พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๓

   จักวินิจฉัยในกายคตาสติกรรมฐานต่อไป  อิทานิ ยนฺติ อญฺญตฺรพุทฺธุปฺปาทาปฺปวตฺตปุพฺพํ ฯลฯ   ตสฺส   ภาวนานิทฺเทโส  อนุปฺปตฺโต   เป็นคำพระผู้เป็นเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์สำแดงไว้ว่า   ยนฺตํ   กายคตาสติ   กมฺมฏานํ  อันว่าพระกายคตาสติกรรมฐานอันใด อันเว้นซึ่งพุทธุปบาท แล้วแลมิได้เป็นไป  อวิสยภูตํ   มิได้บังเกิดเป็นวิสัยแห่งเดียรถีย์ทั้งปวง อันถือผิดภายนอกพระศาสนา  ภควตา   อันสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสสรรเสริญไว้ด้วยอาการเป็นอันมากในสุตตันตปริยาย นั้นว่า  เอกธมฺโม ภิกฺขเว ภาวิโต พหุลีกโต มหโต สํเวคาย สํวตฺตติ   ดูก่อนภิกษุทั้งปวง   เอกธมฺโม  ธรรมอันหนึ่งคือพระกายคตาสตินี้ ถ้าบุคคลผู้ใดอุตสาหะจำเริญมากอยู่ในสันดานแล้ว ก็ย่อมประพฤติเป็นไปเพื่อจะให้บังเกิดธรรมสังเวช แลเป็นประโยชน์เป็นอันมาก ใช่แต่เท่านั้น  โยคกฺเขมาย   ประพฤติเป็นไปเพื่อจะให้เกษมจากโยคะทั้ง ๔ มีกามโยคะเป็นต้น แลเป็นไปเพื่อจะให้ได้ซึ่งสติแลสัมปชัญญะเป็นอันมาก แลจะให้ได้ซึ่งปัจจเวกขณะญาณ ใช่แต่เท่านั้น ประพฤติเป็นไปเพื่อจะให้อยู่เป็นสุขในอัตตภาพซึ่งเห็นประจักษ์ แลจะกระทำให้แจ้งซึ่งไตรวิชชาแลวิมุตติผล

   ดูกรภิกษุทั้งปวง บุคคลผู้ใดจำเริญกายคตาสติ บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าบริโภคซึ่งน้ำอมฤต บุคคลผู้ใดมิได้จำเริญกายคตาสติบุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่ามิได้ดื่มกินซึ่งอมฤตรส ผู้ใดคลาดจากพระกายคตาสติภาวนา ผู้นั้นได้ชื่อว่าคลาดจากน้ำอมฤต ผู้ใดปฏิบัติผิดจากพระกายคตาสติภาวนา ผู้นั้นได้ชื่อว่าผิดจากน้ำอมฤต   ตสฺส ภาวนา นิทฺเทโส  อันว่ากิริยาที่จะสำแดงภาวนาวิธีแห่งพระกายคตาสตินั้นมาถึงแล้ว จักได้พรรณนาสืบต่อไป พระโยคาพจรผู้จำเริญพระกายคตาสติกรรมฐานนั้น พึงพิจารณารูปกายแห่งตนจำเดิมแต่ที่สุดเส้นผมลงไปตราบเท่าถึงบาทา แต่บาทาตราบเท่าถึงที่สุดเส้นผมให้เห็นรูปกายอันเต็มไปด้วยสิ่งอันโสโครกมีประการต่าง ๆ นั้นกุลบุตรผู้จำเริญซึ่งกายคตาสตินี้ เมื่อเเรกจะจำเริญนั้นหาอาจารย์ที่ดังว่ามาแต่หลังแล้วก็พึงเรียนในสำนักอาจารย์นั้น ๆ

   เมื่อจะบอกพระกายคตาสติกรรมฐานก็พึงบอกซึ่งอุคคหโกศล ๗ ประการนั้น แลมนสิการโกศลย์ ๑๐   ประการ อุคคหโกศล ๗   ประการนั้น  วจสา   คือให้สังวัธยายอาการ ๓๒   นั้นให้ชำนาญให้ขึ้นปาก ๑   มนสา คือให้ระลึกตามกรรมฐานนั้นให้ขึ้นใจ ๑   วณฺณโต  คือให้พิจารณาอาการ ๓๒ นั้นโดยสีสันวรรณะ เป็นต้นว่า   ดำ   แดง   ขาว   เหลือง ๑   สณฺฐานโต  คือให้ฉลาดในที่พิจารณาโดยสัณฐานประมาณใหญ่น้อย ๑  ทิสโต   คือให้ฉลาดในที่พิจารณาในเบื้องต่ำเบื้องบนอันกล่าวคือท่อนกายเบื้องต่ำ ท่อนกายเบื้องบน ๑  โอกาสโต   คือให้ฉลาดในที่พิจารณาซึ่งที่อยู่แห่งอากาศภายในนั้น ๑  ปริจฺเฉทโต   คือให้ฉลาดในการพิจารณาอาการ ๓๒  อันมีกำหนดเป็นแผนก ๆ กัน ๑   เป็น ๗   ประการด้วยกัน

   แลอุคคหโกศลเป็นปฐมซึ่งว่าให้สังวัธยายพระกรรมฐานให้ขึ้นปากนั้น คือให้สังวัธยายทวัตติงสาการกรรมฐาน แยกออกเป็นปัญจกะ ๔  เป็นฉกะ ๒   ปัญจกะ ๔ นั้น  คือตจปัญจกะ ๑   วักกปัญจกะ ๑   ปัปผาสปัญฉกะ ๑  มัตถลุงปัจกะเป็น ๔  ด้วยกัน ฉกะ ๒  นั้นคือ เมทฉกะ ๑  มุตตฉกะ ๑  เป็น ๒  ด้วยกัน ในตจปัญจกะนั้นฝ่ายอนุโลม ๕  คือ   เกสา   โลมา   นขา   ทนฺตา   ตโจ   ฝ่ายปฏิโลม ๕   คือ   ตโจ   ทนฺตา  นขา   โลมา   เกสา       ในวักกปัญจะกะนั้น ฝ่ายอนุโลม ๕ คือ มํสํ   นหารู   อฏิมิญฺชํ   วกฺกํ   ฝ่ายปฏิโลม ๕   คือ   วกฺกํ   อฏิมิญฺชํ   อฏิ   นหารู   มํสํ   ในปัปผาสะปัญจกะนั้น ฝ่ายอนุโลม ๕   คือ   หทยํ   ยกนํ   กิโลมกํ   ปิหกํ   ปปฺผาสํ  คือฝ่ายปฏิโลม ๕  ปปฺผาสํ   ปิหกํ   กิโลมกํ   ยกนํ  หทยํ        ในมัตถลุงคปัญจกะนั้น   ฝ่ายอนุโลม ๕   คือ  อนฺตํ อนฺตคุณํ   อุทริยํ   กรีสํ   มตฺถลุงฺคํ   ฝ่ายปฏิโลม ๕  คือ  มตฺถลุงคํ  กรีสํ   อุทริยํ   อนฺตคุณํ  อนฺตํ   ในเมทฉกะนั้น   ฝ่ายอนุโลม ๖ คือ  ปตฺติ   เสมฺตํ   ปุพฺโพ   โลหิตํ   เสโท   เมโท   ฝ่ายปฏิโลม ๖  คือ  เมโท   เสโท  โลหิตํ   ปุพฺโพ   เสมฺหํ   ปิตฺตํ        ในมุตตฉกะนั้น   ฝ่ายอนุโลม  ๖ คือ   อสฺสุ   วสา   เขโฬ   สิงฺฆานิกา   ลสิกา   มุตฺตํ  ฝ่ายปฏิโลม  ๖ คือ  มุตฺตํ   ลสิกา   สิงฺฆานิกา   เขโฬ  วสา   อสฺสุ    

  พระโยคาพจรพึงสังวัธยายด้วยวาจาในตจปัญจกะนั้นว่า   เกสา   โลมา   นขา  ทนฺตา   ตโจ  เป็นอนุโลมดังนี้ให้ได้ ๕   วัน แล้วถึงสังวัธยายเป็นปฏิโลมถอยหลังว่า  ตโจ   ทนฺตา   นขา   โลมา   เกสา   ให้ได้ ๕   วันอีกเล่า แล้วจึงสังวัธยายให้เป็นอนุโลมปฏิโลมว่า  เกสา  โลมา  นขา  ทนฺตา   ตโจ   ทนฺตา   นขา  โลมา   เกสา   ให้ได้ ๕   วันอีก สิริฝ่ายอนุโลม ๕  ฝ่ายอนุโลม ๕   ฝ่ายอนุโลมปฏิโลม ๕  จึงเป็นกึ่งเดือนด้วยกัน เมื่อสังวัธยายในตจปัญจกะได้กึ่งเดือนแล้ว จึงไปสู่สำนักอาจารย์เรียนเอาซึ่งวักกปัญจกะ สังวัธยายปัญจกะเป็นอนุโลมว่า   มํสํ   นหารู  อฏิ อฏิมิญฺชํ   วกฺกํ   ดังนี้ให้ได้ ๕ วัน แล้วจึงวัธยายเป็นปฏิโลทว่า   วกฺกํ  อฏิมิญฺชํ  อฏิ  นหารู   มํสํ ดังนี้ให้ได้ ๕ วันอีกเล่าแล้วสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมว่า   มํสํ   นหารู   อฏิมิญฺชํ   วกฺกํ  วกฺกํ  อฏิมิญฺชํ   อฏิ   นหารู   มํสํ   ให้ได้ ๕  วันอีก

   สิริวันในวักกปัญจกะฝ่ายอนุโลม ๙   ฝ่ายปฏิโลม ๕   ฝ่ายอนุโลมปฏิโลม ๕  จึงเป็นกึ่งเดือนด้วยกัน   ทสโกฏาเส   เอกโต   หุตฺวา  ครั้นแล้วจึงเอาตจปัญจกะกับวักกะปัญจกะผสมเข้ากัน สังวัธยายเป็นอนุโลมตั้งแต่เกศาตลอดจนถึงวักกัง ให้ได้   ๕ วัน แล้วจึงวัธยายเป็นปฏิโลมถอยหลังลงมา แต่วักกังตราบเท่าถึงให้เกศาให้ได้ ๕ วันอีกเล่า แล้วจึงสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมว่า   เกสา โลมา ขนา ทตฺตา ตโจ มํสํ ตโจ นหารู อฏิ อฏิมิญฺชํ วกฺกํ วกฺกํ อฏิมิญฺชํ อฏิ นหารู มํสํ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา  สังวัธยายดังนี้ให้ครบ ๕ วันอีก สิริฝ่ายอนุโลม ๕ วัน ปฏิโลมปฏิโลม ๕ วัน จึงเป็นกึ่งเดือนด้วยกัน เบื้องหน้าแต่นั้นพึงสังวัธยายในปัปผาสปัญจกะเป็นอนุโลมว่า  หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปปฺผาสํ ปิหกํ ปปฺผาสํ  ดังนี้ให้ได้ ๕ วัน แล้วจึงสังวัธยายเป็นปฏิโลมว่า   ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ   ให้ได้ ๕ วันอีกเล่า ครั้นแล้วจึงสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมว่า  หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ   สังวัธยายดังนี้ให้ครบ ๕ วันอีก

  สิริฝ่ายอนุโลม ๕ วัน ปฏิโลม ๕ วัน อนโลมปฏิโลม ๕ วัน จึงเป็นกึ่งเดือนด้วยกันเบื้องหน้าแต่นั้นจึงเอาโกฏฐาสทั้ง ๑๕ ผสมกัน สังวัธยายเป็นอนุโลมตั้งแต่เกศาตราบเท่าถึงปัปผาสังให้ได้ ๕ วันแล้ว จึงสังวัธยายเป็นปฏิโลมถอยหลังแต่ปัปผาสังลงมา ตราบเท่าถึงเกศาให้ได้ ๕ วันอีกเล่า แล้วจึงสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมให้ครอบ ๕ วันอีกเล่า จึงเป็นกึ่งเดือนด้วยกัน ลำดับนั้นจึงไปสู่สำนักอาจารย์เรียนมัตถลุงคะปัญจกะได้แล้ว จึงสังวัธยายเป็นอนุโลมว่า  อนฺตํ อนฺตคฺณํ อุทริยํ กรีสํ มตฺถลุงฺคํ   ให้ได้ ๕ วันแล้วจึงสังวัธยายเป็นปฏิโลมว่า  มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ   ให้ได้ ๕ วันแล้ว จึงสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมให้ครอบ ๕ วันอีกเล่า

  ตโต เต วีสติโกฎฺาเส   ลำดับนั้นจึงเอาโกฏฐาสทั้ง ๒๐ ผสมกันเข้า สังวัธยายเป็นอนุโลม ๕ วัน ปฏิโลม ๕ วัน อนุโลมปฏิโลม ๕ วัน จึงเป็นกึ่งเดือนด้วยกัน   ตโต เมทฉกํ อุคฺคณฺหิตฺวา  ลำดับนั้นจึงไปสู่สำหนักอาจารย์เรียนเอาซึ่งเมทฉกะได้แล้ว จึงสังวัธยายเป็นอนุโลมว่า   ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท   ดังนี้ให้ได้ ๕ วันแล้ว จึงวัธยายเป็นปฏิโลมว่า  เมโท เสโส โลหิตํ ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ   ดังนี้ให้ได้ ๕ วันแล้ว จึงสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมว่า   ปิตฺตํ เสมฺตํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท เมโท เสโส โลหิตํ ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ  ให้ครอบ ๕ วันอีก

    ตโต มุตฺตฉกํ อุคฺคณฺหิตฺวา  ลำดับนั้น จึงเรียนเอาซึ่งมุตตฉกะสังวัธยายเป็นอนุโลมว่า   อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺฆานิกา ลสิกา มุตฺตํ   ดังนี้ให้ได้ ๕ วัน จึงสังวัธยายว่า   มุตฺตํ ลสิกา สิงฺฆานิกา เวโฬ วสา อสฺสุ  ดังนี้ให้ได้ ๕ วันอีกเล่า ครั้นแล้วจึงสังวัธยายเป็นอนุโลมปฏิโลมว่า   อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฺฆานิกา ลสิกา มุตฺตํ มุตฺตํ ลสิกา สงฺฆานิกา เขโฬ วสา อสฺสุ  ให้ครอบ ๕ วันอีก   ตโตปิ ทฺวตฺตึสโกฏฐาเส  ลำดับนั้นจึงเอาโกฏฐาสทั้ง ๓๒ ผสมกันสังวัธยายเป็นอนุโลมตั้งแต่เกศาไปตราบเท่าถึงมุตตังให้ได้ ๕ วัน แล้วจึงสังวัธยายถอยหลังแต่มุตตังไปตราบเท่าถึงเกศาให้ได้ ๕ วันอีกเล่า แล้วจึงสังวัธยายเป็อนุโลมปฏิโลมให้ได้ ๕ วันอีก นับจำเดิมแต่ต้นมาผสมกันเข้าเป็นเดือนนั้น คิดตามเดือนถ้วนได้ ๖ เดือนกัน   อุปนิสฺสยสมฺปนฺนสฺส  พระภิกษุอันบริบูรณ์ไปด้วยอุปนิสัย ประกอบด้วยปัญญาแก่กล้านั้น

   เมื่อสังวัธยายพระกรรมฐานโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้ โกฏฐาสทั้ง ๓๒ มีเกศาเป็นต้นนั้น ก็จะปรากฏแจ้งในมโนทวารจะสำเร็จกิจอุคคหนิมิต แลปฏิภาคนิมิตโดยง่ายเพราะเหตุบริบรูณ์ด้วยอุปนิสัย  เอกจฺจสฺส อุปฏหนฺติ   พระภิกษุบางจำพวกที่หาอุปนิสัยมิได้ สังวัธยายพระเทวทัตติงสาการกรรมฐานโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้ ถ้วนกำหนด ๖ เดือนแล้ว ยังมิได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต ก็พึงอุตสาหะกระทำความเพียรให้ยิ่งขึ้นไปกว่ากำหนด ๖ เดือน อย่าได้มาละเสียซึ่งความเพียร   มชฺฌิมปญฺญสฺส วเสน  ข้อซึ่งกำหนดไว้ให้สังวัธยายถ้วนกำหนดครบ ๖ เดือนนี้ ว่าด้วยสามารถภิกษุมีปัญญาเป็นท่ามกลาง จะว่าด้วยสามารถภิกษุมีปัญญากล้า แลภิกษุมีปัญญาอ่อนนั้นหามิได้

   กำหนด ๖ เดือนนี้กำหนดเป็นอย่างกลาง กาลเมื่อสังวัธยายทวัตติงสาการกรรมฐานนั้น แม้ว่าโกฏฐาสทั้ง ๓๒ ปรากฏพร้อมในมโนทวาร บ่มิอาจจะให้สำเร็จกิจเป็นอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตได้ทั้ง ๓๒ โกฏฐาส เฉพาะปรากฏแต่สิ่งหนึ่งสองสิ่งสำเร็จกิจเป็นอุคคหนิมิต แลปฏิภาคนิมิตแต่สิ่งหนึ่งสองสิ่งก็ตามเถิด สุดแท้แต่ปรากฏแจ้งเท่าใดก็ให้ถือเอาเท่านั้น เมื่อสังวัธยายทวัตติงสาการกรรมฐานนั้นอย่าได้พิจารณาโดยสี อย่าได้พิจารณาลักษณะมีแข็งกระด้างเป็นต้น พึงมนสิการกำหนดให้เป็นส่วน ๆ พิจารณาให้เห็นว่าเกศานั้นเป็นส่วน ๑ โลมานั้นเป็นส่วน ๑ นขานั้นเป็นส่วน ๑ ทันตานั้นเป็นส่วน ๑ ให้เห็นเป็นส่วน ๆ ดังนี้สิ้นทั้ง ๓๒ ประการ

   วิธีสังวัธยายให้ขึ้นปากดุจพรรณนามานี้ จัดเป็นอุคคหโกศลเป็นปฐมเป็นปัจจัยแก่สังวัธยายด้วยจิต แลอุคคหโกศลเป็นปฐมเป็นปัจจัยแก่สังวัธยายด้วยจิต แลอุคคหโกศลเป็นคำรบ ๒ นั้น คือให้ พระโยคาพจรนิ่งระลึกถึงทวัตติงสาการกรรมฐานเป็นอนุโลมเป็นปฏิโลมเหมือนสังวัธยายด้วยวาจานั้น สังวัธยายด้วยจิตนี้เป็นปัจจัยให้ตรัสรู้โดยอสุภปฏิกูล แลอุคคหโกศลเป็นคำรบ ๓ ที่ว่าให้พิจารณาโดยสีนั้นคือให้กำหนดสีแห่งอาการ ๓๒ มีเกศาเป็นต้น แลอุคคหโกศลเป็นคำรบ ๔ ที่ว่าให้กำหนดโดยสัณฐานนั้น คือกำหนดสัณฐานแห่งอาการ ๓๒ มีเกศาเป็นต้น แลอุคคโกศลคำรบ ๕ ที่ว่าให้กำหนดโดยทิศนั้น คือให้กำหนดโดยทิศเบื้องต่ำ แลทิศเบื้องบน แห่งอาการ ๓๒ คือตั้งแต่นาภีขึ้นไปจัดเป็นทิศเบื้องบน ตั้งแต่นาภีลงมาจัดเป็นทิศเบื้องต่ำ

   แลอุคคหโกศลคำรบ ๖ ที่ว่าให้พิจารณาโดยอากาสนั้น คือให้กำหนดที่ตั้งแห่งอาการ ๓๒ ว่าโกฏฐาสนี้ตั้งอยู่ในที่อันนี้ ๆ แลอุคคหโกศลเป็นคำรบ ๗ ที่ว่าให้กำหนดปริจเฉทนั้น ปริเฉทมี ๓๒ ประการ   คือสภาคปริจเฉทประการ ๑   วิสภาคประเฉทประการ ๑ สภาคปริจเฉทนั้น คือกำหนดเป็นส่วนอาการโกฏฐาสอันกำหนดเบื้องต่ำตั้งอยู่เพียงนี้ กำหนดเบื้องสูงตั้งอยู่เพียงนี้กำหนดเบื้องขวาตั้งอยู่เพียงนี้ กำหนดอย่างนี้แลเรียกว่ากำหนดโดยสภาคแลกำหนดโดยวิสภาคนั้น คือกำหนดโดยส่วนอันมิได้เจือกัน ว่าสิ่งนี้เป็นเกศาหาเป็นโลมาไม่ สิ่งนี้เป็นโลมาหาเป็นเกศาไม่ อย่างนี้แล เรียกว่าวิสภาคปริเฉท กำหนดโดยปริจเฉท ๒ ประการดังนี้ จัดเป็นอุคคหโกศลเป็นคำรบ ๗

  แต่นี้จักพรรณาโดยสีสัณฐานเป็นต้นแห่งอาการ ๓๒ นั้นสืบต่อไปโดยนัยพิสดาร ให้พระโยคาพจรผู้จำเริญพระกายตาสติพระกรรมฐานนั้น พิจารณาว่าเกศาผมนี้มี ๙ ล้านเส้นเป็นประมาณ   วณฺนโต  ถ้าจะพิจารณาโดยสีมีสีดำเป็นปกติ ที่ขาวไปนั้นอาศัยความชราตามเบียดเบียน   สณฺานโต  ถ้าจะพิจารณาโดยสัณฐาน มีสัณฐานอันยาว ต้นเรียวปลายเรียวดุจคันชั่ง   ทิสโต  ผลนี้เกิดในทิศเบื้องบน บนศีรษะนี้แลเรียกว่าทิศเบื้องบน   โอกาสโต  ถ้าจะว่าโดยโอกาสผมนี้บังเกิดในหนังชุ่มอันหุ่มกระโหลกศีรษะแห่งเราทั้งปวง

   ที่อยู่แห่งผมนี้ ข้างหน้ากำหนดโดยหลุมโดยแห่งคอข้างทั้ง ๒ กำหนดโดยหมวกหูทั้ง ๒  ปริจฺเฉทโต   ถ้าพิจารณาโดยปริจเฉทกั้น ผมนี้มีกำหนดรากหยั่งลงไปในหนังหุ้มศีรษะนั้น  วิหคฺคมตฺตํ  มีประมาณเท่าปลายแห่งข้าวเปลือก อันนี้ว่าโดยกำหนดเบื้องต่ำ เบื้องบนที่ยาวขึ้นไปนั้นกำหนดโดยอากาศโดยขวางนั้น กำหนดด้วยเส้นแห่งกันแลกัน ถ้าพิจารณาโดยสภาคนั้น ผมนั้นบังเกิดขุมละเส้น ๆ จะไดบังเกิดขุมละ ๒ เส้น ๓ เส้นหามิได้ ถ้าจะพิจารณาโดยวิสภาค ผมนี้แปลกกับขนจะได้เหมือนกันกับขนนั้นหามิได้

  แลผมนี้พระโยคาพจรพึงกำหนดโดยปฏิกูล ๕ ประการ คือปฏิกูลโดยสีประการ ๑ ปฏิกูลโดยสัณฐานประการ ๑ ปฏิกูลโดยกลิ่นประการ ๑ ปฏิกูลโดยที่เกิดประการ ๑ ปฏิกูลโดยที่อยู่ประการ ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน ปฏิกูลโดยสีนั้น พึงพิจารณาว่าบุคคลอันบริโภคซึ่งข้าวยาคูแลข้าวสวย สิ่งของบริโภคทั้งปวงที่ชอบใจบริโภคนั้น ถ้าเห็นวัตถุอันใดมีสีเหมือนผม ตกลงอยู่ในสิ่งของปริโภคนั้นสำคัญว่าเป็นผมแล้ว ก็บังเกิดเกลียดชัง พิจารณาเป็นปฏิกูลโดยสีนั้นดังนี้ แลปฏิกูลโดยสัณฐานนั้นพึงพิจารณาให้เห็นว่า เมื่อบุคคลบริโภคโภชนาหาร สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่มืดนั้น ถ้าพบปะวัตถุอันใดอันหนึ่งมีสัณฐานเหมือนด้วยผม สำคัญว่าผมแล้วก็บังเกิดเกลียดชังหยิบทิ้งเสียบ้าง คายเสียบ้างเพราะเหตุสำคัญว่าผม

   ผมนี้เป็นที่รักแต่เมื่อยังติดอยู่ในกาย ครั้นปราศจากกายแล้วก็เป็นที่เกลียดที่ชัง จะว่าไปไยถึงผมเล่า แม้แต่เส้นไหมใยบัวเป็นต้น ที่มีสัณฐานเหมือนด้วยผม ที่บุคคลสำคัญว่าผมนั้น ยังว่าเป็นที่เกลียดชังนักหนา พระโยคาพจรพึงพิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูลโดยสัณฐาน ดุจพรรณนามาฉะนี้ ที่ว่าพิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูลโดยกลิ่นนั้น คือให้พิจารณาว่าผมนี้ ถ้าบุคคลเพิกเฉยเสียไม่เอาใจใส่ทะนุบำรุงแล้วเหม็นสาบเหม็นสาง ถ้ามิดังนั้นถูกไฟ ๆ ไหม้แล้วก็เหม็นร้ายกาจหนักหนา พึงพิจารณาปฏิกูลโดยกลิ่นนั้นดุจพรรณามาฉะนี้

   ที่ว่าให้พิจารณาปฏิกูลโดยที่เกิดนั้นคือให้พิจารณาว่า ผมนี้เกิดขึ้นในหนังอันหุ้มกะโหลกศีรษะ ชุ่มไปบุพพโลหิตน้ำดีแลน้ำเสลดเป็นต้น บังเกิดในที่อันพึงเกลียด ดุจผักอันบังเกิดในประเทศแห่งเว็จกุฎิ เป็นที่เกลียดแห่งบุคคลทั้งปวง ที่ว่าให้พิจารณาปฏิกูลโดยที่อยู่นั้น คือให้พิจารณาว่า ผมนี้เกิดขึ้นในที่อันพึงเกลียดแล้ว ก็จำเริญในที่อันพึงเกลียดพึงชังนั้นหาบ่มิได้ ดุจเสวาลชาติสาหร่ายเป็นต้น อันเกิดในที่ลามกแล้วแลจมอยู่ในที่ลามกนั้น พระโยคาพจรพึงพิจารณาเกศาโดยปฏิกูล ๕ ประการดังพรรณนามาฉะนี้ เบื้องหน้าแต่นั้นให้พระโยคาพจรกำหนดในโลมชาตินี้ ๙ โกฏิเส้น มีสีโดยมาก จะได้ดำไปสิ้นทั้งนั้นหามิได้ ที่สีขาวเหลืองนั้นก็มี

   โอณตคตา มูลสณฺานา  มีสัณฐานอันน้อมลงดังแล่งธนู นัยหนึ่งว่าสัณฐานดังรากตาล ถ้าจะกำหนดโดยที่เกิด ขนนี้เกิดในทิศทั้งปวง คือทิศเบื้องต่ำเบื้องบน กายกึ่งเบื้องต่ำ ตั้งแต่นาภีลงมานั้นชื่อว่าทิศเบื้องต่ำกาย กึ่งเบื้องบนนั้นตั้งแต่นาภีขึ้นไปชื่อว่าทิศเบื้องบน ถ้าจะว่าโดยปริเฉท ขนนี้กำหนดรากอันหยั่งลงไปในหนังนั้น  ลิกฺขามตฺตํ   ประมาณเท่าปลายเหล็กจานแลเมล็ดไข่เหา อันนี้เป็นกำหนดโดยเบื้องต่ำ เบื้องบนขึ้นไปนั้นกำหนดโดยอากาศโดยขวางนั้น กำหนดด้วยเส้นแห่งกันแลกัน ถ้าจะว่าโดยสภาค ขนนี้จะได้บังเกิดด้วย

  ตั้งแต่ขุมละ ๒ เส้นนั้นมิได้มี ถ้าจะกำหนดโดยวิสภาค ขนนี้ต่างกับผม ให้พระโยคาพจร พิจารณาเป็น ปฏิกูลกรรมฐานว่าโลมชาติอันเกิดกับหนังอันหุ้มกายก็จริง หารู้จักกันไม่ เปรียบเหมือนหญ้าแพรกอันแตกงอกขึ้นในบ้านเก่า หญ้าแพรกบ้านเก่าบ่มิได้รู้จักซึ่งกันแลกัน ธรรมทั้งหลายนี้ปราศจากอาโภค ปราศจากเจตนาเป็นอัพยากฤต ย่อมสูญเปล่าเป็นปฏิกูลพึงเกลียด ใช่สัตว์ใช่บุคคลควรจะอนิจจังสังเวช มีกำลังพิจารณาโลมาแล้วเบื้องหน้าแต่นั้นให้พระโยคาพจรกำหนดในเขา ว่าเล็บแห่งบุคคลอันบริบูรณ์นั้นมีประมาณ ๒๐ มีสีขาวในที่อันพ้นเนื้อมีสีแดงในที่อันเนื่องกับด้วยเนื้อ มีสัณฐานดังโอกาสที่ตั้งแห่งตน นัยหนึ่งว่ามีสัณฐานดังเมล็ดมะซางโดยมาก นัยหนึ่งมีสัณฐานดังเกล็ดปลาสีขาวบังเกิดในทิศทั้ง ๒ ตั้งอยู่ในที่อันเป็นปฏิกูลเหมือนกันกับผม พระโยคาพจรพึงพิจารณาให้เห็นว่า เนื้อแลเล็บอยู่ด้วยกันก็จริงจะรู้กันก็หาบ่มิได้ เปรียบเหมือนปลายไม้กับเมล็ดในมะซางที่ทารกเสียบเข้าแล้ว แลถือเล่นบ่มิได้รู้จักซึ่งกันแลกันนั้น ธรรมทั้ง ๒ ปราศจากอาโภคแลเจตนาเป็นอัพยากฤต มีสภาวะสูญเปล่า ใช่สัตว์ใช่บุคคลพิจารณาเขาแล้ว

   ตโต ปรํ  เบื้องหน้าแต่นั้นให้พระโยคาพจรกำหนดให้ทันตาว่า ยสฺส ปริปุณฺณา ตสฺส ทฺวตฺตึส   ทันตาของบุคคลที่ครบบริบูรณ์ ๓๒   บางคนก็น้อยลงมาก ๒๗ – ๒๙ ก็มี ถ้าพิจารณาโดยสีมีสีอันขาว ทันตาของบุคคลที่มีสีเสมอนั้นดุจแผ่นสังข์อันบุคคลเจียระไนให้เสมอ ถ้ามิดังนั้นดุจไม้อันขาว อันตูมอันตั้งไวเสมอกัน ฟันของบุคคที่ซี่มิได้เสมอนั้นมีสัณฐานต่าง ๆ กัน ดุจระเบียบชายคาแห่งอาสนะอันเก่า หน้าฟัน ๔ ซี่นั้นมีสัณฐานดังเมล็ดในน้ำเต้าอันบุคคลปักวางไว้เหนือก้อนดิน เขี้ยวทั้ง ๔ นั้น มีสัณฐานดังดอกมะลิตูม มีปลายอันเเหลมขึ้นมาอันเดียว รากก็หยั่งลงไปรากเดียว กรามถัดเขี้ยวเข้าไปอย่างละซี่ ๆ นั้น มีสัณฐานดังไม้ค้ำเกวียน คือปลายรากนั้นเป็น ๒ ง่าม   ที่สุดข้างปลายบนนั้นก็เป็น ๒ ง่าม   กรามถัดเข้าไปอีกข้างซี่นั้นเป็น ๓   ปลายก็เป็น ๓ งาม   กรามที่ถัดเข้าไปอีกข้างละซี่นั้นมีรากเป็น ๔ ง่าม   ปลายก็เป็น ๔ ง่าม   ฟันทั้งหลายนี้เกิดเหนือกระดูกเบื้องบนกระดูกคางเบื้องต่ำเป็นปฏิกูล พึงเกลียด ทันตากับกระดูกคางเบื้องบนเบื้องต่ำนั้น จะได้รู้จักก็หาไม่ เปรียบเหมือนเสาอันบุคคลตั้งลงไว้เหนือแผ่นศิลาปลายให้เข้าไปในพื้นเบื้องบน เสาแลแผ่นศิลามิได้รู้จักซึ่งกันและกันนั้น พึงพิจารณาทันตาเป็นปฏิกูลพึงเกลียดเหมือนกับเสา

   แลหทัยนั้นเล่า ถ้าจะเอาแต่ผิวเบื้องบนประมวลเข้าให้สิ้นทั้งกาย ได้ใหญ่ประมาณเท่าเมล็ดในพุทรา มีสีนั้นต่าง ๆ กัน   ดำก็มี   หม่นก็มี   เหลืองก็มี   ขาวก็มี   สัณฐานนั้นก็ต่าง ๆ กัน   หนังนิ้วเท้านั้นมีสัณฐานดังรังไหม   หนังเท้านั้นมีสัณฐานดังหนังเกือกอันหุ้มหัวแลส้น   หนังแข้งนั้นมีสัณฐานดังใบตาลอันบุคคบห่อภัตต์ไว้   หนังขานั้นมีสัณฐานดังถุงอันยาวใส่เต็มไปด้วยข้าวสาร   หนังตะโพกนั้นมีสัณฐานดังผ้ากรองน้ำอันเต็มไปด้วยน้ำ   หนังสันหลังนั้นนั้นมีสัณฐานดังหุ้มแผ่นกระดาษ   หนังท้องนั้นมีสัณฐานดังหนังอันหุ้มรางพิณ   หนังอกมีสัณฐานดังหนังเป็น ๔ เหลี่ยม   หนังแขนทั้ง ๒ นั้นมีสัณฐานดังหนังอันหุ้มแล่งธนู   หนังมือมีสัณฐานดังฝักมีดโกน ถ้ามิดังนั้นดุจถุงอันใส่โล่เขน   หนังนิ้วมือนั้นมีสัณฐานดังอันใส่ลูกกุญแจ   หนังคอนั้นมีสัณฐานดังว่าเสื้อ   หนังปากนั้นมีสัณฐานดังปรุเป็นช่องดุจว่ารังตั๊กแตน   หนังศีรษะนั้นมีสัณฐานดังถลกบาตร

   เมื่อพระโยคาพจรพิจารณานั้นพึงปลงปัญญาพิจารณาหนังศีรษะเบื้องบนก่อน แล้วจึงพิจารณาหนังอันหุ้มหน้า แล้วจึงพิจารณากระดูกหน้าผาก พรากหนังและกระดูกออกจากกัน พิจารณาให้เห็นหนังกระดูกต่างกัน พึงส่งปัญญาไปในระหว่างหนังกระดูก ดุจบุคคลอันล้วงมือเข้าไปภายในถลกบาตรอันใส่อยู่กับบาตร เมื่อพิจารณาหนังหน้าผากแล้วพึงพิจารณาหนังมือขวา แล้วจึงพิจารณาหนังมือซ้ายแล้วพิจารณาหนังเท้าเบื้องขวาเบื้องซ้าย พิจารณาถึงมาถึงอก พิจารณาขึ้นมาถึงคอ พิจารณาหนังคางเบื้องต่ำเบื้องบน ถ้าพิจารณาโดยทิศ หนังที่เกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะพิจารณาโดยโอกาส หนังนี้หุ้มอยู่ทั้วทั้งกาย ถ้าจะพิจารณาโดยปริจเฉท เบื้องต่ำเเห่งหนังนั้นกำหนดด้วยพื้นอันเป็นที่ตั้งเบื้องบน กำหนดโดยอากาศ พึงพิจารณาเป็นปฏิกูลพึงเกลียดแห่งหนังดุจกล่าวแล้วในเกศา

   เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณามังสังว่า   สรีเร นา เปสิ สตปฺปเภทํ มงฺสํ   ในกายนี้มีประเภท ๙๐๐ ชิ้น มีสีแดงดุจทองหลางป่า นัยหนึ่งว่าเหมือนดอกทองกวาวมีสัณฐานต่าง ๆ  ชงฺฆมงฺสํ   เนื้อแข็งนั้นมีสัณฐานดังใบตาลห่อข้าว บางอาจารย์ว่ามีสัณฐานดังดอกเกตอันตูม เนื้อขานั้นมีสัณฐานดังลูกศิลาบด เนื้อตะโพกมีสัณฐานดังก้อนเส้า เนื้อหลังมีสัณฐานดังเยื่อตาลสุก เนื้อสีข้างมีสัณฐานดังดินทาฝาฉาง เนื้ออันบุคคลทั้ง ๒ นั้น มีสัณฐานดังก้อนดินทั้งคู่อันบุคคลแขวนไว้ เนื้อแขนทั้ง ๒ นั้น มีสัณฐานดังหนูใหญ่ อันบุคคลตัดหางตัดศีรษะตัดเท้าถลกหนังเสียแล้วและวางซ้อนกันไว้ บางอาจารย์ว่ามีสัณฐานดังเนื้อสุนัข เนื้อแก้มนั้นมีสัณฐานดังเนื้อในกระเบาอันติดอยู่ ในประเทศแห่งแก้ม บางอาจารย์ว่ามีสัณฐานดังกบ เนื้อลิ้นนั้นมีสัณฐานดังกลีบอุบล เนื้อจมูกนั้นมีสัณฐานดังถึงอันบุคคลคว่ำไว้ เนื้อขุมตานั้นมีสัณฐานดังลูกมะเดื่อสุกกึ่ง เนื้อศีรษะนั้นมีสัณฐานดังดินอันบุคคลทากระเบื้องรมบาตรแต่บาง ๆ เมื่อกำหนดไปดังนี้เนื้อที่ละเอียดก็ปรากฏแก่ปรีชาจักษุ

   ทิสโต  ถ้าจะกำหนดโดยทิศ เนื้อนี้เกิดในทิศทั้ง ๒ ถ้าจะกำหนดโดนโอกาสเนื้อนั้นหุ้มอัฐิทั่วทั้ง ๓๐๐ ท่อน พระโยคาพจรพึงพิจารณาเป็นปฏิกูลกัมมัฏฐานว่า มังสังกับอัฐิ ๓๐๐ ท่อนอยู่ด้วยกันก็จริงหารู้จักกันไม่ เปรียบเหมือนฝาอันบุคคลทาด้วยดินปนแกลบ ฝาและดินก็หารู้จักกัน ไม่ใช่สัตว์ใช่บุคคล เป็นสภาวะสูญเปล่า ปริจฺเฉทโต   ถ้าจะว่าโดยเบื้องต่ำแห่งมังสังนั้นก็กำหนดด้วยพื้นแห่งร่างอัฐิ เบื้องบนนั้นกำหนดด้วยหนังโดยขวาง กำหนดด้วยชิ้นแห่งมังสังนั้นเอง   ตโต ปรํ  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาในเส้นว่าเส้นใหญ่ ๆ ๙๐๐ เส้นนั้นมีสีขาว บางอาจารย์ว่ามีสีดังน้ำผึ้ง มีสัณฐานดังดอกคล้าอันตูม เส้นที่เล็กลงไปกว่านั้นมีสัณฐานดังเชือกด้ายดักสุกร เส้นที่เล็กลงไปกว่านั้นมีสัณฐานดังเชือกเขายอดด้วน เส้นที่น้อยลงไปกว่านั้นมีสัณฐานดังพิณชาวสีหฬ ที่น้อยลงไปกว่านั้น มีสัณฐานดังเส้นด้าย เส้นในหลังมือหลังเท้านั้นมีสัณฐานดังเท้านก

   เส้นเหนือศีรษะนั้นมีสัณฐานดังผ้าทุกุลพัสตร์เนื้อห่างอันบุคคลวางไว้เหนือศีรษะทารก เส้นในหลังนั้นมีสัณฐาน ดังแหและอวนอันบุคคลขึงออกตากไว้ในที่อันมีแดด เส้นทั้งหลายย่อมรัดรึงไว้ซึ่งกระดูก ๓๐๐ ท่อนเกี่ยวประสานอยู่ทั่วกรัชกาย ผูกพันกระดูก ๓๐๐ ท่อนนั้นไว้ เปรียบประดุจรูปหุ่นอันบุคคลร้อยไว้ด้วยสายยนต์ เส้นใหญ่ที่แล่นไปตามชายโครงเบื้องซ้ายนั้น ๕ เส้น  เบื้องขวา ๕ เส้น   เส้นใหญ่ทั้งหลายนี้ มีที่สุดเบื้องบนรวมกันที่คอนั้นสิ้น  เส้นใหญ่ที่แล่นออกไปตามแขนซ้ายแขนขวานั้นข้างละ ๑๐ เส้น  คือหน้าแขน ๕ เส้น  หลังแขน ๕ เส้น  เท้าทั้ง ๒ นั้นก็นับได้ข้างละ ๑๐ เส้น  คือท้องขานั้น ๕ เส้น  หลังขานั้น ๕  เส้นผสมเป็นเส้นใหญ่ ๒๐ เส้นด้วยกัน และเส้นที่น้อยลงไปกว่านั้นมีสัณฐานดังด้ายฝั้นก็มี มีสัณฐานดังเถากระพังโหมก็มี เกี่ยวประประสานไว้ซึ่งกระดูกน้อย ๆ ผูกเนื่องเข้ากันเอ็นใหญ่ ถ้าจะว่าโดยโอกาสเส้นนี้เกี่ยวประสานอยู่ทั่วทั้งกรัชกาย

   ถ้าจะว่าโดยปิจเฉทนี้ เส้นนี้มีกำหนดเบื้องต่ำอยู่ในกระดูก ๓๐๐ ท่อน กำหนดเบื้องบนแห่งเส้นตั้งอยู่ในเบื้องขวานั้น มีกำหนดด้วยเส้นเหมือนกัน ให้พระโยคาพจรพิจารณาเป็นปฏิกูลกัมมัฏฐานว่า เส้นกับอัฐิ ๓๐๐ ท่อนผูกพันกันอยู่ก็จริง จะได้รู้จักกันก็หามิได้ เปรียบเหมือนตอกและหวายถักผูกฝาและมิได้รู้จักซึ่งกันและกัน ธรรมทั้งหลายนี้ใช่สัตว์ใช่บุคคลและมีสภาวะสูญเปล่า   ตโต ปรํ  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาอัฐิว่า อัฐินี้มีประมาณ ๓๐๐ ท่อน  คือกระดูกมือ ๖๔   กระดูกเท้า ๖๔   กระดูกอ่อนอาศัยอยู่เบื้องอยู่ในเนื้อนั้น ๖๔   กระดูกส้นเท้านั้น ๒  กระดูกข้อเท้านั้น ๒   รวมทั้ง ๒  ข้างเป็น ๔   กระดูกแข้ง ๒ กระดูกเข่าก็ ๒   ตะโพกก็ ๒  สะเอวก็ ๒  กระดูกสันหลังนั้น ๑๘  กระดูกซี่โครง ๒๔  กระดูกอก ๑๕  กระดูกหัวใจ ๑  กระดูกรากขวัญ ๒  กระดูกไหล่ ๒  กระดูกแขนก็ ๒   กระดูกศอกก็ ๒  รวมทั้ง ๒ ข้างเป็น ๔  กระดูกคอ ๗  กระดูกคาง ๒  กระดูกจมูก ๑  กระดูกกระบอกตา ๒  กระดูกหู ๒  กระดูกหน้าผาก ๑  กระดูกสมอง ๑   กระดูกศีรษะ ๙   อันผสมเป็น ๓๐๐ ท่อน   ด้วยกัน กระดูกทั้งหลายนี้มีสีอันขาว มีสัณฐานนั้นต่าง ๆ กัน

   กระดูกปลายนิ้วเท้านั้นมีสัณฐานดังลูกบัว กระดูกกลางนิ่วเท้านั้นดังเมล็ดขนุนหนัง กระดูกต้นข้อแห่งนิ้วเท้ามีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกนิ้วเท้านั้นมีสัณฐานดังกองแห่งดอกคล้า อันหล่น กระดูกส้นเท้านั้นมีสัณฐานดังหัวตาล กระดูกข้อเท้านั้นมีสัณฐานดังสะเบ้า กระดูกปลายเข้งที่ตั้งลงเหนือส้นเท้านั้นมีสัณฐานดังหน่อเป้ง กระดูกลำแข้งนั้นมีสัณฐานดังคันธนู กระดูกเข่านั้นมีสัณฐานดังคันธนู ดังฟองน้ำมันผุดกลมขึ้นแล้วและมีข้างอันแหว่งไปหน่อยหนึ่ง กระดูกขานั้นมีสัณฐานดังด้ามขวานอันบุคคลถากมิดี กระดูกสะเอวนั้นมีสัณฐานดังเตาเผาหม้อ กระดูกตะโพกนั้นมีสัณฐานดังพังพานงู อันบุคคลคว่ำลงไว้เป็นช่องน้อยช่องใหญ่อยู่ ๗   แห่งก็มี ๘   แห่งก็มี กระดูกหลังนั้นมีสัณฐาน อันกลมดุจแผ่นดีบุกอันบุคคลตัดให้กลมแล้วซ้อน ๆ กันไว้ กระดูกสันหลังนั้นมีตุ่มขึ้นในหว่าง ๆ คือในระหว่างที่จะต่อก้นขึ้นไปนั้นเป็นตุ่ม ๆ เป็นฟัน ๆ ดุจฟันเลื่อยซี่โครงทั้ง ๒๔ ซี่นั้นที่ยาว ๆ นั้นมีสัณฐานดังเคียวทั้งเล่ม ที่สั้น ๆ นั้นมีสัณฐานดังเคียวตัดครึ่งเล่มกลางเล่ม เรียบเรียงกันอยู่โดยลำดับดุจปีกไก่อันกางอยู่นั้น

   แลกระดูกอก ๑๔ นั้นมีสัณฐานดังเรือนคานหามปักครุฑอันคร่ำคร่า กระดูกหทัยนั้นมีสัณฐานดังใบทับทิม กระดูกรากขวัญนั้นมีสัณฐานดังด้ามมีดน้อย ๆ กระดูกไหล่นั้นมีสัณฐานดังจอบชาวสิงหฬอันเกรียนไปข้างหนึ่งแล้ว กระดูกแขนนั้นมีสัณฐานดังด้ามแว่นเวียนเทียน กระดูกข้อมือนั้นมีสัณฐานดังแผ่นดีบุก กระดูกหลังมือนั้นมีสัณฐานดังดอกคล้า กระดูกข้อปลายนิ้วนั้นมีสัณฐานดังลูกเกต กระดูกข้อกลางมือมีสัณฐานดังเมล็ดในขนุนหนัง กระดูกต้นข้อแห่งนิ้วมือนั้นมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกคอทั้ง ๗ นั้นมีสัณฐานดังหน่อไม้ไผ่อันบุคคลตัดให้กลม กระดูกคางเบื้องต่ำนั้นมีสัณฐานดังคีมแห่งนายช่างทอง กระดูกคางเบื้องบนนั้นมีสัณฐานดังมีดเกลาเปลือกหอย กระดูกกระบอกตา กระดูกกระบอกจมูกนั้น มีสัณฐานดังผลตาลอันบุคคลฝานเบื้องบนเสียแล้ว และควักเยื่อเสียให้หมด กระดูกหน้าผากนั้นมีสัณฐานดังเปลือกสังข์ กระดูกหมวกหูนั้นมีสัณฐานดังฝักมีดโกน กระดูกศีรษะนั้นมีสัณฐานดังเปลือกน้ำเต้าอันเก่า ถ้าว่าโดยโอกาส กระดูกศีรษะนั้นตั้งอยู่บนกระดูกคอ ๆ นั้นตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง ๆ นั้นตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว ๆ นั้นตั้งอยู่บนกระดูกขา ๆ นั้นตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง ๆ นั้นตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า

   ถ้าจะว่าโดยปริจเฉทนั้น กำนดด้วยส่วนแห่งตน ๆ ให้พระโยคาพจรพิจารณาเป็นปฎิกูลกัมมัฏฐานเหมือนกับเกศานั้น   ตโต ปรํ  เบื้องหน้าแต่นั้นพึงพิจารณาสมองอัฐิ ถ้าอัฐิใหญ่สทองอัฐิก็มีมาก ถ้าอัฐิเล็กสมองอัฐิก็มีน้อย ถ้าจะว่าโดยสีมีสีอันขาว ถ้าจะว่าโดยสัณฐาน สมองอัฐิอันมีอยู่ในภายในอัฐิใหญ่ ๆ นั้น มีสัณฐานดังยอดหวายใหญ่ ๆ อันเผาไฟให้ร้อนปล้อนเปลือกเสียแล้วและใส่ไปไว้ในปล้องอ้อและปล้องไผ่อันใหญ่ที่อยู่ในอัฐิน้อย ๆ นั้น มีสัณฐานดังยอดหวายน้อย ๆ อันเผาไฟให้ร้อนปล้อนเปลือกออกเสียแล้ว และใส่ไว้ในปล้องอ้อและปล้องไผ่อันน้อย บังเกิดอยู่ในทิศเบื้องต่ำ ตั้งอยู่ภายในอัฐิกับเยื่ออัฐิด้วยกันก็จริง จะได้รู้จักกันก็หามิได้ เปรียบด้วยนมข้น และผาณิตอันอยู่ในไม้ไผ่และไม้อ้อนั้นมิได้รู้จักซึ่งกันและกัน ปราศจากเจตนาเป็นสภาวะสูญเปล่า


    ๑ ปรมัตถมัญชุสา ฏีกาวิสุทธิมรรคว่า กระดูกต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็พูดว่า ๓๐๐ ท่อนฉะนั้น จึงใช้ศัพท์ว่า มตุต-ประมาณ

ต่อ  
  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com