พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๑

   จักวินิจฉัยในมรณานุสสติกัมมัฏฐานสืบต่อไป  ตตฺถ มรณ สติยา ภาวนานิทฺเทเส  ในมรณานุสตติภาวนานิเทศนั้นมีกระทู้ความว่าพระโยคาพจรผู้จะจำเริญมรณานุสสติกัมมัฏฐานนั้น พึงระลึกถึงความมรณะ ให้เป็นนิรันดรอยู่ในขันธสันดาน มรณะประสงค์เอาซึ่งความขาดแห่งชีวิตินทรีย์อันมีกำหนดภพอัน ๑ คือบังเกิดขึ้นในภพ เป็นสัตว์เป็นชีวิตแล้ว และถึงซึ่งจุติทำลายขันธ์ดับสูญขาดชีวิตินทรีย์ไปจากภพนั้นได้ชื่อว่ามรณะ กำหนดโดยภพควรที่จะเอาเป็นอารมณ์แห่งมรณานุสสติกัมมัฏฐาน

   และมรณะนั้นมี ๓ ประการ   คือสมุจเฉทมรณะ   ขณิกมรณะสมมติมรณะ   ทั้ง ๓ ปราการนี้ควรที่จะเอาเป็นอารมณ์แห่งมรณานุสสติกัมมัฏฐาน อธิบายว่า สมุจเฉทมรณะนั้น ได้แก่พระอรหันต์อันตัดเสียซึ่งวัฏทุกข์ กิจที่ให้สำเร็จแก่พระอรหันต์ตัดทุกข์ในสังสารวัฏได้ขาดนั้น จัดเป็นมรณะประการ ๑ ชื่อว่าสมุจเฉทมรณะแลขณิกมรณะนั้นได้แก่สังขารธรรมอันดับอันทำลายทุก ๆ ภวังค์ มรณะอธิบายว่าจิต แลเจตสิกซึ่งบังเกิดขึ้นในอุปาทขณะตั้งอยู่ในฐิติ ขณะแล้วดับไปในภวังค์ขณะนั้นเป็นมรณะประการ ๑ ได้ชื่อว่าขณิกมรณะ

   แลสมมติมรณะนั้นคือความตายอันโลกสมมติ โลกโวหารร้องเรียกว่าต้นไม้ตายทองแดงเหล็กตายตานสมมติเรียกเป็นต้นฉะนี้ จัดเป็นมรณะประการ ๑ ชื่อว่าสมมติมรณะ มรณะทั้ง ๓ ประการนี้พระโยคาพจรอย่าได้ประสงค์เอาเป็นอารมณ์ ในกาลเมื่อจำเริญมรณานุสสติกัมมัฏฐานในที่นี้มีคำฏีกาจารย์อธิบายไว้ว่า สมุทเฉทมรณะนั้นมีโดยน้อยมิได้มีโดยมาก ฝ่ายขณิกมรณะนั้นเล่าก็เกิด ๆ ดับ ๆ เนือง ๆ ไปนัก และสมมติมรณะ คือทองแดงตาย คือเหล็กตายเป็นต้นนั้นเล่าก็มิได้เป็นที่เกิดแห่งธรรมสังเวช เหตุฉะนี้ มรณะทั้ง ๓ ประการ จึงมิควรที่พระโยคาพจรจะเอาเป็นอารมณ์

   ในกาลเมื่อจำเริญมรณนุสสติกัมมัฏฐานและมรณะควรที่จะเอาเป็นอารมณ์นั้น พระอรรถกถาจารย์ประสงค์เอาแต่มรณะทั้ง ๒ คือกาลมรณะประการ ๑ อกาลมรณะประการ ๑ กาลมรณะนั้น คือตายด้วยสิ้นบุญตายด้วยสิ้นอายุ แท้จริงสัตว์ทั้งปวงอันมีกุศลเป็นชนกกรรมนำปฏิสนธิในที่อันเป็นสุขนั้น ถ้ากุศลซึ่งอุปถัมภ์อุดหนุนค้ำชูนั้นบ่มิได้ตลอดไป แม้ว่าปัจจัยคืออาหารอันจะสืบอายุนั้นยังมีบริบูรณ์อยู่ก็ดี ก็บ่มิอาจวัฒนาการจำเริญอยู่ได้ ย่อมถึงซึ่งจุติจากสมบัติพัสถานเคลื่อนคลาดจากที่อันเป็นสุข ขาดชีวิตตินทรีย์เพราะเหตุหากุศลจะอุปถัมภ์สืบต่อไปบ่มิได้ มรณะเห็นปานดังนี้ได้ชื่อว่าบุญญักขยมรณะ ว่าตายด้วยสิ้นบุญมีคำฏีกาจารย์ว่าบุญญักขยมรณะตายด้วยสิ้นบุญนั้น เป็นภพอันบริบูรณ์ด้วยสมบัติพัสถาน

    สเจ ภววิปตฺติยํ ิโต   ถ้าสัตว์นั้นบังเกิดในวิปัตติภพ เป็นภพอันกอปรด้วยความทุกข์ความยาก ทนทุกขเวทนาตราบเท่าสิ้นบาปสิ้นกรรมแห่งตนแล้ว และกระทำกาลกิริยาวิปัตติภพนั้น ได้ชื่อว่าปาปักขยมรณะว่าตายด้วยสิ้นบาป และสัตว์อันตายด้วยสิ้นอายุนั้น พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่าสัตว์อันหาคติสมบัติ กาลสมบัติ อาหารสมบัติบ่มิได้ คือบ่มิได้มีคติบริบูรณ์ ดุจเทพยดาอันบริบูรณ์ด้วยกาล บ่มิได้มีอาหารบริบูรณ์ ดุจชาวอุตตรกุรุทวีปอันบริบูรณ์ด้วยอาหาร และมีอายุอันน้อยประมาณได้ร้อยปี ดุจดังอายุมนุษย์หญิงชายในกาลทุกวันนี้ก็ดี สัตว์อันบริบูรณ์ด้วยกาลและอาหาร และอายุยืนนานมากกว่าแสนปีนั้นก็ดี แต่บรรดาสัตว์ที่สถาพรอยู่ตราบเท่าสิ้นอายุ แล้วกระทำกาลกิริยานั้นชื่อว่าอายุกขยมรณะสิ้นด้วยกัน พึงสันนิษฐานว่า สัตว์ที่สิ้นบุญสิ้นบาปสิ้นอายุแล้ว ละทำกาลกิริยานั้น ได้ชื่อว่ากาลมรณะตายในกาลอันพึงตาย

   อกาลมรณํ กมฺมุปจเฉทกวเสน  และสัตว์ทั้งปลายซึ่งกระทำกาลกิริยานั้น ด้วยสามารถอุปัจเฉทกรรมนั้นได้ชื่อว่าอกาลมรณะตายในกาลอันบ่มิควรจะพึงตาย แท้จริงสัตว์ทั้งหลายซึ่งมีขันธสันดานอันขาดด้วยอำนาจอุปัจเฉทกกรรม อันมีกำลังสามารถกระทำให้เคลื่อนคลาดจากที่ในขณะดุจดังว่าพระยาทุสิมารราช และพระยากลาพุราชเป็นต้น อันประทุษร้ายแก่ขันติวาทีดาบส และแผ่นดินให้ช่องลงไปไหม้ในอเวจีนรกนั้น ได้ชื่อว่ากาลมรณะตายในกาลอันมิควรจะพึงตาย ใช่แต่เท่านั้นสัตว์ทั้งหลายอันโบราณกรรมติดตามมาทัน และมีผู้ฆ่ามาฟันด้วยเครื่องสาตราวุธ กระทำกาลกิริยาด้วยความเพียรแห่งบุคคลอื่น และอกุศลดลจิตให้ประหารชีวิตแห่งตนเสียด้วยตนเองก็ดี อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าอกาลมรณะ

   มรณะทั้ง ๒ ประการ คือกาลมรณะแลอกาลมรณะ อันมีนัยดังพรรณนามานี้ สมควรที่พระโยคาพจรจะถือเป็นอารมณ์ในกาลเมื่อจำเริญมรณานุสสติกัมมัฏฐาน   ตํ ภาเวตุกาเมน  พระโยคาพจรผู้ปรารถนาจะจำเริญมรณานุสสติกัมฐานนั้น พึงเข้าไปในที่สงัดอยู่แต่ผู้ดียวนั้นแล้วพึงกระทำบริกรรม  มรณํ ภวิสฺสติ ชีวิตินฺทฺรริยํ อุปจฺฉิสฺสติ   ความตายจักมีชีวิตินทรีย์จักขาดดังนี้ ถ้ามิดังนั้นพึงกระทำบริกรรมว่า   มรณํ มรณํ   ความตาย ๆ ดังนี้

   เมื่อกระทำซึ่งบริกรรมนั้นพึงมนสิการกำหนดกฏหมายด้วยอุบาย อย่าได้กระทำมนสิการด้วยหาอุบายมิได้ มีคำฎีกาจารย์วิสัชนาว่า ซึ่งให้กระทำมนสิการกำหนดกฏหมายด้วยอุบาย คือให้พิจารณาสติและปัญญาพิจารณาให้เห็นธรรมสังเวชว่า ความตายนั้นจะมีแก่เราเป็นแท้ ชีวิตแห่งอาตมานี้จะขาดเป็นแท้ พึงพิจารณาสังเวชฉะนี้ อย่าได้บริกรรมเพ้อไปแต่ปาก บ่มิได้ปลงปัญญาพิจารณาให้เห็นสังเวชในความตายนั้น ได้ชื่อว่ากระทำมนสิการหาอุบายมิได้   อโยนิโส ปวตฺตยโต หิ  แท้จริงพระโยคาพจรผู้ประพฤติซึ่งกิจมาสิการด้วยหาอุบายมิได้นั้น

  ขณะเมื่อระลึกขึ้นมาถึงความตายแห่งบุคคลอันเป็นที่รักก็บังเกิดความโศกความเศร้า อุปมาดุจบุคคลอันระลึกถึงมารดาบังเกิดเกล้า แลบุตรอันเป็นที่รักพึงอนิจกรรมไปบังเกิดความโศกเศร้า ขณะเมื่อระลึกถึงความตายของชนที่ตนไม่รักใคร่เกลียดชัง ก็จะเกิดความปราโปรทย์ ( เช่นชนที่มีเวรต่อกันระลึกถึงความตายแห่งกันและกันฉะนั้น) ขณะเมื่อระลึกถึงความตายแห่งบุคคลอันตนบ่มิได้รักบ่มิได้ชังนั้น ก็จักเพิกเฉยบ่มิได้มีความสังเวช ดุชฉวฑาหิกชนสัปเหร่ออันเห็นซากกเฬวระและหาสังเวชมิได้ ถ้าระลึกถึงความตายเเห่งตน ก็มักเกิดความสะดุ้งตกใจดุจบุคคลภิรุกชาติสันดานขลาด เห็นนายเพชฌฆาตถือดาบเงือดเงื้ออยู่และความสดุ้งตกใจ นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าการที่จะเศร้าโศก จะบังเกิดความยินดีปรีดา จะหาสังเวชบ่มิได้ จะบังเกิดความสดุ้งตกใจทั้งนี้ก็อาศัยแก่ปราศจากสติและปัญญาปราศจากสังเวช

  กระทำมนสิการด้วยหาอุบายบ่มิได้ บริกรรมว่า มรณัง ๆ นั้นบ่นเพ้อไปแต่ปาก บ่มิได้เอาสติและปัญญาประกอบเข้าเห็นธรรมสังเวชจริง ๆ จึงเป็นดังนั้น ถ้ากระทำมนสิการด้วยอุบายปลงสติปัญญาลงได้ มีธรรมสังเวชอยู่ในสันดานแล้วไหนเลยจะเป็นดังนั้น ก็จะเป็นคุณวุฒิอันล้ำเลิศประเสริญคือระลึกถึงความตายแห่งบุคคลอันเป็นที่รักก็จะมิได้เศร้ามิได้โศก ระลึกถึงความตายแห่งบุคคลอันเป็นเวรก็จะมิได้ชื่นชมโสมนัส ระลึกถึงความตายแห่งบุคคลที่ตนไม่รักไม่ชังก็จะมิได้เพิกเฉย จะบังเกิดความสังเวชบริบูรณ์ในสันดานระลึกขึ้นมาถึงความตายแห่งตนเล่า ก็ปราศจากความสดุ้งตกใจ อันกระทำมนสิการด้วยอุบายนี้ มีคุณมากกว่า มากดุจกล่าวมานี้

   เหตุดังนั้นพระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสติกัมมัฏฐาน พึงพิจารณาถึงความตายแห่งสัตว์ทั้งหลายอันโจรฆ่าให้ตายก็ดี ตายเองก็ดี แต่บรรดาที่ทอดทิ้งกลิ้งอยู่ในที่ทั้งปวง เป็นต้นว่าป่าชัฏและป่าช้าที่ตนได้เห็นแต่ก่อนนั้น พึงพิจารณาเป็นอารมณ์ในที่จำเริญมรณานุสสติ   สติญฺจ ปฐฺญญฺจ สํเวคญฺจ โยเชตฺวา   พึงมนสิการด้วยอุบายอันยังสติและปัญญา และธรรมสังเวชให้บังเกิดแล้วพึงกระทำซึ่งบริกรรมด้วยนัยเป็นต้นว่า มรณํ ภวิสฺสติ ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิสฺสติ   โดยนัยที่สำแดงมาแต่หนหลัง   เอวํ ปวตฺตยโต เยว  เมื่อพระโยคาพจรประพฤติโดยวิถีอันพระอรรถกถาจารย์เจ้าสำเเดงไว้ฉะนี้

   บางจำพวกที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้านั้น ก็จะข่มเสียได้ซึ่งนิวรณธรรมมีกามฉันทะเป็นต้น จะมีมรณารมณ์ตั้งมั่น พระกัมมัฏฐานจะถึงซึ่งอุปจารสมาธิไม่ลำบากยากใจ อาศัยด้วยปัญญินทรีย์อันแก่กล้า   เอตฺตาวตา น โหติ  พระโยคาพจรที่มีปัญญามิได้แก่กล้ามิได้สำเร็จกิจแห่งพระกัมมัฏฐานด้วยวิธีประมาณเท่านี้ และปรารถนาจะกระทำเพียรในมรณานุสสติกัมมัฏฐานต่อไป ก็พึงระลึกถึงความตายโดยอาการ ๘ ประการคือ วธกปัจจุปปัฏฐานประการ ๑  สัมปัตติวิปัตติประการ ๑   อุปสังหรณะประการ ๑   กายพหุสาธารณะประการ ๑   อายุทุพพละประการ ๑   อนิมิตะประการ ๑   อัทธานปริเฉทะประการ ๑   ขณปริตตะประการ ๑   รวมเป็น ๘ ประการด้วยกันอาการเป็นปฐมคือวธกปัจจุปปัฏฐานนั้นมีอรรถาธิบายว่า ให้ระลึกถึงความตายให้เห็นปรากฏ ดุจนายเพชฌฆาตมีมือถือดาบอันคมกล้า

  ปุจฉาว่า เหตุไฉนให้ระลึกเช่นนี้ วิสัชนาว่า ให้ระลึกนี้ด้วยสามารถจะให้เห็นว่าเกิดกับตายนั้นมาพร้อมกัน สัตว์ทั้งหลายอันเกิดมาในโลกนี้ย่อมมีชรา แลขณิกมรณะนั้นติดตามตัวมาทุกรูป ทุกนาม   ยถา หิ อหิฉตฺตกํ มกุลํ  อุปมาดุจดังเห็ดอันตูม อันพึงขึ้นพื้นนดิน แลพาเอาฝุ่นติดยอดขึ้นไปนั้น  ปฏิสนฺธิจิตฺตํ อุปฺปาทานนฺตรํ   แท้จริงสัตว์ทั้งหลายอันบังเกิด ถือเอาปฏิสนธิกำเนิดในโลกนี้จำเดิมแต่ปฏิสนธิแล้วในลำดับอุปปาทขณะแห่งปฏิสนธิจิตนั้น ก็ถึงซึ่งความชราและมรณะ ๆ นั้นติดตามมากับตน

   ปพฺพตสิขรโต ปติถสิลา วิย   เปรียบประดุจก้อนศิลาอันหักตกลงมาจากชะง่อนแห่งภูเขา และพาเอาต้นไม้และหญ้าที่เนื่องด้วยตนนั้นลงมาด้วยกัน   มรณํปิ สหชาติยา อาคตํ  เกิดกับตายนี้มาพร้อมกัน เหตุว่าความเกิดมีแล้ว ความตายก็มีด้วยบุคคลที่เกิดมานั้นย่อมจะถึงซึ่งความตายเป็นแท้ จำเดิมแต่บังเกิดขึ้นแล้ว ก็บ่ายหน้าสู่ความตาย ดุจพระอาทิตย์อันอุทัยขึ้นมาแล้วและบ่ายหน้าสู่อัสดงคต มิได้ถอยหลังมาจากวิถีที่ดำเนินไปนั้น ถ้ามิดังนั้นอุปมาดุจดังว่านทีธารอันไหลย้อยลงมาแต่ซอกแห่งภูเขา มีกระแสอันเชี่ยว ย่อมพัดไปซึ่งใบไม้และต้นหญ้าแต่บรรดาที่ตกลงในกระแสนั้น ไหลหลั่งถั่งลงไปหน้าเดียว ที่จะไหลทวนกระแสขึ้นไปมาตรว่าหน่อยหนึ่งหาบ่มิได้อันนี้แล มีฉันใด อายุแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ลาวงไป ๆ มิได้กลับหลัง ตั้งหน้าเฉพาะสู่ความตาย

   มีอุปไมยดังนั้นเหตุดังนั้นสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาโปรดประทานพระธรรมเทศนาไว้ว่า  ยเมกรตฺตึ ปมํ คพฺเภว สติมาณโว อพฺภฏฺิโต วาสยาติ   อธิบายในบาทพระคาถานี้ว่า สัตว์อันอยู่ในครรภ์มารดานั้น จำเดิมแต่ขณะตั้งปฏิสนธิในราตรีนั้น แล้วก็ตั้งแต่แปรไป ๆ เดิมเกิดเป็นกลละแล้วก็แปรไปเป็นอัมพุทะ ตั้งแต่แปรไป ๆ ตราบเท่าถึงมรณภาพเป็นที่สุด จะเที่ยงจะแท้นั้นหามิได้ เปรียบประดุจว่าหมอก อันตั้งขึ้นมาแล้วก็ถึงภาวะเคลื่อนไป ๆ ตราบเท่าสูญหาย มีคำฎีกาจารย์วิสัชนาว่า ซึ่งพระพุทธฎีกาตรัสว่า  รตฺตึ ปมํ   ว่าสัตว์ตั้งปฏิสนธิในเพลาราตรีหนึ่งนั้น ว่าโดยเยภุยยนัย อันว่าธรรมดาสัตว์ที่ถือปฏิสนธิในเพลาราตรีนั้น มีโดยมากที่จะถือเอาปฏิสนธิในเพลากลางวันนั้นมีโดยน้อย เหตุดังนั้นนักปราชย์พึงสันนิฐานว่า รัตติศัพท์นั้นพระพุทธเจ้าเทศนาโดยเยภุยยนัย อายุแห่งสัตว์ที่ล่วงไป ๆ โดยนัยดังพรรณนาฉะนี้

  พระอรรถกถาจารย์เจ้าอุปมาไว้ว่า เหมือนด้วยอาการอันสิ้นไปแห่งแม่น้ำน้อย ๆ ต้องแสงพระสุริยเทพบุตรในคิมหันตฤดูแล้ง และถึงซึ่งสภาวะเหือดแห้งสิ้นไปทุกวันทุกเวลา ถ้ามิฉะนั้นดุจไม้มีขั่วอันอาโปธาตุมิได้ซาบถึงและหล่นลงมาจากต้น ณ เพลาเช้าธรรมดาผลไม้อันมีพรรณต่าง ๆ นั้นเมื่อรสแผ่นดินเอิบอาบซาบขึ้นไปบ่มิถึง ก็มีขั่วอันเหี่ยวแห้งตกลงจากต้นในเพลาเช้าแลมีฉันใดรูปกาย แห่งสัตว์ทั้งปวงนี้มีรสอาหารซาบไปบ่มิทั่วก็ถึงซึ่งคร่ำคร่าเหี่ยวแห้งขาดจากชีวิตินรีย์มีอุปไมยดังนั้น ถ้ามิดังนั้นรูปธรรมนามธรรมทั้งปวงนี้ เมื่อชราแลพยาธิและมรณะเบียดเบียนแล้ว ก็ถึงซึ่งคร่ำคร่าเหี่ยวแห้งเจ็บป่วยลำบากเวทนา มีอัสสาสะปัสสาสะอันขาดเป็นอสุภสาธารณ์เปื่อยเน่าทิ้งทอดกระจัดกระจายเรี่ยราดแยู่เหนือแผ่นปฐพี

   มีอุปไมยดังนั้นมิฉะนั้นเปรียบเหมือนภาชนาดินอันบุคคลประหารด้วยไม้ค้อน และแตกกระจัดกระจาย ถ้ามิฉะนั้น   สุริยรํสิสมฺผุฏานํ อุสฺ สาววินฺทูนํ วิทฺธํสนํ  ดุจดังว่าหยาดน้ำค้าง อันพลันที่จะเหือดแห้งได้ด้วยแสงสุริยเทพบุตร   เอวํ วธกปจฺจุปฺปฏฺานโต มรณํ อนุสฺสริตพฺพํ   พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสติกรรมฐาน พึงระลึกถึงความตายโดยปัจจุปัฏฐานดุจนัยที่พรรณามานี้ ในอาการเป็นคำรบ ๒ ซึ่งว่าให้พระโยคาพจรระลึกถึงความตายโดยสมบัติวิบัตินั้น คือให้ระลึกให้เห็นว่าสัตว์ทั้งปวงเกิดมานี้บริบูรณ์แล้วก็มีความฉิบหายเป็นที่สุด ซึ่งจะงดงามจะดีอยู่ไม่นั้นแต่เมื่อวิบัติยังมิได้ครอบงำ ถ้าความวิบัติมาครอบงำแล้ว ก็สารพัดที่จะเสียสิ้นทุกสิ่งทุกประการ ที่งามนั้นก็ปราศจากงาม ที่ดีนั้นก็กลับเป็นชั่ว มีความสุขแล้วก็จะมีความทุกข์มาถึงเล่า หาโศกเศร้าบ่มิได้แล้วก็ถึงซึ่งเศร้าโศกเล่า

   แต่พระเจ้าธรรมาโศกราชบพิตร ผู้มีบุญญานุภาพได้เสวยมไหสุริยสมบัติพร้อมเพรียงไปด้วยความสุข ถึงซึ่งอิสระภาพเป็นใหญ่ในภูมิมณฑลสกลชมภูทวีป บริจากทานในพระศาสนาคิดเป็นทรัพย์นับได้ร้อยโกฏิมีอาณาจักรแผ่ไปใต้ปถพี ๑ โยชน์ เบื้องบนอาการ ๑ โยชน์ กอปรด้วยสมบัติสุขถึงเพียงนี้ เมื่อมรณะมาถึงก็มีความเศร้าโศกเฉพาะพักตร์สู่ความตาย ควรจะสังเวชเวทนา   สพฺโพ เยว โลกสนฺนิวาโส ชาติยา อนุโคต  ชื่อว่าโลกสันนิวาสสัตว์ทั้งปวงนี้ ชาติทุกข์ย่อมติดตามล่อลวงให้ลุ่มหลง ชรานั้นรัดตรึงตราให้ถึงความวิปริตต่าง ๆ พยาธิทุกข์นั้นติดตามย่ำยี ให้ป่วยไข้ลำบากเวทนาเจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย   สุมรเณ อพฺภาหโต  มรณทุกข์ครอบงำทำลายล้างชีวิตอินทรีย์ให้เสื่อมสูญพญามัจจุราชนี้จะได้ละเว้นบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งนั้นหามิได้ ย่อมครอบงำย่ำยีสรรพสัตว์ทั้งปวงทั่วไปทุกรูปทุกนาม มิได้เลือกว่ากษัตริย์ว่าพราหมณ์ว่าพ่อค้าชาวนา จัณฑาลคนขนหยากเยื่อ

   อุปมาดุจเขาอันมีศิลาเป็นแท่งหนึ่งแท่งเดียวเบื้องบนจดจนนภากาศ กลิ้งมาแล้วแลเวียนไปในทิศทั้ง ๔ บดเสียซึ่งสรรพสัตว์วัตถุทั้งปวง บ่มิได้เลือกสัตว์แลสังขารนั้น อันจะต่อยุทธพญามัจจุราชนั้นใช่วิสัยที่จะต่อยุทธได้ เพราะเหตุว่ามรณะสงความนั้นไม่มีที่ตั้งแห่งพลช้างพลม้าพลราชรถพลเดินเท้าไม่มีที่ตั้งค่ายคูประตูหอรบทั้งปวง จะมีพลพาหนะมากก็มากเสียเปล่า ซึ่งจะเอามาต่อยุทธด้วยมรณะสงความนั้นเอามาบ่มิได้ถึงแม้จะมีแก้วแหวนเงินทองมากสักเท่าใด ๆ ก็ดี จะรู้เวทมนต์ศาสตราคมกล้าหาญประการใด ๆ ก็ดี ก็มิอาจเอามาต่อยุทธด้วยพญามัจจุราชได้

   พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสติภาวนานั้น ถึงระลึกถึงความตายโดยสมบัติวิบัติดุจพรรณนามาฉะนี้   อุปสํหรณโต  แลอาการเป็นคำรบ ๓ ที่ว่าให้พระโยคาพจรระลึกถึงความตายโดยอุปสังหรณะนั้น คือให้ระลึกถึงความตายแห่งผู้อื่นแล้วนำเอามาใส่ตน เมื่อระลึกถึงความตายแห่งบุคคลผู้อื่นพึงระลึกโดยอการ ๗ ประการ   ยสมหคฺคโต  คือให้ระลึกโดยภาวนามากไปด้วยยศประการ ๑   ปุญฺญมหคฺคโต  ให้ระลึกโดยภาวนามากไปด้วยบุญประการ ๑   ถามมหคฺคโต  ให้ระลึกโดยภาวะนามากไปด้วยกำลังประการ ๑   อิทฺธิมหคฺคโต  ให้ระลึกโดยภาวะนามากไปด้วยฤทิธิ์ประการ ๑  ปจฺเจกพุทฺธโต   ให้ระลึกโดยภาวะพระปัจเจกโพธิ์ ๑   สมฺมาสมฺพุทฺธโต  ให้ระลึกโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ เป็น ๗ ประการด้วยกัน

   ซึ่งว่าให้ระลึกโดยภาวะมากไปด้วยยศนั้น คือให้ระลึกว่าพญามัจจุราชนี้ จะได้รังเกียจเกรงใจว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ดีมีบริวารยศมากอย่าเบียดเบียนท่านเลย จะได้เกรงใจอยู่ในฉะนี้หาบ่มิได้ แต่พระยามหาสมมติราช แลพระยามันธาตุราช พระยามหาสุทัพสนะบรมจักรพัตราธิราชเป็นต้นเป็นประธาน ซึ่งมีอิสริยยศแลบริวารยศเป็นอันมากบริบูรณ์ไปด้วยพลพาหนะแลทรัพย์สมบัติอันโอฬารริกภาพนั้นยังตกอยู่ในอำนาจแห่งพญามัจจุราชสิ้นทั้งปวง  กิมงฺคํ ปน   ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงตัวเรานี้เล่า อันจะพ้นอำนาจแห่งพญามัจจุราชนั้นหามิได้   เอวํ ยสมหคฺคโต   พระโยคาพจร พึงระลึกถึงความตายโดยภาวะมากไปด้วยยศดุจพรรณนามาฉะนี้

   ปญฺญมหคฺคโต  ซึ่งว่าให้ระลึกโดยภาวะมากไปด้วยบุญนั้น คือให้ระลึกตรึกตรองไปถึงบุคคลเป็นต้นว่า โชติกเศรษฐี แลชฏิลเศรษฐี แลอุคคิยเศรษฐี แลเมณฑกเศรษฐี แลปุณณกเศรษฐี แต่บรรดาที่เป็นคนมีบุญญาภิสมภารเป็นมันมากนั้น ว่าท่านโชติกเศรษฐีนั้นมีปรางค์ปราสาทแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพื้นได้ ๗ ชั้น มีกำแพงแวดล้อมนั้นก็ ๗ ชั้น แต่ล้วนแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ แล้วก็มีไม้กัลปพฤกษ์เกิดขึ้นทุก ๆ มุมแห่งกำแพง มีขุมทองอันเกิดขึ้นในมุมทั้ง ๔ แห่งปรางค์ปราสาท ขุมหนึ่งปากกว้าง ๑ โยชน์ ขุมหนึ่งปากกว่างกึ่งโยชน์ ขุมหนึ่งปากกว้าง ๓๐๐ เส้น ขุมหนึ่งปากกว้าง ๑๐๐ เส้น สมบัติพัสถานของท่านนั้นโอฬารริกภาพ มีนางมาแต่อุตตกุรุทวีปเป็นอัครภรรยา แลชฏิลเศรษฐีนั้นเล่ามีภูเขาทองขึ้นข้างหลังเรือนจะรื้อจะขนสักเท่าใด ๆ ก็ไม่สิ้นไม้สุด

           เมณฑกะเศรษฐีนั้นเล่าก็มีแพะทองเกิดขึ้นด้วยบุญเต็มไปในที่ได้ ๘ กรีส ในท้องแพะนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสรรพข้าวของทั้วปวงจะปรารถนาวัตถุอันใดชักลูกข่างอันกระทำด้วยเบญจพรรณ ซึ่งปิดปากแพะนั้นออกแล้ววัตถุนั้นก็ไหลหลั่งออกมาจากปากแพะ ได้สำเร็จความปรารถนาทุกสิ่งทุกประการ แลปุณณกเศรษฐีนั้นเล่า เดิมเมื่อเป็นลูกจ้างอยู่นั้นออกไปไถนา ขี้ไถก็กลับกลายเป็นทอง ครั้นได้เป็นเศรษฐีเมื่อพื้นที่จะกระทำเรือนอยู่นั้นก็ได้ขุมทรัพย์เต็มไปในที่จักหวัด บ้านบุคคลผู้มีบุญญาภิสมภารมากมีทรัพย์มากถึงเพียงนี้แล้ว ก็มิอาจเอาทรัพย์มาไถ่ถอนตนให้พ้นจากอำนาจพญามัจจุราชได้  อญฺเญ จ โลกเก มหาปุญฺญาติ วิสฺสุตา   ถึงบุคคลจน ๆ ที่ปรากฏว่ามีบุญมากในโลกนี้แต่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพ้นจากอำจาจแห่งพญามัจจุราชนั้นหามิได้ แต่ล้วนถึงซึ่งมรณภาพดับสูญล่วง ๆ ไปสิ้นทั้งปวง  มาทิเสสุกถาวกา   ก็ป่วยกล่าวไปไยถึงบุคคลเห็นปานดังตัวเรานี้ดังฤๅจะพ้นอำนาจแห่งพญามัจจุราช

  พึงระลึกไปโดยภาวะมากไปด้วยบุญอันนี้   ถามมหคฺคโต  ซึ่งว่าให้ระลึกไปโดยภาวะมากไปด้วยกำลังนั้น คือให้ระลึกถึงบุคคลที่มีกำลังมากเป็นต้นว่า พระยาวาสุเทพ พระยาพลเทพ พระยาภิมเสน พระยานุธิฏฐิล พระยาหนุร พระยามหามล พระยาเหล่านี้แต่ละพระองค์ ๆ นั้นทรงพลกำลังมาก กำลังนายขมังธนู ๕๐๐ คนจึงเท่าพระยาภิมเสนพระองค์หนึ่ง บุคคลอันมากำลังมากสามารถปรากฏในโลกสันนิวาสเห็นปานดังนี้ ก็มิอาจต่อยุทธด้วยพญามัจจุราชได้   กถาวกา   ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงตัวเรานี้เล่าดังฤๅแลจะต่อสู้ด้วยพญามัจจุราชนั้นได้ พึงระลึกโดยภาวะมากไปด้วยกำลังดังพรรณนามาฉะนี้

  อิทฺธิมหคฺคโต   ซึ่งว่าให้ระลึกไปโดยภาวะมากไปด้วยฤทธิ์นั้น พึงให้ระลึกว่าบุคคลอันเกิดมาในโลกนี้ ถึงจะมีฤทธิ์ศักดานุภาพเป็นประการใด ๆ ก็ดี ก็มิอาจทำสงครามแก่พญามัจจุราชได้ แต่พระมหาโมคคัลลานเถระเจ้าผู้เป็นทุติยสาวก แห่งสมเด็จพระมหากุณากอปรด้วยฤทธาศักดานุภาพ อันล้ำเลิศประเสริฐได้ที่เอตทัคคะฝ่ายข้างฤทธิ์ แต่บรรดาเฉพาะสาวกในพระศาสนานี้ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จะมีฤทธิ์เหมือนพระโมคคัลลานะหาบ่มิได้ พระโมคคัลลานะนี้ยังเวชยันตปราสาทให้กัมปนาทหวาดหวั่นไหวด้วยมาตรว่า สะกิดด้วยนิ้วแม่เท้า อนึ่งเมื่อทรมานพญานันโทปนันทนาคราชนั้นเล่า ฤทธิ์แห่งพระโมคคัลลานเถรเจ้าก็ปรากฏว่าเลิศรวดเร็วในกิจที่จะเข้าสู่สมบัติไม่มีใครเสมอ มีฤทธิ์ถึงเพียงนี้แล้ว ยังว่าเข้าไปสู่ปากแห่งพญามัจจุราชอันพิลึกกับทั้งฤทธิ์ทั้งเดช ดุจดังว่าเนื้ออันเข้าไปสู่ปากแห่งพญาไกรสรราชสีห์ ก็ตัวอาตมานี้ดังฤๅจะพ้นพญามัจจุราชเล่า พึงระลึกไปโดยภาวะมากไปด้วยฤทธิ์ดังนี้

    ปญฺญมหคฺคโต  ซึ่งว่าให้ระลึกโดยภาวะมากไปด้วยปัญญานั้นคือให้ระลึกด้วยเห็นว่าสัตว์ทั้งหลาย แต่บรรดาที่เวียนว่ายอยู่ในกระแสชลาโลกโอฆสาครนี้ ถึงจะมีปัญญาเฉลี่ยวฉลาดเป็นประการใด ๆ ก็ดี ก็บ่มิอาจจะคิดเลศอุบายให้พ้นจากอำนาจแห่งพญามัจจุราชนั้นได้ จะว่าไปไยถึงผู้อื่น ๆ นั้นเล่า แต่พระสารีบุตรเถรเจ้า ผู้เป็นอัครสาวกกอปรด้วยปัญญาอันกล้าหาญ แม้ฝนจะตกเต็มไปในห้องจักรวาลตกไปช้านานสิ้น ๑ กัปป์ หยาดเม็ดฝนแลละอองเม็ดฝนนั้นมีประมาณมากน้อยสักเท่าใด ๆ พระสารีบุตรเถรเจ้าก็อาจนับถ้วน แต่บรรดาสัตว์ในโลกนี้ ยกเสียแต่พระบรมโลกนาถเจ้าพระองค์เดียวแล้วนอกออกไปกว่านั้นแล้ว ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะมีปัญญามากเหมือนพระสารีบุตรนั้นหามิได้

   ปัญญาแห่งพระสารีบุตรเถรเจ้านั้น ถ้าจะเอามาแบ่งออกเป็น ๑๖  ยกเสีย ๑๕   เอาแต่ส่วน ๑  ส่วน ๑  นั้นเอามาแบ่งออกเป็น ๑๖  ยกเสีย ๑๕  เอาแต่ส่วน ๑  อีกเล่าแบ่งลงไป ๆ โดยในดังนี้ถึง ๑๖  ครั้งแล้ว จึงเอาปัญญาพระสารีบุตรที่แบ่งเสี้ยว ๑  เป็น ๑๖  ส่วนในที่สุดนั้นมาเปรียบด้วยปัญญาแห่งบัณฑิตทั้งชาติทั้งปวง ๆ ก็น้อยกว่าปัญญาแห่งพระสารีบุตรเสี้ยว ๑ นั้นอีก พระสารีบุตรได้เอตทัคคะฝ่ายข้างปัญญาถึงเพียงนี้แล้ว ก็มิอาจล่วงเสียอำนาจแห่งพญามัจจุราชนั้นได้ ยังถือซึ่งดับสูญเข้าสู่ปากแห่งพญามัจจุราชจะมิครอบงำเล่า พึงระลึกโดยภาวะมากไปด้วยปัญญาดังกล่าวนี้

  ปจฺเจกพุทฺธโต   ซึ่งว่าให้ระลึกโดยพระปัจเจกโพธิ์นั้นคือให้ระลึกว่า แท้จริงพระปัจเจกโพธิ์ทั้งปวงนั้นแต่ละพระองค์ ๆ กอปรด้วยปัญญาพลแลวิริยพลอันเข้มแข็งย่ำยีเสียได้ ซึ่งข้าศึกคือกิเลสธรรมทั้งปวงแล้ว แลถึงซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาน ตรัสรู้ไญยธรรมเองหาอาจารย์จะสั่งสอนมิได้ พระปัจเจกโพธิ์เจ้าผู้ประเสริฐเห็นปานดังนี้ ก็มิอาจล่วงลัดจากอำนาจแห่งพญามัจจุราชนั้นได้ดังฤๅอาตมาจะพ้นจากอำนาจแห่งพญามัจจุราชนั้นเล่า พึงระลึกโดยประปัจเจกโพธิ์โดยนัยดังกล่าวมานี้

   สมฺมาสัมฺพุทฺธโต  ซึ่งว่าให้ระลึกโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นคือให้ระลึกว่า  ภควา   อันว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ผู้ทรงพระสวัสดิโสภาคย์เป็นอันงาม พระองค์มีพระรูปโฉมพระสรีรกายอันวิจิตรด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะ ( ลักษณะสำหรับพระมหาบุรุษ ๓๒) แลพระอสีตยนุพยัญชนะ ๘๐ ทัศประเสริฐด้วยพระธรรมกาย  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์   วิมุตติขันธ์   วิมุตติญาณทัสสนขันธ์   อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง

   ปารคโต  ถึงซึ่งภาวะมากไปด้วยยศมากไปด้วยบุญ มากไปด้วยกำลังมากไปด้วยฤทธิ์มากไปด้วยบุญ หาผู้จะเปรียบเทียบปูนปานบ่มิได้  อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ   พระพุทธองค์เจ้าหักเสียซึ่งกำแห่งสังสารจักร ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยอาการมิได้วิปริต หาผู้จะถึงสองมิได้ในไตรภพ สมเด็จพระพุทธองค์ผู้แสวงหาศีลหาทิคุณอันประเสริฐเลิศด้วยพระคุณศักดานุภาพ เป็นที่ไหว้สักการะบูชาแห่งสรรพเทพา   มนุษย์   อินทรีย์  พรหม   ยมยักษ์   อสูร   คนธรรมพสุบรรณนาค   แลสรรพสัตว์นิการทั้งหลายทั่วทั้งอนันตโลกธาตุไม่มีผู้จะเท่าเทียมเลย มัจจุราชยังมิได้กลัวได้เกรง ยิงมิได้มีความละอาย ยังครอบงำกระทำให้สูญเข้าสู่พระปรินิพพาน ดุจกองเพลิงอันใหญ่ส่องสว่างทั่วโลก ต้องท่อธารห่าฝนประลัยกัลป์ดับสูญ หาบัญญัติบ่มิได้  นีลชฺชํ วีตสารชฺชํ   มรณธรรมนี้ ปราศจากความละอายปราศจากความกลัว มีแต่ย่ำยีจะครอบงำทั่วทุกสิ่งสรรพสัตว์ แต่องค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้ามรณธรรมยังมิได้ละได้เว้น ก็บุคคลเห็นปานดังตัวอาตมานี้ ดังฤๅมรณธรรมจะละเว้นเล่าก็จะครอบงำเหมือนกัน   เอวํ สมฺมาสมฺพุทฺธโตสรณํ อนุสฺสริตพฺพํ  พึงระลึกถึงมรณะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้


ต่อ  
  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com