พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  ขอลายเซ็นหน่อยค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๙

   เมื่อพระโยคาพจรภิกษุ พิจารณาเห็นชัดรู้ว่าสันทัดว่านามแลรูปบังเกิดแต่เหตุแต่ปัจจัย เหมือนกันทั้งอดีตแลอนาคตปัจจุบันเห็นชัดฉะนี้แล้วก็จะสละละสงสัย ๑๖ ประการนั้นเสียได้ ด้วยอนุภาพปัญญาที่พิจารณาเห็นนามรูปกับทั้งเหตุแลปัจจัยนั้น

   ตกว่าปัญญาที่พิจารณาเห็นนามธรรมรูปธรรมกับทั้งเหตุแลปัจจัยนี้แลได้นามบัญญัติชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นที่ชำระสันดานให้บริสุทธิ์ข้ามพ้นจากสงสัย ๑๖ ประการ

   “อปโร โยคี ”  แลพระโยคาพจรจำพวกอื่นบางพระองค์นั้นก็พิจารณาเห็นปัจจัยแห่งนามธรรมว่ามี ๒ ประการ พิจารณาเห็นปัจจัยแห่งรูปธรรมว่ามี ๔ ประการ

   แลปัจจัยที่จะให้บังเกิดธรรมมี ๒ ประการนั้น คือสาธารณปัจจัยประการ ๑ อสาธารณปัจจัยประการ ๑

   สาธารณปัจจัยนั้น ได้แก่ทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น แลอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์เป็นต้น

   แท้จริงทวารทั้ง ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนวาร ได้ชื่อว่าเป็นสาธารณปัจจัยแห่งนามธรรม ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุให้บังเกิดจิตแลเจตสิกทั่วไปฝ่ายกุศลแลอกุศลแลอพยากฤต

   แลอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์ นั้นเล่า ก็ได้ชื่อว่า เป็นสาธารณปัจจัยแห่งนามธรรมนั้น ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุให้บังเกิดจิตแลเจตสิกทั่วไปทั้งฝ่ายกุศลแลอกุศลแลอพยากฤตเหมือนกับทวารทั้ง ๖

   แลอสาธารณปัจจัยแห่งนามธรรมนั้น ได้แก่เหตุทั้งหลายต่าง มีมนสิการเป็นต้นเป็นประธาร นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า โยนิโสมนนิการคือกำหนดกฏหมายในที่อันดี มีต้นว่ากำหนดอานิสงส์แห่งศีลทานการกุศลต่าง ๆ นั้นก็ดี กอปรไปด้วยอุบายในกิริยาที่ปลงปัญญาพิจารณาพระไตรลักษณ์นั้นก็ดี สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาเป็นอาทินั้นก็ดี จัดเป็นอสาธารณเหตุนามธรรมที่เป็นฝ่านกุศล

   อธิบายว่าจิตแลเจตสิกที่เป็นกุศลนั้น ย่อมบังเกิดแต่เหตุคือโยนิโสมนสิการ แลกิริยาที่สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาเป็นอาทิจะได้บังเกิดแต่เหตุสิ่งอื่นหามิได้ เหตุฉะนี้ โยนิโสมนการแลกิริยาที่สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาเป็นอาทินี้ จึงจัดเป็นอสาธารณเหตุแห่งนามธรรมที่ฝ่ายกุศล

   แลกิริยาที่กระทำมนสิการในที่อันชั่ว สดับตรับฟังโอวาทอันชั่วผิดจากพระธรรมวินัยนั้น เป็นเหตุให้บังเกิดจิตแลเจตสิก แต่บรรดาที่เป็นฝ่ายอกุศลนั้น ๆ จะได้บังเกิดแต่สิ่งอื่นหามิได้ เหตุฉะนี้กิริยาที่กระทำมนสิการในที่อันชั่ว สดับตรับฟังโอวาทอันชั่ว ผิดจากพระธรรมวินัยนั้นจึงจัดเป็นอสาธารณเหตุแห่งนามธรรมฝ่ายข้างอกุศล

   แลเจตสิกอันเป็นกุศลแลอกุศลนั้น ก็มีอวิชชาแลตัณหากับคติแลกาลเป็นอาทินั้น เป็นเหตุให้บังเกิดจิตแลเจตสิก แต่บรรดาที่เป็นฝ่ายวิบาก ๆ นั้น จะได้บังเกิดแต่เหตุสิ่งอื่นหามิได้ เหตุฉะนี้เจตนาอันกุศลแลอกุศลแลอวิชชาแลตัณหา กับคติแลกาลเป็นอาทินั้นจึงจัดเป็นอสาธารณเหตุแห่งนามธรรมที่เป็นฝ่ายวิบาก

   แลภวังคจิตกันสันตีรณจิต แลกามาพจรกิริยาจิต แลอรหันตตผลจิตนั้น เป็นอสาธารณเหตุแห่งนามธรรมที่เป็นฝ่ายกิริยา เพราะเหตุว่าภวังจิตนั้น เป็นเหตุให้บังเกิดปัญจทวารวัชชนะแลมโนทวาราวัชชนะสันตีรณจิตนั้น เป็นเหตุให้บังเกิดโวฏฐวนจิตกามาพจรกิริยาจิตนั้นแลมหัคคตกิริยาจิต

   อรหัตตผลนั้น เป็นเหตุให้บังเกิดกิริยาจิตทั้งปวง เว้นไว้แต่ปัญจทวาราวัชชนะแลมโนทวาราวัชชนะ สำแดงในปัจจัยแห่งนามธรรมมี ๒ ประการ คือ สาธารณปัจจัยประการ ๑ อสาธารณปัจจัยประการ ๑ มีนัยดังวิสัชนามานี้แล้ว จึงสำแดงปัจจัยแห่งรูปธรรม ๔ ประการสืบต่อไป

   ปัจจัยแห่งรูปธรรม ๔ ประการนั้น คือ กรรมประการ ๑ จิตประการ ๑ เตโชธาตุประการ ๑ อหารประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน

   กรรมนั้นได้แก่กุศลแลอกุศล อันเป็นเจ้าพนักงานตกแต่งซึ่งรูปกุศลนั้นตกแต่งรูปที่งามที่ดีประณีตบรรจง อกุศลนั้นตกแต่งรูปอันชั่วที่พิกลพิการต่าง ๆ แลบรรดาสรรพสัตว์ทั่วไปในไตรโลกธาตุนี้ ซึ่งจะมีรูปงดงามดี เป็นที่เจิมใจแห่งเทพามนุษย์นั้น อาศัยแก่กุศลตกแต่ง จะมีรูปชั่วพิกลพิการพึงเกลียดพึงชังนั้น อาศัยแก่อกุศลตกแต่ง เหตุฉะนี้ กุศลแลอกุศลที่เป็นเจ้าพนักงานตกแต่งรูปนั้น ท่านจึงจัดเป็นปัจจัยแห่งรูปธรรรมประการ ๑

   แลจิตทั้งปวงที่เป็นที่เป็นเจ้าพนักงานให้บังเกิดในรูปนั้นได้ ท่านก็เป็นปัจจัยแห่งรูปธรรมประการ ๑

   อธิบายว่าจิตที่จัดเป็นหมวดโดยนัยสังเขป ๘๙ จิตนั้น ยกอรูปวิบาก ๔ จิตกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ จิตออกเสียแล้ว ยังคงอยู่แต่ง ๗๕ จิตนั้น เป็นเจ้าพนักงานให้บังเกิดได้สิ้นทั้ง ๗๕ จิต เหตุฉะนี้ ๗๕ คือ กามาพจรจิต ๔๔ รูปาพจรจิต ๑๕ อรูปาพจรจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘ นั้น ท่านจึงจัดเป็นปัจจัยแห่งรูปธรรมประการ ๑

   เพลิงธาตุที่เป็นเจ้าพนักงาน ให้บังเกิดอุตุสมุฏฐานรูปในฐิติขณะนั้นก็จัดเป็นปัจจัยแห่งรูปธรรมประการ ๑

   อาหารที่เป็นเจ้าพนักงานให้บังเกิดอาหารสมฏฐานรูป ในฐิติขณะนั้น ก็จัดเป็นปัจจัยแห่งรูปธรรมประการ ๑ สิริเป็นปัจจัยแห่งรูปธรรม ๔ ประการฉะนี้

   รูปธรรมนามธรรมในปัจจุบันนี้ บังเกิดแต่ปัจจัยสิ้นทั้งนั้นแลมีฉันใด รูปธรรมนามธรรมในอดีตแลอนาคตนั้น ก็บังเกิดแต่ปัจจัยเหมือนกันดังนั้น

   พระโยคาพจรกุลบุตรอันพิจารณาเห็นว่า รูปธรรมนามธรรมในอดีตแลอนาคตแลปัจจุบัน บังเกิดแต่ปัจจัยโดยนัยดังวิสัชนามาฉะนี้ก็อาจสละละเสียซึ่งวิจิกิจฉาได้ทั้ง ๑๖ ประการ เหมือนอย่างนัยที่สำแดงมาแล้วแต่หลัง

   “อปโร โยคี”   พระโยคาพจรกุลบุตรจำพวกอื่นบางพระองค์นั้นก็พิจารณาเห็นปัจจัยแห่งนามรูป โดยปฏิโลมนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมว่า นามแลรูปแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง จะถึงซึ่งชราแลมรณนั้นอาศัยแก่มีชาติ ๆ จะมีนั้น อาศัยแก่ภพ ๆ จะมีนั้นอาศัยแก่มีเวทนา ๆ จะมีนั้นอาศัยแก่ผัสสะ ๆ จะมีนั้น อาศัยแก่มีสฬายตนะ ๆ จะมีนั้น อาศัยแก่มีวิญญาณ ๆ จะมีนั้น อาศัยแก่มีสังขาร ๆ จะมีนั้น อาศัยแก่อวิชชา

   เมื่อพระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณานามแลรูป เห็นว่าประกอบด้วยปัจจัยโดยปฏิโลมนัยแห่งปฏิจจสมุปปบาทธรรมด้วยประการฉะนี้ก็อาจสละละเสียซึ่งโสฬสวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ ให้ปราศจากขันธสันดานแห่งอาตมะได้

   พระโยคาพจรจำพวกอื่น บางพระองค์นั้นเล่าก็พิจารณานามแลรูป เห็นว่าประกอบด้วยปัจจัย ตามอนุโลมนัยแห่งปฏิจจสมุปปบาทธรรมว่า สังขารทั้ง ๓ ประการ คือบุญญาภิสังขาร อบุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร จะบังเกิดนั้นย่อมบังเกิดแต่ปัจจัยคืออวิชชา ๆ นั้นเป็นปัจจัยให้บังเกิดสังขาร ๆ เป็นปัจจัยให้ บังเกิดวิญญาณ ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดนามแลรูป เป็นปัจจัยให้บังเกิดสาฬยตนะ ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดผัสสะ ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดเวทนา ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดตัณหา ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดอุปาทาน ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดภพ ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดชาติ ๆ เป็นปัจจัยให้บังเกิดชราแลมรณะ

   เมื่อพระโยคาพจรพิจารณานามและรูป เห็นว่าประกอบด้วยปัจจัยตามอนุโลมนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทด้วยประการฉะนี้ ก็อาจสละละเสียซึ่งโสฬวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ ให้ปราศจากขันธสันดานแห่งอาตมาะได้เหมือนกัน

   “อปโร โยคี ”  ยังพระโยคาพจรจำพวกอื่นบางพระองค์นั้นก็พิจารณาซึ่งปัจจัยแห่งนามรูปโดยกัมมวัฏฏ์ แลวิปากวัฏฏ์ เห็นแจ้งชัดว่าธรรม ๕ ประการ คืออวิชชาแลสังขาร แลตัณหาแลอุปาทาน แลภวะนั้น ได้ชื่อว่ากัมมวัฏฏ์ วิญญาณ แลนามรูป แลสฬายตนะ แลผัสสะ แลเวทนานั้น ได้ชื่อว่าวิปากวัฏฏ์

   อธิบายว่าโมหะ ที่ปิดบังปัญญา เห็นพระไตรลักษณะเป็นอาทินั้นได้ชื่อว่าอวิชชา

   กุศลแลอกุศลที่ตกแต่งปฏิสนธิวิญญาณเป็นอาทินั้น ได้ชื่อว่าสังขาร

   กิริยาที่ยินดีในภพ ปรารถนาสมบัติในภพนั้น ได้ชื่อว่าตัณหาความที่ปรารถนาบังเกิดกล้า ให้ถือมั่นว่าเป็นของ ๆ ตนนั้น ได้ชื่อว่าอุปาทาน

   กุศลเจตนาแลอกุศลเจตนา ที่ให้สำเร็จกิจอันเป็นบุญแลบาปนั้นได้ชื่อว่าภวะ

   ปฏิสนธิจิตนั้น ได้ชื่อว่าวิญญาณ กัมมัชชรูปที่เกิดพร้อมด้วยปฏิสนธิจิตกับรูปธรรมนามธรรม แต่บรรดาที่บังเกิดในเบื้องหน้า ๆ แห่งปฏิสนธิจิตนั้น ได้ชื่อว่านามรูป ประสาททั้ง ๕ มีจักขุประสาทเป็นต้นกับหทัยวัตถุนั้น ได้ชื่อว่าสฬาตนะ สัมผัสทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสเป็นอาทิได้ชื่อว่าผัสสะ กิริยาที่เสวยอารมณ์เป็นสุขแลทุกข์แลโสมนัสโทมนัสแลอุเบกขานั้น ได้ชื่อว่าเวทนา

   เป็นใจความว่าธรรมทั้ง ๕ คือ อวิชชา แลสังขาร แลตัณหาแลอุปาทาน แลภวะ ซึ่งบังเกิดในปุริมภพแต่ก่อน ๆ นั้น ได้ชื่อว่ากัมมวัฏฏ์ ๆ นั้นด้วยอรรถว่า เป็นปัจจัยให้บังเกิดวิญญาณ แลนามรูปแลสฬายตนะ แลผัสสะ แลเวทนา ในปัจจุบันภพนี้

   แลธรรม ๕ ประการมีวิญญาณเป็นอาทิ ซึ่งบังเกิดในปัจจุบันภพนี้ ได้ชื่อว่าวิปากวัฏฏ์ ๆ นั้น ด้วยอรรถว่าเป็นผลแห่งกัมมวัฏฏ์บังเกิดแต่กิริยาอันกัมมวัฏฏ์ตกแต่งให้บังเกิด

   แลธรรมทั้ง ๕ คือ อวิชชา แลสังขาร ตัณหา แลอุปาทาน แลภวะ ซึ่งบังเกิดในปัจจุบันภพนี้ ก็ได้นามบัญญัติชื่อว่ากัมมวัฏฏ์เหมือนกัน ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยให้บังเกิดวิญญาณ แลนามรูป แลสฬายตนะ แลผัสสะ แลเวทนา ในอนาคตภพเบื้องหน้า

   แลธรรม ๕ ประการมีวิญญาณเป็นอาทิ ซึ่งจักบังเกิดมีในอนาคตภพเบื้องหน้านั้น ก็ได้ชื่อว่าวิปากวัฏฏ์เหมือนกัน ด้วยอรรถว่าเป็นผลแห่งกัมมวัฎฎ์ในปัจจุบันภพ บังเกิดแต่กิริยาอันกัมมวัฏฏ์ในปัจจุบันภพแต่งให้บังเกิด

   แลกรรมทั้ง ๑๒ ประการมีทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นอาทิ มีอุปฆาตกรรมนั้นเป็นปริโยสานนั้น ก็สงเคราะห์เข้าในกัมมวัฏฏ์นี้จะได้เป็นอื่นหามิได้

   แลกิริยาที่กรรมทั้งปวงให้ผลในสุคติแลทุคตินั้น ก็สงเคราะห์เข้าในวิปากวัฏฏ์นี้เอง จะได้พ้นไปจากวิปากวัฏฏ์นี้หามิได้

   เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาซึ่งปัจจัยแห่งนามรูป โดยนัยแห่งกัมมวัฏฏ์แลวิปากวัฏฏ์ ด้วยประการฉะนี้ก็อาจสละละเสียซึ่งโสฬสวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ ให้ปราศจากสันดานแห่งอาตมาได้โดยนัยดังพรรณนามาแล้วแต่หลังนั้น

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐารว่า กุศลากุศลกรรม แลกุศลากุศลวิบากกัมมวัฏฏ์แลวิปากวัฏฏ์ กิริยาที่ประพฤติแห่งกรรม แลกริยา ที่ประพฤติแห่งวิบาก สืบต่อแห่งกรรมแลสืบต่อแห่งวิบาก กิริยากรรมผลแห่งกิริยาธรรม ซึ่งประพฤติเป็นไปในโลกนี้แลได้ชื่อว่าสัตว์โลกท่องเที่ยวไปในภพ

   วิบากนั้นประพฤติเป็นไปแต่ปัจจัยคือกรรม บังเกิดแต่กรรมภพเบื้องหน้า ๆ นั้น แต่ล้วนบังเกิดแต่กรรมสิ้นทั้งปวง

   เมื่อพระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเห็นฉะนี้ ละสนเท่ห์สงสัยเสียได้ทั้ง ๑๖ ประการแล้ว ก็จะเห็นประจักษ์แจ้งว่า สัตว์โลกทั้งหลายซึ่งได้นามบัญญัติโดยสมมติสัจมีประเภทต่าง ๆ ซึ่งได้ท่องเที่ยวไปในสรรพภพ แลกำเนิดทั้ง ๕ เที่ยวไปในคติทั้ง ๕ แลวิญญาณฐิติทั้ง ๗ สัตตวาสทั้ง ๙ นั้น จะได้เป็นอื่นพ้นออกไปจากรูปธรรมนามธรรมนี้หามิได้ คือ นามธรรมรูปธรรมที่ประพฤติเนื่องด้วยเหตุผลนี้เอง นอกจากไปจากเหตุแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะได้ตกแต่งซึ่งนามรูปนั้นหามิได้ เหตุที่วิสัชนามาแต่หลังมีอวิชชาเป็นอาทินั้นแลตกแต่งซึ่งนามแลรูปสิ้นทั้งปวง

   ประการหนึ่งนอกออกจากไปจากผล คือพ้นออกไปจากวิบากจิตแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะได้เป็นผู้เสวยหามิได้ วิบากจิตนั้นแลเป็นผู้เสวยซึ่งสุขแลทุกข์สิ้นทั้งปวง เมื่อมีเหตุแล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายก็ร้องเรียกชื่อแห่งเหตุนั้นชื่อว่าการก

   อนึ่งเมื่อวิบากประพฤติเป็นไปในสันดานนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายก็ร้องเรียกวิบากนั้น ชื่อว่าปฏิสังเวทกะคือเป็นผู้เสวย

   พระโยคาพจรผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นฉะนี้ ได้ชื่อว่าเห็นชอบเห็นแท้ ได้ชื่อว่าเห็นด้วยปัญญาอันดี กิริรยาที่พระโยคาพจรพิจารณาเห็นดังนี้สมด้วยอธิบายอันพระโบราณาจารย์สำแดงไว้โดยบาทพระคาถาว่า
      กมฺมสฺส การโก นตฺถิ     วิปากสฺส จ เวทโก
     สุธธมฺมา ปวตฺตนฺติ       เอวเมตํ สมทสฺสนํ ฯ
      เอวํ กมฺเม วิปาเก จ      วตฺตมาเน สเหตุเก
     พีชรุกฺขาทีกานํว          ปุพฺพาโกฏิ น ขายติ ฯ เปฯ
     สุญฺญธมฺมา ปวตฺตนฺติ        เหตุสมฺภารปจฺจยาติ

   อธิบายในพระบาทคาถาว่า สิ่งอื่นนอกออกไปจากอวิชชาเป็นอาทิแล้ว จะได้เป็นผู้ตกแต่งซึ่งนามรูปนี้หามิได้ สิ่งอื่นนอกออกไปจากวิบากจิตแล้ว จะได้เป็นผู้เสวยหามิได้ สัตว์โลกซึ่งท่องเที่ยวไปในไตรภพนี้ คือรูปธรรมเท่านี้เอง จะเป็นสิ่งอื่นพ้นจากอรูปธรรมนามธรรมนี้หามิได้

   กิริยาที่พระโยคาพจรพิจารณาเห็นฉะนี้ ได้ชื่อว่าเห็นชอบเห็นโดยดีเห็นไม่วิปริต

   แท้จริง สรรพสัตว์ซึ่งจะท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏที่มีสุดเบื้องต้นบ่มิได้ปรากฏนั้น อาศัยแก่กรรมแลวิบาก ในเมื่อกรรมแลวิบากกอปรด้วยเหตุดังกล่าวแล้วนั้น ประพฤติเป็นไปเนื่อง ๆ กันอยู่แล้ว กิริยาแล้วที่จะหยั่งรู้ซึ่งที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารนั้น ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้หยั่งเห็นเปรียบเหมือนพืชคามแลพฤกษาชาติต่าง ๆ ซึ่งบังเกิดเนื่อง ๆ สืบ ๆ กัน มาตามประเพณีโลกวิสัยนั้น สุดที่จะค้นคว้าหาข้อมูลให้ตลอดไปถึงที่สุดเบื้องต้นนั้นได้ แลมีอุปมาฉันใด กิริยาที่จะหยั่งรู้ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารนั้น ก็พ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้หยั่งเห็นมีอุปไมยดังนั้น

   อาการที่กรรมวิบาก กอปรด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ประพฤติเป็นไปในสงสารในอนาคตกาลภายหน้านั้น ปรากฏเป็นอันมากยิ่งนัก จะได้ปรากฏนิดหน่อยนั้นหามิได้

   ดิรัตถีย์นิครนถ์ ภายนอกจากพระพุทธศาสนานั้นไม่พิจารณาเห็นเหตุอันสำแดงมานี้ ก็ถือมั่นสำคัญผิดประพฤติตามลัทธิวิปริตแห่งตน ๆ ถือว่าสัตว์ว่าบุคคล เห็นผิดเป็นสัสสตทิฏฐิ แลอุจเฉททิฏฐิถือตามมิจฉาลัทธิ ทิฏฐิทั้ง ๖๒ ประการ กล่าวถ้อยคำนั้นเก่งแย่งผิด ๆ กันจะได้เข้ากันหามิได้ ดิรัตถีย์ทั้งหลายนั้นครั้นติดอยู่ในบ่วงทิฏฐิเปลื้องทิฏฐิเสียมิได้ เที่ยวท่องล่องลอยอยู่ตามกระแสแห่งตัณหา ๆ พัดพาให้เวียนตายเวียนเกิดเอากำเนิดมิรู้สุดสิ้นเสวยทุกขเวทนาหาที่สุดมิได้ ไปไม่พ้นจากสงสารทุกข์เลย เพราะเหตุถือผิดเห็นว่าเป็นตัวเป็นสัตว์เป็นบุคคลนั้น

   ฝ่ายพระสาวกในพระพุทธศาสนานี้ เห็นชอบเห็นจริงรู้แท้ว่าไม่ใช่สัตว์ใช่บุคคล ปัญญานั้นลึกละเอียด เห็นว่าเป็นกองแห่งรูปธรรมนามธรรมแล้ว เห็นตลอดลงไปถึงเหตุถึงปัจจัย เห็นชัดว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นเหตุให้เกิดรูปธรรม สิ่งนั้น ๆ เป็นเหตุให้เกิดนามธรรม

   ประการหนึ่งเห็นละเอียดลงไปว่า กรรมกับวิบากนี้แยกกันอยู่เป็นแผนก ๆ กัน จะได้ปะปนระคนกันหามิได้ กรรมนั้นมิได้มีในวิบาก มิได้ระคนอยู่ด้วยวิบาก ฝ่ายวิบากนั้นก็มิได้มีในกรรม มิได้ระคนอยู่ด้วยกรรม แลกรรมวิบากนี้ถึงมาตรแม้ว่าจะอยู่ต่างกัน ไม่ปะปนระคนกันก็จริงแลแต่ทว่าเป็นปัจจัยแก่กัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยแก่กันจะได้ละเว้นกันหามิได้

   กรรมไม่ละวิบาก วิบากไม่ละกรรม จะมีครุวนาฉันใด มีครุวนาดุจดังว่าแว่นส่องไฟกับแสงอาทิตย์ อันเป็นปัจจัยให้เพลิงติด เพลิงนั้นจะได้มีอยู่ในแสงอาทิตย์นั้นก็หามิได้ จะได้มีอยู่ในแว่นส่องไฟแลโคมัยอันแห้งนั้นก็หาไม่ อนึ่งจะว่าเพลิงนั้นอยู่ภายนอกพ้นออกจากแสงอาทิตย์ แลพ้นออกไปจากแสงแว่นแลโคมัยนั้นก็ว่าไม่ได้ แต่ทว่าอาศัยแสงอาทิตย์ แลแว่นส่องไฟ แลโคมัยอันแห้งนั้นประชุมกันตกแต่ง เป็นเหตุเป็นปัจจัยแล้วผลคือเพลิงนั้นก็ติดขึ้น อันนี้แลมีฉันใด เมื่อกรรมมีเหตุเป็นปัจจัยแล้ววิบากคือผลแห่งกรรมนั้น ก็บังเกิดมีขึ้นแลมีฉันนั้น

   ถ้าจะว่าที่แท้นั้น วิบากจะได้มีอยู่ภายในแห่งกรรมก็หามิได้ จะได้มีอยู่ภายนอกแห่งกรรมก็หามิได้ แต่ทว่าอาศัยมีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยแล้ว วิบากก็บังเกิดโดยสมควรแก่กรรมที่เป็นกุศลแลอกุศลนั้น

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่านามรูปนี้ มิใช่อื่นใช่ไกลคือวิบากแห่งกรรม แลข้อซึ่งว่านามรูปได้นามบัญญัติ ชื่อว่ามนุษย์ ชื่อว่าเทพยดา ชื่อว่าอินทร์พรหมยักษ์อสูรคนธรรมพ์นาคสุบรรณต่าง ๆ นั้นเป็นสมมุติสัจกำหนดเรียกตามวิสัยโลกยังเอาเที่ยงจริงบ่มิได้ เมื่อพิจารณาโดยละเอียดตรองเอาที่เที่ยงที่จริงแล้ว ก็คงเป็นแต่รูปธรรมนามธรรมเท่านั้นเอง นามแลรูปนี้เป็นธรรมอันเปล่าสูญปราศจากแก่นสาร บังเกิดแต่สัมภาระคือเหตุแลปัจจัยประชุมแต่งอิศวรนารายณ์อินทร์พรหมผู้หนึ่งผู้ใดจะได้ตกแต่ง รูปธรรมนามธรรมนี้หามิได้ สิ้นคำโบราณาจารย์แต่เท่านี้

   เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาเห็นปัจจัยแห่งรูปนามแลรูป โดยนัยแห่งกัมมวัฏฏ์ แลวิปากวัฏฏ์สละละเสียได้ซึ่งโสฬวิจิกิจฉา ๑๖ ประการให้ปราศจากสันดานแล้ว รูปธรรมนามธรรมอันเป็นอดีตแลอนาคตแลปัจจุบันนั้น ก็จะปรากฏด้วยสามารถแห่งจุติแลปฏิสนธิปัญญา อันชื่อว่าญาตปริญญานั้น ก็บังเกิดมีในสันดานแห่งพระโยคาพจร ๆ นั้น ก็จะรู้แจ้งชัดว่าขันธปัญจกซึ่งบังเกิดแต่ปัจจัย คือกรรมอันบังเกิดในอดีตภพนั้น ก็ดับ

   ทำลายไปในอดีตภพจะได้ย่างเข้ามาสู่ปัจจุบันภพนี้หามิได้ ขันธปัญจกซึ่งเกิดในปัจจุบันภพนี้เป็นขันธ์อันอื่นบังเกิดขึ้นใหม่ แต่ทว่าอาศัยมีกรรมในอดีตภพนั้นเป็นปัจจัยขันธ์ในปัจจุบันนี้จึงบังเกิด แลขันธ์ซึ่งบังเกิดในอดีตภพนั้นสักสิ่งหนึ่งซึ่งจะได้ย่างมาสู่ปัจจุบันนี้หามิได้

   อนึ่งขันธ์ซึ่งมีในอดีตกรรมปัจจัย บังเกิดขึ้นในปัจจุบันภพนี้เมื่อตั้งอยู่ควรแก่กาลกำหนดแล้ว ก็ดับทำลายไปในปัจจุบันนี้เองจะได้ย่างไปสู่อนาคตเบื้องหน้านั้นหามิได้ ขันธ์ซึ่งบังเกิดในภพเบื้องหน้านั้น เป็นขันธ์อันอื่นเกิดขึ้นใหม่ แต่ทว่าอาศัยมีกรรมในอดีตภพเป็นปัจจัยบ้าง มีกรรมในปัจจุบันภพนี้เป็นปัจจัยบ้าง ขันธ์ในอนาคตจึงบังเกิด แลขันธ์ที่บังเกิดในปัจจุบันภพนี้ แต่สักสิ่งหนึ่งจะได้ย่างไปสู่อนาคตภพเบื้องหน้านั้นหามิได้ ข้อซึ่งขันธ์บังเกิดสืบต่อเนื่อง ๆ กันนั้น ก็บังเกิดแต่กรรมเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนอาจารย์อันบอกธรรมแก่อันเตวาสิก ธรรมอันอาจารย์บอกนั้น จะออกจากปากอาจารย์แล้วแลจะเข้าสู่ปากอันเตวาสิกนั้นหามิได้ แต่ทว่าอาศัยกิริยาที่อาจารย์บอก อาศัยกิริยาที่อาจารย์สาธยายไปก่อนนั้นเป็นปัจจัยแล้ว อันเตวาสิกจึงสาธยายตามนั้นได้ โดยนัยอันควรแก่อาจารย์ก่อน ตกว่าอันเตวาสิกจะสาธยายได้ขึ้นใจขึ้นปากนั้น อาศัยแก่เหตุที่ได้ฟังอาจารย์สาธยายก่อน ใช่ว่าสาธยายในปากอาจารย์นั้น จะแล่นเข้ามาสู่มุขทวารแห่งอันเตวาสิกนั้นหาบ่มิได้ อันนี้แลมีฉันใด ขันธปัญจกซึ่งเกิดสืบ ๆ สันดานเวียนไปในจตุรโอฆสงสาร บังเกิดแต่ปัจจัยอันสืบเนื่องต่อ ๆ กัน มีอุปไมยฉันนั้น

   ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนคนเป็นโรค อันไข้ทูตให้นำอาการที่ป่วยมาบอกแกาท่านผู้มีความวิเศษ ๆ นั้น ก็เสกน้ำมนต์ส่งให้แก่ทูตให้ทูตนั้นดื่มซึ่งน้ำมนต์ น้ำมนต์อันทูตดื่มกินนั้น จะได้เข้าไปท้องคนป่วยนั้นหามิได้ แต่ทว่าอาศัยกิริยาที่ทูตดื่มกินซึ่งน้ำมนต์นั้นเป็นปัจจัยแล้ว โรคแห่งคนป่วยนั้นก็ระงับ โรคระงับแต่ปัจจัยแลมีฉันใด ขันธปัญจกที่เกิดสืบ ๆ สันดานนั้น ก็บังเกิดแต่ปัจจัยมีอุปไมยฉันนั้น

   ถ้ามิฉะนั้น เหมือนเงาที่ปรากฏในแว่น ในกาลเมื่อตกแต่งประดับกาย อธิบายว่าเมื่อบุคคลจะหวีผมผัดหน้านั้น ย่อมอาศัยเอาเงาในแว่นเป็นแบบอย่าง หน้าอย่างไรเงาในแว่นก็อย่างนั้น อาการที่ประดับหน้านั้นอย่างไร ก็ปรากฏในแว่นอย่างนั้น ใช่ว่าหน้าจะไปอยู่ในแว่นก็หามิได้ วิธีที่ประดับหน้านั้นจะได้ย่างไปสู่พื้นแห่งแว่นนั้นก็หาไม่ แต่ทว่าอาศัยแว่นกับหน้านั้นประชุมกันเป็นปัจจัย แล้วเงาหน้าแลวิธีประดับหน้านั้น ก็ปรากฏในพื้นแห่งแว่นทุกประการ อันนี้แลมีฉันใดขันธปัญจกซึ่งบังเกิดสืบสันดานท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสารนี้ ก็บังเกิดแต่ปัจจัยมีอุปไมยฉันนั้น

   ใช่ว่าขันธ์ในอดีต จะย่างมาในปัจจุบัน จะย่างไปในอนาคตนั้นก็หามิได้ บังเกิดไปในภพในภพใด ๆก็ดับทำลายไปในภพนั้น ๆ ขันธ์ที่บังเกิดในภพอดีต ก็ดับไปในภพอดีตนั้น ที่เกิดในปัจจุบันภพก็ดับไปในภพปัจจุบัน ที่จักเกิดไปในอนาคตก็ดับไปในอนาคต

   แลกิริยาที่เบญขันธ์บังเกิดสืบต่อไปหาที่สุดมิได้นั้น อาศัยแก่เหตุที่เป็นปัจจัยสืบ ๆ กัน เปรียบเหมือนเปลวประทีป ธรรมดาว่าเปลวประทีปอันบุคคลจุดต่อ ๆ กันนั้น ใช่เปลวประทีปอันนี้จะย่างไปสู่เปลวประทีปอันนั้น เปลวประทีปนั้นจะย่างไปสู่ประทีปโน้นหามิได้ ติดอยู่ในประทีปอันเดียว ก็รุ่งเรืองอยู่ในประทีปอันนั้น ติดอยู่ที่ไหนก็ดับไปที่นั้น ซึ่งจะรุ่งเรืองต่อ ๆ ไปหาที่สุดบ่มิได้นั้น อาศัยแก่จุดต่อ ๆ กันเป็นปัจจัยแลมีฉันใด ขันธปัญจกบังเกิดเวียนไปในวัฏฏสงสารนี้ ก็บังเกิดแต่ปัจจัยสืบ ๆ กันมีอุปไมยฉันนั้น

   แลขันธ์ซึ่งบังเกิดแต่ปัจจัย บังเกิดสืบ ๆ เนื่อง ๆ กันไม่รู้สิ้นรู้สุดนั้น จะได้ปะปนระคนกันหามิได้ ตั้งอยู่เป็นแผนก ๆ กัน

   ถ้าจะว่าโดยละเอียดนั้น แต่จิตในวิถีอันเดียวกันก็ระคนกันไม่บังเกิดเป็นแผนก ๆ แยกกันอยู่แต่ละขณะ ๆ เหมือนอย่างปัญจทวาราวัชชนะจิต ที่บังเกิดในต้นแห่งจักขุทวารวิถีนั้น จักขุวิญญาณบังเกิดเป็นลำดับ แต่จักขุวิญญาณนั้นแม้ว่าบังเกิดในลำดับปัญจทวาราวัชชนะจิตก็จริงแล แต่ทว่าจะได้มีธรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ติดเนื่องมาแต่ปัญจทวาราวัชชนะจิตนั้นหามิได้ จักขุวิญญาณนั้นบังเกิดในขณะหนึ่งโดยอันควรแก่ปัจจัยแล วิสัยแห่งตน จะได้แปดปนระคนอยู่ด้วยปัญจทวาราวัชชนะนั้นหามิได้ จึงสัมปฏิจฉันนะแลสันตีรณะ แลโวฏฐวนะ แลชวนะ แลตทาลัมพณะนั้นก็บังเเกิดโดยอันควรแก่ปัจจัยแลวิสัยแห่งตน ๆ จะได้แปดปนระคนกันหามิได้อันนี้แลมีฉันใด ในเมื่อปฏิสนธิจิตบังเกิดแล้ว จิตสันดานซึ่งประพฤติเป็นไปในเบื้องหน้าปฏิสนธินั้น ก็บังเกิดโดยปัจจัยแลวิสัยแห่งตน ๆ จะได้แปดปนระคนกัน มาตรว่าขณะหนึ่งนั้นหามิได้มีอุปไมยดังนั้น

   ในกาลเมื่อจะสิ้นชาติสิ้นภพนั้นจุติบังเกิดแล้ว ปฏิสนธิจิตก็บังเกิดในลำดับแห่งจุติ จุติจิตบังเกิดขึ้นในขณะหนึ่งดับแล้วปฏิสนธิจิตก็บังเกิดในลำดับนั้น จะได้เป็นช่องเป็นว่าง มาตรว่าหน่อยหนึ่งหามิได้ ขณะเมื่อตั้งปฏิสนธินั้นจะได้มีธรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่างมาแต่จุตินั้นหามิได้ ปฏิสนธิจิตนั้นบ่มิได้ระคนด้วยจุติจิตบังเกิดสมควรแก่ปัจจัย คือกุศลากุศลประชุมแต่ง

   เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาเห็นปัจจัยแห่งนาม แลรูปปรากฏด้วยอาการทั้งปวง จำเดิมแต่จุติแลปฏิสนธินั้นหาด้วยประการฉะนี้ ปัญญานั้นจะแกล้วกล้ามีกำลัง วิจิกิจฉา ๑๖ ประการก็จะปราศจากสันดานเป็นอันดีโดยพิเศษ ใช่จะปราศจากได้แต่เพียงโสฬสวิจิกิจฉาเท่านี้หาบ่มิได้ กิริยาที่สงสัย ๘ ประการ มีสงสัยในพระศาสดาจารย์เป็นอาทินั้นก็ปราศจากสันดารจะสละละได้เป็นอันดี แล้วจะข่มขี่สละละทิฏฐิ ๑๖ เสียได้ ด้วยอำนาจปัญญาอันชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ อันมีลักษณะข้ามสนเท่ห์สงสัยได้ในกาลทั้ง ๓ ด้วยกิริยาอันพิจารณาซึ่งปัจจัยแห่งนามแลรูป ด้วยนัยต่าง ๆ อย่างพรรณนัยมาฉะนี้

   ปัญญาอันชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธินี้ บางทีพระพุทธองค์ตรัสเทศนาเรียกว่าธัมมัฏฐิติญาณ บางทีตรัสเทศนาเรียกว่ายถาภูตญาณ บางทีตรัสเทศนาเรียกว่า สัมมาทัสสนญาณ ต่างกันแต่พยัญชนะ อรรถจะได้ต่างกันหาบ่มิได้ อรรถอันเดียวกันพระโยคาพจรผู้ประกอบไปด้วยปัญญากังขาวิตรณวิสุทธิพิจารณาเห็นอย่างพิจารณามาฉะนี้ จะมีคติอันเที่ยง จะได้นามบัญญัติชื่อว่าจุลโสดาในพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้ซึ่งที่พึ่งคือพระอริยมรรคจะได้ซึ่งความชื่นชมคือพระอริยผล เหตุดังนั้น ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารมีประโยชน์ด้วยกังขาวิตรณวิสุทธิญาณพึงมีสติบำเพ็ญเพียรพิจารณา ซึ่งปัจจัยแห่งนามและรูปสิ้นกาลทุกเมื่อ อย่าได้ประมาทลืมเสียซึ่งพิธีอันพิจารณาซึ่งปัจจัยแห่งรูปธรรมนามธรรม โดยนัยที่วิสัชนามาฉะนี้ วิปัสสนาซึ่งปัญญาอันชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธิ โดยสังเขปยุติการเท่าที่ แต่นี้จักแสดงซึ่งมัคคญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

   “ อยํ มคฺโค อยํ น มคฺโคติ เอวํ มคฺคญฺจ อมคฺคญจ ญตฺวา ิตณาณํ ปน มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทฺธิ สมฺปาเทตุกาเมน กลาป สมฺมสฺนสงฺขาตาย นยวิปสฺสนาย โยคา กรณีโย ”  

   “ กสฺมา อารทธวิปสฺสกสฺส โอภาสาทิสมฺภเว มคฺคามคฺค ญาณ ทสฺสกมฺวโต อารทฺธวิปสฺสกสฺส หิ โอภาสาที่สุ สมฺภูเตสุ มคฺคามคฺคญาณํ โหติ”  

  ในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ มีอรรถาธิบายว่าปัญญาที่บังเกิดแล้วตั้งอยู่ในสันดาน รู้แท้เห็นแท้ว่าสิ่งนี้คืออริยมรรค สิ่งนี้มิใช่อริยมรรคนี้แลได้ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

  พระโยาคาพจรผู้กระทำความเพียร ปรารถนาจะยังมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ให้บริบูรณ์ในสันดานนั้น พึงเพียรพยายามบำเพ็ญพระวิปัสสนาปัญญา พิจารณาดูกลาปอย่าได้เกียจคร้านในกานบำเพ็ญพระวิปัสสนา

  เหตุดังฤๅ เหตุว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิวิสุทธินั้นเฉพาะบังเกิดแก่พระโยคาพจรผู้มีวิปัสสนาอันแก่กล้าบริบูรณ์แล้ว แลมีอุปมากิเลสอันใดอันหนึ่งมีโอภาสเป็นต้น เสียดเข้ามาบังเกิดในสันดาน

  แท้จริงกาลเมื่อวิปัสสนาปัญญาแก่กล้าบริบูรณ์แล้ว ถ้าอุปกิเลสมีต้นว่าโอภาสเสียดเข้ามาบังเกิดในสันดานกาลใด มัคคามัคคาญาณ คือองค์ปัญญา อันพิจาณาเห็นแท้รู้แท้ว่าสิ่งนี้เป็นอุปกิเลสมิใช่อริยมรรค สิ่งนี้เป็นอริยมรรค ปัญญารู้ดังนี้ จึงจะบังเกิดมีในสันดานกาลนั้น ถ้าวิปัสสนาปัญญายังมิได้แก่กล้าอุปกิเลสเป็นต้นว่า โอภาสยังมิได้บังเกิดในสันดานตราบใด มัคคามัคคญาณก็ยังมิได้บังเกิดในสันดานตราบนั้น

  เหตุฉะนี้พระโยคาพจรผู้ปรารถนาจะยังมัคคามัคคญาณ ทัสสนวิสุทธิให้บังเกิดบริบูรณ์ในสันดานนั้น พึงให้กระทำเพียรบำเพ็ญพระวิปัสสนาให้กล้าขึ้นก่อน

   “ วิปสฺสนาย จ กลาปสมฺมสฺสนํ อาทิ”   แลกิจที่จะบำเพ็ญวิปัสสนาให้แก่กล้าขึ้นนั้น มีกิริยาที่พิจารณากลาปเบื้องต้น เหตุดังนั้นพิธีที่พิจารณากลาปนั้น พระผู้เป็นเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์ จึงวิสัชนาไว้ในลำดับแห่งกังขาวิตรณวิสุทธิ เพื่อจะให้เห็นใจความว่ากิจที่จะพิจารณากลาปนี้แล เป็นเดิมเหตุที่จะให้วิปัสสนาปัญญาแก่กล้า เป็นปัจจัยที่จะให้มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิบริบูรณ์ในสันดาน

   “ อปิจ”   นัยหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าพุทธโฆษาจารย์ จึงวิสัชนาไว้ว่า  “ ตีรณปริญญฺาย วตฺตมานาย”  เมื่อตีรณปริญญาประพฤติเป็นไปในสันดาน สำเร็จกิจแห่งตีรณปริญญาแล้ว ทีนี้แลมัคคามัคคญาณจึงจะบังเกิดในสันดาน

  แลตีรณปริญญานั้น เทียรย่อมบังเกิดในลำดับแห่งญาตปริญญา ๆ บังเกิดแล้ว ตีรณปริญญาจึงบังเกิดในสันดาน แลลักษณะปริญญานั้นถ้าจะว่าโดยฝ่ายโลกิยะ จัดประเภทแห่งโลกิยปริญญานั้นเป็น ๓ ประการ คือ ญาตปริญญา ๑ ตีรณปริญญา ๑ ปหานปริญญาเป็น ๓ ปนะการ ดังนี้

  ญาตปริญญานั้น คือ อภิญญาปัญญาอันบังเกิดให้รู้จักสภาวะลักษณะแห่งสังขารธรรมทั้งปวงโดยแท้ เห็นว่ารูปนี้มีกิริยาที่รู้ฉิบหายเป็นสภาวลักษณะ เวทนานี้มีกิริยาที่เสวยอารมณ์เป็นสภาวลักษณะปัญญารู้แท้ในลักษณะเป็นอาทิดังนี้แล ได้ชื่อว่าญาตปริญญา

  แลตีรณปริญญานั้น คือ ปัญญาอันมีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ปัญญานั้นจะยกขึ้นสามัญญลักษณะ พิจารณาเห็นเสมอกันทั่วไปในสังขาร ธรรมทั้งปวง เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ๆ ไม่เที่ยง กอปรด้วยทุกข์ไม่ใช่ตน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกันสิ้นมิได้แปลกมิได้ผิดกัน ปัญญาพิจารณาพระไตรลักษณ์โดยสามัญญลักษณะทั่วไปในสังขารธรรมทั้งปวงดังนี้แลได้ชื่อว่าตีรณปริญญา

  แลปหานปริญญานั้น คือ ปัญญาอันมีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ละเสียซึ่งอนิจจสัญญาด้วยอำนาจพระอนิจจัง ละเสียซึ่งสุขปัญญาด้วยอำนาจพระทุกขัง ละเสียซึ่งอัตตสัญญาด้วยอำนาจพระอนัตตา ถึงละไม่ได้ขาด ละได้เป็นตทังคปหานแลวิกขัมภนปหานแต่เพียงนั้นก็ควรจะเรียกว่าปหานปริญญาได้ แต่จัดเป็นฝ่ายโลกิยะ ยังมิได้ขึ้นถึงภูมิโลกุตตระ

  นักปราชญ์พึงสันนิจฐานว่า ปริญญา ๓ ประการ คือญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญานี้ ถ้าบังเกิดพร้อมด้วยมรรคจิตผลก็ได้ชื่อว่าโลกุตตรปริญญา ถ้าบังเกิดพร้อมด้วยโลกิยจิต ก็เรียกว่าโลกิยปริญญา

  แลมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิจะบังเกิดนั้น ก็บังเกิดในลำดับแห่งตีรณปริญญาอันเป็นโลกิยะ แลโลกิยปริญญา ๗ ประการนี้จะได้บังเกิดในภูมิอันอื่นหามิได้ บังเกิดในภูมิแห่งวิปัสสนานั้นเอง

   “สงฺขารปริจจฺฉทโต ปฏฺาย ”   จำเดิมแต่กำหนดกฏหมายสังขารธรรมทั้งปวงไป ตราบเท่าถึงที่พิจารณาปัจจัยแห่งนามแลรูปนั้นจัดเป็นภูมิแห่งปัญญา เป็นที่เกิดแห่งญาตปริญญา

   “ กลาปสมฺมสฺสนโต ปฏฺาย”  จำเดิมแต่พิจราณากลาปไปตราบเท่าสำเร็จอุทยัพพยญาณนั้น จัดเป็นภูมิแห่งตีรณปริญญาเป็นที่เกิดแห่งตรณปริญญา

  จำเดิมแต่ได้สำเร็จภังคานุปัสสนาญาณไป ตราบเท่าถึงที่สุดเบื้องบนคือยอดวิปัสสนานั้น จัดเป็นภูมิแห่งปหานปริญญา เป็นที่เกิดแห่งปหานปริญญา

   “ปจฺจตฺตลกฺขณปฏิเวธสฺเสว อาธิปจฺจํ ”  นักปราชญ์พึงรู้ว่าปัญญาที่เกิดในภูมิแห่งญาตปริญญานั้น เป็นใหญ่ให้ตรัสรู้สภาวะลักษณะอันแท้แห่งสังขารธรรมทั้งปวง

  แลปัญญาที่เกิดภูมิตีรณปริญญานั้น เป็นใหญ่ให้รู้ซึ่งสามัญลักษณะคือให้รู้แห่งสังขารธรรมทั้งปวงนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกันสิ้นจะได้แปลกกันหามิได้

  แลปัญญาที่บังเกิดในภูมิแห่งปหานปริญญานั้น เป็นใหญ่ในกิจอันสละเสียซึ่งอนิจจสัญญาเป็นต้นเป็นเดิม

  แท้จริงจำเดิมแต่วิปัสสนาแก่กล้าขึ้น ย่างเข้าภูมิแห่งปหานปริญญาแล้ว

   “ อนิจฺจโต สฺสนฺโต”  เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาพระอนิจจังจำเริญอนิจจานุวิปัสสนา ก็อาจสละละเสียซึ่งอนิจจสัญญาลักษณะที่สำคัญว่าเที่ยงนั้น อาจบำบัดให้ปราศจากขันธสันดานแห่งตนได้

   “ทุกฺขโต ปสฺสนฺโต ”  ถ้าพระโยคาพจรนั้นพิจารณา ทุกขังเจริญทุกขานุปัสสนา ก็อาจจะสละละเสียซึ่งสุขสัญญลักษณะที่สำคัญว่าเป็นสุขนั้น อาจบำบัดให้ปราศจากขันธสันดานแห่งตนได้

   “ อนตฺตโต ปสฺสนฺโต”  ถ้าพระโยคาพจรนั้นพิจารณาพระอนัตตาเจริญอนัตตานุปัสสนา ก็อาจจะสละละเสียซึ่งอัตตสัญญาลักษณะที่สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นของแห่งตน ก็อาจบำบัดให้ปราศจากขันธสันดานแห่งตนได้

  ขึ้นชื่อว่าเพียรบำเพ็ญวิปัสสนา วิปัสสนาแก่กล้าย่างเข้าถึงภูมิแห่งปหานปริญญา มาตรแม้ว่ายังไม่ได้สำเร็จพระอริยมรรคก็อาจสละละวิปลาศเป็นต้นคือ นิจจสัญญา สุขสัญญา อัตตสัญญาได้ เป็นตทังคปหาน แลวิกขัมภนปหาน

  พระโยคาพจรกุลบุตร อันสถิตอยู่ในภูมิแห่งปหานปริญญานั้น ถ้าจะเจริญนิพพิทานุปัสสนาก็อาจสละละเสียซึ่งตัญหาอันกอปรด้วยปีติให้ปราศจากขันธสันดานได้

   “ วิรชฺชนฺโต”  ถ้าเจริญวิราคานุปัสสนาได้สำเร็จพระอริยมรรค ก็อาจสละละซึ่งราคะให้ปราศจากขันธสันดานได้ เป็นสมุจเฉทโดยอันควรแก่กล้ากำลัง แห่งพระอริยมรรคที่ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

  ซึ่งอยู่ในภูมิแห่งปหานปริญญานั้น ถ้าเจริญนิโรธานุปัสสนาหน่วงเอาพระนฤพานเป็นอารมณ์ไว้แล้ว ก็อาจละตัณหาอันก่อนให้เกิดเสียได้เป็นสมุจเฉทปหาน ถ้าเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนาก็อาจสละละเสียซึ่งทิฏฐิขาด ปราศจากตัณหาอุปาทานโดยอันควรแก่กำลังแห่งพระโลกุตตรธรรมที่จะขจัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินั้นบังเกิดในลำดับแห่งโลกิยตีรณปริญญานั้น ๆ บังเกิดในลำดับแห่งญาตปริญญานั้น ๆ บังเกิดด้วยอำนาจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

  ตกว่าวิปัสสนานี้ เป็นมูลเหตุที่จะให้ได้สำเร็จมัคคามัคคญาณเหตุนี้ พระโยคาพจรผู้ปรารถนาจะยังมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิให้บริบูรณ์ในสันดานนั้น พึงกระทำเพียร เจริญวิปัสสนา พิจารณากลาปนั้นเป็นต้นเป็นเดิมก่อน

   “ กลํ”  ข้อซึ่งว่าพิจารณากลาปนั้น จะให้พิจารณาเป็นอย่างไร

  อธิบาย ปัญญาอันพิจารณาย่อสังขารธรรม อันเป็นภายในแลภายนอกหยาบละเอียดไกลแลใกล้เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันรวมเข้าด้วยกันแล้วแลกำหนดโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตนเหมือนกันอย่างนี้แล ได้ชื่อว่าพิจารณากลาปจัดเป็นปฐมวิปัสสนา ๆ เบื้องต้นนั้นมีนามปรากฏชื่อว่าสัมมัสสนญาณ

  ประเภทแห่งสัมมัสสนญาณนั้น พระผู้เป็นเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์จำแนกออกโดยนัยพระบาลี ในคัมภีร์พระปฏิสัมภิทามรรคว่า  “ อตีตา นาคตปจฺจุปปฺนฺนานํ ธมฺมานํ สงฺขิปิตฺวา ววตฺถาเน ปญฺญาสมฺมสฺสนญาณํ ”  

   อธิบายว่าวิปัสสนาปัญญาที่ย่อสังขารธรรมทั้งปวง อันเป็นอดีตอนาคตปัจจุบันเข้าด้วยกันแล้ว แลพิจารณาโดยพระไตรลักษณ์นั้นแล ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณ

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า วิปัสสนาปัญญาอันย่อรูปขันธ์ในอดีตอนาคตปัจจุบันเข้าด้วยกัน ย่อรูปภายในภายนอก รูปหยาบ รูปละเอียด รูปอยู่ไกล รูปอยู่ใกล้ เข้าด้วยกันแล้วแลกำหนดโดยอนิจจังนั้น จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ย่อรูปขันธ์เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยทุกขังนั้น จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ย่อรูปขันธ์เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยอนัตตานั้นจัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่ย่อเวทนาขันธ์ ทั้งอดีตอนาคตปัจจุบัน ภายในภายนอกอย่างหยาบอย่างละเอียด อย่างดีอย่างชั่ว ไกลแลใกล้เข้าด้วยกันแล้วแลกำหนดโดยอนิจจัง เห็นว่าไม่เที่ยงไม่แท้เหมือนกันนั้น ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่ย่อเวทนาขันธ์เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยทุกขังนั้นก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่ย่อเวทนาขันธ์เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยอนัตตาเห็นว่าไม่ใช่อาตมาใช่ของอาตมานั้น ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่พิจารณาย่อสัญญาขันธ์ ในอดีตอนาคตปัจจุบันเข้าด้วยกันย่อมสัญญาขันธ์อย่างหยาบอย่างละเอียด อย่างดี อย่างชั่ว ภายนอก ภายใน ไกลแลใกล้ เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยอนิจจังนั้นจัดเป็นสัมมัสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่ย่อสัญญาขันธ์เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยทุกขังเหมือนกันนั้น ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่ย่อสัญญาขันธ์เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดอนัตตานั้นก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาที่ย่อสัญญาขันธ์ที่เป็นอดีตเป็นต้น พิจารณาโดยอนิจจังเป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑ พิจารณาโดยทุกขัง เป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑ พิจารณาโดยอนัตตา เป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑

   ปัญญาต่อวิญญาณขันธ์ที่เป็นอดีตเป็นต้น พิจารณาโดยอนิจจังเป็นพิจารณาโดยอนัตตา เป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑ สิริรวมสัมมัสสนญาณ สัมมัสสนญาณประการ ๑ พิจารณาโดยทุกขัง เป็นสัมมัสสนญาณประการ ๑ ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เมื่อสัมมัสสนญาณ ๑๕ ประการด้วยกัน

   ใช่แต่เท่านั้น ปัญญาที่พิจารณาทวารทั้ง ๖ คือจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวารก่อทวารทั้ง ๖ ในอดีตแลอนาคตแลปัจจุบันเข้าด้วยกัน ย่ออทวารทั้ง ๖ อันเป็นภายในแลภายนอกอยู่ไกลอยู่ใกล้ อย่างหยาบ อย่างละเอีอด อย่างดี อย่างชั่วเข้าด้วยกันแล้วแลกำหนดโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเห็นว่าทวารทั้ง ๖ ไม่มั่นไม่คงไม่ยั่งไม่ยืนไม่เที่ยงไม่แท้ มีแต่ทุกข์เป็นเบื้องหน้าใช่ของอาตมาใช่ของอาตมาเหมือนกัน จะได้แปลกได้ผิดกันหาบ่มิได้ ปัญญาที่พิจารณาทวารทั้ง ๖ โดยพระไตรลักษณ์ดังนี้ ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณแต่ละอัน ๆ สิริเข้าด้วยกันเป็นสัมมัสสนญาณในทวารทั้ง ๖ ได้ ๑๘ ประการด้วยกัน

   ใช่แต่เท่านั้น ปัญญาที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์ ย่ออารมณ์ทั้ง ๖ อันเป็นภายนอกแลภายใน อย่างหยาบ อย่างละเอียด อย่างชั่วอย่างดี อยู่ไกลอยู่ใกล้เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นว่าไม่เที่ยงไม่จริงกอปรด้วยทุกข์ด้วยภัย ใช่อาตมา ใช่ของอาตมาเหมือนกันสิ้น ปัญญาที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๖ โดยพระไตรลักษณ์ดังนี้ ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณแต่ละอัน ๆ ตกว่าอรมณ์แต่ละสิ่ง ๆ นั้นกอปรด้วยสัมมัสสนญาณได้ละสิ่ง ๆ สิริรวมเข้าด้วยกันเป็นสัมมัสสนญาณในอารมณ์ ๖ ได้ ๑๘ ประการด้วยกัน

   แต่ปัญญาที่พิจารณาวิญญาณทั้ง ๖ คือ จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ย่อวิญญาณทั้ง ๖ อันเป็นภายนอกภายใน อย่างหยาบอย่างละเอียดอย่างชั่วอย่างดี ไกลแลใกล้เข้าด้วยกันแล้ว แลกำหนดโดยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณแต่ละอัน ๆ เหมือนกันกับนัยหนหลัง สิริเป็นสัมมัสสนญาณในวิญญาณทั้ง ๖ ได้ ๑๘ ประการด้วยกัน

   ใช่แต่เท่านั้น ปัญญาอันพิจาณาสัมผัสทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสเป็นอาทิมีมโนสัมผัสเป็นปริโยสาน

   พิจารณาเวทนาทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น มีมโนสัมผัสสชาเวทนาเป็นปริโยสาน

   พิจารณาสัญญาทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสสชาสัญญาเป็นต้น มีมโนสัมผัสสชาสัญญาเป็นปริโยสาน

   พิจารณาเจตนาทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเจตนาเป็นต้น มีมโนสัมผัสสชาเจตนาเป็นปริโยสาน

   พิจารณาตัณหาทั้ง ๖ มีรูปตัณหาเป็นต้น มีธัมมตัณหาเป็นปริโยสาน

   พิจารณาวิตกทั้ง ๖ มีจักขุทวาริกวิตกเป็นต้น มีมโนทวาริกวิตกเป็นปริโยสาน

   พิจารณาวิจารทั้ง ๖ มีจักขุทวาริกวิจารเป็นต้น มีมโนทวาริกวิจารเป็นปริโยสาน

   พิจารณาธาตุทั้ง ๖ มีจักขุธาตุเป็นต้น มีมโนธาตุเป็นปริโยสาน

   พิจารณากสิณทั้ง ๑๐ มีปวีกสินเป็นต้น มีอาโปกสินเป็นปริโยสาน

   พิจารณาอาการ ๓๒ มีเกศาโลมาเป็นต้น มีมัคถลุงคังเป็นปริโยสาน

   พิจารณาอายตนะ ๑๒ มีจักขวายนะเป็นต้น มีธัมมายตนะเป็นปริโยสาน

   พิจารณาธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น มีมโนวิญญาณธาตุเป็นปริโยสาน

   พิจารณาอินทรีย์ ๒๒ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น มีอัญญาตาวินทรีย์เป็นปริโยสาน

   พิจารณาธาตุทั้ง ๓ คือกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ

   พิจารณาภพทั้ง ๙ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ

   พิจารณารูปัชฌานทั้ง ๔ คือปฐมมัชฌาน ทุติยัชฌาน ตติยัชฌาน จตุตถัชฌาน

   พิจารณาอัปปมัญญาทั้ง ๔ คือเมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร อุเบกขาพรหมวิหาร

   พิจารณาอรูปัชฌานทั้ง ๔ มีอากาสานัญจายตนัชฌานเป็นต้น มีเนวสัญญานาสัญญายตนัชฌานเป็นปริโยสาน

   พิจารณาองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้ง ๑๒ ประการ มีอวิชชาเป็นต้น มีชราแลมรณะเป็นปริโยสาน

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com