พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  ขอลายเซ็นหน่อยค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๗

   “โอฬาริกสุขุมเภโท วุตฺตนโยว”   และรูปขันธ์ที่จะหยาบ จะละเอียดนั้น พึงรู้โดยนัยที่วิสัชนามาแล้วแต่หลังเถิด

  ในที่นี้จะวิสัชนาแต่ในหีนรูป และประณีตรูปสืบต่อไป

  หีนรูปนั้นได้แก่รูปอันชั่ว ประณีตรูปนั้นได้แก่รูปอันประณีตบรรจง

  อธิบายว่า รูปแห่งพรหมอันอยู่ชั้นอกนิฏฐ์นั้นได้เอามาเปรียบกันกับรูปพรหมในชั้นสุทัสสี ๆ เป็นหีนรูป รูปพรหมในชั้นอกนิฏฐ์เป็นปณีตรูป และรูปพรหมในชั้นสุทัสสีนั้น ถ้าเอามาเปรียบมาเทียบกันกับรูปพรหมในชั้นสุทัสสา ๆ เป็นหีนรูป รูปพรหมในชั้นสุททัสสีเป็นปณีตรูปและรูปพรหมในชั้นสุทัสสานั้น ถ้าเอามาเปรียบมาเคียงกันกับรูปพรหมในชั้นอตัปปา ๆ เป็นหีนรูป รูปพรหมในชั้นสุทัสสีเป็นปณีตรูปและอรูปพรหมในชั้นอตัปปา ๆ เป็นหีนรูป รูปพรหมในชั้นสุทัสสาเป็นปณีตรูปและอรูปพรหมในชั้นอตัปปานั้น ถ้าเอามาเปรียบมาเคียงกันกับรูปพรหมในชั้นอวิหา ๆ เป็นหีนรูป รูปพรหมในชั้นอตัปปาเป็นปณีตรูปตกว่าพรหมในชั้นสูงชั้นบนนั้นรูปปณีตกว่าพรหมในชั้นต่ำ พรหมชั้นต่ำ ๆ นั้นรูปเลวกว่าพรหมชั้นบน ๆ ซึ่งดีกว่ากัน ชั่วกว่ากันเป็นจำนวนลำดับ ๆ เป็นชั้น ๆ กัน โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้ พึงรู้หีนรูปแลปณีตรูป ให้ตลอดลงมาตราบเท่าถึงกามาวจรรูป โดยนัยดังสำแดงมานี้เถิด แต่ทว่าสำแดงดังนี้ ยังเป็นปริยายอยู่อย่างไม่แท้ก่อน ถ้าจะว่าโดยปริยาย จะว่าแท้นั้นรูปอันใดบังเกิดด้วยกุศลวิบาก รูปอันนี้เรียกว่า ปณีตรูป รูปอันใดบังเกิดด้วยอกุศลวิบากรูปอันนั้นได้ชื่อว่า หีนรูป แลรูปที่เป็นทูเรรูป สันติเกรูปนั้น นักปราชญ์พึงรู้ตามประเทศที่ไกลแลใกล้นั้นเถิด ที่ไกลแลที่ใกล้นั้นก็ไกลเป็นชั้น ๆ ใกล้กันเป็นชั้น ๆ โดยลำดับ ๆ เหมือนอย่างที่ท่านจัดเป็นหีนรูป แลปณีตรูปนั้น

   เป็นใจความว่า รูปทั้งปวงแต่บรรดาที่สำแดงมานี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ประมวลเข้าเป็นหมวดเป็นกองแล้ว ก็ตรัสเรียกนามบัญญัติชื่อว่ารูปขันธ์ ธรรมสิ่งอื่น ๆ ที่พ้นไปจากรูปนี้ จึงจะจัดเข้าเป็นกอง ๆ ก็ดี พระพุทธองค์จะได้ตรัสเรียกชื่อว่ารูปขันธ์หาบ่มิได้สำแดงรูปขันธ์ตามนัยแห่งพระธรรมบทภาชนีย์ ยุติการเท่านี้

  แต่นี้จะสำแดงเวทนาขันธ์ ตามนัยแห่งพระอภิธรรมบทภาชนีย์สืบต่อไป

  แท้จริงเวทนาที่จะหยาบจะละเอียดนั้น เป็นด้วยสามารถชาติประการ ๑ เป็นโดยสภาวะปกติประการ ๑ เป็นด้วยสามารถบุคคลประการ ๑ เป็นด้วยสามารถโลกิยแลโลกุตตรประการ ๑ เป็น ๔ ประการดังนี้

  ข้อซึ่งเวทนาหยาบแลละเอียด ด้วยสามารถชาตินั้นเป็นประการใด

  อธิบายว่าเวทนาอันประกอบในอกุศลจิตนั้น ได้ชื่อว่าเป็นเวทนาอันหยาบกว่ากุศลเวทนา แลวิปากาพยากตเวทนา แลกิริยาพยากตเวทนา

   “สาวชฺชกิริยเหตุโต”  เพราะเหตุว่าเวทนาอันยุติในอกุศลจิตนั้น ประพฤติฟุ้งซ่านบ่มิได้ระงับ เป็นเหตุให้กระทำการอันกอปรด้วยโทษทุจริตต่าง ๆ

   “กิเลสสนฺตาปภาวโต” อันหนึ่งว่าอกุศลเวทนาฟุ้งซ้านบ่มิได้ระงับ เพราะเหตุประกอบด้วยกิเลส เดือดร้อนด้วยอำนาจกิเลส เหตุดังนั้นอกุศลเวทนาจึงได้ชื่อว่าหยาบกว่ากุศลเวทนา ด้วยประการฉะนี้

   “วิปากาพฺยากตาย โอฬาริกา” แลชื่อว่าอกุศลเวทนาหยาบกว่าวิปากาพยากตเวทนานั้น  “สพฺยาปารโต สอุสฺสาหโต”   เพราะเหตุว่าอกุศลเวทนานั้น กอปรด้วยขวนขวายกอปรด้วยอุตสาหะ กอปรด้วยวิบาก เดือดร้อนอยู่ด้วยอำนาจกิเลส กอปรด้วยพยาบาทแลโทษทุจริตอันยุติในกายทวารวจีทวารมโนทวาร

   “กิริยาพยากตาย โอฬาริกา” แลข้อที่ว่าอกุศลเวทนาหยาบกว่ากิริยาพยากตเวทนานั้น กอปรด้วยวิบากเดือดร้อนอยู่ด้วยกิเลสกอปรด้วยพยาบาทแลโทษทุจริตมีประการต่าง ๆ

  ตกว่าอกุศลเวทนานั้น หยาบกว่ากุศลเวทนา แลวิปากาพยากตเวทนา แลกิริยาพยากตเวทนา

  ฝ่ายกุศลเวทนา วิปากาพยากตเวทนานั้น กิริยาพยากตเวทนา

  ฝ่ายกุศลเวทนา วิปากาพยากตเวทนานั้น กิริยาพยากตเวทนานั้นได้ชื่อว่าละเอียดกว่าอกุศลเวทนาด้วยประการฉะนี้

  แลอกุศลเวทนานั้นเล่า ได้ชื่อว่าหยาบกว่าพยากตเวทนาทั้งสองประการ เพราะเหตุว่าประกอบด้วยขวนขวายแลอุตสาหะประกอบด้วยวิบาก ตกว่าพยากตเวทนานั้นละเอียดกว่ากุศลเวทนา

   “ชสติวเสน โอฬาริกสุขุมตา เวทิตพฺพา” นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงรู้เวทนาว่าหยาบกว่ากันละเอียดกว่ากัน ด้วยอำนาจชาติโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้

  เวทนาจะหยาบละเอียดโดยสภาวะปกตินั้น เป็นประการใดเล่า

  อธิบายว่าทุกขเวทนานั้นหยาบกว่าสุขเวทนา แลอุเบกขาเวทนา ๆ นั้นละเอียดว่าทุกขเวทนา ทุกขเวทนานั้นได้ชื่อว่าหยาบ เพราะเหตุว่าปราศจากยินดี มีแต่ความลำบากนั้นแผ่ซ่านไปให้บังเกิดสะดุ้งตกใจประหวั่นขวัญหาย ครอบงำกระทำให้ลำบากกาย ลำบากจิต อันธรรมดาทุกขเวทนานี้มีแต่กระทำให้เศร้าหมองหม่นไหม้นั้นต่าง ๆ ที่จะให้สบายกายสบายจิตมาตรว่าน้อยหนึ่งนั้นหาบ่มิได้ เหตุดังนั้นจึงว่าหยาบกว่าสุขเวทนาอุเบกขาเวทนา

  แลสุขเวทนานั้น ถ้าจะเปรียบกับอุเบกขาก็ได้ชื่อว่าหยาบกว่าอุเบกขา เพราะเหตุว่าสุขเวทนานั้น ยังแผ่ซ่านยังกระทำให้กายกำเริบอยู่ได้ประพฤติระงับสงบสงัดเหมือนดังอุเบกขาเวทนานั้นหาบ่มิได้ เหตุฉะนี้สุขเวทนาจึงได้ชื่อว่าหยาบกว่าอุเบกขาเวทนา พึงรู้ว่าเทวนาหยาบกว่ากันละเอียดกว่ากัน โดยสภาวะปกติตามนัยที่แสดงมานี้

  อธิบายว่าเวทนาอันยุติ ในสันดานแห่งบุคคลที่หาบ่มิได้เข้าสู่สมาบัตินั้น หยาบกว่าเวทนาอันยุติในสันดานแห่งบุคคลที่หาบ่มิได้เข้าสู่สมาบัติ มีจิตสันดานอันฟุ้งซ่านกำเริบในอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อจิตสันดานยังฟุ้งซ่านอยู่ดังนั้นเวทนาที่เป็นพนักงานเสวยอารมณ์ฟุ้งซ่านกำเริบอยู่ บ่มิได้ระงับเหมือนกันกับจิตเหตุฉะนี้เวทนาในสันดานแห่งบุคคลที่เข้าสู่สมาบัติ จึงได้ชื่อว่าหยาบกว่าเวทนาในสันดานแห่งบุคคลที่เข้าสู่สมาบัตินั้น ๆ ได้ชื่อว่าเป็นเวทนาอันเป็นสขุมเป็นเวทนาอันละเอียด

  แลบุคคลที่เข้าสู่สมาบัติเหมือนกันนั้นว่ามีเวทนาอันละเอียดนั้น ก็ยังหยาบกว่ากันละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ จะได้เหมือนกันหาบ่มิได้

  เวทนาในทุติยฌานนั้น ละเอียดกว่าเวทนาในปฐมฌาน ๆ นั้นหยาบกว่าเวทนาในทุติยฌาน แลเวทนาในตติยฌานละเอียดว่าเวทนาในทุติยฌาน ๆ นั้นหยาบละเอียดกว่าเวทนาในตติยฌาน และเวทนาในจตุตถฌานนั้นละเอียดกว่าเวทนาในตติยฌาน เวทนาในปฐมารูปฌานนั้นละเอียดกว่าเวทนาในรูปาพจรจตุตถฌาน เวทนาในทุติยารูปฌานนั้นกว่าเวทนาในทุติยารูปฌาน เวทนาในจตุคถารูปฌานละเอียดกว่าเวทนาในตติยารูปฌานตกว่าละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ หยาบกว่ากันเป็นชั้น ๆ ด้วยสามารถสมบัติอันสูงกว่ากันนักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงรู้เวทนากว่าหยาบละเอียด ด้วยสามรถบุคคลโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้

  แลเวทนาจะหยาบจะละเอียดด้วยสามารถ เป็นโลกิยะแลโลกุตระนั้นเป็นประการใด อธิบายว่า เวทนาในโลกิยจิตนั้นหยาบกว่าเวทนาในโลกุตตรจิต เพราะเหตุโลกิยจิตนั้น กอปรด้วยอาสวะ ๔ ประการ โอฆะ ๔ ประการ โยคะ ๔ ประการ คณฐะ ๔ ประการ นิวรณ์ ๕ ประการ อุปาทาน ๔ ประการ กิเลส ๑๐ ประการ สังโยชน์ ๑๐ ประการ

  ถึงกิเลสที่นับโดยพิสดารได้ ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ นั้นก็ย่อมประกอบในโลกิยจิต เหตุนี้เวทนาในโลกิยจิตนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นเวทนาอันหยาบ 

  ฝ่ายว่าจิตเป็นโลกุตตระนั้นสิปราศจากกิเลสสิ้งทั้งปวง เหตุฉะนี้เวทนาในโลกุตตรจิตนั้น จึงได้ชื่อว่าสุขุมเวทนาเป็นเวทนาอย่างละอียดอย่างยิ่ง

  สำแดงเวทนาอย่างหยาบอย่างละเอียด โดยชาติแลสภาวะหยาบ แลละเอียดโดยบุคคลโดยภูมิโลกิยะแลโลกุตตระเท่านี้ แต่นี้จักยกเอาชาติ แลสภาวะแลบุคคลแลภูมิโลกิยะโลกุตตระ มาสำแดงเจือกันให้เห็นต่างแห่งเวทนาขันธ์ ตามนัยแห่งบทภาชนีย์ในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น

  แท้จิรงอกุศลวิบากเวทนานั้นสิเป็นชาติพยากฤตเมื่อจัดโดยชาตินั้นจัดเป็นสุขุมเวทนา เมื่อจัดโดยสภาวะแลบุคคลแลภูมินั้นจัดเป็นโอฬาริกเวทนา

  แลกุศลวิบากเวทนานั้นเล่าเมื่อจัดโดยชาติเป็นสุขุมเวทนา เมื่อจัดโดยบุคคลโดยภูมินั้น ถ้าบังเกิดในสันดานแห่งปุถุชน บังเกิดในภูมิโลกิยจิตก็จัดเป็นโอฬาริกเวทนา ถ้าบังเกิดในสันดานแห่งพระอริยบุคคล บังเกิดในภูมิโลกุตตรจิตนั้นก็จัดเป็นสุขุมเวทนา ผู้มีปัญญาพึงรู้ในเวทนาอันต่างด้วยวิธี ที่จัดชาติจัดสภาวบุคคลจัดภูมิกันโดยนัยที่สำแดงมานี้

   ประการหนึ่งให้รู้เวทนานี้ถึงมีชาติเสมอกันก็ยังหยาบกว่ากันละเอียดกว่ากันเป็นอย่าง ๆ อยู่ จะได้เหมือนกันเป็นแบบเดียวกันหามิได้เหมือนอย่างกุศลเวทนานั้น เมื่อจัดโดยชาติจัดเป็นโอฬาริกเวทนาสิ้งทั้งปวง ครั้นเอามาเปรียบมาเคียงกันแต่ในกองแห่งตนนั้น เวทนาในโมหจิต หยาบกว่าเวทนาในโลภจิต ๆ นั้นหยาบกว่าเวทนาในโมหจิต เวทนาในโมหจิตที่เห็นผิดเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น หยาบว่าเวทนาในโมหจิตที่เห็นผิดเป็นอนิยตมิจฉาทิฏฐิ ถึงเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิเหมือนกันก็ดีที่มีโทษมาก เป็นกัปปัฏฐีติจะทนทุกขเวทนานานจนสิ้นกาลกัลป์นั้น มีเวทนาอันหยาบกว่าเวทนาในจิตที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิแลมีโทษน้อย บิมิได้ตั้งอยู่นานสิ้นกัลป์ ถึงเป็นกัลป์ทิฏฐิด้วยกัน จะตั้งอยู่นานสิ้นกัลป์หนึ่งเหมือนกัน จิตที่เป็นอสังขาริกถือผิดโดยธรรมดาผู้จะชักชวนมิได้นั้น มีเวทนาอันหยาบกว่าเวทนาในจิตที่เป็นสสังขาริกถือผิดด้วยมีผู้ชวน

   “อวิเสเสน อกุสลา พหุวิปากา โอฬาริกา” ถ้าจะวิสัชนาโดยมิได้แปลกนั้นแต่บรรดาอกุศลจิตที่ให้โทษมากนั้นมีเวทนาอันหยาบ กว่าเวทนาในอกุศลจิตที่ให้โทษน้อย

   ฝ่ายกุศลนั้น กุศลจิตแต่บรรดาที่ให้ผลมาก มีเวทนาอันละเอียดกว่าเวทนาในกุศลจิตที่ให้ผลน้อย

   กุศลที่เป็นเบื้องต่ำในกามาพจรนั้น มีเวทนาหยาบกว่ากุศลจิตที่เป็นอรูปพจร ๆ นั้นว่ามีเวทนาละเอียดเป็นอุกฤฏ์ถึงเพียงนี้ ก็ยังหยาบกว่าเวทนาในกุศลจิตที่เป็นอรูปพจร ๆ นั้นละเอียดเป็นอุกฤษฏ์ถึงเพียงนี้ ก็ยังหยาบกว่าเวทนาในกุศลจิตที่เป็นพระโลกุตตระ ๆ ละเอียดยิ่งนัก

   นัยหนึ่งว่าจิตกองเดียวกันเป็นกามาพจรกุศลเหมือนกันก็ดีเวทนาจะได้เหมือนกันหาบ่มิได้

   “ทานมยา โอฬาริกา” จิตที่เป็นทานมัยให้สำเร็จกิจบำเพ็ญทานนั้นมีเวทนาหยาบกว่าเวทนาในจิตเป็นศีลมัยให้สำเร็จกิจบำเพ็ญศีล ๆ นัยว่าเวทนาละเอียดแล้ว ก็ยังหยาบกว่าเวทนาในจิตที่เป็นภาวนามัย ให้สำเร็จกิจบำเพ็ญภาวนา

   ถึงภาวนาจิตเหมือนกันก็ดี ว่ามีเวทนาละเอียดแล้วก็ยังไม่ละเอียดเหมือนกัน

   “ทุเหตุกา โอฬาริกา” ภาวนาจิตที่เป็นทุเหตุนั้น มีเวทนาหยาบกว่าภาวนาจิตที่เป็นไตรเหตุนั้น เวทนาละเอียดกว่าภาวนาจิตทุเหตุ

   ถ้าเป็นไตรเหตุด้วยกันเล่า ภาวนาจิตที่เป็นไตรเหตุ สสังขาริกนั้นมีเวทนาหยาบกว่าเทวนาในภาวนาจิตที่เป็นไตรอสังขาริก

   ตกว่ากามาพจรกุศลจิตไตรอสังขาริก อันสัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนานี้แล มีเวทนาละเอียดกว่ากามาพจรกุศลจิตทั้ง ๗ ดวง ถึงฌานจิตด้วยกันก็มีเวทนาละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ ถึงพระโลกุตตรจิตด้วยกันก็มีเวทนาละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ

   เวทนาในจิตพระโสดานั้น หยาบกว่าเวทนาในจิตพระสกทาคา ๆ นั้นว่าละเอียดแล้ว ก็ยังหยาบกว่าเวทนาในจิตพระอนาคา ๆ นั้นว่าละเอียดแล้ว ก็ยังหยาบกว่าเวทนาในจิตพระอรหันต์

   ตกว่าละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ เป็นลำดับ ๆ กันดังนี้

   “ขนฺเธสุ ญาณเภทตฺถํ” เบื้องหน้าแต่นี้จะสำแดงพิธีอันพิจารณาเบญขันธ์ เพื่อจะให้พระโยคาพจรกุลบุตรมีปัญญาแตกฉานฉลาดในพิธีพิจารณาเบญขันธ์ อันเป็นภูมิพื้นที่ตั้งแห่งพระวิปัสสนาปัญญา

   “วิญฺญาตพฺโพ วิภาวินา” นักปราชญ์พึงรู้ในพิธีพิจารณาในเบญจขันธ์ ๖ ประการ

   “กมโต” คือพิจาณาโดยลำดับประการ ๑  “อตฺถสิทฺธิโต” คือพิจารณาโดยอัตถสิทธิประการ ๑  “อนุนาธิกโต” คือพิจารณาโดยมิได้หย่อนมิได้ยิ่งประการ ๑   “อุปมาโต” คือพิจารณาโดยอุปมาประการ ๑  “ทฏฺพฺพโต” คือพิจารณาโดยเห็นประการ ๑  “วิเสสโต” คือพิจารณาโดยวิเศษประการ ๑ สิริเป็นพิธีพิจารณาเบญจขันธ์ ๖ ประการด้วยกัน

   “กมโต” ข้อซึ่งว่าให้พิจารณาโดยลำดับนั้น กำหนดลำดับมี ๕ ประการ คือ อุปปัตติกกมะ ลำดับที่บังเกิดนั้นประการ ๑ ปหานักกมะลำดับที่สละนั้นประการ ๑ ปฏิปัตติกกมะ ลำดับที่ปฏิบัตินั้นประการ ๑ ภูมิกกมะ ลำดับแห่งภูมิประการ ๑ เทศนากกมะ ลำดับแห่งเทศนา ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน

   อุปปัตติกกมะ ลำดับที่บังเกิดนั้น ให้พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาเปญจขันธ์ จิตเดิมแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์แห่งมารดานั้นมาตราบเท่าถึงจุติจิต ให้เห็นแจ้งว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดในครรภ์แห่งมารดานั้น  “ปมํ กลฺลํ โหติ”  เดิมเมื่อแรกตั้งปฏิสนธินั้นเป็นกลละมีประมาณเท่าหยาดน้ำมันงาอันใหญ่อยู่นั้นถึง ๑ วัน จึงค่อยข้นเข้าเป็นอันพุทะมีสัณฐานดังดีบุกอันแหลมแหลวเป็นอัมพุทะอยู่ ๗ วันจึงข้นเปสิคือชิ้นเนื้อมีสัณฐานดังปุ่มเปลือกในเปลือกไข่เปสิอยู่ ๗ จึงเป็นฆนะข้นเข้าเป็นแท่งเป็นฆนะอยู่ ๗ วัน   “ปญฺจ สาขา ชายนฺติ” จึงเป็นปัญจสาขาแตกเป็นปุ่ม ๕ แห่งคือ มือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑ เรียกว่าปัญจสาขาอยู่นั้นก็ ๗ วัย

   “สตฺตเมว สตฺตาเห” เมื่อล่วงไปได้เจ็ดวัน ๗ หน คิดเป็น ๔๙ วัน ด้วยกันแล้ว จักขุทสกะอันเป็นกัมสมุฏฐานกลาปนั้นบังเกิดขึ้น ครั้นจักขุทสกะเกิดแล้ว  “อติกฺกนฺเต”  ล่วงไปอีก ๗ วันจึงจะบังเกิดโสตทสกะ ไปอีก ๗ วันจึงบังเกิดฆานทสกะ ไปอีก ๗ วันจึงบังเกิดชิวหาทสกะ ล่วงไปอีก ๗ วันจึงบังเกิดกายสทกะ ตกว่าหูตาอายตนะก็บังเกิดในขณะนั้น เมื่อตั้งรูปกายขึ้นได้แล้ว แลโอชะแห่งอาหารที่มารดาบริโภคนั้นซับซาบซึ่งแผ่ไปในกายแห่งทารกกาลใด อาหารสมุฏฐานกลาปก็บังเกิดขึ้นจำเดิมแต่นั้นไป

   นักปราชญ์ผู้มีปัญญา พึงคิดธรรมสังเวชเถิดว่าสัตว์อันบังเกิดในครรภ์แห่งมารดานั้น แสนทุกข์แสนลำบากนั่งอยู่บนกระเพาะอาหารเก่าอาหารใหม่อยู่บนศีรษะ ตัวสัตว์นั้นอยู่กลาง คางนั้นเท้าลงอยู่เหนือเข่า มือทั้งสองกอดเข่านั่งหย่องผินหน้าเข้าไปข้างกระดูกสันหลังมารดามีครุวนาดุจดังวานรหนีฝน เข้าไปอยู่ในโพรงไม้เมื่อยามฝน แสนยากแสนลำบากแสนเวทนา กาลเมื่อนประสูติจากครรภ์มารดานั้นก็สุดลำบากเสวยทุกข์เวทนานั้นสาหัส มีอุปมาดังช้างสารตัวใหญ่อันบุคคลไสออกไปตามช่องดานอันน้อยแลได้เสวยทุกข์เวทนามีกำลัง เมื่อพ้นจากครรภ์มารดาแล้วแลร้องไห้ดิ้นรนได้ในกาลนั้น รูปกลาปทั้ง ๒๑ กลาป จึงมีพร้อมในสันดานสัตว์จำเดิมแต่นั้นไป

   สำแดงมาทั้งนี้ ด้วยสามารถสัตว์นั้นเป็นศัพกไสยกสัตว์ เป็นสัตว์อันบังเกิดในครรภ์มารดา

   ถ้าสัตว์นั้นบังเกิดในกำเนิดสังเสทชะ แลอุปปาติกะในปฏิสนธิขณะเมื่อตั้งปฏิสนธินั้น มีกัมมัชชรูปบังเกิดพร้อมถึงเจ็ดกลาป คือ จักขุทสกะ โสตสทกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ กายทสกะ ภาวทสกะ วัตถุสกะเป็นเจ็ดกลาปด้วยกันฉะนี้

   เจดกลาปนี้ ว่าโดยอุกฤษฏ์ ถ้าจะว่าโดยโอมมกในปฏิสนธิขณะแห่งสังเสทชสัตว์ แลอุปปาติกสัตว์นั้น มีรูปเกิดพร้อมแต่สามกลาป คือ กายทสกะ ภาวทสกะ วัตถุทสกะ เหมือนกันกับคัพภไสยกสัตว์ ต่อมาในประวัติการณ์ รูปกลาปทั้งปวงจึงบังเกิดพร้อมจำเดิมแต่นั้นไปก็มีแต่จะบ่ายหน้าเข้ามาชรามรณะ

  สภาวพิจารณาเบญจขันธ์ จำเดิมแต่แรกปฏิสนธินั้น เป็นลำดับ ๆ มาตราบเท่าถึงจุติจิต นี้แลได้ชื่อว่าอุปปัตติกกมะพิจารณาขันธ์โดยลำดับที่เกิด

  แลปหานักกมะพิจารณาขันธ์โดยลำดับที่สละเสียนั้น ให้พระโยคาพจรเจ้าพิจารณากองกิเลส ซึ่งพระอริยมรรคทั้ง ๓ ละเสียขาดโดยลำดับ ๆ กัน แท้จริงกิริยาที่จะละกิเลสได้นั้น ได้ชื่อว่าละขันธ์เสียได้เพราะกิเลสทั้งหลายเป็นต้นว่า โลภะ โทสะ โมหะ นั้นนับเข้าในสังขารขันธ์ เวทนาแลสัญญาวิญญาณที่เกิดพร้อมด้วยกิเลสนั้น นับเข้าในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์แลวิญญาณขันธ์ เมื่อพระอริยมรรคทั้ง ๔ ประการบังเกิดในสันดานแลละกองกิเลสเสียได้เป็นลำดับ ๆ คือพระโสดาละอกุศลจิตได้ ๕ ดวงพระสกทาคาละกองกุศลจิตที่หยาบได้ละเอียด พระอนาคาละโทสจิตขาดได้ ๒ ดวง พระอรหัตต์ละกุศลจิตเสียได้สิ้นเสร็จ ละกิเลสได้เป็นลำดับ ๆ ดังนี้ ได้ชื่อว่าละขันธ์เสียได้โดยลำดับ ๆ

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า กิริยาที่พิจารณากองกิเลสอันพระอริยมรรคทั้ง ๔ ละเสียโดยลำดับ ๆ นี้แล ได้ชื่อว่าปหานักกมะพิจารณาขันธ์โดยลำดับที่สละเสียได้

  แลปฏิบัติติกกมะ พิจารณาขันธ์โดยลำดับแห่งปฏิบัตินั้น คือให้พิจารณาศีลวิสุทธิแล้ว ลำดับนั้นให้พิจารณาจิตวิสุทธิ ลำดับนั้นให้พิจารณาทิฏฐิวิสุทธิ ถัดนั้นให้พิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิ ถัดนั้นให้พิจารณาปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ในที่สุดนั้นให้พิจารณาญาณทัสสวิสุทธิ

  กิริยาพิจารณาวิสุทธิ ๗ ประการ โดยลำดับ ๆ ดังนี้แลได้ชื่อว่าพิจารณาขันธ์ โดยลำดับแห่งปฏิบัติ

  เพราะเหตุว่ากายแลจิตที่ได้สำเร็จกิจ ปฏิบัติวิสุทธิ ๗ ประการนั้นจะได้พ้นจากเบญขันธ์หาบ่มิได้ แต่ล้วนนับเข้าในเบญขันธ์สิ้นทั้งนั้น

  เหตุฉะนี้ กายเมื่อพิจารณาวิสุทธิ ๗ ประการนั้นจึงได้ชื่อว่าปฏิปัตติกกมะ พิจารณาขันธ์โดยลำดับแห่งปฏิบัติก็มีด้วยประการฉะนี้

  แลภูมิกกมะ พิจารณาขันธ์โดยลำดับแห่งภูมินั้น ให้พิจารณาเบญจขันธ์อันเป็นไปในภูมิทั้ง ๔ คือ กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิ อรูปาพจรภูมิ โลกุตตรภูมิ

  แลเทศนากกมะ พิจารณาขันธ์โดยลำดับแห่งเทศนานั้น คือให้พิจารณาพระสติปัฏฐานทั้ง ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อันฐังคิกมรรค ๘ ให้พิจารณาทานกถา ศีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมานิสังสกถา กิริยาที่พิจารณาพระสัทธรรมสิ้นทั้งปวงนี้ ได้ชื่อว่าพิจารณาขันธ์โดยลำดับแห่งเทศนา

  เพราะว่าธรรมทั้งปวงนี้ จะพ้นออกไปจากขันธ์บัญญัติหาบ่มิได้แต่ล้วนนับเข้าในขันธ์สิ้นทั้งปวงโดยกำหนดอุกฤกฏ์นั้นจนถึงมัคคจิตผลจิตก็นับเข้าวิญญาณขันธ์ เวทนาสัญญาแลเจตสิก แต่บรรดาที่เกิดพร้อมด้วยมัคคจิตผลจิตนั้น ก็นับเข้าในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์สิ้นทั้งปวงจะได้พ้นขันธ์บัญญัติหาบ่มิได้

  อาศัยเหตุฉะนี้ กิริยาที่พิจารณาพระสติปัฏฐานเป็นอาทิ พิจารณาทานกถาเป็นอาทินั้น จึงจัดได้ชื่อว่าพิจารณาขันธ์โดยลำดับแห่งพระสัทธรรมเทศนา ก็มีด้วยประการฉะนี้

   เป็นใจความว่า ข้อซึ่งให้พิจารณาขันธ์โดยลำดับนั้น กำหนดลำดับนั้นถึง ๔ ประการ คืออุปปัตติกกมะ ปหานักกมะ ปฏิปัตติกกมะ ภูมิกกมะ เทศนากกมะ พิจารณาโดยลำดับเกิดดับละลำดับปฏิบัติลำดับภูมิลำดับเทศนา โดยนัยดังพรรณามาฉะนี้

   “วิสฺสโต”  แต่นี้จักสำแดงกิจที่พิจารณาขันธ์โดยวิเศษนั้นสืบไปข้อซึ่งว่าให้พิจารณาขันธ์โดยพิเศษนั้น จะให้พิจารณาเป็นประการใด

   “โก จ เนสํ วิเสโส” สิ่งไรนั้นเป็นวิเศษแห่งเบญขันธ์

   อธิบายว่าวิเศษแห่งเบญจขันธ์จะมีนั้น อาศัยแก่อุปาทาน ๆ นี้แลเป็นวิเศษในเบญจขันธ์ทีเดียว เบญจขันธ์มีเหมือนกัน เป็นหญิงเหมือนกัน เป็นชายเหมือนกัน ถ้าใครยังประกอบด้วยอุปาทาน ผู้นั้นได้ชื่อว่าโลกิยปุถุชน ท่านที่หาอุปาทานมิได้นั้น ได้ชื่อว่าอริยบุคคล ตกว่าอุปาทานนี้แลกระทำให้แปลกแห่งเบญจขันธ์ ๆ แปลกกันด้วยสามารถกอปรด้วยอุปาทานแลหาอุปาทานบ่มิได้

   อธิบายดังนี้ สมด้วยพระพุทธฏีกาที่สมเด็จพระพุทธองค์โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาว่า

   “ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุสงฆ์  “สุณาถ” ขอท่านทั้งหลายตั้งโสตสดับเถิด เราพระตถาคตจะตรัสเทศนาขันธ์ ๕ ประการ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ ให้ท่านทั้งปวงฟัง

   “กตเม ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์โดยอุปาทาน ๕ ประการนั้นเป็นดังฤๅ

   ตรัสปุจฉาด้วยพระองค์แล้ว ก็ตรัสวิสัชนาด้วยพระองค์เล่าว่า

   “ยํ กิญฺจิ ภิกฺขเว รูปํ” ดูกรภิกษุสงฆ์ รูปทั้งปวงที่เป็นอดีตแลอนาคตแลปัจจุบัน ภายนอกในไกลแลใกล้ดีแลชั่วหยาบแลละเอียดสิ้นทั้งปวงนั้น เราพระตถาคตประมวลเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นกองอันเดียวกันเรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่เป็นอดีตอนาคตปัจจุบันภายนอกภายในไกลแลใกล้ดีแลชั่วหยาบแลละเอียดสิ้นทั้งปวงนั้น เราพระตถาคตประมวลเข้าเป็นหมวด ๆ เป็นกอง ๆ

   เหล่ารูปเหมือนกันจัดไว้เป็นกองหนึ่ง เรียกว่ารูปขันธ์ เหล่าเวทนาเหมือนกันจัดไว้กอง ๑ เรียกว่าเวทนาขันธ์ เหล่าสัญญาเหมือนกันจัดไว้กอง ๑ เรียกชื่อว่าสัญญาขันธ์เหล่าเจตสิกเหมือนกันจัดไว้กอ ๑ เรียกชื่อว่าสังขารขันธ์ เหล่าจิตเหมือนกันจัดไว้กอง ๑ เรียกชื่อว่าวิญญาณขันธ์สิริเข้าด้วยกันจึงเป็นขันธ์ ๕ ประการก็มีด้วยประการฉะนี้

   รูปูปาทานขันธ์ประการ ๑ เวทนาปาทานขันธ์ประการ ๑ สัญญูปาทานขันธ์ประการ ๑ สังขารูปาทานขันธ์ประการ ๑ วิญญาณูปาทานขันธ์ประการ ๑ เป็น ๕ ประการดังนี้

   อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ จะได้นอกจากขันธ์ทั้ง ๕ ที่กล่าวแล้วนั้นหาบ่มิได้รูปเหมือนกันเวทนาเหมือนกัน สัญญาเหมือนกันสังขารเหมือนกันวิญญาณเหมือนกันนั้นแล แต่ทว่ากอปรด้วยอาสวะกอปรด้วยอุปาทานแล้ว เราพระตถาคตตรัสเรียกชื่อว่ารูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ตกว่าพระสัทธรรมเทศนาแสดงขันธ์ ๕ ประการในเบื้องต้นนั้น ประสงค์เอาขันธ์แห่งพระอริยบุคคลที่ปราศจากอาสวะแลอุปาทาน อุปาทาน ๕ ประการที่ตรัสเทศนาในเบื้องปลายนี้ประสงค์เอาขันธ์แห่งบุคคลที่ประกอบด้วยอาสวะแลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ มีนัยดังพรรณนามานี้ เทียรย่อมเป็นอนิจจังเป็นทุกขังเป็นอนัตตา นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าขันธ์ทั้ง ๕ ประการมีนัยดังวิสัชนาฉะนี้ จัดเป็นพื้นกล่าวคือให้พิจารณาเอาเป็นอารมณ์ ในกาลเมื่อจะเริญพระวิปัสสนากรรมฐาน แลอายตนะ ๖๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๑ พระอริยสัจ ๔ ที่จัดเป็นพื้นนั้น นักปราชญ์พึงรู้ว่าอายตนะ ๑๒ ประการ คือ จักขวายตนะประการ ๑ โสตายตนะประการ ๑ ฆานายตนะประการ ๑ ชิวหายตนะประการ ๑ กายายตนะประการ ๑ มนายตนะประการ ๑ รูปายตนะประการ ๑ สัททาตนะประการ ๑ คันธายตนะประการ ๑ รสายตนะประการ ๑ โผฏฐัพพายตนะประการ ๑ ธัมมายตนะประการ ๑ เป็น ๑๒ ประการด้วยกัน

   จักขวายตนะนั้นได้แก่จักษุทั้งสอง จักษุทั้งสองซ้ายขวานี้สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าตรัสเทศนาเรียกว่าจักขวายตนะ โสตายตนะนั้นได้แก่ช่องหูทั้งสอง ฆานายตนะนั้นได้แก่จมูก ชิวหายตนะนั้นได้แก่ลิ้น กายายตนะได้แก่กายทั้งปวง อวัยวะน้อยใหญ่นอกออกไปจากจักษุแลโสตนอกไปจากจมูกแลลิ้น ก็ได้ชื่อว่ากายยตนะทั้งสิ้นทั้งนั้น แลมนายตนะนั้นได้แก่หทัยวัตถุ ๆ คือเนื้อหัวใจนั้นแล ได้ชื่อว่ามนายตนะ

   รูปายตนะนั้น ได้แก่สรรพรูปทั้งปวงอันเป็นภายนอกแห่งกายสัททายตนะนั้น ได้แก่สรรพเสียงทั้งปวง คันธายตนะนั้น ได้แก่สรรพกลิ่นทั้งปวง รสายตนะนั้น ได้แก่สรรพรสทั้งปวง โผฏฐัพพายตนะนั้นได้แก่สิ่งทั้งปวงที่เราท่านได้สัมผัสถูกต้อง เราท่านทั้งปวงได้สัมผัสถูกต้องสิ่งใดด้วยกาย สิ่งนั้นปลได้ชื่อว่าโผฏฐัพพายตนะ แลธัมมายตนะนั้นได้แก่จิตแลเจตสิกทั้งปวง แต่บรรดาจิตแลเจตสิกนั้นจัดเป็นอายตนะอันหนึ่ง ชื่อว่าธัมมายตนะเป็น ๑๒ ประการ ดุจพรรณนามาฉะนี้

   “กสฺมา” เหตุไฉนจึงได้ชื่อว่าอายตนะ อ๋อได้ชื่อว่าอายตนะนั้นด้วยอรรถว่าเป็นที่ประชุม ด้วยอรรถว่าเป็นบ่อเกิด

   อธิบายว่า จักษุ โสต ฆาน ชิวหา กาย ทั้งปวงนี้แต่ล้วนเป็นที่ประชุมแห่งรูปแลเสียงกลิ่นแลรสแลเครื่องสัมผัส เหตุดังนั้นจึงเรียกว่าจักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ ด้วยประการฉะนี้

   แลธาตุ ๑๔ ประการนั้นคือ จักขุธาตุประการ ๑ โสตธาตุประการ ๑ ฆานธาตุประการ ๑ ชิวหาธาตุประการ ๑ กายธาตประการ ๑ มโนธาตุประการ ๑ รูปธาตุประการ ๑ สัททาธาตุประการ ๑ คันธธาธาตุประการ ๑ รสธาตุประการ ๑ โผฏฐัพพธาตุประการ ๑ ธัมมธาตุประการ ๑ จักขุวิญญาณธาตุประการ ๑ โสตวิญญาณธาตุประการ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุประการ ๑ กายวิญญาณธาตุประการ ๑ มโนวิญญาณธาตุประการ ๑ ประสมเข้าเป็นธาตุ ๑๘ ประการด้วยกัน

   จักขุธาตุนั้นได้แก่จักษุ โสตธาตุนั้นได้แก่หู ฆานธาตุนั้นได้แก่จมูก ชิวหาธาตุนั้นได้แก่ลิ้น กายธาตุนั้นได้แก่ธาตุทั้งปวง อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง นอกจากไปจากจักขุแลโสตฆานแลชิวหา ก็ได้ชื่อว่ากายธาตุสิ้นทั้งนั้น

   แลมโนธาตุนั้น ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ จิตทั้ง ๒ ดวงนี้ได้ชื่อว่ามโนธาตุ

   รูปธาตุนั้นได้แก่สรรพรูปทั้งปวงกายนอกกาย สัททธาธาตุนั้นได้แก่สรรพเสียงทั้งปวง คันธธาตุนั้นได้แก่สรรพกลิ่นทั้งปวง รสธาตุนั้นได้แก่สรรพรสทั้งปวง โผฏฐัพพธาตุนั้นได้แก่สรรพสิ่งทั้งปวง อันเราท่านได้สัมผัสถูกต้อง ธัมมธาตุนั้นได้แก่เจตสิกทั้ง ๕๒ นั้นแลจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ นั้นได้แก่จักษุวิญญาณ แลโสตวิญญาณแลฆานวิญญาณแลชิวหาวิญญาณแลกายวิญญาณ อันเกิดสำหรับในปัญจทวารวิถี มีนัยดังพรรณนามาแล้วนั้น

   แลมโนวิญญาณธาตุนั้นได้แก่จิต ๖๗ คือ มโนทวาราวัชชนะ ๑ ชวนจิต ๕๕ ตทาลัมพณจิต ๑๑ ผสมเข้าเป็น ๖๗ ด้วยกัน ธาตุนี้มี ๑๘ ประการดุจพรรณนามาฉะนี้

   แลอินทรีย์ ๓๒ นั้น คือจักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มนินทรีย์ ๑ อิตถินทรีย์ ๑ ปุริสินทรีย์ ๑ ชีวิตินทรีย์ ๑ สุขินทรีย์ ๑ ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเปกขาทรีย์ ๑ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ ๑ อัญญิทรีย์ ๑ อัญญาตาวินทรีย์ ๑ เป็น ๒๒ ประการดังนี้

   จักขุนทรีย์นั้นได้แก่จักขุประสาท โสตตินทรีย์นั้นได้แก่โสตประสาท ฆานนินทรีย์นั้นได้แก่ฆานประสาท ชิวหินทรีย์นั้นได้แก่ชิวหาประสาท กายินทรีย์นั้นได้แก่กายประสาท มนินทรีย์นั้นได้แก่จิต อิตถินทรีย์นั้นได้แก่อิตถิภาวรูป ปุริสินทรีย์นั้นได้แก่ปุริสภาวรูป ชีวิตินทรีย์นั้นได้แก่ชีวิต สุขินทรีย์นั้นได้แก่ความสุข ทุกขินทรีย์นั้นได้แก่ความทุกข์ โสมนัสสินทรีย์นั้นได้แก่กิริยาที่ชื่นชมยินดี โทมนัสสินทรีย์นั้นได้แก่กิริยาที่น้อยเนื้อต่ำใจ อุเปกขินทรีย์นั้นได้แก่กิริยาที่มีสันดานเป็นกลางอยู่ สัทธินทรีย์นั้นได้แก่ศรัทธาอันมีลักษณะให้ผ่องใสให้ถือ วิริยินทรีย์นั้นได้แก่ความเพียร สตินทรีย์นั้นได้แก่สติอันมีลักษณะให้ระลึก สมาธินทรีย์นั้นได้แก่ขณิกสมาธิแลอุปาจารสมาธิแลอัปปนาสมาธิปัญญินทรีย์นั้น ได้แก่ปัญญาอันมีลักษณะรู้พิเศษ อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์นั้นได้แก่โสดาปัตติมรรคญาณ อัญญินทรีย์ได้แก่โสดาปัตติผลญาณ สกทาคามิมรรคญาณ สกทาคามิผลญาณ อนาคามิมรรคญาณอนาคามิผลญาณแลพระอรหัตตมรรคญาณ อัญญาตาวินทรีย์นั้นได้แก่พระอรหัตตผลญาณธรรมชาติทั้ง ๒๒ ประการนี้ ได้นามบัญญิตชื่อว่าอินทรีย์นี้ ด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ในกิริยาที่ให้สำเร็จโดยสมควรแก่กำลังแห่งตน ๆ สำแดงอินทรีย์ ๒๒ ประการโดยนัยสังเขปยุติการเท่านี้

   แลพระอริยสัจ ๔ ประการนั้น คือ ทุกขอริยสัจประการ ๑ ทุกขสมุทัยอริยสัจประการ ๑ นิโรธอริยสัจประการ ๑ นิโรธคามินีปฏิปทานอริยสัจประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน

   ทุกขอริยสัจนั้นได้แก่มูลแห่งสัตว์ทั้งปวง แลชาติทุกข์ แลชราทุกข์ พยาธิทุกข์มรณทุกข์เป็นต้นเป็นประธาน

   ชาติทุกข์อันบังเกิดแก่สัตว์อันอุบัติบังเกิด เอากำเนิดในวัฏฏสงสารนี้ก็ดี

   ชราทุกขํ อันมีลักษณะกระทำให้อินทรีย์คร่ำคร่า ตามืด หูหนัก ฟันหัก แก้มตอบ ผิวหนังหดหู่วิการวิกลวิปริตนั้นก็ดี

   พยาธิทุกข์ อันมีลักษณะให้ป่วยไข้ ลำบากกายอินทรีย์มีประการต่าง ๆ นั้นก็ดี

   มรณทุกข์ อันมีลักษณะตัดเสียซึ่งชีวิตอินทรีย์นั้นก็ดี

   โสกทุกข์ อันมีลักษณะให้เดือดร้อนพลุ่งพล่านระส่ำระสาย อยู่ ณ ภายในใจก็ดี

   ปริเทวทุกข์ อันมีลักษณะให้ร้องไห้ร่ำไรมีน้ำตา อันไหลฟูมฟองนองเนตรอยู่นั้นก็ดี

   ทุกขทุกข์อันมีลักษณะกระทำให้จิตหดหู่สลดระทดทอดใจใหญ่อยู่นั้นก็ดี อันมีลักษณะให้ขัดแค้นขึ้งเคียดน้อยเนื้อต่ำใจนั้นก็ดี

   อปายาสทุกข์ อันมีลักษณะให้สะอึกสะอื่นอาลัยนั้นก็ดี

   อัปปิเยหิสัมปโยคทุกข์ อันมีลักษณะให้ขัดข้องหมองมัวตรอมใจเป็นเหตุประกอบอยู่ด้วยสิ่งอันมิได้เป็นที่รักนั้นก็ดี

   ปิเยหิวิปปโยคทุกข์อันมีลักษณะให้เศร้าสร้อยละห้อยไห้ในกาล เมื่อพลัดพรากจากที่รักนั้นก็ดี

   ยัมปิจฉันงนลภติทุกข์ อันมีลักษณะให้หมกมุ่นวุ่นวายไปในขณะเมื่อปรารถนาสิ่งใด แลมิได้สมปรารถนานั้นก็ดี

   ทุกข์ทั้ง ๑๒ ประการ มีชาติทุกข์เป็นต้นนี้เที่ยวย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงให้ได้ความทุกข์ลำบากเวทนาอันหาทีสุดมิได้ เหตุฉะนี้กองทุกข์ทั้ง ๑๒ ประการนี้ จึงได้ชื่อว่าทุกขอริยสัจ

   แลทุกขสมุทัยอริยสัจนั้น ได้แก่ตัณหาอันมีลักษณะให้ปรารถนาเบญจกามคุณทั้ง ๕ ประการ คือรูปแลเสียงกลิ่นแลรสสัมผัสถูกต้อง

   ตัณหานั้นมีลักษณะ ๒ ประการ คือ ปรารถนาในกิเลสกามประการ ๑ ปรารถนาในพัสดุกามประการ ๑

   แลกิเลสกามนั้น คือปรารถนาในที่จะชมเชยชมกามราคะดำกฤษณาแลปรารถนาในความสรรเสริญเยินยอเเลยศศักดิ์ตบะเตชะ แลปรารถนาบ่มิให้บุคคลผู้อื่นสูงกว่าตัว แลเสมอกับดัวยตัวในเหตุอันยิ่งสรรพทั้งปวง

   แลพัสดุกามนั้น คือปรารถนาทรัพย์อันไม่มีวิญญาณคือแก้วแหวนเงินทอง ข้าวปลาอาหารผ้าผ่อนแลเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับแลเครื่องใช้สอยทั้งปวง แลปรารถนาทรัพย์อันประกอบด้วยวิญญาณเป็นต้นว่า ช้างม้าแลข้าหญิงข้าชายทั้งปวง

   แลลักษณะแห่งตัญหานั้น มีอาการอันมากถึงร้อยแปดประการสำแดงแต่มาเท่านี้โดยสังเขป แต่พอจะให้เป็นกระทู้ความอันจะบังเกิดองค์ปัญญา อันประกอบด้วยสังเวชอันกระทรวงแห่งตัญหา อันเป็นเจ้าหมู่เจ้ากรรมใหญ่ในที่จะให้บังเกิดขึ้นความทุกข์ทั้งปวงนั้น นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงเข้าใจเป็นใจความเถิดว่า ตัณหาอันมีลักษณะให้ปรารถนารูปแลเสียงกลิ่นรสสัมผัสถูกต้องทั้งปวงนี้ แลเป็นรากเป็นเง่าเค้ามูล เป็นเหตุให้บังเกิดสรรพทุกข์ทั้งปวง เหตุดังนี้จึงได้ชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

   นิโรธอริยสัจนั้นได้แก่พระนิพพานอันออกตัณหา หน่ายจาก ราคะ โทสะ โมหะ ดับราคะ โทสะ โมหะ ให้สิ้นสูญจากสันดานพระนิพพานนี้เป็นที่ดับเสียซึ่งกองทุกข์ทั้งปวง มีชาตทุกข์เป็นประธาน เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่า นิโรธอริยสัจ

   แลนิโรธคามิรีปฏิปทาอริยสัจนั้น ได้แก่อัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมสังกัปโป ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันโต ๑ สัมมาอาชีโว ๑ สัมมาวายาโม ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ เป็น ๘ ประการด้วยกัน

   สัมมาทิฏฐินั้นได้แก่ปัญญาอันเป็นโลกีย์ ตลอดขึ้นไปตราบเท้าถึงมรรคญาณผลญาณ

   สัมมาสังกัปโปนั้นได้แก่วิตกในที่ชอบ สัมมาวาจานั้นได้แก่ถ้อยคำอันปราศจากวจีทุจริตสัมมากัมมันโตนั้นได้แก่กายสมาจาร อันปราศจากกายทุจริต สัมมาอาชีโวนั้นได้แก่กิริยาที่เลี้ยงชีวิตเป็นธรรม สัมมาวายาโมนั้น คือปฏิบัติในสัมมัปปธานทั้ง ๔ สัมมาสตินั้นคือปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ สัมมาสมาธินั้นได้แก่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

   พระอัฏฐังคิกมรรค ๘ ประการนี้เป็นหนทางอันตรง สำหรับที่จะปฏิบัติให้ได้สำเร็จพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับดับกองทุกข์ เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่านิโรธคามินีปฏปทาอริยสัจ

   แลปฏิจจสมุปปาทาธรรมที่จัดพื้นที่ ให้พิจารณาเอาเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นประการใด

   แลปฏิจจสมุปปาทธรรม มีกระทู้ความตามที่สมเด็พระพุทธองค์ตรัสเทศนาว่า

   อวิชชาคือโมหะนั้น เป็นปัจจัยให้บังเกิดสังขาร คือกุสลากุสลจิต สังขารนั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดวิญญาณ คือปฏิสนธิวิญญาณนั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดนามธรรมแลรูปธรรม นามรูปนั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดผัสสะ มีจักขุสัมผัสเป็นต้น ผัสสะนั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนาโทมนัสสเวทนา อุเบกขาเวทนา เวทนานั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดตัณหา ตัณหานั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดอุปาทานคือ ตัณหาที่กล้าหาญมีกำลัง อุปาทานนั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดกัมมภพแลอุปปัตติภพ ภพนั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดชาติ ๆ นั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดชราแลมรณะแลโสกปริเทวทุกข์ โทมนัสสทุกข์ อุปายสทุข์โทมนัสส อุปายาส สรรพความรำคราญเคืองเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายอันมากกว่ามากทั้งสิ้น เฉพาะมีแก่บุคคลอันยังประกอบด้วยอวิชชา อวิชชานุสัยยังนอนนิ่งอยู่ในสันดานตราบใดออกจากกระเปาะอวิชชาไม่ได้ตราบใด สรรพทุกข์ทั้งปวงมีโสกเป็นอาทิก็มีอยู่ตราบนั้น ครั้นโสกเป็นอาทิครอบงำแล้วก็หลงในวัตถุในอารมณ์ หลงในสัตว์ในสังขารในภพแลบุคคลหลงในทุกข์เป็นอาทิสิ้นสติสมปฤดีอาการดังบ้า เพราะเหตุมีโสกเป็นอาทิครอบงำครั้นหลงไปไม่รู้สึกตนดังนี้แล้วก็เป็นโอกาสแห่งอวิชชาบังเกิดในกาลเมื่อนั้น โสกเป็นอาทิเป็นปัจจัยแก่อวิชชาโดยแท้

   ประการหนึ่ง โสกเป็นอาทิก็บังเกิดเป็นแต่กามาสวะ ในขณะบุคคลวิโยคพลัดพรากพัสดุกามแลกิเลสกาม แลอาสวะทั้งหลายคือทิฏฐาสวะภวาสวะ ก็บังเกิดด้วยโสกปริเทวทุกขโทมนัสเหมือนกัน อันว่าเทพยดาทั้งหลายมีอายุยืน บริบูรณ์ด้วยสีสัณฐ์พรรณมากด้วยสุขสถิตสถาพรยืนนานในวิมานอันสูง อันว่าเทพยดาทั้งหลายนั้น ครั้นได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาแห่งสมเด็จพระสุคตทศพลญาณถึงซึ่งภัยความกลัวสะดุ้งจิต เกิดสังเวชต่าง ๆ อันบังเกิดแก่เทพยดา เมื่อเบญจวรรณบุพพนิมิตบังเกิดนั้นครั้นแล้วก็เกิดอัสสาทะ มีกำลังด้วยฉันทราคะอาลัยในอุปปัตติภพ คือขันธ์อันบังเกิดแต่กรรมนั้นขณะนั้นภวาสวะก็บังเกิดอวิชชาสวะก็พลอยบังเกิด เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่าโสกปริเทวะเป็นอาทิเป็นปัจจัยแก่อวิชชาด้วยประการดังนี้

   เมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยเป็นมูลมีแล้ว สังขารเป็นปัตยุบันก็มีอันบังเกิดด้วย สังขารเกิดแล้ววิญญาณก็เกิดด้วยตราบเท่าถึงชรามรณะใหม่เล่าเหตุผลเป็นปรัมปราสืบ ๆ แห่งเหตุผลสืบเนื่องกันหาที่สิ้นที่สุดลงมิได้เหตุ ฉะนั้นภวจักรมีองค์ ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้น มีชรามรณะเป็นที่สุดนั้นประพฤติเป็นไป ผูกเนื่องด้วยเหตุแลผลหาที่สุดลงมิได้ จึงชื่อว่าสำเร็จกิจด้วยโสกเป็นอาทิ

   มีคำปุจฉาต่อไปเล่าว่า เมื่ออวิชชาประพฤติเป็นไปหาที่สุดระหว่างลงมิได้ดังนั้น ถ้าจะว่าอวิชชาเป็นกลางอวิชชาเป็นปลายก็จะได้อยู่ คำที่ว่า  “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” ดังนี้ กล่าวด้วยสามารถอวิชชาเป็นต้นก็ผิด

   วิสัชนาว่าคำที่ว่า  “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” จะได้กล่าวด้วยสามารถเป็นต้นนั้นหามิได้ กล่าวไว้เป็นประธานต่างหาก เพราะเหตุอวิชชานี้เป็นประธานแก่วัฏฏะทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์วิปากวัฏฏ์ เมื่ออวิชชาบังเกิดขึ้นด้วยวัตถุอารมณ์สัมผัส แลเกิดขึ้นด้วยอาสวะโสกเป็นอาทิก็ดี แลอวิชชานุสัยที่ยังละเสียมิได้ก็ดี อวิชชาเหล่านี้แลเป็นอาสันนะเหตุเป็นประธานที่จะให้วัฏฏะธรรมบังเกิด แลวัฏฏะทั้ง ๓ บังเกิดแล้วรัดรึงเกี่ยวกระหวัดไว้ในคนพาลในสังสารวัฏฏะอันแวดล้อมไปด้วยทุกข์ต่าง ๆ เหตุจับมั่นซึ่งอวิชชา คือว่ายังมิได้ละเสียซึ่งอวิชชาอันเป็นประธาน ดุจหนึ่งว่า ขนดตัวแห่งอสรพิษซึ่งกระหวัดเข้าซึ่งแขนแห่งบุคคล อันจับมั่นซึ่งศีรษะแห่งอสรพิษอันเต็มไปด้วยพิษมิได้ละเสียนั้น ต่อเมื่อใดตัดเสียได้ซึ่งอวิชชา ด้วยอรหัตตมรรคประหารแล้วก็พ้นจากวัฏฏะธรรมทั้ง ๓ ประกอบเมื่อนั้นดุจหนึ่งตัดศีรษะแห่งอสรพิษขาดแล้ว แลสละเสียซึ่งขนดตัวแห่งอสรพิษจากแขนนั้น สมด้วยวาระพระบาลี  “อวิชฺชยเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ” แปลว่า  “สงฺขารนิโรโธ”  อันว่าความดับซึ่งสังขาร เหตุชื่อว่าอวิชชาหาเศษมิได้ ด้วยพระอรหัตแท้จริง เหตุดังนั้นจึงกล่าวว่าสังขารบังเกิดแต่อวิชชาเป็นปัจจัยนี้ ด้วยสามารถอวิชชาเป็นประธานธรรมเท่านั้น จะได้กล่าวด้วยสามารถเป็นต้นนั้นหามิได้ นักปราชญ์พึงรู้ว่าภวจักรหาที่สุดลงบ่มิได้ด้วยประการฉะนี้

   อนึ่ง ภวจักรปราศจากผู้แต่งผู้กระทำรู้เสวยนั้นหตุใด แลสังขารเป็นอาทิที่เป็นผลนั้น ประพฤติเป็นไปแต่เหตุทั้งหลายมีอวิชชาเป็นอาทิสิ่งเดียว ภวจักรนั้นก็ไม่มีผู้ตกแต่งคือพรหมแลปชาบดีมเหศวรอันสัตว์นับถือ พระพรหมผู้ประเสริฐตกแต่งโลก เป็นโลกบิดาว่ามานี้ก็เปล่าสิ้นทั้งนั้น

   อนึ่ง เปล่าจากตัวตน ผู้จะเสวยสุขทุกข์ทั้งปวง เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่าภวจักรปราศจากผู้ตกแต่งผู้กระทำ ไม่มีบุคคลผู้เสวยด้วยประการฉะนี้

   อนึ่งเล่า ภวจักรนี้สูญเปล่าจากสภาวะเที่ยงจริง เหตุมีเกิดแลดับอยู่ทุกเมื่อสูญจากสภาวะงาม เหตุเป็นธรรมอันเศร้าหมองกอปรไปในธรรมอันเศร้าหมองเปล่าจากสุข เหตุมีเกิดแลดับเบียดเบียนอยู่เป็นนิจนิรันดร์ สูญเปล่าจากตน ไม่ประพฤติตามอำนาจแต่งตน เหตุประพฤติเนื่องอยู่ด้วยปัจจัยของตน สังขารทั้งปวงมีอวิชชาเป็นอาทิมิใช่ตน มิได้เป็นของตนมิได้ในตนมิได้อำนาจแห่งตน จึงได้ชื่อว่าภวจักรเป็นสุญญตาสูญเปล่าด้วยประการดังนี้

   เมื่อนักปราชญ์รู้แจ้งว่า ภวจักรมีองค์ ๑๒ มีอวิชชาสำเร็จด้วยโสกเป็นต้น มีเบื้องต้นมิได้ปรากฏ ปราศจากผู้กระทำเสวยเปล่าจากตัวตนดังนี้แล้ว พึงรู้ซึ่งมูล ๒ แลอัทธา ๓

   มูล ๒ นั้น คือ อวิชชาเป็นมูล ๑ ตัณหาเป็นมูล ๑ เป็นมูล ๒

   อัทธา ๓ นั้น คือ อดีตอัทธา ๑ ปัจจุบันอัทธา ๑ อนาคตอัทธา ๑ อวิชชาสังขารทั้งปวงนี้ จัดเป็นอดีตอัทธา วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภาวะ ๘ นี้จัดเป็นปัจจุบันอัทธา ชาติ ชรา มรณะ ๓ นี้ จัดเป็นอนาคตอัทธา

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com