พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๐

   ย่อธรรมทั้ง ๑๙ กองเข้าด้วยกันเป็นกอง ๆ รวมอดีตอนาคตแลปัจจุบันเข้าด้วยกัน รวมธรรมกายภายนอกภายใน อย่างหยาบอย่างละเอียด อย่างชั่วอย่างดี ไกลแลใกล้เข้าด้วยกันเป็นกอง ๆ แล้วก็กำหนดธรรมทั้ง ๑๙ กองนั้นโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิธีที่ย่อมธรรม ๑๙ กองเข้าด้วยกัน พิจารณาโดยนัยที่พิจารณาเบญจขันธ์เป็นอาทินั้น จัดเป็นสัมมัสสนญานแต่ละอัน ๆ เหมือนกันกับที่สำแดงแล้วในเบญขันธ์เป็นอาทินั้น

  เหตุฉะนี้ในสัมผัสสราสีนั้น จึงนับสัมมัสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  ในฉเวทนาราสีนั้น จึงนับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  ในฉสัญญาราสี แลฉเจตนาราสี ฉตัณหาราสี ฉวิตกราสี ฉวิจารราสี ฉธาตุราสี ก็นับสัมมัสสนญาณได้กองละ ๑๘ ประการ ๆ เหมือนกัน

  ในจตุกกัชฌานราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๒ ประการ

  ในจตุกกัชฌานราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๒ ประการ

  ในจตุกกอัปปมัญญาราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๒ ประการ

   ในทสกกสิณราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๓๐ ประการ

  ในทวัตติงสโกฏฐาสราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๙๖ ประการ

  ในทวาทสายตนราสีนั้น นัยสัมมัสสนญาณได้ ๓๖ ประการ

  ในอัฏฐารสธาตุราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๕๔ ประการ

  ในพาวีสตีนทรีย์ราสีนั้น นับสัมมัสสญาณได้ ๖๖ ประการ

  ในตรีธาตุราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๙ ประการ

  ในนวภวนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๒๗ ประการ

  ในจกุกสมาบัติรานั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๒ ประการ

  ในทวาทสปฏิจจสมุปปาทังคราสีนั้น นับสัมมัสสนญาณเข้าด้วยกันจับเดิมแต่พิจารณาเบญจขันธ์นั้นมา จึงเป็นสัมมัสสนญาณ ๖๐๓ ประการด้วยกัน

  สัมมัสสนญาณแต่ละอัน ๆ นั้น มีโอกาสปริจเฉท ๑๑ ประการสิ้นด้วยกัน

  โอกาสปริจเฉท ๑๑ ประการนั้นสำเร็จด้วยติกกะอันหนึ่ง ทุกกะ ๔ ทุกกะ

  ติกกะอันหนึ่งนั้น ได้แก่อดีตติกกะ อันสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคิณีว่า

   “อตีตา ธฺมมา อนาคตา ธฺมมา ปจฺจุปฺปนฺนา ธฺมมา ”  

  แลทุกกะ ๔ ทุกกะนั้น ได้แก่อัชฌัตถทุกกะประการ ๑ โอฬาริกทุกกะประการ ๑ หีนทุกกะประการ ๑ ทูเรทุกกะประการ ๑ ที่พระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคิณี

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานโดยกระทู้ความว่า สัมมัสสนญาณแห่งพระโยคาพจรกุลบุตรอันพิจราณาสังขารธรรมนั้น นับเข้าในติกกะ ๑ ทุกกะ ๔ คือพระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาสังขารธรรม อันเป็นอดีตแลอนาคตแลปัจจุบันนั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสนญาณกอปรไปในติกกะอันหนึ่งคืออดีตติกกะ

  กาลเมื่อพิจาณาสังขารธรรมอันเป็นภายนอกแลภายใน ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณ กอปรไปในอัชฌัตมทุกกะ

  กาลเมื่อพิจารณาสังขารธรรมอย่างหยาบอย่างละเอียดนั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณ กอปรไปในพาหิกทุกกะ

  กาลเมื่อพิจารณาสังขารธรรมอย่างชั่วอย่างดีนั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณ กอปรไปในหีนทุกกะ

  กาลเมื่อพิจารณาสังขารธรรม อยู่ไกลอยู่ใกล้นั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณ กอปรไปในทูเรทุกกะ

  ในทุกกะ ๔ ทุกกะนี้ แยกออกเป็นบทได้ ๘ บท ติกกะอันหนึ่งนั้น แยกออกเป็นบทได้ ๓ บท ๘ กับ ๓ เข้ากันเป็น ๑๑ เรียกว่าโอกาสปริเฉท ๑๑ ยุติในสัมมัสสนญาณแต่ละอัน ๆ ก็มีด้วยประการฉะนี้

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า กิจที่พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาสังขารมีต้นว่าเบญจขันธ์ อันเป็นส่วนอดีตกาลล่วงแล้วแต่หลังนั้นจัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรม อันเป็นอนาคตข้างหน้านั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรม อันเป็นส่วนในปัจจุบันนั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรม อันเป็นส่วนภายใน คือพิจารณาในร่างกายแห่งตนนั้นเอง จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรม อันเป็นส่วนภายนอก คือพิจารณาร่างกายแห่งบุคคลนั้น จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรม ที่หยาบที่กระด้างนั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจราณาสังขารที่สุขุมภาพละเอียด ๆ นั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารที่ลามกนั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารที่ดีที่ประณีตบรรจงนั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรมแต่บรรดาที่อยู่ไกล ๆ นั้น ก็จัดเป็นโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  พิจารณาสังขารธรรมมีต้นว่า เบญจขันธ์แต่บรรดาที่อยู่ใกล้ ๆ นั้นก็จัดเป็นปริจเฉทประการ ๑

  สิริเข้าด้วยกันเป็นปริจเฉท ๑๑ ประการ ยุติในสัมมัสสนญาณแต่ละอัน ๆ

  ตกว่าสัมมัสสนญาณทั้ง ๖ ร้อย ๓ ประการนั้น แต่ล้วนมีโอกาสปริจเฉท ๑๑ ประการเหมือนกันสิ้น

  ถ้าจะนับ สัมมัสสนญาณโดยประเภทแห่งโอกาสปริจเฉทนั้นเป็นสัมมัสสนญาณถึง ๖๖๓๓ ประการด้วยกัน

  จะยกขึ้นวิสัชนาบัดนี้ ในสัมมัสสนญาณเบื้องต้น ก็ยุติในเบญจขันธ์ ๕ ประการนั้นก่อน ถ้าจะว่าแต่สัมมัสสนญาณ ที่ยุติในเบญจขันธ์ ๕ ประการนั้น สำแดงโดยย่อนับสัมมัสสนญาณได้ ๑๕ ประการ

  ถ้าจะสำแดงโดยประเภทแห่งโอกาสปริจเฉทนั้น นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๖๕ ประการ

  ถ้าจะว่าแต่รูปขันธ์สิ่งเดียวนั้น สำแดงโดยย่อนับสัมมัสสนญาณได้ ๓ ประการ คือสัมมัสสนญาณ อันพิจารณารูปโดยอนิจจังนั้นประการ ๑ พิจารณารูปโดยทุกขังนั้นประการ ๑ พิจารณารูปโดยอนัตตานั้นประการ ๑ สิริสัมมัสสนญาณเป็น ๓ ประการดังนี้

  แต่สัมมัสสนญาณที่พิจารณารูปโดยอนิจจังประการ ๑ นั้น เมื่อสำแดงโดยประเภทแห่งโอกาสปริจเฉทนั้น แตกออกไปเป็น ๑๓ ประการ   “วุตฺตํ เหตํ ”  จริงอยู่ พระผู้เป็นเจ้าธรรมเสนาบดีสำแดงพระธรรมเทศนาไว้ในคัมภีร์พระปฏิสัมภิทามรรคว่า สัมมัสสนญาณเป็นปฐมนั้น พิจารณารูปในอดีตโดยอนิจจังว่า  “ยํ อดีตํ รูปํ ตํ ยสฺมา อตีเตเยว ขีณํ นยิมํ ภวํ สมฺปตฺตนฺติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา ”  รูปอันใดมีอดีตบังเกิดขึ้นในอดีตภพหลังตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ ๘ ชาติ ๙ ชาติ ๑๐ ชาติร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติแสนชาติตราบเท่าถึงอเนกอนันตชาติ รูปทั้งปวงนั้นเทียรย่อมสิ้นไปฉิบหายไปในอดีตชาติสิ้นไปฉิบหายไปในอดีตชาติ สพสิ้นทั้งนั้น ที่จะยืนยงคงอยู่สืบมาต่อมา ตราบเท่าถึงปัจจุบันชาติชาติปัจจุบันภพนี้หาบ่มิได้ เกิดมาชาติใดฉิบหายไปชาตินั้น มีในชาติใดสิ้นไปในชาตินั้น ยืนยงคงอยู่ไม่มาก แต่สักสองชาติก็คงอยู่มิได้ เกิดชาติใดตายชาตินั้น เกิดภพใดตายภพนั้น เหตุฉะนี้ แต่บรรดารูปที่มีในอดีตนั้น เทียรย่อมเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่แท้พอหมดพอสิ้น พระพุทธองค์ตรัสเทศนาว่ารูปในอดีตเป็นอนิจจัง ด้วยอนาถว่าฉิบหายไปสิ้นไปนี้ สมควรหนักหนา

  อนึ่งนักปราชญ์บางแห่งได้ย่อความในสัมมัสสนญาณ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ให้สั้นเข้าไปอีกอย่างหนึ่ง มีนัยดังจะแสดงต่อไปนี้

  ใช่แต่เท่านั้น ปัญญาที่พิจารณาทวารทั้ง ๖ คือจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวาร ที่เป็นอดีตเป็นต้น กำหนดโดยอนิจจัง ทุกขังอนัตตานั้น ๆ ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณแต่ละอย่าง ๆ สิริรวมเข้าด้วยกันเป็นญาณในทวาร ๖ ได้ ๑๘ ประการ

  ใช่แต่เท่านั้น ปัญญาที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๖ คือรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์ ที่เป็นอดีตเป็นต้น กำหนดโดยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณละอย่าง ๆ รวมสัมมัสสนญาณ ในอารมณ์ทั้ง ๖ เป็นญาณ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาที่พิจารณาวิญญาณทั้ง ๖ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ทั้งอดีตอนาคต ปัจจุบัน จนถึงไกลใกล้ กำหนดโดยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๆ ก็จัดเป็นสัมมัสนญาณละอย่าง ๆ รวมสัมมัสสนญาณในวิญญาณ ๖ เป็น ๑๘ ประการ

  แลปัญญาที่พิจารณาสัมผัส ๑ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ที่เป็นอดีตเป็นต้น กำหนดโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ก็นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาที่พิจารณาเวทนาทั้ง ๖ คือจักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา ที่เป็นอดีตเป็นต้นกำหนดโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๆ ก็นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาพิจารณาสัญญา ๖ คือจักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา มโนสัมผัสสชาสัญญาที่เป็นอดีตเป็นต้นนั้น กำหนดโดยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๆ ก็นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาพิจารณาโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเจตนา ๖ คือ จักขุสัมผัสสชาเจตนา โสตสัมผัสสชาเจตนา ฆานสัมผัสสชาเจตนา ชิวหาสัมผัสสชาเจตนา กายสัมผัสสชาเจตนา มโนสัมผัสสชาเจตนา ที่เป็นอดีตเป็นต้นนั้น ๆ ก็นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาพิจารณาโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในตัณหา ๖ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ที่เป็นอดีตเป็นต้น ก็นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาพิจารณาโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในวิตก ๖ คือ จักขุทวาริกวิตก โสตทวาริกวิตก ฆานทวาริกวิตก ชิวหาทวาริกวิตก กายทวาริกวิตก มโนทวาริกวิตก ที่เป็นอดีตเป็นต้น ก็นับสัมมัสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลปัญญาพิจารณาโดย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในวิจาร ๖ คือ จักจุทวาริกวิจาร โสตทวาริกวิจาร ฆานทวาริกวิจาร ชิวหาทวาริกวิจาร กายทวาริกวิจาร มโนทวาริกวิจาร ที่เป็นอดีตเป็นต้น ก็นับสัมมัสสนญาณได้ ๑๘ ประการ

  แลพิจารณาในธาตุ ๖ มีจักขุธาตุเป็นต้นก็ได้ญาณ ๑๘ ประการ

  แลพิจารณาในกสิณ ๑๐ มีปฐวีกสิณเป็นต้น ก็ได้ญาณ ๑๐ ปารการ

  แลพิจารณาในอาการ ๓๒ มีเกศาเป็นต้น ก็นับญาณได้ ๙๖ ประการ

  แลพิจารณาอายตนะ ๓๒ มีจักขวายตนะเป็นต้น ก็นับญาณได้ ๒๖ ประการ

  แลพิจารณาธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น ก็นับญาณได้ ๕๔ ประการ

   แลพิจารณาอินทรีย์ ๒๒ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น มีอัญญาตวินทรีย์เป็นที่สุด ก็นับญาณได้ ๖๖ ประการ

  แลพิจารณาในธาตุ ๓ คือ กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ ก็นับญาณได้ ๙ ประการ

  แลพิจารณาภพ ๙ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญโวการภพ ก็นับญาณได้ ๒๒ ประการ

  แลพิจารณารูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็ได้ฌาน ๑๒ ประการ

  แลพิจารณาพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ได้ฌาน ๑๒ ประการ

  แลพิจารณาอรูปฌาน ๔ มีอากาสานัญจายตนฌานเป็นต้น มีเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นที่สุด ก็ได้ญาณ ๑๒ ประการ

  แลพิจารณาองค์แห่งปฏิจจสมุปปาบาทธรรม ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้น มีชรามรณะเป็นที่สุด ก็ได้ญาณ ๓๖ ประการ

  นักปราชญ์พึงสัมมัสสนญาณในเบญจขันธ์ ๑๔ ในฉทวาร ๑๘ ใน ฉวิญญาณ ๑๘ ในฉสัมผัส ๑๘ ในฉเวทนา ๑๘ ในฉสัญญา ๑๘ ในฉเจตนา ๑๘ ในฉตัณหา ๑๘ ในฉตัณหา ๑๘ ในฉวิตก ๑๘ ในฉวิจาร ๑๘ ในฉธาตุ ๑๘ ในทสกวิณ ๓๐ ในทวีตติงสาการ ๙๖ ในทวาทสอายตน ๓๒ ในอัฏฐารสธาตุ ๕๔ ในพาวีสติอินทรีย์ ๖๖ ในตุรีธาตุ ๙ ในนวภพ ๒๗ ในจตุรูปฌาน ๑๒ ในจตุพรหมวิหาร ๑๒ ในจตุอรูปฌาน ๑๒ ในทวาทสององค์แห่งปฏิจจสมุปปบาทธรรม ๒๖ ประการ รวมธรรมทั้ง ๒๓ กองทั้งสิ้น เป็นสัมมัสนญาณ ๖๐๓ ประการด้วยกันฉะนี้

  แลสัมมัสสนญาณแต่ละอย่าง ๆ นั้นมีโอกาสปริจเฉท ๑๑ ประการสิ้นด้วยกัน

  โอกาสปริจเฉท ๑๑ ประการนั้น สำเร็จด้วยติกกะ ๑ ทุกกะ ๔ ติกกะ ๒ นั้นได้แก่อดีตติกกะ ที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสเทศนาในพระอภิธัมมัตถสังคิณีว่า   “ อตีตา ธมฺมา อนาคตา ธมฺมา ปจฺจุปฺปนฺนา ธมฺมา”

  แลทุกกะ ๔ นั้นได้แก่อัชฌัตตทุกกะ ๑ โอฬริกทุกกะ ๑ หีนทุกกะ ๑ ทูเรทุกกะ ๑ ตามที่พระพุทธองค์เจ้าตรัสไว้ในพระอภิธัมมสังคิณีว่า ธรรมที่เป็นภายนอกแลภายใน ธรรมที่หยาบแลละเอียด ธรรมที่เลวทรามแลประณีตดี ธรรมที่มีไกลแลใกล้ดังนี้

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานโดยกระทู้ความว่า สัมมัสสนญาณแห่งพระโยคาพจรอันพิจารณาสังขารธรรมนั้น นับเข้าในติกกะ ๑ ทุกกะ ๔ เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาสังขารธรรมเป็นอดีต แลอนาคตปัจจุบันนั้นได้ชื่อว่าสัมมัสสญาณประกอบในติกกะ ๑ คืออดีตติกกะ

  เมื่อพิจารณาสังขารธรรมอันเป็นภายในแลภายนอกนั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณประกอบในอัชฌัตตทุกกะ

  เมื่อพิจารณาสังขารธรรมอย่างหยาบอย่างละเอียดนั้น ได้ชื่อว่าประกอบในโอฬาริกทุกกะ

  เมื่อพิจารณาสังขารธรรมอย่างชั่วอย่างดีนั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณประกอบในหีนทุกกะ

  เมื่อพิจารณาสังขารธรรมอยู่ใกล้แลไกลนั้น ได้ชื่อว่าสัมมัสสนญาณประกอบในทูเรทุกกะ

  ในทุกกะ ๔ นี้แยกเป็นบทได้ ๘ บท ในติกกะ ๑ นั้นแยกเป็นบทได้ ๓ บท ๘ กับ รวมกันเป็น ๑๑ รวมกันเป็น ๑๑ เรียกว่าโอกาสปริจเฉท ๑๑ ยุติในสัมมัสสนญาณ ๆ ก็มีด้วยประการฉะนี้

  ในสัมมัสสนญาณ ๖๐๓ ประการนั้น อันหนึ่ง ๆ แต่ล้วนมีโอกาสปริจเฉท ๑๑ ประการ ๆ เหมือนกันสิ้น

  ถ้าจะนับสัมมัสสนญาณโดยประเภทโอกาสปริจเฉทนั้นเป็นถึง ๖๖๓๓ ประการด้วยกัน “ เพราะเอา ๑๑ คูณ ๖๐๓”

  จะยกขึ้นวิสัชนาบัดนี้ ในสัมมัสสนญาณเบื้องต้นที่ยุติในเบญจขันธ์ ๕ ประการนั้นก่อน   “วุตฺตํ เหตํ ”   จริงอยู่พระผู้เป็นเจ้า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร สำแดงธรรมเทศนาไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า สัมมัสสนญาณเป็นปฐมนั้น พิจารณารูปในอดีตโดยอนิจจังว่า  “ยํ ดตีตํ รูปํ ตํ ยสฺมา อตีเตเยว ขีณํ ”   เป็นต้นว่าความว่ารูปอันใดมีในอดีต บังเกิดขึ้นในอดีตภพชาติหลัง ตั้งแต่ชาติหนึ่งถืออเนกอนันตชาติ รูปทั้งปวงนั้นย่อมสิ้นไปฉิบหายใปในอดีตชาติอดีตภพสิ้นทั้งนั้น ที่จะยืนยงคงสืบต่อมาถึงปัตยุบันชาติ ปัตยุบันภพนี้หามิได้ เกิดมาชาติใดฉิบหายไปในชาตินั้น มีในชาติใดสิ้นไปในชาตินั้น จะยืนยงคงอยู่ไม่มากแต่สักสองชาติก็คงอยู่มิได้ เกิดชาติใดตายชาตินั้น เกิดภพใดตายภพนั้น เหตุฉะนี้แต่บรรดารูปที่มีในอดีตภพนั้นย่อมเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่แท้หมดทั้งสิ้น พระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ว่ารูปในอดีตเป็นอนิจจังด้วยอรรถาว่าฉิบหายไปสิ้นไปนี้ สมควรนักหนา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ปัญญาที่พิจารณารูปในอดีตโดยอนิจจังดังนี้จัดเป็นสัมมัสสนญาณ อันจำแนกโดยประเภทแห่งโอกาสปริจเฉทประการ ๑

  แลสัมมัสสนญาณเป็นคำรบ ๒ พิจารณารูปในอนาคต โดยอนิจจังว่า   “ยํ อนาคตํ อนนฺตรภเว นิพฺพตฺตลฺสติ ตํปิ ตตฺเถว ขียิสฺสติ น ตโต ปรํ ภาวํ คมิสฺสตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา ”  รูปอันใดเป็นอนาคตจะบังเกิดในภพอันเป็นลำดับนั้น เมื่อบังเกิดแล้วรูปนั้นก็จะสิ้นไปฉิบหายไป ในภพอันเป็นลำดับนั้นเป็นแท้ ที่จะยืนยงคงอยู่ต่อสืบไปในภพเบื้องหน้ากว่านั้นหามิได้ มีสภาวะเป็นอนิจจังด้วยอรรถว่าสิ้นไปฉิบหายไปไม่ยั่งไม่ยืนไม่มั่นไม่คง แต่บรรดารูปทั้งปวงที่จะเกิดในอนาคตนั้น สุดแท้แต่เกิดมาในภพใดชาติใด ก็จะฉิบหายไปสิ้นในภพนั้นในชาตินั้น จะยืนยงคงอยู่ได้โดยน้อยแต่สักสองภพก็คงอยู่บ่มิได้ เกิดชาติใดก็จะตายชาตินั้นเกิดภพใดก็จะตายภพนั้น ปัญญาอันพิจารณารูปในอนาคตเบื้องหน้าโดยอนิจจังดังพรรณนามาฉะนี้แลจัดเป็นสัมมัสนญาณคำรบ ๒

  แลสัมมัสนญาณคำรบ ๓ นั้น พิจารณารูปในปัจจุบันโดยอนิจจังว่า  “ยํ ปจฺจุปฺปนฺนํ รูปนฺติปิ อิเธว ขียติ น อิโต คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา ”  รูปอันใดเป็นปัตยุบันนั้น เมื่อบังเกิดอยู่ในปัจจุบันภพนี้รูปนั้นเทียรย่อมฉิบหายไปสิ้นไปในปัจจุบันภพนี้เป็นแท้ จะยืนยงคงอยู่สืบต่อไปในเบื้องหน้าแต่ปัจจุบันนี้หาบ่มิได้ เกิดชาตินี้ก็ฉิบหายบรรลัยไปในชาตินี้ เอาเที่ยงเอาจริงบ่มิได้ มีสภาวะเป็นอนิจจัง ด้วยอรรถว่าฉิบหายไปสิ้นไปไม่มั่นไม่คง ปัญญาพิจารณารูปในปัจจุบันโดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณที่ ๓

  สัมมัสสนญาณที่ ๔ นั้น พิจารณารูปภายในโดยอนิจจังว่า  “ยํ อชฺฌตฺตํ ตํปิ อชฺฌตฺตเมว ขียติ น พหิทุธภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา ”  รูปอันใดเป็นภายในบังเกิดขึ้นภายใน เมื่อบังเกิดแล้ว รูปนั้นก็จะสิ้นไปฉิบหายไปในภายใน เมื่อบังเกิดแล้ว รูปนั้นก็จะสิ้นไปฉิบหายไปในภายใน จะได้ยืนยงคงอยู่สืบต่อไปจนถึงเป็นพหิทธารูป เป็นรูปภายนอกนั้นหาบ่มิได้ รูปภายในนั้น เทียรย่อมสิ้นไปในภายในฉิบหายไปในภายในเป็นแท้ เหตุฉะนี้รูปภายในนั้นนักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าเป็นอนิจจัง ด้วยอรรถว่าสิ้นไป ฉิบหายไป ไม่มั่นไม่คง ปัญญาพิจารณารูปภายในโดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสนญาณที่ ๔

  แลสัมมัสสนญาณที่ ๕ นั้น พิจารณารูปภายนอกโดยอนิจจังว่า  “ ยํ พหิทฺธาเยว ตํปิ พหิทฺธาเยว ขียติ น อชฺฌตฺตภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา”  รูปอันใดเป็นภายนอกบังเกิดภายในภายนอก รูปอันนั้นเทียรย่อมสิ้นไปฉิบหายไปในภายนอกนั้นเป็นแท้ จะได้ยั่งยืนอยู่จนตราบเท่าถึงเป็นอัชฌัตตะรูป เป็นรูปภายในนั้นหามิได้ รูปภายนอกนั้นมีแต่จะสิ้นไปภายนอกฉิบหายประลัย ไปในภายนอกเป็นอนิจจังด้วยอรรถว่าสิ้นไปไม่ยั่งไม่ยืนไม่มั่นคง ปัญญาพิจารณารูปภายนอกโดยอนิจจังดังนี้ จัดเป็นสัมมัสสนญาณที่ ๕

  แลสัมมัสสนญาณที่ ๖ นั้น พิจารณารูปอย่างหยาบโดยอนิจจังว่า  “ยํ โอฬาริกํ ตํปิ ตตฺเถว ขียตํ น สุขุมภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา ”   รูปอันใดเป็นรูปอันหยาบ บังเกิดขึ้นเป็นรูปอันหยาบแล้วก็สิ้นไปฉิบหายไปในที่อันบังเกิดนั้นเอง จะได้ยืนยงคงอยู่จนตราบเท่าถึงเป็นสุขุมรูป เป็นรูปอย่างละเอียดนั้นหาบ่มิได้เกิดในที่หยาบก็ฉิบหายไปในที่หยาบ สิ้นไปในที่หยาบ เป็นอนิจจังด้วยอรรถว่าสิ้นไป ไม่มั่นไม่คง ปัญญาพิจารณารูปอย่างหยาบโดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณที่ ๖

  แลสัมมัสสนญาณที่ ๗ นั้น พิจารณารูปอย่างละเอียดโดยอนิจจังว่า  “ ยํ สุขุมํ ตํปิ ตตฺเถว ขียติ น โอฬาริกภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถว วา”   รูปอันใดเป็นรูปอย่างละเอียด บังเกิดเป็นรูปอันละเอียดแล้ว ก็สิ้นไปฉิบหายไปในที่อันบังเกิดนั้นเอง จะได้ยืนยงคงอยู่จนตราบเท่าถึงเป็นโอฬาริกรูป เป็นรูปอย่างหยาบนั้นหาบ่มิได้ เกิดในส่วนอันละเอียด ก็สิ้นไปในส่วนอันละเอียด เป็นอนิจจังไม่ยั่งไม่ยืน ฉิบหายไปสิ้นไป ไม่มั่นไม่คงไม่เที่ยงไม่แท้ ปัญญาพิจารณารูปอย่างละเอียด โดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณคำรบ ๗

  แลสัมมัสสนญาณคำรบ ๘ นั้น พิจารณารูปอย่างชั่วโดยอนิจจังว่า  “ยํ หีนํ ตตฺเถน ขียตํ น ปณีตภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา”  รูปอันใดเป็นรูปอย่างชั่ว บังเกิดขึ้นเป็นรูปอย่างชั่วแล้ว ก็สิ้นไปฉิบหายไปในที่บังเกิดนั้นเอง จะได้ตั้งอยู่ตราบเท่าได้ประณีตรูป เป็นรูปอย่างดีอย่างประณีตนั้นหาบ่มิได้ เกิดเป็นส่วนอันชั่ว ก็สิ้นไปฉิบหายไปในส่วนอันชั่ว ควรจะเป็นอนิจจังสังเวชนี่หนักหนา ปัญญาพิจารณารูปที่ชั่วโดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณคำรบ ๘

  แลสัมมัสสนญาณคำรบที่ ๙ นั้น พิจารณารูปอย่างประณีตโดยอนิจจังว่า  “ ยํ ปณีตํ ตํปิ ตฺตเถว ขียติ น หีนภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา”  รูปที่อย่างประณีตนั้น เมื่อบังเกิดแล้วก็สิ้นไปในส่วนอันประณีต จะได้ตั้งอยู่เป็นอันเที่ยงอันแท้หาบ่มิได้ จะถึงซึ่งภาวะเป็นหีนรูปหาบ่มิได้ ยังอยู่เป็นส่วน ๆ รูปแล้วก็สิ้นไปในส่วนแห่งประณีตรูป ปัญญาพิจารณาพระอนิจจัง ซึ่งบังเกิดมีในประณีตรูปนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณคำรบที่ ๙

  แลสัมมัสสนญาณคำรบที่ ๑๐ นั้น พิจารณารูปอันอยู่ไกลโดยอนิจจังว่า  “ ยํ ทูเร ตํปิ ตตฺเถว ขียติ น สนฺติเกภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺเถน วา”  รูปอันใดเป็นทูเรรูปอันอยู่ในประเทศอันไกลนั้น  “ตตฺเถว ขียติ ”  รูปนั้นยังมิทันที่จะเป็นสันติเกรูป ยังมิทันที่จะมาถึงในที่ใกล้ ก็สิ้นไปฉิบหายไปในที่ใกล้นั้นเอง

  อันธรรมดารูปธรรมนี้อายุยืน ๑๗ ขณะจิต จะได้ยืนยงไปหว่า ๑๗ ขณะจิตนั้นหาบ่มิได้ สุดแท้แต่บังเกิดครบ ๑๗ ขณะจิต แล้วก็ดับต่อ ๆ กันไปโดยลำดับ ๆ เหตุฉะนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธฎีกาโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาว่า รูปที่อยู่ไกลเป็นทูเรรูปนั้น ยังมิทันที่จะมาใกล้ ยังมิทันที่จะเป็นสันติเกรูปก็สิ้นไปฉิบหายไปในที่ใกล้นั้นเอง จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงจะเที่ยงจะแท้หาบ่มิได้ ปัญญาพิจารณารูปอันอยู่ไกลโดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณคำรบที่ ๑๐

  แลสัมมัสสนญาณคำรบที่ ๑๑ นั้น พิจารณารูปอันอยู่ใกล้โดยอนิจจังว่า  “ยํ สนฺติเก ตํปิ ตตฺเถว ขียติ น ทูเรภาวํ คจฺฉตีติ อนิจฺจํ ขยตฺถน วา ”   รูปอันใดเป็นสันติเกรูปอยู่ในประเทศที่ใกล้   “ ตตฺเถว ขียติ”  รูปนั้นยังมิทันจะเป็นทูเรรูป ยังมิทันที่จะไปถึงประเทศที่ไกล ๆ ก็สิ้นไปฉิบหายไปในที่ใกล้นั้นเอง เพราะเหตุรูปธรรมนี้อายุยืน ๑๗ ขณะจิต เกิดเร็วดับเร็วนี้หนักหนา ควรจะเป็นอนิจจังสังเวชยิ่งนัก ปัญญาพิจารณารูปอันอยู่ใกล้โดยอนิจจังดังนี้แล จัดเป็นสัมมัสสนญาณคำรบ ๑๑ โดยนัยประเภทแห่งโอกาสปริจเฉทที่สำแดงแล้วแต่หลัง

  แต่สัมมัสสนญาณที่พิจารณารูปโดยทุกขัง พิจารณารูปโดยอนัตตานั้น เมื่อจำแนกออกโดยประเภทแห่งโอกาสปริจเฉทนั้น ก็จัดเป็นสัมมัสสนญาณ ๑๑ ประการ ๆ เหมือนกันกับสัมมัสสนญาณที่พิจารณารูปโดยอนิจจังแปลกกันแต่ว่า  “ทุกขํ ภยตฺเถน อนตฺตา อสารกตฺเถน ”  แปลกกันแต่เท่านี้ อื่น ๆ จะได้แปลกกันหาบ่มิได้ กิจที่จะพิจารณารูปในอดีตแลอนาคตแลปัจจุบัน พิจารณารูปภายในภายนอก พิจารณารูปอย่างหยาบอย่างละเอียดอย่างชั่วอย่างดี อยู่ไกลอยู่ใกล้นั้น เหมือนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะได้ผิดทำนองเดียวกับหาบ่มิได้ แปลกกันแต่ที่กำหนดจิตโดยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัมมัสสนญาณ ๑๑ ในเบื้องต้นนั้นกำหนดจิตโดยพระทุกขัง สัมมัสสนญาณในเบื้องปลายนั้นกำหนดจิตโดยพระอนัตตา

  กำหนดจิตโดยทุกขังนั้นให้ว่า  “ ทุกขํ ภยตฺเถน”  เมื่อกำหนดจิตโดยอนัตตานั้นให้ว่า  “ อนตฺตา อสารกตฺเถน”  ในบทว่า  “ทุกขํ ภยตฺเถน ”  นั้นมีอรรถอธิบายว่ารูปในอดีตแลอนาคตแลปัจจุบันรูปภายในภายนอกอย่างหยาบอย่างละเอียดอย่างชั่วอย่างดี อนู่ไกลแลอยู่ใกล้นั้นเทียรย่อมกอปรไปด้วยทุกข์มีชาติทุกข์เป็นประธาน เกิดมาเป็นรูปแล้วก็มีทุกข์เป็นเบื้องหน้า มีแต่ทุกข์เป็นที่สุด ชราแลพยาธิแลมรณะนั้นติดตามรัดรึงตรึงตรา ติดตามเบียดเบียนล้างผลาญอยู่ทุกเมื่อ สุดแท้แต่รูปขึ้นแล้วก็มีกองทุกข์กองภัยกองอุปัทวอันตรายตกต้องย่ำยีบีฑา โดยสภาวะแห่งตนอันจะเปล่าปลอดรอดพ้นจากกองทุกข์กองภัยนั้นไม่มีเลยเป็นอันขาด เหตุฉะนี้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จึงแสดงพระสัทธรรมเทศนาสั่งสอนให้พระโยคาพจรผู้พิจารณารูปโดยทุกข์นั้นให้เจริญภาวนาว่า  “ ทุกขํ ภยตฺเถน”  ก็มีด้วยประการฉะนี้

  แล้วในบทว่า  “อนตฺตา อสารกตฺเถน ”  นั้น มีอรรถอธิบายว่า รูปธรรมทั้งปวงนี้ เมื่อพิจารณาไปโดยปรมัตอรรถอันสุขุมภาพนั้นแต่ล้วนใช่ตัวใช่ตนอาตมา  “อสารกตฺเถน ”  ด้วยอรรถว่าหาแก่นสารมิได้แต่สักสิ่งสักอัน เมื่อพิจารณาดูรูปในอดีตถอยหลังไปตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ ๕ ชาติ ๖ ชาติ ๗ ชาติ ๘ ชาติ ๙ ชาติ ๑๐ ชาติ ๑๑ ชาติ ๑๒ ชาติ ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ๑๐,๐๐๐ ชาติ ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ ตราบเท่าถึงอเนกอนันตชาติ จะได้มีรูปอันใดอันหนึ่งเป็นเก่นสารมาตรว่าหน่อยหนึ่งหาบ่มิได้ พิจารณาไปข้างฝ่ายอนาคตเบื้องหน้านั้นเล่าก็ล้วนไม่เป็นแก่นสาร ใช่อาตมาใช่ของแห่งอาตมาอธิบายว่าถ้ารูปเป็นของอาตมาอยู่แล้ว ก็จะบังคับปัญชาจะว่ากล่าวสั่งสอนได้ จะไม่ป่วยไม่ไข้จะไม่กระทำให้ได้รับความลำบากเวทนา สัตว์ทั้งปวงก็จะอยู่เป็นเป็นสุขปราศจากโรคาพยาธิ เพราะเหตุที่รูปอยู่ในบังคับบัญชาแห่งตน นี่สิรูปหาอยู่ในบังคับไม่ ว่าไรก็ไม่ฟังดื้อดึงนี่หนักหนา ว่าไม่ให้เจ็บก็เจ็บ ว่าไม่ให้แก่ก็ขืนแก่ ว่าไม่ให้ตายก็ขืนตาย ตกว่าไม่ฟังถ้อยฟังคำเลย ว่าไม่ให้ผมหงอกก็ขืนหงอก ว่าไม่ให้ฟันหักก็ขืนหัก ว่าไม่ให้หนังเหี่ยวก็ขืนเหี่ยว ว่าไม่ให้ตามืดก็ขืนมืด ตกว่าสารพัดจะแปรปรวนไปทุกสิ่งทุกประการ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาแห่งตน ไม่อยู่ในถ้อยในคำในโอวาทความสั่งสอนแห่งตน เหตุฉะนี้จึงจะเห็นแท้ว่าใช้อาตมาใช่ของแห่งอาตมา จะหาแก่นสารบ่มิได้ไม่เป็นอาตมาไม่เป็นของแห่งอาตมา แต่รูปในอดีตแลอนาคตเท่านั้นหาบ่มิได้ ถึงรูปในปัจจุบันนี้ก็เปล่าจากแก่นสาร ใช่อาตมาใช่ของอาตมาเหมือนกัน พิจารณาดูรูปภายในตัวเองนี้ เห็นว่าไม่เป็นแก่นสาร ใช่อาตมาใช่ของอาตมา แล้วพิจารณาดูรูปผู้อื่น ๆ อันเป็นรูปภายนอกนั้นเล่า ก็ไม่เป็นแก่นสาร ใช่ตัวใช่ตนเหมือนกันสิ้น จะได้แปลกประหลาดกันหาบ่มิได้ แต่ล้วนลงมาทำนองคลองพระอนัตตาสิ้นด้วยกัน ดูรูปที่หยาบ ๆ นั้นเห็นว่าเป็นอนัตตาแล้ว เหลียวดูรูปที่ละเอียดนั้น ก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เป็นแบบอันเดียวกันสิ้นทั้งนั้น ดูรูปที่ชั่วที่พึงเกลียดพึงชังนั้น เห็นว่าเป็นอนัตตาหาแก่นสารมิได้ แล้วกลับมาดูรูปที่งามหาที่ดีประณีตบรรจงนั้นก็เป็นอนัตตาหาแก่นสารมิได้สิ้นด้วยกัน พิจารณาดูรูปที่อยู่าใกล้ ๆ นั้นก็เป็นอนัตตา พิจารณาดูรูปที่อยู่ไกล ๆ ก็เป็นอนัตตา

  แท้จริงเมื่อพิจารณาโดยปรมัตถ์ พิจารณาโดยละเอียดนั้น รูปธรรมนี้ใช่ตัวใช่ตนใช่ของอาตมา อันจะกำหนดตามลัทธิดิรัตถีย์ว่ารูปนี้เป็นผู้อยู่เป็นผู้พำนักอาศัย รูปนี้เป็นผู้กระทำเป็นผู้ตกแต่ง รูปนี้เป็นผู้เสวยสุขแลทุกข์ รูปนี้อยู่ในอำนาจประพฤติตามอำนาจอันกำหนดเห็นดังนี้ ได้ชื่อว่าเห็นบ่มิชอบ ได้ชื่อว่าเห็นวิปริตเอาสัตย์เอาจริงบ่มิได้ เป็นคำสมมกิว่าเอาตามอัชฌาสัย ว่าตามถนัดแห่งตนตามชอบใจแห่งตนว่าโดยปรมัตถ์ว่าโดยสัจโดยแท้นั้น รูปนี้บ่มิได้เป็นอาตมา บ่มิได้เป็นของแห่งอาตมา บ่มิได้อยู่ในอำนาจแห่งตน บ่มิได้ประพฤติตามอำนาจแห่งตน เหตุฉะนี้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรมหาเถรเจ้าผู้ยิ่งด้วยปัญญา จึงแสดงพระสัทธรรมเทศนาสั่งสอนว่าให้พระโยคาพจรผู้พิจารณารูปโดยอนัตตานั้นเจริญภาวนาว่า  “ อนตฺตา อสารกตฺเถน”  ก็มีด้วยประการฉะนี้

  นัยหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าธรรมเสนาบดี ปรารถนาจะแสดงพิธีในที่มนสิการ กำหนดกฏหมายพระอนิจจาทิลักษณะนั้น ด้วยอาการต่าง ๆ ปรารถนาจะแสดงเป็นปริยายผลัดเปลี่ยนถ้อยคำ ในมนสิการพิธีให้เป็นหลายอย่างต่าง ๆ กัน จึงกล่าวพระบาลีเป็นคำเปลี่ยนสืบต่อไปว่า

   “รูปํ อตีตานาคตปจฺจปฺปนฺนํ อนิจฺจํ สงฺขตํ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ ขยธมฺมํ วยธมฺมํ วิราคธมฺมํ นิโรธธมฺมํ”  

  อธิบายว่า รูปทั้งปวงแต่บรรดาที่เป็นอดีตแลอนาคตแลปัจจุบันนั้นเป็นอนิจจัง เทียรย่อมไม่เที่ยงไม่แท้ แปรปรวนวิปริตมีประการต่าง ๆ ไม่ยั่งไม่ยืนไม่มั่นไม่คง   “ สงฺขตํ”  รูปธรรมทั้งปวงนี้ปัจจัยคืออวิชชาแลตัณหากรรมแลอาหาร ประชุมแต่งโดยอันควรแก่กำลัง  “ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ ”  รูปธรรมทั้งปวงนี้ได้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมด้วยอรรถว่าอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยแล้วจึงบังเกิด บ่มิได้บังเกิดโดยธรรมดาแห่งตน   “ ขยธมฺมํ วยธมฺมํ”  รูปธรรมนี้มีสภาวะสิ้นไปฉิบหายไปเป็นปกติธรรมดา  “ วิราคธมฺมํ”  รูปนี้มีสภาวะอันนักปราชญ์พึงเหนื่อยพึงหน่ายพึงเกลียดพึงชัง  “ นิโรธธมฺมํ”  รูปนี้มีสภาวะดับสูญทำลายไปไม่เที่ยงไม่จริง   “เอโส นโย เวทนาทีสุ ”  นักปราชญ์พึงรู้ในกองเวทนาแลกองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณนั้นหมือนกันกับกองรูป

  อธิบายว่า กาลเมื่อพิจารณารูปนั้นเจริญภาวนาว่า  “รูปํ อตีตา นาคตปจฺจุปฺปนฺนํ อนิจฺจํ สงฺขตํ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ ขยธมฺมํ วยธมฺมํ วิราคธมฺมํ นิโรธธมฺมํ ”   ฉันใด กาลเมื่อพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ก็พึงเจริญภาวนาให้เหมือนกันดังนั้น แปลกกันแต่ที่เป็นอิตถีลิงค์แลนปุงสกลิงค์ เมื่อพิจารณากองรูปนั้นให้ว่า   “รูปํ อตีตา นาคตปจฺจุปฺปนฺนํ อนิจฺจํ สงฺขตํ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ ขยธมฺมํ วยธมฺมา วิราคธมฺมํ นิโรธธมฺมํ”  เมื่อพิจารณากองเวทนาให้ว่า  “เวทนา อตีตา นาคตปจฺจุปฺปนฺนา อนิจจา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา ”  เมื่อพิจารณากองสัญญานั้นให้เจริญภาวนาว่า  “สญฺญา อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนา อนิจฺจา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วยธมฺมา วิริคธมฺมา วยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา ”  กาลเมื่อพิจารณากองสังขารนั้นให้เจริญภาวนาว่า  “ สงฺขารา อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนา อนิจฺจา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา”  กาลเมื่อพิจารณากองวิญญาณนั้น ให้เจริญภาวนาว่า  “ วิญฺญาณํ อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ อนิจฺจํ สงฺขตํ ปฏิจฺจมุปฺปนฺนํ ขยธมฺมํ วยธมฺมํ วิราคธมฺมํ นิโรธธมฺมํ”  ตกว่าบาลีที่เจริญภาวนานี้มีระเบียงแห่งบทเหมือนกัน แปลกกันแต่ที่เป็นอิตถีลิงค์แลนปุงสกลิงค์ ก็มีด้วยประการฉะนี้

  แลกุลบุตรผู้มีเพียรบำเพ็ญพระวิปัสสนาญาณนั้น เมื่อพระวิปัสสนาปัญญาแก่กล้าแล้ว แลล่วงลุถึงพระอริยมรรคพระอริยผลนั้นนักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ในมรรควิถีที่พระอริยมรรคจะบังเกิดนั้น อนุโลมญาณบังเกิดขึ้นเป็นชั้นรองพระอริยมรรคนั้น แลพระโยคาพจรกุลบุตรผู้จะได้สำเร็จอนุโลมญาณ จะได้ลุแก่พระอริยมรรคนั้นย่อมทำได้ด้วยอำนาจสัมมัสสนญาณ อันพิจารณาสังขารธรรมโดยพระไตรลักษณะญาณอันอาการ ๔๐ แลอาการทั้งหลาย ๔๐ ทัศนั้น จักแสดงในเบื้องหน้า ในที่นี้จะยกไว้ก่อน ครั้นจะแสดงในที่นี้ความก็จะซ้ำไป เมื่อพระโยคาพจรกุลบุตรได้สำเร็จกิจในสัมมัสสนญาณแล้ว ลำดับนั้นให้พระโยคาพจรเจริญอุทยัพพยญาณสือต่อขึ้นไป

  พิธีที่จักเจริญอุทยัพพยญาณนั้น ให้พระโยคาพจรพิจารณานิพพัตติลักษณะแห่งรูปขันธ์นั้นก่อนขันธ์ทั้งปวง

  แต่ในนิพพัตติลักษณะแห่งรูปขันธ์สิ่งเดียวนั้น พึงพิจารณาให้ต่างกันออกเป็นลักษณะให้ได้ ๕ ประการ

  ลักษณะเป็นปฐมนั้นให้พิจารณาว่า  “อวิชฺชาสมุทยา รูปสมุทโย ”  ว่ารูปขันธ์กองรูป ๒๘ ประการ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ จะบังเกิดนั้นจะบังเกิดขึ้นลอย ๆ จะบังเกิดขึ้นเปล่า ๆ เปลือย ๆ นั้นหาบ่มิได้ อาศัยแก่อวิชชาเป็นเหตุเป็นปัจจัย มีอวิชชาเป็นรากแล้วต้นลำกล่าวคือ รูปขันธ์นั้นจึงจะบังเกิดขึ้นได้ แท้จริงอวิชชาคือโมโหอันปกปิดซึ่งปัญญา พระไตรลักษณํ์กำกับเสียซึ่งจตุสัจจญาณ มิให้พิจารณาเห็นแจ้งในพระจตุราริยสัจจ์นั้น เป็นรากเป็นเง่าเป็นต้นเป็นเดิมให้บังเกิดรูปขันธ์ เกิดอวิชชาก่อนจึงเกิดรูปขันธ์ อวิชชายังบังเกิดเป็นปัจจัยอยู่ตราบให้ รูปขันธ์ก็ยังบังเกิดอยู่ตราบนั้น กิริยาที่พระโยคาพจรเจ้า พิจารณาเห็นรูปขันธ์บังเกิดแต่ปัจจัย คืออวิชชานั้นจัดเป็นลักษณะเป็นปฐม

  แลลักษณะเป็นคำรบ ๒ นั้น ให้พิจารณาว่า  “ ตณฺหาสมุทยา รูปสมุทโย”  ว่ารูปขันธ์กองรูป ๒๘ จะบังเกิดนั้น จะบังเกิดแต่อวิชชาสิ่งเดียวนั้นหาบ่มิได้ ตัณหามีลักษณะให้ปรารถนารูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสถูกต้องแลธัมมารมณ์ต่าง ๆ ที่จำแนกแจกออกเป็นตัณหา ๑๐๘ ประการนั้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บังเกิดรูปขันธ์เหมือนกับอวิชชา

   แท้จริงตัณหานี้ จัดเป็นรากแห่งรูปขันธ์อีกประการ ๑ รากคือ ตัณหายังมีอยู่ตราบใด ต้นลำคือรูปขันธ์ก็บังเกิดวัฒนาการอยู่ตราบนั้น

  ตกว่ามีตัณหาก่อนแล้วจึงมีรูปเหมือนภายหลัง เกิดตัณหาก่อนแล้วจึงเกิดรูปเมื่อภายหลัง พึงรู้เถิดว่า กิริยาที่พระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเห็นว่ารูปขันธ์บังเกิดแต่ปัจจัยคือตัณหานั้น จัดเป็นลักษณะคำรบ ๓

  แลลักษณะเป็นคำรบ ๓ นั้น ให้พระโยคาพจรเจ้าพิจารณาว่า  “กมฺมสมุทยา รูปสมุทโย”  รูปขันธ์นั้นใช่จะบังเกิดแต่อวิชชา แลตัณหาสองสิ่งเท่านั้นหาบ่มิได้ กุศลกรรมแลอกุศลกรรมนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บังเกิดรูปขันธ์เหมือนกันกับอวิชชาแลตัณหา เมื่อกุศลากุศลกรรมบังเกิดต้นเกิดลำ คือรูปขันธ์ ๆ จะบังเกิดแล้ว ๆ เล่า ๆ บ่มิได้สิ้นบ่มิได้สุด บ่มิได้หยุดบ่มิได้ยั้ง ตายแล้วเกิดเก่า เกิดแล้วดับ ๆ แล้วเกิดนับครั้งบ่มิได้นั้น ก็อาศัยแก่ราก คือกุศลากุศลกรรม ๆ ยังมีอยู่ตราบใด รูปขันธ์ก็จะบังเกิดสืบต่อติดเนื่องกันไปบ่มิรู้หยุดรู้สิ้นตราบนั้น มีกุศลากุศลกรรมก่อนแล้วจึงมีรูปเมื่อภายหลัง เกิดกุศลกรรมอกุศลกรรมก่อนแล้วจึงเกิดรูปเมื่อภายหลังผู้มีปัญญาพึงรู้เถิดว่ากิริยาที่พระโยคาพจรเจ้า พิจารณาเห็นว่ารูปขันธ์บังเกิดแต่ปัจจัยคือกุศลากุศลกรรมนั้น จัดเป็นลักษณะคำรบ ๓

  แลลักษณะเป็นคำรบ ๔ นั้น ให้พระโยคาพจรเจ้าพิจารณาว่า  “อาหารสมุทยา รูปสมุทโย”  ว่ารูปขันธ์นั้นใช่จะบังเกิดแต่อวิชชา แลตัณหา แลกุศลากุศลกรรม ๓ สิ่งเท่านั้นหาบ่มิได้ กวฬิงการาหารคือข้าวแลน้ำขนมของกินทั้งปวงนี้ ก็เป็นปัจจัยให้บังเกิดรูปขันธ์อีกประการ ๑

  แท้จริงอาหารนี้ เลี้ยงชีวิตอุปถัมภ์ค้ำชูรูปขันธ์ให้ถาวรวัฒนาการสัตว์ทั้งหลายจะมีเนื้อมีเลือดบริบูรณ์พูนเกิดผิวผ่องเป็นน้ำเป็นนวลนั้นก็อาศัยแก่อาหาร ถ้าไม่มีอาหารจะบริโภคแล้วเนื้อแลเลือดก็เหือดจะแห้งจะเสียสีเสียสัณฐาน จะสิ้นกำลังวังชาหิวโหยอิดโรยแรงไปตราบเท่าถึงแก่มรณภาพ อันรูปขันธ์บังเกิดแต่อาหารนี้ เห็นง่ายรู้ง่าย เห็นทั่วกันรู้ทั่วกัน จะได้ลี้ได้ลับหาบ่มิได้ พึงสันนิษฐานว่า กิริยาที่พระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเห็นว่ารูปขันธ์บังเกิดแต่ปัจจัยคืออาหารนี้ จัดเป็นลักษณะคำรบ ๔

  แลลักษณะคำรบ ๕ นั้น คือเฉพาะพิจารณาแต่นิพพัตติลักษณะอธิบายว่า เฉพาะพิจารณาแต่ชาติกำเนิดแลกิริยาที่บังเกิดแห่งรูปแลอาการที่รูปเป็นขึ้นใหม่ ๆ มีขึ้นใหม่ ๆ เฉพาะพิจารณาแต่เท่านี้มิได้พิจาณาตลอดลงไปถึงอวิชชา แลตัณหากรรม แลอาการ อันเป็นมูลเหตุให้บังเกิดรูป ตกว่าละเหตุเสียพิจารณาเอาแต่ผล ละรากเสียพิจารณาเอาแต่ลำต้น พิจารณาตรงเอาแต่อาการที่รูปบังเกิดนี้แลเป็นลักษณะคำรบ ๙ สิริเข้ากันเป็นพีธีพิจารณารูปขันธ์ ฝ่ายข้างนิพพัตติลักษณะ ๕ ประการ

   “รูปขนฺธสฺส อุทยํ ปสฺสนฺโน”   เมื่อพระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณานิพพัตติลักษณะเป็นนิพพัตติลักษณะแห่งรูปขันธ์ ต่างออกเป็นลักษณะ ๕ ประการ โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้

   “รูปขนฺธสฺส วยํ ปสฺสติ”  ลำดับนั้น พระโยคาพจรกุลบุตรจึงพิจารณาวิปริณามลักษณะ เห็นวิปริณามลักษณะแห่งรูปขันธ์นั้นต่างออกเป็นลักษณะ ๕ ประการ

  ลักษณะเป็นปฐมนั้น พิจารณาเห็นว่า  “อวิชฺชานิโรธา รูปนิโรโธ”  ว่ารูปจะดับสูญเป็นอนุปปาทนิโรธ ดับขาดบ่มิได้เกิดอีกสืบไปในอนาคตนั้น อาศัยแก่ดับอวิชชา ตัดรากคืออวิชชาเสียได้ขาดเป็นสมุจเฉทปหาร ด้วยพระแสงแก้วคือ พระอรหัตตมัคคญาณอันคมกล้า อวิชชาสิ้นสูญ บ่มิจะกลับคืนมาบังเกิดอีกได้ ไม่มีรากคืออวิชชาแล้วกาลใด ต้นลำคือรูปขันธ์นั้น ก็จะดับจะสูญจะสิ้นจะสุด บ่มิอาจจะบังเกิดสืบไปในอนาคตนั้น ตกว่ารูปขันธ์จะดับขาดนี้ อาศัยแก่อวิชชาเป็นต้นเป็นเดิม ดับอวิชชาเสียได้ขาดจากสันดานแล้วรูปขันธ์จึงจะดับขาดจึงจะไม่บังเกิดสืบไปได้ พึงรู้ว่าอาการที่พระโยคาพจรพิจารณาเห็นว่ารูปขันธ์จะดับก็อาศัยแก่ดับต้นเหตุคืออวิชชานั้น จัดเป็นลักษณะเบื้องต้น ลักษณะเป็นปฐม

  แลลักษณะเป็นคำรบ ๒ นั้น คือพระโยคาพจรพิจารณาเห็นว่า  “ตณฺหานิโรธา รูปนิโรโธ”  ว่ารูปละดับขาดนั้น อาศัยแก่ดับตัณหาเสียด้วย ตัณหาต้นขาดจากสันดานเป็นสมุจเฉทปหานแล้วรูปจึงจะดับขาดถึงอวิชชาจะดับแล้ว ถ้าตัณหายังมิได้ดับ ต้ณหายังไหลนองมองมูลอยู่ในสันดานตราบใด รูปก็จะบังเกิดอยู่ตราบนั้น ต่อเมื่อใดดับอวิชชาแล้วก็ดับตัณหาขาด ดับขาดทั้งอวิชชาแลตัณหาไม่มีติดพันอยู่ในสันดารแล้วนั้นแล รูปจึงจะขาดเป็นแท้บ่มิได้บังเกิดสืบไปในเบื้องหน้าได้ กิริยาที่พระโยคาพจรพิจารณาเห็นว่า รูปขันธ์จะดับอาศัยแก่ดับตัณหา อันนี้จัดเป็นลักษณะคำรบ ๒

  แลลักษณะเป็นคำรบ ๓ นั้น คือพระโยคาจรพิจารณาเห็นว่า  “กมฺมนิโรธา รูปนิโรโธ”  ว่ารูปจะดับขาดเป็นอุปปาทนิโรธนั้นอาศัยแก่ดับกุศลากุศลกรรมเสีย ด้วยตัดกุศลแลอกุศลเสียให้ขาดด้วยอำนาจพระอรหัตตมรรคแล้ว รูปจึงจะดับขาดจะไม่บังเกิดสืบไปได้ อันจะดับแต่อวิชชาแต่ตัณหา ไม่ดับกุศลกรรมเสียด้วยนั้นบ่มิอาจจะดับรูปให้ขาดได้ กุศลกรรมแลอกุศลกรรมนี้ ก็เป็นสำคัญในที่จะตกแต่งให้เกิดรูปเกิดกาย กุศลากุศลกรรมยังไม่ดับไม่สูญตราบใด รูปขันธ์นั้นก็ยังจะบังเกิดอยู่ตราบนั้น อันจะดับรูปขันธ์นั้นจำจะดับกุศลากุศลกรรม เสียให้ขาดก่อนจึงจะดับได้ นักปราชญ์พึงรู้ว่า กิริยาที่พระโยคาพจรพิจารณาว่าเห็น รูปขันธ์จะดับก็อาศัยแก่ดับกุศลากุศลกรรม อันนี้จัดเป็นลักษณะคำรบ ๓

  แลลักษณะเป็นคำรบ ๔ นั้น คือพระโยคาพจรพิจารณาเห็นว่า  “อาหารนิโรธา รูปนิโรโธ”  ว่ารูปจะดับนั้น อาศัยแก่อาหารด้วยประการหนึ่ง พึงรู้ว่าอาหารรัชชารูปนั้น เมื่อจะบังเกิดก็บังเกิดแต่อาหาร เมื่อจะดับนั้นก็ดับแต่อาหาร เป็นใจความว่า พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาเห็นว่า อาหารัชชารูปจะดับอาศัยแก่อาหารนั้นจัดเป็นลักษณะคำรบ ๔

  แลลักษณะคำรบ ๕ นั้น คือพระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเฉพาะเอาแต่วิปริณามลักษณา เฉพาะพิจารณาเอาแต่กิริยาที่สิ้นสูญที่ดับทำลายแห่งรูป จะได้พิจารณาตลอดลงไปถึงกิริยาที่ดับอวิชชาแลดับตัณหา ดับกรรมแลอาหารอันเป็นต้นเหตุนั้นหาบ่มิได้ เฉพาะพิจารณาเอาแต่เบื้องปลายพิจารณาเอาแต่ผล พิจารณาเอาแต่ต้นแต่ลำในเบื้องบน บ่มิได้พิจารณาตลอดถึงรากถึงเง่า พิจารณาแต่ตื้น ๆ บ่มิได้ลึก เฉพาะเอาแต่ที่สิ้น ที่สูญที่ดับ ทำลายแห่งรูปนี้ แลจัดเป็นลักษณะคำรบ ๕ สิริด้วยกันจึงเป็นพิธีพิจารณารูปขันธ์ฝ่ายข้างวิปริณาธรรมลักษณา ๕ ประการ

  ประมวลพิธีพิจารณาฝ่ายนิพพัตติลักษณะ ๕ วิปริณามลักษณะ ๕ เข้ากัน จึงเป็นลักษณะ ๑๐ ประการ

  ยุติในรูปขันธ์ ประดับในห้องอุทยัพพยญาณ โดยนัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาค โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ในอุทยัพพยญาณวิภังค์

  แลเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาขันธ์ ก็ประกอบด้วยลักษณะได้ละสิบ ๆ เหมือนกันสิ้น เวทนาขันธ์ก็ประกอบด้วยลักษณะ ๑๐ สัญญาขันธ์ก็ประกอบด้วยลักษณะ ๑๐ สังขารขันธ์ก็ประกอบด้วยลักษณะ ๑๐ วิญญาณขันธ์ก็ประกอบด้วยลักษณะ ๑๐ จักเป็นฝ่ายนิพพัตติลักษณะขันธ์ละห้า ๆ เป็นฝ่ายวิปริณามลักษณะนั้นขันธ์ละห้า ๆ เหมือนกันกับรูปขันธ์ แปลกกันแต่พิธีที่พิจารณาในอาการฐานเท่านั้น ข้อซึ่งพิจารณาว่า  “อาหารสมุทยา รูปสมุทโย อาหารนิโรธา รูปนิโรโธ”  ว่ารูปจะเกิดอาศัยแก่เกิดอาหาร รูปจะดับอาศัยแก่ดับอาหาร ข้อซึ่งพิจารณาอาหารอย่างนี้ให้พิจาณาแต่ในรูปขันธ์ ครั้นย่างเข้าเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์แล้ว ให้ยกพิธีพิจารณาอาหารนั้นออกเสีย เอาพิธีพิจารณาที่พิจารณานามรูปเข้าใส่แทน ครั้นย่างเข้าวิญญาณขันธ์ให้เอาพิธีพิจารณานามรูปเข้าใส่แทนตนว่ามีพิเศษในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ฝ่ายนิพพัตติลักษณะว่า  “ผสฺสสมุทยา เวทนาสมุทโย ผสฺสสมุทยา สญฺญาสมุทโย ผสฺสสมุทยา สงฺขารสมุทโย ”  

  อธิบายว่า เวทนาจะบังเกิดนั้น อาศัยแก่เกิดผัสสะ สัญญาจะเกิดนั้น อาศัยแก่เกิดผัสสะ สังขารจะบังเกิดนั้น อาศัยแก่เกิดผัสสะ

  แลฝ่ายวิปริณามลักษณะนั้นว่า  “ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ ผสฺสนิโรธา สญฺญานิโรโธ ผสฺสนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ”  

  อธิบายว่า เวทนาจะดับ อาศัยแก่ดับผัสสะ สัญญาจะดับ อาศัยแก่ดับผัสสะ สังขารจะดับ อาศัยแก่ดับผัสสะ มีพิเศษในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ นั้นฉะนี้

  แลพิธีพิจารณาพิเศษในวิญญาณขันธ์นั้น ฝ่ายนิพพัตติลักษณาว่า  “นามรูปสมุทยา วิญฺญาณสมุทโย”   ว่าจักขวาทิวิญญาณจะบังเกิดในอาศัยแก่บังเกิดนามรูป

  แลฝ่ายวิปริณาลักษณะนั้นว่า  “นามรูปนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ”   ว่าจักขวาทิวิญญาณจะดับนั้น อาศัยแก่ดับนามรูป มีพิเศษในวิญญาณขันธ์ฉะนี้

  แลพิจารณา เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ให้เห็นว่าบังเกิดแต่อวิชชาแลตัณหา แลกุศลากุศลกรรมนั้น ก็เหมือนกันกันในที่แสดงแล้วในรูปขันธ์

  ตกว่าขันธ์แต่ละอัน ๆ นั้นมีนิพพัตติลักษณะ ๔ ประการ วิปริณามลักษณะ ๕ ประการ สิริเข้าด้วยกันทั้งห้าขันธ์นั้น เป็นนิพพัตติลักษณะ ๒๕ วิปริณามลักษณะ ๒๕ ประการ

  ประมาลนิพพัตติลักษณะ แลวิปริณามลักษณะเข้ากันทั้งสิ้น จึงเป็นลักษณะ ๕๐ ทัศ ประดับในอุทยัพพยญาณด้วยประการฉะนี้

  ครั้นเมื่ออุทยัพพยญาณบังเกิดดังนี้แล้ว ในระหว่างนั้นจึงบังเกิดอุปกิเลส ๑๐ ประการ

   “โอภาเส”  แสงอันสว่างเกิดแต่วิปัสสนาจิต ซ่านออกไปจากสรีราพยพ ๒ คือ ปีติทั้ง ๕ มีขุททกาปีติเป็นอาทิ เกิดพร้อมด้วยวิปัสสนาจิต ๑ คือ   “ปสฺสทฺธิยุคฺคลํ”  เกิดด้วยวิปัสสนาให้ระงับความกระวนกระวายในกายแลจิตนั้น ๑

   “อธิโมกฺโข”  คือศรัทธาอันมีกำลัง ประกอบด้วยพระวิปัสสนาจิต ๑

   “ปคฺคาโห”  คือความเพียร อันประกอบด้วยวิปัสสนาจิต มิได้หย่อนมิได้คร่านัก ๑

   “สุขํ”  คือวิปัสสนา อันประณีตยิ่งนัก ๑

   “ญานํ”  คือวิปัสสนาญาณ อันกล้ายิ่งนัก ๑

   “อุปฏฺฐานํ”  คือสติอันประกอบด้วยวิปัสสนาจิต อาจเห็นจะระลึกซึ่งกิจอันกระทำสิ้นกาลช้านานเป็นอาทิ ๑

   “อุเปกฺขา”  คือวิปัสสนูเบกขา อันบังเกิดมัธยัสถ์ในสังขารแลอาวัชชนูเบกขา อันบังเกิดในมโนทวาร มัธยัสถ์ในสังขาร ๑ “นิกนฺติ”  คือตัณหาอันมีอาการอันละเอียด กระทำอาลัยในวิปัสสนา ๑

  แลธรรม ๑๐ ประการ มีอาทิคือโอภาส ชื่อว่าอุปกิเลส เพราะเหตุบังเกิดมานะทิฏฐิ สำคัญว่าอาตมาถึงมรรคผล เป็นที่เศร้าหมองแห่งวิปัสสนา มีให้เจริญขึ้นไปได้ ให้ยับยั้งหยุดความเพียรแต่เท่านั้น

  เมื่อุปกิเลสบังเกิดขึ้นดังนี้ ปัญญาแห่งพระโยคาพจรกำหนดพิพากษาเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายมีอาทิ คือโอกาสนี้ เป็นอุปกิเลสแก่วิปัสสนาใช่ทางมรรคผล วิปัสสนาอันดำเนินตามวิปัสสนาวิถี โดยอันดับตามวิปัสสนาภูมิ มีอาทิคืออุทยัพพยญาณ ตราบเท่าถึงอนุโลมญาณนั้นต่างหาก เป็นหนทางมรรคผล ปัญญาอาคันตุกะบังเกิดกำหนดรู้ทางมรรคผลและใช้ทางมรรคผลได้ดังนี้ในกาลใด ก็ได้ชื่อว่ามัคคาญาณทัสสนะบังเกิดในสันดานกาลนั้น

  จบมัคคาญาณทัสสนวิสุทธิแต่เท่านี้

  แต่นี้จะวิสัชชาในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิสืบต่อไป

  ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินั้น มิใช่อื่นมิใช่ไกล ได้แก่วิปัสสนาปัญญาในเบื้องบุรพภาค ๘ ประการ มีอุทยัพพยญาณเป็นต้น มีสังขารุเบกขาญาณเป็นยอด แต่บรรดาที่บริสุทธิ์ปราศจากอุปกิเลสกับสัจจานุโลมิกญาณ ๑ เป็นคำรบ ๙

  สัจจานุโลมิกญาณนี้ มิใช่อื่นใช่ไกล คืออนุโลมชวนะซึ่งบังเกิดเป็นที่รองแห่งพระอริยมรรค นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า วิปัสสนา ๙ ประการคือ อุทยัพพยญาณ ภัคคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกามยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ สัจจานุโลมิกญาณ นี้แลจัดได้ชื่อว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะพ้นจากอุปกิเลสดำเนินตามวิปัสสนาวิถี สูงขึ้นไป ๆ ถึงที่ใกล้พระอริยมรรคเหตุดังนั้นพระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีปัญญาปรารถนาจะยังปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้ ให้บริบูรณ์ในสันดาน ก็พึงกระทำเพียรเจริญวิปัสสนาปัญญามีอุทยัพพยญาณเป็นต้น แต่บรรดาที่พ้นจากอุปกิเลสนั้น เจริญให้กล้าหาญตราบเท่าดำเนินขึ้นถึงอนุโลมญาณ ยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้

  มีคำปุจฉาว่า อุทยัพพยญาณนี้ พระโยคาพจรได้เจริญในกาลเมื่อปฏิบัติซึ่งมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินั้นแล้วเหตุไฉนจึงให้เจริญอุทยัพพยญาณอีกเล่า อาศัยแก่ประโยชน์เป็นประการใด

  วิสัชชนาว่า ข้อซึ่งให้เจริญอุทยัพพยญาณอีกนั้น มีประโยชน์จะให้กำหนดกฏหมายซึ่งอนิจจาทิลักษณะ ๆ ที่ยังไม่แจ้งนั้น จะให้เห็นแจ้งประจักษ์โดยอันควร จึงให้เจริญอุทยัพพยญาณซ้ำอีกเล่า

  แท้จริงอุทยัพพยญาณที่เจริญ ในห้องมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินั้นยังเศร้าหมองขุ่นมัวอยู่ด้วยมลทิลนิรโทษ คืออุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ ยังหาผ่องใส่บริสุทธิ์ไม่ บ่มิอาจที่จะกำหนดกฏหมายไตรพิธลักษณ์ได้โดยสัจจ์โดยแท้ อุทยัพพยญาณที่พระโยคาพจรเจริญซ้ำใหม่ เจริญในห้องแห่งปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้ บริสุทธิ์ปราศจากจากอุปกิเลสอาจสามารถจะให้กำหนดกฏหมายซึ่งไตรพิธลักษณะได้โดยอันควรแน่แท้ เหตุดังนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงพระมหากรุณา โปรดให้พระโยคาพจรเจริญอุทยัพพยญาณซ้ำอีก ในกาลเมื่อปฏิบัติในห้องปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้

  จึงมีคำปุจฉาว่า อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรไม่กระทำมนสิการในธรรมดังฤๅ พระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ ธรรมสิ่งดังฤๅปกปิดไว้ พระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ

  วิสัชชนาว่า อนิจจลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้ง อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรมิได้กระทำมนสิการในกิริยาที่บังเกิดและฉิบหาย นัยหนึ่งว่าสันตติปกปิดกำบังอยู่ อนิจจลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

  แลทุกขลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรบ่มิได้กระทำมนิสิการในกิริยาที่อาพาธเบียดเบียนเนือง ๆ นัยหนึ่งว่าอิริยาบถปกปิดกำบังอยู่ ทุกขลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

  แลอนัตตลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยที่พระโยคาพจรบ่มิได้กระทำมนสิการในพิธีพิจารณาพรากธาตุทั้ง ๔ ให้ต่างออกเป็นแผนก ๆ นัยหนึ่งว่าฆนสัญญาปกปิดกำบังอยู่ อนัตตลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

  มีคำปุจฉาว่า สันตติที่ปกปิดอนิจจลักษณะไว้นั้น จะได้แก่สิ่งดังฤๅ

  วิสัชชนาว่า สันตตินั้นใช่อื่นใช่ไกล ได้แก่สภาวะวืบต่อแห่งชีวิตลักษณะที่เห็นว่าชีวิตจะยั่งยืน จะสืบต่อไปสิ้นวันคืนเดือนปีเป็นอันมากนี้แล พระอรรถกถาจารย์เจ้าเรียกว่าสันตติปิดป้องกำบังอนิจจลักษณะไว้มิให้เห็นอนิจจลักษณะโดยอันควรแน่แท้

  ก็ไฉนจึงจะเห็นอนิจจลักษณะโดยอันควรแน่แท้ได้ อ้อถ้าปรารถนาจะให้เห็นอนิจจลักษณะ โดยอันควรแน่แท้นั้นพึงอุตสาหะเพียรพยายามที่จะกีดกันสันตติออกเสียให้ห่างไกล อย่าให้สันตตินั้นปิดป้องกำบังอยู่อนิจจลักษณะจึงจะปรากฏโดยอันควรแน่แท้

  กระทำไฉนเล่า จึงจะกีดกันสันตติออกเสียให้ห่างไกลได้ จะปฏิบัติเป็นประการใด จึงจะพรากสันตติออกได้

  อ้อ ถ้าปรารถนาจะกันเสียซึ่งสันตติ จะพรากสันตติออกเสียให้ห่างไกลนั้น พึงอุตสาหะมนสิการกำหนดกฏหมายให้เห็นที่เกิดและที่ฉิบหายแห่งสังขารธรรม อย่าได้ประมาท พึงคิดถึงความตายจงเนือง ๆ พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนี้เร็วที่จะดับจะทำลาย จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงนั้นหาบ่มิได้ เกิดมาแล้วก็มีแต่จะดับสูญเป็นที่สุด กองแห่งรูปธรรมนามธรรมทั้งปวงนี้ มีแต่จะฉิบหายทำลายไปเป็นเบื้องหน้า รูปขันธ์นี้มีครุวนาดุจดังว่าก้อนแห่งฟองน้ำ อันลอยไปตามกระแสน้ำแล้วก็แตกทำลายแล้ว ยังไม่เร็วพลัน รูปขันธ์นี้ว่าเร็วที่จะทำลายแล้ว ยังไม่เร็วเท่าเวทนาขันธ์อีกเล่า

  เวทนาขันธ์นี้เร็วนักหนาที่จะแปรปรวน เร็วนักหนาที่จะดับจะทำลาย ทีครุวนาดุจปุ่มเปือกแห่งน้ำ อันเร็วที่จะแปรจะปรวน เร็วที่จะแตกจะทำลาย ฟองน้ำที่เป็นก้อน ๆ ลอยไปลอยมาตามกระแสน้ำนั้นว่าเร็วแตกเร็วทำลายแล้วจะได้เร็วเท่าปุ่มเปือกแห่งน้ำนั้นหาบ่มิได้ ปุ่มเปือกน้ำที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ผุดขึ้นเป็นเม็ด เหนือพื้นน้ำด้วยกำลังกระแสน้ำกระทบน้ำนั้นเร็วแตกเร็วทำลายยิ่งขึ้นไปกว่าฟองน้ำที่เป็นก้อน ๆ แลมีครุวนาฉันใดเวทนาขันธ์นี้ก็เร็วที่จะแปรปรวน เร็วที่จะดับจะทำลายยิ่งขึ้นไปกว่ารูปขันธ์มีอุปไมยดังนั้น

  สัญญาขันธ์นี้ก็จะแปรปรวน เร็วที่จะดับจะทำลายยิ่งขึ้นไป มีอุปมาดุจดังว่าพยับแดดอันปรากฏและอันตรธานหายไปเป็นอันเร็วพลัน

  สังขารขันธ์เล่าก็หาแก่นสารบ่มิได้ มีครุวนาดุจต้นกล้วยอันปราศจากแก่น

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com