พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๓

   จักษุประสาทถ้าจะว่าโดยลักษณะ

   “รูปาภิฆาฏารหภูตปฺปสาทลกฺขณํ”  มีผ่องใสแห่งภูตรูปอันควรจะกระทบซึ่งรูปารมณ์เป็นลักษณะ
   อธิบายว่า ถ้าจะกำหนดโดยละเอียดนั้น จักษุประสาทก็ไม่พ้นจากปฐวีอาโปเตโชวาโย ก็อยู่ในปฐวีอาโปเตโชวาโยนั้นเอง ภูตรูปนั้นเองจัดขึ้นเป็นจักษุปนะสาท เพราะเหตุที่ภูตรูปอันนี้มีพรรณอันผ่องใสบริสุทธิ์ควรจะส่องเอารูปารมณ์ทั้งปวงได้ เปรียบประดุจกระจกมีคุณพิเศษแปลกประหลาดจากภูตรูปอื่น ๆ แต่บรรดามี ณ ภายในกายนี้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะผ่องใสส่องเอารูปารมณ์ทั้งปวงได้เหมือนอย่างภูตรูปนี้ไม่มีเลยเป็นอันขาด อาศัยเหตุที่มีพิเศษแปลกประหลาดส่องเอารูปารมณ์ทั้งปวงได้ดังนี้ สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณจึงตรัสเทศนากำหนดตามบัญญัติแห่งภูตรูปอันนี้ ชื่อจักษุประสาท

  นัยหนึ่ง สำแดงลักษณะแห่งจักษุประสาทนั้น โดยอปรนัยว่า

   “ทฏฺฐุกามตานิทานกมฺมสมุฏฺาภูตปฺปสาทลกฺขณํ”  ว่าจักษุประสาทนี้ มีผ่องใสแห่งภูตรูปอันบังเกิดแต่กรรม อันมีสภาวะปรารถนาเพื่อจะเล็งแลดูเป็นเหตุเป็นลักษณะ

  อธิบายว่าจะกำหนดโดยละเอียดแห่งภูตรูปซึ่งผ่องใส ได้นามบัญญัติชื่อว่าจักขุประสาทนี้บังเกิดแต่กุศลกรรมอัน สัตว์ทั้งหลายกระทำมีความปรารถนาจะเล็งแลดูซึ่งรูปเป็นมูลเหตุ คือแต่ก่อนนั้นสัตว์ทั้งปวงมีความปรารถนาที่จะเล็งแลดู ซึ่งรูปเป็นมูลเหตุแล้วจึงบำเพ็ญการกุศลตั้งความปรารถนาที่จะให้ตนมีจักษุบริสุทธิ์บริบูรณ์ ครั้นกุศลนั้นติดตามตกแต่งผลแห่งภูตรูปในประเทศแห่งจักษุจึงผ่องใส ควรจะสอดส่องเอารูปารมณ์ทั้งปวงที่มากระทบประสาทนั้นได้ ภูตรูปที่ผ่องใสนั้นจึงได้นามบัญญัติพิเศษชื่อว่าจักษุประสาทกำหนดดังนี้ ถ้าจะว่าโดยกิจนั้น

   “รูเปสุ อาวิญฺชนรสํ” จักษุประสาทนั้น มีกิริยาอันชักฉุดยื้อคร่าพาเอาจิตวิญญาณแห่งบุคคลไปในสำนักแห่งรูปารมณ์นั้นเป็นกิจ

  อธิบายว่าบุคคลอันแลเห็นซึ่งรูปนั้น ย่อมมีจิตวิญญาณอันเเล่นไปในรูปในขณะที่แลเห็น เมื่อจิตวิญญานแล่นไปในรูป รู้ว่ารูปสิ่งนั้นสิ่งนี้รู้ว่าดีว่าชั่วแล้ว ถ้าไม่มีความปรารถนาก็ละเมินเสียหลีกเลี่ยงไปโดยอันควรแก่อัชฌาสัย ถ้ามีความปรารถนาก็เข้าไปใกล้จับเอาตัวชมเชย ตามวิสัยแห่งตน ตกว่าใจนั้นไปก่อน แล้วกายจึงไปเมื่อภายหลัง นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเถิดว่า จิตจะไปติดพันอยู่ในรูปก็เพราะที่แลเห็น กายจะไปติดไปพันอยู่ในรูปก็เพราะที่แลเห็น

  เหตุฉะนี้ สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า จึงตรัสเทศนาว่าจักษุประสาทนี้ มีกิจอันชักฉุดยื้อคร่าพาเอาจิตวิญญาณแลบุคคลไปในสำนักแห่งรูปารมณ์ก็มีด้วยประการฉะนี้

  ถ้าจะว่าโดยผลนั้น   “จกฺขุวิญฺญาณสฺส อาธารภาวปฺปฏฺานํ”  จักษุประสาทนี้ เมื่อตั้งอยู่เป็นอันบ่ดีมิได้พิบัติฉิบหาย ก็ให้สำเร็จผลคือทรงไว้ซึ่งจักษุญาณ

  อธิบายว่า จักษุวิญญาณทั้งสองจิต คือฝ่ายกุศลวิบากจิต ๑ ฝ่ายอกุศลวิบากจิต ๑ ทั้งสองจิตนี้จะบังเกิดได้นั้น อาศัยแก่ความมีจักษุประสาท ถ้าไม่มีจักษุประสาทแล้ว จักษุวิญญาณสองจิตนั้นก็ไม่บังเกิดได้เลยเป็นอันขาด ตกว่าจักษุวิญญาณสองจิต ได้จักษุประสาทเป็นที่รับที่รองแล้ว จึงบังเกิดได้ในสันดาน เหตุฉะนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์จึงตรัสเทศนาว่า จักษุประสาทนี้ให้สำเร็จผลคือ ทรงไว้ซึ่งจักษุวิญญาณ

  ถ้าจะว่าโดยอาสันนการณ์ คือเหตุอันใกล้ที่จะให้จักษุประสาทบังเกิดนั่นว่า   “ทฏฺุกามตานิทานกมฺมชฺชตปฺปทฏฺานํ”  จักษุประสาทนี้มีภูตรูปอันเป็นกัมมสมุฏฐาน ที่มีความปรารถนาจะทัสสนาการเป็นมูลเหตุเป็นอาสันนการณ์

  อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายในโลก ย่อมมีความปรารถนาจะเล็งแลดูซึ่งเป็นมูลเหตุแล้วจึงบำเพ็ญการกุศล ปรารถนาจะให้บริบูรณ์ด้วยจักษุ ครั้นกุศลนั้นให้ผลติดตามแต่งภูตรูปในประเทศแห่งจักษุนั้นในกาลใด ภูตรูปในจักษุประเทศที่กุศลตกแต่งนั้นก็เป็นเหตุอันใกล้ที่จะให้ได้จักษุประสาทในกาลนั้น

  ข้อซึ่งจักษุประสาทบังเกิดแต่กรรมนั้น ว่าด้วยสามารถสัตว์ที่บังเกิดในสคติภพ ถ้าสัตว์นั้นบังเกิดในทุคติภพแล้ว ก็พึงรู้เถิดว่า จักษุประสาทนั้นบังเกิดแต่อกุศลกรรม บังเกิดเพื่อจะให้ได้เห็นทุกข์เห็นภัย ๆ สมควรแก่อกุศลกรรมที่ตนกระทำไว้นั้น

  แลโสตประสาทนั้น ถ้าจะว่าโดยลักษณะ  “สทฺทภิฆาฏฺรห ภูตปฺปสาทลกฺขณํ” ว่ามีอันผ่องใสแห่งภูตรูปอันควรจะกระทบซึ่งสัททารมณ์เป็นลักษณะ

   อธิบายว่าถ้าจะกำหนดโดยละเอียดนั้น โสตประสาทก็ไม่พ้นจาก ปวี อาโป เตโช วาโย  ก็อยู่ใน ปวี อาโป เตโช วาโย  นั้นเอง ภูตรูปนั้นเองขึ้นเป็นโสตประสาท เพราะเหตุที่ภูตรูปอันนี้ผ่องใสบริสุทธิ์ว่องไวในที่จะรับซึ่งศัพท์สำเนียงต่าง ๆ ได้ มีคุณพิเศษแปลกประหลาดจากภูตรูปอื่น ๆ แต่บรรดามี ณ ภายในกายนี้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะผ่องใสว่องไวในที่จะรับสำเนียงให้ได้ยิน สำเนียงเหมือนดังภูตรูปอันนี้ไม่มีเลยเป็นอันขาด อาศัยเหตุที่มีคุณพิเศษแปลกประหลาดให้ได้ยินศัพท์สำเนียงต่าง ๆ ได้ดังนี้ สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าจึงตรัสเทศนากำหนดนามบัญญัติ แห่งภูตรูปอันนี้ชื่อว่า โสตประสาท

   นัยหนึ่ง สำแดงลักษณะแห่งโสตประสาทนั้นโดยอปรนัยว่า

   “โสตุกามตานิทานกมฺมสมุฏฺานภูตปฺปสาทลกฺขณํ  ว่าโสตประสาทนี้มีผ่องใส่  แห่งภูตรูปอันบังเกิดแต่กรรม อันมีสภาวะปรารถนาเพื่อจะสดับฟังเป็นเหตุเป็นลักษณะ

   อธิบายว่า ถ้ากำหนดโดยละเอียดนั้น ภูตรูปซึ่งผ่องใสได้นามบัญญัติชื่อว่าโสตประสาท บังเกิดแก่อกุศลกรรม อันสัตว์ทั้งหลายกระทำด้วยมีความปรารถนาจะสดับตรับฟังเป็นมูลเหตุ คือแต่ก่อนนั้นสัตว์ทั้งปวงมีความปรารถนา จะสดับตรับฟังเป็นมูลเหตุแล้วบำเพ็ญการกุศล ตั้งความปรารถนาที่จะให้ตนมีโสตบริสุทธิ์บริบูรณ์ครั้นกุศลนั้นติดตามตกแต่งผลภูตรูปในประเทศแห่งโสตจึงผ่องใส ควรจะรับเอาสัททารมณ์ทั้งปวง แต่บรรดาที่มากระทบโสตประสาทนั้นได้ภูตรูปที่ผ่องใสว่องไวในที่จะรับสัททารมณ์ทั้งปวงนั้น จึงได้นามบัญญัติพิเศษ ชื่อว่าโสตประสาท โดยกำหนดดังนี้

   ถ้าจะว่าโดยกิจนั้น “สทฺเทส อาวิญฺชนรสํ”  โสตประสาทนี้มีกิริยาอันชักฉุดยุดคร่า พาเอาจิตวิญญาณแลตัวบุคคลนั้นไปในสำนักแห่งสัททารมณ์นั้นเป็นกิจ

   อธิบายว่า บุคคลอันได้สวนากาล สดับซึ่งศัพท์สำเนียงต่าง ๆ นั้น แต่พอสำเนียงแว่ววับมากระทบประสาท ก็ย่อมมีจิตวิญญาณอันแล่นไปในสำเนียง ในขณะที่ได้สวนาการสดับ เมื่อจิตวิญญาณแล่นไปสู่สำเนียงรู้ว่าดีแลชั่ว ไพเราะแลมิได้ไพเราะดังนี้แล้ว ถ้าไม่มีความปรารถนาจะฟัง ก็ละเมิดเหินห่างเสีย ไปตามอัชฌาสัยแห่งตน ถ้ามีความปรารถนาที่จะสลับก็เข้าไปใกล้ตั้งโสตสดับโดย อันควรแก่ความประสงค์ตกว่าใจนั้นไปก่อนแล้ว กายจึงไปเมื่อภายหลัง นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเอาเถิดว่า จิตจะไปติดพันอยู่ในสำเนียงนั้นก็เพราะการฟัง กายจะไปติดพันอยู่ในสำเนียงนั้นก็เพราะการฟัง เหตุนี้สมเด็จพระมหากรุณาจึงตรัสเทศนาว่า โสตประสาทนี้มีกิจอันชักฉุดยุดคร่าพาเอาจิตวิญญาณแห่งบุคคลไป ในสำนักแห่งสัททารมณ์ก็มีด้วยประการฉะนี้

   ถ้าจะว่าโดยผลนั้น  “โสตวิญฺญาณสฺส อาธารภาวปจฺจุปฺ ปฏฺานํ”  โสตประสาทนี้ เมื่อตั้งอยู่เป็นอันดีบ่มิได้พิบัติฉิบหายก็ให้สำเร็จผลคือทรงไว้ซึ่งโสตวิญญาณ

   อธิบายว่า โสตวิญญาณทั้งสองจิต เป็นกุศลวิบากจิต ๑ ฝ่ายอกุศลวิบากจิต ๑ ทั้งสองจิตนี้จะบังเกิดได้นั้น อาศัยแก่มีโสตประสาทถ้าไม่มีโสตประสาทแล้ว โสตวิญญาณสองจิตนั้นก็ไม่บังเกิดได้เลยเป็นอันขาด ตกว่าโสตวิญญาณสองจิตนั้นได้พึ่งโสตประสาท ได้โสตประสาทเป็นที่รับรองไว้ จึงบังเกิดได้ในสันดานเหตุฉะนี้สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์จึงตรัสเทศนาว่า โสตประสาทนี้ให้สำเร็จผลคือทรงไว้ซึ่งโสตวิญญาณ

   ถ้าจะว่าโดยอาสันนการณ์ คือเหตุอันใกล้ที่จะให้โสตประสาทบังเกิดนั้นว่า   “โสตกาตานิทานกมฺมชฺชภูตปฺปทฏฺานํ” โสตประสาทนี้มีภูตรูปอันเป็นกัมมสมุฌฐาน ที่มีความปรารถนาจะสวนาการเป็นมูลเหตุนั้น เป็นอาสันนการณ์

   อธิบายว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีความปรารถนาจะสวนาการสดับซึ่งศัพท์สำเนียงนั้นเป็นมูลเหตุแล้ว จึงบำเพ็ญการกุศลปรารถนาจะให้ตนนั้นมีโสตอันบริสุทธิ์บริบุรณ์ ครั้นกุศลนั้นให้ผลติดตามตกแต่งภูตรูปในประเทศแห่งโสตนั้นในกาลใด ภูตรูปในประเทศแห่งโสตที่กุศลตกแต่งนั้นก็เป็นเหตุอันใกล้ ที่จะให้โสตประสาทบังเกิดในกาลนั้น

   แลข้อซึ่งว่า โสตประสาทบังเกิดแต่กุศลกรรมเล่า ก็ว่าด้วยสามารถสัตว์ที่บังเกิดในสมบัติภพ ถ้าสัตว์นั้นบังเกิดในวิบัติภพแล้วก็พึงเข้าใจว่าโสตประสาทนั้นบังเกิดแต่กุศลกรรม บังเกิดเพื่อจะให้ได้ฟังซึ่งสำเนียงทุกข์สำเนียงภัยอันพิลึกต่าง ๆ โดยอันควรแก่อกุศลกรรมแห่งตน ๆ

   แลฆานประสาทนั้นเล่า ถ้าจะว่าโดยลักษณะ คนฺธาภิฏารห ภูตปฺปสาทลกฺขณํ”  มีกิริยาอันผ่องใสแห่งภูตรูป อันควรจะกระทบแห่งคันธารมณ์ทั้งปวงเป็นลักษณะ

   อธิบายว่า ถ้ากำหนดว่าโดยละเอียดนั้น ฆานประสาทก็ไม่พ้นจาก ปวี อาโป เตโช วาโย  ก็อยู่ใน ปวี อาโป เตโช วาโย  นั้นเอง ภูตรูปนั้นเองขึ้นเป็นฆานรูปประสาท เพราะเหตุภูตรูปอันนี้ผ่องใสบริสุทธิ์ ควรจะรับเอาสรรพกลิ่นต่าง ๆ ได้ มีคุณพิเศษแปลกประหลาดจากภูตรูปอื่น ๆ แต่บรรดามี ณ ภานในกรัชกายนี้สิ่งใดจะผ่องใส ควรจะรับเอาสรรพกลิ่นต่าง ๆ ได้ เหมือนอย่างภูตรูปอันนี้ไม่มีเลยเป็นอันขาด อาศัยเหตุที่มีคุณพิเศษแปลกประหลาด รับเอาสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ดังนี้ สมเด็จพระมาหกุรณาจึงตรัสเทศนากำหนดนามบัญญัติแห่งภูตรูปอันนี้ ชื่อว่าฆานประสาท

   นัยหนึ่ง สำแดงลักษณะแห่งฆานประสาทโดยอปรนัยว่า  “ฆายิตุกามตานิทานกมฺมสมุฏฺฐานภูตปฺปสาทลกฺขณํ  ว่าฆานประสาทนี้มีกิริยาอันผ่องใสแห่งภูตรูปอันเป็นกัมมสมุฏฐาน อันมีความปรารถนาเพื่อจะดมกลิ่นเป็นเหตุเป็นลักษณะ

   อธิบายว่า ถ้าจะกำหนดโดยละเอียดนั้น ภูตรูปซึ่งผ่องใสได้นามบัญญติชื่อฆานประสาทนั้น บังเกิดแต่กุศลกรรมอันสัตว์ทั้งหลายกระทำด้วยความปรารถนาจะดมซึ่งเป็นมูลเหตุ คือแต่ก่อนสัตว์ทั้งปวงมีความปรารถนาจะสูดดมกลิ่นเป็นมูลเหตุแล้วจึงบำเพ็ญการกุศล ตั้งความปรารถนาที่จะให้ตนมีนาสิกประเทศบริสุทธิ์บริบูรณ์ ครั้นกุศลนั้นติดตามตกแต่งผลภูตรูปในประเทศแห่งนาสิกจึงผ่องใสบริสุทธิ์ ควรจะรับเอาสรรพสิ่งต่าง ๆ แต่บรรดาที่มากระทบประสาทนั้นได้ ภูตรูปที่ผ่องใสในประเทศแห่งนาสิกนั้น จึงได้นามบัญญัตพิเศษชื่อว่าฆานประสาทโดยกำหนดดังนี้

   ถ้าจะว่าโดยกิจนั้น   “คนฺเธสุ อาวิญชนรสํ” ฆานประสาทนี้มีกิริยาอันยืดยุดฉุดคร่าซึ่งจิตวิญญาณแลตัวบุคคลนั้น ไปในสำนักแห่งคันธารมณ์ทั้งปวงเป็นนิจ

   อธิบายว่า บุคคลอันได้สูดดมซึ่งสรรพกลิ่นต่าง ๆ นั้นย่อมมีจิตวิญญาณอันเเล่นไปในกลิ่น รู้ว่ากลิ่นหอมกลิ่นเหม็น ถ้ารู้ว่ากลิ่นดีกลิ่นชั่ว ถ้าไม่มีความปรารถนาก็เพิกเฉยละเลยเสีย บ่มิได้เอื้อเฟื้ออาลัย ถ้ามีความรักความใคร่ความปราถนา ก็แสวงหาซึ่งที่เกิดแห่งกลิ่นนั้นจนพบจนปะ ตกว่าจิตจะไปติดไปพันอยู่ในกลิ่นก็เพราะได้สูดได้ดม กายจะไปติดไปพันอยู่ในวัตถุอันเป็นที่เกิดแห่งกลิ่นนั้น ก็เพราะได้สูดได้ดมเหตุฉะนี้ฆานประสาทซึ่งให้สำเร็จกิจสูดดมนี้ สมเด็จพระมหากรุณาจึงตรัสเทศนาว่า มีกิจอันยื้อยุดฉุดคร่าพาเอาจิตวิญญาณแลตัวบุคคลไปในสำนักแห่งคันธารมณ์ก็มีด้วยประการฉะนี้

   ถ้าจะว่าโดยแลนั้น   “ฆานวิญฺญาณสฺส อาธารภาวปจฺจุปฺปฏฺ านํ” ฆานประสาทนี้เมื่อตั้งอยู่เป็นอันดีมิได้พิบัติฉิบหาย ก็ให้สำเร็จผลคือทรงไว้ซึ่งฆานวิญญาณ

   อธิบายว่า ฆายวิญญาณทั้งสองจิต คือฝ่ายกุศลวิบากจิต ๑ ฝ่ายอกุศลวิบากจิต ๑ ทั้งสองจิตนี้จะบังเกิดได้นั้นอาศัยที่มีฆานประสาท ถ้าไม่มีฆานประสาทแล้ว ฆานวิญญาณทั้งสองจิตนั้นก็ไม่บังเกิดได้เลยเป็นอันขาด ตกว่าฆานวิญญาณสองจิตนั้นได้พึ่งฆานประสาท ได้ฆานประสาทที่เป็นรองแล้ว จึงบังเกิดได้ในสันดานเหตุนี้สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์จึงตรัสเทศนาว่า ฆานประสาทนี้ ให้สำเร็จผลคือทรงไว้ซึ่งฆานวิญญาณ

   ถ้าจะว่าโดยอาสันนการณ์ คือเหตุอันใกล้ที่จะให้ฆานประสาทบังเกิดนั้นว่า   “ฆายิตุกามตานิทานกมฺมชฺชภูตปฺปทฏานํ  ฆานประสาทนั้นมีภูตรูปเป็นกัมมัฏฐาน ที่มีความปราถนาจะสูดดมเป็นมูลนั้นเป็นอาสันนการณ์

   อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมีความปรารถนาจะสูดดมซึ่งสรรพกลิ่นต่าง ๆ เป็นมูลเหตุแล้ว จึงบำเพ็ญการกุศลปรารถนาจะให้ฆานะนั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ ครั้นกุศลนั้นให้ผลติดตามตกแต่งภูตรูปในนาสิกประเทศนั้นในกาลใด ภูตรูปในนาสิกประเทศที่กุศลตกแต่งนั้นก็เป็นเหตุอันใกล้ที่จะให้ฆานประสาทบังเกิดในกาลนั้น

   แลชิวหาประสาทอันเป็นพนักงานรับรอง ซึ่งรสอารมณ์ มีประการต่าง ๆ นั้นก็ดี กายประสาทอันเป็นเจ้าพนักงานรับรองโผฏฐัพพารมณ์ต่าง ๆ นั้นก็ดี ถ้าจะว่าโดยลักษณะแลกิจแลผล แลอาสันนการณ์นั้นนักปราชญ์พึงเข้าใจเอาตามนัยที่สำแดง แล้วในประสาททั้งสามนั้นเถิดอรรถธิบายเหมือน ๆ กัน แปลกกันแต่ใจความเท่านั้น

   ชิวหาประสาทนั้นมีใจความว่า บังเกิดแต่กุศลธรรม อันบุคคลกระทำด้วยมีความปรารถนาจะลิ้มเลียรสเป็นมูลเหตุ เป็นภูตรูปพิเศษผ่องใสบริสุทธิ์ ควรที่จะรับรองไว้ซึ่งสรรพรสต่าง ๆ เป็นลักษณะ ชิวหาประสาทนั้นมีกิจธุระ ในที่จะฉุดคร่าพาเอาจิตวิญญาณแลตัวบุคคลไปสู่รส มีผลคือทรงไว้ซึ่งชิวหาวิญญาณ ยังชิวหาวิญญาณทั้งสองจิตให้บังเกิด มีภูตรูปพิเศษบังเกิดแต่กุศลกรรมเป็นอาสันนการณ์

   ในกายประสาทนั้น มีใจความว่าบังเกิดแต่กุศลกรรมอันบุคคลกระทำด้วยมีความปรารถนาจะสัมผัสเป็นมูลเหตุ เป็นภูตรูปพิเศษผ่องใสบริสุทธิ์ ควรจะรับรองสัมผัสแห่งโผฏฐัพพารมณ์ต่าง ๆ เป็นลักษณะ กายประสาทนั้นมีกิจธุระ ในที่จะฉุดคร่าพาเอาจิตวิญญาณแห่งบุคคลไปสู่อำนาจแห่งสัมผัส มีผลคือทรงไว้ซึ่งกายวิญญาณยังกายวิญญาณทั้งสองจิตให้บังเกิดมีภูตรูปพิเศษบังเกิดแต่กุศลกรรมเป็นอาสันนการณ์

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเถิดว่า ข้อซึ่งวิสัชนาว่า ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท บังเกิดแต่กุศลนั้น ว่าด้วยสามารถสัตว์ที่บังเกิดในสุคติภพ ถ้าสัตว์นั้นบังเกิดในทุคติภพแล้ว ก็พึงรู้เถิดว่า ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาทนั้น บังเกิดแต่อกุศลกรรม บังเกิดเพื่อจะให้ได้เสวยทุกขเวทนามีประการต่าง ๆ สามควรแก่อกุศลกรรมที่คนกระทำไว้นั้น

   แลอธิบายในคำแห่งเกจิอาจารย์แลอปราจารย์นั้น จะยกเสียไม่วิสัชนาแล้ว เพราะเหตุคำนั้นหาแก่นสารมิได้ จะเลือกวิสัชนาแต่คำที่เป็นแก่นสารนั้น

   “กมฺมเมว จ เนสํ วิเสสการณํ ตสฺมา คมมวิเสสโตเอตสํ วิเสโส น ภูตวิเสสโต” นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า กุศลกรรมแลอกุศลกรรมนั้นเอง ให้สำเร็จกิจอันวิเศษแห่งภูตรูปทั้ง ๕ คือ   ปวี อาฏป เตโช วาโย  จะแปลกประหลาดให้สำเร็จกิจเป็นจักษุประสาทได้นั้น อาศัยแกกุศลแลอกุศล ถึงปัญจพิธประสาททั้ง ๕ มีจักษุประสาทเป็นต้น จะแปลกประหลาดกันก็ด้วยอำนาจกุศลแลอกุศลทั้งปวง จะแปลกกันโดยธรรมดาภูตรูปนั้นหาบ่มิได้ ภูตรูปนั้นถึงจะแปลกประหลาดกัน ก็บ่มิอาจสามารถจะยังประสาทให้บังเกิดได้ กรรมที่บังเกิดนั้นแลประชุมแต่งยังจักขวาทิประสาทให้แปลกประหลาดกัน

   แลจักษุประสาท โสตประสาททั้งสองนั้น มีปกติรับรองซึ่งรูปารมณ์แลสัททารมณ์อันยังมิได้มาถึง

   อธิบายว่า จักษุประสาทนั้นรับเอาอารูปารมณ์อันอยู่ในที่ไกลแต่บรรดาที่ยังมิได้มาถึง จะได้รับเอารูปารมณ์ที่มากระทบกระทั่งถึงประเทศที่อยู่แห่งประสาทนั้นหาบ่มิได้เลย

   ฝ่ายโสตประสาทนั้นเล่า ก็รับเอาสัททารมณ์อันอยู่ในที่ไกลแลที่ใกล้ แต่บรรดาที่ยังบ่มิได้มาถึงเหมือนกัน จะได้รับเอาสัททารมณ์ที่กระทบกระทั่งถึงประเทศที่อยู่แห่งประสาทนั้นบ่มิได้เหตุใด เหตุว่าจักษุประสาทแลโสตประสาทนั้น เป็นที่อาศัยแห่งจักษุวิญญาณแลโสตวิญญาณมีปกติยึดหน่วงได้แต่อารมณ์ ที่ยังมิได้ติดพันอยู่ด้วยประสาทอันเป็นที่อารมณ์แห่งตน ๆ ถ้าอารมณ์นั้นมาติดพันอยู่ด้วยที่อาศัยแห่งตนแล้ว ๆ จักษุวิญญาณแลโสตวิญญาณนั้น ก็บ่มิอาจยึดหน่วงเอาอารมณ์นั้นไว้ให้อยู่ในอำนาจแห่งตนได้ อาศัยเหตุฉะนี้จึงมีข้ออรรถาธิบายว่า จักษุประสาทแลโสตประสาทนี้ มีปกติรับเอาอารมณ์ แต่บรรดาที่ยังมิได้มาถึง

   แท้จริงจักษุวิญญาณนี้ อาจจะเห็นซึ่งอณูแลปรมาณูอันอยู่ในประเทศอันไกลแลใกล้ ที่ยังมิได้ติดพันอยู่ในจักษุประสาทอันเป็นที่พำนักอาศัยแห่งตน เมื่ออณูแลปรมาณูปลิวเข้าสู่จักษุติดพันอยู่ในประสาทอันเป็นที่สำนักแห่งตน จักษุวิญญาณจะได้เห็นหามิได้

   ฝ่ายว่าโสตวิญญาณนั้นเล่า อาจจะได้ยินเสียงสรรพสิ่งทั้งปวงแต่บรรดาอยู่ในประเทศอันไกลแลใกล้ แต่บรรดาที่ยังมิได้มาติดพันในโสตประสาท อันเป็นที่สำนักอาศัยแห่งตน เมื่อเสียงอันดังหนักเป็นต้นว่าเสียงสายฟ้าฟาด แลเสียงไกรสรราชสีห์ดังเต็มที่สนั่นกระเทือนกระทบถึงโสตประสาท อันเป็นที่พำนักอาศัยแห่งตนแล้วโสตวิญญาณก็บ่มิอาจจะยึดหน่วงเอาเสียงนั้นเป็นอารมณ์ได้ ตกว่าได้ยินนั้น ได้ยินแต่ในกาลเมื่อเสียงยังมิได้กระทบโสตประสาท เมื่อเสียงกระทบถึงโสตประเสาทแล้ว หูก็ตึงไปบ่มิอาจจะได้ยินสำเนียงที่มากระทบถึงโสตประสาท อาศัยเหตุฉะนี้ จึงมีข้ออรรถาธิบายว่า จักษุประสาทแลโสตประสาทนี้ มีปกติรับเอาซึ่งอารมณ์แต่บรรดาที่ยังมิได้มาถึง

   ฝ่ายฆานประสาทแลชิวหาประสาทแลกายประสาทนั้น มีปกติรับรองซึ่งคันธารมณ์ แลสารมณ์ แลโผฏฐัพพารมณ์ อันมากกระทบถึง

   อธิบายว่าฆานประสาทรับเอาซึ่งกลิ่นทั้งปวง แต่บรรดาที่เฟื่องฟ้งมากระทบกระถึงประเทศที่อยู่แห่งฆานประสาท ฝ่ายว่าชิวหาประสาทนั้น มีปกติรับเอาซึ่งรสทั้งปวง แต่บรรดาที่มากระทบถึงประเทศที่อยู่แห่งชิวหาประสาท ฝ่ายว่ากายประสาทนั้นเล่าก็รับเอาสัมผัสต่าง ๆ แต่บรรดาที่มากระทบถึงประเทศที่อยู่แห่งกายประสาทนั้นเหตุใด ว่าฆานประสาทแลชิวหาประสาทแลกายประสาทนั้นเป็นที่พำนักอาศัยแห่งฆานวิญญาณ แลชิวหาวิญญาณ แลกายวิญญาณ ๆ นั้นมีปกติยึดหน่วงได้แต่อารมณ์บรรดาที่มาติดพันอยู่ด้วยประสาทอันเป็นอาศัยแห่งตน ๆ ถ้าอารมณ์นั้นบ่มิได้มาติดพันอยู่ด้วยอาศัยแห่งตน ๆ แล้ว ฆานวิญญาณแล้วชิวหาวิญญาณแลกายวิญญาณนั้น ก็บ่มิอาจจะยึดหน่วงเอาอารมณ์นั้นไว้ให้อยู่ในอำนาจแห่งตนได้ อาศัยเหตุฉะนี้ จึงมีข้ออรรถาธิบายว่า ฆานประสาทแลชิวหาประสาทแลกายประสาทนี้ เป็นปกติรับเอาซึ่งอารมณ์แต่บรรดาที่มาถึง

   แลจักษุประสาทนั้น มีสัณฐานน้อยเท่าศีรษะเหาประดิษฐานอยู่ในท่ามกลางแห่งตาดำ อันแวดล้อมด้วยปริมลฑลแห่งตาขาว จักษุประเทศนี้ มีสัณฐานดังกลีบอุบลเขียว อาเกียรณ์ด้วยโมลชาติอันมีพรรณอันดำ เนื้อจักษุนั้นมีสัณฐานเป็นกลีบ ๆ เป็นชั้น ๆ นับได้ ๗ ชั้น จักษุประสาทนั้นซาบตลอดทั้ง ๗ ชั้น เปรียบปราดุจปุยสำลีอันบุคคลประชีให้ดีซ้อน ๆ กันให้ได้ ๗ ชั้น แล้วแลเอาน้ำมันหอมอันข้นหยอดลงในท่ามกลาง แลน้ำมันปุยซาบสำลีทั้ง ๗ ชั้นนั้น จักษุประสาทนั้นเปรียบประดุจน้ำมันหอยอันข้นที่หยดลงในท่ามกลาง

   จักษุประสาทนั้นเป็นเงาอย่างประหนึ่งว่ากระจก ถ้ารูปารมณ์สิ่งใดมาประดิษฐานเฉพาะหน้าในกาลใด เงาแห่งรูปารมณ์สิ่งนั้นก็ปรากฏในจักษุประสาทในกาลนั้น

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com