พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๕

   แลหทัยรูปนั้นพึงเข้าใจว่าได้แก่หทัยวัตถุเนื้อหัวใจนั้น แลเรียกว่าหทัยรูป เนื้อหัวใจนั้นเดิมทีก็จัดเข้าใจหมวดปฐวีธาตุจัดเป็นมหาภูตรูปแล้ว มาภายหลังจัดเป็นหทัยรูปเล่าอาศัยเหตุอันใด อาศัยว่าเนื้อหัวใจนั้นเป็นที่ตั้งวิญญาณ เป็นใหญ่กว่าเนื้อทั้งปวงวิเศษแปลกกว่าก้อนเนื้อทั้งปวงนั้นแลท่านจึงจัดเป็นหทัยรูป ด้วยสามารถจะให้เห็นแปลกกันนั้น

   แลชีวิตรูปนั้นจะได้แก่สิ่งอันใด ชีวิตรูปนั้น ได้แก่รูปชีวิตินทรีย์สำแดงโดยประเภท ชีวิตินทรีย์นี้มี ๒ ประการ คือรูปชีวิตินทรีย์ประการ ๑ อรูปชีวิตินทรีย์ประการ ๑ เป็น ๒ ประการฉะนี้

   อรูปชีวิตินทรีย์นั้น ได้แก่จิตแลเจตสิก แต่บรรดาจิตแลเจตสิกนั้นท่านจัดเป็นอินทรีย์ประการ ๑ ชื่อว่าอรูปชีวิตินทรีย์

   แลอาการ ๓๒ อันประชุมกันนั้น ท่านก็จัดเป็นอินทรีย์ประการ ๑ ชื่อว่ารูปชีวิตินทรีย์ รูปชีวิตินทรีย์นี้แล ท่านยกขึ้นเป็นรูปประการ ๑ ชื่อว่าชีวิตรูป

   แท้จริงอาการ ๓๒ นี้ เมื่อเรียกแต่ละอย่าง ๆ ก็มีชื่อต่าง ๆ กัน ชื่อว่าผม ชื่อว่าเล็บ ชื่อว่าฟันเป็นต้น ครั้นว่าจัดเป็นหมวด ๆ กัน ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ ครั้นว่าธาตุทั้ง ๔ ประการ ประชุมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียว ก็เรียกว่ารูปชีวิตินทรีย์ มีครุวนาดุจว่า รถ ๆ นั้นเมื่อเรียกแต่ละสิ่ง ๆ ก็เรียกว่างอน ว่าเอก ว่าแปรก ว่าดุม ว่าเพลา ว่ากำ ว่ากง ครั้นเรียกรวมกันเข้าก็เรียกว่าราชรถอันนี้มีฉันใด

   อาการ ๓๒ นั้นเมื่อเรียกเรียงออกไป ก็ได้นามชื่อว่าผม ชื่อว่าขน ชื่อว่าเล็บ ชื่อว่าฟันเป็นต้น ครั้นจัดเป็นหมวดเข้าก็เรียกว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ครั้นรวมกันเข้าสิ้นทั้งนั้น ก็เรียกชื่อว่า ชีวิตรูป อุปไมยดังทัพพะสัมภาระทั้งปวงมีกำมีกงเป็นต้น อันประชุมกันแล้ว และได้นามปรากฏว่า ราชรถนั้น

   ทีนี้จะว่าด้วยอาหารรูปสืบต่อไป อาหารรูปนั้นได้แก่กวฬิงการาหาร คือสิ่งของที่เราท่านบริโภคทุกวันนี้ ข้าวและน้ำขนมของกินมัจฉะมังสะทั้งปวงนี้ จัดเป็นรูปประการ ๑ ชื่อว่าอาหารรูป แต่ทว่าเมื่อยังไม่ได้บริโภคนั้น ยังไม่ได้ชื่อว่าอาหารรูปก่อน ต่อเมื่อได้บริโภคแล้วอาหารนั้นซับซาบไปแล้ว จึงได้ชื่อว่าอาหารรูป

   โอชะแห่งอาหารอันซับซาบไปทั่วสกลกายนั้น ซาบทั่วเมื่อเพลาปุจจุสมัย คือเวลาจะใกล้รุ่งนั้นแลเป็นเพลาอาหารซับซาบทั่วสกลกาย โอชะอาหารนั้นซาบไปทั่วทั้งขุมผมและขุมขน เหตุดังนั้นบุคคลทั้งปวงจึงนอนเป็นสุขในเวลาจะใกล้รุ่งนั้นยิ่งกว่าเพลาทั้งปวง

   จะฝันเห็นเล่า ฝันในเวลาจะใกล้รุ่งและแก่เพลาทั้งปวง เหตุว่ามีความสบาย เพราะโอชะอาหารซับซาบทั่วทั้งสกลกายนั้น มีครุวนาดังพฤกษาชาติต้นไม้ทั้งหลายอันงามประหลาดเมื่อเพลาจะใกล้รุ่ง ธรรดาว่าต้นไม้นี้งามในเพลาจะใกล้รุ่งนั้นยิ่งกว่าเพลาทั้งปวง เหตุว่าเพลาจะใกล้รุ่งนั้นรสแผ่นดินซับซาบทั่วทุกกิ่งน้อยกิ่งใหญ่ ใบอ่อนและใบแก่ทั้งปวง รสแผ่นดินนั้นจำเดิมแต่หัวค่ำก็ซับซาบขึ้นไปโดยลำดับ ซาบไปในลำต้นแล้วก็ซาบไปในกิ่งใหญ่ ๆ ครั้นแล้วก็ซับซาบไปในกิ่งน้อย ๆ ซาบออกไป ๆ เมื่อถึงซึ่งเพลาปัจจุสมัยก็ซาบไปทุกใบทุกก้านนั้นแล ต้นไม้จึงมีสีอันงามหนักหนาในเพลานั้น ครั้นว่ารุ่งขึ้นแล้ว รสแผ่นดินก็ถอยลงมา ๆ จากใบแล้วก็ถอยลงมาจากกิ่ง ถอยลงมาจากลำต้นลงไป ๆ ตราบเท่าถึงแผ่นดินต่อเพลาค่ำลงอีกเล่า รสแผ่นดินนั้นจึงกลับซับซาบขึ้นไปเหมือนในหนหลัง ต้นไม้ต้นใดรสแผ่นดินซับซาบอยู่ ต้นไม้นั้นมีสัณฐานพรรณในก้านงามเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส

   ต้นไม้ต้นใดรสแผ่นดินซับซาบไปมิได้ทั่ว ต้นไม้นั้นก็มีใบก้านอันเหี่ยวแห้งคร่ำคร่า ถึงซึ่งสภาวะแก่เฒ่าชราตายยืนต้นอยู่ก็มี เป็นทั้งนี้เพราะรสแผ่นดินมิได้ซาบกันขึ้นไป  “เสยฺยถา” อันนี้แลมีฉันใด กายแห่งเราท่านทั้งปวง เมื่ออาหารซับซาบอยู่ทั่วก็จำเริญครัดเคร่งอยู่โดยสิริสวัสดี ครั้นอาหารซับซาบไปมิได้ทั่วแล้ว ก็เหี่ยวแห้งคร่ำคร่าถึงภาวะแก่เฒ่าชราทุพพลภาพทุกสสิ่งทุกประการ เมื่อหนุ่มเมื่อสาวอยู่นั้นถึงนอนก็หลับสนิทแรงก็มาก ผิวเนื้อก็ครัดเคร่งเปล่งปลั่งอยู่ เนื้อทั้งปวงอาศัยด้วยอาหารซับซาบอยู่ทั่วทุกขุมขนและขุมผม ครั้นว่าล่วงเข้าปัจฉิมวัยอาหารก็ไม่ซับซาบเหมือนแต่ก่อนแล้ว นอนก็มิใคร่จะหลับ ผมที่ดำก็กลับขาว เนื้อหนังที่เคร่งครัดก็เหี่ยวแห่งหดหู่เป็นเกลียว เรี่ยวแรงนั้นก็ทุพพลภาพลดถอยน้อยไป อาศัยแก่อาหารไม่ซับซาบเป็นปกติอย่างแต่ก่อน มีอุปมาดังต้นไม้ อันรสแผ่นดินมิได้ซับซาบทั่วไป และมีใบก้านอันคร่ำเคร่งเหี่ยวแห่งไปดูมิได้งามแก่ตาโลกทั้งปวงนั้น

   อาหารนี้เป็นใหญ่ในที่จะอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งรูป เหตุฉะนี้ท่านจึงจัดเป็นรูปอันหนึ่ง ชื่อว่าอาหารรูป

   และปริจเฉทรูปนั้นจะได้แก่สิ่งอันใด

   ปริจเฉทรูปนั้นได้แก่อากาศธาตุ อากาศนั้นแปลว่า เปล่า ธาตุนั้นแปลว่าธาตุ พึงเข้าใจเถิดว่า บรรดาที่เปล่า ๆ อยู่ในกายแห่งเราทั้งหลายคือช่องหูช่องปากช่องจมูกเป็นอาทิ นี้แลเรียกว่าอากาศธาตุ แต่บรรดาช่องเปล่า ๆ อยู่ในกายนี้ ได้ชื่อว่าอากาศธาตุทั้งสิ้น อากาศธาตุนี้จัดเป็นรูปประการ ๑ ชื่อว่าปริจเฉทรูป

   และวิญญัติรูป ๒ ประการ คือ กายวิญญัติประการ ๑ วจีวิญญัติประการ ๑

   กายวิญญัตินั้น ได้แก่กายแห่งเราท่านทั้งปวง อันหวั่นไหวอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือขณะเมื่อนั่งลงก็ดีลุกขึ้นก็ดีนอนลงก็ดี ขณะเมื่อเที่ยวนั้นก็ดี ได้ชื่อว่าวิญญัติสิ้นทั้งนั้น สุดแท้แต่ว่าไหวกายขณะใดขณะนั้นก็ได้ชื่อว่ากายวิญญัติ

   และวจีวิญญัตินั้น ได้แก่วาจาที่เปล่งออกขณะเมื่อพูดจาปราศรัยเจรจาไปเจรจามาก็ดี ขณะเมื่อขับเมื่อร้องเมื่อสวดเรียนว่ากล่าวสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี ได้ชื่อว่าวิญญัติทั้งสิ้น สุดแท้แต่ออกวาจาขณะใดขณะนั้นก็ได้ชื่อว่าวจีวิญญัติ

   กายวิญญัติและวจีวิญญัติ ๒ ประการนี้ ท่านจัดเป็นวิญญัติรูป ๒ ประการ

   และวิการรูป ๓ ประการนั้น คืออันใดบ้าง

   วิการรูป ๓ ประการนั้น คือ รูปัสสลหุตาประการ ๑ รูปัสสมุทุตาประการ ๑ รูปัสสกัมมัญญตาประการ ๑ เป็น ๓ ประการด้วยกัน รูปัสสลหุตานั้น แปลว่า ความเบาแห่งรูป

   อธิบายว่า ขณะเมื่อเราท่านทั้งปวงจะกระทำการกุศลก็ดี จะกระทำการอกุศลก็ดี และมีกายอันเบาประหลาดขึ้น กายนั้นเบาว่องไวอยู่ในที่จะกระทำการทั้งปวงนั้น ได้ชื่อว่ารูปัสสลหุตา

   และรูปัสสมุทุตานั้น แปลว่า ความอ่อนแห่งรูป

   อธิบายว่า รูปกายอันมิได้กระด้างกระเดื่องอยู่ในที่กระทำการทั้งปวง อ่อนน้อมไปในที่กระทำการทั้งปวงนั้น ได้ชื่อว่ารูปัสสมุทุตา

   และรูปัสสกัมมัญญตานั้น แปลว่า ดีในการแห่งรูป

   อธิบายว่า เมื่อเราท่านกระทำการสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น ถ้ามีกายอันสบายอยู่ในที่กระทำการ ไม่ฉุกเฉินยับเยินไปด้วยทุกข์ภัยในที่อันใดอันหนึ่ง กายนั้นดีอยู่ในที่กระทำการ ควรอยู่ในการไม่เป็นอันตรายอันใดอันหนึ่งนั้นแล ได้ชื่อว่ารูปัสสกัมมัญญตา

   พึงเข้าใจเถิดว่า รูปัสสลหุตา รูปัสสมุทุตา รูปัสสกัมมัญญตา ๓ ประการนี้ ท่านจัดเป็นวิการรูป ๓ ประการ

   แลลักษณะ ๔ ประการนั้น คืออันใดบ้าง ลักษณะรูป ๔ ประการ คือ รูปัสสอุจจโยประการ ๑ รูปัสสัตติประการ ๑ รูปัสสชรตาประการ ๑ รูปัสสอนิจจตาประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน

   รูปัสสอุจจโยนั้น ก่อให้เกิดแห่งรูป

   อธิบายว่า รูปใดเกิดขึ้นในเดิมแรกเมื่อตั้งปฏิสนธิ รูปอันนั้นได้ชื่อว่าอุจจยรูป

   และสันตติรูปนั้น ได้แก่รูปอันบังเกิดสืบ ๆ ให้ใหญ่วัยเป็นหนุ่มเป็นสาว รูปอันใดบังเกิดสืบต่อให้ใหญ่ให้วัยเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น รูปอันนั้นได้ชื่อว่าสันตติรูป

   และชรตารูปนั้น ได้แก่รูปอันแก่เฒ่าชราคร่ำคร่าลง รูปกายแห่งเราท่านทั้งหลาย อันแก่เฒ่าชรา ตามืด หูหนัก ฟันหัก แก้มตอบ สันหลัง ขอถดถอยกำลัง เนื้อหนังหดหู่เป็นเกลียวนั่นแลได้ชื่อว่าชรตารูป

   แลอนิจจตารูปนั้น คือ รูปอันไม่เที่ยงเกิดแล้วและถึงซึ่งสถาวะฉิบหายทำลายไป พึงเข้าใจเถิดว่ารูปทั้งปวงอันมีนัยดังพรรณนามาฉะนี้ ได้ชื่อว่าอุปทายรูป เหตุว่าอาศัยซึ่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ ประการ แล้วจึงบังเกิดมี

   และรูปทั้งหลายนี้  “อตีตํ วา”  ที่ล่วงไปแล้วก่อน ๆ นั้นได้ชื่อว่าอดีตรูป

   “อนาคตํ วา” รูปอันจะบังเกิดสืบไปในภายหน้านั้น ได้ชื่อว่าอนาคตรูป

   “ปจฺจุปฺปนฺนํ วา”  รูปอันบังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ได้ชื่อว่าปัจจุบันรูป

   “อชฺฌตฺตํ วา”  รูปที่บังเกิดในภายใน คือประสาททั้ง ๕ มีจักษุประสาทเป็นต้น มีกายประสาทเป็นปริโยสานนั้น ได้ชื่อว่าอัชฌัตตรูป

   อัชฌัตตรูปนั้น แปลว่ารูปภายใน ประสาททั้ง ๕ คือ จักษุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาทนั้นประดิษฐานอยู่ภายใน อาศัยเหตุดังนั้น จึงได้ชื่อว่าอัชฌัตตรูป

   “พหิพฺธา วา” และรูปนอกจากประสาททั้ง ๕ นั้น ได้ชื่อว่าพหิทธารูป

   อธิบายว่า เป็นรูปภายนอกไม่ประดิษฐานในภายในเหมือนประสาททั้ง ๕ เหมือนอย่างหัวใจ ตับ ปอด และม้าม ไส้น้อย ไส้ใหญ่ทั้งปวงนั้น ก็ตั้งอยู่ในภายในตน แต่ทว่าไม่เป็นภายในเหมือนด้วยประสาททั้ง ๕ เหตุดังนี้ท่านจึงไม่จัดเป็นอัชฌัตตรูป ท่านจัดเป็นอัชฌัตตรูปเป็นรูปภายในนั้น แต่ประสาททั้ง ๕ นอกกว่านั้นท่านจัดเป็นพหิทธารูปสิ้นทั้งนั้น

   “โอฬาริกํ วา”  และรูปที่หยาบ ๆ คือรูปารมณ์ประการ ๑ สัททารมณ์ประการ ๑ คันธารมณ์ประการ ๑ รสารมณ์ประการ ๑ ปฐวีธาตุประการ ๑ เตโชธาตุประการ ๑ วาโยธาตุประการ ๑ เป็น ๗ ประการด้วยกัน เอาประสาททั้ง ๕ มาใส่เข้าด้วยเป็น ๑๒ รูป ทั้ง ๑๒ ประการนี้ได้ชื่อว่าโอฬาริกรูป ว่าเป็นรูปอันหยาบ

   “สุขุมํ วา ” และรูปนอกออกไปกว่า ๑๒ ประการนี้ ได้ชื่อว่าสุขุมรูป แปลว่ารูปอันละเอียด

   “หีนํ วา”  รูปที่ชั่ว ๆ นั้นได้ชื่อว่าหีนรูป  “ปณีตํ วา” รูปที่งาม ๆ ดี ๆ ได้ชื่อว่าปณีตรูป  “ยํ ทูเร วา สนฺติเก วา” รูปที่อยู่ไกล ๆ นั้นได้ชื่อว่าทูเรรูป รูปที่อยู่ใกล้นั้นได้ชื่อว่าสันติเกรูป

   “ตเทกชฺฌํ อภิสญฺญูหิตฺวา” สมเด็จพระมหากรุณาประมวลรูปทั้งปวงเข้าเป็นหมู่หมวดเป็นกองอันเดียว จึงให้ชื่อว่ารูปขันธ์

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com