พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๔

   ปริจฺเฉทโต  ถ้าจะพิจารณาโดยปริจเฉทนั้น กำหนดพื้นภายในแห่งอัฐิและเยื่อนั้นเอง เบื้องหน้าแต่นั้นพึงกำหนดซึ่งม้าม ม้ามนี้มีสีแดงสักหน่อยดังเมล็ดในทองหลาง มีสัณฐานดังล้อลากเล่นแห่งคามทารก บางอาจารย์ว่ามีสัณฐานดังผลมะม่วงสวายก้านทั้งคู่อันบังเกิดในขั้วเดียวกันอยู่ในเบื้องบน ถ้าจะว่าโดยโอกาส ม้ามนั้นเป็นชิ้นเนื้อ ๒ ชิ้นประกบกันมีขั้วอันเดียวกัน เนื่องกันกับเส้นใหญ่อันออกจากคอหอย มีต้นอันเดียวไปหน่อยหนึ่งแล้วแจกออกเป็น ๒ ภาค หุ้มไว้ซึ่งหทัยมังสะ พึงพิจารณาให้เห็นว่า ม้ามกับเส้นใหญ่อยู่ด้วยกันก็จริง จะได้รู้จักกันหามิได้ เปรียบเหมือนมะม่วงสวายก้านทั่ง ๒ เกิดชั้นเดียวกันและมิได้รู้จักกันกับขั้วนั้น ธรรมทั้ง ๒ ย่อมมีสภาวะสูญเปล่า

  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงกำหนดหทัยว่า ดวงหทัยในกายนี้มีสีแดงประดุจดังกลีบอุบลปทุมชาติ มีสัณฐานดังดอกปทุมชาติ อันตูมอันปอกเปลือกเขียวข้างนอกออกเสียเล้วและวางคว่ำลงไว้ ข้างหนึ่งเป็นช่องดุจลูกบุนนาคอันตัดปลายเกลี้ยงภายนอกภายใน ดุจบวบขมมีช่องอยู่พอประมาณดุจลูกบุนนาค ถ้าเป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาดสัณฐานแห่งหทัยนั้นแย้มสักหน่อย ถ้าเป็นคนมีปัญญาน้อยหาปัญญามิได้ ดวงหทัยนั้นตูมดุจดอกบัวอันตูม ภายในหทัยวัตถุนั้นมีประมาณกึ่งซองมือเป็นน้ำเลี้ยงหทัย   เป็นที่อาศัยแห่งมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ   ถ้าบุคคลเป็นราคจริต น้ำเลี้ยงหทัยนั้นแดง   ถ้าเป็นโทสจริต น้ำเลี้ยงหทัยนั้นดำ   ถ้าเป็นโมหจริต น้ำเลี้ยงนั้นแดงจาง ๆ เหมือนน้ำล้างเนื้อ   ถ้าเป็นวิตกจริต น้ำเลี้ยงหทัยนั้นขุ่นมัวมีสีดั่งเยื่อถั่วพู   ถ้าเป็นศรัทธาจริต น้ำเลี้ยงหทัยนั้นผ่องใสดุจสีดอกกรรณิการ์   ถ้าเป็นปัญญาจริต น้ำเลี้ยงหทัยนั้นบริสุทธิ์สะอาดดุจแก้วมณีโชติอันชำระเป็นอันดี หทัยนี้เกิดในทิศเบื้องบน ถ้าจะว่าโดยโอกาสเกิดในท่ามกลางถันยุคลภายในกาย ถ้าจะว่าโดนกำหนด ๆ ด้วยส่วนหทัยนั้นเอง หทัยกับหว่างถันยุคลด้วยกันก็จริงมิได้รู้จักซึ่งกันและกัน เปรียบต่อไม้สลับกับบานประตูและบานหน้าต่างอยู่ด้วยกันก็จริง มิได้รู้จักกัน พึงพิจารณาเป็นปฏิกูล พึงเกลียดเหมือนพรรณนามาแต่หลัง

   เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาด้วยก้อนเนื้อในแห่งกายมีสีอังแดงอ่อนมิสู้แดงนัก หลังกลีบนอกแห่งดอกโกมุท ถ้าเป็นตับ ๆ นั้น ประกอบด้วยขั้วอยู่ภายจะว่าโดยสัณฐานข้างต้นอันเดียว ปลายนั้นเเฉกออกเป็น ๒ แฉก มีสัณฐานดังดอกทองหลาง ถ้าคนนั้นเขลาตับนั้นใหญ่แล้วก็เป็นอันเดียวมีปลายมิได้แฉก ถ้าคนนั้นมีปัญญาตับนั้นน้อยแล้วก็เป็นแฉกเป็น ๒ แฉก   ๓ แฉก   ตับนั้นบังเกิดในทิศเบื้องบน ถ้าจะว่าโดยโอกาสตับนี้อาศัยทักษิณปรัศว์จำระขวาแล้วตั้งอยู่ภายในถันยุคล ถ้าจะว่าโดยปริจเฉทกำหนดโดยส่วนแห่งตับนั้นเอง ตับนั้นข้างจำระขวาอยู่ด้วยกันก็จริงมิได้รู้จักกันซึ่งกันและกันหามิได้ พึงพิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูล พึงเกลียดเหมือนกล่าวแล้วแต่หลัง

  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาให้พังผืด พังผืดมี ๒ ประการ คือ   ปฏิฉันกิโลมกะ   อัปปฏิจฉันนกิโลมกะ   ปฏิฉันนกิโลมกะนั้น มีสีอันขาวดังท่อนผ้าทุกุลพัสตร์อันเก่า มีสัณฐานเท่าที่อยู่แห่งตน ถ้าจะว่าโดนโอภาส ปฏิจฉันนะกิโลมกะนั้นแวดล้อมหทัยและม้าม อัปปฏิจฉันนะกิโลมกะนั้นหุ้มห่อมังสะแล้ว และตั้งอยู่ในภายใต้แห่งหนังในกาย พังผืดกับม้ามมังสะแลหนังเนื้อหทัยอยู่ด้วยกันก็จริงมิได้รู้จักซึ่งกันและกัน เปรียบเหมือนท่อนผ้าเก่าพันมังสะ ถ้อยทีถ้อยมิรู้จักกัน ถ้าจะกำหนดโดยปริจเฉทเบื้องใต้แต่มังสะขึ้นมาเบื้องบนแต่หนังลงไป โดยขวางนั้นกำหนดส่วนแห่งพังผืดนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกัมมัฏฐานเหมือนกล่าวมานั้น

   เบื้องหน้าแต่นั้นพึงกำนดในพุงว่า พุงในกายนี้มีสีเขียวดังดอกคนทิศอันเหี่ยว มีต้นขั้วประมาณ ๗ นิ้ว มีสัณฐานดังลิ้นลูกโคดำ เกิดในทิศเบื้องต้นตั้งแต่นาภีขึ้นไปแอบอยู่เบื้องบนแห่งพื้นท้องตั้งอยู่ข้างเบื้องซ้ายแห่งหทัย ถ้าบุคคลต้องประหารด้วยสาตราวุธ พุงนั้นก็ไหลออกมา แล้วก็เที่ยงที่จะถึงแก่ความตาย ถ้าจะกำหนดโดยปริจเฉทกำหนดด้วยส่วนแห่งพุงนั้นเอง พุงตับข้างเบื้องบนพื้นท้องอยู่ด้วยกันก็จริงหารู้จักกันไม่ เปรียบเหมือนโคมันอันทาข้างเบื้องบนแห่งฉาง ถ้อยทีรู้จักซึ่งกัน พึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกัมมัฏฐาน ดังกล่าวมาแต่หลัง

  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาในปัปผาสะว่า ปอดนี้มีประเภทเป็นชิ้นเนื้อ ๑๒ ชิ้นติดกันอยู่ มีสีแดงดังผลมะเดื่ออันสุก มีสัณฐานดังชิ้นขนมอันตัดเสี้ยว ๆ หนา ๆ บางอาจารย์ว่ามีสัณฐานดังแผ่นกระเบื้องเกล็ดนิ่ม อันมุงหลังคา ถ้าบุคคลอคลอดอาหารมิได้บริโภคสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เพลิงธาตุก็เผาเนื้อปอดนั้นให้ยอบให้เหี่ยวลง กระดุจใบไม้อันบุคคลเคี้ยว เนื้อปอดนั้นหารสโอชาบ่มิได้ ปัปผาสะนั้นเกิดในทิศเบื้องบนตั้งอยู่ด้วยในหว่างถันบุคลห้อยลงปกซึ่งตน และเนื้อหทัยปัปผาสะกับหว่างบุคลอยู่ด้วยกันก็จริง มิได้รู้จักซึ่งกันและกัน เปรียบเหมือนรังนกอันห้อยอยู่ใต้หว่างฉางเก่า รังนกหว่างฉางเก่าก็มิได้รู้จักซึ่งกันแลกัน พึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกัมมัฏฐาน ดังกล่าวมาแล้วแต่หนหลังนั้น

  เบื้องหน้าแต่นั้น พึงพิจารณาไส้ใหญ่ว่า   ปุริสสฺสทฺวตฺตํสหตฺถํ  ไส้ใหญ่ของบุรุษยาว ๓๒ ศอก อิตฺถิยา อฏฺวีสติหตฺถํ   ไส้ใหญ่ของสตรีภาพยาว ๒๘ ศอก ขดเข้าอยู่นั้น ๒๑ ขดสีขาวดังสีปูน อันบุคคลกระทำด้วยศิลาแลง มีสัณฐานดังซากงูอันบุคคลตัดศีรษะแล้วแลขดไว้ในรางโลหิตเกิดในทิศทั้งสอง คือ ทิศเบื้องต่ำทิศเบื้องบน ที่สุดเบื้องบนแห่งไส้ใหญ่นั้นจดลำคอ ที่สุดเบื้องต่ำนั้นจดอโธทวารเบื้องต่ำ ถ้าจะว่าโดยปริเฉทนั้น มีกำหนดด้วยส่วนแห่งไส้ใหญ่นั้นเอง ไส้ใหญ่กับภายในกายอยู่ด้วยกันก็จริง มิรู้จักซึ่งกันและกัน เปรียบเหมือนซากงูอันบุคคลตัดศีรษะ แล้วใส่วางไว้ในรางโลหิต ถ้อยทีถ้อยหารู้จักกันไม่ พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐานดังกล่าวแล้วแต่หลัง

   ตโต ปรํ   เบื้องหน้านั้นพึงพิจารณาไส้น้อยในกายนี้มีสีดังรากนิลุบล สัณฐานก็เหมือนกันกับรากนิลุบล บางอาจารย์ว่า มีสัณฐานคดไปคดมาดังโคมูล เกิดในทิศทั้ง ๒ เมื่อบุคคลกระทำการหนักเป็นต้นว่าขุดดินด้วยจอบ ผ่าไม้ด้วยขวาน ไส้น้อยนั้นก็รึงรัดขนดแห่งไส้ใหญ่เข้าไว้ให้เรียบกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวดุจด้วยยนต์ อันอัดกระดานยนต์เข้าไว้ในขณะเมื่อชักยนต์ ไส้น้อยนั้นตั้งอยู่ในระหว่างไส้ใหญ่ ๒๐ ขด ดุจเชือกน้อยรัดวงเชือกใหญ่อันบุคคลกระทำไว้เช็ดรองเท้า ไส้น้อยนี้กำหนดโดยส่วนแห่งตนเอง ไส้น้อยรัดไส้ใหญ่อยู่ก็จริงหารู้จักกันไม่ เปรียบดุจเชือกน้อยรัดวงเชือกใหญ่ บ่มิได้รู้จักซึ่งกันและกัน ใช่สัตว์ใช่บุคคล ควรจะสังเวชทนา

   เบื้องหน้าแต่นั้น พึงพิจารณาอาหาร ๆ ใหม่นั้นคือ ภัตต์อันบุคคลกลืนกินแลเคี้ยวกินแลลิ้มเลียกิน มีสีดังสีอาหารเมื่อแรกกลืนกิน มีสัณฐานดังข้าวสารอันบุคคลใส่ไว้ในผ้ากรองน้ำมันห่อหย่อน ตั้งอยู่ในทิศเบื้องบนอุทรประเทศ อุทรประเทศนั้นมีสัณฐานดังพองลมอันบังเกิดขึ้นในท่ามกลางแห่งผ้าเปียก อันบุคคลจับ ๒ ชายแล้ว แลบิดเข้า   มหิมฏฺํ  เกลี้ยงอยู่ภายในภายนอกในนั้นขรุขระเหมือนดอกลำโพง แลผ้าปาวารอันติดหยากเยื่อ บางอาจารย์ว่า เหมือนภายในแห่งเปลือกขนุนหนังอันเปื่อยอากูลไปด้วยหมู่หนอน ๓๒ จำพวก มีหนอนอันชื่อว่า ตักโกตกาเป็นต้น แลอาหารมีข้าวน้ำเป็นต้น

   ถ้ามิได้มีในอุทรประเทศแล้วหนอนทั้งหลายก็โลดขึ้นร้อยตามวิสัยหนอน แล้วก็เฝ้ากัดเฝ้าไชซึ่งหทัยมังสะให้แสบไส้แสบพุงมิให้มีความสบาย ครั้นบริโภคอาหารเข้าไป หนอนทั้งหลายนั้นก็แหงนหงายอ้าปากคอยกินอาหารเข้าไปที่แรกกลืนลงไป ๑, ๒, คำนั้นกลุ้มกันเข้าชิงกันบริโภค แลอุทรประเทศอันเป็นที่ตั้งแห่งอาหารนั้นพึงเกลียดยิ่งนัก เปรียบท่อน้ำครำอันอยู่ในบ่อแทบประตูบ้านแห่งคนจัณฑาล บ่อน้ำส่ำสมไปด้วยมูตรและคูถเสลดน้ำลาย หนังเน่าแลเอ็นเน่าอัฐิทิ้งอยู่เป็นท่อน ๆ อาเกียรณ์ด้วยแมลงวันแลหมู่หนอน เมื่อหน้าฤดูร้อนมีฝนเม็ดใหญ่ตกลงสัก ๑ ห่า แต่พอน้ำเต็มหลุมแลเเล้งไป น้ำในหลุมนั้น ครั้นร้อนด้วยแสงอาทิตย์ก็ปุดขึ้นเป็นฟองฟูด มีสีเขียวกลิ้นเหม็น เป็นที่พึงเกลียดมิควรที่บุคคลจะเข้าใกล้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงลิ้มเลียสูดดมนั้นเล่าแลมีฉันใด อาหารในอุทรประเทศก็พึงเกลียดเหมือนดังนั้น

  แลอาหารอันบุคคลบริโภคนั้นแลออกด้วยครกแลสาก คือฟันเบื้องบนเบื้องต่ำมือคือชิวหากลับกลิ้งกลั้วไปด้วยเขฬะถึงพึงซึ่งเกลียดดังรากในรางสุนัข ถ้ามิดังนั้นดุจแป้งข้าวของช่องหูกอันอยู่ในรากฆ่าด้วย ครั้นตกลงในอุทรประเทศแล้วเกลือกกลั้วไปด้วยน้ำดีแลลมเสมหะ เดือดขึ้นด้วยกำลังเตโชธาตุปุดขึ้นเป็นต่อมเป็นฟองเบื้องบน บริบูรณ์ด้วยหมู่หนอนถึงซึ่งสภาวะพึงเกลียดพึงชังแต่ได้ฟังแล้วก็พึงเกลียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงการพิจารณาเห็นแจ้งด้วยปัญญาจักษุนั้นเล่า แลอาหารซึ่งบริโภคเข้าไปนั้นแบ่งออกเป็น ๕ ส่วนหนอนในกายกินเสียส่วน ๑  เพลิงธาตุไหม้ไปเสียส่วน ๑   เป็นมูตรเสีย ๑  เป็นอาหารเก่าส่วน ๑  เป็นรสซึมซาบไปให้เจริญโลหิตแลมังสะเป็นต้นส่วน ๑   แล้วก็ไหลออกมาโดยทางทวารทั้ง ๙  เป็นมูลจักษุ  โสตะ   ฆานะ  เป็นต้น เป็นที่พึงเกลียดยิ่งนัก

  พระโยคาพจรพึงพิจารณาให้เห็นว่า อาหารกับอุทรประเทศอยู่ด้วยกันก็จริงมิได้รู้จักซึ่งกันและกัน เปรียบเหมือนรากสนุขอันอยู่ในรางสุนัขถ้อยทีถ้อย มิได้รู้จักซึ่งกันและกัน พึงกำหนดเป็นปฏิกูลพึงเกลียดมาแล้วแต่หลัง เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาในกรีสว่า อาหารเก่านั้นมิใช่อื่นไกล คือ อาหารที่เพลิงธาตุเผาให้ย่อยมีสีเหมือนด้วยอาหารอันบุคคลกลืนกินโดยมาก มีสัณฐานเหมือนที่อยู่ของตน เกิดในทิศเบื้องต่ำ ถ้าจะว่าโดยโอกาสตั้งอยู่ในกระเพราะอาหารเก่านั้น ประดิษฐานอยู่ในที่สุดแห่งไส้ใหญ่ในระหว่างแห่งนาภีก็เบื้องล่าง แลกระดูกหนามหลังข้างต้นต่อกัน แลวัตถุทั้งปวงมีข้าวน้ำเป็นต้นที่บริโภคเข้าไปนั้น เมื่อตกลงไปในกระเพราะอาหารใหม่ เพลิงธาตุเผาก็ย่อยเเหลกละเอียดออก ประดุจบดด้วยแผ่นศิลาบด ไหลลงไปตามช่องแห่งไส้ใหญ่คุมเข้าเป็นก้อนแล้ว แลประดิษฐานอยู่ในกระเพราะอาหารเก่านั้น เปรียบประดุจดินเหลืองอันบุคคลไส่ไว้ในปล้องไม้สูง ๘ นิ้ว

  ปริจฺเฉทโต   ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด กำหนดด้วยพื้นแห่งกระเพราะอาหารเก่าและส่วนแห่งอาหารนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐาน เหมือนกล่าวแล้วในเกศา อันดับนั้นพึงพิจารณาในสมองศีรษะว่า สมองศีรษะซึ่งตั้งอยู่ในกบาลศีรษะนั้นมีสีขาวดุจดอกเห็นอันขาด จะมีสีดังนมข้นก็ไม่เป็น ถ้าจะเปรียบด้วยสีแห่งนมสดอันชั่วนั้นเห็นควรกัน มีสัณฐานเหมือนที่อยู่แห่งตนเกิดในทิศเบื้องบน ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาสสมองศีรษะนั้นเป็น ๔ แฉก   อาศัยอยู่ในแถวแฉกทั้ง ๔  ภายในศีรษะประดุจก้อนแป้ง ๔  ก้อนบุคคลวางประชุมกันไว้ ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด สมองศีรษะนั้นกำหนดด้วยพื้นภายในแห่งกบาลศีรษะแลส่วนแห่งสมองนั้นเอง พึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐานดังกล่าวมาแล้วแต่หลัง

  อันดับนั้นพึงพิจารณาในปิตตังว่า  เทวฺ ปตฺติตา ปนิพทฺธปิตฺตญฺจ อปนิพทฺธปิตฺตญฺจ   ดีมี ๒ ประการ   ดีฝักประการ ๑   ดีหาฝักมิได้ประการ ๑  ดีมีฝักนั้นมีสีดังน้ำผลมะขามอันขม ดีหาฝักมิได้นั้นมีสีดังดอกพิกุลเหี่ยว มีสัณฐานเหมือนที่อยู่แห่งตน ดีมีฝักนั้นเกิดแต่ทิศเบื้องบน ดีหาฝักมิได้นั้นในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส ดีอันหาฝักมิได้นั้นซาบอยู่ทั่วสรรพางค์กาย แลดีมีฝักนั้นตั้งอยู่ในฝักดี มีสัณฐานดังฝักบวบขมอันใหญ่ ฝักดีนั้นแอบอยู่กับเนื้อตับ ตั้งอยู่ในระหว่างแห่งปอด ดีฝักนั้นถ้ากำเริบแล้วสัตว์ทั้งปวงก็เป็นบ้า มีสำคัญสัญญาวิปลาสปราศจากหิริโอตัปปะ ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด ๆ ด้วยส่วนแห่งดีนั้นเอง พระโยคาพจรพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐานดุจกล่าวแล้วในเกศานั้น

  อันดับนั้นพึงพิจารณาในเสมหะ ว่าเสมหะในกายแห่งบุคคลนี้ มีประมาณเต็มบาตรในแตงหนู มีสัณฐานเหมือนที่อยู่แห่งตน เกิดในทิศเบื้องบน คือตั้งแต่นาภีขึ้นมา ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส เสมหะนั้นอยู่ในพื้นห้อง เมื่อบุคคลบริโภคอาหารเข้าไปลำคอ อาหารนั้นตกลงไปถูกเสมหะ ๆ นั้นก็ขาดเป็นช่องเป็นหว่างแยกออกไปเป็น ๒ ภาคให้ช่องแก่อาหารแล้วเสมหะนั้นก็กลับกลัดเกลื่อนเข้าหากันดังเก่า เสมหะนี้ปกปิดไว้ซึ่งอสุจิในอุทรประเทศ มิได้อสุจิสิ่งกลิ่นขึ้นมาได้ ถ้าเสมหะน้อยแล้ว กลิ่นอันเหม็นก็จะฟุ้งขึ้นมาโดยมุขทวาร ด้วยกำลังลมอุทรธังคมาวาต ถ้าพิจารณาโดยกำหนดด้วยส่วนแห่งเสมหะนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐานดังเกศานั้นเอง

  อันดับนั้นพึงพิจารณาในบุพโพว่า หนองนี้มีสีอันเหลือง อันว่าด้วยหนองในกายแห่งบุคคลอันมีชีวิต ถ้าจะว่าด้วยหนองในซากเฬวระนั้น มีสีดังน้ำข้าวอันข้นอันบูด มีสัณฐานดังที่อยู่แห่งตน เกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส คือที่อยู่แห่งปุพโพนี้ จะได้มีที่อยู่ที่ขังเป็นนิตย์นั้นหาบ่มิได้ ต่อเมื่อใดถูกต้องขวาก ถูกหนาม ถูกเครื่องสาตราวุธ ถูกเปลวเพลิงเป็นต้น โลหิตข้อเท้าอยู่ในฐานที่ใด ปุพโพก็บังเกิดขึ้นในฐานที่นั้น ถ้าพิจารณาโดยปริเฉทกำหนดด้วยส่วนแห่งตน แต่นั้นให้พระโยคาพจรพิจารณาในโลหิตว่า   เทวํ โลหิตานิ โลหิตมี ๒ ประการ คือ สันนิจิตโลหิต ๑  สังสรณโลหิต ๑   สันนิจิตโลหิตนั้นคือเลือดข้น มีสีสุกดังน้ำครั่งข้น ๆ สังสรณโลหิตนั้นคือเลือดเหลวมีสีดังน้ำครั่งอันจาง มีสัณฐานเหมือนที่อยู่แห่งตน สัณนิจิตโลหิตนั้นเกิดในทิศเบื้องบน สังสรณโลหิตนั้นซาบอยู่ในอังคาพยพทั้งปวง ซาบไปตามกระแสเส้น เว้นไว้หนังอันกระด้างแลแล้ง ผมแลขนเล็บแลฟันดุจน้ำอันซาบอยู่ในกาย ถ้ากระทบกระทั่งถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนื้อหนังเปิดออกไปในที่ใดแล้ว ก็ให้หยดย้อยในฐานที่นั้น

  แลสันนิจิตโลหิตนั้น มีประมาณเต็มบาตรใบหนึ่งท่วมเนื้อตับในส่วนเบื้องต่ำลบไปเบื้องบนหทัยวัตถุปอดแลม้าม ไหลซึบซาบไปทีละน้อย ๆ ชุ่มไปในม้ามหทัยวัตถุปอดแลตับ ถ้าสันนิโลหิตนี้ไปชุ่มแลซาบม้ามแลดวงหทัยเป็นต้นแล้วสัตว์ทั้งปวงก็อยากน้ำกระหายน้ำ ลำบากเวทนามีกำลังแปลกประหลาดกว่าปกติโลหิตทั้ง ๒ นี้จะกำหนดโดยปริเฉทนั้น กำหนดด้วยด้วยส่วนแห่งโลหิตนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐาน ดังนัยหนหลังอันดับนั้น พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐาน ดังนัยหนหลัง

  อันดับนั้น พระโยคาจรพึงพิจรณาเสทกรรมฐาน ว่าเหงื่อนั้นคืออาโปธาตุอันไหลออกตามขุขนเป็นต้นถ้าจะพิจรณาโดยมี สีดังน้ำมันงาอันใสมีสัณฐานเหมือนที่อยู่แห่งตน เกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยที่โดยอยู่เหงื่ออันจะได้มีที่อยู่นิตย์เหมือนอย่างโลหิตหามิได้ ต่อเมื่อใดสรีกายร้อนด้วยเพลิงแลแดด แลธาตุอันใดอันหนึ่งบังเกิดวิการกำเริบแล้ว เหงื่อก็ไหลออกมาจากช่องแห่งขุมเกศาแลโลมาทั้งปวง พระโยคาพจรผู้พิจารณาเสทกรรมฐานนั้น พึงพิจารณาเหงื่ออันเต็มไปอยู่ในขุมผมแลขุมขน ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด ๆ ด้วยส่วนแห่งเหงื่อนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลเหมือนกับเกศา

  อันดับนั้น พึงพิจารณาในเมโทว่ามันข้นนั้นมีสีดังเเท่งขมิ้นอันบุคคลผ่า ถ้าจะพิจารณาโดยสัณฐานมันข้นของคนพีที่อยู่ในระหว่างหนังแลเนื้องนั้น มีสัณฐานดังผ้าทุกุลพัสตร์เหลืองเหมือนสีขมิ้น มันข้นของคนผอม ที่อาศัยอยู่ตามเนื้อแข้งเนื้อขาเนื้อหลังที่กระดูกหนามหลัง แลเนื้อเกลียวอุทรประเทศนั้น มีสัณฐานดังท่อนผ้าทุกกุลพัสตร์อันบุคคลพับเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้นแล้ววางไว้ มันข้นนั้นเกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส มันข้นแห่งคนพีนั้น ซาบอยู่ทั่วสรรพางค์กายมันข้นของคนผอมนั้นอยู่ซาบกับเนื้อแข้งเนื้อขาเป็นต้น ถ้าพิจารณาโดยปริเฉท มันข้นนั้นมีกำหนดเบื้องต่ำตั้งแต่เนื้อขึ้นไปเบื้องบนแต่หลังลงมา เบื้องขวากำหนดด้วยมันข้นนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูลกรรมฐาน โดยนัยดังสำแดงมาแล้วแต่หลัง

  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาในอัสสุว่า น้ำตานั้นคืออาโปธาตุที่ไหลออกมาจากจักษุ มีสีดังน้ำมันงาอันใส มีสัณฐานเหมือนที่อยู่แห่งตน น้ำตานั้นเกิดในทิศเบื้องบน ถ้าพิจารณาโดยโอกาสน้ำตานั้นตั้งอยู่ในขุมตาทั้ง ๒ แต่ทว่าจะได้ตั้งอยู่เป็นนิตย์หาบ่มิได้ ถ้าสัตว์ชื่นชมโสมนัส มิฉะนั้นอดนอน มิฉะนั้นโทมนัสน้อยเนื้อต่ำใจร้องไห้ร่ำไร มิฉะนั้นกลืนกินซึ่งอาหารอันเป็นวิสภาค มีต้นว่าเผ็ดนักร้อนนัก มิฉะนั้นผงคลีแลเถ้าอันหย่บแลควันเข้าตามรกาลใด น้ำตาก็ไหลออกมาจากขุมตาทั้ง ๒ ข้างในกาลนั้น แลพระโยคาพจรพึงพิจารณาในอัสสุกรรมฐานนั้น พึงพิจารณาน้ำตาที่ออกเต็มตาทั้ง ๒ นั้นเป็นอารมณ์ ถ้าพิจารณาโดยปริเฉท มีกำหนดส่วนแห่งน้ำตานั้นเอง

  พึงพิจารณาในวสากรรมฐานว่า มันเหลวนั้นมีสีดังน้ำมะพร้าวนัยหนึ่งว่ามีสี ดังน้ำมันงาอันบุคคลรดลงในน้ำข้าวยาคู มีสัณฐานดังหยาดแห่งอันใสลอยอยู่เหนือน้ำ ในกาลเมื่ออาบน้ำเกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยโอภาสมันเหลวนั้นอยู่ในฝ่ามือฝ่าเท้า หลังมือหลังเท้าอยู่ในช่องจมูกแลหน้าผากแลจะงอยแห่งบ่านั้นโดยมาก มันเหลวอันอยู่ในที่ทั้งปวงนั้น ซึ่งจะให้คว้างอยู่เป็นนิตย์หาบ่มิได้ ต่อเมื่อใดประเทศแห่งฝ่ามือฝ่าเท้า หลังมือหลังเท้าเป็นต้นนั้นร้อยด้วยเพลิงแลแดดร้อนด้วยกระกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ร้อนด้วยกำเริบแห่งธาตุ มันเหลวจึงไหล ออกแต่ข้างโน้นข้างนี้ ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด ๆ ด้วยส่วนแห่งมันเหลวนั้นเอง พึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐาน เหมือนกล่าวมาแล้วแต่หนหลัง

  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาในเขฬะวา เขฬะนั้นคือ อาโปธาตุอันเจือด้วยฟอง ซึ่งอยู่ในภายในมุขประเทศของสัตว์ทั้งปวงนั้นมีสีขาวดังสีฟองมีสัณฐานเหมือนที่อยู่ของตน นัยหนึ่งว่าเขฬานั้นมีสัณฐานดังฟอง เกิดขึ้นในทิศเบื้องบนคือโอษฐประเทศ ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส เขฬานั้นมีสัณฐานดังฟอง เขฬะนั้นไหลออกจากกระพุ้งแก้มทั้งสอง แลตั้งอยู่เหนือชิวหา แต่ทว่าจะได้อยู่เป็นนิตย์หาบ่มิได้ ต่อเมื่อใดสัตว์ทั้งปวงได้เห็นอาการที่ชอบใจ มิฉะนั้นระลึกถึงโภชนาหารอันเป็นที่ชอบใจ อันตนเคยรับประทานแต่ก่อนนั้น มีความอยากแล้วน้ำลายไหลออก ถ้ามิดังนั้นบุคคลเอาวัตถุอันใดอันหนึ่ง เป็นต้นว่าอาหารอันร้อนด้วยเพลิงแลเผ็ดร้อนเปรี้ยวเค็มวางลงไว้ในปากเขฬะ จึงบังเกิดขึ้น ไหลออกมาจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ แล้วตั้งอยู่เหนือชิวหาแลเขฬะซึ่งตั้งอยู่ในปลายชิวหานั้นเป็นเขฬะอันเหลว เขฬะซึ่งตั้งอยู่เหนือชิวหานั้นเป็นเขฬะอันข้น เมื่อบุคคลเอาข้าวเม่าแลข้าวสาร แลขาทนียะของเคี้ยวอันใดอันหนึ่งวางลงในปากนั้น น้ำลายก็ไหลออกมาชุ่มซาบอาบเอิบไปในข้าวของทั้งปวงนั้น บ่มิได้รู้หมดรู้สิ้นไปมีอุปมาดังบ่อทรายอันมิได้ขาดน้ำ ถ้าพิจารณาโดยกำหนด ๆ ด้วยส่วนแห่งเขฬะนั้นเอง พึงพิจารณาให้เป็นปฏิกูลกรรมฐานดังกล่าวแล้วแต่หลัง

  อันดับนั้นพึงพิจารณาในสิ่งฆานิกากรรมฐานว่าน้ำมูกนั้นคือ อสุจิ อันไหลออกจากสมองศีรษะ มีสีดังเยื่อในเต้าตาลอันอ่อนมีสัณฐานดังที่อยู่เต็มช่องนาสิก แต่ทว่าจะอยู่ได้ในช่องนาสิก เป็นนิตย์นั้นหาบ่มิได้ ต่อเมื่อเหตุคือร้องร่ำไรถ้ามิดังนั้นกำเริบด้วยบริโภคอาหารอันเผ็ดร้อนเกินประมาณ ถ้ามิดังนั้นธาตุวิการกำเริบเป็นหวัดไอสมองศีรษะนั้นก็กลายเป็นเสมหะอันเน่าเคลื่อนออกจากภายในศีรษะ ไหลลงมาในช่องเบื้องบนแห่ง เพดานแล้วก็เต็มอยู่ในคลองนาสิกบ้าง บางทีก็ล้นไหลออกมาจากคลองนาสิก พระโยคาพจรผู้พิจารณาสิงฆานิการกรรมฐานนั้น พึงพิจารณาน้ำมูกที่ไหลออกมาขังอยู่เต็มช่องแห่งนาสิก ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด ๆ ด้วยส่วนแห่งน้ำมูกนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาให้เห็นปฏิกูลกรรมฐานเป็นสภาพ เหมือนกล่าวมาแล้วแต่หลัง

  อันดับนั้นให้พระโยคาพจรพึงพิจารณาใน มนสิการกรรมฐาณว่าไขข้อนั้นใช่อื่นใช่ไกล คือมันอันอยู่ในภายแห่งที่ต่อในกาย ไขข้อนั้นมีสีดังยางกรรณิการ์มีสัณฐานที่อยู่แห่งตน ถ้าจะพิจารณาโดยทิศไขข้อนั้นเกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส ไขข้อนั้นอยู่ภายใน แห่งที่ต่อ ๑๐๘ สำเร็จซึ่งกิจพอกแลทาซึ่งที่ต่อแห่งอัฐิ ถ้าผู้ใดไขข้อน้อนผู้นั้นจะลุกขึ้นแลนั่งลง จะเข้าไปและออกมาจะคู้กายเข้าเหยียดกายออก อัฐิที่ข้อต่อแห่งบุคคลผู้นั้นเสียงดังกฎะ ๆ เผาะ ๆ อย่างเสียงเขาหักนิ้วมือ ถ้าผู้นั้นเดินทางไกลประมาณ ๑ โยชน์ ๒ โยชน์ วาโยธาตุเกิดวิการกำเริบ แล้วก็ให้เจ็บเนื้อเจ็บทั่วสรรพางค์ ถ้าผู้ใดไขข้อมาก บุคคลผู้นั้นจะลุกนั่งยืน เที่ยวคู้กายเข้าเหยียดกายออกอัฐิที่ข้อต่อจะได้ดังกฎะ ๆ เผาะ ๆ หามิได้ แม้บุคคลผู้นั้นจะเดินทางไกลวาโยธาตุก็มิได้เกิดวิการกำเริบ ผู้นั้นไม่เมื่อยเหน็บกาย ถ้าจะพิจารณาโดยกำหนด ๆ ด้วยส่วนแห่งไขข้อนั้นเอง พิจารณาเป็นปฏิกูลดังกล่าวในเกศานั้น

  อันดับนั้นพึงพิจารณาในมุตตะกรรมฐาน  มาสขาโรทกวณฺณํ   มูตรนั้นมีสีดังน้ำด่างถั่วราชมาศ มีสัณฐานดังน้ำในกระออมคว่ำไว้ เกิดในทิศเบื้องต่ำคือตั้งแต่นาสิกลงมา ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส มูตรนั้นอยู่ภายในแห่งกระเพาะ มูตรเมื่อเข้าไปสู่กระเพาะนั้น จะได้ปรากฏว่าเข้าไปทางใดหามิได้   เสยฺยถาปิ นาม อมุเขร วนฆเฏ  ประดุจหม้อเนื้อห่างหาปากบ่มิได้อันบุคคลคว่ำไว้ในน้ำครำ น้ำครำซึบซาบอาบเอิบเกรอะเข้าไปขังในหม้อนั้นจะได้ปรากฏว่าเข้าไปทางนั้น ๆ หาบ่มิได้ แลมีฉันใดมูตรที่เกิดเข้าไปสู่กระเพาะนั้น จะได้ปรากฏว่าเข้าไปทางนั้น ๆ หาบ่มิได้ มีอุปไมยดังนั้น แต่ทางที่มูตรไหลออกมานั้นเห็นปรากฏ มูตรนี้มิใช่อื่นไกลคืออาหารอันบุคคลบริโภคเข้าไปนั้นเอง อาหารนั้นแหลกละเอียดออกด้วยเพลิงธาตุแล้ว ก็เกรอะกรองไปในกระเพาะมูตร ครั้นกระเพาะมูตรเต็มแล้วก็ให้สัตว์ก็ให้สัตว์เจ็บปัสสาวะ ให้ขวนขวายที่จะถ่ายปัสสาวะ ถ้าจะว่าโดยปริเฉทกำหนดโดยส่วยแห่งมูตรนั้นเอง พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกรรมฐานดังกล่าวแล้วในหนหลัง

  พึงสันนิษฐานว่ากิริยาที่พระโยคาพจรพิจารณาอาการ ๓๒ อุคคหโดยสีแลสัณฐาน ทิศแลโอกาสแลปริจเฉทดังพรรณนามานี้ อยู่ในอุคคหโกศลคำรบ ๓, ๔, ๕, ๖, ๗ อาจารย์ผู้บอกกายคตาสติกรรมฐานถึงบอกอุคคหโกศล ๗ ประการดังพรรณนามานี้ แลมนสิการโกศล ๑๐ ประการนั้น   คืออนุปุพพโต ๑   นาติสีฆโต ๑   นาติสนิกโต ๑   วิกเขปปฏิพาหโต ๑   ปัณณติสมติกกมนโต ๑   อนุปุพพมุญจนโต ๑   อัปปนาโต ๑   ติสุตตันตะ ๓ ประการ   จึงเป็น ๑๐ ประการด้วยกัน จะพึงกระทำมนสิการโกศลโดยอนุปุพพะนั้นอย่างไร อนุปุพพะนั้นแปลว่าด้วยลำดับอธิบายว่า พระโยคาพจรผู้จำเริญพระกายตาสติกรรมฐานนั้น พึงกระทำมนสิการคือระลึกไปตามพระกรรมฐานโดยลำดับ ๆ กันอย่าให้โจนไปโจนมา พึงกระทำมนสิการโดยลำดับ กระทำให้เหมือนบุรุษอันขึ้นสู่พระองอันสูง แลค่อยขึ้นไปทีละขั้น ๆ เหตุกลัวจะตก อันกระทำมนสิการโดยลำดับนี้ เป็นคุณที่จะไม่ปราศจากพระกรรมฐานนั้น ๆ จะมิได้ตกไปจากสันดาน

  แลนาติสีฆโตนั้นคือขณะเมื่อกระทำมนสิการ ระลึกโดยลำดับพระกรรมฐานนั้นอย่าเร็วนัก พระกรรมฐานจะมิได้ปรากฏแจ้ง ๆ นั้นอย่างไร ขณะเมื่อระลึกไปตามอาการ ๓๒ จะมิได้เห็นแท้ลงโดยอาการเป็นปฏิกูลพึงเกลียดนั้นแลได้ชื่อว่าพระกรรมฐานนั้น ถ้าระลึกเร็วนักแล้วก็พลันสำเร็จคือเร็วจบ พระกรรมฐานก็จะมิได้ปรากฏ อาศัยเหตุเร็วไปมิทันที่จะกำหนดกฏหมาย แลนาติสนิกโตนั้น คือ ระลึกพระกรรมฐานอย่าให้ช้านัก ครั้นว่ากระทำมนสิการพระกรรมฐานนั้นช้านักเล่า ก็มิให้เป็นปัจจัยที่จะให้ได้ธรรมวิเศษ แลวิกเขปปฏิพาหโตนั้น คือขณะเมื่อจำเริญพระกรรมฐานอย่าให้ทำจิตนั้นเตร็จเตร่เร่รายไปในอารมณ์ภายนอกพระกรรมฐาน คือให้ดำรงจิตไว้ในปฏิกูลพึงเกลียดจงได้ ถ้าแลจิตถือเอาอาการแลเกศาเป็นต้นอันมีพรรณนาต่าง ๆ กลับเห็นโดยสภาวะว่าดีว่างามขณะใด ก็ได้ชื่อว่าเตร็ดเตร่ไปในอารมณ์ภายนอกขณะนั้น ก็จะเสียทีพระกรรมฐานนั้นจะฉิบหายเสีย

  แลปัณณติสมติกกมนโตนั้น คือให้ล่วงเสียซึ่งบัญญัติ คือคำเรียกว่าเกศาผม โลมาขนเป็นต้น โดยโลกสังเกตนั้นอย่าเอาเป็นอารมณ์เลย พึงตั้งดำรงจิตพิจารณาเอาแต่ปฏิกูลสิ่งเดียวเป็นอารมณ์ เปรียบประดุจชนทั้งหลายเดินทางพบบ่อน้ำในอรัญประเทศ ในกาลเมื่อมีน้ำอันได้ด้วยยาก ก็ปักไม้หมายกรุยผูกไว้ซึ่งกิ่งไม้มีใบตาลเป็นต้น เป็นสำคัญไว้ในที่บ่อน้ำนั้น ครั้นภายหลังปรารถนาจะอาบจะกินขณะใดก็เล็งแลดูที่สำคัญนั้น แล้วก็ไปลงอาบกินในขณะนั้น เมื่อไปมาเนือง ๆ รอยเท้าที่บทจรนั้น ปรากฏเป็นทางแล้วกาลใด แต่นั้นไปปรารถนาจะกินจะอาบก็มิได้มีกิจที่จะแลดู ซึ่งสำคัญมีใบตาลเป็นต้นก็ตามรอยที่ปรากฏเป็นทางนั้น แล้วก็ลงกินแลอาบตามปรารถนา

   จะมีอุปมาดุจใดก็ดี