พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  ขอลายเซ็นหน่อยค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๘

   อนึ่ง ภวจักร์อันเดียวจัดเป็น ๒ ด้วยสามารถแห่งมูล ๒ คือ ตัณหา อุปาทาน ภวะ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา นับเป็นหนึ่งชื่อว่าอวิชชาเป็นมูลตัณหาที่เป็นมูลนั้น ตั้งตัณหาเป็นประธานดังนี้ ตัณหา อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปาทาน ภวะ ชาติ ชรา มรณะ นับเป็นหนึ่งชื่อว่าตัณหาเป็นมูล

   แลภวจักรทั้ง ๒ นั้น ฝ่ายอวิชชามูลภวจักร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาด้วยอำนาจแห่งสัตว์เป็นทิฏฐิจริต มากด้วยทิฏฐิ

   ส่วนตัณหามูลนั้น พระพุทธองค์ตรัสเทศนา ด้วยอำนาจแก่สัตว์เป็นตัณหาจริต มากด้วยตัณหา

   อนึ่ง อวิชชามูลนั้น พระพุทธองค์ตรัสเทศนา ด้วยอวิชชาเป็นสังสารนายกแก่ทิฏฐิจริตบุคคล

   ประการหนึ่งอวิชชามูลภวจักรนั้น พระพุทธองค์เจ้าตรัสเทศนาเพื่อจะสำแดงแจ้งซึ่งผลมิได้ขาดแห่งเหตุ เพราะผลยังเกิดเพื่อจะเพิกเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ

   ส่วนตัณหามูลภวจักรนั้น พระพุทธองค์เจ้าตรัสเทศนาเพื่อจะสำแดงแจ้งซึ่งชรามรณะแห่งสัตว์ทั้งหลายอันบังเกิดมานี้ เพื่อจะเพิกเสียซึ่งสัสสตทิฏฐิ

   อนึ่งอวิชชามูล พระพุทธองค์เจ้าเทศนา เพื่อจะสำแดงซึ่งลำดับแห่ง สัขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ แห่งศัพภไสยกสัตว์ อันมีอายตนะอันบังเกิดโดยลำดับ ตั้งรูปแรกแต่กลละรูปนั้น

   ฝ่ายตัณหามูล พระพุทธองค์เจ้าเทศนา เพื่อจะสำแดงซึ่งอุปปติกะ สัตว์ทั้งหลายมีอายตนะเป็นอาทิ บังเกิดพร้อมกันในขณะเดียวแต่แรกปฏิสนธิ

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเข้าใจเถิดว่า ภวจักรนี้ มีสนธิ ๓ สังคหะ ๔ มีอการ ๒๐ มีวัฏฏะ ๔ ภวจักรพัดผันไปหาที่สุดลงมิได้

   สมาธิ ๓ นั้น คือ ระหว่างสังขารกับปฏิสนธิวิญญาณต่อกันชื่อว่าเหตุแลสนธิอัน ๑

   ระหว่างเวทนากับตัณหาต่อกัน ชื่อว่าผลเหตุสนธิอัน ๑

   ระหว่างภพกับชาติต่อกัน ชื่อว่าเหตุบุพพกผลสนธิอัน ๑ เป็น สนธิ ๓ ดังนี้

   เบื้องต้นแลเบื้องปลายแห่งสนธิทั้งหลาย เป็นสังคห ๔ คือ อวิชชากับสังขารเป็นสังคหะอัน ๑ วิญญาณกับนามรูปสฬายตนะผัสสะเวทนาเป็นสังคหะอัน ๑ ตัณหากับอุปาทานภวเป็นสังคหะอัน ๑ ชาติกับชรากับมรณะเป็นสังคหะอัน ๑ เป็นสังคหะ ๔ ดังนี้

   อาการ ๒๐ นั้น คือ  “อดีต เหตุโย ปญฺจ อิทานิ ผลปญฺจกํ อิทานิ เหตุโย ปญฺจอายตึ ผลปญฺจกํ” ดังนี้เป็นอาการ ๒๐ ด้วยกัน

   แลอดีตเหตุ ๕ นั้น คือ อวิชชาสังขารเป็นเดิม ได้แก่คนพาล

   ครั้นอวิชชาครอบงำแล้วก็หลงอยู่ในอวิชชา ก็ยินดีปรารถนาซึ่งอารมณ์ ตัณหาก็บังเกิด ครั้นตัณหาบังเกิดแล้วก็ถือมั่น อุปาทานก็เกิด ครั้นอุปาทานเกิดแล้วเจตนาก็บังเกิด เหตุดังนั้นแลตัณหาอุปาทานภวะนี้ พระพุทธองค์ถือเอาด้วยอวิชชาศัพท์เป็นอดีต เหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภวะ นี้สมด้วยพระพุทธฎีกาตรัสบัณฑูรไว้ว่า   “ปุริมกมฺมภวสฺมึ โมโห อวิชฺชา อายุหนา สงฺขารา นิกนฺติ ตณฺหา อุปคมนํ อุปาทานํ เจตนา ภโว อิติ อิเม ปญฺจ ธมฺมา ปุริมกมฺมภวสฺมึ อิธปฏิสนฺธิยา ปจฺจโยติ” แปลว่า อันว่าหลงอันใดในทุกขอริยสัจเป็นต้น แลบุคคลหลงด้วยโมหะอันใด แลกระทำต่าง ๆ มีกายทุจริตเป็นอาทิ หลงนั้นคืออวิชชา

   เมื่อบุคคลกระทำกรรมอันนั้น ปุริมเจตนาอันใดบังเกิดขึ้นปรารภว่าจะให้ทานแลจัดแจงเครื่องอุปการะไว้นาน แต่เดือนหนึ่งปีหนึ่งแล้วแลประดิษฐานนั้นถึงมือปฏิคคาหก เจตนานั้นชื่อว่าภาวะอันหนึ่งชวนะเจตนาทั้ง ๖ ในต้น ในอาวิชชนะวิถีอันเดียว ชื่อว่าอายุหนสังขารสัตตมะชวนะเจตนา ชื่อว่าภวะอันหนึ่งเจตนาทั้งปวงชื่อว่าภวะธรรมอันสัมปยุตด้วยเจตนาชื่อว่าอายุหนสังขาร ได้แก่อดีตสังขาร

   แลความปรารถนาจะเกิดในเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ในพิภพอันใดด้วยผลแห่งกรรมที่ตนกระทำ ความปราถนานั้นชื่อว่าตัณหา

   “อุปคมนํ” อันว่าเข้าใจผิดอันใด กว่าหระทำกรรมนี้แล้วเราจะได้เสพกามคุณสุขในที่อันมีชื่อโน่น เราได้กระทำกรรมนี้แล้ว เราจักข้ามพ้นจากฐานที่นี้ เข้าใจผิดถือมั้นดังนี้ ชื่อว่าอุปาทาน

   อันว่าเจตนาแห่งทายกอันตกแต่ง วัตถุทานยกยื่นให้แก่ปฏิคคาหกก็ดี แลสัตตมะชวะเจตนาก็ดี เจตนาอันใดชื่อภวะ ธรรม ๕ ประการนี้แลชื่อว่า   “อดีเต เหตุโย ปญฺจ อิทานิ ผลปญฺจกํ” 

   ผล ๕ นั้น คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นปัจจุบัน แต่เหตุ ๕ อันเป็นอดีตเหตุนั้น ยุติด้วยวาระพระบาลีพระพุทธฎีกาตรัสบัณฑูรไว้ว่า   “อิธ ปฏิสนฺธิ วิญฺญาณํ โอกนฺติ” นามรูปํ ปสาโท อายตนํ ผุฏโฐ ผสฺโส เวทยิตํ เวทนา อิติ อิเม ปญฺจ ธมฺมา” แปลว่า   “ยํ จิตฺตํ” อันว่าจิตอันใดนักปราชญ์กล่าวว่าปฏิสนธิ   “อิธ ภะว” ในปัจจุบันภพนี้ เหตุบังเกิดขึ้นแล้วแลสืบต่อกันเข้ากับภพ   “ตํ จิตฺตํ” อันว่าจิตนั้น   “วิญญานํ” ชื่อว่าวิญญาณ

   อันว่าหยั่งลงอันใดแห่งรูปนาม ดุจมาแล้วแลเข้ามา   “คพฺเภ” ในครรภ์แห่งมารดา กิริยาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่านามรูป

   “โย ปสาโท” อันว่าผ่องใสอันใดแห่งวิญญาณทั้งหลาย ผ่องใสนั้นชื่ออายตนะ คือ อายตนะ ๕ มีจักขวายตนะเป็นต้น

   “โย ผสฺโส” อันว่าผัสสะอันใดถูกต้องซึ่งอารมณ์ ดุจรู้รูปธรรมแล้วบังเกิด อันว่าถูกต้องอารมณ์นั้นชื่อว่าผัสสะ

   “ยํ เวทยิตํ” อันว่าเสวยรสแห่งอารมณ์อันใด อันบังเกิดพร้อมด้วยผัสสะ อันมีปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจัยก็ดี อันมีสาฬยตนะเป็นปัจจัยก็ดีอันว่าเสวยซึ่งรสแห่งอารมณ์นั้น อันว่าธรรมชาตินั้นชื่อว่าเทวนา

   อันว่าธรรม ๕ ประการนี้แลเป็นปัจจัยแห่งกรรม อันกระทำก่อนในภพโน้น

   “อิทานิ เหตุโย ปญฺจ” เหตุ ๕ ประการในปัจจุบันภพนี้ คือ ตัณหา อวิชชา สังขาร อุปาทาน ภวะ ปัจจุบันเหตุดังนี้

   ตั้งตัณหา อุปาทาน ภวะ เป็นเดิม อวิชชามาเข้าด้วยตัณหา อุปาทานศัพท์ สังขารมาเข้าอีกด้วยภาวะศัพท์ เป็นปัจจุบันเหตุ ๕ ประการ ยุติด้วยวาระพระบาลีว่า  “อิธ ปริปกฺกตฺตา อายตนานํ โมโห อวิชฺชา อายุหนา สงฺขารา นิกนฺติ ตณฺหา อุปคมนฺ อุปาทานํ เจตนา ภโว อิติ อิเม ปญฺจ ธมฺมา” 

   โมโห อันว่าหลงในธรรมทั้งหลายดุจกล่าวมาแล้ว แห่งสัตว์ทั้งหลายมีอายตนะอันแก่กล้า ชื่อว่าอวิชชา

   อธิบายว่าสัตว์อย่างน้อย ๆ มีจิตสันคติ จิตประหวัดทุพพลภาพมิอาจก่อสร้างชนกกรรมทั้งปวงได้ ต่อเมื่อมีอายตนะแก่กล้าจึงจะสำเร็จเจตนากรรมได้ เหตุดังนั้น ครั้นมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วประกอบกรรมอันใดในขณะใด อวิชชาก็บังเกิดด้วยในขณะนั้น

   อรรถาธิบายพิเศษ นักปราชญ์พึงรู้เถิดดุจกล่าวนั้นเถิด

   “อายตึ ผลปญฺจกํ” ผล ๕ นั้น คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชื่อว่าเป็นผลในอนาคต เหตุธรรม ๕ ประการ มีวิญญาณเป็นอาทินี้ จัดเป็นปัจจุบันนี้อัทธาเป็นผลแท้

   อาจารย์กล่าวด้วยชาติศัพท์ เพราะชาติธรรมนั้น เป็นอนาคตอัทธา เป็นส่วนอนาคต ฝ่ายชรามรณะเป็นชรามรณะของวิญญาณเป็นต้น คือ ชรานาม ชรารูป แลมรณะแห่งนาม แลรูปสมด้วยวาระ พระบาลีว่า  “อายตึ ปฏิสนฺธิ วิญฺญาณํ โอกนฺติ นามรูปํ ปสาโท อายตนํ ผุฏโ เวทนา อิติ อิเม ปญฺจ ธมฺมา” ความแปลกก็เหมือนกัน เป็นการ ๒๐ ด้วยกันชื่อว่าภวจักร มีอาการ ๒๐ ดังพรรณนามาฉะนี้

   อนึ่งเล่าธรรม ๕ ประการดังกล่าวมาแล้ว ในปุริภพชื่อว่ากัมมสัมภารธรรม ๕ ประการ ในปัจจุบันภพชื่อว่าวิปากธรรม ธรรม ๕ ประการในปัจจุบันภพชื่อว่ากัมมสัมภาร

   ธรรม ๕ ประการในอนาคตชื่อว่าวิปากธรรม จัดเป็นกรรม ๑๐ ประการ จัดเป็นวิบาก ๑๐ ประการ

   กรรม แลวิบาก ๒ ประการนี้ ชื่อว่ากัมมสังเขป วิบากสังเขป ชื่อว่ากัมมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ ชื่อว่ากัมมปวัตติ วิบากปวัตติ ชื่อว่ากรรมสันตติ วิบากสันตติ ชื่อว่ากิริยาเหตุแลกิริยาผลเหตุดังนั้นอันว่า ภวจักรนี้  “สเหตุกํ” ประกอบด้วยเหตุ ประกอบด้วยทุกขัง อนิจจัง อันตตา มีสภาวะฉิบหายต่าง ๆ มิได้ด้วยเหตุแท้ มีแต่เกิดแลดับอยู่เป็นนิจนิรันดร์ไม่ตั้งอยู่นานสิ้นกาลเท่าใดคอยแต่ที่จะผันจะแปลพิการอยู่ด้วยพลันดับด้วยพลันสูญ ไม่ยืนไม่ยาว ไม่แข็งไม่กล้า พลันผุ พลันทำลาย คอยที่จะหาผลแห่งตน คือ ชราแลมรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสอยู่ทุกเมื่อจะมีสัตว์มีบุคคลตนเองแลผู้อื่นจะมีในธรรมนี้บ้างหาบ่มิได้เลยเป็นเหตุกับผลแท้จริง เหตุใดดังนั้น

   “ ธมฺโม พุทฺเธน เทสิโต”  อันว่าพระจตุราวิยสัจจธรรมแลมรรคตราบเท่าถึงอัคคมรรคญาณ สมเด็จพระพุทธองค์ทรงตรัสบัญฑูรไว้เพื่อจะให้ดับเหตุธรรมมูลธรรม คือ อวิชชา ตัณหา

   อันว่าศาสนพรหมจารย์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาไว้เพื่อจะให้สิ้นแห่งวัฏฏทุกข์เมื่ออวิชชาตัณหาดับได้แล้ว อันว่าวัฏฏทุกข์ทั้ง ๓ อันตัดขาดแล้วด้วยอัคคญาณเป็นที่สุด ตราบใดวัฏฏะนั้นก็บ่มิได้เป็นไป คือว่าจักรมีพัดผันไปตราบนั้น เมื่อสัตว์บุคคลมิได้มีในธรรมอันเนื่องด้วยเหตุนั้นแล้ว ฝ่ายอุจเฉททิฏฐิแลสันนติทิฏฐิก็หามิได้ในเมื่อนั้น

   “ติยทเมวํ ภูมฺมานํ ”  อันว่าภวจักรนี้เมื่อผัดผันไป ดุจนัยกล่าวมาแล้ว นักปราชญ์พึงรู้โดยมาติกาอุเทศวาร ๕ ประการโดยสมควรใหม่เล่า คือ สัจจปภวะ ๑ กิจจะ ๑ วารณะ ๑ อุปมา ๑ คัมภีรนัย ๑

   สัจจปจจปภวะนั้น มีนัยทีพระอรรถกถาจารย์เจ้าสำแดงมาในสัจจนิเทศในลำดับนั้นแล้ว

   กิจจะนั้นคือภวจักรทั้ง ๑๒ นี้ มีกิจจะสอง ๆ คือสำเร็จกิจ แลเป็นปัจจัยแก่ธรรมอันอื่น เหตุใดอวิชชา ยังสัตว์ทั้งหลายอันกอปรด้วยอวิชชาให้หลงในอริยสัจ แลหลงในวัตถุ ด้วยสามารถปิดเสียซึ่งอริยสัจแลวัตถุแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สังขารบังเกิด

   ฝ่ายสังขาร มีกิจจะตกแต่งซึ่งสังขตธรรม อันควรตนจะพึงตกแต่งแล้วก็เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ

   ส่วนวิญญาณ รู้ซึ่งอารมณ์แล้วก็เป็นปัจจัยแก่นามรูป

   ฝ่ายนามเล่า ค้ำชูอุดหนุ่นซึ่งกันและกันดุจไม้อ้อสองมัด แล้วก็เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ

   ส่วนสฬายตนะประพฤติเป็นไปในอารมณ์เฉพาะแห่งตนมีรูปารมณ์เป็นต้นแล้วก็เป็นปัจจุยแก่สัมผัส

   ฝ่ายว่าสัมผัสถูกต้องอารมณ์แล้ว ก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา

   ส่วนเวทนา เสวยรสแห่งอารมณ์แล้ว ก็เป็นปัจจัยแก่ตัณหา

   ฝ่ายตัณหา กำหนดในอารมณ์อันควรจะกำหนดแล้ว ก็เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน

   ส่วนอุปาทาน ถือมั่นในธรรมอันพึงถือเอาแล้ว ก็เป็นปัจจัยแก่ภวะ

   ฝ่ายภวะซัดไปซึ่งสัตว์ในคติต่าง ๆ แล้ว ก็เป็นปัจจัยแก่ชาติ

   ฝ่ายชาติ ยังอุปาทินนกขันธ์ในภพกำหนดคติต่าง ๆ แล้วก็เป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ

   ส่วนชรามรณะ อาศัยซึ่งความแก่ขึ้นแลทำลายแห่งขันธ์ทั้งหลายแล้วก็เป็นปัจจัยให้ปรากฏในภพอื่น เหตุเป็นที่เกิดโสกเป็นต้น

   เหตุดังนั้น ภวะจักรนี้ประพฤติเป็นไปโดยกิจละสอง ๆ ในบททั้งปวง นักปราชญ์พึงรู้โดยสมควรนั้นเถิด

   วารณะนั้น คือห้ามเสียซึ่งมิจฉาทัสสนะเห็นผิดในธรรมทั้งหลาย คือ  “ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา”  บทนี้พระพุทธองค์เจ้าตรัสเทศนาประสงค์จะห้ามเสียซึ่งความเห็นผิดแห่งสัตว์ อันถือว่าโลกแลตัวตนมีผู้แต่งมีผู้กระทำ

   อนึ่ง  “ สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ”  บทนี้ พระพุทธองค์ตรัสเทศนา เพื่อจะห้ามเสียซึ่งความถือผิดว่าด้วยตัวตนออกจากภพนี้แล้วย่างไปสู่ภพอื่น

   “ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ”  บทนี้เทศนา เพื่อจะห้ามเสียซึ่งฆนสัญญา คือสัตว์ถือว่าตนเป็นแท่งเป็นก้อนแห่งปัญจขันธ์อันมิได้เป็นแท่ง แลทำลายแหลกไปเป็นจุรณะวิรุณ์รออยู่นั้น ดุจบุคคลผ่าผลเมล็ดตาลเป็นสองซีกฉะนั้น

   “นามรูปปจฺจยา สฬายตานํ ”  เป็นอาทิ บทนี้ตรัสเทศนาไว้ประสงค์จะห้ามเสียซึ่งเห็นผิดว่า เห็นตน ตนฟัง ตนสูดดมลิ้มเลียถูกต้อง ตนรู้ ตนสัมผัส ตนเสวยอารมณ์ ตนปรารถนา ตนถือเอาจับเอาซึ่งวัตถุ ตนก่อสร้าง ตนเกิด ตนแก่ ตนตาย ในสภาวธรรมอันเปล่าจากตนมีผู้ใดเห็นเป็นอาทิ เหตุดังนั้น ภวจักรพระองค์เจ้าตรัสเทศนา เพื่อจะห้ามเสียซึ่งถือมั่นมิจฉาทิฏฐิต่าง ๆ ว่าโลกแลตัวตนมีผู้กระทำดังนี้

   อุปมานั้นคือ อวิชชามิให้เห็นจริงแท้แห่งสภาวธรรมทั้งหลายอันเป็นแต่นามรูปโดนสามัญลักษณะนั้นหามิได้เลย ดุจคนตามืดทั้งสองข้างมิได้เห็นซึ่งสรรพรูปารมณ์ทั้งปวงนั้น แล้วอวิชชามาเป็นปัจจัยให้บังเกิดสังขาร เจตนาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เล่า ดุจหนึ่งคนตามืดไม่เห็นทางมืดแลพลาดไปนั้น แล้วสังขารเป็นปัจจัยให้บังเกิดวิญญาณอันจะตกแต่งไปสู่ภพอื่นเล่าดุจหนึ่งคนตามืดพลาดแล้วแลล้มลง

   แลวิญญาณมาเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นนามรูป อันประกอบด้วยทุกขธรรมต่าง ๆ อันมีอยู่สำหรับภพที่เกิดนั้น แลประกอบด้วยสังกิเลสธรรมเป็นอันมาก มีอยู่ในที่เกิดนั้นดุจคนตามืดพลาดล้มลงแล้วแลต้องเสี้ยนหนามเกิดวิการฟกซ้ำนั้น แล้วนามรูปมาเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะอันเป็นบ่อเกิดแห่งสังขารทุกข์ ดุจฟกซ้ำแก่ขึ้นจวนจะทำลายแล้วมีต่อมน้อย ๆ คือกาฬผุดขึ้นแซมเล่า

   สฬายตนะ มาเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ มีกิจกระทบถูกต้องซึ่งอารมณ์ดุจคนตามืด ประมาทแลกระทบถูกแผลที่ฟกซ้ำนั้น แล้วผัสสะมาเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาอันเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา แลอุเบกขาเวทนา ให้สฬายตนะทั้งมวล ดุจความเจ็บอันบังเกิดเข้านั้น แล้วเวทนาเป็นปัจจัยให้บังเกิดตัณหา คือความปรารถนากามภพ รูปภพ อรูปภพ ดุจหนึ่งปรารถนาเพื่อจะพยายาลซึ่งความเจ็บนั้น

   แล้วตัณหาเป็นปัจจัยให้บังเกิดอุปาทาน อันถือมั่นเข้าใจผิดในธรรมทั้งหลายมีกามภพเป็นอาทิอันเป็นพิษนั้น ดุจปรารถนาจะเยียวยาพยาบาลซึ่งความเจ็บ แล้วแลทายากินยาผิดสำเเดงอันมิชอบโรคนั้น

   แล้วอุปาทานมาเป็นปัจจัยให้บังเกิดภพ อันซัดไปซึ่งสัตว์ในภพคติต่าง ๆ ดุจยาทามิชอบโรคในอุปาทินนกสรีระ

   แล้วภวะมาเป็นปัจจัยให้บังเกิดชาติ อันสะสมอยู่ด้วยทุกข์เป็นอันมาก มีคัพโภกันติมูลทุกข์เป็นอาทิ ดุจหนึ่งว่าเกิดกำเริบแห่งฟกซ้ำเป็นบุพโพโลหิต เพราะเหตุทายาพอกยาอันมิชอบโรคนั้น

   แล้วชาติมาเป็นปัจจัยให้บังเกิด ชรา มรณะ อันคร่ำคร่าทำลายจากปัจจุบันขันธ์ ดุจหนึ่งว่าแตกทำลายออกแห่งฟกซ้ำ เหตุว่าวิการแก่ขึ้นด้วยบุพโพโลหิตเท่านั้น

   อุปมาอุปไมยวิเศษ ในภวจักรมีองค์ ๑๒ นี้ เป็นเอกัฏฐานุปมาเปรียบเฉพาะแต่อันธกบุรุษสิ่งเดียว ด้วยอุปไมยภวจักรแต่ละบท ๆ พระอรรถกถาจารย์เจ้าปรารถนาจะเปรียบอุปมานานาฐาน จึงยกบทบาลีสืบใหม่เล่าว่า  “ ยสฺมา วา ปน”  เป็นอาทิเหตุใหแลอวิชชาครอบงำสัตว์ทั้งหลายให้หลงมิให้รู้เห็นซึ่งสภาวะธรรม คือทุกข์แลพระไตรลักษญณญานเป็นอาทิ แลให้รู้เห็นว่าวิปริตผิดจากสภาวะธรรมดุจต้อแลฝ้าอันปิดเสียซึ่งมังสจักษุ มิให้เห็นสรรพรูปารมณ์ทั้งปวง

   แท้จริงธรรมดาว่า บุคคลมีต้อแลฝ้าเข้าปิดจักษุอยู่แล้วก็มิได้เห็นรูปทั้งปวง แม้จะเห็นบ้างราง ๆ เล่า ก็เห็นวิปริตพร่างพรายไปไม่เห็นแจ้งฉันใดก็ดี บุคคลที่มีอวิชชาครอบงำแล้วก็มิได้บัญญัติเป็นสัมมาปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเล่าก็ปฏิบัติแต่ผิด มิใช่ทุกขอริยสัจเป็นต้น ถ้าเห็นเล่าก็เห็นแต่ที่ผิดมีอุปไมยฉันนั้น

   ประการหนึ่งคนพาล ครั้นมีอวิชชาครอบงำแล้วก็ก่อสร้างแต่สังขารธรรม ๆ เกี่ยวพันตัวไว้ด้วยสังขาร อันจะน้อมนำตนไปเกิดใหม่เกิดอีกใยภพหาที่สุดมิได้ ดุจหนึ่งตัวด้วงแมลงหุ้มพันตนไว้ด้วยฝังรังเหตุสังขารกระทำแต่จะให้วนเวียนอยู่ภายในแห่งวัฏฏะทั้ง ๓ คือ กัมมวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์นั้น

   ส่วนวิญญาณ ครั้นได้สังขารเป็นผู้อุปถัมภกแล้ว ก็ได้ชึ่งที่พึ่งในคติต่าง ๆ ดุชราชกุมาร ครั้นปริณายกคือ เชฏฐามาตย์ช่วยอุปถัมภกแล้วก็ได้สำเร็จแก่สิริราชสมบัติเหตุวิบากวิญญาณนิยมอุปปัตนิมิต กระทำอุปปัตติภพเป็นอารมณ์ คือหนายว่าภพอันตนจะพึงไปบังเกิด

   อธิบายว่าวิญญาณนี้ กำหนดตามสังขารทั้ง ๓ กอง มีกามาพจรกุศลเป็นต้น ตนก็เล็งกามาพจรและกระทำกามาพจรเป็นอารมณ์ยังนามรูป คืออุปัตติขันธ์เป็นอันมาก คือ เทวดา มนุษย์ ดิรัจฉานนกเนื้อน้อนใหญ่ ด้วยหนอนเป็นอาทิ ในปฏิสนธิกาลแลประวัติกาลดุจคนมายากระทำมายาล่อลวง สำแดงไม่จริงต่าง ๆ

   ฝ่ายสฬายตนะ ตั้งมั่นในนามแลรูปก็ถึงซึ่งเจริญแพร่หลายไพบูลย์ภาวะวิเศษด้วยที่ตั้ง ดุจหนึ่งกอไม้อันตั้งอยู่ในภูมิอันดี

   ส่วนผัสสะเล่า ก็บังเกิดสัมผัสแห่งอายตนะทั้ง ๒ คืออัชฌัตติกายตนะพาหิรายตนะ เป็นวิสยีสยาธาร เฉพาะหน้าต่อกันแลกันนั้น ดุจไฟอันบังเกิดด้วยธนูไม้เป็นสีไฟทับฝนซึ่งกันแลกันนั้น

   ส่วนตัณหา ครั้นเสวยเวทนาอันเป็นสุข ปรารถนาสุขอันอื่นอีกได้เสวยทุกข์แล้วปรารถนาหาสุขก็เจริญยิ่งขึ้นไปอีก ดุจบุคคลถูกไฟแล้วอยากน้ำหาได้กินซึ่งน้ำเกลือ แล้วแลกระหายอยากน้ำนั้น

   ฝ่ายอุปาทาน เมื่อบุคคลอยากยินดีที่จะบังเกิดในภพแล้ว ก็ถือมั่นซึ่งสังขารทุกข์ในภพที่เกิดตามตัณหานั้น ดุจบุคคลอยากน้ำแล้วได้กินซึ่งน้ำระงับความอยากน้ำ

   ส่วนภาวะเล่า เมื่อบุคคลได้ซึ่งที่เกิดแล้วก็ยินดีด้วยตัณหาทิฏฐิอันถือมั่นผูกพันในภพ อันพร้อมเพรียงด้งยทุกข์อันนำมาซึ่งความฉิบหายดุจปลาอันโลภในเหยื่อแล้วคาบกินซึ่งเบ็ดอันเกี่ยวกับเหยื่อนั้น

   ฝ่ายชาติเล่า เมื่อภพมีแล้วก็มีด้วย ดุจพืชมีแล้วหน่อก็มีด้วย

   ฝ่ายชรามรณะ ครั้นชาติคือความเกิดมีแล้วก็ตามมาด้วย ดุจต้นไม้อันบังเกิดขึ้นแล้วก็จะล้มลงเล่า

   เหตุดังนั้น อันว่าด้วยอุปไมยต่อภวจักรนี้ นักปราชญ์พึงรู้โดยเอกัฏฐานุปมา แลนามฐานุปมา เป็นสทิสูปนา แลวิสทิสุปมาดุจพรรนามาฉะนี้

   คัมภีร์นั้น คือภวจักรปัจจยาการเทศนา กอปรด้วยคัมภีร์คือความลึก ๔ ประการ คือ อัตถคัมภีร์ ๑ ธัมมคัมภีร์ ๑ เทศนาคัมภีร์ ๑ ปฏิเวธคัมภีร์ ๑

   อัตถคัมภีร์นั้น คือกิริยาที่จะตรัสรู้ซึ่งผลแห่งเหตุ คือชรามรณะมีมาแต่ชาติ เว้นจากชาติแลจะมาแต่ธรรมอันอื่นหามิได้เลย คือมาแต่ชาตินั้นเป็นเที่ยงแท้ แลตรัสรู้สภาวะแห่งชรามรณะมีไปในเบื้องหน้า ๆ สมควรแก่ปัจจัยแห่งตน คือชาติจริงแท้มิได้ผิดมิได้มีมาแต่ธรรมอันอื่นยากนักยากหนา สังขารมีมาแต่อวิชชาเว้นจากอวิชชาแล้วมิได้มี คือมีมาแต่อวิชชานั้นเป็นเที่ยงแท้ แลจะตรัสรู้สภาวะแห่งสังขารมีไปในเบื้องหน้า ๆ สมควรแก่ปัจจัยแห่งอวิชชานั้นจริงแท้มิได้ผิด มิได้มีมาแต่ธรรมอันอื่นจะรู้อย่างนี้ยากกว่ายากนัก ปัจจัยการภวจักรจึงได้ชื่อว่า อัตถคัมภีร์

   อนึ่งธรรมนั้น ได้แก่เหตุคืออวิชชามีแดนอำนาจเป็นไปเท่าใดเป็นปัจจัยเป็นเหตุด้วยประการใด แลมาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารแลสังขารมีอวิชชาเป็นปัจจัยด้วยประการนั้นตรัสรู้ยากนัก แลชาติมีแดนอำนาจเป็นไปเท่าใดเป็นเหตุปัจจัย แลมาเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ

   แลชรามรณะ มีชาติเป็นปัจจัยด้วยประการนั้น ตรัสรู้ก็ยากนักหนาเหตุดังนั้น ปัจจยาการภวจักรจึงได้ชื่อว่า ธัมมคัมภีร์

   เทศนาคัมภีร์นั้น คือเวไนยสัตว์ทั้งปวงจึงพึงตรัสรู้ ซึ่งพระปัจจยาการธรรมนี้ด้วยประการใด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสัทธรรมเทศนาซึ่งพระปฏิจจสมมุปบาทปัจจยาการนี้ โดยควรแก่พุทธอัชฌาสัย แลอนุกูลตามเวไนยอัชฌาสัย จริตวาสนาอินทริยาธิมุตต์แห่งสัตว์อันพึงตรัสรู้นั้น

   เทศนาเป็น ๔ อย่างในพระสูตรทั้งปวง บางพระสูตรเป็นอนุโลมเทศนา บางพระสูตรเป็นปฏิโลมานุโลมเทศนา เป็นปฏิสนธิจตุสังเขปเป็นทวีสนธิติสังเขป เป็นเอกสนธิทวีสังเขป ดุจวัลลีหารกบุรุษ ๆ ตัดเครือเขา ๔ จำพวก ซึ่งวิสัชนาในต้นแรกปรารภแล้วนั้นชื่อว่าเทศนาคัมภีร์

   ปฏิเวธคัมภีร์นั้น คือสภาวะอันใดแห่งอวิชชาเป็นต้น แลธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้โดยลักษณะแห่งตน มีอญาณลักษณะเป็นต้น สภาวะนั้นลึกยิ่งนัก เหตุจะหยั่งลงเป็นอันยาก แม้พระญาณอันอื่นนอกจากพระสัพพัญญุญาณแล้ว มิอาจเพื่อจะหยั่งลงในภวจักรปัจจยาการนั้นได้ ชื่อว่าปฏิเวธคัมภีร์

   คำก่อนก็สมด้วยคำหลัง อวิชชานี้มีสภาวะเป็นข้าศึกแก่ญาณอันจะตรัสรู้ซึ่งทุกขาทิลักษณะ จะเห็นซึ่งทุกขาทิลักษณะแลตรัสรู้ซึ่งอริยสัจ ส่วนอวิชชาครอบงำเสียมิให้รู้มิให้เห็นโดยแท้

   ส่วนสังขารมีสภาวะตกแต่งแลสัมปยุตตธรรม แต่ต่างออกเป็นสภาวะ คือ อบุญญาภิสังขาร เป็นบุญญาภิสังขาร เป็นอเนญชาภิสังขาร

   ฝ่ายวิญญาณมีสภาวะสูญเปล่า แลมิได้ขวนขวายจะย่างไปอื่นจากมาตรว่าอุปปาทะ ฐิติภังคะ แล้วแลบังเกิดขึ้นสภาวะต่อเข้ากันกับภพใหม่

   ส่วนนามรูปเล่า มีสภาวะเกิดกับพร้อมกันด้วย แลพรากจากกันแต่นามฝ่ายนาม แลนามวิโยคจากรูป ๆ วิโยคจากนาม แลรูปฝ่ายรูปข้างกลาปรวมกันในกลาปเดียว ในภพบางอันนั้นแล รูปสำเสร็จมนกิจแลรูปมนกจตามวิสัยแห่งตน

   ส่วนสฬายตนะนั้นเล่า มีสภาวะเป็นใหญ่คืออินทรีย์มีจักขุนทรีย์เป็นต้น แลสภาวะเป็นโลกธรรมแลเป็นทวารเป็นขเตเป็นวินัยแห่งรูปารมณ์เป็นต้น อันมาสู่โยคเทศ มีสภาวะถูกต้องแลกระทบแห่งสัมผัสทั้งหลาย ๕ มีสภาวะเสวยซึ่งรสแห่งอารมณ์ ๖ มีจักขุสัมผัสเป็นอาทิ แลประชุมเข้าแลปรากฏพร้อมกัน แห่งจิตเจตสิกธรรมทั้งหลายมีจักขุทวาริกจิตเป็นต้น

   ส่วนเวทนาเล่า มีสภาวะเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นอุเบกขาเป็นต้นนิชชีวธรรม แล้วรู้เสวยอารมณ์ต่าง ๆ ดุจมีชีวิต

   ส่วนตัณหามีสภาวะยินดี ด้วยสัมปีติกอภินันทะ แลพลวตัณหาดุจกล้ำกลืนซึ่งอารมณ์แลวัตถุแล้ว แลซาบซ่านอยู่ในวัตถุอารมณ์คือ สกปริกขารเป็นอาทิ เป็นตัณหานที ตัณหาสมุทรจะถมให้เต็มให้ตื้นขึ้นเป็นอันยากนัก

   ฝ่ายอุปาทานเล่า มีสภาวะถือมั่นด้วยกาม แลถือมั่นด้วยทิฏฐิถือมั่นด้วยสีลวัตร แลถือมั่นโดยประการอันจากลักษณะอันจริงแท้มาตรว่านามรูปแลบุคคลอันจะข้ามเป็นอันยากนัก

   ส่วยภพมีสภาวะขวนขวาย แลก่อสร้างเจตนากรรม เพื่อภพแลซัดโยนไปซึ่งสัตว์ในกำเนิดคติ ฐิติ สัตตาวาสเป็นอันมาก

   ฝ่ายชาติเล่า มีภาวะเกิดขึ้นแลเกิดด้วยดี แลหยั่งลงแลปรากฏขึ้นด้วยสามารถคัพภไสยกะ สังเสทชะ อัณฑชะ อุปปาติกะปฏิสนธิในภพเป็นอาทิ

   ส่วนชรามรณะ มีสภาวะกอปรด้วยขยายธรรม คืออุปาทินนกขันธ์ใหม่ ๆ อยู่แล้วให้เก่าเข้าเล่า ด้วยฟันหักแก้มตอบศรีษะหงอกย่อหย่อนแห่งอังคาอวัยวะเป็นอาทิ แลให้แปรปรวนด้วยทำลายขันธ์เป็นสมมติมรณะ แลขณิกมรณะ เศษจากทิฏฐานสัตว์ สังขารอันเป็นที่รักเป็นอาทิ บุคคลจะหยั่งรู้ หยั่งเห็นด้วยเหตุนี้เป็นอันยากยิ่ง ภวจักรนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนา ชื่อว่าปฏิเวธคัมภีร์ ด้วยประการฉะนี้

   แลนัยเภทอีก ๔ ประการ คือ เอกัตตนัย ๑ นานัตตนัย ๑ อพยาปารนัย ๑ เอวังธัมมตานัย ๑

   นักปราชญ์พึงรู้ดุจนัยที่สำแดงมาในติกอุทสวาร ชื่อว่าวรรณะนั้นเถิด

   “อิทํ หิ คมฺภีรโต อคาธํ ” หิ  เพราะ  “ ยสฺมา”  เหตุใด  “ตสฺมา ”  เหตุนั้น  “โกจิ ปุคฺคโส ”  อันว่าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อยังทำลายมิได้ซึ่งภวจักรนี้  “ อคาธํ”  อันหาที่พึ่งมิได้โดยลึกนักนั้น  “ทุรติยานํ ”  อันว่าบุคคลจะล่วงข้ามพ้นเป็นอันมาก เหตุชัฏด้วยนัยต่าง ๆ  “ญาณาสินา”  ด้วยดาบคือวิปัสสนาปัญญาเป็นอาทิอันลับอานเป็นอันดีเหนือศิลาอันประเสริฐ คือสมาธิ แลบุคคลนั้น  “ อนตีโต”   ก็มิอาจล่วงข้ามเสียได้ซึ่งสารภัยอันทับทวีอยู่เป็นนิจนิรันดร์ ดุจมณฑลแห่งอสุนีบาตในมาตรว่าแต่ความฝัน คือว่าจะฝันเห็นว่าข้ามสังสารภัยก็หามิได้ เหตุการณ์ดังนั้นพระพุทธโฆษาจารย์เจ้า เมื่อจะกล่าวอ้างสาธกสูตรซ้ำเพื่อจะสำแดงซึ่งปฏิจจสมุปบาท อันลึกล้ำคัมภีรภาพอันมีในมหานิทานสูตรในคัมภีร์ทีฆนิกายโน้น จึงกล่าวว่า  “ วุตฺตํปิเจตํ คมฺภีโร จายํ อานนฺท ปฏิจจสมุปฺปาโท คมฺภีราวกาโสจ”  เป็นอาทิ เหตุใด จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสไว้แก่พระอานนท์ดังนี้ แลแม่น้ำได้นาม ๔ ประการ คือ

   แม่น้ำอันหนึ่งตื้นประมาณเพียงเข่า สะสมด้วยหญ้าแลใบไม้มีพรรณขุ่นเขียวด้วยน้ำหญ้าน้ำใบไม้ ดูไปปรากฏดุจลึกสัก ๑๐๐ วา

   แม่น้ำอันหนึ่งลึกประมาณสัก ๑๐๐ ศอก มีน้ำใสดุจน้ำแก้วแลดูไปดุจตื้นเพียงเข่า

   แม่น้ำอันหนึ่งตื้น แลดูไปก็เห็นว่าตื้น ดุจน้ำในอ่างเป็นอาทิ

   แมน้ำอันหนึ่งลึก แลดูไปก็เห็นว่าลึก ดุจน้ำในมหาสมุทรในเชิงเขาพระสุเมรุราช

   ดูกรสำแดงอานนท์ อันว่าพระปฏิจจสทุปบาทนี้ ลึกก็ลึกแลพิจารณาไปก็ปรากฏลึก ดูกรสำแดงอานนท์

   “อยํ ปชา ”  อันว่าสัตว์นิกายนี้ เหตุมิได้รู้ซึ่งพระปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้ โดยญาตปริญญาภิสสมัย

   “อนนฺโพธา ”  เหตุมิได้รู้ตีรณปัญญา แลปหานปริญญา

   “ตนฺตากุลกชาตา ”  ฟันเฝือยิ่งนักด้วยกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ดุจด้วยแห่งนายช่างหูกอันหนูกัด จะสางออกให้เห็นว่านี้ ต้นนี้ปลาย จะประสมต้นต่อต้น ปลายต่อปลายนั้นยากนักหนา

   “คณคณฺฑิกชาตา ”  ถ้ามิดังนั้นฟั่นเฝือนดุจรังนกกระจาบ

   “มุญฺชปพฺพชฺภุตา ”  ยุ่งดุจหนึ่งหญ้าปล้องมุงกระต่าย อันบุคคลฉีกกระทำเชือกผูกเข้าแล้ว บุคคลจะสะสางประสมกันเข้ายากนักหนาเว้นไว้แต่บุคคลผู้มีเพียรจึงจะสะสางได้ในต้นต่อต้นปลายต่อปลาย ฉันใดก็ดี พระปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้ ฟั่นเฝือยุ่งเหยิงยิ่งนัก อุปไมยเหมือนดังนี้

   สัตว์ทั้งหลายเว้นจากพระโพธิสัตว์ทั้ง ๒ จำพวกแล้วมิอาจสางได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายสางมิได้แล้ว ก็ฟั่นเฝือยุ่งอยู่ด้วยทิฏฐิต่าง ๆ อันมากกว่ามากนักก็ล่วงเสียมิได้ซึ่งอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย แลสังสารวัฏฏ์ หมองมัวด้วยสรรพทุกข์ต่าง ๆ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกข์ โทมนัส บ่มิรู้แล้วยุติแล้วสนธิเล่า ปฏิสนธิแล้วจุติเล่า วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาสทั้ง ๙ หาที่สุดลงมิได้ เหตุใดเหตุดังนั้น เป็นคำสั่งสอนแห่งพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าว่า

   “ ปณฺฑิโต”  พระโยคาพจรผู้มีปัญญา เมื่อปฏิบัติจะให้เป็นความสุขความเจริญแก่ตนและผู้อื่น พึงสละเสียซึ่งนวกรรมการปลิโพธคันอันอื่นแล้ว แม้ไฉนก็จะพึงได้ญาณอันหยั่งลงสู่ห้องแห่งปัจจยาการอันคัมภีรภาพพ้นพิสัยแห่งประเทศญาณ เป็นพื้นภูมิแห่งพระวิปัสสนากรรมฐานด้วยประการใด ประกอบด้วยสติเป็นอันดี แลพึงประกอบความเพียรเนือง ๆ จงทุกเมื่อด้วยประการดังนี้เถิด ได้วิสัชนามาในพระปฏิจจสมุปบาทธรรมยุติเเต่าเท่านี้

   เมื่อพระโยคาพจรตั้งธรรม ๖ กอง มีขันธ์ทั้ง ๕ เป็นต้น มีพระปฏิจจสมุปบาทเป็นที่สุดไว้เป็นพื้น คือพิจารณาให้รู้จักลักษณะแห่งธรรมทั้ง ๖ กอง ยืนหน่วงเอาธรรมทั้ง ๖ กองนี้ไว้เป็นอารมณ์ได้แล้วลำดับนั้นจึงเอาศีลวิสุทธิ แลจิตวิสุทธิมาเป็นราก

   ศีลวิสุทธินั้นได้แก่พระปฏิโมกขสังวรศีล ที่สำแดงแล้วในพระปาฏิโมกข์

   จิตตวิสุทธินั้น ได้แก่อัฏฏฐสมาบัติ ๘ ประการ ที่สำแดงแล้วในพระสมถกัมมัฏฐาน

   เมื่อตั้งศีลวิสุทธิ จิตวิสุทธิ ๒ ประการไว้เป็นรากแล้ว ลำดับนั้นให้พระโยคาพจรจำเริญวิสุทธิทั้ง ๕ สืบขึ้นไปโดยลำดับ ๆ เอาทิฏฐิวิสุทธิ

   แลกังขาวิตรณวิสุทธิเป็นเท้าซ้ายเท้าขวา เอามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ แลปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นมือซ้ายมือขวาแล้วเอาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นศีรษะเถิด จึงจะอาจสามารถที่จะยกตนออกจากวัฏฏสงสารได้

   แลทิฏฐิวิสุทธินั้น มีอรรถาธิบายเป็นประการใด

   อันว่าปัญญาอันพิจารณาซึ่งนามรูปโดยสามัญลักษณะ มีสภาวะเป็นวิปริณามธรรม บ่มิเที่ยงเป็นอาทิก็ดี โดยสภาวะลักษณะ คือลักษณะแห่งตนบ่มิได้ทั่วไปแก่สิ่งอื่นมีอาทิคือ  “ผุสฺสนลกฺขโณผสฺโส ”   อันว่าผัสสะเจตสิกอันมีถูกต้องเป็นลักษณะ  “กฺกขฬลกฺขณา ปวี ”  อันว่าปฐวีธาตุมีสภาวะกระด้างเป็นลักษณะ ปัญญาอันพิจารณาเห็นโดยสภาวะลักษณะเป็นอาทิดังนี้ก็ดี ก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ เหตุปัญญาดังพรรณนามานี้ ชำระเสียซึ่งมละมลทินคือทิฏฐิอันเห็นผิดเห็นว่าตนว่าตนในนามแลรูปนั้น   “ ”   “ตํ สมฺปาเทตูกาเมน สมถยานิเกน ”  แลพระโยคาพจรเจ้าผู้เป็นสมถยานิก บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานนั้น ถ้าปรารถนาจะยังทิฏฐิวิสุทธิให้บริบูรณ์ ก็พึงเข้าฌานสมาบัติอันใดอันหนึ่งตามจิตประสงค์ยกเสียเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเหตุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัตินั้นลึกละเอียดนัก ปัญญาโยคาพระจรกุลบุตรผู้เป็นอาทิกัมมิกแรกทำความเพียรจะพิจารณาได้เป็นอันมาก ยกเว้นสัญญานาสัญญายตนะเสียแล้วพึงเจริญตามชอบน้ำใจเถิด

   “อญฺญตรโต วุฏฺาย ”  เมื่อออกจากสมาบัติอันใดอันหนึ่งที่ตนได้จำเริญแล้ว ก็พึงพิจารณาซึ่งองค์แห่งญาณ มีวิตกเป็นอาทิเจตสิกธรรมทั้งปวงแต่บรรดาที่สัมปยุตด้วยองค์แห่งฌานนั้น ให้แจ้งโดยลักษณะแลกิจแลปัจจุปปัฏฐาน แลอาสันนการณ์แห่งองค์ฌานแลธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์ฌานนั้นแล้ว ก็พึงกำหนดกฏหมายว่าองค์ฌาน แลธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์ฌานนี้ แต่ล้วนเป็นนามธรรมทั้งสิ้น ด้วยอรรถว่าน้อมไปจำเพาะหน้าสู่อารมณ์ เมื่อกำหนดกฏหมายดังนี้แล้ว แลแสวงหาที่อยู่แห่งนามธรรมนั้น ก็จะเห็นแจ้งว่าหทัยวัตถุเป็นที่อยู่แห่งนามธรรม แลเป็นที่อาศัยแห่งนามธรรม  “ ยถา นาม ปุริโส”   มีอุปมาดุจบุรุษอันเห็นอสรพิษ ณ ภายในเรือน   “อนุพนฺธมโน ”  บุรุษผู้นั้นติดตามสกัดดู ก็รู้แจ้งว่าอสรพิษอยู่ที่นี่ ๆ และมีอุปมาฉันใด พระโยคาพจรผู้แสวงหาที่อยู่แห่งนามธรรมนั้นก็เห็นแจ้งว่าหทัยวัตถุ เป็นที่อยู่แห่งนามธรรมมีอุปไมยดังนี้

   “ รูปํ ปริคฺคณฺเหติ”  แล้วพระโยคาพจรเจ้าพิจารณารูปธรรมต่อไปเล่า ก็เห็นแจ้งหทัยวัตถุนั้นอาศัยซึ่งภูตรูปแลรูป ๆ ทั้ง ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย นั้นเป็นที่อาศัยแห่งหทัยวัตถุ คืออุปาทายรูปอื่น ๆ จากหทัยวัตถุนั้นก็อาศัยภูตรูปสิ้นด้วยกัน

   เรียกว่ารูป ๆ นั้น ด้วยอรรถว่ารู้ฉิบหายด้วยอุปัทวะอันตรายต่าง ๆ

   “สงเขปโต ววตฺถาเปติ ”  ลำดับนั้นพระโยคาพจรเจ้า จึงกำหนดกฏหมายโดยสังเขปว่า

   “นมนลกฺขณํ นามํ ”  นามธรรมนี้มีลักษณะอันน้อมไปสู่อารมณ์  “รูปนลกฺขณํ รูปํ ”  รูปธรรมนี้มีลักษณะรู้ฉิบหายด้วยอันตราย ๆ มีร้อนแลเย็นเป็นอาทิ พระโยคาพจรผู้เป็นวิสุทธิวิปัสสนายานิกคือเป็นแต่ฝ่ายพิจารณาสิ่งเดียวนั้นก็ดี ย่อมพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ประการโดยนัยสังเขปโดยนัยพิสดาร ด้วยธาตุปริคคหณอุบายอันใดอันหนึ่งอาจารย์สำแดงแล้วในจตุธาตุววัตถาน

   “อาวีภูตา ธาตูสุ ”  ในเมื่อพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ประการโดยลักษณะแลกิจปรากฏแจ้งแล้ว พระโยคาพจรเจ้าพึงพิจารณาสืบต่อไปในอาการ ๓๒ มีเกศาเป็นอาทิ มีมัตถลุงคังเป็นปริโยสาน

   แท้จริง เกศานี้จัดเป็นปฐวีธาตุก็จริง แต่ยังมีอาโปเตโชวาโยซับซาบอยู่ ซึ่งเป็นปฐวีสิ่งเดียวนั้นหามิได้ เกศาแต่ละเส้น ๆ นั้นกอปรไปด้วยรูปกลาปถึง ๕ กลาป เป็นกัมมัชชสมุฏฐานกลาป ๒ อาหารสมุฏฐานกลาป ๑ จิตตสมุฏฐานกลาป ๑ อุตุสมุฏฐานกลาป ๑ เป็น ๕ กลาปด้วยกัน

   ในกัมมัชชสมุฏฐานกลาป ๒ นั้น คือ กายทสกะกลาป ๑ ภาวทสกะกลาป ๑

   กายทสกะนั้น กอปรไปด้วย ๑๐ ประการ คือ ปวี อาโป เตโช วาโย วัณโณ คันโธ รโส โอชา เป็น ๘ เอาชีวิตกับกายประสาทเพิ่มเข้าเป็น ๑๐ เรียกว่ากายทสกะ

   ภาวสกะนั้นมีรูป ๑๐ ประการเหมือนกัน แปลกกันแต่ภาวะรูปข้างกายทสกะนั้นมีกายประสาทเป็นคำรบ ๑๐ ข้างสภาวทสกะนี้มีภาวรูปเป็นคำรบ ๑๐ เข้าด้วยกันเป็นกัมมัชชรูป ๑ กลาปดังนี้

   แลอาหารสมุฏฐานกลาป ๑ นั้น คือ สุทธัฏฐกลาป กอปรด้วยรูป ๘ ประการ คือ ปวี อาโป เตโช วาโย วัณโณ คันโธ รโส โอชา เป็น ๘ ประการดังนี้

   ยังจิตสมุฏฐานกลาปอันหนึ่ง อุตุสมุฏฐานกลาปอันหนึ่งนั้น ก็เหมือนกันกับอาหารสมุฏฐานกลาป คือจัดเอาแต่สุทธัฏฐกลาปมีรูป ๘ ประการ เหมือนกัน

   สิริรูปในกัมมัชชสมุฏฐฐานกลาป ๒๐ ในอาหารสมุฏฐานกลาป ๘ ในจิตตสมุฏฐานกลาป ๘ ในอุตุสมุฏฐานกลาป ๘ จึงเป็นรูป ๔๔ ประการด้วยกัน

   ตกว่าผมแต่ละเส้นนี้ ประกอบด้วยรูปถึง ๔๔ โลมาเล่าก็เหมือนกันประกอบด้วยรูปถึง ๔๔ ยกแต่ อุทริยัง กรีสัง ปุพโพ เสโท อัสสุ เขโฬ สิงฆานิกา มุตตัง ยกเสีย ๘ กระการนี้แล้ว ยังโกฏฐาสทั้ง ๒๔ มีเกศาเป็นอาทินั้นแต่ล้วนปรกอบด้วยรูป ๔๔ ด้วยกัน

   แลโกฏฐาสทั้ง ๔ คือ เสโทเหงือ อัสสุน้ำตา เขโฬน้ำลาย สิงฆานิกาน้ำมูก ทั้ง ๔ นี้กอปรด้วยรูปกลาป ๒ กลาป เป็น อุตุสมุฏฐานกลาป ๑ จิตตสมุฏฐานกลาป ๑

   อุตุสมุฏฐานกลาป ๑ นั้น จัดเอาสุทธัฏฐานกลาปด้วยรูป ๘ ประการ คือ ปวี อาโป เตโช วาโย วัณโณ คันโธ รโส โอชา เป็น ๘ ประการดังนี้

   แลจิตตสมุฏฐานกลาปนั้น ก็จัดเอาแต่สุทธัฏฐานกลาปมีรูป ๘ ประการเหมือนกัน

   สิริในอุตุสมุฏฐานกลาป ๘ จิตตสมุฏฐานกลาป ๘ จึงเป็น ๑๖ ประการด้วยกัน

   ตกว่า เวโท อัสสุ เขโฬ สิงฆานิกา โกฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ แต่ละสิ่ง ๆ กอปรไปด้วยรูป ๑๖ รูปด้วยประการดังนี้ แลโกฏฐานทั้ง ๔ คือ อุทริยังอาหารใหม่ กรีสังอาหารเก่า ปุพโพหนอง มุตตัง มูตรทั้ง ๔ ประการนี้ กอปรด้วยรูปกลาปอันหนึ่ง ๆ คืออุตุสมุฏฐานกลาป มีรูป ๘ ประการ คือ ปวี อาโป เตโช วาโย วัณโณ คันโธ รโส โอชา เป็นคำรบ ๘ ตกว่าอุทริยังก็มีรูป ๘ กรัสังก็มีรูป ๓ ปุพโพหนองก็มีรูป ๘ มุตตังกฌมีรูป ๘ พระโยคาพจรเจ้าผู้บำเพ็ญทิฏฐิวิสุทธิ พึงพิจารณาอาหาร ๓๒ ประการโดยนัยวิตถาร ดุจดังจะพรรณนามาฉะนี้

   “อิมสฺมึ ทฺวตฺตึสากาเร อานีภูเต ”  ในเมื่อพิจารณาทวัตติงสาการปรากฏแจ้งในสันดานแล้ว พระโยคาพจรเจ้าจึงพิจารณาอาการอีก ๑๐ ประการสืบต่อไปเล่า

   แลอาการ ๑๐ ประการนั้น คือ เตโชธาตุ ๔ วาโยธาตุ ๖ จึง ๑๐ ประการ

   เตโชธาตุอันชื่อว่าปริณามัคคี ที่เป็นพนักงานเผาอาหารให้ย่อยนั้นเมื่อเป็นกัมมสุฏฐานมีรูปบังเกิดพร้อมด้วยกลาป ๑ คือชีวิตนวกะ เมื่อเป็นจิตตสมุฏฐาน แลอุตุสมุฏฐาน อาหารสมุฏฐานมีรูปเกิดพร้อมได้ละ ๘ ๆ คือสุทธัฏฐานกลาปประสมเข้าเป็นรูป ๓๓

   “ ตถา จิตฺตเช อสฺสาสปสฺสาสโกฏฺาสมฺหิ”  ในเมื่อโกฏฐาสอันหนึ่ง คือ อัสสาสะปัสสาสะ ระบายลมหายใจเข้าออก เมื่อเป็นจิตตัชชะเกิดแต่จิตนั้น มีรูปเกิดพร้อม ๙ ประการ คือธาตุทั้ง ๔ วัณโณ คันโธ รโส โอชา รวมเข้าเป็น ๘ เอาสัททารมณ์อัน ๑ เพิ่มเข้าอีก เรียกว่าสัททานวกะ

   เมื่อเป็นกัมมสุมฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อาหารสมุฏฐาน มีรูปเกิดพร้อมละ ๘ ๆ คือ สุทธัฏฐกลาปเป็นประธานเข้าด้วยกันเป็นรูป ๓๓

   “ เสเสสุ อฏฺสุ อากาเรสุ”  แลอาการทั้ง ๘ ประการ คือเพลิง ๓ ลม ๕ อันเศษจากปริณามัคคี แลลมอัสสาสะปัสสาสะนั้นก็มีรูปบังเกิดพร้อม ๓๓ เหมือนกัน

   “ ตสฺเสวํ วิตฺถารโต ทฺวาจตฺตาฬีสาการวเสน”  เมื่อพระโยคาพจรเจ้า พิจารณาอาการทั้ฃ ๔๒ คือ ปีธาตุ ๒๐ อาโปธาตุ ๑๒ เพลิง ๔ ลม ๖ ปรากฏแจ้งโดยนัยพิสดารดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว

   “สฏฺี รูปานี ปากตานิ ”  อันว่ารูป ๖๐ ประการ คือจักขุทสกะ ๑๐ โสตทสกะ ๑๐ ฆานทสกะ ๑๐ ชิวหาทสกะ ๑๐ กายทสกะ ๑๐ วัตถุทสกะ ๑๐ รวมเป็น ๖๐ ด้วยกันก็ปรากฏแจ้งเป็นอันดี

   “ เอกโต กตฺวา”  พระโยคาพจรเจ้าจึงประมวลรูปทั้งปวงนั้นเข้าเป็นหมวดอันเดียวกัน พิจารณาโดยลักษณะว่ารูปทั้งปวงนี้มีลักษณะรู้ฉิบหายเหมือนกันสิ้น จะมั่นจะคงจะเที่ยงจะแท้แต่สักสิ่งหนึ่งนั้นหามิได้

   “ตสฺเสวํ ปริคฺคหิตรูปสฺส ”  เมื่อพระโยคาพจรเจ้า พิจารณาเห็นกองรูปด้วยประการดังนี้แล้ว

   “ ทวารวเสน อรูปธมฺมา”  อันว่าอรูปธรรมทั้งปวง คือจิตแลเจตสิกก็ปรากฏแจ้งแก่พระโยคาพจรเจ้านั้น ด้วยสามารถทวาร คือจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร กายทวาร มโนทวาร

   “เสยฺยถีทํ ”  จึงมีคำปุจฉาว่าจิตแลจิตสิกจะปรากฏด้วยสามารถทวารนั้นเป็นดังฤๅ

   จึงวิสัชนาว่า จิตเจตสิกนี้มีทวารทั้ง ๖ เป็นที่อาศัย เมื่อพิจรณาทวานทั้ง ๖ แจ้งประจักษ์แล้วก็จะรู้จักจิตเจตสิกที่อาศัยทวาารทั้ง ๖ นั้นเป็นแท้ จับที่อยู่ได้แล้ว คนอาศัยนั้นจะไปไปก็จับได้ด้วยกัน

   แลจิตที่อาศัยทวารทั้ง ๖ นั้น จัดเป็นโลกิยจิต ๘๑ คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓ มโนวิญญาณธาตุ ๖๘

   แลเจตสิกที่เกิดพร้อมด้วยโลกิยจิต ๘๑ นั้น คือ ผัสโส เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มสิการทั้ง ๗ นี้ เป็นสัพพจิตสาธารณทั่วไปในจิตทั้งปวง

   “อวิเสเสน ”  สำแดงดังนี้ ด้วยสามารถมิแปลกกัน แท้จริงจิตทั้งปวงนั้น ถ้ามีแต่สัพพจิตสาธารณเจตสิก บังเกิดพร้อมแต่ประการนี้ก็ยังบิมิต่างกันก่อน ต่อเมื่อใดมีเจตสิกอื่นนอกออกไปกว่านี้ประกอบ จิตจึงแตกแยกจึงต่างกันออกไปด้วยอำนาจเจตสิก

   เจตสิกไว้แต่ ๗ ประการ คือ สัพพจิตสาธรณเจตสิกนั้น

   สำแดงจิตเล่นก็สำแดงแต่จิตโลกิยะ จิตที่เป็นโลกุตตรนั้นจะได้สำแดงไว้หามิได้

   “ อนธิกตตฺตา”  เหตุว่าจิตโลกุตตระนั้น พระโยคาพจรผู้บำเพ็ญสมถวิปัสสนายังไม่ได้สำเร็จก่อน ดังฤๅจะพิจารณาได้ เหตุฉะนี้โลกุตตรจิตนั้น ท่านจึงมิได้สำแดงจึงยกเสีย สำแดงแต่จิตโลกิยะในที่นี้ ตกว่าสำแดงแต่จิตอันควรที่พระโยคาพจรเจ้าจะพิจารณาได้

   “เอกโต กตฺวา ”  พระโยคาพจรเจ้านั้น ก็ประมวลจิตแลเจตสิกนั้นเข้าด้วยกัน พิจารณาโดยลักษณะว่า จิตแลเจตสิกทั้งปวงนี้มีลักษณะน้อมไปสู่อารมณ์ จะเที่ยงจะตรงจะยั่งจะยืนนั้นหามิได้ เกิดเร็วดับเร็ว เป็นอนิจจังมิได้เที่ยงแท้

   “เอโก โยคาวจโร ”  พระโยคาพระจรเจ้าบางจำพวก ๆ หนึ่งนั้นก็พิจารณานามรูปโดยพิสดาร ด้วยอุบายอันสำแดงไว้ในจตุธาตุววัตถาน

   “อปโร โยคาวจรโร”  พระโยคาพจรองค์อื่นบางจำพวกนั้น ก็พิจารณานามรูปด้วยสามารถเป็นธาตุ ๑๘ ประการ มีจักขุธาตุเป็นอาทิ มีมโนวิญญาณธาตุเป็นปริโยสาน

   แท้จริง  “ มํสปิณฺฑํ”  อันว่าก้อนเนื้ออันประดิษฐานอยู่ในกระบอกจักษุ เส้นด้ายคือเอ็นน้อย ๆ หากมารัดมารึงไว้

   “ เสตกณหอติกณฺหมณฺฑลวิตฺตํ อายตนวิตฺถตํ”  ก้อนเนื้อนั้นมีพรรณอันขาวยาวกว้างเต็มกระบอกจักษุ วิจิตรด้วยดวงตาดำเป็นสองสีมีดำสีลานนั้นสีหนึ่ง โลกทั้งหลายเรียกก้อนเนื้อนั้นว่า ดวงเนตรดวงตา

   “ตํ อคเหตฺวา ”  พระโยคาพจรจะได้ถือเอาก้อนเนื้อนั้นมาเป็นอารมณ์ในขณะพิจารณานั้น หามิได้ท่านกำหนดเอาแต่จักษุประสาทซึ่งกล่าวแล้วในขันธนิเทศ ที่น้อยเท่าศีรษะเหาอยู่ในท่ามกลางแห่งดวงตานั้นแลเป็นอารมณ์ กำหนดจักษุประสาทนั้นโดยนามบัญญัติว่าจักขุธาตุ

   “ นิสฺสยถูตา จตสฺโส ธาตุโย”  และธาตทั้ง ๔ อันเป็นที่อาศัยแห่งจักขุประสาทนั้นก็ดี วัณโร คันโธ รโส โอชา และชีวิตินทรีย์เป็นสหชาติ เกิดพร้อมด้วยจักขุประสาท เป็นบริวารแห่งธาตุทั้ง ๕ ก็ดี กัมมัชชรูป ๒๐ รูป กายทสกะ ๑๐ ภวทสกะ ๑๐ ที่เกิดพร้อมด้วยจักขุประสาทนั้นก็ดี อาหารัชรูป ๙ จิตตัชชรูป ๘ ที่เกิดพร้อมด้วยจักขุประสาทนั้นก็ดี รูปทั้งสิ้นทั้ง ๕๓ ประการนี้ พระโยคาพจรเจ้าจะได้กำหนดว่าจักขุธาตุหามิได้ กำหนดว่าจักขุประสาทสิ่งเดียวว่าจักขุธาตุ

   ในโสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุนั้น พระโยคาพจรเจ้าก็พิจารณากำหนดเอาโสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท จะได้กำหนดเอารูป ๕๓ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยโสตาทิประสาทนั้นหามิได้ ในกายธาตุก็พิจารณากำหนดเอาแต่กายประสาท ๔๓ คือ ชีวิตนวกะ ๙ ภาวทสกะ ๑๐ โอชัฏฐมกรูปอันเป็นอาหารัชชะ จิตตัชชนะ ๒๔ เป็น ๔๓ แต่บรรดาที่เกิดพร้อมด้วยกายประสาทนั้น พระโยคาพจรเจ้าจะได้พิจารณาหามิได้เฉพาะพิจารณาแต่กายประสาท

   เกจิอาจารย์ว่า รูปเกิดพร้อมด้วยกายประสาทนั้น ๔๕ เหตุว่าอุตุชชรูป จิตตัชชรูปนั้นได้แก่สัททวนกะ นับชีวิตวนกะ ๔ ภาวทสกะ ๑๐ จิตตัชชรูป ๙ อาหารัชชรูป ๙ เป็น ๔๕ พระโยคาพจรเจ้าจะได้พิจารณารูป ๔๕ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยกายประสาทนั้นหามิได้ เฉพาะพิจารณาแต่กายประสาทอย่างเดียว

   แลประสาททั้ง ๕ คือ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาทนี้เป็นอารมณ์ ๕ ประการ คือ รูปปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ สิริประสาททั้ง ๕ อารมณ์ทั้ง ๕ เข้าด้วยกันเป็นธาตุ ๑๐ ประการ

   “ อวเสสานิ รูปานิ”  และรูปอันเศษจากนั้น จัดเป็นกัมมธาตุ

   ตกว่าจักขุประสาทนั้นเป็นจักขุธาตุ โสตประสาทนั้นเป็นโสตธาตุ ฆานประสาทนั้นเป็นฆานธาตุ ชิวหาประสาทนั้นเป็นชิวหาธาตุ กายประสาทนั้นจัดเป็นกายธาตุ จัดรูปารมณ์เป็นรูปาธาตุ สัททารมณ์เป็นสัททธาตุ คันธารมณ์จัดเป็นคันธธาตุ รสารมณ์เป็นรสธาตุ โผฏฐัพพารมณ์เป็นโผฏฐัพพธาตุ จัดรูปวิเศษเป็นธัมมธาตุ

   โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ที่อาศัยโสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท นั้นจัดเป็นโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ

   ปัจทวาราวัชชนวจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ นั้น รวมเข้าเป็นอันเดียวเรียกว่ามโนธาตุยังจิตอีก ๖๘ นอกนั้นเรียกว่ามโนวิญญาณธาตุ

   “ผสฺสาทโย ”  เจตสิกทั้งหลาย มีผัสสะเป็นต้นซึ่งสัมปยุตด้วยโลกิยจิตทั้ง ๘๑ นั้น ก็จัดเข้าในกัมมธาตุ สิริเข้าด้วยกันเป็น ๑๘ พระโยคาพจรเจ้าบางพระองค์นั้น พิจารณานามรูปด้วยสามารถจัดเป็นธาตุ ๑๘ ประการฉะนี้

   “อปโร ทวาทสายตนวเสน ”  และพระโยคาพจรองค์อื่นบางจำพวกนั้นเล่า ก็พิจารณานามและรูปด้วยสามารถเป็นอายตนะ ๑๒ ประการมีจักขวายตนเป็นอาทิ มีธัมมายตนะเป็นปริโยสาน

   ในจักขวายตนะนั้นมีรูป ๕๓ ประการ โดยนัยดังกล่าวแล้วในจักขุธาตุ พระโยคาพจรเจ้าก็เฉพาะพิจารณาแต่จักขุประสาทนั้น และว่าเป็นจักขวายตนะ เฉพาะพิจารณาแต่โสตประสาทว่าเป็นโสตายตนะเฉพาะพิจารณา

   แต่ฆานประสาทว่าเป็นฆานายตนะ เฉพาะพิจารณาแต่ชิวหาประสาทว่าเป็นชิวหายตนะ เฉพาะพิจารณาแต่กายประสาทว่าเป็นกายายตนะ พิจารณารูปารมณ์เป็นรูปายตนะ พิจารณาสัททารมณ์เป็นสัททยตนะ พิจารณาคันธารมณ์เป็นคันธายตนะ พิจารณารสารมณ์เป็นรสายตนะ พิจารณาโผฏฐัพพารมณ์เป็นโผฏฐัพพายตนะ พิจารณาวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นอาทิเป็นมนายตนะ พิจารณาเจตสิกธรรมทั้งปวงมีผัสสะเป็นอาทิ และรูปอันเศษนั้นเป็นธรรมายตนะ สิริเป็นอายตนะ ๑๒ ประการด้วยกัน

   อายตนะ ๑๒ ประการนี้ ถ้าจะย่อเข้าให้เป็นกองแห่งรูปธรรมนามธรรม ๒ ประการ ก็พึงแยกอายตนะออกสองส่วน ส่วนหนึ่งนั้นนับเข้ากับมนายตนะ จัดเป็นกองแห่งนามธรรม ยังส่วนหนึ่งนั้นนับเข้ากับอายตนะ ๑๐ ประการ มีจักขวายตนะเป็นต้น มีโผฏฐัพพายตนะเป็นที่สุด จัดเป็นกองแห่งรูปธรรม

   เป็นใจความว่า ปัญญาอันพิจารณานามและรูปนั้นมีลักษณะ ๒ ประการ คือ สามัญญลักษณะ ๑ สภาวะลักษณะ

   กิริยาที่พิจารณาเห็นว่า นามและรูปนี้ไม่เที่ยงแท้แปรปรวนอยู่เหมือนกัน นามธรรมก็ไม่เที่ยง รูปธรรมก็ไม่เที่ยง นามธรรมก็แปรปรวน รูปธรรมก็แปรปรวนเหมือนกัน พิจารณาเห็นทั่วไปดังนี้ ได้ชื่อว่าพิจารณานามรูปโดยสามัญญลักษณะ

   และกิริยาที่แยกออกไปแต่ละสิ่ง ๆ อันว่าผัสสะเจตสิกมีลักษณะให้ถูกต้องซึ่งอารมณ์เวทนาเจตสิกมีลักษณะอันเสวยซึ่งอารมณ์ พิจารณานามธรรมโดยนัยเป็นต้นดังนี้ก็ดี พิจารณารูปธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า ปวีธาตุ มีลักษณะอันกระด้างนั้นก็ดี ได้ชื่อว่าพิจารณานามและรูปโดยสภาวะลักษณะ

   ตกว่าปัญญาที่พิจารณานามและรูปโดยสามัญญลักษณะ สภาวลักษณะดังนี้แลได้ชื่อว่าทิฏฐิสุทธิ สำแดงทิฏฐิวิสุทธิโดยนัยสังเขปเท่านี้ แต่นี้จะวิสัชนาในกังขาวิตรณวิสุทธิสืบไป

   กังขาวิตรณวิสุทธินั้นมิใช่อื่นไกล ได้แก่ปัญญานั้นเอง ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งนามธรรมและรูปธรรม เข้าใจชัดว่านามธรรมบังเกิดแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ รูปธรรมบังเกิดแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ เข้าใจรู้สันทัดปราศจากสงสัยในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต และอนาคต และปัจจุบันแล้วในกาลใด ปัญญานั้นก็ได้ชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธิในกาลนั้น

   “ตํ สมฺปาเทตุกาโม ”  พระโยคาพจรภิกษุผู้มีความปรารถนาเพื่อจะยังปัญญาชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธินั้นให้สมบูรณ์ ก็พึงประพฤติจิตสันดานให้เหมือนแพทย์ เอาเยี่ยงอย่างแพทย์ผู้ฉลาดในการรักษาโรค ธรรมดาว่าแพทย์ผู้ฉลาดนั้น เมื่อจะรักษาซึ่งโรคพิจารณาดูโรคนิทานให้เห็นแจ้งว่าโรคสิ่งนี้บังเกิดแต่เหตุปฐวีธาตุกำเริบ โรคสิ่งนี้บังเกิดแต่อาโปธาตุกำเริบ โรคสิ่งนี้บังเกิดแต่เหตุแห่งเตโชธาตุ และวาโยธาตุกำเริบ เมื่อรู้ชัดสันทัดแท้ในโรคสมุฏฐานแล้ว แพทย์นั้นจึงประกอบยาตามที่  “ยถา ”   อันนี้มีครุวนาฉันใด พระโยคาจรภิกษุ ก็พึงพิจารณาหาเหตุหาปัจจัยอันเป็นที่เกิดแห่งนามธรรม และรูปธรรม ให้เห็นแจ้งว่านามธรรมบังเกิดแต่เหตุปัจจัยสิ่งนี้ ๆ รูปธรรมบังเกิดแต่ปัจจัยสิ่งนี้ ๆ พึงประพฤติเอาเยี่ยงแพทย์ผู้ฉลาดที่พิจารณาดูซึ่งโรคนิทานฉันนั้น

   ถ้ามิฉะนั้น ให้พระโยคาพจรภิกษุเอาเยี่ยงบุคคลอันมีสันดานมากไปด้วยความกรุณา ได้เห็นทารกอันนอนหงายอยู่ในกลางตรอก และแสวงหาบิดามารดาแห่งทารกนั้น

   ธรรมดาว่าบุคคลผู้มีสันดานมากไปด้วยความกรุณานั้น ถ้าเห็นทารกน้อย ๆ นอนหงายอยู่ในกลางตรอกกลางถนน ก็ย่อมมีจิตสันดานกัมปนาทหวาดหวั่นไหว ตะลึงใจว่า  “ อยํ ปุตฺตโก”  ทารกผู้นี้ลูกของใคร ๆ เอามานอนหงายไว้ที่ท่ามกลางหนทางอย่างนี้ ใครเป็นบิดามารดาแห่งทารกผู้นี้หนอ บุคคลผู้มากไปด้วยความกรุณาแสวงหาบิดามารดาแห่งทารกผู้นั้น และมีอุปมาฉันใด พระโยคาพจรภิกษุก็แสวงหาซึ่งเหตุปัจจัยแห่งนามรูป และมีอุปไมยดังนั้น

   แท้จริง พระโยคาพจรผู้แสวงหาซึ่งเหตุปัจจัยแห่งนามและรูปนั้นเดิมทีให้พิจารณาว่า “อิทํ นามรูปํ ”  นามและรูปแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง แต่บรรดามีในไตรโลกสันนิวาสนี้ ย่อมมีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่สิ้นทั้งปวง อันจะปราศจากเหตุปราศจากปัจจัยนั้นหาบ่มิได้ ถ้านามและรูปไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยบังเกิดแต่ธรรมดาแห่งตนแล้ว ก็หน้าที่นามและรูปแห่งสัตว์ทั้งปวง แต่บรรดาที่มีในภพทั้งปวงนี้ จะเหมือน ๆ กันเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะมิได้แปลกประหลาดกัน สัตว์ที่บังเกิดเป็นยมเป็นยักษ์เป็นอสุรกายกุมกัณฑ์ เป็นนิกรเทพคนธรรพ์นั้นก็จะเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียว รูปพรรณสัณฐานนั้นจะไม่ห่างไกลกัน อนึ่งสัตว์ที่บังเกิดในมุนษย์สุคติ กับสัตว์บังเกิดในทุคตินั้นก็จะเหมือน ๆ กันสิ้นทั้งปวง จะหาที่ดีกว่ากันชั่วกว่ากันนั้นจะหาไม่ได้ เพราะเหตุว่านามและรูปนั้นบังเกิดโดยธรรมดาแห่งตนเองหาเหตุหาปัจจัยบ่มิได้ นี้สิไม่เป็นดังนั้น นามและรูปนี้แปลกประหลาดกันทุก ๆ ภพจะได้เหมือนกันหาบ่มิได้ นามและรูปในสุคติภพนั้นอย่างหนึ่ง ในทุคติภพนั้นอย่างหนึ่ง ในฉกามาพจรสวรรค์อย่างหนึ่ง ในรูปภพนั้นอย่างหนึ่งจะได้เหมือนกันนั้นหาบ่มิได้ ถึงบังเกิดในหมู่เดียวกันในพวกเดียวกันก็ดีที่จะเหมือนกันนั้นไม่เหมือนกันเลยเป็นอันขาด โดยกำหนดเป็นที่สุด จนแต่พี่น้องซึ่งเป็นลูกแฝดก็ยังมีแปลกประหลาดกันอยู่ จะได้เหมือนกันแท้ทีเดียวก็หามิได้

   อาศัยเหตุฉะนี้จึงเห็นแจ้งว่านามและรูปนี้ มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งสิ้นด้วยกัน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยประชุมแต่ง นามและรูปบังเกิดโดยธรรมดาแห่งตน แล้วนามและรูปก็จะเหมือนกันสิ้นทั่วทั้งไตรภพมณฑลสกลไตรโลกธาตุ ดังฤๅจะเปลี่ยนจะแปลกกันเล่า นามและรูปที่บังเกิดขึ้นเก่า ๆ กับนามรูปที่บังเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้น ก็เหมือนกันทุก ๆ ชาติ จะไม่ต่างกัน นี้สิไม่เป็นดังนั้น นามและรูปนี้เปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ ชาตินี้อย่างหนึ่ง ชาติหน้าอย่างหนึ่ง ชาติโน้นอย่างหนึ่ง จะได้เหมือนกันอยู่เป็นนิจจะได้เหมือนกันอยู่สิ้นกาลทุกเมื่อนั้นหามิได้ อาศัยเหตุฉะนี้เห็นว่า นามและรูปนี้มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งอยู่เป็นแท้

   “ น อิสฺสราทิเหตุกํ”  ประการหนึ่งเหตุและปัจจัยที่ประชุมแต่งซึ่งนามและรูปนั้น จะได้แก่พระมเหศวรและท้าวมหาพรหมนั้นหาบ่มิได้ พระมเหศวรและท้าวมหาพรหมนั้น บ่มิได้เป็นเหตุปัจจัยที่จะตกแต่งซึ่งนามธรรมและรูปธรรม อันจะถือลัทธิว่าพระมเหศวรและท้าวมหาพรหมตกแต่งซึ่งนามและรูปนั้นบ่มิชอบ บ่มิสมควรจะเชื่อฟังเอาเป็นบรรทัดฐานได้ เพราะเหตุว่าองค์พระมเหศวรและท้าวมหาพรหมนั้นบ่มิได้พ้นไปจากรูปธรรมและนามธรรม เมื่อสำแดงโดยปรมัตถ์อันสุขุมนั้น รูปธรรมนามธรรมนั้นเองจัดเป็นพระมเหศวร จัดเป็นท้าวมหาพรหม

   ในที่อันนี้ ถ้าเกจิอาจารย์จำพวกใดกล่าวคำสอดเข้ามาว่า พระมเหศวรและท้าวมหาพรหมนั้น คงเป็นรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้นเอง กล่าวคำเสียดเข้ามาฉะนี้

   ในอธิบายแห่งเกจิอาจารย์นั้น พิจารณาเห็นรูปธรรมนามธรรมอื่น ๆ นอกออกไปจากพระมเหศวรและท้าวมหาพรหมนั้น แต่ล้วนมีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งสิ้นทั้งปวง แต่รูปธรรมนามธรรมที่เป็นองค์แห่งพระมเหศวรเป็นองค์แห่งท้าวมหาพรหมนั้น หาเหตุหาปัจจัยประชุมแต่งมิได้อัชฌาสัยแห่งเกจิอาจารย์นั้นพิจารณาเห็นดังนี้

   เมื่อเห็นอธิบายตามอัชฌาสัยแห่งเกจิอาจารย์นั้น พระมเหศวรก็เหมือนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท้าวมหาพรหมก็จะเหมือนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะหาแปลกประหลาดกัน นี้ไม่เป็นดังนั้นพระมเหศวรแปลก ๆ ประหลาดกันอยู่ ท้าวมหาพรหมแปลก ๆ ประหลาดกันอยู่ จะได้เหมือนกันหามิได้ เหตุฉะนี้จึงจะเชื่อฟังเอาตามอธิบายแห่งเกจิอาจารย์นั้นเชื่อฟังเอาบ่มิได้ นามและรูปที่เป็นองค์พระมเหศวรนั้นก็มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งนามและรูปที่เป็นองค์ท้าวมหาพรหมนั้นก็มีเหตุมีปัจจัยประชุมแต่งสิ้นด้วยกัน

   เมื่อเห็นว่านามรูปมีเหตุมีปัจจัยแท้แล้ว ลำดับนั้นพระโยคาพจรจึงพิจารณาหาซึ่งธรรมอันเหตุตัวปัจจัยนั้นว่า  “ เก นุ โข เต”  ธรรมสิ่งดังฤๅ เป็นเหตุเป็นปัจจัยตกแต่งซึ่งรูปธรรมนามธรรม เมื่อพิจารณาซึ่งธรรมอันเป็นตัวปัจจัยดังนี้ ก็มีมนสิการกำหนดจิตพิจารณาซึ่งรูปกายนั้นก่อน เห็นว่า  “อยํ กาโย ”   รูปกายนี้  “นิพฺพตฺตมาโน ”  เมื่อจะบังเกิดนั้น จะได้บังเกิดภายในห้องแห่งอุบลและบัวหลวงและบัวขาวและจงกลนีเป็นอาทินั้นหาบ่มิได้ จะได้บังเกิดภายในแห่งแก้วมณีและแก้วมุกดาหารเป็นอาทินั้นหาบ่มิได้ รูปกายนี้บังเกิดภายในอุทรประเทศแห่งมารดาเบื้องบนนั้นกำหนดด้วยกระเพราะอาหารใหม่ เบื้องต่ำนั้นกำหนดด้วยกระเพราะอาหารเก่า เบื้องหน้านั้นกำหนดด้วยกระดูกหนามสันหลังแห่งมารดา

   “อนฺตอนฺตคุณปริวาริโต ”  ไส้ใหญ่และไส้น้อยนั้นแวดล้อมอยู่โดยรอบ มีกลิ่นอันเหม็นเป็นปฏิกูลพึงเกลียดพึงชัง ที่อันนั้นเป็นที่คับคับแคบยิ่งนัก อาหารที่รูปกายแห่งสัตว์บังเกิดในที่นั้นเปรียบประดุจกิจมิชาติหมู่หนอน อันบังเกิดในปลาเน่าแลขนมบูดแลที่น้ำคลำไหลรูปกายแห่งสัตว์ทั้งปวงนี้บังเกิดด้วยธรรม ๔ ประการ คือ อวิชชาประการ ๑ ตัณหาประการ ๑ อุปาทานประการ ๑ กรรมประการ ๑

   ธรรม ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้บังเกิดรูปกายสิ้นทั้งปวง อาหารนั้นเป็นปัจจัยในกิจอุปถัมภกอุดหนุน

   ตกว่าอวิชชาและตัณหา แลอุปาทานทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นที่อาศัยแห่งรูปกาย เปรียบประดุจมารดาอันเป็นที่อาศัยแห่งทารกกรรมนั้นเป็นเหตุบังเกิดรูปกาย เปรียบประดุจบิดาอันยังทารกให้บังเกิด อาหารนั้นอุปถัมภ์อุดหนุนซึ่งรูปกาย เปรียบประดุจแม่นมอันอุ้มชูทารก

   เมื่อพิจารณาเห็นซึ่งเหตุ แลปัจจัยแห่งรูปกายด้วยประการดังนี้ แล้วลำดับนั้นพระโยคาพจรจึงพิจารณาเห็นซึ่งเหตุแห่งนามกายว่า   “ จกฺขญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกขุวิญฺญาณํ”  ว่าจักขุประสาทแลรูปารมณ์แล้ว จึงบังเกิดขึ้นในสันดาน ฝ่ายว่าโสตวิญญาณอันอาศัยโสตประสาทแลสัททารมณ์แล้ว จึงบังเกิดฆานวิญญาณนั้นอาศัยฆานประสาท แลคันธารมณ์แล้วจึงบังเกิด ชิวหาวิญญาณนั้นอาศัยชิวหาประสาทแลรสารมณ์ แล้วจึงบังเกิดกายวิญญาณนั้นอาศัยกายประสาทแลโผฏฐัพพารมณ์ แล้วจึงบังเกิดมโนวิญญาณนั้นอาศัยหทัยวัตถุแลธัมมารมณ์แล้วจึงบังเกิด

   เมื่อพระโยคาพจรภิกษุพิจาณาเห็นชัดรู้สันทัด ว่านามรูปบังเกิดแต่เหตุปัจจัยโดยนัยดังพรรณามานี้แล้ว ลำดับนั้นก็จะเข้าใจประจักษ์ตลอดไปในอดีตแลอนาคตแลปัจจุบัน จะรู้ชัดสันทัดแท้ว่านามรูปในปัจจุบันนี้บังเกิดแต่เหตุปัจจัยแลมีฉันใด นามรูปในอดีตที่บังเกิดแล้วแต่หลัง ๆ นั้น ก็บังเกิดแต่เหตุแต่ปัจจัยฉันนั้น ถึงนามรูปที่จะบังเกิดต่อไปในอนาคตเบื้องหน้านั้น ๆ ก็จะบังเกิดแต่เหตุปัจจัยสิ้นด้วยกัน เมื่อเข้าใจแจ้งประจักษ์ตลอดไปในอดีตแลอนาคต ว่าเหมือนกันกับปัจจุบันนี้แล้ว ลำดับนั้นพระโยคาพจรภิกษุ ก็จะสละวิจิกิจฉาเสียได้สิ้นทั้ง ๑๖ ประการ

   แลวิจิกิจฉาทั้ง ๑๖ ประการ จัดเป็นวิจิกิจฉาในอดีต ๕ ในอนาคต ๕ ปัจจุบัน ๖ สิริเข้าด้วยกันเป็นวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ

   วิจิกิจฉาในอดีต ๕ ประการนั้น คือสงสัยในอดีตชาติเบื้องหลัง ๆ ว่า  “ อโห กึ นุ โข อหํ อตีตมทธานํ”  ดังเรารำพึงในอดีตกาลเบื้องหลัง ๆ นั้น อาตมะได้บังเกิดหรือเป็นประการใด สงสัยฉะนี้เป็นอดีตวิจิกิจฉาเป็นปฐม

   แลอดีตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๒ นั้น คือสงสัยว่าในอดีตกาลนั้น อาตมะไม่ได้บังเกิดหรือเป็นประการใด

   แลอดีตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๓ นั้น คือ สงสัยว่าในอดีตกาลนั้นอาตมะได้เป็นขัตติยชาติ หรือพราหมณชาติ หรือเป็นชาวนา พ่อค้าพ่อครัวเป็นประการใด

   แลอดีตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๔ นั้น คือสงสัยว่าในอดีตกาลนั้น อาตมะมีรูปพรรณสัณฐานใหญ่น้อยสูงต่ำดำขาวเป็นประการใด

   แลอดีตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๕ นั้น คือ สงสัยว่าในอดีตกาลนั้น แต่แรกเริ่มเดิมทีอาตมะบังเกิดเป็นสิ่งดังฤๅ แล้วอาตมะมาบังเกิดเป็นสิ่งดังฤๅเล่า

   กำหนดสงสัยในอดีต ๕ ประการฉะนี้ แลสงสัยในอนาคต ๕ ประการนั้น คือสงสัยว่า   “ ภวิสฺสามิ นุ โข อหํ อนาคตมทฺธานํ”   ในอนาคตเบื้องหน้านั้น อาตมาจะได้บังเกิดอีกหรือเป็นประการใด สงสัยฉะนี้เป็นอนาคตวิจิกิจฉาเป็นปฐม

   แลอนาคตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๒ นั้น คือสงสัยว่าสืบต่อไปในอนาคตกาลเบื้องหน้านั้น อาตมะจักบ่มิได้บังเกิดอีกหรือเป็นประการใด

   แลอนาคตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๓ นั้น คือสงสัยว่าสืบต่อไปในอนาคตกาลนั้น อาตมะจะได้บังเกิดเป็นขัตติยชาติ หรือจักได้บังเกิดเป็นพราหมณชาติหรือจักได้บังเกิดเป็นชาวนาพ่อค้าพ่อครัวเป็นประการใด

   แลอนาคตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๔ นั้น คือสงสัยว่าสืบไปในอนาคตกาลเบื้องหน้านั้น อาตตะจักได้บังเกิดมีรูปพรรณสัณฐานใหญ่น้อยสูงต่ำดำขาวเป็นประการใด

   แลอนาคตวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๕ นั้น คือสงสัยว่าสืบไปในอนาคตกาลนั้น อาตมะจักได้บังเกิดในสิ่งดังฤๅก่อนแล้ว อาตมะจักบังเกิดเป็นสิ่งดังฤๅอีกเล่า กำหนดสงสัยในอนาคต ๕ ประการฉะนี้

   แลสงสัยในปัจจุบัน ๖ ประการนั้น คือสงสัยในสันดานอันเป็นภายในว่า  “อหํ นุ โขสฺมิ ”  ดังเรารำพึง ทุกวันนี้ได้ชื่อว่าอาตมะบังเกิดอยู่หรือไม่เป็นประการใด สงสัยฉะนี้ เป็นปัจจุบันวิจิกิจฉาเป็นปฐม

   แลปัจจุบันวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๒ นั้น คือสงสัยว่า  “โน นุ โขสฺมิ ”   ดังเรารำพึง ทุกวันนี้ได้ชื่อว่าอาตมะไม่ได้บังเกิดหรือเป็นประการใด

   แแลปัจจุบันวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๓ นั้น คือสงสัยว่าทุกวันนี้ได้ชื่อว่าอาตมะบังเกิดเป็นขัตติยชาติ หรือพราหมณชาติ หรือเป็นชาวนาพ่อค้าพ่อครัวเป็นประการใด

   แลปัจจุบันวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๔ นั้น คือสงสัยว่าทุกวันนี้ได้ชื่อว่าอาตมะบังเกิด มีรูปพรรณสัณฐานใหญ่น้อยสูงต่ำดำขาวเป็นประการใด

   แลปัจจุบันวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๕ นั้น คือสงสัยว่า  “อยํ นุ โข สตฺโต กุโต อาคโต”   ดังเรารำพึง สัตว์ผู้นี้มาแต่ไหน มาบังเกิดในที่นี้

   แลปัจจุบันวิจิกิจฉาเป็นคำรบ ๖ นั้น คือสงสัยว่าสัตว์ผู้นี้มาบังเกิดในที่นี้แล้ว จักไปบังเกิดในที่ไหนอีกเล่า กำหนดสงสัยในปัจจุบัน ๖ ประการฉะนี้

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com