พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑
ปัญญาคนิเทศ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน

   “ อิทานิ ยสฺมา เอวํ อภิญฺญาวเสน อธิคตานิสํสาย ถิรตาย สมาธิภาวนาย สมนฺนาคเตน ภิกฺขุนา สีเล ปติฏฺาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภายนฺติ เอตฺถ จิตฺตสีเสน นิทฺทิฏโ สพฺพกาเรน ภาวิโต โหติ ฯลฯ ”

   บัดนี้จะวินิจฉัยในวิปัสสนากัมมัฏฐานสืบต่อไป

   พระบาลีนี้ เป็นคำแห่งพระพุทธโฆษาจารย์ผู้ตกแต่งคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค สำแดงไว้ในเบื้องต้นแห่งปัญญานิเทศว่าด้วยสมาธิสมเด็จพระพูทธองค์ตรัสเทศนาด้วยจิตเป็นประธานในบาทพระคาถาว่า  ” สีเล ปติฏฺาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ”   นั้น เมื่อพระโยคาพจรภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร จำเริญพระกัมมัฏฐานโดยวิธีที่สำแดงแล้วในสมาธินิเทศ ได้สำเร็จกิจแห่งพระกัมมัฏฐานมีสันดานกอปรด้วยสมาธิภาวนาอันตั้งมั่นโดยพิสดารพิเศษ ได้สำเร็จอานิสงส์คือโลกียอภิญญา ๕ ประการ มีอิทธิญาณเป็นต้น ชำนิชำนาญในวิธีแห่งอภิญญาสิ้นเสร็จแล้วกาลใด พระโยคาพจรภิกษุนั้นก็ได้ชื่อว่าจำเริญพระสมาธิภาวนาสำเร็จเสร็จสรรพด้วยอาการทั้งปวงในกาลนั้น ครั้นเสร็จในสมาธิภาวนาแล้ว ลำดับนั้นพระโยคาพจรภิกษุนั้นพึงจำเริญซึ่งปัญญาสืบต่อขึ้นไป เพื่อจะให้ได้สำเร็จมรรคผลและพระนิพพาน

   และวิปัสสนาปัญญา ที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ในบาทพระคาถา   “ สีเล ปติฏฺาย นโร สปญฺโญ”  เป็นต้น ยังสังเขปย่อนักยากที่กุลบุตรทั้งปวงจะล่วงรู้เห็นได้ แต่เพียงจะให้หยั่งรู้สิยังยากแล้ว ก็จะกล่าวไปไยถึงที่จะจำเริญวิปัสสนานั้นเล่า ดังฤๅกุลบุตรทั้งปวงจักจำเริญได้ เหตุดังนั้น ข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าพุทธโฆษาจารย์จักสำแดงซึ่งวิปัสสนาปัญญานั้นโดยนัยพิสดารในกาลบัดนี้

   พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวคำปฏิญญาฉะนี้แล้ว จึงตั้งเป็นปุจฉาปัญหากรรมไว้ในเบื้องต้นว่า สิ่งดังฤๅได้ชื่อว่าปัญญา

   ซึ่งเรียกปัญญานั้น ด้วยอรรถาธิบายเป็นดังฤๅ

   ลักษณะแลกิจแลผลสันนการณ์แห่งปัญญานั้นเป็นดังฤๅ

   ปัญญานั้นเป็นประการเท่าดังฤๅ

   จักจำเริญปัญญานั้นควรจักจำเริญโดยพิธีดังฤๅ

   สิ่งดังฤๅเป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนา

   พระพุทธโฆษจารย์ ตั้งปุจฉาปัญหากรรมไว้ในเบื้องต้นด้วยประฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคำวิสัชนาแก้คำปุจฉาสืบต่อออกไป

   ในข้อปฐมปุจฉาที่ถามว่า สิ่งดังฤๅชื่อว่าปัญญานั้น วิสัชนาว่าปัญญานี้มีอาการเป็นอันมาก มีอย่างต่าง ๆ มิใช่น้อย มิใช่อย่างเดียว

   สภาวะฉลาดในศิลปศาสตร์วิชาช่างต่าง ๆ ฉลาดในไตรเภทต่าง ๆ เป็นต้นว่า เป็นแพทย์ทายชาตา ทายนรลักษณ์ ทายจันทคาหะ สุริยคาหะ เป็นแพทย์รักษาโรคพยาธิรู้นวดรู้ยา ฉลาดในสรรพวิชาแต่บรรดามีในโลกนี้แต่แล้วล้วนด้วยปัญญาสิ้นทั้งปวง

   โดยกำหนดเป็นที่สุด แต่กิริยาที่ฉลาดในการไร่การนาการค้าขายขวนขวายให้เกิดทรัพย์สมบัตินั้น แต่ล้วนแล้วด้วยปัญญาสิ้นทั้งปวง

   อันจะปรารภประเภทแห่งปัญญาทั้งปวงให้สิ้นเชิงแล้ว และจะวิสัชนาจำแนกแจกออกซึ่งประเภทปัญญาต่าง ๆ นั้น อรรถาธิบายจะฟุ้งซ่านฟั่นเฝื่อเสียเปล่า จะไม่สำเร็จประโยชน์ที่ต้องประสงค์ เหตุใดเหตุดังนั้น ข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าพุทธโฆษาจารย์จะเลือกเอาแต่ปัญญาที่ต้องประสงส์นั้น มาสำแดงเป็นข้อวิสัชนาในภาวนาวิธีที่ข้าพระองค์ประสงค์จะสำแดงบัดนี้

   ในข้อปฐมปุจฉาที่ถามว่า สิ่งดังฤๅชื่อว่าปัญญานั้น นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า วิปัสสนาญาณที่สัมปยุตประกอบด้วยกุศลจิตพิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นแล ได้ชื่อว่าปัญญา

   ในข้อทุติยปุจฉาที่ถามว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่าปัญญา ด้วยอรรถาธิบายเป็นดังฤๅนั้น วิสัชนาว่า

   “ ปชานนตฺเถน ปญฺญา”  ธรรมชาติซึ่งได้นามบัญญติชื่อว่าปัญญานั้น ด้วยอรรถว่าให้รู้โดยประการ

   อธิบายว่า กิริยาที่รู้ชอบ รู้ดี รู้พิเศษ โดยอาการต่าง ๆ นั้นได้ชื่อว่ารู้โดยประการ

   ถ้าจะว่าด้วยธรรมชาติอันมีกิริยาให้รู้นั้น มี ๓ คือสัญญา ๑ วิญญาณ ๑ ปัญญา ๑ ทั้ง ๓ ประการนี้ มีกิริยาให้รู้อารมณ์เหมือนกัน แต่สัญญากับวิญญาณ ๒ ประการนี้ ไม่รู้พิเศษเหมือนปัญญา

   สัญญานั้นให้รู้แต่ว่าสิ่งนี้เขียว นี้ขาว นี้แดง นี้ดำ เพียงเท่านั้น อันจะให้รู้ถึงไตรพิธลักษณะ คือ อนิจัง ทุกขัง อนัตตานั้น สัญญารู้ไปไม่ถึง

   ฝ่ายวิญญาณนั้น ให้รู้จักเขียวแลขาวแลดำ ให้รู้ตลอดถึงไตรธลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วย แต่ว่ามิอาจจะเกื้อหนุนให้ดำเนินขึ้นถึงอริยมรรคอริยผลได้ ส่วนปัญญานั้นให้รู้พิเศษให้รู้จักขาวเขียวแดงดำ ให้รู้จักไตรธิลักษณะทั้ง ๓ แล้วเกื้อหนุนให้ดำเนินขึ้นถึงอริยมรรคอริยผล ให้สิ้นทุกข์สิ้นภัยในวัฏฏสงสารได้

   แท้จริง ธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ สัญญาแลวิญญาณกับปัญญานี้เปรียบเหมือนชน ๓ จำพวกคือ ทารกน้อย ๆ ๑ บุรุษชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่ ๑ ช่างเงินจำพวก ๑ ชน ๓ จำพวกนี้รู้จักกหาปณะแลรูปมาสกไม่เหมือนกัน

   ทารกน้อย ๆ นั้น ได้เห็นกหาปณะแลรูปมาสก ก็รู้แต่ว่าสิ่งนี้งามวิจิตร อันนี้อันนี้อันสั้นอันนี้เหลี่ยมแลกลม รู้แต่เพียงนั้นจะใด้รู้ว่าสิ่งนี้โลกสมมติว่าเป็นแก้วเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งปวง จะได้รู้ฉะนี้หามิได้ ฝ่ายบุรุษชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่นั้น รู้ว่างามวิจิตรรู้ว่ายาวสั้นเหลี่ยมกลม แลรู้แจ้งว่าสิ่งนี้โลกทั้งหลายสมมติว่าเป็นแก้ว เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งปวง รู้แต่เท่านี้จะรู้ว่ากหาปณะอย่างนี้ เนื้อสุก เนื้อบริสุทธิ์ไม่แปดปน อย่างนี้เป็นทองแดง ธรรมเนียมอย่างนี้เนื้อเงินกึงทองแดงกึ่งจะได้รู้ฉะนี้หามิได้

   “ เหรฺญญิโก ”   ส่วนช่างเงินนั้นรู้ตลอดไปสิ้นเสร็จทั้งปวง

   “ โอโลเกตฺวา ชานาติ”   บางคาบแต่พอแลเห็นก็รู้ว่า กหาปณะชาตินี้กระทำในนิคมแลคามเขตชื่อโน้น ๆ กระทำในนครแลชนบทชื่อโน้น ๆ ทำแทบภูเขาแลฝั่งแม่น้ำโน้น ๆ อาจารย์ชื่อนั้น ๆ กระทำ นายช่างเงินรู้ตลอดไปฉะนี้ ด้วยกิริยาที่ได้เห็นรูปพรรณสัณฐานกหาปณะ บางคาบนั้นได้ยินแต่เสียงกาหาปณะกระทบ ก็รู้ว่ากหปณะชาตินี้ทำที่นั้น ๆ ผู้นั้น ๆ ทำบางคาบได้ดมแต่กลิ่นหรือได้ลิ้มแต่รสก็รู้ ได้หยิบขึ้นชั่งด้วยมือก็รู้ นายช่างเงินรู้จักกหาปณะพิเศษกว่าทารกน้อย และบุรุษชาวบ้านผู้เขลาฉันใด ปัญญานี้ก็รู้พิเศษกว่าสัญญาแลวิญญาณมีอุปไมยดังนั้น

   นักปราชญ์พึงสัญนิษฐานว่า นามบัญญัติชื่อว่าปัญญา ๆ นั้นด้วยอรรถว่ารู้ชอบรู้พิเศษ โดยการต่าง ๆ ดังนี้

   ในข้อตติยปุจฉาที่ถามว่า ลักษณะแลกิจแลผลอาสันนการณ์เหตุใกล้แห่งปัญญาเป็นดังฤๅนั้น วิสัชนาว่า

   "ธมฺมสภาวปฏิเวธลกฺขณา”  ปัญญาที่มีลักษณะให้ตรัสรู้ซึ่งสภาวะปกติแห่งรูปธรรมทั้งปวง

   อธิบายว่าอาการไม่เที่ยงไม่แท้กอปรด้วยทุกข์ ที่ไม่เป็นแก่สารใช่ตนใช่ของตน นี่แลเป็นสภาวะปกติแห่งรูปธรรมแลนามธรรม ขึ้นชื่อว่าเกิดมาเป็นรูปธรรมนามธรรมแล้ว ก็มีแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ปราศจากแก่นสารนั้น เป็นปกติธรรมธรรมดา เมื่อนามแลรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่โดยสถาวะปกติดังนี้ วิสัสนาปัญญานั้นให้รู้วิปริตคือจะให้รู้ว่าเที่ยงเป็นสุขเป็นแก่นสาร เป็นตนเป็นของตนนั้นหาบ่มิได้ วิปัสสนาปัญญานั้นให้รู้ชัดให้เห็นแจ่มแจ้งว่า รูปธรรมนามธรรมนี้เป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่แท้โดยปกติธรรมดา กอปรด้วยทุกข์ต่าง ๆ โดยปกติธรรมดา เป็นอนุตตาใช่ตัวตน ใช่ของแห่งตนโดยปกติธรรมดา เพราะวิปัสสนาปัญญานั้นรู้แจ้งรู้ชัดฉะนี้ จึงวิปัสสนาว่า กิริยาที่ให้ตรัสรู้ซึ่งสภาวะปกติเห็นรูปธรรมนี้แลเป็นลักษณะแห่งวิปัสสนาปัญญา

   “ ธมฺมานํ สภาวปฏิจฺฉาทกโมหนฺธการวิทฺธํสนรสา”  ถ้าจะว่าโดยจิตวิปัสสนาปัญญานั้น มีกิจอันขจัดเสียซึ่งมืดคือโมหะ อันปกปิดไว้ซึ่งสภาวะปกติแห่งรูปธรรมทั้งปวง

   อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายแต่บรรดาที่เห็นผิด เห็นว่าสัตว์เที่ยงโลกเที่ยงเห็นว่ามีความผาสุกสนุกสบาย เห็นว่าเป็นตนเป็นของแห่งตนนั้น อาศัยแก่โมหะปิดป้องกำบัง เมื่อโมหะบังเกิดกล้าอกุศลมูลดองอยู่ในสันดานแล้วก็จะเห็นวิปริต ที่ผิดก็กลับเห็นว่าชอบ ที่ชั่วจะกลับเห็นว่าดี นามรูปที่ไม่เที่ยงนั้น ที่กอปรด้วยทุกข์นั้น จะกลับเห็นว่าเป็นแก่นสาร ที่ใช่ตัวใช่ตนนั้น จะกลับเห็นว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุโมหะปกคลุมหุ้มห่อจิตสันดาน โมหะอันทำให้มืดมนอนธการเห็นปานฉะนี้ จะขจัดไปได้นั้นอาศัยแก่วิปัสสนาปัญญา ๆ บังเกิดแล้วกาลใด ก็ให้สำเร็จกิจขจัดมืดคือโมหะได้ในกาลนั้น

   “ อสมฺโมหปจฺจุปฺปฏฺานา ”   ถ้าจะว่าโดยผลนั้น วิปัสสนาปัญญามีกิริยาให้สำเร็จกิจคือมิให้หลง

   อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาปัญญาบังเกิดกล้าเรี่ยวแรงอยู่แล้ว จิตสันดานแห่งพระโยคาพจร ก็จะปราศจากความหลง จะหนักแน่นแม่นยำอยู่ในกิริยาที่รู้ชัดรู้แจ้งว่า นามแลรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิได้กลับหลัง

   “ สมาธิ ตสฺสา ปทฏฺานํ ”   ถ้าจะว่าโดยอาสันนการณ์ คือเหตุที่ใกล้เป็นอุบัติเหตุให้วิปัสสนาปัญญาบังเกิดนั้นมิใช่อื่นไกล ได้แก่สมาธิ สมาธินี่แลเป็นเหตุอันใกล้ สมาธิบังเกิดก่อนแล้ววิปัสสนาปัญญาจึงบังเกิดเมื่อภายหลัง คำว่าสมาธิเป็นอาสันนการณ์เหตุใกล้ให้เกิดวิปัสสนาปัญญานั้น สมควรแก่พระบาลีว่า

   “ สมาหิโต ยถาภูตํ ชานาติ ปสฺสติ ” พระโยคาพจรจะเห็นแท้รู้แน่นั้น อาศัยที่มีจิตสันดานอันตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วกาลใด ก็จะได้วิปัสสนาปัญญาอันเห็นแท้รู้แน่ในกาลนั้น

   สำแดงลักษณะแลกิจแลอาสันนเหตุแห่งวิปัสสนาปัญญา แก้ข้อปุจฉาเป็นคำรบ ๓ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคำวิสัชนาแก้ข้อปุจฉาเป็นคำรบ ๔ สืบต่อไป

   ข้อซึ่งถามว่าปัญญามีประการเท่าดังฤๅนั้น วิสัชนาว่าวิปัสสนานั้นถ้าจะว่าโดยสังเขปมีประการอันหนึ่ง ด้วยสมารถลักษณะที่ให้รู้ชัดรู้แจ้งซึ่งสภาวะปกติแห่งรูปธรรมนามธรรมเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา โดยปกติธรรมดานั้น

   ถ้าจะว่าโดยประเภทวิปัสสนาปัญญานั้น ต่างออกโดยทุกกะ ๕ ติกกะ ๔ จตุกกะ ๒

   ทุกกะ ๕ นั้น ในปฐมทุกกะ จำแนกออกซึ่งปัญญา ๒ ประการ คือ โลกิยปัญญา ๑ โลกุตตรปัญญา ๑

   โลกิยปัญญานั้น ได้แก่ปัญญาอันสัมปยุตด้วยโลกิยมรรถ

   อธิบายว่า ปัญญาอันประกอบในวิสุทธิ ๔ ประการ มีทิฏฐวิสุทธิเป็นต้น มีปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปริโยสาน นั้นแลได้ชื่อว่าปัญญาอันสัมปยุตด้วยโลกิยมรรค จัดเป็น โลกิยปัญญาในที่อันนี้

   แลโลกุตตรปัญญานั้น ได้แก่ปัญญาอันสัมปยุตด้วยโลกุตตรมรรถทั้ง ๔ ประการ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น มีอรหัตตมรรคเป็นปริโยสาน

   ในทุติยทุกกะนั้น จำแนกออกซึ่งปัญญา ๒ ประการ คือ อสวปัญญา ๑ อนาสวปัญญา ๑

   อสวปัญญานั้น ได้แก่ปัญญาอันบังเกิดเป็นอารมณ์แห่งอาสวะ

   อนาสวปัญญานั้น ได้แก่ปัญญาอันมิได้บังเกิดเป็นอารมณ์แห่งอาสวะ

   อธิบายว่า ปัญญาอันเป็นโลกิยะนั้นแลเป็นอารมณ์แห่งอาสวะ

   ปัญญาอันเป็นโลกุตตระนั้น จะได้เป็นอารมณ์แห่งอาสวะมิได้

   ในตติยทุกกะนั้น จำแนกออกซึ่งปัญญา ๒ ประการ คือนามววัตถาปนปัญญา ๑ รูปววัตถาปนปัญญา ๑

   อธิบายว่า ปัญญาแห่งพระโยคาพจร อันปรารถนาซึ่งวิปัสสนาแลกำหนดหมายซึ่งนามขันธ์ทั้ง ๔ กอง คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นั่นแลได้ชื่อว่านามววัตถาปนปัญญา

   แลปัญญาแห่งพระโยคาพจรที่กำหนดกฏหมายรูปขันธ์นั้น ได้ชื่อว่ารูปววัตตถาปนปัญญา

   ในจตุตถทุกกะนั้น จำแจกออกซึ่งปัญญา ๒ ประการ คือโสมนัสปัญญา ปัญญาอัมสัมปยุตเกิดกับดับพร้อมด้วยโสมนัส ๑ อุเบกขาปัญญา ปัญญาอันสัมปยุตเกิดกับดับพร้อมด้วยอุเบกขา ๑

   อธิบายว่า ปัญญาอันบังเกิดพร้อมด้วยกามาพจรกุศลจิต แลปัญญาอันบังเกิดพร้อมมัคคจิต ๑๖ ดวง แต่บรรดาที่ยุติในปฐมฌาน ทุติยฌานฝ่ายปัญญากะนั้นได้ชื่อว่าปัญญาสัมปยุตเกิดกับดับพร้อมด้วยโสมนัส

   แลปัญญาอันบังเกิดพร้อมด้วยกามาด้วยกามาพจรกุศลจิตทั้งปวง แลปัญญาบังเกิดพร้อมด้วยมัคคจิต ๔ ดวง ที่ยุติในปัญญจมฌานนั้นได้ชื่อว่าปัญญาสัมปยุตเกิดกับดับพร้อมด้วยอุเบกขา

   ในปัญจมทุกกะนั้น จำแนกออกซึ่งปัญญา ๒ ประการ คือปัญญาประกอบในทัสสนภูมิ ๑ ปัญญาประกอบในภาวนาภูมิ ๑

   อธิบายว่า ปัญญาที่บังเกิดพร้อมด้วยโสดาปัตติมัคคจิตนั้นแลได้ชื่อว่าปัญญาประกอบในทัสสนภูมิ

   แลปัญญาที่บังเกิดพร้อมสกาคามิมรรค อนาคามิมรรคอรหันตตมรรค นั่นแลได้ชื่อว่าปัญญาในภาวนาภูมิ

   สำแดงประเภทแห่งปัญญาด้วยทุกกะ ๕ ดังนี้ ลำดับนั้นจึงสำแดงประเภทแห่งปัญญาด้วยติกกะ ๔ สืบไป

   ในปฐมติกกะนั้น จำแนกออกซึ่งปัญญา ๓ ประการ คือ จินตามยปัญญาประการหนึ่ง สุตามยปัญญาประการหนึ่ง ภาวนามยปัญญาประการหนึ่ง

   อธิบายว่า ปัญญาอันบังเกิดด้วยอำนาจความคิด หาได้สดับตรับฟัง ถ้อยคำอุปเทศแต่สำนักแห่งผู้อื่นไม่คิด ๆ ไปก็ได้ปัญญาเกิดขึ้นในสันดาน ปัญญาเกิดขึ้นด้วยความคิด สำเร็จด้วยความคิดนั้นได้ชื่อว่าจิตตามยปัญญา

   แลปัญญาอันบังเกิดด้วยสามารถได้สดับอุปเทศแต่สำนักแห่งผู้อื่นให้สำเร็จกิจอันควรแก่ประสงค์ ด้วยอำนาจได้สดับนั้นชื่อว่าสุตมยปัญญา

   แลปัญญาอันบังเกิดด้วยสามารถเจริญภาวนา ให้ถึงซึ่งฌานด้วยอำนาจเจริญภาวนานั้น ได้ชื่อว่าภาวนามยปัญญา ที่ว่าดังนี้สมด้วยพระพุทธฎีกาที่โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ในพระอภิธรรม   “ ตตฺถ กตมา จินฺตามยปญฺญา ฯ เป ฯ” 

   อธิบายความในพระบาลี ที่ตั้งปุจฉาไว้ในเบื้องต้น จินตามยปัญญาที่กล่าวไว้ในปฐมติกกะนั้นเป็นดังฤๅ

   จึงมีคำวิสัชนาว่า การงานทั้งหลาย แต่บรรดาที่ควรจะสำเร็จด้วยอุบายนั้นก็ดี ศิลปศาสตร์แลวิชาความรู้ทั้งหลาย แต่บรรดาที่ควรจะให้สำเร็จด้วยอุบายนั้นก็ดี ถ้าบุคคลมิได้สดับฟังซึ่งอุปเทศแต่สำนักแห่งผู้อื่นเลย แลคิดได้ด้วยกำลังปัญญาแห่งตนรู้ว่าการสิ่งนี้ ๆ ควรจะกระทำอย่างนี้ศิลปศาสตร์สิ่งนี้ ๆ วิชาสิ่งนี้ ๆ สำเร็จด้วยพิธีดังนี้ ๆ แลกิริยาที่คิดได้นั้น คิดได้ด้วยปัญญาดวงใด ปัญญาดวงนั้นแลได้ชื่อว่าจินตามยปัญญา

   ใช่แต่เท่านั้น บุคคลที่ไม่ได้สดับฟังแต่สำนักแห่งผู้อื่นเลย แลคิดได้เองว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกย่อมมีกรรมเป็นของ ๆ ตนกระทำดีก็ดีได้ดี กระทำชั่วก็ได้ชั่ว กระทำไว้อย่างไรก็จะได้อย่างนั้น กระทำดีก็จะดีอยู่แก่ตน กระทำชั่วก็จะชั่วอยู่แก่ตน สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของแห่งตนสิ้นด้วยกัน เมื่อมิได้สดับตรัสฟังเลย แลคิดได้เองดังนี้ด้วยกำลังปัญญาดวงใด ปัญญาดวงนั้นได้ชื่อว่าจินตามยปัญญา

   แลสุตมยปัญญานั้นเป็นดังฤๅ

   วิสัชนาว่า การงานทั้งปวงที่สำเร็จด้วยอุบายนั้น ๆ ก็ดี การพิจารณาเห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นของแห่งตนก็ดีเป็นต้น ต่อได้สดับอุปเทศและคำแนะนำหรือสดับธรรมเทศนาก่อน จึงเกิดปัญญาได้ปัญญาดวงนี้ชื่อว่าสุตมยปัญญา

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com