พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๗

   “ติกฺเกสุ ปมติกฺเก หีเนน ฉนฺเทน จิตฺเตน วิริเยน วีมํ สายวา ปวตฺติตํ หีนํ มชฺฌิเมหิ ฉนฺทาทีหิ ปวตฺติตํ มชฺฌิมํ ปณีเตหิ ปณีตํ ยสกามยตาย วา สนาทินนํ หีนํ ปุญฺญผลกามตาย มชฺฌิมํ กตฺตพฺเพเมวิทนฺติ อริยภาวนิสสาย สมาทินฺนํ ปณีตํ อหมสฺมิ สีลสมปนฺโน อิเม ปนญฺเญ ภิกขู ทุสฺสีลา ปาปธมฺมาติ เอวํ อตฺตุกํ สนปรวมฺภนาทีหิ อุปกิลิฏฺํ วา อนุปกิลิฏํ โลกิยสีลํ มชฺฌิมํ โลกุตฺตรํ ปณีตนฺติ"

   วาระนี้จะได้วิสัชนา ล้ำติิกกะทั้งหลาย ในติกกะประมาณ ๓ แห่ง ศีลเป็นปฐม มีเนื้อความว่า ศีลมี ๓ ประการ คือหีนศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ ปณีตศีล ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   หีนศีลเป็นปฐมนั้นว่า “หีเนน ฉนฺเทน จิตฺเตน” ศีลที่บุคคลให้ประพฤติเป็นไป ด้วยฉันทะปรารถนาที่จะรักษา แลจิต แลความเีพียร แลปัญญาอันต่ำช้า ศีลนั้นชื่อว่าหีนศีล ๑

   “มชฺฌิเมหํ ฉนฺทาทีหิ” ศีลที่บุคคลให้เป็นไปด้วยฉันทะแลจิต แลวิริยะความเพียร แลปัญญาอันเป็นท่ามกลาง ชื่อว่ามัชฌิมศีล ๑

   “ปณีเตหิ ปวตฺติตํ” ศีลที่บุคคลให้เป็นไปด้วยฉันทะ แลจิต แลวิริยะความเพียร แลปัญญาอันอุดม ชื่อว่าปณีตศีล ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   นัยหนึ่ง “ยสกามยตาย สมาทินฺนํ” ศีลที่บุคคลสมาทาน ด้วยมีความปรารถนาจะมียศชื่อว่า หีนศีล

   ศีลที่บุคคลสมาทาน ด้วยความปรารถนาจะให้เป็นบุญ ชื่อว่ามัชฌิมศีล

   ศีลที่บุึคคลสมาทาน อาศัยจะให้ตนเป็นบุคคลละบาปประเสริฐ โดยวิเศษว่าของสิ่งนี้ควรที่จะพึงกระทำ ชื่อว่าปณีตศีล

   อนึ่ง ศีลที่บุคคลรักษาเศร้าหมอง หมายว่าจะยกแลข่มขี่บุคคลผู้อื่น ด้วยความปริวิตกว่า อาตมาจะเป็นบุคคลประกอบด้วยศีลพรหมจรรย์อื่น ๆ นั้นเป็นบุคคลไม่มีศีล มีแต่ธรรมอันลามก ชื่อว่าหีนศีล

   โลกิยศีลที่บุคคลรักษา มิได้กระทำให้มัวหมองด้วยอัตตุกังสนะ ยกยอตน ข่มขี่บุคคลผู้อื่น ชื่อว่า มัชฌิมศีล

   ศีลที่เป็นโลกุตตระนั้น ชื่อว่า ปณีตศีล

   ศีลที่บุคคลรักษา เพื่อประโยชน์จะได้สมบัติในภพ เป็นไปด้วยสามารถแห่งตัณหา ชื่อว่าหีนศีล

   ศีลที่บุคคลรักษา เพื่อประโยชน์จะเป็นสาวก และเป็นพระปัจเจกโพธิ์ชื่อว่า มิชฌิมศีล

   ศีลที่บุคคลรักษา เพื่อประโยชน์จะยังสัตว์โลกให้พ้นจากสังสารวัฏชื่อว่า ปณีกศีล ศีลมี ๓ ประการดังนี้

   วินิจฉัยในศีล ๓ ประการในติกกะที่ ๒ นั้นว่า ศีลที่บุคคลรักษาแรารถนาจะละเสียซึ่งกรรมอันมิได้สมควรแก่ตน มีตนเป็นอธิบดี เคารพในตน ศีลนั้นชื่อว่า อัตตาธิปไตย ๑

   ศีลที่บุคคลรักษา มีความปรารถนาจะหลีกหนีความครหาของสัตว์โลกตนก็เป็นคนเคารพในโลก รักษาด้วยความคารวะในโลกดังนี้ ชื่อว่า โลกาธิปไตยศีล ๑

   ศีลที่บุคคลรักษา เพื่อประโยชน์จะบูชาซึ่งพระธรรมเป็นใหญ่เคารพในธรรม มีศรัทธาและปัญญาเป็นประธาน การรักษาด้วยความเคารพในพระธรรมดังนี้ ชื่อว่าธรรมาธิปไตยศีล ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   ในติกกะที่ ๓ มีเนื้อความว่า ศีลอันใดที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่านิสสิตศีลในทุกกะ ในติกกะนี้ ชื่อว่าปรามัฏฐศีล ๑

   เพราะเห็นว่าศีลนั้น อันตัณหาแลทิฏฐิถือเอาด้วยสามารถจะให้วิบัติฉิบหาย

   ศีลที่ ๒ ชื่อว่า อปรามัฏฐศีล คือศีลที่ปุถุชนรักษาให้เป็นสัมภารเหตุแก่ที่จะได้มรรค แลศีลของพระเสขริยบุคคล ๗ จำพวก อันประกอบด้วยเอกุปปาทาทิประการ เกิดกับดับพร้อมด้วยมรรคชื่อว่าอปรามัฏฐศีลที่ ๒

   ศีลที่ ๓ ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิศีล ศีลนี้เป็นของพระเสขบุคคลแลพระอเสขบุคคล เกิดกับดับพร้อมด้วยผล ศีลมี ๓ ประการดังนี้

   ในติกกะเป็นคำรบ ๔ นั้น “ยํ อาปตฺตึ อาปชฺชนฺเตน” ศีลที่พระภิกษุึรักษาไว้มิให้ต้องอาบัติ แลพระภิกษุต้องอาบัติแล้ว แลเทศนาบัติเสีย ศีลนั้นชื่อว่าวิสุทธิศีลที่ ๑

   ศีลที่ ๒ นั้นชื่อว่า อวิสุทธิศีล คือศีลของพระภิกษุที่ต้องอาบัติแล้ว แลมิได้ออกจากอาบัติ ด้วยเทศนาเป็นอาทิ ศีลนั้นชื่อว่า อวิสุทธิศีล

   “วตฺถุมฺหิ วา อาปตฺติยา วา” ศีลพระภิกษุที่มีความสงสัยในวัตถุ แลอาบัติ แลอัชฌาจารย ประพฤติล่วงสิกขาบท ชื่อว่า เวมติกศีลที่ ๓

   ในเวมติศีลนั้น มีเนื้อความว่า พระภิกษุมีความสงสัยว่าศีลของตนไม่บริสุทธิ์ ก็พึงชำระเสียให้บริสุทธิ์ อย่าประพฤติล่วงในความสงสัย พึงบรรเทาเสียซึ่งความสงสัย ความผาสุกแห่งพระภิกษุนั้นจะพึงบังเกิดมี ศีลมี ๓ ประการ มีวิสุทธิศีลเป็นประธานดังกล่าวมานี้

   วินิจฉัยในศีล ๓ ประการในติกกะที่ ๕ นั้นว่า “จตูหิ อริยมคฺเคหิ” ศีลอันประกอบด้วยเอกุปปาทาทิประการ เกิดในขณะเดียวกัน ดับในขณะเดียวกัน กับด้วยพระอริยมรรคทั้ง ๔ มีพระโสดาปัตติมรรคเป็นอาทิ แล้วเกิดดับกับพร้อมด้วยสามัญผลทั้ง ๓ คือพระโสดาปัตติผล พระสกิทาคามิผล พระอนาคามิผล ศีลนี้ชื่อว่าเสขศีลที่ ๑

   “อรหตฺตผลสมฺปยุตฺตํ” ศีลอันประกอบด้วยเอกกุปาทาทิประการ เกิดกับดับพร้อมเสมอด้วยพระอรหัตตผล ชื่อว่า อเสขศีลที่ ๒

   ศีลอันเศษจากเสขศีลแลอเสขศีลทั้ง ๒ นั้น คือโลกิยศีลทั้งปวง ชื่อว่า เนวเสขานาเสขศีลที่ ๓ รวมเข้าด้วยกันเป็นศ๊ล ๔ ประการดังนี้

   “ปฏิสมฺภิทายมฺปน” อนึ่งพระธรรมเสนาบดี กล่าวไ้ว้ในปฏิสัมิภทาว่า ปกติของสัตว์ทั้งหลายนั้น ๆ ในโลก ชื่อว่าศีล

   ปกติของสัตว์นั้น คือคำว่า “อยํ สุขสีโล” บุคคลผู้นั้นมีสุขเป็นปกติ บุคคลผู้นี้ มีเฉพาะเป็นปกติ บุคคลผู้นี้มีตกแต่งประดับประดากายเป็นปกติ เพราะเหตุการณ์ดังนั้น ศีลจึงมีประเภท ๓ ประการ คือกุศลศีล ๑ อกุศล ๑ อพยากตศีล ๑ เป็น ๓ ประการดังนี้

   ในอรรถอันนี้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดามิได้ประสงค์เอาอกุศลศีล เพราะเหตุว่าอกุศลศีลนั้น ไม่สมด้วยอาการทั้ง ๔ มีลักษณะของศีลเป็นอาทิ จึงมิได้นับเข้าในศีลนิเทศนี้ นักปราชญ์พึงรู้ว่าศีลมี ๓ ประการดังกล่าวมาแล้ว

   “จตุกฺเกสุ ปมจตุกฺเก” จะวินิจฉัยในปฐมจตุกกะ คือจะว่าด้วยศีลมี ๔ ประการเป็นปฐมหนึ่งก่อน มีเนื้อความว่า พระภิกษุรูปใดศาสนา เสพซึ่งบุคลทั้งหลายที่ไม่มีศีล ไม่เสพบุคลทั้งหลายที่มีศีล ไม่เห็นโทสที่ตึัวกระทำให้ล่วงวัตถุที่จะยังตนให้ต้องอาบัติเป็นคนไม่รู้ มากไปด้วยความดำริผิด ไม่รักษาอินทรีย์ “เอวรูปสส สีลํ” ศีลของพระภิกษุจำพวกนี้ ชื่อหายนภาคิยศีล เป็นส่วนที่ จะให้เสื่อมสูญ เป็นศีลที่ ๑

   อนึ่งพระภิกษุรูปใดในพระศาสนานี้ มีศีลบริบูรณ์แล้ว ก็กระทำความเพียรเรียนพระกรรมฐานสืบต่อขึ้นไป เพื่อประโยชน์ จะให้ได้สมาธิศีลแห่งพระภิกษุนั้น ชื่อว่า วิเลสภาคิยศีล เป็นส่วนจะให้วิเศษเป็นศีลที่ ๓

   “จตุตฺโถ สีลมตฺเตน” อนึ่งพระภิกษุรูปใดในพระศาสนานี้ไม่ยินดีอยู่ด้วยศีลสิ่งเดียว มีอุตสาหะเจริญเรียนพระวิปัสสนา ศีลพระภิกษุนั้นชื่อว่า นิพเพทภาคิยศีล เป็นส่วนที่จะเหนื่อยหน่ายเป็นศีลที่ ๔ ศีลมี ๔ ประการด้วยกันดังนี้

   วินิจฉัยในศีล ๔ ประการที่ ๒ นั้นว่า “ภิกฺขู อารพฺภ ปญฺญตตสิกฺขาปทานิ” สิกขาบทอันใดที่องค์พระผู้ทรงพระภาคปรารภพระภิกษุทั้งหลายแล้ว แลบัญญัติไว้ สิกขาบทนั้น พระภิกษุพึงรักษาเป็นอสาธารณบัญญัติเฉพาะให้พระภิกษุรักษา ศีลนั้นชื่อว่าพระภิกษุศีลที่ ๑

   สิกขาบทอันใด ที่พระองค์ผู้ทรงพระภาค ปรารภพระภิกษุณีแล้ว แลตั้งไว้เป็นสิกขา ควรพระภิกษุณีจะพึงรักษา ศีลนั้นชื่อว่าภิกษุณีศีลที่ ๒

   อนึ่ง “สามเณสามเณรีนํ” ศีลของสามเณรแลสามเณรีมี ๑๐ ประการ ศีลนี้ชื่อว่า อนุปสัมบันศีล เป็นศีลที่ ๓

   “อุปาสกอุปาสิกานํ” ศีล ๕ ประการที่อุบาสกอุบาสิกา มีอุตสาหะจะรักษาให้ยิ่งขึ้นไป ศีล ๘ ประการก็ย่อม่จะประพฤติเป็นไปแก่อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายนั้น ด้วยสามารถเป็นองค์อุโบสถ อุบาสกศีลมี ๔ ประการด้วยกันดังนี้

   ศีล ๔ ประการที่ ๓ นั้นว่า “อุตฺตรกุรุกานํ มนุสฺสานํ” การที่มิได้ประพฤติล่วงสิกขาบททั้ง ๕ แห่งมนุษย์ทั้งหลาย อันอยู่ในอุตตรกุรุทวีปชื่อว่าปกติศีลที่ ๑

   อนึ่ง มนุษย์ทั้งหลายมีพราหมณ์เป็นประธาน ไม่ดื่มกินซึ่งสุราเป็นอาทิ มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในชนบทบางแห่งไม่เบียดเบียนสัตว์เป็นอาทิ แลลัทธิอันตั้งไว้ซึ่งปวงมิให้กระทำบาปตามจารีต บุรพบุรุษคือมารดา บิดาในตระกูลนั้น อันเป็นต้นบังเกิดแห่งตน แลตนประพฤติมาแล้ว ศีลนี้ชื่อว่าอาจารศีลที่ ๒

   “เอวํ วุตฺตํ โพธิสตฺตมาสุสีลํ” อนึ่ง ศีลของมารดาพระโพธิสัตว์ ที่องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคโปรดประทานเทศนาไว้ว่า ดูกรอานนท์ในกาลใด พระโพธิสัตว์ลงสู่ครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้นจิตของมารดาพระบรมโพธิสัตว์ จะประกอบด้วยความยินดี ในกามโกฏฐาสส่วนแห่งกามคุณ บังเกิดขึ้นในบุรุษทั้งหลายหามิได้ ศีลแห่งพระพุทธมารดาดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าธรรมดาศีลที่ ๓

   อนึ่ง ศีลแห่งสัตว์ทั้งหลายที่เป็นสัตว์อันบริสุทธิ์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน แลศีลของพระโพธิสัตว์อันบำเพ็ญศีลบารมีในชาตินั้น ๆ ชื่อว่าบุพพเหตุศีลที่ ๔ ศีลมี ๔ ประการดังนี้

   ศีลมี ๔ ประการในที่ ๔ นั้นว่า “เอวํวุตฺตํ สีลมิทํ” ศีลอันใดที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาไว้ว่า พระภิกษุในพระศาสนานี้สังวรในพระปาฏิโมกข์สังวรศีล ถึงพร้อมด้วยอาจาระแลโคจรประพฤติอยู่เป็นนิจ เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีอณูเป็นประมาณ สมาทานแล้ว แลศึกษาในสิกขาบททั้งปวง ศีลนี้ชื่อว่า ปาฏิโมกข์สังวรศีลที่ ๑

   อนึ่ง ศีลอันใดที่องค์สมเด็จพระผู้่ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ว่า พระภิกษุในพระศาสนานี้ เห็นซึ่งรูปด้วยจักษุก็ถือเอาซึ่งนิมิต แลถือเอาโดยอนุพยัญชนะว่า เกศงามเป็นอาทิ อกุศลธรรมทั้งหลาย อันลามก คือ โลภแลโทมนัสพึงติดตามพระภิกษุนั้น เพราะเหตุไม่สำรวมจักษุอินทรีย์แล้วแลยับยั้งอยู่ พระภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระปาฏิโมกข์สังวรศีล ก็ย่อมปฏิบัติเพื่อจะรักษาจักษุอินทรีย์ ถึงซึ่งสังวรในจักษุอินทรีย์ พระภิกษุนั้นได้ฟังเสียงด้วยโสต แลได้สูดดมซึ่งกลิ่นด้วยฆานะ แลได้ลิ้มเสียซึ่งรสด้วยชิวหา ได้สัมผัสถูกต้องซึ่งโผฏฐัพพะด้วยกาย แลรู้ธรรมารมณ์ด้วยจิต ก็มิได้ถือเอาซึ่งนิมิตแลมิได้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะว่า เสียงนี้ไพเราะเป็นอาทิแล้วแลยับยั้งอยู่ พระภิกษุนั้นก็ย่อมปฏิบัติ เพื่อจะสังวรโสตอินทรีย์เป็นประธาน รักษาโสตอินทรีย์เป็นอาทิ ศีลนี้ชื่อว่าอินทรีย์สังวรศีลที่ ๒

   “ปญฺญตฺตานํ ฉนฺนํ สิกฺขาปทานํ” อนึ่ง พระภิกษุในพระศาสนานี้จะประพฤติล่วงสิกขาบททั้ง ๖ประการ ที่องค์พระผู้มีพระภาคบัญญัติไว้ เพราะเหตุจะเลี้ยงชีวิตนั้น คือการทำอาการกล่าวให้ทายกพิศวงด้วยกุหนวัตถุ เหตุที่ตนโกหก ๓ ประการ มีเจรจากระซิบในที่ใกล้เป็น อาทิแลกล่าวยกย่องตนต่อทายกให้ทายกถวายวัตถุปัจจัยอันหนึ่ง แลกระทำนิมิตกรรมแลกล่าวปดให้ทายกถวายของด้วยคำด่า แลปรารถนาจะนำมาซึ่งลาภด้วยลาภเป็นอาทิดังนี้ เมื่อพระภิกษุเว้นจากมิจฉาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิดด้วยประเภทแห่งกรรมอันลามกดังนี้ ศีลของพระภิกษุนั้นก็บริสุทธิ์ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีลที่ ๓

   “จตุปจฺจยปริโภโค” อนึ่งพระภิกษุบริโภคจตุปัจจัยทั้ง ๔ บริสุทธิ์ ด้วยกิริยาที่พิจารณาที่องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้โดยนัยเป็นอาิทิว่า “ปฏิสงฺขา โยนิโส จีวรํ ปฏิเสวามิ” ให้พระภิกษุกระทำมนสิการว่า อาตมาจะพิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อนแล้วจึงจะนุ่งห่มจีวรปัจจัยเป็นอาทิ ศีลของพระภิกษุนั้นก็บริสุทธิ์ ชื่อว่าปัจจัยสันนิสสิตศีลที่ ๔

   จำเดิมแต่นี้ ข้าพระองค์ผู้มีนามชื่อว่าพุทธโฆษาจารย์ จะกล่าววินิจฉัยตัดสินกับจะสังวรรณนาไปตามลำดับบท ในพระจตุปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ มีพระปาฏิโมกข์สังวรศีลเป็นประธานว่า “อิทานิ อิมสมึ” “สาสเน” บุคคลบวชด้วยศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนานี้ มีนามชื่อว่าภิกษุ เพราะเหตุว่าเห็นภัยในสังสารวัฏ นัยหนึ่งชื่อว่า ภิกษุ เพราะเหตุทรงไว้ซึ่งผ้าอันทำลาย ทรงไว้ซึ่งพระปาฏิโมกข์ คือสิกขาบทศีล

   ในบทคือปาฏิโมกข์นั้น แปลว่าสิกขาบทศีลย่อมจะรักไว้ซึ่งพระภิกษุผู้รักษาศีล อันนับเข้าในพระวินัย จะให้พระภิกษุนั้นพ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีอบายทุกข์เป็นอาทิ เพราะการณ์นั้นเองสมเด็จพระบรมศาสดาจึงเรียกสิกขาบทศีลนั้น ชื่อว่าปาฏิโมกข์

   แลสังวโรนั้น แปลว่าภิกษุกั้นไว้ปิดไว้ ซึ่งกายทวาร แลวจีทวาร บทคือสังวโรนั้นเป็นชื่อของสิ่งที่ไม่ล่วงด้วยกาย ไม่ล่วงด้วยวาจา สังวรนั้นก็คือพระปาฏิโมกข์ จึงได้ชื่อว่าพระปาฏิโมกข์สังวร

   พระภิกษุในพระศาสนา ประกอบด้วยปาฏิโมกข์สังวรศีลแล้ว ให้ประกอบด้วยอาจาระแลโคจรด้วย เพราะเหตุการณ์นั้น พระธรรมสังคาหกเถระเจ้าทั้งหลาย จึงกล่าวอรรถสังวรรณนาว่า “อตฺถิ อาจาโร อตฺถิ อนาจาโร” อาจารก็มี อนาจารก็มี

   อนาจารนั้นเป็นดังฤๅ อนาจารนั้นคือพระภิกษุประพฤติอนาจารใช่การที่จะประพฤติ กระทำให้ล่วงสิกขาบทด้วยกาย กระทำให้ล่วงสิกขาบทด้วยวาจา กระทำให้ล่วงสิกขาบททั้งกายทั้งวาจา ดังนี้ชื่ออนาจาร สภาวะหาศีลสังวรมิได้ทั้งปวง ชื่อว่าอนาจาร

   “อิเธกจฺโจ เวฬุทาเนน วา” พระภิกษุจำพวกหนึ่ง ในพระศาสนานี้ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วยให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ให้ดอกไม้ ให้ผลไม้ ให้เครื่องอบ ให้ไม้สีฟัน และตั้งตนไว้ในที่อันต่ำ แล้วยกยอทายกปรารถนาจะให้รัก และกล่าวถ้อยคำเสมอด้วยแกงถั่ว และอุ้มทารกแห่งสกุลด้วยสะเอว และเป็นคนใช้ไปด้วยกำลังแข้ง และเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวติเตียนห้ามมิให้กระทำ ดังนี้ชื่อว่าอนาจาร

   “ตตฺถ กตโม อาจาโร” อาจาระนั้นเป็นดังฤๅ

   อาจารนั้น คือพระภิกษุรักษาสิกขาบท มิได้ประพฤติให้ล่วงสิกขาบทด้วยกาย ไม่ล่วงสิกขาบทด้วยวาจา ไม่ล่วงสิกขาบทด้วยกาย และวาจาดังนี้ชื่ออาจาระ

   การที่ว่าพระภิกษุสำรวมศีลไว้มิให้ล่วงสิกขาบททั้งปวง ชื่อว่าสังวร

   “อิเธกจฺโจ น เวฬุทาเนน วา” พระภิกษุจำพวกหนึ่งในพระศาสนานี้ ไม่เลี้ยงชีวิตด้วยให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ให้ดอกไม้ ให้ผลไม้ ให้เครื่องอบ ให้ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีวิตด้วยตั้งตนในที่อันต่ำแล้ว และไ่ม่ยกยอทายกจะให้รัก และไม่กล่าวถ้อยคำเสมอด้วยแกงถั่ว และไม่อุ้มทารกด้วยสะเอว และไม่เป็นคนใช้ไปด้วยกำลังแข้ง ไม่เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีวะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนห้ามมิให้กระทำอย่างนี้ชื่อว่าอาจาระ

   อนึ่ง ในบทคือ โคจร นั้น มีอรรถกถาสังวรรณนาว่า “อตฺถิ โคจโร อตฺถิ อโคจโร” โคจรก็มี อโคจรก็มี

  “ตตฺถ กตโม อโคจโร” อโคจรนั้นเป็นดังฤๅ

   “อิเธกจฺโจ ภิกขุ” ภิกษุจำพวกหนึ่งในพระพุทธศาสนานี้ สกุลหญิงแพศยาเป็นที่ไปสู่มาหา ด้วยสามารถมิตรสันถวะ และมีหญิงหม้าย หญิงสาวใหญ่ ละบัณฑกะ และภิกษุณี และโรงสุราเป็นที่โคจรเป็นภิกษุอันระคนกับด้วยพระยาและมหาอำมาตย์แห่งพระยาและติตถีย์ และสาวกแห่งติตถีย์ ด้วยสังสัคคะระคนด้วยกายและวาจา อันมิได้ประพฤติเป็นไปตาสิกขาบททั้ง ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นอาทิ

   อนึ่ง สกุลอันใดมิได้ศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา ด่าและบริภาษพระภิกษุสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะให้เป็นประโยชน์ เป็นคุณปรารถนาแต่จะให้มีความสบายแก่พระภิกษุสงฆ์ ปรารถนาจะไม่ให้เกษมจากโยคะแก่พระภิกษุ พระภิกษุณีอุบาสกอุบาสิกา พระภิกษุนั้นก็เข้าไปสู่มาหาส้องเสพสกุลทั้งหลายนั้น


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com