พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๖

  ในบทปุจฉาถามว่า “กึ อานิสํสํ” ศีลนั้นมีสิ่งดังฤๅเป็นอานิสงส์

  อาจารย์วิสัชนาว่า ศีลนั้นมีกิริยาที่จะได้ซึ่งคุณเป็นอันมากมีมิได้เดือดร้อนกินแหนงเป็นอาิท เป็นอานิสงส์

   สมด้วยพระบาลีที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนา แก่พระอานนท์เถรเจ้าว่า “อวิปฺปฏิสารตฺถานิ โข ปนานนฺท” ดูกรภิกษุชื่อว่าอานนท์ ศีลทั้งหลายนี้เป็นธรรมอันมิได้มีโทษ มีความระลึกถึงกรรมแห่งตนที่รักษาศีล เป็นธรรมอันนักปราชญ์ ไม่พึงติเตียนได้เป็นประโยชน์และมิได้เดือดร้อนกินแหนง เป็นอานิสงส์

   ใช่แต่เท่านั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสพระสัทธรรมเทศนาอันอื่นอีกเล่าว่า “ปญฺจิเม คหปตโย อานิสํสํ” ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ มีแก่บุคคลอันมีศีล ยังศีลที่ตนรักษาให้บริบูรณ์ อานิสงส์ ๕ ประการนั้นเป็นดังฤๅ

   ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ มีศีล รักษาศีลบริบูรณ์บุคคลนั้นย่อมจะได้กองสมบัติเป็นอันมาก บังเกิดขึ้้นแ่ก่ตน เพราะตนมิได้ประมาท อานิสงส์นี้ เป็นอานิสงส์ปฐมที่ ๑

   ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ รักษาศีล ยัึงศีลให้บริบูรณ์กิตติศัพท์กิตติคุณอันสุนทรภาพไพบูลย์ของกุลบุตรนั้นย่อมจะฟุ้งเฟื่องไปในทิศานุทิศทั้งปวง อานิสงส์นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๒

   ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ มีศีล แลยังมีศีลให้บริบูรณ์นั้น จะไปสู่ท่ามกลางบริษัท คือขัตติยบริษัท คือพราหมณ์บริษัท คือคฤหบดีบริษัท แลสมณบริษัท กุลบุตรผู้นั้นก็ย่อมองอาจแกล้วกล้า เหตุว่ากุลบุตรนั้นปราศจากโทษ มิได้ประกอบด้วยโทษมิควรที่บุคคลจะพึงติเตียนตน จะได้เป็นชนนั่งก้มหน้า เก้อเขินหามิได้ อานิสงส์นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๘

   ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ มีศีล แลบริสูทธิ์ด้วยศีลนั้นย่อมประกอบด้วยควา่มเลื่อมใน มิได้หลงลืมสติ อานิสงส์นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๔

   ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ มีศีล แลบริบูรณ์ด้วยศีล ครั้นทำลายกาย กล่าวคืออุปาทินนกรูปเบื้องหน้าแต่มรณะ จะได้ไปบังเกิดในมนุษย์สุคติ แลสวรรค์สังคเทวโลก อานิสงส์นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๓ ของบุคคลที่มีศีลบริบูรณ์ด้วยศีล

   ใช่แต่เท่านั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาอีกอย่างหนึ่งเล่าว่า “อากงฺเขยฺย เจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ” ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าแลว่าภิกษุในพระศาสนานั้น ปรารภว่าในตนเป็นผู้ที่รักแก่สมณพรหมจรรย์ทั้งปวง และจะยังตนให้เป็นที่เลื่อมใส เป็นที่เคารพ เป็นที่สรรเสริญแห่งพระสหพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นพยายามกระทำตนให้ตั้งอยู่ในศีล รักษาศีลให้บริบูรณ์

   อานิสงส์ศีลนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาไว้ในเบื้องต้นนั้น คือจะให้เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่สรรเสริญแห่งสหพรหมจรรย์ โดยนัยเป็นอาทิดังนี้

   ไปในอปรภาค อานิสงส์ศีลนี้จะให้กุลบุตรในพระศาสนา ได้สำเร็จแก่พระอริยมรรคและพระอริยผล จะยังตนให้สำเร็จแก่อาสวักขยะญาณเป็นที่สุด

   ศีลนี้มีอานิสงส์คุณเป็นอันมากมี มิได้เดือดร้อนกินแหนงเป็นอาทิ ดังนี้

   นัยหนึ่งที่ตั้งแห่งตน กุลบุตรทั้งหลายในพระศาสนานี้ ถ้าเว้นจากศีลแล้วก็มิได้มี เมื่ีอกุลบุตรมีศีลบริสุทธิ์ในพระศาสนา บุคคลดังฤๅจะสามารถอาจเพื่อจะแสดงอานิสงส์ศีลแห่งกุลบุตรนั้นได้

   มหานที น้ำในแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี มหิมหาสรภู ก็มิอาจสามารถจะชำระราคามลทินแห่งสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้บริสุทธิ์ได้ “ยํ เว สีลชํ มลํ” อุทกธารามหานที กล่าวคือบริสุทธิ์ ศีลสังวรนี้แล สามารถอาจชำระราคามลทินโทษ อันหม่นหมองดองอยู่ในจิตสันดานแห่งสัตว์ทั้งหลายในโลกให้บริสุทธิ์ได้

   "น ตํ สชลชา วาตา” อนึ่งลมแลฝนระคนกัน บันดาลตกลงมายังแผ่นพสุธาให้ชุ่มไปด้วยธาราวารี ยังคณานิกรสรรพสัตว์โลกทั้งปวงนี้ให้เย็นทรวงดวงหฤทัย ระงับเสียได้ซึ่งกระวนกระวายในภายนอกก็ไม่อาจระงับดับกระวนกระวาย กล่าวคือราคาทิกิเลสในกายในได้ดุจดังว่าสังวรศีลแห่งกุลบุตรในพระพุทธศาสนา

   “นจาปิ หริจนฺทนํ” อนึ่งแก่นจันทน์มีพรรณอันแดงแลสัตตรตนะ มีแก้วมุกดาหารเป็นอาทิ แลรัศมีจันทรพิมานอันอ่อน อันอุทัยขึ้นมาในปาจีนโลกธาตุ สรรพสิ่งทั้งปวงมีสัมผัสอันเย็นนี้ก็อาจระงับกระวนกระวาย กล่าวคือ ทุจริตได้ “ยํ สเมติทํ อริยํ” ศีลอันใดที่พระโยคาวจรเจ้ารักษาดี เป็นศีลอันบริสุทธิ์ ศีลนั้นแลเย็นโดยแท้สามารถอาจระงับกระวนกระวาย กล่าวคือทุจริตได้

   “สีลคนฺธสโม คนฺโธ กุโต ภวิสฺสติ” อนึ่งกลิ่นอันใดอาจฟุ้งซ่านไปตามลม และจะฟุ้งไปในที่ทวนลม กลิ่นอันนั้นจะเสมอด้วยกลิ่นศีล จักมีแต่ที่ดังฤๅ

   อนึ่ง “สคฺคาโรหณโสปฺาณํ” สิ่งอื่นจะเป็นบันไดให้สัตว์ขึ้นไปสู่สวรรค์ แลจะเป็นประตูเข้าไปสู่มหานคร คือพระอมตมหานิพพานเสมอด้วยศีลนั้นมิได้มี

   “โสภนฺเตว น ราชาโน” อนึ่งบรมขัตติยเจ้าทั้งหลาย มีพระวรกายประดับด้วยอลังการวิภูษิต อันแล้วด้วยแก้วมุกดาหารรสสรรพรตนาภรณ์ทั้งปวง ก็ไม่งามเหมือนพระยัติโยคาวจรภิกษุ อันทรงศีลวิภูษิตอาภรณ์ กล่าวคือศีลอันบริสุทธิ์

   “อตฺตานุวาทาทิ ภยํ” อนึ่งพระภิกษุในพระพุทธศาสนาทีึ่ทรงศีลบริสุทธิ์นั้นจะกำจัดเสียซึ่งภัย คือตนก็จมิได้ติเตียนซึ่งตน บุคคลผู้อื่นก็จะมิได้ติเตียนพระภิกษุนั้น พระภิกษุนั้นก็ย่อมยังความสรรเสริญปิติโสมนัสให้บังเกิดมีแก่ตน

   บัณฑิตพึงรู้เถิดว่า อานิสงส์แห่งศีลนี้ มีคุณสามารถจะฆ่าเสียซึ่งหมู่แห่งอกุศลกรรม อันประกอบไปด้วยโทษมีทุจริตเป็นมูลโดยนัยวิสัชนามา ดังนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้

   “อิทานิ ยํ วุตฺตํ กติวิธญฺเจตํ สีเลนฺติ, ตตฺริทํ วิสชฺชนํ, สพฺพเมว ตาว ทิทํ สีลํ อตฺตโน สีลลกฺขเณน เอกวิธํ. จาริตฺต วารีิตฺตวเสนทุวิธํ. ตถา อภิสมาจาริกอาทิพฺรหฺมจริยกวเสน วิรติอวิรติวเสน กาลปริยนฺตาอาปาณโกฏิกวเสน สปริยนฺตา ปริยนฺตวเสน โลกิยโลกุตฺตรวเสน จ ติวิธํ หีนมชฺฌิมปณีตวเสน ฯลฯ ปาริสุทฺธสีลนฺติ”

   มีเนื้อความว่า “อิทานิ ยํ วุตฺตํ” ปัญหากรรมอันใด ที่เรากล่าวไว้แล้วว่า ศีลมีประมาณเท่าดังฤๅ เราจะวิสัชนาในปัญหากรรมนั้น ณ กาลบัดนี้

   ศีลทั้งปวงนั้นมีประการเดียว คือศีลนะ มีอรรถว่าทรงไว้ตั้งไว้

   ศีลทั้งปวงนั้นมีประเภท ๒ ประการ คือจาริตศีล ศีลที่กุลบุตรในพระพุทธศาสนาประพฤติ ๑ คือวาริตศีล สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ๑ เป็น ๒ ประการนี้

   ภิกษุที่จะกระทำอภิสมาจาริกวัตร มีถือเอาบาตรแลจีวรเป็นอาทิ ๑ คืออาทิพรหมจริยกศีล ศีลที่พระภิกษุประพฤติเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   แลศีล ๒ ประการ คือวิรติศีล ศีลที่เว้นจากบาปธรรม ๑ คือ อวิรติศีล ๑ เป็น ๒ ประการนี้

   แลศีล ๒ ประการ คือนิสสิตศีล อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ๑ คือ อนิสสิตศีล มิได้อาศัยตัณหาแลทิฏฐิ เป็นศีลอาศัยพระนิพพาน ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   แลกาลปริยันตศีล รักษาศีลกำหนดกาล ๑ คืออาปาณโมฏิกศีล รักษาศีลมีชีวิตเป็นที่สุด ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   แลสปริยันตศีล ศีลมีที่สุด ๑ คืออปริยันตศีล ศีลไม่มีที่สุด ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   แลศีลมี ๒ ประการ คือโลกิยศีล ๑ คือโลกุตตรศีล ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   “ติวิธํ สีลํ” อนึ่งศีลมี ๓ ประการ คือหีนศีล อย่างต่ำ ๑ คือ มัชฌิมศีล อย่างกลาง ๑ คือปณีตศีล อย่างยิ่งอย่างอุดม ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   ใช่แต่เท่านั้น ศีลมี ๓ ประการ คืออัตตาธิปติศีล มีตนเป็นใหญ่ ๑ คือโลกาธิปติศีล มีโลกเป็นใหญ่ ๑ คือธัมมาธิปติศีล มีธรรมเป็นใหญ่ ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   แลศีลมี ๓ ประการ คือปรามัฏฐิศีล อันตัณหาธิธรรมถือเอา ๑ คือ อปรามัฏฐศีล อันธรรมทั้งหลาย มีตัณหาเป็นอาทิ มิได้ถือเอา ๑ คือปฏิปัสสัทธิศีลคือ ศีลอันเป็นที่ระงับดับกิเลส ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   แลศีลมี ๓ ประการ คือเสขศีลของพระเสขบุขบุคคล ๑ คืออเสขศีลของพระอเสขบุคคล ๑ คือเนวเสขานาเสขศีล ศีลขอปุถุชน ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   อนึ่งศีลมี ๔ ประการ คือหายนภาคิยศีล เป็นส่วนจะให้เสื่อม ๑ คือฐิติภาคิยศีล เป็นส่วนที่จะให้ตั้งมั่น ๑ คือเวเสสภาคิยศีล เป็นส่วนที่จะให้วิเศษ ๑ คือนิพเพธภาคิยศีล เป็นส่วนที่จะให้เหนื่อยหน่ายชำแรกออกจากกิเลส ๑ เป็น ๔ ประการดังนี้

   ใช่แต่เท่านั้น ศีลมีประเภท ๔ ประการ คือศีลพระภิกษุ ๑ พระภิกษุณี ๑ ศีลอนุปสัมบัน ๑ ศีลคฤหัสถ์ ๑ เป็น ๔ ประการดังนี้

   แลศีลมี ๔ ประการ คือปกติศีล ๑ อาจารศีล ๑ ธรรมดาศีล ๑ บุพพเหตุกศีล ศีลที่เคยรักษามาแล้วแต่กาลก่อน ๑ เป็น ๔ ประการดังนี้

   แลศีลมี ๔ ประการคือปกฏิโมกขสังวรศีล ๑ คืออินทริยสังวรศีล ๑ คืออาชีวปาริสุทธิศีล ๑ คือปัจจัยสินนิสสติศีล ๑ เป็น ๔ ประการ

   “ปัญจวิธํ สีลํ อนึ่งศีลมี ๕ ประการ โดยประเภทแห่งศีลทั้งหลาย มีปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นประธาน อันพระธรรมเทสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปกรณ์ชื่อว่าปฏิสัมภิทาว่า ปญฺจสีลานิ ประยนฺต ปาริสุทฺธิสีลํ ฯลฯ”

   ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ศีลมี ๕ ประการ คือปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ คืออปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ คือปริปุณณปาริสุทธิศีล ศีลที่พระภิกษุกระทำให้เต็มโดยส่วนทั้งปวง ๑ คืออปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ศีลที่พระภิกษุรักษาอันตัณหาทิธรรมได้ถือเอา ๑ คือปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีลอันเป็นที่ระงับดับราคาทิกิเลส ๑ เป็น ๕ ประการดังนี้

   ใช่แต่เท่านั้น ศีลยังมีอีก ๕ ประการ คือปหานศีล อันจะสละซึ่งบาปธรรม ๑ คือเวรมณีศีล และเว้นจากบาปธรรม ๑ คือ เจตนาศีล ๑ รักษาด้วยเจตนา ๑ คือสังวรศีล รักษาด้วยสังวร ๑ คืออวิตกกมศีล รักษามิได้ให้ล่วงสิกขาบท ๑ เป็น ๕ ประการดังนี้

   อรรถสังวรรณนาในส่วนแห่งศีลมีประการอย่างเดียวนั้น บัณฑิตพึงรู้โดยนัยวิสัชนามาแล้วแต่หนหลัง

   “ทุวิธโกฏฐาเส” จะวินิจฉัยตัดสินในศีลมีประเภท ๒ ประการ คือ จาริตศีล แลวาริตศีลนั้น มีเนื้อความว่า “ยํ ภควา อิทํ กตฺตพฺพํ” พระภิกษุรักษาสิกขาบท ที่องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคบัญญัติไว้ว่า พระภิกษุพึงกระทำอภิสมาจาริกวัตร ดังนี้ชื่ือว่า จาริตศีล

   “ยํ อิทํ น กตฺตพฺพํ” กิริยาที่พระภิกษุมิได้กระทำให้ล่วงสิกขาบทที่พระองค์พระบรมศาสดาตรัสห้ามว่ากรรมอันเป็นทุจริตนี้ ภิกษุทั้งหลายอย่าพึงกระทำ ดังนี้ชื่อว่าวาริตศีล

   มีอรรถวิคหะว่า พระภิกษุทั้งหลายประพฤติกระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งปวง ชื่อว่า จาริตศีล

   มีอรรถาธิบายว่า สิกขาบทที่ภิกษุจะพึงให้สำเร็จด้วยศรัทธาแลความเพียร ชื่อว่า จาริตศีล

   พระภิกษุรักษาสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้าม ชื่อว่า วาริตศีล

   มีอรรถาธิบายว่า สิกขาบทที่พระภิกษุจะพึงให้สำเร็จด้วยศรัทธาแลสติชื่อว่า วาริตศีล

   ศีลมี ๒ ประการ คือจาริตศีล แลวาริตศีล บัณฑิตพึงรู้ดังนี้

   มีคำตัดสินในทุกกะที่ ๒ นั้นว่า ศีลมี ๒ ประการ คืออภิสมาจาริกศีล แลอาทิพรหมจริยกศีล

   มีอรรถาสังวรรณนาในบทคืออภิสมาจารนั้นว่า การที่ภิกษุประพฤติอุดม ชื่อว่า อภิสมาจาริกศีล

   นัยหนึ่ง ศีลที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เฉพาะมรรคแลผล เป็นประธานแล้ว แลบัญญัติไว้ ชื่อว่าอภิสมาจาริกศีล ๆ นี้ เป็นชื่อแห่งศีลอันเหลือลงจากศีลมีอาชีวะเป็นคำรบ ๘

   แลอาิทิพรหมจริยกศีลนั้น มีอรรถว่า ศีลอันใดเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ ศีลอันนั้นชื่อว่า อาทิพรหมจริยกศีล

   อาทิพรหมจริยกศีลนี้ เป็นชื่อแห่งศีลมีอาชีวะเป็นคำรบ ๘ ศีลนี้เป็นต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ เพราะเหตุว่าศีลนั้น พระภิกษุจะพึงชำระในส่วนแห่งข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้น

   เพราะเหตุการณ์นั้น องค์พระผู้่ทรงพระภาคจึงตรัสเทศนาว่า “ปุพฺเพว โข ปนสฺส กายกมฺมํ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายกรรมของพระภิกษุนี้ย่อมจะบริสุทธิ์ในเบื้องต้น วจีกรรมแลอาชีวะการที่จะเลี้ยงชีวิตพระภิกษุนี้ ก็ย่อมจะบริสุทธิ์ในเบื้องต้น

   อนึ่งสิกขาบททั้งหลาย ที่พระองค์ตรัสเรียกว่า ขุททานุขุททกสิกขาบท น้อยแลน้อยตามลงมา สิกขาบททั้งปวงนี้ก็ได้นามชื่อว่า อภิสมาจาริกศีล

   โลกิศีลอันเศษชื่อว่า อาิทิพรหมจริยกศีล

   อนึ่งศีลอันนับเข้าในวิภังค์ทั้ง ๒ คือภิกขุวิภังค์ แลภิกขุนีวิภังค์ ชื่อว่า อาทิพรหมจริยกศีล

   ศีลนับเข้าในขันวรรค ชื่อว่า อภิสมาจาริกศีล

   “ตสฺสา สมฺปตฺติยา” เมื่อสมาจาริกศีลนั้น พระภิกษุกระทำให้บริบูรณ์แล้ว อาทิพรหมจริยกศีลก็สำเร็จมิได้วิกล

   “เตเนวาห” เพราะเหตุการณ์นั้น องค์พระผู้ทรงพระภาค จึงตรัสเทศนาว่า “ภิกฺขเว” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย “โส อภิสมาจารีกํ” พระภิกษุนั้นมิได้ยังข้ออภิสมาจาริกศีลให้สมบูรณ์ก่อนแล้ว แลจะยังอาทิพรหมจริยกศีลให้บริบูรณ์ ได้ด้วยเหตุอันใด เหตุอันนี้ จะเป็นที่ตั้งแห่งผลหามิได้

   ศีลมี ๒ ประการ คืออภิสมาจาริกศีลแลอาทิพรหมจริยกศีลดังนี้

   มีคำวินิจฉัยตัดสิน ในทุกกะเป็นคำรบสามนั้นว่า ศีลมี ๒ ประการ คือวิรัติศีล แลอวิรัติศีล

   วิรัติศีลนั้น คือกิริยาที่จะเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น

   อวิรัติศีลนั้น คือศีลอันเศษมีเจตนาศีลเป็นต้นเป็นอาทิ เป็น ๒ ประการดังนี้

   ในจตุตถะทุกกะที่ ๔ นั้น มีคำวินิจฉัยว่า ศีลมี ๒ ประการคือ นิสสิตศีล แลอนิสสิตศีล

   นิสสิตศีลนั้น มีอรรถว่า นิสสัยนั้นมี ๒ ประการ คือตัณหานิสสัยแลทิฏฐินิสสัย

   ตัณหานิสสัยนั้น ได้แก่ศีลที่บุคคลรักษา ด้วยความปรารถนาสมาบัติในภพว่า เราจะบังเกิดเป็นเทวดา แลจะเป็นเทวบุตร เทวธิดาองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีลนี้ ศีลนั้นชื่อว่า ตัณหานิสสิตศีล

   ศีลอันใดที่บุคคลรักษาไว้ด้วยคิดเห็นว่า เราจะบริสุทธิ์ด้วยศีลนี้ศีลนั้น ชื่อว่า ทิฏฐินิสสิตศีล

   “ยมฺปน โลกุตฺตรํ” อนึ่งศีลอันใดเป็นโลกุตตรศีล แลเป็นโลกิยศีลที่บุคคลรักษา หมายว่าจะได้เป็นเหตุที่จะได้โลกกุตตรสมมบัติคือ มรรค ๔ ผล ๔ ศีลนั้นชื่อว่า อนิสสิตศีล

   ศีลมี ๒ ประการ คือนิสสิตศีล แลอนิสสิตศีลดังนี้

   มีคำวินิจฉัยตัดสิน ในทุกกะเป็นคำรบ ๕ นั้นว่า ศีลมี ๒ ประการ คือกาลปริยันตศีล ได้แก่ศีลที่บุคคลกระทำกาลปริจเฉทกำหนดกาลแล้ว แลสมาทาน ๑

   อปาณโกฏิกศีล ได้แก่ศีลที่บุคคลสมาทานตราบเท่าสิ้นชีวิตแล้ว แลรักษาไปสิ้นชีวิต ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   วินิจฉัยในทุกกะเป็นคำรบ ๖ นั้นว่า ศีลมี ๒ ประการ คือสปริยันตศีล ได้แก่ศีลอันฉิบหาย ด้วยลาภแลยศ แลญาติ แลอวัยวะแลชีวิต ๑ คือ อปริยันตศีล ได้แก่ศีลอันมิได้ฉิบหาย ด้วยลาภแลยศ แลญาติ แลอวัยวะแลชีวิต ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   สมด้วยพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ในปฏิสัมภิทาว่า “กตมนฺติ สีลํ สปริยนตํ” คือชื่อว่าสปริยันตะนั้น คือ ศีลฉิบหายด้วยลาภ แลฉิบหายด้วยยศ และฉิบหายด้วยญาติ และอวัยะ แลชีวิต

   “กตมนติ สีลํ ลาภปริยนตํ” ศีลฉิบหายด้วยลาภนั้นเป็นดังฤๅ

   ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ในโลกนี้ ประพฤติล่วงสิกขาบทที่ตนสมาทานเพราะเหตุลาภ เพราะปัจจัยคือลาภ เพราะการณ์คือลาภศีลนั้นชื่อว่า ลาภปริยันตศีล

   สปริยันตศีล อื่นจากลาภรปริยันตศีล มียศปริยันตศีลเป็นอาทิ อาจารย์พึงให้พิสดาร โดยอุบายที่กล่าวแล้วนี้

   เมื่อพระธรรมเสนาบดี จะวิสัชนาในอปริยันตศีลต่อไปนั้น จึงกล่าวว่า นลาภอปริยันตศีลนั้นเป็นดังฤๅ

   ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลจำพวกหนึ่ง ในพระพุทธศาสนานี้มิได้ยังจิตให้บังเกิดขึ้นในการที่จะล่วงสิกขาบท เพราะเหตุลาภแลยศแลญาติ และอวัยวะ และชีวิต ศีลนี้ชื่อว่า อปริยันตศีล ๑ เป็น ๒ ประการดังนี้

   วินิจฉัยในทุกกะ เป็นคำรบ ๗ นั้นว่า ศีลมี ๒ ประการ คือโลกิยศีล แลโลกุตตรศีล

   ศีลที่ประกอบด้วยอาสวะมีตัณหาสวะเป็นอาทิ ข้องอยู่ในสันดาน ชื่อว่าโลกิยศีล

  ศีลที่ปราศจากอาสวะชื่อว่าโลกุตตรศีล

  แท้จริงโลกิยศีลนั้น ย่อมจะนำมาซึ่งสมบัติอันวิเศษในภพ กับประการหนึ่ง โลกิยศีลนี้ จะเป็นสัมภารเหตุ ที่จะรื้อตนออกจากภพ

   “ยถาห ภควา” องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้เป็นดังฤๅ

  องค์พระผู้ทรงภาคตรัสเทศนาไว้ว่า “วินโย สํวรตถาย” กริริยาที่จะเล่าเรียนพระวินัยปริยัตินี้ ย่อมจะประพฤติเป็นไปเพื่อประโยชน์จะให้สังวร

   การที่สังวรนั้น จะประพฤติเป็นไปเพื่อประโยชน์จะมิได้ระลึกถึงกรรมแห่งตนควรที่นักปราชญ์จะพึงติเตียน

   การที่จะไม่ระลึกถึงกรรมแห่งตน ที่บัณฑิตจะพึงติเตียนนั้นย่อมจะประพฤติเป็นไปเพื่อประโยชน์จะให้ได้ความปราโมทย์ คือตรุณปีติอันอ่อน

   การที่ได้รับความปราโมทย์นัน้ ย่อมจะประพฤติเป็นไปเพื่อประโยชน์จะให้ได้พระนิพพาน อันธรรมทั้งหลายมีตัณหาเป็นอาทิ มิได้เขจ้าไปถือเอาได้

   “เอตทตฺถกถา” การที่จะกล่าวถึงพระวินัย แลการที่จะพิจารณาซึ่งอรรถแห่งพระวินัย แลการที่จะปฏิบัติสืบ ๆ ตามเหตุที่กล่าวมา แลจะเงี่ยลงซึ่งโสตประสาทสดับฟังซึ่งธรรม ก็ย่อมมีอนุปาทานปรินิพพานเป็นที่ประสงค์ “ยทิทํ วิโมกฺโข” วิโมกข์คือกิริยาที่จะพ้นโดยวิเศษของจิตที่อุปาทานทั้งหลายมิได้เข้าไปใกล้ถือเอาซึ่งธรรม

   อนึ่งวิโมกข์นั้น ก็มีอุปาทานปรินิพพานเป็นประโยชน์

   อนึ่งโลกุตตรศีลนี้ ย่อมจะนำซึ่งกิริยาที่จะรื้อตนออกจากภพ แลจะเป็นภูมิคือจะเป็นที่เข้าไปอาศัยแห่งปัจจเวกขณญาณ

   บัณฑิตพึงรู้ว่า ศีลมี ๒ ประการ คือโลกิยศีล ๑ โลกุตตรศีล ๑ เป็น ๒ ประการดังวิสัชนามานี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com