พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๕

   จักวินิจฉัยพระอานาปาสติกรรมฐานสืบต่อไป  อิทานิ ยนฺตํ ภควา อยํปิ โข อานาปานสติสมาธิ ฯลฯ เอวํ ปสํสิตฺวา อนฺตํ อานาปานสติกมฺมฏฺานํ กาตพฺพนฺติ   อันว่าพระอานาปานสติกรรมฐานอันใด สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ผู้ทรงสวัสดีภาคย์ตรัสสรรเสริญไว้ว่า อยํปิ โข อานาปานสติสมาธิ   อันว่าพระสมาธิอันกอปรด้วยสติระลึก พิจารณาลมหายใจออกหายใจเข้า พระโยคาพจรให้บังเกิดแลปฏิบัติเนือง ๆ พระอานาปานสติกรรมฐานนี้   ปณีโตจ  เกิดเป็นประณีต  อเสจนโก  เย็นเองหาผู้จะรดมิได้ยิ่งกว่าสรรพกรรมฐานทั้งปวงดุจโอชารสอันอร่อย ให้โยคาพจรเจ้าระลึกมิรู้อิ่มเลย เหตุได้ซึ่งสุขอันประกอบในกายแลเจตสิกในขณะเมื่อเป็นไป แลยังกองกุศลธรรมอันลามกอันมิได้ข่มนั้นให้อันตรธานหาย เบื่อหน่ายจากสังขารธรรมโดยลำดับ จำเริญขึ้นไปจนพระอริยมรรคแล้ว ก็จะระงับอกุศลธรรมได้เป็นแท้

   แลพระอานาปานสตินั้น จะพึงจำเริญด้วยพิธีดังฤๅ จึงตรัสว่าบุคคลระงับบาป เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ได้นามชื่อว่าสมณะ ภิกษุมิได้มีในศาสนาอื่นจากพุทธ เฉพาะมีแต่ในศาสนาแห่งพระตถาคตนี้ จะทรมานน้ำจิตด้วยจำเริญพระอานาปานสติกรรมฐานนั้น ให้จำเริญในที่ ๓ ประการ อันควรจะให้เกิดสมาธิด้วยสติอันระลึก ปัญญาพิจารณาถึงลมหายใจออกหายใจเข้านั้น แลที่ ๓ ประการนั้น คือที่อันพ้นจากเสาเขื่อนข้ามออกไปโดยที่สุด ๕๐๐ ชั่วคันธนูได้ชื่อว่าอรัญญะเป็นที่ป่า ๑ คือต้นร่มไว้ไม่มีร่มรอบคอบ ๑   คือที่ ๗ ประการ   ภูเขา   ซอกเขา   ถ่ำเขา   ป่าช้า   กลางป่าสงัด   ที่แจ้งทุ่งสงัดลอมฟาง   นอกกว่าป่าแลต้นไม้อันพรรณนามานั้น ชื่อว่าสูญญาที่สงัด ๑   ที่ทั้ง ๓   นี้สมควรแก่พระอานาปานสติภาวนา เหตุว่าจิตนี้ทรมานยาก ผิว่าจิตพระโยคาพจรข้องอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็บ่มิได้ปรารถนาที่จะขึ้นสู่อารมณ์ คืออานาปานสติสมาธิ ดุจโคเกียจอันเทียมรถมีแต่จะพารถนั้นออกไปผิดทาง

   เหตุดังนั้นพระโยคาพจรผู้ทรมานจิตด้วยธรรมภาวนา พึงดูเยี่ยงอย่างนายโคบาล ๆ ทรมานลูกโคเกียจ อันกินน้ำนมแม่โคเกียจแล้วแลนำจำเริญขึ้นนั้นพรากลูกโคออกจากแม่แล้ว จึงผูกคอเขาไว้กับเสา ลูกโคนั้นก็ดิ้นไปข้างโน้นข้างนี้ ครั้นหนีไปไม่ได้แล้วก็ทรุดนอนอยู่กับเสา แลมีฉันใด พระโยคาพจรเมื่อทรมานน้ำจิตอันร้ายอันจำเริญคุ้นเคยมาด้วยดื่มกินซึ่งรสอาหาร คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น อปเนตฺวา   พรากเสียจากอารมณ์มีรูปเป็นต้นแล้ว จึงเข้าไปยังป่าแลต้นไม้ที่สงัดแล้ว พึงเอาสติต่างเชือกผูกลูกโคคือจิตเข้าไว้ในเสา คือลมอันหายใจออกหายใจเข้า แลจิตนั้นก็ดิ้นไปข้างโน้นข้างนี้ มิได้ซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันเคยสั่งสมมาแต่ก่อน มิอาจจะตัดเชือกคือสติให้ขาดออกได้แล้ว ก็จะทรุดแน่นอนอยู่ด้วยอุปจาร,

   อัปปนาสมาธิฌานในที่เสนาสนะทั้ง ๓ มีอุปไมยดังนั้น พระอานาปานสติกรรมฐานนี้  มุทฺธภูตํ  เป็นยอดมงกุฏแห่งพระกรรมฐานทั้งปวง เป็นต้นเหตุจะให้สมเด็จพระพุทธเจ้าพระปัจเจกโพธิเจ้า พระสาวกทั้งปวงได้ซึ่งธรรมวิเศษอันอยู่เป็นสุขเห็นประจักษ์ในชาตินี้ อันจะจำเริญอยู่ในคามันตะเสนาสนะใกล้บ้าน อันอึงไปด้วยเสียงหญิงต่าง ๆ เป็นข้าศึกเสี้ยนหนาม พระพุทธองค์จึงตรัสให้จำเริญในที่ทั้ง ๓ เพื่อให้เกิดจตุตถฌานเป็นที่ตั้งแล้ว จะได้พิจารณาจิตเจตสิกในฌานเป็น   อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  และตรัสรู้ซึ่งพระอรหัตตผลฌานอันประเสริฐ   เสนาสนํ อุปติสิตฺวา   สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ตรัสสำแดงเสนาสนะทั้ง ๔ อันควรจะจำเริญอานาปานสติภาวนา ต้องด้วยจริต ๓  ฤดู ๓  ธาตุ ๓ คือ  ฤดูร้อน ๔ เดือนชอบจำเริญในป่า  ฤดูเหมันต์ ๔ เดือนชอบจำเริญในรุกขมูล  ฤดูวสันต์ ๔ เดือนชอบจำเริญในที่ทั้ง ๗ ประการ

   บุคคลเป็นโทสจริต ธาตุเสมหะ ธาตุดีมากชอบเพียนในรุกขมูล  บุคคลเป็นราคจริต ธาตุลม ชอบจำเริญในที่สงัด  บุคคลเป็นโมหจริตธาตุเสมหะ ชอบเพียรในป่า แท้จริงพระโยคาพจรอันเพียรในป่านั้น ดุจดังว่าพญาเสือเหลือง ๆ นั้น อาศัยสุมทุมพุ้มหญ้าแลราวป่าอันชัฏแลเงื่อมเขา ซ่อนอยู่คอยจับมหิงษาสุกรโคกระทิงเป็นอาหาร แลมีฉันใด พระโยคาพจรเข้าไปลี้ลับอยู่ในผ่าเป็นต้น ก็ถือเอาซึ่งพระอริยมรรคพระอริยผลมีอุปไมยดังนั้น เมื่อพระโยคาพจรจำเริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น พึงนั่งบัลลังก์สมาธิดุจกล่าวแล้วในปวีกสิณ พึงตั้งสติไว้ในที่อันลมหายใจออกหายใจเข้าถูกต้อง คนจมูกยาวถูกต้องปลายนาสิก คนจมูกสั้นลมถูกเข้าตั้งสติไว้ที่ปลายนาสิก แลริมฝีปากอันลมถูกต้องโดยที่ ๑๖  ที่อาการ ๓๒  แลพระอานาปานสติกรรมฐานนี้   มีจตุกะ ๔  มีวัตถุ ๑๖   มีอาการ ๓๒   อันว่านี้โดยสรุป จักวินิจฉัยในจตุกะทั้ง ๔ นี้ก่อน  จตุกะนั้นแปลว่าประมาณ ๔ เหตุในพระอานาปานสติกรรมฐานนี้มีประมาณวัตถุทีละ ๔ ๆ ที่ คือ ปฐมจตุกะมี   วัตถุ ๔   ทุติยะจตุกะมีวัตถุ ๔   ตติยจตุกะมีวัตถุ ๔  จตุตถจตุกะมีวัตถุ ๔ ฯ

   จักวินิจฉัยในจตุกะแต่ละอันออกไป ในปฐมจตุกะนั้นมีวัตถุ ๔ คือ พระโยคาพจรรู้ว่าอาตมาหายใจออกหายใจเข้ายาวเป็นวัตถุที่ ๑ คือ รู้ว่าอาตมาระบายลมออกสั้นเข้าสั้นเป็นวัตถุที่ ๒ คือ พระโยคาพจรศึกษาว่าอาตมากระทำอัสสาสะกายให้ปรากฏแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๓ คือ พระโยคาพจรศึกษาว่าอาตมาระงับซึ่งอัลสาสะกายปัสสาสะกายอันหยาบแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๔ ในทุติยจตุกะมีวัตถุ ๔ นั้น คือพระโยคาพจรศึกษาว่า อาตมากระทำซึ่งจิตให้ปรากฏแล้ว จนระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๑ คือ ศึกษาว่าอาตมายังจิตให้ชื่นชมแล้วจะระงับลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๒ คือ ศึกษาว่าอาตมาตั้งจิตไว้ให้เสมอแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุ ๓ คือ ศึกษาว่าอาตมาระงับจิตสังขารแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๔   ในตติยจตุยจตุกะมีวัตถุ ๔ นั้น   คือพระโยคาพจรศึกษาว่าอาตมากำหนดรู้จิตแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๑ คือศึกษาว่าอาตมาทำจิตให้บันเทิงแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๒ คือศึกษาว่าอาตมาตั้งจิตมั่นแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๓ คือ ศึกษาว่าอาตมาเปลื้องจิตให้พ้นจากนิวรณธรรม จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๔   ในจตุตถจตุกะมีวัตถุ ๔ นั้น

   คือพระโยคาพจรศึกษาว่า อาตมาเห็นพระอนิจจังแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๑ คือศึกษาว่าอาตมาเห็นพระนิพพานอันเป็นที่ปราศจากราคะแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๒ คือศึกษาว่าอาตมาพิจารณาเห็นพระนิพพานอันดับกิเลสแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๓ คือศึกษาว่าอาตมาพิจารณาเห็นพระนิพพานอันเป็นที่ละกิเลสแล้ว จะระบายลมออกลมเข้าจัดเป็นวัตถุที่ ๔   จตุกะละอัน ๆ นี้มีวัตถุละ ๔   จึงเป็นวัตถุ ๑๖   อาการ ๓๒ นั้นคือ   วัตถุละอัน ๆ มีอาการ ๒   คือลม ออก ๑   ลมเข้า ๑   จตุกะทั้ง ๔ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสเทศนาด้วยสามารถสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือเทศนาปฐมจตุกะด้วยสามารถกายานุปัสสาสติปัฏฐาน ไว้สำหรับบุรุษผู้เป็นต้น กัมมิกะแรกกระทำความเพียร เทศนาจตุกะที่ ๒ ที่ ๓ ด้วยสามารถเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แลจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เทศนาจตุกะที่ ๔ นั้นด้วยสามารถธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จตุกะ ๓ ประการนี้ไว้

   สำหรับพระโยคาพจรผู้ได้ฌานแล้ว มีเนื้อความในพระอรรถกถาวินัยว่า เหตุใดจึงตั้งลมออกก่อน  พสฺเพสมฺปิ คพฺภเสยฺย กานํ   อันประเพณีสัตว์ที่อยู่ในครรภ์มารดานั้น  นิสฺสวาตา   มิได้หายใจเข้าออกเลย ต่อจากครรภ์มารดาแล้วลมภายในออกมาก่อน พัดพาเอาธุลีละเอียดในภายนออกเข้าไปถึงต้นลิ้นแล้วก็ดับ แต่นั้นไปสัตว์ก็หายใจออกเข้าตราบเท่ากำหนดอายุ เหตุดังนั้นจึงตั้งลมออกก่อน ซึ่งว่าลมออกลมเข้ายาวช้าสั้นเร็วนั้นด้วยประเทศร่างกายแห่งสัตว์นั้นสั้นยาว กายสัตว์มีช้างแลงูเป็นต้นยาว ลมหายใจออกเข้านั้นค่อยออกค่อยเข้าเนือยช้า ก็เรียกว่าลมหายใจออกเข้ายาวช้า กายแห่งสนัขแลกระตายเป็นต้นนั้นสั้น ลมหายใจออกเข้านั้นสั้นเร็ว ก็เรียกว่าลมหายใจเข้าออกสั้นเร็ว

   ฝ่ายมนุษย์ทั้งปวงนี้บ่มิได้เหมือนกัน บางคนหายใจออกเข้า ฝ่ายจะยาวด้วยสามารถขณะอันช้าอย่างช้างแลงูเป็นต้น ก็มีบ้างบางคนก็หายใจออกเข้าสั้น ด้วยสามารถขณะอันเร็วอย่างสุนัขและกระต่ายเป็นต้นก็มี เหตุดังนั้น พระโยคาพจรผู้จำเริญพระอานาปานสติกรรมฐาน เมื่ออาตมาหายใจออกเข้ายาว ด้วยสามารถกาลอันช้าแลเร็ว พึงมีสติระลึกปัญญาพิจารณาทุก ๆ อาการ เมื่อพระโยคาพจรมีสติปัญญาระลึกพิจารณาซึ่งลมหายใจออกเข้ายาวก็ดี ระบายออกเข้าสั้นก็ดีโดยอาการฉะนี้   สุขุโม  ลมนั้นก็จะเป็นสุขุมละเอียด เมื่อลมเป็นสุขุมละเอียดแล้ว ก็จะบังเกิดความปรารถนารักใคร่ในการอันเพียรภาวนาต่อไป สุขุมตรํ   ลมนั้นละเอียดเข้ากว่าแต่ก่อน ชื่อว่า อติสุขุม   แต่นั้นก็พึงเพียรพิจารณาลมอติสุขุมจำเริญพระกรรมฐานสืบไป  ปาโมชฺชํ อุปฺปชฺชติ   อันว่าตรุณปีติก็บังเกิดอ่อน ๆ ด้วยภาวนาจิต เมื่อพระโยคาจรจำเริญภาวนาจิตแลได้ปราโมทย์ปีติอ่อน ๆ ดังนี้ แล้วลมก็จะละเอียดยิ่งกว่าเก่าลมอันปรากฏในขณะนั้น ก็ได้ชื่อว่าอนิจจาติสุขุมบังเกิดแก่พระโยคาพจร

   ครั้นเพียรพิจารณาต่อไปด้วยอาการดังนั้น อันว่าอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตก็บังเกิด จิตแห่งพระโยคาพจรก็กลับจากกิจที่จะเอาลมสุขุม  อติสุขุม   แลอนิจจาติสุขุมเป็น ยึดเอาแต่อุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ เมื่อปฏิภาคนิมิตบังเกิดปรากฏแท้แล้ว จิตนั้นก็ได้ชื่อว่า  อุปจารฌาน  ผิว่าพระโยคาพจรนั้น บารมีควรจะได้ปฐมญานก็ยึดเอาปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์แล้วก็บังเกิดอัปปนาฌาน ในลำดับอุปจารฌานนั้นจิตก็เป็นอารมณ์แล้วก็บังเกิดอัปปนาฌาน ในลำดับอุปจารฌานนั้นจิตก็เป็นอุเบกขา เล็งดูอารมณ์ในอัปปนาสมาธิฌาน อันกอปรด้วยปฏิภาคนิมิตเป็นกลางอยู่ มิได้หย่อนได้กล้า เพราะได้ปฐมฌานอยู่

   ลักษณะพระธรรมภาวนานี้ ชื่อว่าพระกายานุปัสสนา ว่าพระสมาธิฌานได้ด้วยจำเริญธรรมคือสติระลึกปัญญาพิจารณากาย คือลมหายใจออกเข้าอันยาวแลสั้นด้วยกาลอันช้าแลเร็วนั้น ใจความในที่จำเริญพระอานาปานสตินี้ ให้พระโยคาพจรกระทำะจิตเป็นอาการ ๓ คือเมื่อได้ลมสุขุมนั้นกระทำจิตให้ยินดีในกามาพจรกุศล ครั้นได้ลมอติสุขุมกระทำจิตให้ยินดีปรีดายิ่งขึ้นในกามาพจรกุศล เมื่อได้ลมอนิจจาติสุขุมแล้ว เมื่ออุคคหนิมิตปฏิภาคนิมิตจะบังเกิดนั้น ให้กระทำเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ เล็งดูอารมณ์ คือปฏิภาคนิมิตในอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินั้น แลอาการจิตทั้ง ๓ นี้ มีในลมออกลมอันปรากฏแก่พระโยคาพจร ๓ มีในลมเข้าอันปรากฏแก่พระโยคาพจรทั้ง ๓ มีในลมอันปรากฏแก่พระโยคาพจรทั้งออกทั้งเข้า ๓ จึงเป็นอาการ ๙ ดังนี้ วินิจฉัยในวัตถุที่ ๑ ที่ ๒ ในปฐมจตุกะยุติแต่เท่านี้

   แลวัตถุที่ ๓ ในปฐมจตุกะ ที่ว่าพระโยคาพจรสำเหนียกลมให้ปรากฏแล้ว จะระบายลมออกเข้านั้น คือให้รู้ต้นลม กลางลม ปลายลม ลมหายใจออกนั้นต้นอยู่นาภี กลางอยู่หทัย ปลายอยู่ปลายนาสิก ลมหายใจเข้านั้นต้นอยู่ปลายนาสิก กลางอยู่หทัย ปลายอยู่นาภี ซึ่งพระพุทธฎีกาตรัสให้กำหนดต้นลม กลางลม ปลายลมดังนี้ สำหรับผู้มีบารมีน้อยมิอาจรู้กำหนดตามพระพุทธฎีกาจึงจะรู้ พระโยคาพจรบางองค์มิพักลำบากด้วยจะรู้ต้นลม กลางลม ปลายลมนั้นเลย แต่พอระลึกกำหนดก็รู้ ต้นลม กลางลม ปลายลมโดยง่าย เพราะเหตุมีบารมีได้บำเพ็ญมาหลายชาติ

   พระโยคาพจรบางพระองค์พิจารณาลมหายใจออกเข้าปรากฏรู้แต่ต้น ลมกลาง ลมปลาย ลมปลายมิได้ปรากฏรู้ ก็อาจพิจารณาได้แต่ต้นลมสิ่งเดียว ลำบากในกลางลม ปลายลมบางพระองค์ปรากฏรู้แต่กลางลม ต้นลมปลายลมมิได้ปรากฏรู้ บางพระองค์ปรากฏรู้เเต่ปลายลม ต้นลม กลางลมมิได้ปรากฏรู้ ก็พิจารณาแต่ปลายลมอย่างเดียว ลำบากในต้นลม กลางลม บางพระองค์ก็รู้สิ้นทั้งต้นลมกลางลมปลายลม มิได้ลำบากในที่หนึ่งเลย ดังนี้แลจึงว่า   สพฺพกายปฏิสํเวที  กระทำอัสสาสะ ปัสสาสะ ให้ปรากฏสิ้นทั้งนั้น พระโยคาพจรผู้เป็นต้นกัมมิกะแรกกระทำเพียร จงมีสติเพียรพิจารณาให้ปรากฏทั้ง ๓ เหมือนพระโยคาพจรเจ้าในที่สุดนี้

   แลวัตถุที่ ๔ ในปฐมจตุกะที่ว่าให้พระโยคาพจรสำเนียกว่า อาตมาระงับอัสสาสะปัสสาสะกายอันหยาบแล้วจะระบายลมออกเข้านั้นคือให้ระงับกายสังขาร คือลมหายใจออกเข้าอันหยาบให้ละเอียดเข้าเป็นสุขุมอติสุขุม ครั้นลมสุขุมอติสุขุมอันตรธานหาย ลมบรมสุขุมอันเป็นที่สุดบังเกิดแล้ว ก็ได้ชื่อว่าระงับกายสังขาร คือลมหายใจออกเข้าเป็นอันดี แลซึ่งว่าลมหยาบนั้นหยาบมาแต่เดิม คือเมื่อแรกยังมิได้ปรารภภาวนา กายแลจิตยังมิได้ระงับลง ครั้นปลงสติปัญญาพิจารณาไปก็ละเอียดเข้า ๆ โดยลำดับ ๆ คือเมื่อพระโยคาพจรได้อุปจารแห่งปฐมฌานลมละเอียดเข้ากว่าเมื่อแรกมนสิการ อีกที ๑ ในปฐมฌานอุปจารก็ยังหยาบละเอียดเข้าในทุติฌาน ลมในทุติฌานแลอุปจารแห่งตติยฌานนั้นก็ยังหยาบละเอียดลง

   ในตติยฌาน ลมในตติยฌานแลอุปจารแห่งจตุตถฌานนั้น ก็ยังได้ชื่อว่าหยาบ ครั้นถึงจตุตถฌานละเอียดยิ่งนัก ถึงซึ่งมิได้เป็นไปเลย จตุตถฌานแท้จริง อย่างนี้ว่าด้วยระงับในสมถกรรมฐานก่อน ระงับโดยพระวิปัสสนากรรมฐานนั้น ลมอัสสาสะหยาบในกาลเมื่อพระโยคาพจร ยังมิได้พิจารณาพระวิปัสสนากรรมฐาน ไปละเอียดลงในกาลเมื่อพิจารณาซึ่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเกิดดับ อนึ่งลมอันเป็นไปในกาลเมื่อพิจารณามหาภูตรูปนั้น ก็ยังได้ชื่อว่าหยาบไปละเอียดลงเมื่อพิจารณารูปอาศัย   ดิน น้ำ ไฟ ลม ๆ ก็ยังหยาบ ไปละเอียดลงเมื่อพิจารณาจิต เจตสิกอันเกิดกับอานาปานสติสมาธิ ๆ ก็ยังหยาบ ไปละเอียดลงเมื่อพิจารณารูปธรรมนามธรรมจิตเจตสิก ๆ ก็ยังหยาบ ไปละเอียดลงเมื่อพิจารณาเหตุปัจจัยอันจะให้เกิดแลดับแห่งนามรูป ๆ ก็ยังหยาบไป ละเอียดลงเมื่อพิจารณานามรูปกอปรด้วยปัจจัยตกแต่ง ๆ ก็ยังหยาบไป ละเอียดลงขณะเมื่อพิจารณาเห็นนามรูปเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๆ ก็ยังหยาบไปละเอียดลงสมัยเมื่อพิจารณานามแลรูป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตากล้าแท้ ลมละเอียดโดยพระวิปัสสนาดังพรรณนามาฉะนี้

   อันนี้แก้ไขในบทโดยลำดับแห่งปฐมจตุกะ คือวัตถุ ๑, ๒, ๓, ๔   ชื่อว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แรกพระโยคาพจรจะปฏิบัติยุติแต่เท่านี้ แลจตุกะทั้ง ๓ อันจะพรรณนาไปในเบื้องหน้านี้ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสนาสติกรรมฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น สมถกรรมฐาน แลวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับพระโยคาพจรผู้ได้ฌานแล้ว แต่ในจตุกะเบื้องต้นอันเป็นสมถกรรมฐานนั้น พระโยคาพจรผู้จำเริญพระอานาปานสติกรรมฐานนั้น พึงกระทำมนสิการด้วยวิธี ๘ ประการ   คณนา  คือกำหนดนับซึ่งลมออกลมเข้าประการ ๑  อนฺพนฺธนา   คือกำหนดลมระหว่างบ่มิได้ประการ ๑   ผุสฺสนา  คือกำหนดให้รู้ซึ่งที่อันลมถูกต้องประการ ๑   ปถนา  คือ มนสิการซึ่งอัปปนาฌานประการ ๑   สลฺลกฺขณา   คือวิปัสสนาประการ ๑   วิวฏฺฏนา  คือพระอริยมรรคประการ ๑   ปาริสุทฺธิ  คือ พระอริยผลประการ ๑   ปฏิปสฺสนา  คือปัจจเวกขณญาณ อันพิจารณาซึ่งมรรคแลผลประการ ๑ เป็น ๘ ประการด้วยกัน

   แลพระโยคาพจรผู้เป็นกัมมิกะแรกจะเล่าเรียนนั้น พึงมนสิการพระกรรมฐานด้วยวิธีอันนับนั้นก่อน เมื่อจะนับซึ่งลมออกลมเข้านั้น อย่าให้นับต่ำลงมากว่า ๔ อย่าให้เกินขึ้นไปกว่า ๑๐ อย่านับให้โจนคั่นกันไป ถ้านับซึ่งลมอัสสาสะปัสสาสะให้ต่ำลงมากว่า ๔ จิตตุปบาทแห่งพระโยคาพจรตั้งอยู่ในที่อันคับแคบแล้ว ก็จะดิ้นรนไปมิได้สงบดุจหมูโคอันบุคคลขังไว้ในคอกอันคับแคบแล้ว ถ้านับให้เกิดขึ้นไปกว่า ๑๐ จิตตุปบาทแห่งพระโยคาพจรอาศัยซึ่งนับแล้วก็จะระเริงไป มิได้กำหนดซึ่งพระกรรมฐาน ถ้านับให้คั่นกันไปว่า ๑, ๓, ๕ ดังนี้ จิตแห่งพระโยคาพจรก็จะกำเริบสงสัยว่า พระกรรมฐานแห่งอาตมานี้ถึงซึ่งอันสำเร็จแล้วหรือยังมิได้สำเร็จประการใด เหตุดังนั้นพระโยคาพจรพึงละเสียซึ่งนับอันเป็นโทษทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว

   พึงนับซึ่งลมออกลมเข้าด้วยกิริยาอันนับช้าชื่อว่าธัญญามาปกคณนา ดังคนนับตวงข้าวเปลือกนั้น แท้จริงอันว่าบุคคลตวงข้าวเปลือกนั้นเอาทะนานตวงขึ้นซึ่งข้าวเปลือกให้เต็ม แล้วนับว่า ๑ จึงเทลง ครั้นแล้วจึงตวงขึ้นใหม่ เห็นหยากเยื่ออันใดอันหนึ่งติดขึ้นมาก็เทข้าวทะนานนั้นเสียบ่มิได้เอา จึงนับว่า ๑ ไป แล้วตวงขึ้นมาใหม่นับว่า ๒ แล้วก็เทตวงขึ้นอีกเล่า ครั้นเห็นหยากเยื่ออันใดอันหนึ่งติดขึ้นมาก็มิได้เอา เทข้าวทะนานนั้นเสียจึงนับว่า ๒ อีกเล่า ตราบเท่าจนถึง ๑๐ แลมีฉันใด พระโยคาพจรกำหนดนับซึ่งลมอัสสาสะปัสสาสะนั้น ถ้าลมหายใจออกหายใจเข้าอันใดปรากฏแจ้ง ก็ให้นึกนับเอาซึ่งลมอันนั้นว่า ๑, ๒ เป็นต้น ไปตราบเท่าจนถึง ๑๐ ๆ ดังคนอันนับตวงข้าวเปลือกแลนับซึ่งข้าวอันเทลงนั้น

   ว่าโดยเนื้อความพิธีวตกุมภาราม ท่านให้นับลมอัสสาสวาตะก่อน ให้นับลมปัสสาสวาตะที่ ๒ คือนับเป็นคู่ ๆ ไปจนถึง ๑๐ คู่ ให้นับว่าลมออก ๑

   ทสกะ ดังนี้แล้วให้นับแต่ปัญจกะขึ้นไปถึงทสกะเล่า อธิบายดังนี้ในฎีกาก็ไม่มี แต่เห็นว่าคล้ายคลึงกับบาลีว่า  เอวเมว อิมินาปิ อสฺสาสปสฺสาเสสุ โย อุปฏฺาติ ตํ คเหตฺวา เอกํ เอกนฺติ อาทึ อตฺวา ยาว ทสทสาติ ปวตฺตมานํ ปวตฺตมานํ อุปสลฺลกฺเขตฺวาว เคณตพฺพํ  เนื้อความว่า ล้ำลมหายใจเข้าหายใจออกทั้งหลาย ถ้าลมหายใจออกหายใจเข้าอันใดปรากฏแจ้ง ให้พระโยคาพจรนับซึ่งลมนั้นว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ แล้วกลับมานับว่า ๑ ไปตราบเท่าถึง ๑๐ เล่า เมื่อพระโยคาพจรกำหนดนับซึ่งลมอันเดินโดนครองนาสิกด้วยประการดังนี้

  ลมอัสสาสะปัสสาสะปรากฏแล้วให้พระโยคาพจรละเสียซึ่งนับช้า อันชื่อว่าธัญญมาปกคณนานั้น พึงนับเร็วเข้า ดังนายโคบาลอันนับโคนั้น นายโคบาลอันฉลาดก็เอากรวดใส่พกแล้ว ถือเอาซึ่งเชือกแลประฏักไปยังคอกโคแต่เช้าขี่ลงในหลังแห่งโคแล้วตนก็ขึ้นนั่งบนปลายเสาประตูคอกนั้น โคตัวออกมาถึงประตูคอก นายโคบาลก็ทิ้งกรวดไปทีละเม็ดเป็นคะเเนน นับไปว่า ๑, ๒, แลหมู่โคอันขังลำบากอยู่ในที่คับแคบสิ้นราตรี ๓ ยาม ก็เบียดเสียดกันมาเป็นหมู่ ๆ แลนายโคบาลนั้นก็นับเร็วเข้าว่า ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ แลมีฉันใด เมื่อพระโยคาพจรนับด้วยอันช้าโดยนัยก่อนนั้น

  อัสสาสะปัสสาสะนั้นปรากฏแล้วก็เดินโดยคลองนาสิกเนือง ๆ เข้า รู้ลมเดินเร็วเนื่องกันไปแล้ว ลำดับนั้นพระโยคาพจรอย่าได้เอาสติตามลมอันเข้าไปภายในแลออกมาภายนอกเลย คอยกำหนดเอาซึ่งลมอันมาถึงทวาร คือมากระทบซึ่งปลายนาสิกแลริมโอษฐ์เบื้องบนนั้น พึงให้นับเร็วเข้าว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕   ว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖   ว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗   ว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘   ว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ ให้เร็วเข้าดังนายโคบาลนันซึ่งโคนั้น พระอานาปานสติกรรมฐานนี้เนื่องไปด้วยสติอันนับ เมื่อนับไปโดยนิคมดังนี้ จิตแห่งพระโยคาพจรนั้นก็ถึงซึ่งเลิศเป็นหนึ่งด้วยกำลังอันนับประดุจเรืออันหยุดอยู่ในกาะแสน้ำอันเชี่ยว ด้วยกำลังถ่ออันบุคคลค้ำไว้นั้น เมื่อพระโยคาพจรนับเร็วเข้าดังนี้

  พระกรรมฐานนั้นปรากฏดุจหนึ่งว่าเป็นไปหาระหว่างมิได้ พระโยคาพจรรู้อัสสาสะปัสสาสะเดินหาระหว่างมิได้แล้ว อย่าได้เอาสติตามกำหนดซึ่งลมอันออกแลเข้านั้นเลย พึงนับให้เร็วเข้าโดยนัยก่อน ถ้าพระโยคาพจรยังจิตให้เข้าไปตามลมอันเข้าไปภายในนั้น แลลมภายในนั้นก็จะครอบงำอันทำซึ่งทรวงอกแห่งพระโยคาพจรนั้น ให้ปรากฏดุจหนึ่งว่าเต็มไปด้วยมันข้น ถ้าแลซึ่งจิตออกมาตามลมอันออกมาภายนอก จิตแห่งพระโยคาพจรก็ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์เป็นอันมากในภายนอก จึงห้ามมิให้เอาสติตามลมเข้าไปเลยตามลมออกมาให้ตั้งสติไว้ในที่อันลมถูกต้อง คือปลายนาสิกาแลโอษฐ์เบื้องบน

  พระกรรมฐานภาวนาจึงจะสำเร็จแก่พระโยคาพจรผู้เจริญนั้น มีคำโจทก์ถามว่า   กีวจิรํ ปเนตํ คเณตพฺพนฺติ  ซึ่งว่าให้นับลมออกลมเข้า จะนับให้นานสิ้นกาลเท่าดังฤๅ วิสัชนาว่าเมื่อนับ ๆ ไปจนลมปรากฏแล้วแลหยุดนับเสีย สติแห่งพระโยคาพจรนั้นตั้งมั่นลงในอารมณ์ คือลมหายใจออกหายใจเข้าตราบใด ก็นับไปสิ้นกาลตราบนั้น เมื่อพระโยคาพจรกระทำมนสิการด้วยคณนาวิธีได้ดังนี้แล้ว พึงกระทำมนสิการด้วยอนุพันธนาสืบไป แลพระโยคาพจร หยุดนับเสียแล้วเอาสติกำหนดลมหายใจออกหายใจเข้าเนือง ๆ หาระหว่างมิได้ดังนี้ชื่อว่าอนุพันธนาซึ่งว่าให้กำหนดลมหายใจออกหายใจเข้าด้วยสติเนือง ๆ หาระหว่างมิได้นั้นจะให้เอาสติกำหนดในที่ต้น ที่ท่ามกลาง ที่ปลายแห่งลมหายใจเข้าออกนั้นจิตแห่งพระโยคาพจรนั้น ก็จะเตร็จแตร่ไปมาในกายในภายนอกมิได้ตั้งอยู่ในทีเดียว จะระส่ำระสายหวั่นไหวไปในกายแลจิตนั้น เหตุดังนั้นพระโยคาพจร อย่าพึงกระทำมนสิการขวนขวายเอาสติตามกำหนดในที่ต้นท่ามกลางเบื้องปลายนั้นเลย พึงกระทำมนสิการด้วยผุสนาปถานานั้นเถิด

  แลมนสิการด้วยผุสนานั้น คือเอาสติกำหนดในที่ลมเป็นปกติ คือปลายนาสิกแลริมโอษฐ์เบื้องบนที่ใดที่หนึ่งนั้น มนสิการด้วยปถนานั้น คือพระกรรมฐานตลอดถึงฌานบังเกิดแล้ว ให้พระโยคาพจรเอาจิตกำหนดในที่ลมถูกต้องนั้น ได้ชื่อว่ามนสิการด้วยปถนาแลวิธีมนสิการด้วยผุสนากับปถนานั้น จะต่างกันหาบ่มิได้เพราะเอาเหตุที่อันลมถูกต้องสิ่งเดียวเป็นมนสิการเหมือนกัน และจะแปลกกันเหมือนมนสิการ ด้วยคณนาแลอนุพันธนานั้นหาบ่มิได้ ความซึ่งว่ามนสิการด้วยคณาแลมนสิการด้วยอนุพันธนาแปลกกันนั้นคือพระโยคาพจรยังมิได้หยุดวิธีนับและนึกนับซึ่งอัสสาสะปัสสาสะในอันลมถูกว่า ๑,๒ เป็นต้นนั้น ได้ชื่อว่ามนสิการด้วยคณนาแลผุสนา เมื่อพระโยคาพจรหยุดนับเสียแล้ว เอาสติกำหนดในอันที่ลมถูก ก็ได้ชื่อว่ากระทำมนสิการด้วยอนุพันธนาแลผุสนา

   เมื่ออัปปนาฌานบังเกิด แลพระโยคาพจรเอาฌานจิตกำหนดไว้ในที่อันลมถูกนั้น ได้ชื่อว่ามนสิการอนุพันธนาผุสนาแลปถนา ซึ่งว่าให้พระโยคาพจรกำหนดซึ่งลมในที่อันถูกต้องมิให้เอาสติตามลมเข้าไปตามลมออกมาในที่ทั้ง ๓ คือปลายนาสิกแลหทัยแลนาภีนั้น มีอุปมาต่อบุรุษเปลี้ยอันไกวชิงช้า แลนายประตูอันพิจารณาซึ่งคนอันอาจารย์กล่าวไว้ในพระอรรถกถาว่า  เสยฺยถาปิ ปคุโฬ โทฬาย กิฬตํ มาตา ปุตฺตานํ โทฬํ ขิปิตฺวา   อันว่าบุรุษเป็นเปลี้ย เมื่อภรรยากับบุตรแห่งตนให้ขึ้นนั่งเล่นบนชิงช้าแล้วก็ไกวไปตัวนั้นก็นั่งอยู่ในที่ใกล้เสาชิงช้านั้นจะได้ขวนขวายในที่จะเล็งแลดูซึ่งที่สุดทั้ง ๒ แลท่ามกลางแห่งกระดานชิงช้านั้นหาบ่มิได้ ก็ได้เห็นซึ่งที่ทั้ง ๓ คือที่สุดทั้ง ๒ แลท่ามกลางแห่งกระดานชิงช้า อันไกวไปแล้วแลกลับมาโดยลำดับ

  อนึ่งโทวาริกะบุรุษอันรักษาประตูนั้น จะได้เป็นภาระธุระที่จะเที่ยวถามซึ่งบุคคลภายในแลภายนอกพระนครว่า ท่านนี้ชื่อใดมาแต่ไหนสิ่งอันใดมีในมือนั้น จะถามดังนี้หาบ่มิได้ นั่งอยู่แทบประตูคอยพิจารณา ซึ่งชนอันมาถึงทวารเข้าก็รู้ว่ามาแต่ทิศทั้ง ๒ ฉันใดก็ดี อันว่าพระโยคาพจรยืนอยู่ในที่ใกล้เสาคือที่อันลมถูกต้องนั้นแล้วก็ไกวไปซึ่งกระดานชิงช้า คืออัสสาสะปัสสาสะเอาสตินั้นนั่งประจำไว้ในนิมิตคือลมอันจะมาถูกต้องนั้น คอยกำหนดซึ่งต้นลมกลางลมปลาย ในที่อันถูกต้องแห่งอัสสาสะปัสสาสะอันไปแลมาโดยลำดับ ไม่พักขวนขวายที่จะตามลมออกมาแลตามเข้าไปเลยก็ได้เห็นซึ่งอัสสาสะปัสสาสะอันมาแลไปมากระทบเข้าในที่ทั้ง ๓ คือปลายนาสิกแลหทัยแลนานาภีโดยปกติ ประดุจคนไกวชิงช้าอันเห็นซึ่งต้นแลปลายแลท่ามกลางแห่งกระดาน แลนายประตูอันเห็นซึ่งคนอันมาถึงแทบทวารแห่งพระนครนั้น

  แลพระโยคาพจรบางจำพวกจำเดิมแต่มนสิการซึ่งพระกรรมฐานด้วยสามารถอันนึกนับนั้นลมอัสสาสะก็ดับไปโดยลำดับ กระวนกระวายก็ระงับลง เมื่อกระบนกระวายระงับลงแล้วจิตก็เบาขึ้น ครั้นจิตเบาขึ้นแล้วกายก็เบาขึ้นด้วย ปรากฏประดุจหนึ่งถือซึ่งอาการจะลอยไปในอากาศเมื่อโอฬาริกอัสสาสะลมหายใจหยาบดับลงแล้วจิตแห่งพระโยคาพจรนั้นก็มีแต่นิมิต คืออัสสาสะปัสสาสะอันสุขุมนั้นก็ดับลงบังเกิดเป็นอติสุขุมเข้ายิ่งกว่าลมอันสุขุมในก่อนนั้น ประดุจบุรุษตีเข้าซึ่งกังสดาลด้วยสากเหล็ก แลเสียงแห่งกังสดาลนั้นดังอย่างอยู่ในก่อนแล้วแลมีเสียงอันละเอียดเข้า ๆ ในภายหลังเป็นอารมณ์โดยลำดับนั้น

  แลพระโยคาพจรจำเริญซึ่งพระกรรมฐานอันนั้น ครั้นมนสิการไปในเบื้องบน ๆ ก็ยิ่งปรากฏแจ้งออก แลพระอานาปานสติกรรมฐานนี้ จงได้เป็นดังนี้หาบ่มิได้ยิ่งจำเริญขึ้นไป ๆ ก็ยิ่งละเอียดเข้าถึงซึ่งมิได้ปรากฏแก่พระโยคาพจรผู้จำเริญนั้นแลลมนั้นดุจหนึ่งว่าหายไป ๆ โดยลำดับ ๆ ในเมื่อพระกรรมฐานบ่มิได้ปรากฏดังนั้นแล้ว พระโยคาพจรอย่าพึงลุกจากอาสน์ไป ด้วยดำริว่าจะไปถามอาจารย์ดูก็ดี แลคิดว่าพระกรรมฐานของอาตมาฉิบหายแล้วก็ดี ถ้าลุกจากอาสน์ไปอิริยาบถอันนั่งนั้นกำเริบแล้ว พระกรรมฐานก็จะเป็นอันใหม่ ๆ ไปเหตุดังนั้นให้พระโยคาพจรนั่งอยู่ในที่นั้นแล้ว พึงนำพระกรรมฐานให้คืนมาแต่ประเทศอันลมเคยถูกต้องเป็นปกตินั้น อุบายซึ่งจะนำให้ลมคืนมาดังนี้

  เมื่อพระโยคาพจรรู้ว่าพระกรรมฐานบ่มิได้ปรากฏแล้วพึงพิจารณาค้นคว้าดูว่าลมอัสสาสะปัสสาสะนี้ มีในที่ดังฤๅ หามิได้ในที่ดังฤๅ มีแก่บุคคลจำพวกไร มิได้แก่คนจำพวกไร เมื่อพิจารณาหาดังนี้ก็รู้ว่าลมหายใจออกเข้ามิได้มีแก่บุคคล ๗ จำพวก คือคนอันอยู่ในครรภ์มารดา ๑ คนอันดำลงไปในน้ำ ๓ แลพรหมอันอยู่ในอัสญญีภพ ๑ คนตาย ๑ เข้านิโรธ ๑ เป็น ๗ ด้วยกัน เมื่อรู้ดังนี้แล้ว พึงตักเตือนตนเองว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ตัวท่านจะได้เป็นคนอยู่ในครรภ์มารดา แลเป็นคนอันดำนั้นอยู่ก็หาบ่มิได้

  อนึ่งจะเป็นอสัญญีสัตว์ เป็นคนตายเป็นคนเข้าจตุตถฌาน แลเป็นรูปพรหม อรูปพรหม แลพระอริยเจ้าอันเข้านิโรธสมาบัติก็หาบ่มิได้ แลลมอัสสาสะปัสสาสะนั้นก็มีอยู่จะสูญไปไหน แต่ทว่าปัญญาท่านน้อยก็บ่มิอาจจะกำหนดได้ เมื่อตักเตือนตนดังนี้แล้วจึงตั้งซึ่งจิตไว้ด้วยสามารถอันมากระทบเป็นปกติแล้ว พึงมนสิการซึ่งลมนั้นแท้จริง ลมอัสสาสัปัสสาสะนั้นถ้าคนมีนาสิกยาวย่อมกระทบกระพุ้งจมูกคน นาสิกนั้นลมกระกระทบปลายโอษฐ์เบื้องบน เหตุดังนั้นให้พระโยคาพจรเอาสติกำหนดซึ่งลม ว่าจะมากระทบซึ่งที่อันนี้ ประดุจบุรุษไถนาอันคอยโค แลบุรุษไถนานั้น ครั้นไถไปเต็มกำลังโคแล้ว ก็ปลดซึ่งโคออกจากแอกปล่อยไปสู่ที่อาหาร ตนนั้นก็เข้าอยู่ในร่มไม้รำงับกระวนกระวาย ฝ่ายโคนั้นก็เข้าไปยังป่าชัฏด้วยกำลังอันเร็ว แลบุรุษไถนาผู้ฉลาดปรารถนาจะจับซึ่งโคเทียมแอกอีก จะได้ตามรอยเท้าโคไปในป่าชัฏหาบ่มิได้ ถือเอาซึ่งเชือกและประฏักแล้ว ก็ตรงไปสู่ท่าที่โคเคยลงนั่งคอยนอนคอยในที่นั้น

  ฝ่ายโคเที่ยวไปสิ้นวันยังค่ำแล้วก็ลงไปสู่ท่า อาบน้ำแล้วกลับขึ้นมาเจ้าของนั้นเห็นจึงจับเอาโคนั้นขึ้นมา ผูกด้วยเชือกแทงด้วยประฏักแล้วก็พามาเทียมแอกเข้าไถไปใหม่เล่าแลมีฉันใด พระโยคาพจรผู้จำเริญพระอานาปานสติกรรมฐานนี้ เมื่อลมอัสสาสะปัสสาสะสูญไปแล้ว อย่าพึงไปแสวงหาในที่อื่นถือเอาซึ่งเชือกคือสติ ประฏักคือปัญญาตั้งไว้ซึ่งจิตคอยประจำอยู่ในที่อันลมถูกต้องโดยปกติ อุตสาหะมนสิการกำหนดไปไม่ช้าลมนั้นก็จะปรากฏดุจโคอันลมมาสู่ท่า ลำดับนั้นพระโยคาพจรก็จับซึ่งอัสสาสะได้ผูกให้มั่นด้วยเชือกคือสติ เอามาประกอบเข้าในที่ลมอันเคยถูกต้องนั้นแล้ว ก็แทงด้วยประฏักคือปัญญาแล้ว ก็พึงประกอบซึ่งกรรมฐานจงเนือง ๆ

  เมื่อพระโยคาพจรประกอบเนือง ๆ ดังนี้บ่มิช้าอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต ก็ปรากฏแก่พระโยคาพจรนั้นแลอุคคหนิมิตปฏิภาคนิมิตจะเหมือนกันทุกพระโยคาพจรหาบ่มิได้ บางอาจารย์กล่าวว่าพระโยาคาพจรบางพระองค์อุคคหนิมิตเมื่อบังเกิดขึ้นนั้น มีสัมผัสอันเป็นสุขปรากฏดุจหนึ่งว่าเป็นปุยนุ่นบ้างปุยสำลีบ้าง แลนิมิตทั้ง ๓ นี้เล็งเอาอุคคหนิมิตสิ่งเดียว แลคำพิพากษาในอรรถกถานั้นว่าอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนี้ปรากฏแก่พระโยคาพจรบางพระองค์เป็นช่วงดังรัศมีดาว แลพวงแก้วมณี พวงแก้วมณีมุกดาแลพระโยคาพจรบางพระองค์ อุคคหนิมิตปฏิภาคนิมิตมีสัมผัสอันหยาบปรากฏดังเมล็ดในฝ้ายบ้าง ดังเสี้ยนสะเก็ดไม้แก่นบ้าง บางพระองค์ปรากฏดังด้ายสายสังวาลอันยาวแลเปลวควันเพลิงบ้าง บางพระองค์ปรากฏดุจหนึ่งใยแมลงมุมอันขึงอยู่แลแผ่นเมฆแลดอกบัวหลวงแลจักรรถ บางทีปรากฏดังดวงพระจันทร์พระอาทิตย์ก็มี แลกรรมอันเดียวนั้นก็บังเกิดต่าง ๆ กันด้วยสัญญาแห่งพระโยคาพจรมีต่าง ๆ กัน

   อนึ่งธรรม ๓ ประการ   คือลมออก ๑   ลมเข้า ๑   นิมิต ๑   จะได้เป็นอารมณ์แห่งจิตอันเดียวกันหามิได้ ลมออกก็เป็นอารมณ์แห่งจิตอัน ๑ ลมเข้าก็เป็นอารมณืแห่งจิตอัน ๑ ต่างกันดังนี้ ก็แลพระโยคาพจรพระองค์ใดบ่มิได้รู้ซึ่งธรรมทั้ง ๓ คือลมออกมิได้ปรากฏแจ้ง ลมเข้าก็มิได้ปรากฏแจ้ง นิมิตก็มิได้ปรากฏแจ้ง มิได้รู้ซึ่งธรรมทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว พระกรรมฐานแห่งพระโยคาพจรพระองค์นั้นก็มิได้สำเร็จซึ่งอุปจารแลอัปปนา ต่อเมื่อใดธรรมทั้ง ๓ นี้ ปรากฏแจ้งพระกรรมฐานแห่งพระโยคาพจรนั้นจึงจะสำเร็จถึงซึ่งอุปจารฌานแลอัปปนาฌานในกาลนั้น

    เมื่อนิมิตบังเกิดดังนี้แล้ว ให้พระโยคาพจรไปยังสำนักอาจารย์พึงถามดูว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาการดังนี้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าพระมหาเถรสันทัดในคัมภีร์ทีฆนิกายนั้น ถ้าศิษย์มาถามดังนั้น อาจารย์อย่าพึงบอกว่านั่นแลคืออุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต และจะว่าใช่นิมิตก็อย่าพึงว่า พึงบอกว่าดูกรอาวุโส ดังนั้นแลท่านจงมนสิการไปให้เนือง ๆ เถิด ครั้นอาจารย์บอกว่าเป็นอุคคปฏิภาคแล้ว สตินั้นก็จะคลายความเพียรเสียมิได้จำเริญพระกรรมฐานสืบไป ถ้าบอกว่าดังนั้นมิใช่นิมิต จิตพระโยคาพจรก็จะถึงซึ่งนิราศสิ้นรักใคร่ยินดีในพระกรรมฐาน เหตุดังนั้นอย่าได้บอกทั้ง ๒ ประการ พึงเตือนแต่อุตสาหะมนสิการไปอย่าได้ละวาง

  ฝ่ายพระมหาเถระผู้กล่าวคัมภีร์มัชฌิมนิกายว่า ให้อาจารย์พึงบอกดูกรอาวุโส สิ่งนี้คืออุคคหนิมิตสิ่งนี้คือปฏิภาคนิมิตบังเกิดแล้ว ท่านผู้เป็นสัตบุรุษจงอุตสาหะมนสิการพระกรรมฐานไปจงเนือง ๆ เถิด และพระโยคาพจรเป็นศิษย์พึงตั้งซึ่งภาวนาจิตไว้ในปฏิภาคนิมิตนั้น จำเดิมแต่ปฏิภาคนิมิตบังเกิดแล้วอันว่านิวรณธรรมทั้ง ๕ มีกามฉันทะเป็นต้นก็สงบลง บรรดากิเลสธรรมทั้งหลายมีโลภะ โทสะ เป็นต้นก็รำงับไป จิตแห่งพระโยคาพจรก็จะตั้งมั่นลงด้วยอุปจารสมาธิ แลพระโยคาพจรนั้น อย่าพึงมนสิการซึ่งนิมิต โดยวรรณมีสีดังปุยนุ่นเป็นต้น อย่าพึงพิจารณาโดยสีอันหยาบ แลลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น พึงเว้นเสียซึ่งสิ่งอันมิได้เป็นที่สบาย ๗ ประการ มีอาวาสมิได้เป็นสบายเป็นต้น พึงเสพซึ่งสบาย ๗ ประการ มีอาวาสสบายเป็นต้น แล้วพึงรักษานิมิตนั้นไว้ ให้สถาพรเป็นอันดี ประดุจนางขัตติยราชมเหสีอันรักษาไว้ซึ่งครรภ์ อันประสูติออกมาได้เป็นบรมจักรพรรดิราชนั้น

  เมื่อรักษาไว้ได้ดังนี้แล้ว พระกรรมฐานก็จำเริญแพร่หลายแลพระโยคาพจรพึงตกแต่งซึ่งอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ ประกอบความเพียรให้เสมอพยายามสืบไป อันว่าจตุกฌานปัญญจกฌานก็จะบังเกิดในมิตนั้น โดยลำดับดังกล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณ เมื่อจตุกฌานปัญจกฌานบังเกิดแล้ว ถ้าพระโยคาพจรมีความปรารถนาจะจำเริญซึ่งพระกรรมฐานด้วยสามารถสัลลักขณาวิธีแลวัฏฏนาวิธี จะให้ถึงซึ่งอริยผลนั้น ให้กระทำฌานอันตนได้นั้นให้ชำนาญคงแก่วสี ๕ ประการแล้ว จึงกำหนดซึ่งนามรูป คือจิตแลเจตสิกกับรูป ๒๘ ปลงลงสู่วิปัสสนาปัญญาพิจารณาด้วยสามารถสัมมัสสนญาณเป็นต้นก็สำเร็จแก่พระอริยมรรคอริยผล มีพระโสดาบันเป็นต้น เป็นลำดับตราบเท่าพระอรหัตตผลเป็นปริโยสาน ด้วยอำนาจจำเริญซึ่งพระอานาปาสติกรรมฐานนี้ เหตุดังนั้นพระโยคาพจรกุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตชาติอย่าพึงประมาท จงหมั่นประกอบเนือง ๆ ซึ่งพระอานาปาสติสมาธิอันกอปรด้วยอานิสงส์เป็นอันมากดังกล่าวมานี้ ฯ

วินิจฉัยในพระอานาปาสติกรรมฐานยุติเท่านี้

   จักวินิจฉัยในอุปสมานุสสติกรรมฐานสืบต่อไป พระโยคาพจรมีความปรารถนาจะจำเริญซึ่งพระอุปมานุสสติกรรมฐานนั้น ให้เข้าไปสู่เสนาสนะอันเป็นที่สงัดกายแลจิตแล้ว พึงระพึงซึ่งคุณพระนิพพานอันระงับซึ่งวัฏฏทุกข์ทั้งปวงด้วยพระบาลีว่า  มทนิมฺมทโน   ก็ได้   ปิปาสวินโย  ก็ได้   อาลยสมุคฺฆาโต  ก็ได้   วฏฺฏปริจฺเฉโท  ก็ได้   ตณฺหกฺขโย  ก็ได้   วิราโค  ก็ได้   นิโรโธ  ก็ได้   นิพฺพานํ  ก็ได้ และพระบาลีทั้ง ๙ อย่างนี้เป็นชื่อแห่งพระนิพพานสิ้น

     มทนิมฺมทโน  นั้นแปลว่าพระนิพพานธรรมย่ำยีเสียซึ่งมัวเมา มีความเมาด้วยความเป็นคนหนุ่มแลความไม่มีโรค แลชีวิตเป็นต้นให้ฉิบหาย   ปิปาสวินโย  นั้นแปลว่าพระนิพพานธรรมบรรเทาเสียซึ่งกระหายน้ำคือเบญจกามคุณ  อาลยสมุคฺฆาโต   นั้นแปลพระนิพพานธรรมถอนเสียซึ่งอาลัย คือเบญจกามคุณ  วฏฺฏูปริจฺเฉโท   นั้นแปลว่าว่าตัดเสียซึ่งเวียนไปในภพทั้ง ๓ ให้ขาด   ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ  แปลว่าพระนิพพานธรรมถึงซึ่งสิ้นแห่งตัณหา หน่ายจากตัณหา ดับเสียซึ่งตัณหา   นิพฺพานํ  นั้นแปลว่า พระนิพพานธรรมออกจากตัณหา และพระโยคาพจรระลึกบทหนึ่งเอาเป็นบริกรรม ภาวนาก็ได้ แต่ทว่าสำเหนียกนามว่า นิพฺพานํนั้นปรากฏว่าชื่อทั้งปวง ให้พระโยคาพจรระลึกว่านิพฺพานํ ๆ เนือง ๆ ขณะเมื่อพระโยคาพจรจะระลึกซึ่งพระนิพพานคุณอันรำงับซึ่งวัฏฏทุกข์ทั้งปวงนี้ อันว่า ราคะ โทสะ และโมหะ ก็จะมิได้ครอบงำซึ่งจิตแห่งพระโยคาพจรนั้น

   ขณะเมื่อระลึกซึ่งคุณนิพพานธรรมนั้น จิตแห่งพระโยคาพจรก็จะถึงซึ่งอันซื่อตรง ข่มลงซึ่งนิวรณธรรมนั้น ๕ องค์ อุปจรฌานก็จะบังเกิดแต่ทว่ามิได้ถึงซึ่งองค์อัปปนาฌานเหตุแห่งพระนิพพานนั้น คัมภีร์ภาพจิตแห่งพระโยคาพจรหยั่งลงในอันระลึกพระคุณนั้นมีประการต่าง ๆ จึงมิได้ถึงซึ่งองค์อัปปนา แลฌานอันพระโยคาพจรจำเริญซึ่งอุปสมคุณแลได้นั้น ชื่อว่าอุปสมานุสสติฌาน อันว่าบุคคลอันเห็นภัยในวัฏฏสงสาร ชื่อว่าภิกษุเมื่อหมั่นประกอบเนือง ๆ ซึ่งอุปสมานุสสตินี้ จะมีอันทรีย์แลจิตอันระงับถึงจะหลับแลตื่นก็เป็นสุข และจะประกอบด้วยหิริโอตตัปปะนำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบคอบ จิตนั้นจะหยั่งลงในพระนิพพานคุณ แลจะเป็นที่สรรเสริญแลเคารพรักใคร่แห่งเพื่อนพรหมจารี ถ้าแลมิได้ตรัสรู้ซึ่งมรรคผลในชาตินี้ ก็จะมีสุคติเป็นเบื้องหน้า เหตุดังนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญาอย่าได้ประมาท หมั่นจำเริญซึ่งอุปสมานุสสติอันกอปรด้วยคุณอานิสงส์อันเป็นมาดุจกล่าวมานี้ วินิจฉัยในอุปสมานุสสติกรรมฐานยุติเเต่เท่านี้

จบอนุสสติ ๑

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com