พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๒

   แลภาวนานามยปัญญานั้นเป็นดังฤๅ

  วิสัชนาว่าปัญญาแห่งพระโยคาพจรที่บังเกิดขึ้น ในขันธสันดานในกาลเมื่อยับยั้งอยู่ในฌานสมาบัตินั้น ได้ชื่อว่าภาวนามยปัญญา

  ในทุติยติกกะนั้นสำแดงปัญญา ๓ ประการ คือ ปริตตารัมมณปัญญา ๑ มหัคคตารัมมณปัญญา ๑ อัปปมาณารัมมณปัญญา ๑

  ปัญญาที่ปรารภรำพึงซึ่งธรรมทั้งหลายแต่บรรดาที่เป็นรูปาวจรธรรม แลอรูปวจรธรรมนั้น ยึดหน่วงเอาเป็นอารมณ์แล้วแลฟระพฤติเป็นไปในสันดานนั้น ได้ชื่อว่าปริตตรัมมณ แลมหัคคตารัมมณปัญญา

  เป็นใจความว่า ปริตตารัมมณปัญญาแลมหัคคตารัมมณปัญญาทั้งสองนี้ ได้แก่โลกียวิปัสสนาสิ้นเสร็จทั้งปวง แต่บรรดาที่บังเกิดในสันดานแห่งพระโยคาพจรที่เป็นปุถุชน

  ส่วนอัปปมาณารัมมณปัญญานั้น ได้แก่ปัญญาอันปรารภรำพึงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วประพฤติเป็นไปในสันดาน ได้แก่โลกุตรวิปัสสนาที่มีในสันดานของพระเสขบุคคลทั้งปวง

  ในตติยติกกะนั้น สำแดงปัญญา ๓ ประการ คือ อายโกศลปัญญา ๑ อปายโกศลปัญญา ๑ อุปายโกศลปัญญา ๑

  ปัญญาอันใดในความเจริญ ปัญญาอันนั้นได้ชื่อว่าอายโกศลปัญญา

  อายะนั้น แปลว่าความเจริญ ลักษณะแห่งความเจริญนั้นมี ๒ ประการ คือ

   “อนตฺถหานิโต”  ความเจริญบังเกิดแล้วขจัดเสียซึ่งความพินาศยังอัปมงคลให้เสื่อมสูญประการ ๑

   “ อตฺถุปฺปตฺติโต”  ความจำเริญอันเกิดภายหลัง ให้กำลังแก่ความจำเริญที่เกิดก่อน ยังสิริสวัสดิมงคลที่เกิดแล้ว ให้ภิยโยภาพวัฒนาประการ ๑

  อธิบายนี้ สมด้วยพระพุทธฎีกา ที่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าตรัสเทศนาไว้ว่า

   “ ตตฺถ กตมํ อายโกสลฺลํ อิเม ธมฺเม มนสิกโรโต อนุปฺแนฺนา เจว อกุสลา ธมฺมา น อุปฺปชฺชนฺติ ฯเปฯ อยํ วุจฺจติ อายโกสลฺลํ”

  เนื้อความว่าบรรดาธรรมทั้งหลายที่เราตถาคตเทศนาไว้ในปัญญานิเทศนั้น สิ่งดังฤๅได้ชื่อว่าอายโกศล ตรัสปุจฉาฉะนี้แล้วจึงตรัสวิสัชนาว่าปัญญาที่บังเกิดในสันดานแห่งพระโยคาพจร ยังพระโยคาพจรให้เห็นแจ้งรู้มิได้ลุ่มหลง ให้พิจารณาเห็นชัดเห็นชอบ ให้เห็นเป็นอันดี อาตมากระทำมนสิการภาวนาซึ่งธรรมสิ่งนี้ ๆ ไว้ในสันดาน อกุศลธรรมทั้งหลายแต่บรรดาที่ยังมิได้บังเกิดนั้น อาตมาก็สละเสียได้ให้ปราศจากขันธสันดาน เมื่ออาตมากระทำมนสิการภาวนาซึ่งธรรมสิ่งนี้ ๆ กุศลธรรมทั้งหลายแต่บรรดาที่ยังมิได้บังเกิดนั้น ก็บังเกิดขึ้นในสันดาน ที่บังเกิดแล้วนั้น ก็วัฒนาภิยโยภาพ ไพบูลย์เป็นอันดีปัญญาฉลาดเห็นแจ้งรู้แจ้งไม่ลุ่มหลงเห็นชัดเห็นชอบเห็นเป็นอันดีอย่างนี้แหละพระตถาคตตรัสเรียกชื่อว่าอายโกศล

  เป็นใจความว่า ปัญญาที่ฉลาดในมนสิการภาวนาซึ่งธรรมอันเป็นปัจจัย ให้บังเกิดความจำเริญนั้นแลได้ชื่อว่า อายโกศลปัญญา

  แลอปายโกศลปัญญานั้นเป็นดังฤๅ

  อธิบายว่า ปัญญาอันฉลาดในที่พิจารณา เป็นเค้ามูลแห่งฉิบหายนั้น แลได้ชื่อว่า อปายโกศลปัญญา

  อปายะ ๆ นั้น แปลว่าความฉิบหาย ลักษณะแห่งความฉิบหายนั้นมีสองประการ คือ

   “อตฺถหานิโต” ความฉิบหายบังเกิดแล้ว ยังความเจริญให้เสื่อมสูญ ๑

   “อตฺถุปฺปตฺติโต”  ความฉิบหายบังเกิดภายหลัง ให้กำลังแก่ความฉิบหายที่บังเกิดก่อน ยังความฉิบหายที่บังเกิดอยู่แล้วน้อย ๆ นั้นให้ภิยโยภาพ ๑

  อธิบายฉะนี้ สมเด็จพระพุทธฎีกา ที่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าตรัสเทศนาว่า

   “ตตฺถ กตมํ อปายโกสลฺลํ อิเม ธมฺเม มนสิกโรโต อนุปฺปนฺนา เจว กุสลา ธมฺมา น อุปฺปชฺชนฺติ”   เป็นต้น

  อธิบายว่าธรรมทั้งหลาย แต่บรรดาที่พระตถาคตตรัสเทศนาในปัญญานิเทศนั้น สิ่งดังฤๅได้ชื่อว่า อปายโกศล ๆ นั้นจะได้แก่สิ่งดังฤๅ

  ตรัสปุจฉาฉะนี้แล้ว จึงตรัสวิสัชนาว่า ปัญญาที่บังเกิดในสันดานแห่งพระโยคาพจร ยังพระโยคาพจรให้เป็นแจ้งรู้แจ้งมิได้ลืมหลงฟั่นเฟือนให้พิจารณาเห็นชัดเห็นชอบ ให้เห็นเป็นอันดีว่าอาตมากระทำมนสิการซึ่งธรรมสิ่งนี้ ๆ ไว้ในสันดาน กุศลธรรมทั้งหลายแต่บรรดาที่ยังมิได้บังเกิดไม่บังเกิดขึ้นเลย ที่บังเกิดแล้วนั้นก็เสื่อมสูญอันตรธานไปจากสันดานมิได้วัฒนาการจำเริญอยู่เป็นอันดี ปัญญาที่ฉลาดรู้ชัดรู้ชอบรู้จักแท้ซึ่งปัจจนิกธรรมอันเป็นปัจจัยให้บังเกิดความฉิบหายอย่างนี้ พระตถาคตตรัสเรียกชื่อว่าอปายโกศลปัญญา

  แลอุปายโกศลปัญญานั้นเป็นดังฤๅ

  อธิบายว่า ปัญญาอันมีสภาวะให้ฉลาด บังเกิดสมควรแก่เหตุประพฤติเป็นไปในขณะเมื่อมีเหตุ กระทำให้สำเร็จอุบายต่าง ๆ แต่บรรดาที่เป็นอุบาย ให้เกิดความสุขแลประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นได้ชื่อว่าอุปายโกศลปัญญา

  ในจตุตถติกะนั้น ก็สำแดงปัญญา ๓ ประการ คือ อัชฌัตตาภินิเวสปัญญา ๑ พหิหธาภินิเวสปัญญา ๑ อัชฌัตตพหิทธาภินิเวสปัญญา ๑

  ปัญญาอันกำหนดหมายซึ่งขันธปัญจกแห่งตน ถือเอาเป็นขันธปัญจกภายในกายแห่งตนเป็นอารมณ์แล้ว แลปรารภพึงพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตานั้น ได้ชื่อว่าอัชฌัตตาภินิเวสปัญญา

  แลปัญญาอันกำหนดหมายซึ่งขันธปัญจกนอกคือ ถือเอาขันธปัญจกแห่งผู้อื่นเป็นอารมณ์แล้ว แลปรารภรำพึงพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตานั้นก็ดี ถือเอารูปอันเป็นภายนอกที่มิได้เนื่องด้วยชีวิตินทรีย์นั้นเป็นอารมณ์แล้ว แลปรารภรำพึงพิจาณาให้เห็นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตานั้นก็ดี ปัญญาอย่างนี้แลได้ชื่อว่า พหิทธาภินิเวสปัญญา

  แลปัญญาที่ถือเอาขันธปัญจก ทั้งภายในแลภายนอกเป็นอารมณ์แล้ว แลปรารภรำพึงพิจารณาให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ได้ชื่อว่าอัชฌัตตพหิทธาภินิเวสปัญญา

  พระผู้เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อสำแดงประเภทแห่งปัญญาด้วยติกกะทั้ง ๔ มีนัยดังวิสัชนามาฉะนี้ ลำดับนั้นจึงสำแดงประเภทแห่งปัญญาด้วยจตุกกะทั้งสองสืบต่อไป

  ในปฐมจตุกกะนั้น สำแดงปัญญา ๔ ประการ คือ ทุกขสัจจญาณ ๑ ทุกขสมุทยญาณ ๑ ทุกขนิโรธญาณ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ ๑

  ปัญญาอันปรารภรำพึงเอาทุกขสัจจ์เป็นอารมณ์แล้ว แลประพฤติเป็นไปในสันดานนั้น ได้ชื่อว่าทุกขสัจจญาณ

  ปัญญาที่ปรารภพึงเอาตัญหาอันเป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์นั้นเป็นอารมณ์แล้ว แลประพฤติเป็นไปในสันดานนั้น ได้ชื่อว่าทุกขสมุทยญาณ

  ปัญญาที่ปรารภรำพึงเอาพระนฤพานเป็นอารมณ์ แล้วแลประพฤติเป็นไปในสันดานนั้น ได้ชื่อว่าทุกขนิโรธญาณ

  ปัญญาที่ปรารภรำพึงเอาข้อปฏิบัติ อันจะให้ถึงซึ่งพระนิพพานเป็นที่ดับทุกข์นั้นเป็นอารมณ์แล้ว แลประฟฤติเป็นไปในสันดานนั้น ชื่อว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ

  ในทุติยจตุกกะนั้นสำแดงปัญญา ๔ ประการ คือ อัตถปฎิสัมภิทาญาณ ๑ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ๑ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิภาน ปฏิสัมภิทาญาณ ๑ อธิบายในปัญญา ๔ ประการนี้ สมเด็จพระพุทธองค์โปรดประทานพระธรรมเทศนาไว้ว่า

   “อตฺเถ ญาณํ”  ปัญญาที่เห็นแจ้งรู้แจ้งในอรรถ แตกฉานในอรรถขึ้นใจขึ้นปากในอรรถนั้นได้ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทาญาณ

  ในบทว่า อัตถ ๆ นั้นเป็นชื่อแห่งผล ปัญญาที่เห็นแจ้งรู้แจ้งว่าผลสิ่งนั้น ๆ จะบังเกิดมีนั้น อาศัยแก่เหตุสิ่งนี้ ๆ เมื่อเหตุมีชื่อดังนี้ ๆ บังเกิดมีแล้ว ผลมีชื่อดังนี้ ๆ จึงจะบังเกิดมี ปัญญากล้าหาญแตกฉานในสรรพผลทั้งปวง รู้ชำนิชำนาญขึ้นใจขึ้นปากในสรรพผลทั้งปวงนี้แลได้ชื่อว่า อัตถ ปฏิสัมภิทาญาณ

  แลปัญญาเห็นแจ้งรู้แจ้งในเหตุว่าสิ่ง ๆ ให้บังเกิดผลสิ่งนี้ ๆ ปัญญากล้าหาญแตกฉานในสรรพเหตุทั้งปวง รู้ชำนิชานาญขึ้นปากในสรรพเหตุทั้งปวงนั้นได้ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ

  ถ้าจะแสดงโดยประเภทนั้น ในบทว่า อัตถ ๆ นั้นได้แก่ธรรม ๔ ประการ คือ

   “ยํ กิญฺจิ ปจฺจยสมฺภูตํ” สรรพผลทั้งปวงแต่บรรดาที่บังเกิดแต่เหตุทีมีทุกขสัจจ์เป็นต้นนั้น ๑   “นิพฺพานํ นฤพานธรรม ๑   “ ภาสิตตฺโถ”  อรรถกถาแต่บรรดามีในพระไตรปิฎก ๑   “ วิปาโก” วิปากจิต ๑   “ กิริยา”  กิริยาจิต ๑ เป็น ๕ กองด้วยกันได้นามชื่อว่าอัตถสิ้น

   “ตํ อตฺถํ ปจฺจเวกฺขนฺตสฺส”  เมื่อพระอริยบุคคล พิจารณาซึ่งอรรถ คือ ธรรม ๔ กองนี้แลปัญญากล้าหาญแตกฉานในพระธรรม ๕ กองนี้ ไม่ขัดไม่ข้องแล้วกาลใด ปัญญานั้นก็ได้ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทาญาณในกาลนั้น

   แลธัมมปฏิสัมภิทาญานนั้นเล่า  ถ้าจะสำแดงโดยประเภทในบทว่าธัมมะ ๆ ก็ได้แก่ธรรม ๕ กอง คือ

   “ โย โกจิ ผลนิพฺพตฺตโก เหตุ” เหตุสรรพทั้งปวงแต่บรรดาที่ให้บังเกิดผลมีต้นว่าสมุทัยสัจจ์ ๑  “ อริยมคฺโค”   อริยมรรคนั้น ๑  “ ภาสิต”  พระบาลีทั้งปวงแต่บรรดาที่มีในพระไตรปิฏกนี้ ๑   “ อกุสสํ” กุศลจิต ๑  “ กุสลํ” อกุศลจิต ๑ รวมเป็น ๕ กองด้วยกันได้ชื่อว่าธัมมะทั้งสิ้น

   “ ตํ ธมฺมํ ปจฺจเวกฺขนฺตสฺส” เมื่อพระอริยบุคคลพิจารณาซึ่งธรรมทั้ง ๕ นี้ แลปัญญากล้าหาญแตกฉานในธัมมะ ๕ กองนี้ ไม่ขัดไม่ข้องแล้วในกาลใด ปัญญานั้นได้ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทาญานในกาลนั้น

   นักปราชญ์พึงรู้อรรถาธิบายตามนัยพระอรรถกถาจารย์ จำแนกออกไว้ในพระอภิธรรมกถาโดยนัยเป็นต้นว่า

   “ทุกฺเข ญาณํ” ปัญญาที่แตกฉานเห็นแจ้งรู้แจ้งในกองทุกข์มีชาติทุกข์เป็นต้น ได้ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในผลเพราะเหตุว่ากองทุกข์ทั้ง ๑๒ กอง มีชาติทุกข์เป็นต้นนั้นเป็นผลแห่งตัณหา ตัณหาเป็นเหตุให้บังเกิด

   ปัญญาที่แตกฉานรู้แจ้งเห็นในตัณหา อันมีประเภท ๑๐๘ ประการนั้น ได้ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในเหตุ เพราะเหตุว่าตัณหานั้นเป็นมูลเหตุให้บังเกิดผล คือกองทุกข์สิ้นทั้งปวง

   “ชรามรเณ ญาณํ”  อนึ่ง ปัญญาที่แตกฉานรู้แจ้งเห็นแจ้งในชราแลมรณะนั้นได้ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในผลเพราะเหตุว่าชรามรณะนั้น เป็นผลแห่งตัณหาบังเกิดแต่เหตุ คือ ตัณหา

   แลปัญญาแตกฉานเห็นแจ้งรู้แจ้งในตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดชรา แลมรณะนั้น ได้ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในเหตุเพราะว่าตัญหาเป็นมูลเหตุให้บังเกิดผลคือ ชราแลมรณะนั้น

   “ทุกฺขนิโรเธ ญานํ”  อนึ่งปัญญาที่แตกฉานเห็นแจ้งรู้แจ้งในกิริยาที่ดับสูญแห่งสังขารธรรมทั้งปวงนั้น ได้ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในผล เพราะว่ากิริยาที่ดับสูญแห่งสังขารธรรมทั้งปวงเป็นผลแห่งนิโรธคามินีปฏิบัติบังเกิดแต่เหตุ คือนิโรธคามินีปฏิปทา

   แลปัญญาที่แตกฉานรู้แจ้งเห็นแจ้งในนิโรธคามินีปฏิปทา กล่าวคือพระอัฏฐังคิกมรรคนั้น ได้ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในเหตุเพราะว่าอัฏฐังคิกมรรคนี้ เป็นมูลเหตุให้บังเกิดผลคือกิริยาอันดับแห่งสังขารธรรมทั้งปวง

   อนึ่ง ปัญญาแตกฉานในพระบาลีที่สำแดงวังคสัตถุศาสนาทั้ง ๙ มีสุตตตะเป็นอาทินั้น ได้ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในเหตุเพราะเหตุว่านวังคสัตถุศาสนานี้เป็นมูลเหตุบังเกิดผล คือพระอรรถกถา

   แลปัญญาที่แตกฉานในพระอรรถกถา เห็นแจ้งรู้แจ้งอรรถอันนี้แก้พระบาลีอันนี้ อรรถอันนี้แก้พระคัมภีร์อันนี้ ปัญญารู้แจ้งฉะนี้ ได้ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในผล เพราะเหตุว่าพระอรรถกถานั้น เป็นผลแห่งนวังคสัตถุศาสนา บังเกิดแต่เหตุคือนวังคสัตถุศาสนา

   อนึ่ง ปัญญาที่แตกฉานในกุศลจิต อกุศลจิตเห็นแจ้งตามพระบาลี คือ

   “ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ โหติ”  เป็นอาทินั้นได้ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในเหตุเพราะเหตุว่ากุศลจิตแลอกุศลจิตนั้นเป็นมูลเหตุให้บังเกิดบากจิตทั้งปวง โดยควรแก่กำลังที่กล้าแลอ่อนแลปานกลางนั้น

   แลปัญญาที่แตกฉานเห็นแจ้งรู้แจ้งในวิบากแห่งกุศล แลอกุศลทั้งปวงนั้น ได้ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในผล เพราะเหตุว่าวิบากจิตทั้งปวงนั้นเป็นผลแห่งกุศลแลอกุศล บังเกิดแต่เหตุคือกุศลแลอกุศล

   แลนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณนั้น ได้แก่ปัญญาอันเห็นแจ้งรู้แจ้งแตกฉานในวิคคหะแห่งพระบาลีที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ด้วยมูลภาษา คือ ภาษามคธนั้น แต่พอได้ยินผู้อื่นกล่าวซึ่งบาลีก็รู้ชัดรู้สันทัดว่าพระบาลีสภาวะนิรุตติ คือมีวิคคหะเป็นปกติมิได้วิปริต พระบาลีบ่มิเป็นสภาวะนิรุตติ คือมีวิคคหะอันวิปริตบ่มิได้เป็นปกติ รู้ในวิคคหะแห่งพระบาลีสันทัดฉะนี้ด้วยอำนาจนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ

   “นิรุตฺติปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต” แท้จริงพระอริยบุคคลที่ถึงซึ่งนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ แต่พอได้ยินผู้อื่นกล่าวพระบาลีมีต้นว่า

   “ ผสฺโส เวทนา” ก็รู้แจ้งว่าพระบาลีเป็นสภาวะนิรุตติ กล่าวโดยมคธภาษาปกติ มีวิคคหะเป็นปกติ มิได้วิปริตแปรปรวน ถ้าได้ยินผู้อื่นกล่าวว่า  “ผสฺโส เวทนา”  ก็รู้แจ้งว่าพระบาลีนี้วิปริตเป็นบาลีหย่อนวิคคหะมิได้เป็นปกติ ปัญญารู้แจ้งแตกฉานในวิคคหะตลอดทั่วไปในพระไตรปิฏกนี้แล ได้ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ

   แลปฏิสัมภิทาญาณนั้น ได้แก่ปัญญาที่ยึดหน่วงเอาปัญญาเป็นอารมณ์แล้ว แลเป็นไปไม่ขัดข้อง เหมือนอย่างพระภิกษุที่เรียนพระวินัยปิฎกสิ้นแล้ว แลพิจารณาซึ่งพระวินัยปิฎกที่ตนเรียนในภายหลัง ได้ชื่อว่าปัญญายึดหน่วงเอาปัญญาเป็นอารมณ์แล้วแลเป็นไปในกาลเมื่อพิจารณา ซึ่งพระวินัยที่ตนเรียนแล้ว แลเห็นรู้แจ้งเห็นแจ้งไม่ขัดข้อง แตกฉานตลอดเบื้องต้นแลเบื้องปลาย สมควรกันเป็นอันดีนั้นรู้ว่าด้วยปัญญาอันใด ปัญญาอันนั้นได้ชื่อว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

   แม้ถึงพระสูตรพระปรมัตถ์ แลสัททาวิเศษทั้งปวงนั้นก็ดี เมื่อเรียนรู้เสร็จสิ้นสำเร็จแล้ว แลพินิจพิจารณาในภายหลังนั้นได้ชื่อว่าปัญญายึดหน่วงเอาปัญญาเป็นอารมณ์

   การเมื่อพิจารณา พระสูตรพระปรมัตถ์ สัททาวิเศษที่เรียนแล้ว แลเห็นแจ้งชัดไม่ขัดข้องแตกฉานตลอดเบื้องต้นแลเบื้องปลาย สมกันเป็นอันดีนั้น รู้ด้วยปัญญาดวงใด ปัญญาดวงนั้นได้ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณเหมือนกัน

   นัยหนึ่งว่า ปัญญาที่รู้ในบาลีแลอรรถกถาแลบทวิเคราะห์สิ้นทั้งปวงนั้น เมื่อรู้โดยพิศดารเป็นต้นว่ารู้โดยกิจแลผล รู้กับด้วยอารมณ์แตกฉานสันทัด พิจารณาเห็นบาลีแลอัตถแลบทวิคคหะทั้งปวงนั้นตลอดกันไม่มืดมัวสว่างกระจ่างทั้งเบื้องต้นแลท่ามกลางแลเบื้องปลาย สมควรกันเป็นอันดีนี้แลได้ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

   “จตสฺโสปิ เจตา ปฏิสมฺภิทา”  แลปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นี้ ย่อมถึงซึ่งแตกฉานในภูมิทั้ง ๒ คือ เสขภูมิ ๑ อเสขภูมิ ๑

   อธิบายว่า ปฏิสัมภิทาญาณที่แตกฉานในสันดานแห่งพระอัครสาวกและพระสาวกทั้งปวงนั้น ได้ชื่อว่าปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในอเสขภูมิ

   ปฏิสัมภิทาญาณ ที่แตกฉานในสันดาน แห่งพระเสขบุคคลเป็นต้นว่า พระอานนท์เถระ แลจิตคฤบดี แลธัมมิกอุบาสก แลอุบาลีคฤหบดี แลนางขุชชุตตราอุบาสิกานั้น ได้ชื่อว่าปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในเสขภูมิ

   “ปญฺจหากาเรหิ วิสทา โหนฺติ” แลปฏิสัมภิทาญาณจะแกล้วกล้าสละสลวยนั้น อาศัยแก่การประกอบด้วยอาการ ๕ ประการ

   “อธิคเมน”  คือถึงพระอรหัตต์ มิฉะนั้นก็ถึงซึ่งพระโสดา พระสกทาคา พระอนาคา จัดเป็นอาการอัน ๑

   “สวเนน”  คือมีประโยชน์ด้วยสดับตรับฟัง แล้วแลอุตสาห์ฟังพระธรรมเทศนาด้วยสจจคารวะ จัดเป็นอาการ ๑

   “ปริปุจฺฉาย” คือกล่าววินิจฉัยพิพากษา ซึ่งอรรถอันรู้ยาก แลอธิบายอันรู้ยาก แต่บรรดามีในพระบาลีแลอรรถกถาเป็นอาทินั้น จัดเป็นอาการอัน ๑ “ปุพฺพโยเคน” คือในบุรพชาติแต่ก่อน ได้บำเพ็ญพระวิปัสสนาในสำนักแห่งพระพุทธเจ้า ได้จำเริญกลับไปกลับมา คือเจริญตั้งแต่บุรพภาควิปัสสนาขึ้นไป ตราบเท่าถึงสังขารุเปกขาญาณ อันเป็นที่ใกล้อนุโลมชวนะแลโคตรภูขวนะนั้น แล้วเจริญถอยหลังลงมา ตราบเท่าถึงบุรพภาควิปัสสนานั้นเล่า อย่างนี้แลได้ชื่อว่าเจริญกลับไปกลับมา

   นัยหนึ่งโยคาพจรภิกษุ เจริญวิปัสสนานั้นหาได้เจริญถอยลงมาไม่ แต่ทว่าเมื่อเวลาจะไปบิณฑบาตนั้น ก็จำเริญตั้งแต่ที่อยู่ไปตราบเท่าถึงโคจรคาม เมื่อจะกลับมาอารามก็เจริญตามตั้งแต่โคจรคามตราบเท่าถึงที่อยู่อย่างนี้ได้ชื่อว่า เจริญกลับไปกลับมา

   เป็นใจความว่า สภาวะได้เจริญวิปัสสนาในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้น ได้ชื่อว่าบุรพประโยค จัดเป็นอาการอัน ๑

   สิริด้วยกันเป็นอาการ ๕ เป็นปัจจัยให้ปฏิสัมภิทาญาณแกล้วกล้าสละสลวย

   มีคำอปราจารย์คืออาจารย์อื่นอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่าปฏิสัมภิทาปัญญาจะแกล้วกล้าสละสลวยนั้น อาศัยแก่การประกอบด้วยอาการ ๘ ประการ คือ

   “ปุพฺพปโยโค”  ได้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนนั้น ๑

   “พาหุสจฺจํ” สภาวะฉลาดในคัมภีร์ต่าง ๆ แต่บรรดาหาโทษมิได้แลฉลาดในศิลปศาสตร์ต่าง ๆ แต่บรรดาที่ปราศจากโทษนั้น ๑

   “เทสภาสา” สภาวะฉลาดในภาษา ๑๑ หรือฉลาดแต่ภาษามคธอย่างเดียว ก็จัดเป็นความฉลาดในเทศภาษาได้ ๑

   “อาคโม” สภาวะเรียนซึ่งพระพุทธวจนะได้ ไม่มากสักว่าเรียนได้แต่ยมกวรรค ในคัมภีร์พระธรรมบทนั้นก็จัดได้ชื่อว่า เรียนพระพุทธวจนะ ๑

   “ปริปุจฺฉา” ไต่ถามซึ่งข้อพิพากษา ในอารรถกถาทั้งปวง แต่บรรดามีพระไตรปิฎกนั้น ๑

   “อธิคโม” สภาวะซึ่งได้มรรคแลผลมีพระโสดาเป็นต้น มีพระอรหัตต์เป็นที่สุดนั้น ๑

   “ครุสฺสนฺนิสฺสโย” สภาวะอยู่ในสำนักแห่งครูที่มากไปด้วยสดับตรับฟัง มากด้วยปัญญาปรีชาฉลาดนั้น ๑

   “ตถา มิตฺตสมฺปตฺติ” สภาวะคบหากัลยามิตร อันเป็นพหูสูตรกอปรด้วยสติคารวะปัญญาอันมากนั้น ๑

   อาการทั้ง ๘ นี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้ปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาแกล้วกล้าสละสลวย สิ้นคำอปราจารย์แต่เท่านี้

   “พุทธา จ ปจฺเจกพุทฺธา จ” สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แลพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงนั้น ย่อมถึงปฏิสัมภิทาด้วยอาการ ๒ ประการ

   คือบุพพปโยค ได้บำเพ็ญพระวิปัสสนาไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้นประการ ๑

   อธิคมะ ได้สำเร็จมรรคแลผลมีพระโสดาเป็นอาทิ มีพระอรหัตต์เป็นปริโยสานประการ ๑ เป็น ๒ ประการด้วยกัน

   “สาวกสาวิกา” ฝ่ายพระสาวกสาวิกาทั้งปวงนี้ ถึงซึ่งปฏิสัมภิทาด้วยอาการ ๕ แลอาการ ๘ โดยนัยที่กล่าวแล้วแต่หลัง

   อนึ่ง ปัญญาที่ให้สำเร็จเพียรในกรรมฐานภาวนานี้ ก็นับเข้าในปฏิสัมภิทาปัญญานี้เอง จะได้ต่างออกไปจากปฏิสัมภิทาปัญญานี้หาบ่มิได้

   แลกาลเมื่อจะถึงซึ่งปฏิสัมภิทาปัญญานั้น พระเสขบุคคลถึงปฏิสัมภิทาในที่สุดแห่งเสขผลสมาบัติคือ โสดาปัตติผลญาณแลสกทาคามิผลญาณแลอนาคามิผลญาณ

   ฝ่ายพระอเสขบุคคลนั้น ถึงปฏิสัมภิทาในที่สุดแห่งอเสขผลสมาบัติ คือพระอรหัตตผลญาณ

   ได้ใจความว่า ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ จะเกิดแก่พระโสดาบันบุคคลนั้นย่อมเกิดในที่สุดแห่งโสดาปัตตผลญาณ เกิดแก่พระสกทาคามิบุคคลในที่สุดแห่งสกทาคามิผลญาณ เกิดแก่พระอนาคามิบุคคลในที่สุดแห่งอนาคามิผลญาณ เกิดแก่พระอรหันตบุคคลในที่สุดแห่งอรหัตตผลญาณ

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าสำแดงประเภทแห่งปัญญาด้วยทุกกะ ๕ ติกกะ ๔ จตุกกะ ๒ วิสัชนาในข้อปุจฉาเป็นคำรบ ๔ ที่ถามว่าปัญญามีอาการมากน้อยเท่าดังฤๅนั้นจบแล้ว จึงวิสัชนาในข้อปุจฉาเป็นคำรบ ๕ สืบต่อไป

   ข้อที่ถามว่าปัญญานั้น ควรจักจำเริญด้วยพีธีดังฤๅ

   ข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าสำแดงข้อวิปัสสนาว่า

   “ยสฺมา อิมาย ปญฺญาย ขนฺธายตนอินฺทฺริยสจฺจสมุปฺปา ทาทิเภทา ธมฺมา ภูมิสีลวิสุทฺธิ เจวจิตฺตวิสุทธิจาติ อิมา เทฺว วิสุทฺธิโย มูลํ ฯ เป ฯ ปญฺจ วิสุทฺธิโย สมฺปาเทนฺเตน ภาเวตพฺพา”

   อธิบายว่า พระโยคาพจรผู้มีศรัทธา ประสงค์จักจำเริญวิปัสสนาภาวนานั้น พึงตั้งธรรม ๖ กองไว้เป็นพื้นก่อน

   ธรรม ๖ กองนั้น คือ ขันธ์กอง ๑ อายตนะกอง ๑ ธาตุกอง ๑ อินทรีย์กอง ๑ อริยสัจกอง ๑ ปฏิจจสมุปบาทเป็นอาทิกอง ๑ รวมเป็น ๖ กองด้วยกัน

   กองที่เป็นปฐมที่ ๑ นั้น ได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕ ประการ มีรูปขันธ์เป็นอาทิ กองที่ ๒ นั้นได้แก่อายตนะ ๑๒ ประการ มีจักขวายตนะเป็นอาทิ กองคำรบ ๓ นั้นได้แก่ธาตุ ๑๘ ประการ มีจักขุธาตุเป็นต้น กองคำรบ ๔ นั้นได้แก่อินทรีย์ ๒๒ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิ กองคำรบ ๕ นั้นได้แก่อริยสัจจธรรม ๔ ประการ กองคำรบ ๖ นั้นได้แก่ปฏิจจสมุปบาทธรรมมีอวิชชาเป็นทิ อาหาร ๔ ประการมีกวฬิงการาหารเป็นอาทิก็นับเข้าในกองคำรบ ๖

   เมื่อพระโยคาพจรตั้งธรรม ๖ กองไว้เป็นพื้น คือพิจารณาให้รู้จักลักษณะแห่งธรรม ๖ กอง ยึดหน่วงเอาธรรม ๖ กองนี้เป็นอารมณ์ได้ลำดับนั้นพึงเอาศีลวิสุทธิมาเป็นราก บำเพ็ญศีลบำดพ็ญสมาธิให้ได้สำเร็จเป็นอันดีแล้ว จึงจำเริญวิสุทธิ ๕ ประการสืบต่อขึ้นไปโดยลำดับเอาทิฏฐิวิสุทธิแลกังขาวิตรณวิสุทธิเป็นเท้าซ้ายเท้าขวา เอามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแลปฏิปทาญาณทัสสวิสุทธิเป็นมือซ้ายมือขวาแล้ว เอาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นศีรษะเถิด จึงจะอาจสามารถที่จะยกตนออกจากสงสารวัฏได้

   แลขันธ์ ๕ ประการที่จัดเป็นพื้นนั้น ในที่หนึ่งสำแดงรูปขันธ์ ที่สองสำแดงวิญญาณขันธ์ ที่สามสำแดงเวทนาขันธ์ ที่สี่สำแดงสัญญาขันธ์ ที่ห้าสำแดงสังขารขันธ์

   มีคำปุจฉาว่า เหตุไฉนพระผู้เป็นเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์จึงยกเอาวิญญาณขันธ์ ที่สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ตรัสเทศนาไว้เป็นที่ห้ามาสำแดงในที่สอง คิดสำแดงรูปขันธ์ในที่หนึ่งแล้ว สำแดงวิญญาณขันธ์ในที่สอง อาศัยแก่เหตุผลเป็นประการใด มีคำวิสัชนาว่า

   “ตตฺถ ยสฺมา วิญญาณขกฺนฺเธ วิญฺญาเต อิตเร สุวิญฺเญยฺยา โหนฺติ”

   อธิบายว่า บริษัททั้งปวงนี้ ถ้ารู้จักวิญญาณขันธ์ก่อนแล้ว ก็อาจจะรู้จักเวทนาขันธ์สังขารขันธ์นั้นด้วยง่ายดาย

   อันขันธ์ทั้ง ๓ คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ นั้นเป็นกองแห่งเจตสิก ประพฤติเนื่องด้วยวิญญาณขันธ์ รู้วิญญาณขันธ์ประจักษ์แจ้งแล้วก็รู้จักเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์โดยสะดวก เหตุพระพุทธโฆษาจารย์เจ้า ผู้แต่งคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคขันธ์ในที่สองสำแดงเวทนาทิตยขันธ์ในที่ ๓-๔-๕ ด้วยประการฉะนี้

   รูปขันธ์กำหนดโดยเอกวิธโกฏฐาส ได้แก่ธรรมชาติอันมีลักษณะรู้ฉิบหายประลัยด้วยเย็นร้อนเป็นอาทิ เป็นส่วนอย่างเดียว แต่บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง ที่รู้ฉิบหายด้วยเย็นแลร้อนเป็นต้น ได้นามบัญญัติชื่อว่ารูปสิ้นด้วยกัน

   แลรูปนั้นเมื่อสำแดงโดยทุกกะต่างออกเป็น ๒ คือ ภูตรูปประการ ๑ อุปาทายรูปประการ ๑

   ภูตรูปนั้นได้แก่ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ ๑ อาโปธาตุ ๑ เตโชธาตุ ๑ วาโยธาตุ ๑

   สำแดงซึ่งลักษณะแลกิจแลผลแห่งภูตรูปนั้น มีพิศดารอยู่ในจตุธาตุววัตถานนิเทศนั้นแล้ว

   ในที่นี้จักสำแดงซึ่งอาสันนการณ์แห่งภูตรูป ที่ยังมิได้สำแดงในจตุธาตุววัตถานนิเทศนั้น

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ภูตรูปคือธาตุทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้อยทีถ้อยเป็นอาสันนการณ์แห่งกันแลกัน

   อธิบายว่า อาโปธาตุโชธาตุวาโยธาตุทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุอันใกล้ที่จะให้บังเกิดปฐวีธาตุ

   แลเตโชธาตุวาโยธาตุปฐวีธาตุทั้ง ๓ นี้ เป็นเหตุอันใกล้ที่จะให้บังเกิดอาโปธาตุ

   วาโยธาตุปฐวีธาตุอา)บธาตุทั้ง ๓ นี้ เป็นเหตุอันใกล้ที่จะให้บังเกิดเตโชธาตุ

   แลปฐวีธาตุอาโปธาตุเตโชธาตุทั้ง ๓ นี้ เป็นเหตุอันใกล้ที่จะให้บังเกิดวาโยธาตุ

   ตกว่าธาตุทั้ง ๔ ถ้อยทีถ้อยเป็นอาสันนเหตุแห่งกันแลกัน บังเกิดด้วยกัน จะได้พลัดพรากปราศจากกันหาบ่มิได้

   มีอาโปแล้วก็คงมีปฐวีธาตุ มีเตโชแล้วก็คงมีปฐวีธาตุ มีวาโยแล้วก็คงมีปฐวีธาตุ มีเตโชแล้วก็คงมีอาโปธาตุ มีวาโยแล้วก็คงมีอาโปธาตุ มีปฐวีแล้วก็คงมีอาโปธาตุ มีวาโยแล้วก็คงมีเตโชธาตุ มีปฐวีแล้วก็คงมีเตโชธาตุ มีอาโปแล้วคงมีเตโชธาตุ มีปฐวีแล้วคงมีวาโยธาตุ มีอาโปแล้วคงมีวาโยธาตุ มีเตโชแล้วคงมีวาโยธาตุ จะได้ล่วงพ้นห่างไกลกันหาบ่มิได้

   แลอุปาทายรูปนันได้บังเกิดแก่รูป ๒๕ ประการนั้น แต่บรรดาที่อาศัยซึ่งภูตรูปเป็นที่ตั้งแล้วแลบังเกิด

   อุปาทายรูป ๒๔ ประการนั้น คือ จักขุประสาท ๑ โสตประสาท ๑ ฆานประสาท ๑ ชิวหาประสาท ๑ กายประสาท ๑ รูปารมณ์ ๑ สัททารมณ์ ๑ คันธารมณ์ ๑ รสารมณ์ ๑ อิตถินทรีย์ ๑ ปุริสินทรีย์ ๑ ชีวิตินทรีย์ ๑ หทัยวัตถุ ๑ กายวิญญัติ ๑ วจีวิญญัติ ๑ อากาสธาตุ ๑ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑ อุจจายรูป ๑ สันตติรูป ๑ ชรตารูป ๑ อนิจจตารูป ๑ กวฬิงการาหารรูป ๑ สิริเป็นอุปาทายรูป ๒๔ ประการด้วยกัน

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com