พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๖

   “เกนตฺเถน”  เหตุใดจึงได้ชื่อว่ารูป

   อธิบายว่า ธรรมดาอันชื่อว่ารูป ๆ นี้ อาศัยด้วยรู้ฉิบหายด้วยร้อนเย็น รู้ฉิบหายด้วยความอยากข้าวอยากน้ำ รู้ฉิบหายด้วยโรคาพยาธิต่าง ๆ นานา ได้สำแดงรูปขันธ์โดยสังเขปแต่เท่านี้

  แต่นี้จะแสดงวิญญาณขันธ์สืบต่อไป

  และวิญญาณขันธ์นั้น ได้แก่จิต ๘๙ โดยสังเขป พิศดาร ๑๒๑ ที่จัดจิต ๘๙ โดยสังเขปนั้น จัดเป็นกามาพจรจิต ๕๔ รูปาพจรจิต ๑๕ อรูปาพจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘ ประสมเข้าด้วยกันเป็น ๘๙ ดวง

  และกามาพจร ๕๔ นั้นจัดเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง คือเป็นโลภมูล ๘ โทสมูล ๒ โมหมูล ๒ เป็น ๑๒ ดวงด้วยกัน

  โลภมูล ๒ ดวงนั้น จัดเป็นทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวง อย่างไรจึงเรียกว่า ทิฏฐิสัมปยุต อธิบายเป็นประการใด

  อธิบายว่า จิตอันประกอบด้วยความหวงแหนในสิ่งของทั้งปวงอันประกอบด้วยวิญญาณและวิญญาณมิได้ มีความรักใคร่ในสิ่งของทั้งปวงนั่นมั่นคง ความรักนั้นตรึงตราอยู่มีครุวนาดุจเขม่ากับน้ำมันยางอันตรึงตราอยู่ที่ผ้าสาฎกอันขาว จะยกสิ่งของ ๆ ตนออกทำบุญให้ทานนั้นยกแแกมิได้ ถ้าเห็นสิ่งอันใดเป็นของ ๆ เขาแล้ว ดำริแต่จะน้อมเอามาเป็นของ ๆ ตน ความโลภเห็นปานดังสำแดงมาฉะนี้ได้ชื่อว่าทิฏฐิสัมปยุต

  มีสิ่งของสิ่งใดแล้วถือมั่นว่าของ ๆ เรา ๆ มิให้กระจัดกระจาย ไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นอย่างนั้นแลพึงเข้าใจเถิดว่า โลภจิตเป็นทิฏฐิสัมปยุต ๆ นั้น แปลว่าประกอบ โลภจิตดวงใดมีทิฏฐิประกอบ โลภจิตดวงนั้นได้ชื่อว่า ทิฏฐิสัมปยุต ทิฏฐินั้นแปลว่าเห็น ทิฏฐิบังเกิดด้วยโลภจิต ย่อมให้เห็นไปในที่จะน้อมเอาของ ๆ ท่านมาเป็นของ ๆ ตนให้เห็นแต่จะได้

  พึงเข้าใจว่าจิตที่โลภเห็นจะได้มิได้คิดหน้าคิดหลัง มิได้หยุดมิได้ยั้งผูกพันมั่นคงที่จะรักใคร่ได้ ชื่อทิฏฐิสัมปยุต

  และทิฏฐิวิปปยุตนั้น แปลว่าปราศจากทิฏฐิ แต่โลภก็โลภอยู่อย่างนั้น ทิฏฐิไม่ประกอบด้วยก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิปปยุต

  โลภก็โลภอยู่แต่ทว่าไม่เห็นแต่จะได้อย่างเดียว ถอยหน้าถอยหลังหยุดรั้งยั้งอยู่นั้น ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิปปยุต

  พึงเข้าใจเอาแต่กระทู้ความเถิดว่า โลภจิตดวงใดประกอบด้วยทิฏฐิโลภจิตดวงนั้นได้ชื่อว่าทิฏฐิสัมปยุต โลภจิตที่หาทิฏฐิบังเกิดประกอบมิได้นั้น ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิปปยุต

  แลโลภจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวงนั้น จัดเป็นโสมนัส ๒ ดวง คือขณะเมื่อโลภเจตนาบังเกิด และไปทำอกุศลกรรมต่าง ๆ ตามที่เจตนานั้น ถ้ามีความชื่นชมโสมนัสรื่นเริงไปในที่กระทำบาปนั้น ได้ชื่อว่าโสมนัสสัมปยุต ยินดีในการโลภนั้นได้ชื่อว่าโสมนัสสัมปยุต

  ถ้าโลภอยู่กระนั้น ไม่ชื่นชมยินดีในการโลภ โลภเฉย ๆ อยู่กระนั้นได้ชื่อว่าอุเบกขาสัมปยุต

  และโลภจิตที่เป็นทิฏฐิวิปปยุต ๔ ดวงเท่านั้น ก็เป็นโสมนัส ๒ ดวง เป็นอุเบกขา ๒ ดวง เหมือนกับทิฏฐิสัมปยุต ตกว่าในโลภมูลที่สัมปยุตด้วยอุเบกขานั้น คือเป็น ๔ ดวงด้วยกัน ที่เป็นโสมนัสสัมปยุตนั้นก็เป็น ๔ เหมือนกันกับอุเบกขา

  และโลภมูลอันสัมปยุตด้วยอุเบกขานั้น จัดเป็นสสังขาริก ๒ ดวงเป็น อสังขาริก ๒ ดวง

  คือขณะเมื่อบังเกิดโลภเจตนานั้น ถ้าบังเกิดด้วยมีผู้ใดผู้หนึ่งมาชักชวน มีผู้ใดผู้หนึ่งมาชักชวนแล้ว จึงบังเกิดโลภอย่างนั้นได้ชื่อว่าสสังขาริก ถ้าหาผู้ชวนมิได้น้ำใจกล้าหาญบังเกิดโลภด้วยลำพังใจเองนั้น ได้ชื่อว่าอสังขาริก

  แลโลภมูลที่เป็นโสมนัสสัมปยุต ๔ ดวงนั้น ก็จัดเป็นสสังขาริก ๒ เป็นอสังขาริก ๒ ดวงเหมือนกันกับที่เป็นอุเบกขา

  ผู้มีปัญญาพึงสันนิษฐานว่าโลภมูลที่ท่านตั้งไว้แล้ว ท่านจึงเอาทิฏฐินั้นผ่าเป็น ๒ ออกไป ด้วยสามารถเอาทิฏฐิผ่า ครั้นแล้วเอาเวทนา คือโสมนัสแลอุเบกขานั้นมาผ่าอีกเล่า ที่เป็น ๒ อยู่นั้นจึงเป็น ๔ ออกไป ครั้นแล้วท่านจึงเอาสังขารคือสังขาริกแลอสังขาริกนั้นมาผ่าอีกเล่า ที่เป็น ๔ อยู่นั้นจึง ๘ ออกไป จึงนับโลภมูลได้ ๘ ดวงดุจพรรณนามานี้

  แลโทสมูล ๒ ดวงนั้น จัดเป็นสสังขาริกดวง ๑ อสังขาริกดวง ๑

  โทสมูลที่เป็นสสังขาริกนั้นอธิบายว่า จิตนั้นมิได้กริ้วโกรธด้วยลำพังตนเอง ต่อมีผู้มาว่านั่น ๆ นี่ๆ ยุยงไป ใจนั้นจึงกล้าหาญขัดเคืองกริ้วโกรธขึ้นเมื่อภายหลัง มีความโกรธด้วยสามารถมีผู้ยุยงอย่างนี้ ได้ชื่อว่า สสังขริก

  แลอสังขาริกนั้น คือจิตนั้นกล้าหาญโกรธด้วยลำพังด้วยกำลังใจตัวเอง หาผู้ยุยงมิได้ โกรธเองหาผู้ยุยงมิได้นั้น ได้ชื่อว่าอสังขาริก

  ประสมเข้าเป็นโทสมูล ๒ ดวงด้วยกัน แลโมหมูล ๒ ดวงนั้นเล่าจัดเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตดวง ๑ อุทธัจจสัมปยุตดวง ๑

  วิจิกิจฉาสัมปยุตด้วยโมหะนั้นเมื่อเกิดแล้ว ก็ให้สงสัยสนเท่ห์ไปในคุณพระรัตนตรัย ให้สงสัยไปในผลศีลผลทานผลแห่งความเจริญภาวนา สดับฟังพระสัทธรรมเทศนา

  แลอุทธัจจสัมปยุตนั้น เมื่อบังเกิดแล้วก็ให้อารมณ์ลุ่มหลงฟุ้งซ่านไปในการกุศลทั้งปวง

  ผสมเข้าด้วยกันเป็นโมหมูล ๒ โทสมูล ๒ โลภมูล ๘ เข้าด้วยกันจึงเป็นอกุศล ๑๒ ดวง

  แลวิบากจิต ๒๓ ดวงนั้น จัดเป็นกุศลวิบากอเหตุ ๘ อกุศลวิบาก ๗ มหาวิบาก ๘ เป็นวิบาก ๒๓ ดวงด้วยกัน

  กุศลวิบากอเหตุ ๘ ดวงนั้น คืออุเบกขาสหคตจักขุวิญญาณดวง ๑ อุเบกขาสหคตโสตวิญญาณดวง๑อุเบกขาสหคตฆานวิญญาณดวง ๑ อุเบกขาสหคตชิวหาวิญญาณดวง ๑ สุขสหคตกายวิญญาณดวง ๑ สัมปฏิจฉันนะดวง ๑ อุเบกขาสันตีรณะดวง ๑ โสมนัสสสันตีรณะดวง ๑ เป็น ๘ ดวงด้วยกัน

  อุเบกขาสหคตจักษุวิญญาณจิตนั้น มีลักษณะให้รู้จักซึ่งรูปว่าดีแลชั่วงามแลบ่มิงาม อันจะรู้จักรูปสรรพสิ่งทั้งปวง ย่อมรู้ด้วยจักขุวิญญาณจิตดวงนี้ ๆ สหคตเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา เป็นจิตสำหรับอยู่ในจักษุทวารวิถี ถ้ารูปมาปรากฏแจ้งแก่จักษุแล้วเมื่อใดจักษุวิญญาณนี้ก็เข้ารับเป็นพนักงานให้รู้ซึ่งรูปในกาลเมื่อนั้น เมื่อเราท่านทั้งหลายทั้งปวงเห็นรูปนั้นเห็นด้วยจักษุประสาท เมื่อรู้จักรูปนั้นรู้จักด้วยจักขุวิญญาณจิต

  แลอุเบกขาสหคตโสตวิญญาณนั้นเล่า มีลักษณะให้รู้จักเสียงสรรพสิ่งทั้งปวง โสตวิญญาณจิตอันสหคตด้วยอุเบกขาดวงนี้เป็นจิตสำหรับเกิดในโสตทวานวิถี ถ้าเสียงมากระทบโสตประสาทแล้วกาลเมื่อใด โสตวิญญาณก็เข้าเป็นพนักงานให้รู้จักซึ่งเสียงในกาลเมื่อนั้นเมื่อเสียงมาหระทบประสาทนั้นเราท่านทั้งปวงได้ยินด้วยอำนาจโสตประสาท ได้ยินแล้วแลจะรู้ว่าเสียงนั้นรู้ด้วยวิญญาณ จะรู้ด้วยโสตประสาทนั้นหาบ่มิได้ โสตประสาทนั้นเป็นพนักงานแต่ที่จะให้ได้ยินเท่านั้น โสตแลวิญญาณนี้แลเป็นพนักงานให้รู้จักเสียง

  แลอุเบกขาสหคตฆานวิญญาณนั้น เป็นพนักงานให้รู้จักกลิ่นเป็นจิตอันบังเกิดสำหรับฆานทวารวิถี ถ้ากลิ่นมากระทบฆานประสาทแล้วกาลเมื่อใด ฆานวิญญาณก็เข้ารับเป็นพนักงานให้รู้จักกลิ่นในกาลเมื่อนั้น แลฆานประสาทนั้นเป็นพนักงานแต่ที่จะมิให้จมูกนั้นคัด ให้จมูกนั้นดีปกติอยู่เป็นพนักงานแต่เท่านั้น ที่จะรู้จักกลิ่นนั้นเป็นพนักงานแห่งฆานวิญญาณต่างหาก ไม่เป็นพนักงานแห่งฆานประสาท

  แลชิวหาวิญญาณอันสหคตอุเบกขานั้น พึงเข้าใจเถิดว่าจิตดวงนี้บังเกิดสำหรับอยู่ในชิวหาทวารวิถี ถ้าลิ้นถูกต้องรสแล้วกาลเมื่อใด ก็เข้าเป็นพนักงานให้รู้จักรสในกาลเมื่อนั้น จะรู้จักรสนั้นรู้ด้วยสามรถชิวหาวิญญาณจิต ชิวหาประสาทนั้นเป็นพนักงานแต่ที่จะบำรุงลิ้นไว้มิให้ลิ้นนั้นเสียเป็นพนักงานแต่เท่านั้น จะเป็นพนักงานให้รู้จักรสด้วยนั้นหาบ่มิได้

  แลกายวิญญาณ อันสหคตสุขเวทนานั้นเล่า พึงเข้าใจเถิดว่าจิตดวงนี้สำหรับอยู่ในกายทวารวิถี เป็นพนักงานให้รู้จักซึ่งสิ่งอันตนสัมผัส จะรู้จักซึ่งสิ่งอันตนสัมผัสว่าอ่อนกว่ากระด้างว่าละเอียดว่าหยาบนั้น อาศัยกายประสาทเป็นที่ตั้ง แต่ทว่าที่รู้นั้นด้วยกายวิญญาณ กายประสาทนั้นเป็นพนักงานแต่ที่จะบำรุงไว้มิให้เป็นเหน็บชามิให้กายนั้นตายไป ให้กายนั้นดีอยู่เป็นปกติ เมื่อกายอยู่ดีเป็นปกติไม่เหน็บชา ด้วยสามารถกายประสาทนั้นสัมผัสมาถูกต้องกายในกาลเมื่อใด กายวิญญาณก็เข้ารับเป็นพนักงานให้รู้ว่าอ่อนว่ากระด้างว่าละเอียดว่าหยาบในกาลเมื่อนั้น

  ผู้มีวิจารณปัญญา พึงสันนิษฐานเข้าใจเถิดว่า เมื่อรูปมาปรากฏแจ้งแก่จักษุแล้ว แลเราท่านทั้งปวงจะเห็นรูปนั้น เห็นด้วยจักษุประสาท จะรู้ว่าขาวว่าเขียวว่าเหลืองว่าแดงว่าหม่นนั้น รู้ด้วยอำนาจสัญญา จะรู้จักว่าขาวคือสิ่งนั้น ๆ เขียวคือสิ่งนั้น ๆ แดงเป็นสิ่งนั้น เหลืองเป็นสิ่งนั้น ดำเป็นสิ่งนั้น หม่นเป็นสิ่งนั้น จะรู้จักว่าสิ่งนี้ ๆ ด้วยอำนาจจักษุวิญญาณ จะรู้ว่าดำน้อยดำมากชั่วดีงามมิงามนั้นอาศัยแก่ปัญญา รู้ด้วยอำนาจปัญญา

  ขณะเมื่อมีเสียงมาปรากฏแก่โสตนั้นเล่า จะได้ยินเสียงนั้นอาศัยแก่โสตประสาท ได้ยินแล้วแลจะรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ เสียงคนนั้น ๆ จะรู้ฉะนี้ รู้ด้วยสามารถสัญญา จะรู้ว่าเสียงแข็งเสียงอ่อนเสียงหวานนั้นรู้ด้วยสามารถวิญญาณ จะรู้เสียงเพราะแลมิได้เพราะ เสียงกลมแลมิได้กลมมีกระแสมาก มีกระแสน้อย จะรู้วิเศษฉะนี้ รู้ด้วยสามารถปัญญา

   ขณะเมื่อกลิ่นมาปรากฏแก่ฆานประสาทนั้นเล่า เราท่านทั้งปวงจะรู้ว่ากลิ่นเหม็นกลิ่นหอมนั้น รู้ด้วยอำนาจสัญญา จะรู้จักว่ากลิ่นเหม็นนี้เป็นกลิ่นสิ่งนั้น กลิ่นหอมนี้เป็นกลิ่นสิ่งนั้น ๆ จะรู้ฉะนี้ด้วยอำนาจวิญญาณ จะรู้ว่ากลิ่นหอมอย่างนี้เป็นกลิ่นดี อย่างนี้เป็นกลิ่นอย่างกลาง อย่างนี้เป็นกลิ่นอย่างต่ำ จะรู้วิเศษฉะนี้รู้ด้วยสามารถปัญญา

  ขณะเมื่อรสมาถูกต้องซึ่งชิวหานั้นเล่า เราท่านทั้งปวงจะรู้ว่าเปรี้ยวเค็มฝาดเฝื่อนเผ็ดร้อนหวานขมนั้น อาศัยแก่ชิวหาประสาทเป็นที่ตั้ง แต่ทว่าที่รู้นั้นจะด้วยสามารถลำพังชิวหาประสาทนั้นหามิได้ จะรู้รสว่าขมหวานเปรี้ยวเค็มฝาดเฝื่อนนั้น รู้ด้วยสามารถสัญญาจะรู้จักรสเปรี้ยวนี้เป็นรสสิ่งนั้น ๆ รสเค็มนี้เป็นรสสิ่งนั้น ๆ จะรู้ฉะนี้ด้วยวิญญาณ จะรู้ว่ารสขมเช่นนี้มีคุณอย่างนั้นมีโทษอย่างนั้น ชอบโรคสิ่งนั้น ไม่ชอบโรคสิ่งนั้น จะรู้วิเศษอย่างนี้ รู้ด้วยสามารถด้วยปัญญา

  ขณะเมื่อถูกต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้า แลจะรู้ว่าหยาบว่าเละเอียดว่าอ่อนกว่ากระด้าง จะรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ รู้ด้วยอำนาจสัญญา แลวิญญาณจะรู้ว่าสิ่งนั้นถ้าได้สัมผัสถูกต้องแล้ว จะเป็นคุณหรือโทษอย่างนั้นจะรู้วิเศษฉะนี้รู้ด้วยอำนาจปัญญา

  เป็นใจความว่าจิตทั้ง ๕ มีอุเบกขาสหคตจักขุวิญญาณเป็นต้น มีสุขสหคตวิญญาณเป็นปริโยสานนี้ เป็นจิตบังเกิดสำหรับปัญจทวารวิถีมีจักขุทวารเป็นต้น มีกายทวารเป็นปริโยสานดุจดังพรรณนามาฉะนี้

  แลสัมปฏิจฉันนจิตนั้นเป็นพนักงานจะรับเอาซึ่งอารมณ์ทั้งปวง อันปรากฏแก่ทวารทั้ง ๕ เมื่อรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ มากระทบประสาท วิญญาณจิตทั้ง ๕ ที่พรรณนามาแต่หลังนั้น บังเกิดให้เกิดให้รู้จักอารมณ์แล้วกาลใดเมื่อใด สัมปฏิจฉันนจิตนั้น ก็บังเกิดขึ้นเป็นพนักงานรับเอา อารมณ์มีรูปเป็นต้น เป็นประธานในกาลเมื่อนั้น

  สัมปฏิจฉันนจิตนั้นบังเกิดแต่ทวารทั้ง ๕ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร จะได้บังเกิดในมโนทวารนั้นหามิได้

  แลอุเบกขาสันตีรณจิตกับโสมนัสสสันตีรณจิตสองดวงนั้น เป็นพนักงานที่จะรับพิจารณาซึ่งอารมณ์ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตบังเกิดรับเอาอารมณ์มาแล้วกาลเมื่อใดสันตีรณจิตเข้ารับต่อ พินิจพิจารณาอารมณ์นั้นสืบไปในกาลเมื่อนั้น จิตที่พรรณนามานี้ ประสมเข้าด้วยกันเป็น ๘ ดวงเรียกว่ากุศลวิบากอเหตุ

  แลอกุศลวิบาก ๗ ดวงนั้นเล่า จัดเป็นจักขุวิญญาณดวง ๑ โสตวิญญาณดวง ๑ ฆานวิญญาณดวง ๑ ชิวหาวิญญาณดวง ๑ กายวิญญาณดวง ๑ สัมปฏิจฉันนจิตดวง ๑ สันตีรณดวง ๑ ประสมเข้ากันเป็น ๗ ดวง

  จักขุวิญญาณนั้น ก็เป็นพนักงานให้รู้จักรูปเหมือนกันกับจักขุวิญญาณที่สำแดงมาก่อนนั้น ต่างกันแต่ว่าดวงก่อนเป็นฝ่ายกุศล ที่จะว่าบัดนี้เป็นฝ่ายอกุศล จักขุวิญญาณที่สำแดงมาก่อนนั้น เป็นพนักงานให้รู้จักรูปอันเป็นบุญ จักขุวิญญาณที่บัดนี้เป็นพนักงานให้รู้จักรูปอันเป็นบาปเห็นรูปอันชั่วเห็นรูปลามกแล้วกาลเมื่อใด จักขุวิญญาณฝ่ายอกุศลดวงนี้ก็บังเกิดเข้าเป็นพนักงาน ให้รู้จักรูปในกาลเมื่อนั้น

  ถ้าเห็นว่ารูปที่เป็น มีต้นว่าเห็นพระสงฆ์สามเณร พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ พระปฏิมากร เห็นรูปที่เป็นบุญฉะนี้ จักขุวิญญาณที่เป็นฝ่ายอกุศลก็บังเกิดเข้าเป็นพนักงาน ให้รู้จักที่เป็นกุศลนั้น จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ เป็นจิตสำหรับจักขุวิญญาณวิถีด้วยกัน แต่ทว่าเมื่อจะบังเกิดนั้นเปลี่ยนกันเป็นวาระ ๆ ถ้าเห็นรูปที่เป็นบุญ ก็เป็นวาระแห่งจักขุวิญญาณที่เป็นฝ่ายกุศลจะบังเกิด ถ้าเห็นรูปที่เป็นบาปก็เป็นวาระแห่งจักขุวิญญาณฝ่ายอกุศลจะบังเกิด

  โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันน สันตีรณ ฝ่ายอกุศลวิบากที่สำแดงบัดนี้ ก็มีลักษณะเหมือนกันกับที่สำแดงก่อน แปลกกันแต่บุญและบาป ที่สำแดงก่อนนั้นเป็นฝ่ายบุญที่สำแดงบัดนี้เป็นฝ่ายบาปพึงเข้าใจว่าสุดแท้แต่ว่าได้ฟังเสียงอันเป็นบาปได้ดมกลิ่นอันเป็นบาป ได้ลิ้มเลียรสอันเป็นบาป ให้สัมผัสถูกต้องที่เป็นบาป แล้วกาลเมื่อใด โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันน สันตีรณที่เป็นฝ่ายบาปนั้น ก็บังเกิดเป็นพนักงานแห่งกัน ๆ ไปในกาลเมื่อนั้นถ้าได้ฟังเสียงที่เป็นบุญ ได้ดมกลิ่นที่เป็นบุญ ได้ลิ้มรสที่เป็นบูญด้วยสัมผัสที่เป็นบุญแล้ว จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันน สันตีรณ ฝ่ายกุศลที่สำแดงในกาลก่อน ก็บังเกิดเป็นที่ ๆ เป็นแห่ง ๆ เป็นพนักงานแห่งกันและกันดังพรรณนามานี้

  แลมหาวิบาก ๘ ดวงนี้ จัดเป็นญาณสัมปยุต ๕ ดวง เป็นญาณวิปปยุต ๔ ดวง มหาวิบากทั้งหลายนี้ก็จัดเป็นสสังขาริก อสังขาริก จัดเป็นโสมนัสแลอุแบกขา เหมือนอย่างที่พรรณนามาในกามาพจรมหากุศล ที่สำแดงมาแล้วในคัมภีร์พระอภิธรรมมัตถสังคิณี จะยกไว้จะสำแดงในกิริยาจิต ๑๑ ประการ

  กิริยาจิต ๑๑ ประการนั้น จัดเป็นอเหตุกกิริยา ๓ มหากิริยา ๘ เป็น ๑๑ ด้วย

  อเหตุกกิริยานั้น จัดเป็นปัญจะทวาราวัชชนะประการ ๑ มโนทวาราวัชชนะประการ ๑ สหนจิตประการ ๑ เป็น ๓ ประการด้วยกัน

  ปัญจทวารามัชชนะนั้น เป็นจิตสำหรับพิจารณาซึ่งอารมณ์ในทวารทั้ง ๕ เมื่อรูปารมณ์มาปรากฏแจ้งแก่จักษุประสาท สัททารมณ์มาปรากฏแก่โสตประสาท คันธารมณ์มาปรากฏแก่ฆานประสาท รสารมณ์มาปรากฏแก่ชิวหาประสาท โผฏฐัพพารมณ์มาถูกต้องกายประสาทกาลเมื่อใด ปัญจทวาราวัชชนะจิตนี้ ก็บังเกิดขึ้นก่อนจิตทั้งปวงให้พิจารณาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นเป็นประธานในกาลเมื่อนั้น

  เมื่อปัญจทวาราวัชชนะจิตบังเกิดดับไปแล้ว จักขุวิญญาณแลโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ แลสัมปฏิจฉันน สันตีรณ จึงบังเกิดได้ในกาลเมื่อภายหลัง อันพิจารณาอารมณ์ในปัญจทวารนั้น เป็นพนักงานแห่งปัญจทวาราวัชชนะจิต

  แลมโนทวาราวัชชนะจิตนั้น เป็นจิตอันพิจารณาาอารมณ์ในมโนทวาร ในมโนทวารวิถีนั้น มีมโนทวาราวัชชนะจิตเป็นต้น มโนทวาราวัชชนะจิตนั้นบังเกิดก่อนแล้ว ชวนะแลตทาลัมพณะ จึงบังเกิดสืบต่อไปในลำดับ

  มโนทวาราวัชชนะจิตดวงนี้ เมื่อบังเกิดในปัญจทวาราวิถีนั้นให้สำเร็จเป็นโวฏฐชวนกิจ เมื่อบังเกิดในมโนทวารวิถีนั้น บังเกิดเป็นมโนทวาราวัชชนะ

  แลหสนจิตนั้น เป็นจิตแห่งพระขีณาสพ จะได้มีในสันดานแห่งปุถุชนนั้นหามิได้ หสนจิตนี้เป็นพนักงานที่จะให้ยิ้มแย้ม พระขีณาสพเจ้านั้น อันจะยิ้มจะเเย้มนั้นย่อมยิ้มแย้มด้วยหสนจิตดวงนี้บังเกิดประสามเข้าเป็นอเหตุกกิริยา ๓ ด้วยกัน

  แลมหากิริยา ๘ ดวงนั้นเป็นญาณสัมปยุต ๔ เป็นญาณวิปปยุต ๔ เป็นโสมนัสแลอุเบกขา สสังขาริก แลสสังขาริกเหมือนนัยที่พรรณนามาในกามาพจรมหากุศล อันสำแดงแล้วในคัมภีร์ต้น คืออภิธัมมัตถสังคิณี

  ประสมมหากิริยา ๘ กับอเหตุกกิริยา ๓ เข้าด้วยกัน จึงเป็นกามาพจรกิริยา ๑๑ ประการ

  ประสมกามาพจรวิบาก ๒๓ มหากุศล ๘ อกุศล ๑๒ กามาพจรกิริยา ๑๑ เข้าด้วยกัน จึงเป็นกามาพจร ๕๔ ดวงด้วยกัน

  แลรูปพจรจิต ๑๕ นั้น จัดเป็นกุศล ๕ วิบาก ๕ เข้าด้วยกันจึงเป็น ๑๕

  รูปกุศล ๕ นั้น จัดเป็นปฐมฌานจิตประการ ๑ ทุติยฌานจิตประการ ๑ ตติยฌานจิตประการ ๑ จตุตถฌานจิตประการ ๑ ปัญจมฌานจิตประการ ๑ เป็น ๕ ดวงด้วยกัน จัดเป็นฝ่ายกุศล

  ที่เรียกว่าฌานโลกีย ๆ นั้นมิใช่อื่นใช่ไกล ได้แก่รูปาวจรกุศลจริตทั้ง ๕ มีปฐมฌานจิตเป็นต้นเป็นประธานนี้ รูปาวจรวิบาก ๕ นั้น จัดเป็นปฐมฌานวิบากประการ ๑ ทุติยฌานวิบากประการ ๑ ตติยฌานวิบากประการ ๑ จตุตถฌานวิบากประการ ๑ ปัญจมฌานวิบากประการ ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน ปฐมฌานวิบากจิตนั้น เป็นพนักงานให้ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิพรหม ทุติยฌานวิบากแลตติยฌานวิบาก ๒ ดวงนั้นปฐมฌานเป็นพนักงานให้ปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิพรหม

  จตุตถฌานวิบากนั้น เป็นพนักงานให้ปฏิสนธิในตติยฌานภูมิพรหม

  ปัญจมฌานวิบากนั้น เป็นพนักงานให้ปฏิสนธิในจตุตถฌานภูมิพรหม ประสมเข้าด้วยกันเป็นรูปาวจรวิบาก ๕

  แลรูปาวจรกิริยา ๕ นั้น จัดเป็นปฐมฌานกิริยาประการ ๑ ทุติยฌานกิริยาประการ ๑ ตติยฌานกิริยาประการ ๑ จตุตถฌานกิริยาประการ ๑ ปัญจมฌานกิริยาประการ ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน

  รูปาวจรกิริยาทั้ง ๕ นี้ จะบังเกิดแต่ในสันดานท่านที่เป็นพระขีณาสพจะมีในสันดานเราท่านปุถุชนนั้นหามิได้ ปถุชนทั้งปวงนั้น ถ้าจะได้ฌานก็ได้แต่ฌานอันเป็นกุศล จะได้ฌานอันเป็นกิริยานั้นหามิได้ อาศัยว่ากิริยาจิตนี้ ไม่มีในสันดานแห่งปถุชนทั้งปวง

  แลอรูปาวจาจิตร ๑๒ นั้นจัดเป็นกุศล ๔ วิบาก ๔ กิริยา ๔ เป็น ๑๒ ด้วยกัน

  อรูปกุศล ๔ นั้นจัดเป็นอากาสานัญจายตนกุศลดวง ๑ วิญญาณัญจายตนกุศลดวง ๑ อากิญจัญญายตนกุศลดวง ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลดวง ๑ เป็น ๔ ด้วยกัน

  แลวิบาก ๔ ดวงนั้น จัดเป็นอากาสานัญจายตนวิบากประการ ๑ วิญญาฌัญจายตนวิบากประการ ๑ อากิญจัญญายตนวิบากประการ ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน

   แลอรูปาวจรกิริยาทั้ง ๔ นั้น จัดเป็นอากาสานัญจายตนกิริยาประการ ๑ วิญญาฌัญจายตนกิริยาประการ ๑ อากิญจัญญายตนกิริยาประการ ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน

  พึงเข้าใจเหมือนนัยที่พรรณามาในรูปาวจรกุศลนั้นเถิดว่าอรูปวจรกุศล ๔ ดวงนั้น บังเกิดมีแต่ปุถุชนอันได้ฌานโลกีย์ จะได้ในสันดานแห่งพระขีณาสพหามิได้

  แลอรูปวิบากทั้ง ๔ นั้น เป็นพนักงานให้ปฏิสนธิในอรูปพรหมทั้ง ๔ ขั้น

  แลอรูปกิริยาทั้ง ๔ นั้น มีในสันดานท่านที่เป็นขีณาสพ จะได้มีในสันดานโลกิยชนหามิได้

  ประสมกุศลแลวิบากแลกิริยาเข้าด้วยกันจึงเป็นอรูปาวจรจิต ๑๒

  แลโลกุตตร ๘ จัดเป็นมรรค ๔ เป็น ๙ ด้วยกัน

  ประสมกามาวจรจิต ๕๔ อรูปาวจร ๑๒ โลกุตตร ๕ เข้าด้วยกันเป็นจิต ๙๙ โดยสังเขป

  แลจิต ๘๘ นี้ สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าสงเคราะห์เข้าเป็นขันธ์อัน ๑ ชื่อว่าวิญญาณขันธ์

  เมื่อสำแดงวิญญาณขันธ์ในที่ ๒ ด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้นจึงสำแดงเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์สืบต่อไป

  เวทนาขันธ์ได้แก่เวทนาเจตสิก อันมีลักษณะให้เสวยซึ่งอารมณ์เวทนาเจตสิกนี้ เมื่อจำแนกออกโดยอารมณ์นั้น แยกออกไปเป็น ๕ ประการ คือ

  เมื่อสุขเวทนาประการ ๑ ทุกขเวทนาประการ ๑ โสมนัสสเวทนาประการ ๑ โทมนัสสเวทนาประการ ๑ อุเบกขาเวทนาประการ ๑ เป็น ๕ ประการดังนี้

  ขณะเมื่อมีความสุข เสวยอารมณ์อันเป็นสุขนั้น ได้ชื่อว่าสุขเวทนา ขณะเมื่อต้องภัยได้ทุกข์ เสวยอารมณ์อันเป็นทุกข์นั้นได้ชื่อว่าทุกขเวทนา ขณะเมื่อโสมนัสรื่นเริงบังเทิงใจเสวยอารมณ์ อันชื่นชมหฤหรรษ์นั้นได้ชื่อว่าโสมนัสเวทนา ขณะเมื่อมีความน้อยเนื้อต่ำใจ เสวยอารมณ์อันเป็นโทมนัสขัดแค้นนั้นได้ชื่อว่า โทมนัสเวทนา ขณะเมื่อไม่สุขไม่ทุกข์ไม่ชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดาไม่น้อยเนื้อต่ำใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสวยอารมณ์อันเป็นมัธยัสถ์นั้นได้ชื่อว่าอุเบกขาเวทนา

  เวทนาทั้ง ๕ ประการดังพรรณนามาฉะนี้ แต่ละอัน ๆ แจกออกไปโดยทวารนั้นได้ละ ๖ ๆ สุขเวทนาก็แจกออกไปเป็น ๖ ทุกขเวทนาก็แจกออกไปเป็น ๖ โสมนัสแลโทมนัสแลอุเบกขานั้นก็แจกออกไปเป็น ๖ ๆ เหมือนกัน

  สุขเวทนาที่แจกออกไปเป็น ๖ นั้น จัดเป็นจักขุสัมผัสสชาสุขเวทนาประการ ๑ โสตสัมผัสสชาสุขเวทนาประการ ๑ ฆานสัมผัสสชาสุขเวทนาประการ ๑ ชิวหาสัมผัสสชาสุขเวทนาประการ ๑ กายสัมผัสสชาสุขเวทนาประการ ๑ มโนสัมผัสสชาสุขเวทนาประการ ๑ เป็น ๖ ประการด้วยกัน

  จักขุสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น ได้แก่ความสุขอันบังเกิดแต่จักษุสัมผัส ได้เห็นสิ่งอันเป็นที่ชอบเนื้อจำเริญใจ ได้เห็นซึ่งรูปอันเป็นที่รักใคร่ แลมีความสุขด้วยได้เห็น ได้เสวยอารมณ์เป็นสุขสวัสดิ์ด้วยสามารถได้เห็นรูปนั้น ได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาสุขเวทนา

  แลโสตสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น ได้แก่ความสุขอันบังเกิดแต่โสตสัมผัส ได้ฟังดุริยางค์ดนตรีดีดสีตีเป่าขับร้องเสียงสิ่งใด ๆ ก็ดีได้ฟังแล้วมีความสุขเสวยซึ่งอารมณ์อันเป็นสุข เพราะเหตุได้ฟังนั้นได้ชื่อว่าโสตสัมผัสสชาสุขเวทนา

  แลฆานสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น ได้แก่เวทนาอันบังเกิดแต่ฆานสัมผัสสได้ดมกลิ่นกฤษณากลำพักจวงจันทร์ แลพรรณดอกไม้อันหอมเป็นที่ชื่นชูอารมณ์แล้วมีความสุข เสวยอารมณ์อันเป็นสุขเพราะเหตุได้สูดดมนั้น ได้ชื่อว่าฆานสัมผัสสชาสุขเวทนา

  แลชิวหาสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น ได้แก่เวทนาอันบังเกิดแต่ชิวหาสัมผัสได้ลิ้มซึ่งรสอันประณีตบรรจง เป็นที่ชอบอารมณ์แห่งตน แลมีความสุขเสวยอารมณ์เป็นสุข เพราะได้ลิ้มเลียนั้นได้ชื่อว่าชิวหาสัมผัสสชาสุขเวทนา

  แลกายสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น ได้แก่เวทนาอันบังเกิดแต่กายสัมผัสสได้สัมผัสถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันเป็นที่จำเริญใจแห่งตน แลมีความสุขเสวยอารมณ์เป็นสุข เพราะได้ถูกต้องนั้นได้ชื่อว่ากายสัมผัสสชาสุขเวทนา

  แลมโนสัมผัสสชาสุขเวทนานั้น ได้แก่เวทนาอันบังเกิดแต่มโนสัมผัส ขณะเมื่อรู้เหตุผลต้นปลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว แลมีความสุขเสวยอารมณ์อันเป็นสุขเพราะเหตุน้ำใจนั้น ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาสุขเวทนา

  ถ้าจะว่าให้เห็นชัดแจ้งด้วยกันแล้ว พระโยคาพจรเจ้าอันจำเริญภาวนานั้น เมื่อลักษณะอันหนึ่งมาปรากฏแก่จิตของท่าน แลท่านมีความสุขเสวยอารมณ์อันเป็นสุข เพราะเหตุลักษณะมาปรากฏแจ้งแก่จิตนั้นได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาสุขเวทนา

  สุขเวทนาสิ่งเดียวนี้ แจกออกไปเป็นเวทนาถึง ๖ ประการ ด้วยสามารถทวารทั้ง ๖ ดุจพรรณนามาฉะนี้

  แลทุกขเวทนานั้นเล่าก็แจกออกไปเป็น ๖ เหมือนกัน เป็นจักขุสัมผัสสชาทุขเวทนาประการ ๑ โสตสัมผัสสชาทุกขเวทนาประการ ๑ ฆานสัมผัสสชาทุกขเวทนาประการ ๑ ชิวหาสัมผัสสชาทุกขเวทนาประการ ๑ กายสัมผัสสชาทุกขเวทนาประการ ๑ มโนสัมผัสสชาทุกขเทวนาประการ ๑ เป็น ๖ ประการด้วยกัน อธิบายก็เหมือนกันกับหนหลัง เป็นใจความว่า สุดแท้แต่เห็นรูปสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มิได้ชอบเนื้อพึงใจแลมีความทุกข์ เป็นต้นว่า เห็นราชสีห์เสือโคร่งเสือเหลือง เห็นอสรพิษน้อยใหญ่ เห็นแรดเห็นช้าง เห็นโคเถื่อนแลความกลัวว่า มันจะกระทำร้ายจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต แลมีความทุกข์เสวยอารมณ์อันเป็นทุกข์ เพราะได้เห็นอย่างนี้แลได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาทุกขเวทนา

  เมื่อเห็นภูตแลปีศาจอันร้ายกาจหยาบช้า จะเบียดเบียนอาตมะนั้นก็ดี เห็นชนที่เป็นเวรกัน เห็นใจรอันร้ายแลกลัวจะเกิดภัยแก่ตัวแลมีความทุกข์นั้นก็ดี สุดแท้แต่ว่าได้ทุกข์เพราะได้เห็นแล้วก็ได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาทุกขเวทนาทั้งนั้น

  ถ้าได้ฟังเสียงเล่า เป็นต้นว่าได้ฟังเสียงภูตแลปีศาจ เสียงสีหราชพยัคฆาทิปิมหิงสาสรรพเสียงนั้น สุดแท้แต่ว่าฟังแล้วแลมีความตระหนกตกใจกลัวว่าจะมีภัยแก่อาตมา แลมีความทุกข์เสวยอารมณ์อันเป็นทุกข์เพราะได้ฟังเสียงนั้น ได้ชื่อว่าสัมผัสสชาทุกขเวทนา

  ถ้าได้กลิ่นเป็นต้นว่าไปในป่าได้กลิ่นเสือ ไปเรือได้กลิ่นจรเข้ ได้กลิ่นสัตว์อันร้ายแลกลัวจะเป็นอันตรายนั้นก็ดี ได้กลิ่นอันชั่วอันเหม็นเป็นที่พึงเกลียด แลไม่สบายอารมณ์นั้นก็ดี สุดแท้แต่ว่าได้กลิ่น แล้วแลหาความสบายมิได้ เสวยอารมณ์อันเป็นทุกข์เพราะเหตุได้กลิ่นนั้นได้ชื่อฆานสัมผัสสชาทุกขเวทนา

  ถ้าได้บริโภคสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีต้นว่ายาพิษ กินแล้วแลกลัวจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตนั้นก็ดี ได้กินซึ่งสิ่งนั้นเปรียวนักขมนักฝาดนัก ไม่ใคร่จะหายขมไม่ใคร่จะหายฝาด แลไม่สบายเพราะรสนั้นก็ดี สุดแท้แต่ว่าไม่สบายเพราะรส เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ เพราะเหตุที่ลิ้มเลียแลบริโภคนั้นแล้ว ก็ได้ชื่อว่าชิวหาสัมผัสสชาทุกขเวทนา

  ถ้าได้สัมผัสถูกต้องสิ่งของ อันเปื่อยอันเน่าแลมีความเกลียดความอายก็ดี ได้ถูกต้องขวากแลหนามบุ้งร่านริ้น แลมีความเจ็บความปวดความแสบความคันนั้น ต้องปะรการด้วยเครื่องสาตราวุธ แลมีความเจ็บปวดยิ่งนั้นก็ดี ต้องผูกต้องพันต้องโบยต้องรัดต้องจำต้องจอง แลบังเกิดความทุกขเวทนามีประการต่าง ๆ แล้วก็ดี สุดแท้แต่ว่าได้อารมณ์อันเป็นทุกข์เพราะกายสัมผัสนั้นแล้ว ก็ได้ชื่อว่ากายสัมผัสสชาทุกขเวทนาสิ้นด้วยกัน

  ถ้าเหตุผลสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาปรากฏแจ้งแก่น้ำใจเหมือนนอนหลับอยู่แลฝันเห็นร้าย เมื่อฝันเห็นร้ายแลหาความสบายมิได้ เสวยอารมณ์อันเป็นทุกข์อย่างนี้ ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาทุกขเวทนา เวทนาสิ่งเดียวแจกออกไปโดยทวาร เป็นทุกขเวทนา ๖ ประการด้วยกัน ดุจพรรณนามาฉะนี้

   ยังโสมนัสเวทนาโทมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนานั้นเล่าก็แจกออกไปสิ่งละหก ๆ เหมือนกัน แจกเป็นจักขุสัมผัสสชาฐาน ๑ เป็นโสตสัมผัสสชาฐาน ๑ เป็นฆานสัมผัสสชาฐาน ๑ เป็นชิวหาสัมผัสสชาฐาน ๑ เป็นกายสัมผัสสชาฐาน ๑ เป็นมโนสัมผัสสชาฐาน ๑ เป็น ๖ อย่างเหมือนกัน

  พึงเข้าใจเป็นใจความเถิดว่า ขณะเมื่อเราท่านทั้งปวงได้เห็นบิดามารดาคณาญาติมิตรสหายอันเป็นที่รัก เป็นพี่ป้าน้าอาบุตรภรรยาอันเป็นที่รักนั้นก็ดี เห็นรูปพระปฏิมากร พระสถูปพระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ พระสงฆ์สามเณร องค์ใดองค์หนึ่งอันเป็นที่ให้บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสนั้นก็ดี แล้วมีความชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดา หัวเราะร่าเริงบังเทิงใจอย่างนี้แลได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาโสมนัสเวทนา

  ถ้ามิดังนั้น เห็นรูปที่ขัน ๆ แลชอบใจหัวเราะร่าเริงอย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาโสมนัสเวทนาเหมือนกัน

  ถ้าแลเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งปันไม่เป็นที่รัก เป็นต้นว่าเห็นคนอันเป็นอริกันอยู่แล้ว ถ้ามีความโทมนัสขัดเคืองคิดแค้นขึ้นมาอย่างนี้ ได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาโทมนัสเวทนา

  ถ้าได้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้า แลมัธยัสถ์เป็นท่ามกลางอยู่ ได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาอุเบกขาเวทนา

  ถ้าได้ฟังสำเนียงอันชอบใจ เป็นต้นว่าได้ฟังสำเนียงสวดมนต์ภาวนาเสียงสำแดงพระสัทธรรมเทศนา แลมีความชื่นชมยินดียิ้มแย้มแจ่มในปรีดาปราโมทย์อย่างนี้ ได้ชื่อว่าโสตสัมผัสสชาโสมนัสเวทนา

  ถ้าฟังเสียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว แลเป็นโทมนัสขัดเคืองขึ้นมาเป็นต้นว่า ได้ยินเขาติฉินนินทา ได้ยินเขาด่าตัดพ้อเย้ยหยันเปรียบ ๆ เปรย ๆ ได้ยินแล้วแลมีความโกรธแค้นขัดเคืองขึ้นมาอย่างนี้ได้ชื่อว่า โสตสัมผัสสชาโทมนัสเทวนา ว่าเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส

  ถ้าได้ยินแล้วแลมัธยัสถ์เป็นท่ามกลางอยู่ ได้ชื่อว่าโสตสัมผัสสชาอุเบกขาเวทนา

  ถ้าได้กลิ่นเป็นต้นว่า กลิ่นดอกไม้ธุปเทียนน้ำมันหอมกระแจะจันทร์ อันบุคคลนำไปบูชาไว้ในลาน พระพุทธรูปพระสถูปเจดีย์ แลมีความชื่นมโสมนัสยินดีปรีดาปราโมทย์ ก็ได้ชื่อว่าฆานสัมผัสสชาโสมนัสเวทนา

  พึงเข้าใจไปทั่วเถิดว่าสุดแท้แต่ว่าจะได้กลิ่นแล้ว แลมีความชื่นชมยินดีปรีดาปราโมทย์ ก็ได้ชื่อว่าฆานสัมผัสสชาโสมนัสเวทนา

  ถ้าได้กลิ่นชั่ว กลิ่นอันมิได้ชอบแลมีความโทมนัสขัดเคืองแค้นขึ้นมาก็ได้ชื่อว่าฆานสัมผัสสชาโทมนัสสเวทนา ว่าโทมนัสเกิดแต่ฆานสัมผัส ถ้าได้กลิ่นแล้วแลมัธยัสถ์ท่ามกลางอยู่ ก็ได้ชื่อว่าฆานสัมผัสสชาอุเบกขาเวทนา

  ถ้าได้ลิ้มเลียรสแล้วก็ชื่อชมยินดี เหมือนอย่างนักเลงสุรานั้นได้ดื่มกินสุราก็ชื่นชมว่าเอร็ดอร่อย นับถือกันด้วยกินสุรายินดีปรีดาด้วยกันอย่างนั้นได้ชื่อว่าชิวหาสัมผัสสชาโสมนัสสเวทนา

  ถ้าได้ลิ้มเลียรสแล้วมีความน้อยเนื้อต่ำใจ เหมือนหนึ่งท่านที่เป็นสัปบุรุษ อุตสาห์รักษาศีลของตนจะให้บริสุทธิ์ปราศจากมลทิล ครั้นว่ามีผู้มาข่มขืนให้กินสุรายาเมา เมื่อเขาขืนกรอกขืนเทลงในมุขทวารสุรานั้นล่วงลำคอเข้าไปได้ ก็มีความน้อยเนื้อต่ำใจนั้นหนักหนา อย่างนี้ได้ชื่อว่าชิวหาสัมผัสสชาโทมนัสสเวทนา

  เป็นใจความว่า สุดแท้แต่ว่าลิ้มเลียรสแล้วมีความขึงความโกรธมีความน้อยเนื้อต่ำใจแล้ว ก็ได้ชื่อว่าโทมนัสสเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส

  ถ้าได้ลิ้มเลียรสแล้ว และมัธยัสถ์เป็นท่ามกลางอยู่ ก็ได้ชื่อว่าชิวหาสัมผัสสชาอุเบกขาเวทนา

  ถ้าได้ถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชอบอารมณ์ เป็นต้นว่าได้เชยชมซึ่งรูปอันเป็นวิสภาค และบังเกิดความกำหนัดยินดีด้วยราคะดำกฤษณาหรรษาภิรมย์ตามกิจประเวณีคดีโลก อย่างนี้ได้ชื่อว่ากายสัมผัสสชาโสมนัสสเวทนา

  ถ้าถูกต้องเข้าแล้วและมีความโทมนัสขัดแค้น เหมือนหนึ่งว่าคนนั้นอยู่แล้ว ไม่ปรารถนาที่จะถูกต้องตัวเรา ว่าให้เห็นใกล้ ๆ เถิด เหมือนหนึ่งว่าคนที่กายชั่วเปื้อนไปด้วยตมและโคลน อสุจิลามกเหม็นเน่าเหม็นโขง คนเปื่อยหวะเป็นเรื้อนและมะเร็งคุดทะราด มิได้สะอาดเราไม่ปรารถนาจะให้ถูกต้อง ครั้นขืนเข้าเบียดเสียดเข้ามาให้ถูกต้องกายเรา ๆ ก็มีความแค้นยิ่งนักหนาอย่างนี้แล ได้ชื่อว่ากายสัมผัสสชาโทมนัสสเวทนา ว่าโทมนัสเกิดแต่กายสัมผัส ถ้าจะมาถูกต้องเข้าแล้ว และมัธยัสถ์เป็นท่ามกลางอยู่ก็ได้ชื่อว่ากายสัมผัสสชาอุเบกขาเวทนา

   ถ้าและอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์มาปรากฏแจ้งแก่มโนทวารเหมือนหนึ่งว่าหลับลงและฝันเห็นที่ชอบใจ เป็นต้นว่าฝันเห็นว่าบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้และของหอมเครื่องสักการบูชาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฝันว่าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ดี เมื่อฝันเป็นอาทิฉะนี้ และมีความชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดาอย่างนี้แล ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาโสมนัสเวทนาว่าเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส

   ถ้าฝันเห็นที่ชั่วไม่ชอบอารมณ์ และบังเกิดโทมนัสขัดแค้น ก็ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาโทมนัสเวทนา

   ถ้าฝันและมัธยัสถ์เป็นท่ามกลางอยู่ ก็ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาอุเบกขาเวทนา

   เวทนาทั้งหลายนี้ เมื่อจัดด้วยภูมินั้นก็จัดเป็นกามาพจรเวทนา ๕๔ รูปาพจรเวทนา ๑๕ อรูปพจรเวทนา ๑๒ โลกกุตตรเวทนา ๘ เป็น ๘๙ ด้วยกันเท่ากันกับจิต มากนักหนาถึงเพียงนี้ เหตุดังนั้นสมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาจารย์ จึงสงเคราะห์เวทนาทั้งปวงเข้าเป็นกองอันหนึ่งก็เรียกว่าเวทนาขันธ์

   และสัญญาเจตสิกนั้น พระพุทธองค์ก็สงเคราะห์เข้าไว้เป็นกองอันหนึ่งเหมือนกันกับเวทนา

   สัญญาเจตสิกนั้น เมื่อจำแนกออกไปโดยทวารนั้น จัดเป็นสัญญา ๖ ประการ เป็นจักษุสัมผัสสชาสัญญาประการ ๑ โสตสัมผัสสชาสัญญาประการ ๑ ฆานสัมผัสสชาสัญญาประการ ๑ ชิวหาสัมผัสสชาสัญญาประการ ๑ กายสัมผัสสชาสัญญาประการ ๑ มโนสัมผัสสชาสัญญาประการ ๑ เป็น ๖ ประการด้วยกัน

   จักขุสัมผัสสชาสัญญานั้น ได้แก่สัญญาอันยุติในจักษุเกิดแต่ได้เห็นเป็นต้น ได้เห็นแล้วและสำคัญได้ว่าคนนั้นคนนี้สิ่งนี้สำคัญด้วยสามารถได้เห็น อย่างนี้ได้ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาสัญญา

   ถ้าได้ฟังเสียงและสำคัญว่าเสียงสิ่งนั้น ๆ เสียงคนนั้น ๆ สำคัญได้ด้วยสามารถได้ยินเสียงนี้ ได้ชื่อว่าโสตสัมผัสสชาสัญญา

   ถ้าได้ดมกลิ่นและสำคัญได้ว่าเป็นกลิ่นสิ่งนั้น ๆ กลิ่นคนนั้น ๆ สำคัญได้ด้วยสามารถได้ดมกลิ่นนั้น ได้ชื่อว่าฆานสัมผัสสชาสัญญา

   ถ้าได้ลิ้มเลียดูก่อนจึงสำคัญได้ว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นรากไม้อันนั้น เป็นยา สิ่งนั้นเป็นของสิ่งนั้น ๆ ได้สำคัญด้วยสามารถได้ลิ้มได้เลีย ได้บริโภคนี้ ได้ชื่อว่าชิวหาสัมผัสสชาสัญญา

   ถ้าได้สัมผัสถูกต้องก่อนจึงสำคัญได้ว่าเป็นสิ่งนั้น เป็นผู้นั้น เป็นตนของผู้นั้นสำคัญได้ด้วยสามารถได้ถูกต้องดังนี้ ได้ชื่อว่ากายสัมผัสสชาสัญญา

   ถ้าสำคัญได้ด้วยมโนทวาร เหมือนท่านเป็นโยคาพจรเล่าเรียนซึ่งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่ออุคคหะและปฏิภาคะปรากฏแก่มโนทวาร และท่านสำคัญได้ว่าสิ่งนี้เขียว สิ่งนี้เหลือง สิ่งนี้แดงสำคัญได้ด้วยจิตอย่างนี้ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาสัญญา

   ภิกษุและสามเณรที่ท่านมีศรัทธาอุตสาหะเล่าเรียน ซึ่งคันถธุระนั้นเล่า เมื่อชำนิชำนาญแล้วท่านระลึกขึ้นมา ท่านก็รู้ว่าบทนี้บาทนี้คาถานี้อยู่ในคัมภีร์นั้น ๆ สำคัญได้ว่าอยู่ผูกนั้น บรรทัดนั้น สำคัญได้ด้วยใจอย่างนี้ ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาสัญญา

   ลักษณะที่สำคัญได้ว่าอยู่ในคัมภีร์นั้นผูกนั้น นั่นแลเป็นลักษณะแห่งสัญญา

   ลักษณะที่จำได้นั้น เป็นพนักงานแห่งสติปัญญาต่างหาก จะเป็นพนักงานแห่งสัญญานั้นหามิได้ สัญญานี้ให้รู้แต่หยาบ ๆ ให้รู้แต่ว่าอยู่ที่นั้นให้รู้แต่เท่านั้น อันจะรู้วิเศษขึ้นไปนั้นลักษณะแห่งปัญญาสัญญานั้นรู้แต่หยาบ วิญญาณนั้นให้รู้เป็นอย่างกลาง ปัญญานั้นให้รู้เป็นอย่างยิ่งให้รู้วิเศษกว่าสัญญาและวิญญาณ

   เป็นใจความว่า สัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว และให้สำคัญได้ด้วยสามารถลำพังใจไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้ดม ไม่ได้ลิ้มเลีย ไม่ได้สัมผัสถูกต้องสำคัญได้ด้วยลำพังใจแห่งตน อย่างนี้ได้ชื่อว่ามโนสัมผัสสชาสัญญาจัดโดยทวารนั้นได้สัญญาถึง ๖ ประการ ดังพรรณนามาฉะนี้

   ถ้าจะจัดโดยภูมิ สัญญานั้นจัดเป็นกามาพจรสัญญา ๕๔ รูปาพจรสัญญา ๑๕ อรูปพจรสัญญา ๑๒ โลกุตตรสัญญา ๘ ผสมเข้าเป็นสัญญา ๘๙ เท่ากันกับจิตมากนักหนาถึงเพียงนี้ นั้นแหละสมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาจารย์จึงจัดสัญญาเข้าเป็นกองหนึ่ง ได้ชื่อว่าสัญญาขันธ์

   สังขารขันธ์นั้นได้แก่เจตนาเจตสิก ๆ นั้น มีลักษณะอันจะชักนำซึ่งจิตและเจตสิกทั้งหลายบรรดาที่เกิดพร้อมด้วยตน

   เจตนานั้นเมื่อแจกออกไปโดยทวารนั้น แจกเป็นจักขุสัมผัสสชาเจตนา โสตสัมผัสสชาเจตนา ฆานสัมผัสสชาเจตนา ชิวหาสัมผัสสชาเจตนา กายสัมผัสสชาเจตนา มโนสัมผัสสชาเจตนา มโนสัมผัสสชาเจตนา ยกแต่เวทนาสัญญาเสียแล้วยังเหลืออยู่ ๕๐ นั้น จัดเป็นสังขารขันธ์สิ้นทั้งนั้น

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้า เมื่อสำแดงรูปขันธ์ในที่ ๑ สำแดงวิญญาณขันธ์ในที่ ๒ เวทนาขันธ์ในที่ ๓ สัญญาขันธ์ในที่ ๔ สังขารขันธ์ในที่ ๕ ด้วยประฉะนี้

   ลำดับนั้นจึงจำแนกอรรถาธิบายแห่งพระบาลีออกไปตามนัยแห่งพระอภิธรรมบทภาชนีย์ว่า

   “อทุธาสนฺตติสมยเขณวเสน จตุธา อตีตํ นาม โหติ” ว่าเบญจขันธ์อันจะได้ชื่อว่าอดีต และอนาคต และปัจจุบัน มีกำหนดปริเฉท ๔ ประการ คือ อัทธาปริเฉทประการ ๑ สันตติปริจเฉทประการ ๑ สมยปริจเฉทประการ ๑ ขณปริจเฉทประการ ๑

   อัทธาปริจเฉทนั้น กำหนดอัทธา ๓ ประการ คือ อดีตอัทธาประการ ๑ อนาคตอัทธาประการ ๑ ปัจจุบันอัทธาประการ ๑

   “ปฏิสนฺธิโต ปุพฺเพ อตีตํ” กำหนดกาลอันเป็นเบื้องหลังในก่อน ตั้งแต่ปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ไป ได้ชื่อว่าอดีตอัทธา

   “จตุโต อุทฺธํ” กำหนดกานอันเป็นเบื้องหน้า ตั้งแต่จุติจิตในปัจจุบันภพนี้ได้ชื่อว่าอนาคตอัทธา

   “อุภินฺนมนฺตเร” กำหนดกาลในระหว่างแห่งจุติและปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ ได้ชื่อว่าปัจจุบันอัทธา กำหนดอัทธาทั้ง ๓ คืออดีตอัทธา อนาคตอัทธา ปัจจุบันอัทธา นี่แลได้ชื่อว่าอัทธาปริจเฉท

   และสันตติปริจเฉทนั้น กำหนดสันตติ ๓ ประการ คือ อดีตสันตติประการ ๑ อนาคตสันตติประการ ๑ ปัจจุบันสันตติประการ ๑ เป็น ๓ ประการด้วยกัน

   “สภาคเอกอุตุสมุฏฺานเอกาหาวสมุฏฺานญฺจ” ข้อซึ่งจะรู้กำหนดสันตตินั้น รู้ด้วยฤดูร้อนและเย็นอันยังบ่มิได้แปลก สมุฏฐานรูปอันยังมิได้แปลก รู้ด้วยอาหาร

   อธิบายว่า ในระหว่างที่หนาวอยู่ และยังไม่กลับร้อน ร้อนอยู่และยังไม่กลับหนาวนั้นก็ดี ในระหว่างที่แสบท้องอยู่ยังมิได้บริโภคอาหารและยังไม่กลับอิ่มนั้นก็ดี ที่อิ่มอยู่ยังไม่กลับแสบท้องนั้นก็ดีกำหนดกาลในระหว่าง ๒ อย่างนี้ได้ชื่อว่าปัจจุบันสันตติ

   ร้อนและเย็นที่แปลก อาหารสมุฏฐานรูปที่แปลก มีแล้วในเบื้องหลังแห่งปัจจุบันสันตติ ได้ชื่อว่าอนาคตสันตติ

   กำหนดสันตติทั้ง ๓ คือ อดีตสันตติ อนาคตสันตติ ปัจจุบันสันตติ นี้แลได้ชื่อว่าสันตติปริจเฉท

   และสมัยปริจเฉทนั้น กำหนดสมัย ๓ ประการ คือ อดีตสมัย อนาคตสมัย ปัจจุบันสมัย

   “เอกวิถึ เอกชวน เอกาสมาปตฺติสมุฏฺานํ” นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า กาลอันกามาพจรชวนเสวยอารมณ์ แห่งละวิถี ๆ นั้นจัดเป็นสมัยแต่ละอัน ๆ

   ถ้าจะว่าฝ่ายสหรคตนั้น การที่เข้าสู่สมาบัติแต่ละครั้ง ๆ นั้น จัดเป็นสมัยแต่ละอัน ๆ

   สมัยที่เป็นเบื้องหลัง ๆ นั้น ได้ชื่อว่าอดีตสมัย สมัยที่จักมีในเบื้องหน้านั้น ได้ชื่อว่าอนาคตสมัย สมัยที่ประกอบในปัจจุบันนี้ ได้ชื่อว่าปัจจุบันสมัย กำหนดสมัยปริจเฉท ๓ ประการฉะนี้

   แลขณปริจเฉทนั้น กำหนดเป็น ๓ ประการ เป็นอดีตขณะ อนาคตขณะ ปัจจุบันขณะ เหมือนกัน อดีตขณะนั้นคือ ขณะจิตที่ดับในเบื้องหลัง ๆ อนาคตขณะนั้น คือขณะจิตที่จะบังเกิดในเบื้องหน้า ๆ ปัจจุบันขณะนั้น   “ขณตฺตยปริยาปนฺนํ” คือขณะจิตอันประกอบด้วยขณะทั้ง ๓ คือ อุปปาทขณะ ฐิติขณะ ภังคขณะ ที่บังเกิดในปัจจุบัน

   เป็นใจความว่าขันธ์ทั้ง ๕ ที่สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ตรัสเทศนามาเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันนั้น มีการสังเกตด้วยปริจเฉททั้ง ๔ คือ อัทธาปริจเฉท สมยปริจเฉท ขณปริจเฉท โดนพรรณามาฉะนี้

   และลักษณะที่จะจัดรูปธรรม เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันด้วยสามารถสันตตินั้น เฉพาะจัดแต่อุตุชรูป และอาหารชรูป และจิตชรูป

   “กามฺมสมุฏฺฐานสฺส อตีตาทิเภโท นตฺถิ”  และกัมมัชชารูปนั้นจะได้จัดเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ด้วยสามารถสันตติหาบ่มิได้ กัมมัชชรูปนั้นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูทั้ง ๓ กองจะพลอยเป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็เพราะอุปถัมภ์แก่อุตุชรูป อาหารรูป จิตชรูป

   วิสัชนาในเบญจขันธ์ อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ยุติแต่เท่านี้

   แต่นี้จะวิสัชนาด้วยเบญจขันธ์ภายในและภายนอกสืบต่อไป “นิยกชฺฌตฺตํปิ อชฺฌตฺตํ ปรปุคฺคลิกํปิจ พหิทฺธาติ เวทิตพฺพํ”

   นักปราชญ์พึงรู้ว่าขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งยุติในสันดานแห่งตนนี้แล ได้ชื่อว่าเบญจขันธ์ภายใน

   และขันธ์ทั้ง ๕ ที่ยุติในสันดานแห่งบุคคลผู้อื่น ๆ นั้น ได้ชื่อว่าเบญจขันธ์ภายนอก

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com