พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๔

   จักษุประสาทนี้ มีธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้ช่วยอุปการะบำรุงรักษาเปรียบประดุจดังว่าขัตติยราชกุมารอันพระนมทั้ง ๔ กระทำอุปการะบำรุงบำเรอ พระนมผู้หนึ่งนั้นอุ้มไว้ พระนมผู้หนึ่งนั้นตักเอาน้ำมาโสรจสรง พระนมผู้หนึ่งนั้นนำเอาเครื่องมาประดับ พระนมผู้หนึ่งนั้นนำเอาพัชนีพัดมาวีให้ขัตติยราชกุมารอันพระนมทั้ง ๔ กระทำอุปการะบำรุงรักษามีอุปมาฉันใด จักษุประสาทนี้มีธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้ช่วยอุปการะบำรุงรักษามีอุปไมยดังนั้น

   แท้จริงปฐวีธาตุนั้นทรงไว้ซึ่งจักษุประสาทเปรียบประดุจพระนมที่อุ้มชูอาโปธาตุนั้นบำรุงให้สดให้ชื่นประคับประคองไว้ เปรียบประดุจพระนมที่ตักน้ำมาโสรจสรง เตโชธาตุนั้นบำรุงมิให้เปื่อยเน่า เปรียบประดุจพระนมที่เอาเครื่องประดับ วาโยธาตุนั้นบำรุงให้กลับให้กลอกได้ เปรียบประดุจพระนมอันนำเอาพัชนีมาพัดวีให้

   ใช่จะมีแต่ธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้อุปการะเท่านี้หาบ่มิได้ ฤดูแลจิตแลอาหารนั้น ก็เป็นผู้ช่วยอุปถัมค์ค้ำชู อายุนั้นเป็นผู้เลี้ยงดู พรรณแลกลิ่นรสเป็นอาทินั้นเป็นบริวารแวดล้อม จักษุประสาทเป็นวัตถุที่เกิดแห่งจักษุวิญญาณ เป็นทวารแห่งจิต ๔๖ แต่บรรดาที่เป็นไปในจักษุทวารวิถีโดยอันควรแก่อารมณ์ จักษุประสาทเป็นพนักงานให้เห็นรูปสรรพสิ่งทั้งปวง

   “วุตฺตํปิ เจตํธมฺมเสนาปตินา”  คำก่อนที่สำแดงมานั้น สมกันกับบาทพระคาถา อันพระผู้เป็นเจ้าธรรมเสนาสารีบุตรวิสัชนาไว้ว่า

   “เยน จกฺขุปสาเทน รูปานิ สมนุปสฺส ปริตฺตํ สุขุมํ เอตํ อูกาสิรสมูปมํ”  

   อธิบายในพระคาถาว่า บุคคลอันเห็นรูปสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นเห็นด้วยอำนาจจักษุประสาทอันใด จักษุประสาทนั้นเป็นรูปอันน้อยเป็นสุขุมรูป มีสัณฐานน้อยเท่าศีรษะเหา พระผู้เป็นเจ้าธรรมเสนาบดีวิสัชนาไว้ฉะนี้

   ตกว่ากิริยาที่เห็นรูปนั้น เฉพาะเห็นด้วยจักษุประสาทอันน้อยอันละเอียดเท่านั้นเอง จะได้เห็นด้วยสสัมภารจักษุ คือเนื้อแลหนังเส้นโลหิตแลโลมา ซึ่งประดิษฐานอยู่ในกระบอกตานั้นหาบ่มิได้

   แลสสัมภารโสต คือเนื้อแลหนัง เส้นโลหิตโลมา ซึ่งประดิษฐานอยู่ในประเทศแห่งหูนั้นเล่า จะได้เป็นพนักงานให้ได้ยินสำเนียงทั้งปวงก็หาบ่มิได้ ที่เป็นเจ้าพนักงานให้ได้ฟังศัพท์สำเนียงนั้น คือโสตประสาทต่างหาก โสตประสาทนั้นก็เป็นสุขุมรูป เป็นรูปอันละเอียดเหมือนกันกับจักษุประสาทแปลกกันแต่ที่อยู่ โสตประสาทนั้นตั้งอยู่ในประเทศอันมีสัณฐานดังวงแหวนเป็นที่งอกขึ้นแห่งโลมชาติเส้นเล็ก ๆ สีแดงอยู่ ณ ภายในช่องแห่งสสัมภารโสต โสตประสาทนั้นมีก็มีธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้อุปการะ มีฤดูแลจิตแลอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์มีอายุเป็นผู้เลี้ยง มีสีแลกลิ่นแลรสแลโอชาเป็นบริวารแวดล้อมให้สำเร็จกิจเป็นวัตถุที่เกิดแห่งโสตวิญญาณ ให้สำเร็จกิจเป็นทวารแห่งจิต ๔๖ แต่บรรดาที่ประพฤติเป็นไปในโสตทวารวิถีนั้น โดยอันสมควรแก่อารมณ์เปรียบประดุจดังขัตติยราชกุมาร อันพระนมทั้ง ๔ กระทำอุปการะซึ่งมีวินิจฉัยอันกล่าวแล้วในจักษุประสาทแต่หลัง

   แลฆานประสาทนั้นเล่า ก็เป็นสุขุมเป็นรูปอันละเอียดเหมือนกันกับโสตประสาท แปลกกันแต่ที่อยู่ ฆานประสาทนั้นตั้งอยู่ในประเทศอันมีสัณญานดังเท้าแพะ ภายในแห่งช่องสสัมภารฆาน

   อธิบายว่าเนื้อแลหนังแลเส้นแลโลหิตแลโลมา ซึ่งประดิษฐานอยู่ในนาสิกประเทศนั้นแล ได้ชื่อว่าสสัมภารฆาน ฆานประสาทนี้ก็มีธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้อุปการะ มีฤดูจิตเป็นอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู มีอายุเป็นผู้เลี้ยงผู้ดูมีสีแลกลิ่นรส แลโอชาเป็นบริวารแวดล้อมให้สำเร็จกิจเป็นวัตถุที่เกิดแห่งฆานวิญญาณ ให้สำเร็จเป็นทวารแห่งจิต ๔๖ ดวง แต่บรรดาที่ประพฤติเป็นไปในฆานทวารวิถีโดยอันสมควรแก่อารมณ์ เปรียบประดุจดังขัตติยราชกุมารอันพระนมทั้ง ๔ กระทำอุปการะ มีนัยดังพรรณนามาแต่หลัง

   แลชิวหาประสาทนั้นเล่า ก็เป็นสุขุมรูปอันละเอียดเหมือนกันแปลกกันแต่ที่อยู่ ชิวหาประสาทนั้น ตั้งอยู่ในประเทศอันมีสัณฐานดังปลายกลีบแห่งดอกอุบล อยู่เบื้องบนแห่งสสัมภารชิวหาในท่ามกลางแห่งสสัมภารชิวหานั้น ชิวหาประสาทนี้มีธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้อุปการะ มีฤดูแลจิตแลอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู มีอายุเป็นผู้เลี้ยงผู้ดู มีสีแลกลิ่นแลรสแลโอชาเป็นบริวารแวดล้อมให้สำเร็จกิจ เป็นวัตถุที่เกิดแลชิวหาวิญญาณ ให้สำเร็จเป็นทวารแห่งจิต ๔๖ ดวง แต่บรรดาที่ประพฤติเป็นไปในชิวทวารวิถี โดยอันควรแก่อารมณ์เปรียบประดุจขัตติยราชกุราช อันพระนมทั้ง ๔ กระทำอุปการะ มีวินิจฉัยดังวิชนามาแล้วนั้น

   แลกายประสาทนั้นก็เป็นสุขุม อันละเอียดเหมือนกันแปลกแต่ที่อยู่กายประสาทนี้ซาบอยู่ทั่วสรีรกาย เปรียบประดุจน้ำมันอันซาบอยู่ในปุยฝ่ายอันบุคคลประชีแล้วเป็นอันดี กายประสาทนี้ก็มีธาตุทั้ง ๔ เป็นผู้อุปการะ มีฤดูแลจิตแลอาหารเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู มีอายุเป็นผู้เลี้ยงผู้ดู มีสีแลกลิ่นแลรสแลโอชาเป็นบริวารแวดล้อมให้สำเร็จกิจเป็นวัตถุที่เกิดแห่งกายวิญญาณให้สำเร็จกิจเป็นทวารแห่งจิต ๔๖ ดวง แต่บรรดาที่ประพฤติเป็นไปในกายทวารวิถีโดยสมควรแก่อารมณ์เปรียบประดุจดังขัตติยราชกุมาร อันพระนมทั้ง ๔ กระทำอุปการะมีนัยดังวิสัชนามาแล้วนั้น

   ตกว่ากายประสาทนี้ซาบอยู่ในอุปปาทินนกรูปสิ้นทั้งปวง แต่บรรดาที่เป็นเนื้อหยิกเจ็บนั้น แลได้ชื่อว่าอุปาทินกรูป เหมือนอย่างปลายเล็บที่พ้นเนื้อ ผมแลขนแลฟันที่หยิกไม่เจ็บนั้น ได้ชื่อว่าอนุปาทินนกรูปในอนุปาทินนกรูปนั้นหามีกายประสาทซาบอยู่ไม่ กายประสาทนี้ซาบอยู่แต่ในอุปทินนกรูปสิ้นทั้งปวงเป็นปัจจัยให้รู้โผฏฐัพพารมณ์ จะรู้จักสัมผัสว่าอ่อนว่ากระด้างนั้น อาศัยแก่กายประสาทพิบัติแล้ว กายก็เป็นเหน็บตายไปบ่มิได้รู้ซึ่งสัมผัสสรรพสิ่งทั้งปวง

   แท้จริงประสาททั้ง ๕ นี้ มีสภาวะน้อมไปสู่อารมณ์อันควรแก่ปกติแห่งตน

   จักษุประสาทนั้น ย่อมน้อมไปสู่อารมณ์ อันเป็นวิสัยแห่งตนเปรียบประดุจงูอันนอมจิตไปสู่จอมปลวกอันเป็นที่อยู่แห่งตน อันธรรมดาว่างูนั้นย่อมยินดีในจอมปลวก พอใจอยู่ในจอมปลวกนั้นยิ่งนัก ไปเที่ยวแสวงหาอาหารแล้วก็กลับมาเฉพาะหน้าสู่จอมปลวก จะได้ละเว้นเสียซึ่งจอมปลวกอันเป็นที่อยู่แห่งตนหาบ่มิได้ อันนี้แลอุปมาฉันใด จักษุประสาทนั้นก็เฉพาะหน้าสู่รูปารมณ์ จะได้ละเว้นเสียซึ่งรูปารมณ์อันเป็นวิสัยแห่งตนนั้นหาบ่มิได้อุปไมยดังนั้น

   นัยหนึ่งอธิบายว่า งูนั้นถ้าจะเลื้อยไปในสถานที่ใด ๆ ก็พอใจเลื้อยไปในที่อันรก ๆ หาพอใจที่จะเลื้อยไปในประเทศที่แจ้ง ๆ นั้นไม่ อันนี้แลมีอุปไมยฉันใด จักษุประสาทนั้นก็เล็ดลอดดูไปในที่อันลี้ลับ อันบุคคลปกปิดกำบัง มีอุปมาดังงูอันพอใจที่จะเลื้อยไปในที่รก ๆ นั้น

   แลโสตประสาทนั้น ย่อมน้อมไปสู่สัททารมณ์อันเป็นวิสัยแห่งตน เปรียบประดุจดังจระเข้อันมีจิตน้อมไปสู่ประเทศอันมีน้ำ อันธรรมดาจระเข้นั้นเป็นชาติสัตว์น้ำ มาตรแม้นว่าจะขึ้นสู่บก ก็มีจิตประหวัดอยู่ในน้ำ จะได้ละเว้นเสียซึ่งน้ำอันเป็นวิสัยแห่งตนนั้นหาบ่มิได้ อันนี้แลมีอุปมาฉันใด โสตประสาทก็เฉพาะหน้าสู่สัททารมณ์จะได้ละเว้นเสียซึ่งสัททารมณ์ อันเป็นวิสัยแห่งตนหาบ่มิได้มีอุปไมยดังนั้น

   นัยหนึ่งอธิบายว่า จระเข้นั้นหูไว หูนั้นระวังอยู่ที่จะฟังเสียง ตรับอยู่ที่จะฟังเสียง เมื่อซ่อนตัวอยู่ในน้ำอันเป็นวังนั้น ถ้าได้ยินสำเนียงสัตว์อันควรจะเป็นภักษาหารแห่งตน ปรากฏในประเทศที่ใด ก็โผนโลดไล่ไปในประเทศที่นั้น แลมีอุปมาฉันใด โสตประสาทนั้นก็ระวังอยู่ในที่จะฟังเสียง ตรับอยู่ที่จะฟังศัพท์สำเนียงต่าง ๆ แต่พอได้ยินแว่วก็แล่นถึง แล่นไปในประเทศที่ปรากฏแห่งสำเนียง มีอุปไมยดังนั้น

   แลฆานประสาทนั้น ย่อมน้อมไปสู่คันธารมณ์ อันเป็นวิสัยแห่งตนเปรียบประดุจปักษีชาติ อันมีจิตน้อมไปในประเทศอากาศอันธรรมดานกนั้น มีอากาศเป็นวิสัย มาตรแม้นว่าจะลงจับอยู่ที่พื้นปฐพีก็ดี จับอยู่ที่พฤกษาลดาวัลย์ พนัสพนมไพรที่ใด ๆ ก็ดี ก็มีจิตประหวัดอยู่ในอากาศจะได้สละละวางเสียซึ่งอากาศหามิได้ อันนี้แลมีอุปมาฉันใด ฆายนประสาทนั้น ก็อยู่เฉพาะหน้าคันธารมณ์จะได้เว้นเสียซึ่งคันธารมณ์ อันเป็นวิสัยแห่งตนนั้นหาบ่มิได้มีอุปไมยดังนั้น

   แท้จริงฆานประสาทนี้ ไม่รู้สละละเมินซึ่งกลิ่นใดอันหนึ่ง สุดแท้แต่กลิ่นมากระทบถึงแล้ว ก็รับรองเอาเป็นของแห่งตนสิ้นทุกสิ่งทุกอัน กลิ่นเผ็ด กลิ่นร้อน กลิ่นเปรี้ยว กลิ่นหวาน กลิ่นฝาด กลิ่นเบื่อ กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น สรรพกลิ่น นั้นแลฆานประสาทรับรองสิ้น ฆานประสาทจะได้เลือกได้เว้นเสียซึ่งกลิ่นอันชั่ว ๆ เลือกเอาแต่กลิ่นดี ๆ นั้นหาบ่มิได้ เพราะเหตุว่ากลิ่นนั้นเป็นวิสัยแห่งตน มีอุปมาดังปักษีชาติอันอากาศเป็นวิสัยมิได้สละละวางเสียซึ่งอากาศนั้น

   แลชิวหาประสาทนั้น ย่อมน้อมไปสู่รสารมณ์อันเป็นวิสัยแห่งตนเปรียบประดุจสุนัขบ้าน อันมีจิตน้อมไปในบ้านอันเป็นวิสัยแห่งตน ธรรมดาว่าสุนัขบ้านนั้น ย่อมรักใคร่ซึ่งถิ่นแห่งตน ผูกพันในถิ่นแห่งตน ถึงถิ่นแห่งตนนั้นบังเกิดพิบัติด้วยอันตรายพอใจที่จะไปจากถิ่นแห่งตน สนัขรักถิ่นมีจิตน้อมไปในถิ่นแห่งตน แลมีอุปมาฉันใด ชิวหาประสาทก็น้อมไปสู่รสารมณ์อันเป็นวิสัยแห่งตน มีอุปไมยดังนั้น

   แลกายประสาทนั้น ย่อมน้อมไปสู่โผฏฐัพพารมณ์อันเป็นวิสัยแห่งตน เปรียบประดุจดังสุนัขจิ้งจอก อันมีจิตน้อมไปในป่าช้าผีดิบ ธรรมดาว่าสุนัขจิ้งจอกนั้นย่อมรักใคร่ในป่าช้าผีดิบ ผูกพันอยู่ในป่าช้าผีดิบบ่มิได้วาง เพระเหตุที่ได้กินซากอสุภเป็นอาหารมีอุปมาฉันใด กายประสาทนั้นก็น้อมไปสู่โผฏฐัพพารมณ์อันเป็นวิสัยแห่งตนมีอุปไมยดังนั้น

   สำแดงมานี้ โดยนัยพิสดารตามพระบาลี แต่นี้จะเก็บเอาแต่ใจความมาวิสัชนาโดยสังเขป แต่พอเป็นอุปการะแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาบำเพ็ญเพียรในพระวิปัสสนากรรมฐานนั้น แท้จริงอุปาทายรูป ๒๔ ประการนั้น เมื่อจัดโดยนัยแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้นจัดเป็นประสาทรูป ๕ วิสัยรูป ๔ ภาวะรูป ๒ หทัยรูป ๑ ชวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักษณะรูป ๔ ประสาทรูป ๕ นั้นได้สำแดงแล้วโดยนัยพิสดาร แลรูปซึ่งจะวิสัชนาไปในเบื้องหน้า ตั้งแต่วิสัยรูปไปนั้นจะสำแดงแต่โดยนัยสังเขป

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเถิดว่า วิสัยรูป ๔ ประการนั้น ได้แก่อารมณ์ทั้ง ๔ ประการ คือ รูปารมณ์ประการ ๑ สัททารมณ์ประการ ๑ คันธารมณ์ประการ ๑ รสารมณ์ประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน

   รูปารมณ์นั้นได้แก่รูปสรรพสิ่งทั้งปวง รูปอันประกอบด้วยวิญญาณก็ดี รูปอันหาวิญญาณบ่มิได้ก็ดี สุดแท้แต่เป็นรูปควรจะเห็นเป็นอารมณ์แห่งจิต อันยุติในจักษุทวารแล้ว ก็ได้ชื่อว่ารูปารมณ์สิ้นด้วยกัน

   แลสัททารมณ์นั้นได้แก่เสียงสรรพสิ่งทั้งปวง เสียงเพราะก็ดี เสียงไม่เพราะก็ดี เสียงสัตว์อันประกอบด้วยวิญญาณก็ดี เสียงฆ้อง เสียงเครื่องดุริยดนตรี พิณพาทย์ทั้งปวงก็ดี สุดแท้แต่ว่าเป็นเสียงเป็นอารมณ์แห่งจิตอันยุติในโสตทวารแล้ว ก็ได้ชื่อว่าสัททารมณ์สิ้นด้วยกัน

   แลคันธารมณ์นั้นได้แก่สรรพสิ่งทั้งปวง กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นร้อน กลิ่นเย็น กลิ่นสิ่งใด ๆ ก็ดี สุดแท้แต่ว่าเป็นกลิ่นอันควรจะเป็นอารมณ์แห่งจิต อันยุติในฆานทวารแล้วก็ได้ชื่อว่า คันธารมณ์สิ้นด้วยกัน แลรสารมณ์ ได้แก่สรรพสิ่งทั้งปวง รสเปรี้ยว รสเค็ม รสเฝื่อนฝาด รสเผ็ด รสแสบ รสขม รสจืด รสหวาน รสสิ่งใด ๆ ก็ดี สุดแต่ว่าเป็นรสควรจะเป็นอารมณ์แห่งจิตอันยุติในชิวหาทวารแล้ว ก็ได้ชื่อว่ารสารมณ์สิ้นทั้งนั้น ประสมเข้าด้วยกันเป็นอารมณ์ ๔ ประการ

   อารมณ์ทั้ง ๔ ประการนี้ สมเด็จพระศาสดาจารย์ ตรัสเทศนาว่าวิสัยรูป ๔ ประการ

   แลภาวะรูป ๒ ประการนี้ คืออิตถีภาวรูปประการ ๑ ปริสภาวรูปประการ ๑ เป็น ๒ ประการด้วย

   อิตถีภาวรูปนั้น บังเกิดเนื่อง ๆ กันอยู่ในสันดานแห่งสตรีบ่มิได้รู้ขาดสาย อิตถีภาวรูปนี้ เป็นใหญ่ในที่จะกระทำให้รูปกายเป็นสตรีให้กิริยามารยาทอากัปปะอาการทั้งปวง เป็นกิริยามารยาทอากัปปะอาการแห่งสตรี

   ก็ฝ่ายว่าปุริสภาวรูปนั้น บังเกิดเนื่อง ๆ กันอยู่ในสันดานแห่งบุรุษมิได้รู้ขาดสาย ปุริสภาวรูปนี้ เป็นใหญ่ในที่จะกระทำให้รูปกายเป็นบุรุษ ให้กิริยามารยาทอากัปปะอาการทั้งปวงเป็นกิริยามารยาทอากัปปะแห่งบุรุษ

   ถ้าบุรุษจะกลายเป็นสตรี ขณะเมื่อเพศจะกลับเป็นสตรีนั้นปุริสภารูปดับไป บ่มิได้บังเกิดสิ้นภาวะ ๑๗ ขณะจิต เมื่อปุริสภาวรูปดับไปแล้วไม่บังเกิดล่วงไปได้ถึง ๑๗ ขณะจิตแล้วอิตถีภาวรูปจึงบังเกิดขึ้นในลำดับนั้น

   เมื่ออิตถีภาวรูปบังเกิดขึ้นแล้ว รูปก็กลายเป็นสตรีไป กิริยามารยาทอากัปปะอาการทั้งปวง ก็กลายเป็นสตรีไปในกาลนั้น

   ถ้าหญิงจะกลับเพศเป็นชายเล่า ขณะเมื่อเพศจะกลายเป็นชายนั้นอิตถีภาวรูปก็ดับไป บ่มิได้บังเกิดสิ้นภาวะ ๑๗ ขณะจิต เมื่ออิตถีภาวรูปดับล่วงไปไม่บังเกิดถึง ๑๗ ขณะจิตนั้นแล้วปุริสภาวรูปก็บังเกิดขึ้นในสันดาน ครั้นปุริสภาวรูปกายบังเกิดแล้วรูปกายก็กลายเป็นบุรุษ กิริยามารยาทอากัปปะอาการทั้งปวง ก็กลายเป็นบุรุษสิ้นในกาลนั้น

   สตรีจะกลายเป็นบุรุษนั้นอาศัยด้วยกุศลมีกำลัง กุศลที่ตนได้รักษาศีล ๘ เว้นจากเมถุนสังวาสนั้นก็ดี กุศลที่ตนได้รักษาศีลกาเมสุมิจฉาจารไม่เอาใจออกนอกสามีนั้นก็ดี กุศลทั้งสองประการนี้ ถ้ามีกล้าหาญอยู่ในสันดานสตรีภาพผู้ใด ถ้าสตรีภาพผู้นั้นมีความปรารถนาที่จะเป็นชาย ก็จะได้เป็นชายสำเร็จมโนรถความปรารถนากุศลกล้ามีกำลังแล้ว เพศสตรีนั้นก็จะกลับกลายเป็นบุรุษไป กุศลนั้นเข้าชักนำกำจัดเสียซึ่งอิตถีภาวรูปนั้นดับสูญไปแล้ว ก็ตกแต่งปุริสภาวะให้เกิดขึ้นในสันดาน ให้รูปกายแลกิริยามารยาท อากัปปะอาการทั้งปวงกลับกลายเป็นบุรุษให้เห็นประจักษ์แก่ตาในอัตตภาพชาตินี้

   เพศสตรีกลายเป็นบุรุษนั้น มีเยี่ยงอย่างแต่ปางก่อนครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ ยังทรงทรมานมีพระชนม์โปรดเวไนยสรรพสัตว์อยู่นั้น สตรีผู้หนึ่งมีนามโคตรมิได้ปรากฏในวาระพระบาลี สตรีผู้นั้นมีศรัทธาไปบวชเป็นนางภิกษุณีในพระศาสนา อุตสาหะรักษาศีลบริสุทธิ์เป็นอันดี นางภิกษุณีนั้น ครั้นว่ามีจิตอันเบื่อหน่ายจากที่จะเป็นสตรีภาพมีความปรารถนาจะใคร่เป็นบุรุษ เมื่อมีความปรารถนาดังนั้น อาศัยด้วยกุศลกล้า อิตถีภาวรูปก็อันตรธานหาย ปุริสภาวรูปที่เป็นใหญ่กระทำให้รูปกายเป็นผู้ชายนั้นก็บังเกิดขึ้นมาใหม่ทันใด นางภิกษุณีก็กลายเป็นบุรุษไปในกาลนั้น ครั้นกลายเป็นบุรุษไปแล้ว สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงกรุณาโปรดให้มาอยู่กับภิกษุสงฆ์ทั้งปวง

   ฝ่ายข้างบุรุษเล่าที่กลายเป็นสตรีนั้นก็มีมาแต่ปางก่อน บุตรชายโสโรยเศรษฐี อยู่ในโสโรยนครแต่ครั้งก่อน เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ยังทรงทรมานมีพระชนม์โปรดเวไนยสรรพสัตว์อยู่นั้น บุตรชายเศรษฐีนั้นวันหนึ่งออกไปภายนอกพระพารา ลงไปสู่ท่าเพื่อจะอาบน้ำ ได้เห็นพระมหากัจจายนเถระท่านยืนห่มผ้าจีวรอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ก็บังเกิดความปรารถนาอันเป็นบาปว่า พระมหาเถระองค์นี้รูปร่างท่านงามดีนักหนา ถ้าเป็นภรรยาของอาตมานี้จะดีทีเดียว ข้อหนึ่งภรรยาของอาตมานี้ ถ้ามีรูปโฉมสีสัณฐ์พรรณอย่างพระมหาเถระองค์นี้จะดีทีเดียว เมื่อจิตคิดลาลมแต่เท่านี้ ปุริสภารูปนั้นก็อันตราธานหาย รูปกายก็กลายเป็นสตรีไปในขณะบัดเดียวนั้น ครั้นกลายเป็นสตรีไปแล้ว ก็หนีไปสู่เมืองตักกศิลา ไปอยู่เป็นภรรยาของบุตรชายเศรษฐีเมืองตักกศิลา อยู่จำเนียรนานมาเบื้องหน้าได้พบกันกับสหายให้สหายไปอาราธนานิมนต์พระมหากัจจายนเถระมาฉัน กระทำอภิวันท์นบน้อมนมัสการขอประทานโทษ ครั้นพระมหาเถระเจ้าโปรดให้อภัยโทษแล้วอิตถีภาวรูปก็อันตรธานหาย ปุริสภาวรูปที่เป็นใหญ่ในที่กระทำให้เป็นผู้ชายนั้นจึงบังเกิดขึ้น กระทำในรูปกายเป็นผู้ชายคงคืนดังเก่า

   ว่ามาทั้งนี้ จะให้เห็นว่าหญิงจะกลายเป็นชายนั้น อาศัยด้วยกุศลมีกำลัง ฝ่ายผู้ชายจะกลายเป็นหญิงนั้น ก็อาศัยด้วยมีความประมาทพลาดพลั้งลงที่ใดที่หนึ่งแล้ว เพศก็กลายเป็นสตรีไป บุรุษจะเป็นสตรีนี้มีง่าย สตรีจะใคร่เป็นผู้ชายนั้นเป็นอุดมเพศ เป็นเพศอันอุดม บุคคลอันปรารถนาปัจเจกภูมิ แลพุทธภูมินั้น จะสำเร็จก็อาศัยด้วยอยู่ในเพศเป็นบุรุษ ๆ นั้น จึงสร้างบารมีปรารถนาพุทธภูมิปัจเจกภูมินั้นก็ได้ ถ้าเป็นสตรีเพศอยู่แล้ว จะสร้างบารมีปรารถนาพุทธภูมิ ปัจเจกภูมินั้นขัดอยู่ ให้ปรารถนาเป็นบุรุษเสียก่อนครั้นได้เป็นบุรุษแล้วจึงให้ปรารถนาพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ ความปรารถนาจึงจะสำเร็จ ถ้าไม่ปรารถนาเป็นบุรุษก่อน แลปรารถนาตรงเอาพุทธภูมิ ปัจเจกภูมินั้น ความปรารถนาไม่สำเร็จ เหตุฉะนี้จึงว่าเพศบุรุษนั้นได้ชื่อว่าอุดมเพศ อุดมกว่าเพศสตรีพึงเข้าใจเถิดว่าพรรณนามาทั้งนี้ จะให้เห็นแจ้งว่า อิตถีภาวรูปนั้นเป็นใหญ่ที่จะตกแต่งให้รูปกายเป็นบุรุษ

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com