฺขุนทฺริเย สํวรํ อาปชฺชตีติ อยํ สติ สํวโร ยานิ โสตานิ โสกสฺมึ อชิตาติ ภควา สตี เตสํ นิวารณํ โสตานํ สํวรํพรูมิ ปญฺญาเยเตปิ ถิยเรติ อยํ ญาณสํวโร”

   แปลเนื้อความว่า วินิจฉัียในบทคือ “สํวโร สีลํ” สังวรชื่อว่าศีลนี้ พระพุทธโฆษาจารย์เจ้านิพนธ์พระบาลีว่า “ปญฺจวิเธน สํวโร เวทิตพฺโพ” นักปราชญ์พึงรู้ สังวรมี ๔ ประการ คือ ปาฏิโมกขสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วิริยสังวร ๑ เป็นสังวร ๕ ประการด้วยกันดังนี้

   สังวรที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสเทศนาโดยนัยเป็นอาทิว่า “อิมินา ปาฏิโมกฺขสํวเรน” พระภิกษุในพระศาสนานี้ ประกอบแล้วแลประกอบแล้วด้วยดี ด้วยพระปาฏิโมกขสังวรชื่อว่าปาฏิโมกขสังวรเป็นปฐมที่ ๑

   สังวรที่ ๒ นั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาไว้โดยนัยเป็นอาทิ ว่า “รกฺขติ จกฺขุนฺทฺริยํ” ภิกษุในพระศาสนาย่อมรักษาซึ่งจักขุนทรีย์ ถึงซึ่งสังวรในจักขุนทรีย์ สังวรดังนี้ชื่อว่า สติสังวรเป็นคำรบ ๒

          ญาณสังวรเป็นคำรบ ๓ นั้น พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาโดยนัยเป็นอาทิว่า อชิต ดูกรภิกษุชื่อว่าอชิต “ยานิ โสตานิ” กระแสแห่งตัณหา แลกระแสแห่งทิฏฐิ แลกระแสแห่งอวิชชา แลกระแสแห่งกิเลสอันเหลือลงจากทุจริตอันใด แลมีกิริยาที่จะห้ามเสียได้ซึ่งกระแสแห่งธรรมทั้งปวง ก็อาศัยสติอันประกอบด้วยเอกุปปาทาทิประการ เสมอด้วยสมถะแลวิปัสสนาญาณ พระตถาคตกล่าวซึ่งสังวรคือกิริยาที่พระโยคาวจรภิกษุจะห้ามเสีย ซึ่งกระแสแห่งธรรมทั้งปวงนั้นด้วยอริยมรรคญาณ สังวรดังนี้ ชื่อว่าญาณสังวรเป็นคำรบ ๓

   ใช่แต่เท่านั้น กิริยาอาการที่พระภิกษุจะเสพปัจจัยนั้น ก็ถึงซึ่งประชุมลงในญาณสังวรนี้

   ขันติสังวรเป็นคำรบ ๔ นั้น ก็มาแล้วแต่พระบาลีมีนัยเป็นอาทิว่า “โย ปนายํ ขโม โหติ” พระภิกษุในพระศาสนาย่อมจะอดกลั้นซึ่งเย็นร้อน สังวรนี้ชื่อว่าขันติสังวรเป็นคำรบ ๔

   วิริยสังวรเป็นคำรบ ๕ ก็มาแล้วแต่วาระพระบาลีมีนัยเป็นอาทิว่า “โยจายํ อุปฺปนฺนํ กามวิตกกํ” พระภิกษุในพระศาสนานี้ มิได้ยังกามวิตกอันบังเกิดขึ้นในอารมณ์นัน ๆ ในแรมอยู่ในจิตแ่ห่งตน สังวรนี้ชื่อว่าวิริยสังวรเป็นคำรบ ๕

   อาชีวปาริสุทธิศีลนั้นเล่า ก็ถึงซึ่งประชุมลงในสังวรศีลนี้

   สังวรมี ๕ ประการก็ดี วิรัติคือเจตนาที่จะเว้นจากสัมปัตตวัตถุของกุลบุัตรทั้งหลาย ที่มีความขลาดแต่บาปก็ดี ธรรมทั้งปวงก็ดี สังวร ๕ ประการเป็นอาทินี้ บัณฑิตพึงรู้เรียกว่าสังวรศีล

   ในบทคือ “อวิติกฺกโม สีลํ” นั้นมีอรรถสังวรรณนาว่า การที่มิได้ล่วงซึ่งศีลที่ตนสมาทาน อันยุติในกายแลยุติในวาจา ชื่อว่าอวิตกกมศีล

   วิสัชนาปัญหาในบทปุจฉาถามว่า วัตถุสิ่งดังฤๅ ชื่อว่าศีลก็ยุติเพียงนี้

   แต่นี้จะได้วินิจฉัยในบทปุจฉาอันเศษสืบต่อไปว่า “เกนตฺเถน สีลํ” วัตถุที่เรียกว่าศีลนั้น ด้วยอรรถดังฤๅ

   อาจารย์วิสัชนาว่า อรรถที่เรียกว่าศีลนั้นด้วยอรรถว่า สีลนะ สิ่งที่ตั้งไว้เป็นอันดี มีตั้งไว้ซึ่งกายสุจริตเป็นอาทิ เรียกว่า สัจนะ เป็นอรรถแห่งศีล

   มีอรรถาธิบายว่า บุคคลที่ยังกุศลธรรมีกายกรรมเป็นต้น มิให้เรี่ยรายด้วยสามารถประมวลไว้เป็นอันดีนั้น ชื่อว่าสีลนะ

   “อุธาณํ วา” อนึ่งการที่บุคคลทรงไว้ ชื่อว่าสีลนะ มีอรรถาธิบายว่า สภาวะที่บุคคลทรงไว้สามารถอาจยังกุลศลธรรมทั้งหลายให้ตั้งอยู่ใน่ตนชื่อว่าสีลนะ เป็นอรรถแห่งศีล

   แท้จริงอาจารย์ทั้งหลายที่รู้ลักษณะแห่งศัพท์ ย่อมอนุญาตอรรถทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้ว ให้เป็นอรรถในบทคือ สีลํ

   อนึ่งอาจารย์ทั้งหลายอื่น ย่อมสังวรรณ่นาอรรถในบท สีลํ นี้โดยนัยเป็นอาทิว่า “สีรตฺโถ สีตตฺโถ สีตลตฺโถ สีววตฺโถ” ศีลนั้นมีอรรถคือแปลว่าอุดม ศีลนั้นมีอรรถคือแปลว่าเป็นที่ตั้ง แปลว่าระงับเสียซึ่งกระวนกระวาย แลมีอรรถคือแปลว่า อันปราชญ์พึงเสพ

   ในกาลบัดนี้ จะวินิจฉัยในปัญหากรรม ที่พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าตั้งปุจฉาถามว่า สิ่งดังฤๅ เป็นลักษณะ เป็นกิจ เป็นผล เป็นอาสันนเหตุแห่งศีล

   วิสัชนา “สีลนํ ลกฺขณนฺตสมฺภินฺนสฺสาปิ อเนกธา” กิริยาที่่ตั้งไว้ แลสภาวะที่ทรงไว้ ชื่อว่าเป็นลักษณะแห่งศีล อันมีประเภทต่าง ๆ โดยประการเป็นอันมาก เหมือนด้วยจักษุวิญญาณจะพึงเห็นเป็นลักษณะที่กำหนดของรูปายตนะ อันมีประเภทต่าง ๆ โดยประการเป็นอันมาก

   มีคำอุปมาว่า กิริยาที่จะเป็นไปกับด้วยจักษุวิญญาณ จะพึงเห็นก็เป็นลักษณะที่กำหนดของรูปายตนะ อันมีประเภทต่าง ๆ โดยประการเป็นอันมาก คือรูปมีวรรณอันเขียวบ้าง คือรูปมีวรรณอันเหลืองบ้าง เป็นอาทิดังนี้ เพราะเหตุว่าไม่ล่วงเสียซึ่งสภาวะ ที่จะเป็นไปกับด้วยการที่จักษุวิญญาณ จะพึงเห็น เป็นลักษณะที่กำหนดของรูปายตนะมีสีเขียวเป็นอาิทิ “ยถา” อันนี้แลมีอุปมาฉันใด ก็มีอุปไมยเหมือนด้วยกิริยาที่แสดงสภาวะแห่งศีลมีประเภทต่าง ๆ มีเจตนาศีลเป็นประธาน

   อรรถคือสีลนะอันใด ที่เราจะกล่าวว่าเป็นที่ทรงไว้ซึ่งกุศลธรรมทั้ง ๓ คือกายกรรม แลวจีกรรม แลมโนกรรม แลกล่าวไว้ว่าเป็นที่ตั้งไว้ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย อรรถคือศีลนั้น ชื่อว่าเป็นลักษณะที่กำหนดแห่งศีล เพราะเหตุว่าไม่ล่วงเสียได้ซึ่งสภาวะแห่งศีลอันมีประเภทต่าง ๆ มีเจตนาศีลเป็นต้น เป็นที่ทรงไว้ซึ่งกุศลธรรมทั้ง ๓ มีกายกรรมเป็นประธาน แลเป็นที่ตั้งไว้ซึ่งธรรมอันเป็นกุศล

   อนึ่ง ศีลมีลักษณะที่จะทรงไว้ ตั้งไว้ซึ่งกรรมอันเป็นกุศล แลธรรมอันเป็นกุศลดังนี้แล้ว ศีลนั้นก็กำจัดเสียซึ่งสภาวะไม่มีศีล ศีลนั้นก็ปราศจากโทษ จะประกอบด้วยคุณ อาจารย์จึงกล่าวว่าชื่อว่ารสด้วยอรรถว่าเป็นกิจแลถึงพร้อม เพราะเหตุการณ์ดังนัั้น นักปราชญ์พึงรู้ว่าศีลนั้นมีการที่จะกำจัดเสียซึ่งภาวะทุศีลเป็นกิจ แลโทษหามิได้เป็นกิจ

   ศีลนั้นมีสภาวะสะอาดด้วยกายแลวาจาแลจิตเป็นผล การที่กลัวแต่บาป ละอายแต่บาป นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวคำเรียกชื่อว่าอาสันนเหตุแห่งศีล

  แท้จริง ในเมื่อหิริโอตตัปปะ ละอายแต่บาปกลัวแต่บาปมีอยู่แล้ว ศีลก็บังเกิดมี ศีลก็ตั้งอยู่้

  เมื่อหิริโอตตัปปะ ละอายแต่บาปกลัวแต่บาป ไม่มีแล้ว ศีลก็มิได้บังเกิด ศีลก็มิได้่ตั้งอยู่

   เพราะเหตุการณ์ดังนั้น ศีลจึงมีหิริโอตัปปะ เป็นอาสันนเ่หตุ

   ลักษณะแลกิจ แลผล แลอาสันนเหตุแห่งศีล บัณฑิตพึงรู้ด้วยพระบาลีมีแต่ประมาณเท่านี้


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com