พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๑

   วิญญาณขันธ์นั้นเล่า เทียรย่อมล่อลวงให้ลุ่มให้หลงมีครุวนาดุจบุคคลที่เป็นเจ้ามารยา จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงนั้นหาบ่มิได้

   เมื่อมีสติปัญญามนสิการกำหนดกฏหมาย เห็นที่เกิดและฉิบหายแห่งอุปทานขันธ์ทั้ง ๕ มิได้เห็นว่าขุนธ์ทั้ง ๕ นั้นจะยั่งจะยืนจะสืบต่อไปสิ้นวันคืนเดือนปีเป็นอันมากแล้วกาลใด ก็ได้ชื่อว่ากีดกันสันตติออกเสียได้ พรากสันตติออกเสียได้ในกาลนั้น เมื่อกันเสียได้ซึ่งสันตติพรากสันตติออกเสียได้แล้ว อนิจจลักษณะก็ปรากฏในสันดานเปรียบปานประดุจว่าปริมณฑลพระจันทร์ อันหาเมฆพลาหกจะปกปิดมิได้แล้วและแจ่มใสบริสุทธ์เป็นอันงาม สุดแท้แต่ไม่มีสันตติปิดป้องกำบังแล้ว อนิจจลักษณะก็จะปรากฏแจ้งโดยอันควรแก่แท้

   แลอิริยาบถที่ปกปิดทุกขลักษณะไว้นั้น เป็นดังฤๅ

   วิสัชนาว่า อิริยาบถนั่ง อิริยาบถนอน อิริยาบถยืน อิริยาบถเดิน ทั้ง ๔ นี้แลปกปิดกำบังไว้มิได้เห็นแจ้งในทุกขลักษณะ

   อธิบายว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ กาลเมื่ออยู่ดีกินดีไม่ป่วยไม่ไข้ชนทั้งปวงเห็นว่าสบายดีอยู่นั้น เพราะเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งเหนื่อยแล้วนอน ๆ เหนื่อยแล้วนั่ง ยืนเหนื่อยแล้วเดิน ๆ เหนื่อยแล้วยืน เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เนือง ๆ เป็นนิตย์ฉะนี้ จึงค่อยสบายอยู่บ้างแต่ละครั้งละคราว ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย นั่งขึงไปยืนขึงไปก็ดี เดินไปไม่หยุดไม่หย่อนเลยก็ดี ไม่เปลี่ยนอิริยาบถโดยนิยมดังนี้ไม่มาสักครึ่งวันก็จะเจ็บจะปวด จะเสียดจะแทงจะลำบากเวทนานี้เป็นหนักหนา นี่หากว่าเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เป็นนิตย์จึงค่อยมีความสบายอยู่บ้าง เหมือนอย่างอิริยาบถนอกนี้เห็นว่าค่อยระงับกายเป็นสุขกว่าอิริยาบถทั้งหลาย ถึงกระนั้นก็ดีถ้านอนไปข้างเดียวไม่กลับไม่กลอก ไม่พลิกซ้ายไม่พลิกขวา นอนหน้าเดียวไปแล้วมิมากสักครึ่งคืน ก็จะจับเอาตัวทุกขเวทนาได้ ที่ชมว่านอนสบาย ๆ นั้นถ้าไม่พลิกซ้ายขวานอนอยู่ที่เดียวเถิด มิตัวแข็งก็หลังแข็งนั่นแล ซึ่งจะไม่ลำบากนั้นอย่าได้สงสัย นี้แลจึงว่าขณะเมื่อป่วยไม่ไข้สมมติว่าอยู่ดีกินดีนั้น ดีอยู่ด้วยสามารถเปลี่ยนอิริยาบถถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถแล้ว ก็จะจับเอาตัวทุกขเวทนาได้เป็นหนักเป็นหนาสภาวะเปลี่ยนอิริยาบถนี้ บำบัดความลำบากเวทนาเสียได้เป็นอันมากกว่ามาก หากละเลิงอยู่ไม่พิจารณาให้ละเอียดก็หลงชมอยู่ว่ามีความสบาย เมื่อพิจารณาให้ละเอียดไปมีความลำบาก กายแห่งเราท่านทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็นไข้อยู่เป็นนิตย์นี่หากว่าพิทักษ์รักษาอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์ ขณะเมื่อร้อนเอาน้ำรดขณะเมื่อหนาวเอาผ้าห่มเอาเพลิงมาก่อนผิงขณะแสบท้องเอาข้าวและขนมมาบริโภคประทับลม จึงจะมีความสุข ตกว่าต้องพิทักษ์รักษาอยู่นี่ทุกวันทุกเวลา ถ้าไม่พิทักษ์รักษาทำนุบำรุงเลยนี้ความลำบากเวทนาจะเป็นสาหัสสากรรจ์ โดยกำหนดที่สุดแต่จะนอนเสียแล้วถ้านอนขึงอยู่ช้านานทีเดียว ยังว่ามีความลำบากนี้เป็นหนักเป็นหนา อาศัยละเลิงอยู่ไม่พินิจพิจารณา ก็สำคัญว่าอาตมานี้มีความสบาย ทุกข์ที่บำบัดไปด้วยสามารถเปลี่ยนอิริยาบถนั้นพิจารณาไม่เห็น เหตุฉะนี้ พระอรรถากถาจารย์จึงวิสัชนาว่า ทุกขลักษณะจะมิได้ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยอิริยาบถปิดป้องกำบังอยู่ อิริยาบถนั้นปิดป้องกำบังไว้มิให้เห็นทุกขลักษณะโดยอันควรแก่แท้ แต่ที่ว่าอิริยาบถจะปิดจะปังทุกขลักษณะไว้ได้นั้น อาศัยไม่พิจารณาให้ละเอียด ถ้าอุตสาหะมนสิการกำหนดกฏหมายเอาทุกขเวทนาอันมาถึงในขณะเมื่อนั่งนักนอนนักยืนนักเดินนัก แต่เท่านี้เอาเป็นอารมณ์ได้แล้วกาลใด ก็จะเห็นทุกขลักษณะปรากฏโดยอันควรแน่แท้ในกาลนั้น ๆ

   แลฆนสัญญที่ปกปิดซึ่งอนัตตลักษณะไว้นั้นเป็นดังฤๅ

   วิสัชนาว่า ฆนสัญญานี้มิใช่อื่นใช่ไกล ได้แก่จิตที่สำคัญมั่นหมายในอวัยวะน้อยใหญ่ว่าเป็นแท้งว่าเป็นปึกแผ่น คือสำคัญว่าแข้ง ว่าขา ว่ามือ ว่าเท้า ว่าศอก ว่าแขน ว่าหน้า ว่าตา ว่าแก้ม ว่าคาง ว่าท้อง ว่าหลัง ว่าหญิง ว่าชาย ว่าสัตว์ ว่าบุคคลสำคัญเป็นหมวด ๆ เป็นเท่า ๆ ฉะนี้แลจัดได้ชื่อว่าฆนสัญญาเข้าปิดเข้าป้องไว้มิให้พิจารณาเห็นอนัตตลักษณะโดยอันสมควรแก่แท้ ถ้าขับไล่ฆนสัญญาเสียมิได้ตราบใด อนัตตลักษณะก็มิได้ปรากฏแจ้งตราบนั้น ก็เหตุไฉนเล่าจึงขับไล่ฆนสัญญาออกเสียได้

   อ้อ ซึ่งข้อไล่ฆนสัญญาออกเสียมิได้นั้น ด้วยสามารถมิได้มนสิการกำหนดกฏหมายให้เห็นนานาธาตุวินิพโภค คือมิอาจพรากธาตุทั้ง ๔ ให้ต่างออกเป็นแผนก ๆ ได้ มิอาจพิจารณาให้ละเอียดไปได้ เห็นว่ารูปกายแห่งเราท่านทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้แต่ล้วนประชุมแห่งธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโซ วาโย ดิน น้ำ ไฟ ลม ประสมกันเข้าก็สมมติเรียกว่าตัว ว่าตน ว่าหญิง ว่าชาย ที่แท้จะเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล จะเป็นหญิงหรือชายนั้นหาบ่มิได้ ที่เรียกว่าแข้ง ว่าขา ที่เรียกว่ามือ ว่าเท้า เรียกว่าศอก ว่าแขน ว่าเนื้อ ว่านม ว่าหน้า ว่าตานั้น เรียกโดยบัญญัติโวหาร เมื่อว่าที่แท้เป็นกองแห่งปฐวี อาโป เตโช วาโย สิ้นทั้งนั้น

   ผม และขน เล็บ ฟัน หนัง แลเนื้อ เอ็น และกระดูกเยื่อใน กระดูก และม้าม และหทัยวัตถุ และพังผืด และปอด และตับ และพุงไส้น้อย และไส้ใหญ่ อาหารเก่า อาหารใหม่ สมองศีรษะ อาการ ๒๐ นี้แต่ล้วนปฐวีธาตุสิ้นทั้งปวง

   ดี แล เสลด เลทอด และหนอง และเหงื่อ มันข้น มันเหลว น้ำตา น้ำมูก น้ำลาย ไขข้อ และมูตร ทั้ง ๑๒ ประการนี้แต่ล้วนอาฏปธาตุ สิ้นทั้งปวง

   ธรรมชาติกระทำให้อบอุ่นอยู่ในกาย มิให้กายนั้นเย็น ให้อาหารที่บริโภคนั้นยับย่อยออก มิใช่อื่นมิใช่ไกลคือแตโชธาตุ ที่หายใจเข้าไปหายใจออกมา พูดจาว่ากล่าวลุกนั่งยืนเที่ยว กระทำการสารพัด สิ่งทั้งปวงนี้กระทำได้ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุ

   ตกว่าสิ้นกายนี้ แต่ล้วนแล้วไปด้วยธาตุททั้ง ๔ นี้ก็เป็นปฐวีธาตุนั้นก็อาโปธาตุ นี้ก็เป็นเตโชธาตุ นั้นก็เป็นวาโยธาตุ แต่ล้วนไม่เป็นแก่นเป็นสาร เปรียบปานดุจดังว่าไม้งิ้วและกล้วยอันปราศจากแก่น สภาวะมีสติปัญญามนสิการกำหนดกฏหมายให้เห็นนานาธาตุวินิพโภคพรากธาตุทั้ง ๔ ให้ต่างออกเป็นแผลก ๆ กันดุจพรรณนามาฉะนี้ ถ้ามิได้มีในสันดานแห่งบุคคลผู้ใด ๆ มิอาจสมารถจะพิจารณาพรากธาตุทั้ง ๔ ออกเป็นแผนกได้ ฆนสัญญาก็เข้าอยู่เป็นเจ้าเหย้าเจ้าเรือน อากูลมองมูลในสันดานบุคคบผู้นั้น ฆนสัญญานี้ปกปิดอนัตตลักษณะ ๆ จึงมิได้ปรากฏแจ้ง และอนัตตลักษณ ๆ จึงมิได้ปรากฏแจ้ง และอนัตตลักษณะจะปรากฏแจ้งนั้น อาศัยแก่ขับไล่ฆนสัญญาเสียได้จากขันธสันดาน

   ก็ทำไฉนเล่าจึงจะขับไล่กำจัดฆนสัญญาเสีย ก็พึงอุตสาหะกระทำมนสิการกำหนดกฏหมายให้เห็นในนานาธาตุวินิพโภค พิจารณาพรากธาตุทั้ง ๔ ออกไปเป็นแผนก ๆ ดุจดังพรรณนามาแต่หลังได้แล้วกาลใด ก็จะขับจะไล่กำจัด ฆนสัญญาเสียจากขันธสันดานได้ในกาลเมื่อนั้น เมื่อกำจัดฆนสัญญาเสียได้จากขันธสันดานแล้ว อนัตตลักษณะก็จะปรากฏแจ้งโดยอันควรแน่แท้

   แลพระโยคาพจรผู้ปฏิบัติ ในห้องปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้พึงให้รู้ในที่จำแนกแยกออกให้เห็นแจ้งเห็นชัดว่า สิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งนี้เป็นอนิจจลักษณะ สิ่งนี้เป็นทุกขัง สิ่งนี้เป็นทุกขลักษณะ สิ่งนี้เป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นอนัตตาลักษณะ พึงจำแนกออกให้เห็นชัดแจ้งฉะนี้

   แลวัตถุที่เป็นอนิจจังนั้นได้แก่ขันธปัญจก เหตุไฉนจึงได้ว่าดังนั้น อธิบายว่าขันธ์ทั้ง ๕ นั้นมีสภาวะไม่เที่ยงไม่แท้หวนหันผันแปรไปมามีประการต่าง ๆ เหตุฉะนี้ พระพุทธฎีกาจึงตรัสว่าวัตถุที่เป็นอนิจจังนั้นได้แก่ขันธ์ปัญจก

   แลอนิจจลักษณะนั้น ได้แก่การที่วิปวิตแปรปรวนเกิดแล้วก็ดับ ๆ แล้วก็เกิดแห่งขันธ์ปัญจกนั้นเอง จะเป็นสิ่งอื่นหาบ่มิได้

   แลวัตถุที่เป็นทุกขังนั้น ก็ได้แก่ขันธ์ปัญจกนั้นเอง เหตุมีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า  “ยทนิจฺจิ ตํ ทุกขํ”  สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นแลเป็นทุกขัง เหตุไฉนจึงว่าขันธปัญจกเป็นทุกขัง อธิบายว่าขันธปัญจกนี้มากไปด้วยโรคพยาธิต่าง ๆ มากไปด้วยทุกขเวทนายำยีบีฑาอยู่เนือง ๆ ไม่สิ้นไม่สุดไม่หยุดไม่ยั่ง เหตุฉะนี้ จึงเห็นแท้ว่าวัตถุที่เป็นทุกขังนั้น ได้แก่ขันธปัญจนั้นเอง

   แลทุกขลักษณะนั้นเล่า ก็ใช่อื่นใช่ไกลได้แก่โรคาพยาธิเบียดเบียนซึ่งขันธปัญจก ได้แก่อาการที่ขันธปัญจกลำบากเวทนาอยู่เนื่อง ๆ บ่มิรู้แล้วนั้นเอง จะเป็นสิ่งอื่นหาบ่มิได้

   แลวัตถุที่เป็นอนัตตานั้นก็ไม่ใช่อื่น ได้แก่ขันธปัญจากนั้นเอง เหตุมีพระพุทธฎีกาโปรดประทานไว้  “ยํ ทุกฺขํ ตํ อนตฺตา”  สิ่งใดเป็นทุกขังสิ่งนั้นแลเป็นอนัตตา ก็เหตุไฉนเล่า ขันธปัญจกนี้เป็นอนัตตา อธิบายว่าขันธปัญจกนี้บ่มิได้อยู่ในอำนาจแห่งตนว่าไม่ได้ว่าไม่ได้ฟัง ว่าไม่ให้แก่ก็ขืนแก่ ว่าไม่ให้ตายก็ขืนตาย บ่มิได้ประพฤติตามอำนาจ เหตุฉะนี้ จึงเห็นแท้ว่าวัตถุที่เป็นอนัตตานั้น ได้แก่ขันธปัญจกนั้นเอง

   แลอนัตตลักษณะนั้นก็มิใช่อื่น ได้แก่อาการที่ขันธปัญจกบ่มิได้ประพฤติตามอำนาจนั้นเอง จะเป็นสิ่งอื่นหาบ่มิได้

   พระโยคาพจรกุลบุตร จะกำหนดกฏหมายไตรพิธลักษณะได้โดยกิจอันแท้ โดยทัยสำแดงมาฉะนี้ ก็อาศัยแก่มีอุทยัพพยญาณอันปราศจากอุปกิเลส บังเกิดขึ้นในขันธสันดาน เมื่อพระโยคาพจรกำหนดกฏหมายไตรพิธลักษณะได้ดังนี้แล้ว แลเพียรพิจารณาเปรียบเทียบนามรูปทั้งปวงไปโดยไตรพิธลักษณะนั้นเนือง ๆ อุทยัพพยญาณนั้นก็จะกล้าหาญโดยพิเศษ สังขารธรรมก็จะปรากฏแจ้งในญาณจักษุเป็นอันเร็วพลัน ในเมื่อปัญญากล้าหาญสังขารปรากฏเป็นอันเร็วพลันแล้ววิปัสสนาญาณนั้นก็จะล่วงเสียซึ่งอุปปาทะแลฐิติบ่มิได้พิจารณา ซึ่งขณะอันบังเกิดแลขณะอันตั้งอยู่แห่งรูปธรรม นามธรรม จะเฉพาะพิจารณาแต่กิริยาที่สิ้นไปแลฉิบหายไปนั้นฝ่ายเดียว

   อนึ่งโสตวิปัสสนญาณนั้น จะล่วงเสียซึ่งอุปาทินนกะปวัตติแลสังขารนิมิต บ่มิได้พิจารณาซึ่งกิริยาที่ประพฤติเป็นไปแห่งอุปาทินนกะรูป บ่มิได้พิจารณาสังขารนิมิตอันปรากฏในญาณจักษุจะเฉพาะพิจารณาแต่กิริยาที่ดับที่ทำลาย แห่งรูปธรรมนามธรรมนั้นเป็นอารมณ์จติแห่งพระโยคาพจรนั้นจะตั้งมั่นอยู่ในสำนัก ที่จะพิจารณา ที่สิ้น ที่ฉิบหายแลที่ดับที่ทำลาย แห่งรูปธรรมนามธรรมนั้นบ่มิได้เคลิบเคลิ้ม เมื่อปัญญาที่เกิดเสียเฉพาะพิจารณาแต่ที่ดับดังนี้ ปัญญานั้นก็ได้นามบัญญัติใหม่ชื่อว่า ภังคานุปัสสนาญาณ ถึงมาตรแม้ว่าพระโยคาพจรนั้นจะพิจารณาเห็นว่าสังขารบังเกิดดังนี้ ดับดังนี้ยังพิจารณาเห็นอยู่ทั้งเกิดทั้งดับก็ดี ถ้าเห็นเกิดกับดับนั้นปรากฏในที่อันเดียวกันแล้ว วิปัสสนาญาณนั้นก็ได้ชื่อว่าภังคานุปัสสนาญาณ

   อธิบายดังนี้ อาศัยเหตุที่มีพระพุทธฎีกาโปรดประทานไว้ว่า  “กถํ อารมฺมณปฏิกงฺขา ภงฺคานุปสฺสเน ปญฺญวิปสฺสเน ญาณํ”  

   ตรัสเป็นกเถกุกามยตาปุจฉาว่า วิปัสสนาปัญญา อันชื่อว่าภังคญาณรู้ซึ่งอารมณ์แล้ว แลพิจารณาที่ดับที่ทำลายเนือง ๆ เห็นดับเห็นทำลายเนือง ๆ นั้นเห็นประการใด

   ตรัสปุจฉาด้วยพระองค์เองดังนี้แล้ว จึงตรัสวิสัชนาด้วยพระองค์ว่า  “รูปารมฺมณโต จิตฺตํ อุปปชฺชิตฺวา ภิชฺชติ ตํ อารมฺมณํ ปฏิสงฺ ขาตสฺส จิตฺตสฺส ภงฺคํ อนุปสฺสนา”  

   อธิบายว่า ภังคญาณพิจารณาที่ดับที่ทำลายเนือง ๆ เห็นดับเห็นทำลายเนือง ๆ นั้น คือเห็นขณะจิตที่ดับเนือง ๆ กันเป็นลำดับ ๆ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาจักษุ ว่าจิตซึ่งบังเกิดเป็นปฐมนั้น ถ้าเอารูปเป็นอารมณ์บังเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วแลดับ จิตเป็นคำรบ ๒ จึงบังเกิดขึ้น จิตเป็นคำรบ ๒ นั้นก็เอารูปเป็นอารมณ์เหมือนกันบังเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับไปอีกเล่าเมื่อจิตเป็นคำรบ ๒ ดับแล้วจิตเป็นคำรบ ๓ จึงบังเกิดขึ้นเป็นลำดับ จิตเป็นคำรบ ๓ นั้นก็เอารูป เป็นอารมณ์ บังเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับไปเหมือนกัน ลำดับนั้นจิตเป็นคำรบ ๔,๕,๖ คำรบ ๗,๘,๙ คำรบ ๑๐,๑๑,๑๒ คำรบ ๑๔,๑๕,๑๖ คำรบ ๑๗ จึงบังเกิดเนือง ๆ กัน เอารูป

   เป็นอารมณ์เหมือน ๆ กันตั้งอยู่ขณะหนึ่ง ๆ แล้วก็ดับตาม ๆ กันไป บัดเดี๋ยวดับเดี๋ยวทำลาย ดับเนือง ๆ กันไป ไม่เว้นไม่ว่างไม่ห่างไม่ไกลกันเลย น่าสังเวชเวทนา ปัญญาบังเกิดกล้า พิจารณาเห็นจิตดับเนือง ๆ กันฉะนี้แล ได้ชื่อว่าภังคญาณ ที่ดับทำลายเนือง ๆ เห็นดับเห็นทำลายเนือง ๆ ตกปัญญาบังเกิดพร้อมด้วยจิตที่บังเกิดก่อน ๆ นั้น พิจารณารูปารมณ์โดยขยะแลวยะ พิจารณาเห็นรูปารมณ์นั้นโดยกิริยาอันสิ้นไปฉิบหายไปเป็นปกติธรรมดา แลปัญญาบังเกิดพร้อมด้วยจิตที่บังเกิดเบื้องหลัง ๆ นั้น พิจารณารูปารมณ์โดยขยะแลวยะแล้ว พิจารณาซึ่งกิริยาอันทำลายแห่งจิตก่อน ๆ นั้นด้วยเล่า พิจารณาเป็นสองอารมณ์ด้วยกัน

   มีพระพุทธฎีกาตรัสวิสัชนาฉะนี้แล้ว ลำดับนั้นจึงตรัสเป็นกเถตุกามยตาปุจฉาอีกเล่าว่า  “กถํ อนุปสฺสติ”   ภังคญาณซึ่งพิจารณาที่ดับที่ทำลายเนือง ๆ เห็นดับด้วยทำลายเนือง ๆ นั้นเห็นด้วยอาการเป็นดังฤๅ

   ตรัสปุจฉาฉะนี้แล้ว จึงตรัสวิสัชนา  “อนิจฺจโต อนุปสฺสติ โน นิจฺจโต ทุกฺขโต อนุปสฺสติ สุขโต อนตฺตโต อนุปสฺสติ โน อตฺตโต นิพฺพินฺทติ โน วิรชฺชติ โน รชฺชติ ฯลฯ อาทานํ ปทหติ”  

   อธิบายว่าภังคญาณนั้น พิจารณาเห็นดับเห็นทำลายโดยอาการเป็นอันมาก มีต้นว่าเห็นโดยอนิจจัง คือเห็นว่าไม่เที่ยงนั้นโดยฝ่ายเดียวจะได้เห็นว่าเที่ยงหามิได้ นัยหนึ่งเห็นดับเห็นทำลายนั้นโดยอาการอันประกอบด้วยทุกขัง จะไม่เห็นว่าเป็นสุขหาบ่มิได้ นัยหนึ่งเห็นดับเห็นทำลายนั้นโดยอาการใช่อาตมาใช่ของอาตมา จะได้เห็นโดยอาการเป็นของอาตมานั้นหาบ่มิได้

   เมื่อเห็นดับเห็นทำลายโดยอาการที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วยประการฉะนี้แล้ว จิตสันดานแห่งพระโยคาพจรนั้นก็จะเห็นเหนื่อยหน่ายจากรูปธรรมนามธรรม จะได้มีความชื่นชมยินดีด้วยรูปธรรมนามธรรมนั้นหาบ่มิได้ สันดานนั้นปราศจากความกำหนัด บ่มิได้กำหนัดด้วยสามารถราคดำกฤษณา บ่มิได้รักใคร่ในรูปธรรมนามธรรมระงับดับเสียซึ่งตัณหา บ่มิได้ให้ช่องแก่ตัณหา บ่มิให้ตัณหานั้นก่อทุกข์ก่อภัยสืบต่อไปได้ สละละเสียซึ่งกิเลสธรรมทั้งปวง เป็นตทังคปหาน จิตนั้นน้อมไปสู่นิพพาน เอาพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า บ่มิได้ปรารถที่จะเวียนตายเวียนเกิด

   ตกว่ากาลเมื่อพิจารณาเห็นโดยอนิจจังนั้น สละละเสียได้ซึ่งอนิจจสัญญา ๆ ที่สำคัญว่าเที่ยงว่าแท้นั้น พระโยคาพจรสละเสียได้เป็นตทังคปหานในกาลเมื่อเห็นดับ เห็นทำลาย โดยอาการเป็นอนิจจังนั้น

   ละสุขสัญญา คือสำคัญว่าประกอบด้วยสุขนั้น สละละเสียได้เป็นตทังปหาน ในกาลเมื่อเห็นดับเห็นทำลายโดยอาการแห่งทุกขัง

   แลอัตตสัญญา คือสำคัญว่าเป็นตน ว่าเป็นของแห่งตนนั้นสละละเสียได้เป็นตทังปหาน ในกาลเมื่อเห็นดับเห็นทำลายโดยอาการแห่งอนันตา แลความยินดีปรีดาในรูปธรรมนั้น พระโยคาพจรสละละเสียไปเป็นตทังปหาน ในกาลเมื่อเห็นทำลายแล้วแลเหนื่อยหน่าย เกลียดชังซึ่งรูปธรรม

   แลราคดำกฤษณาที่กระทำให้กำหนัดรักใคร่นั้น สละเสียได้เป็นตทังปหาร ในกาลเมื่อเห็นดับเห็นทำลายแลบังเกิดความเนื่อยหน่ายแล้ว แลปราศจากความยินดีปรีดา แลตัณหาซึ่งเป็นเจ้าหมู่เจ้ากรมใหญ่ให้บังเกิดทุกข์บังเกิดให้บังเกิดภัยให้บังเกิดอุปัทวะอันตรายต่าง ๆ นั้น สละละเสียได้เป็นตทังปหาน ในกาลเมื่อเห็นดับทำลายแล้วแล บังเกิดความเหนื่อยหน่ายปราศจากความยินดีปรีดาในรูปธรรม แล้วแลส่งจิตไปสู่พระนิพพานยินดีในพระนิพพาน

   แลกิเลสธรรมทั้งปวง อันกระทำให้ขุ่นข้องหมองมัวเสียสติสัมปชัญญะ พระโยคาพจรเจ้าสละละเสียได้เป็นตทังปหาน ในกาลเมื่อน้อมจิตไปสู่พระนิพพาน มิได้ปราถนาที่จะเวียนตายเวียนเกิด

   สำแดงมาฉะนี้ ตามนัยแห่งปฐมจิตที่บังเกิดขึ้นพิจารณารูปยึดหน่วงเอารูปเป็นอารมณ์ถ้าปฐมจิตนั้นเอาเวทนาเป็นอารมณ์ก็ดี เอาสัญญาเป็นอารมณ์ก็ดี เอาสังขารเป็นอารมณ์ก็ดี เอาวิญญาณเป็นอารมณ์ก็ดี เอาจักขวายตนะเป็นต้นเป็นอารมณ์ก็ดี เอาชนะมรณะเป็นอารมณ์ก็ดี สุดแท้แต่ปฐมจิตนั้นเอาสิ่งใดเป็นอารมณ์แล้ว ทุติยจิตแลตติยจิตตลอดไปตราบเท่าถึงจิตเป็นตคำรบ ๑๗ ก็เอาสิ่งนั้นเป็นอารมณ์เหมือนกันทั้ง ๑๗ ขณะนั้นนักปราชญ์พึงรู้ว่าปัญหาซึ่งบังเกิดพร้อมด้วยจิตที่บังเกิดก่อน ๆ นั้นพิจารณาอารมณ์มีเวทนาเป็นต้นโดยขยะแลวยะ พิจารณาเห็นว่าอารมณ์มีเวทนาเป็นต้นนั้น มีกิริยาอันสิ้นไปฉิบหายไปเป็นปกติธรรม แลปัญญาซึ่งบังเกิดพร้อมด้วยจิตที่บังเกิดเบื้องหลัง ๆ นั้น พิจารณาอารมณ์มีเวทนาเป็นต้นโดยขยะแลวยะแล้ว พิจารณาซึ่งกิริยาอันดับทำลายแห่งจิตก่อน ๆ นั้นด้วยเล่า เป็นสองอารมณ์ด้วยกัน ปัญหานั้นพิจารณาเห็นดับเห็นทำลายโดยอาการแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สละละเสียซึ่ง นิจจสัญญา สุขสัญญา อัตตสัญญา เป็นตทังปหาน ด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์สละละเสียซึ่งความยินดี เป็นตทังปหารด้วยอำนาจเหนื่อยหน่าย สละละเสียซึ่งราคะเป็นตทังปหาน มิได้รักใคร่ในอารมณ์มีเวทนาเป็นต้นนั้น ด้วยอำนาจที่เห็นพระไตรลักษณ์แล้วแลเหนื่อยหน่ายปราศจากความยินดีปรีดา สละเสียซึ่งตัณหาอันเป็นเจ้าพนักงานให้เกิดกองทุกข์เป็นตทังปหาน ด้วยอำนาจที่สิ่งจิตน้อมไปสู่พระนิพพานโดยนัยที่สำแดงมาแล้วแต่หลัง

   ตกว่ากิริยาที่สละละ นิจจสัญญา แลสุขสัญญา แลอัตตสัญญาเสียได้เป็นตทังคปหาน แลความยินดีแลราคดำกฤษณา ละตัณหาแลกิเลสธรรมเสียได้เป็นตทังปหานนั้น ละได้ด้วยความสามารถพิจารณากิริยาที่ดับที่ทำลายแห่งสังขารธรรมนั้นเป็นต้นเป็นเดิม เหตุฉะนี้ปัญญาที่เห็นอนิจจัง ละเสียได้ซึ่งอนิจจสัญญาเป็นตทังคปหาน ได้นามบัญญัติชื่อว่าอนิจจานุปัสสนานั้นก็ดี ปัญญาที่เห็นทุกขังละเสียได้สุขสัญญาเป็นตทังคปหานได้นามบัญญัติชื่อว่าทุกขาปัสสนานั้นก็ดี ปัญญาที่กระทำให้เหนื่อยหน่ายจากสังขารธรรม ละเสียได้ซึ่งความยินดีในสังขารเป็นตทังคปหานได้นามบัญญัติชื่อว่านิพพิทานุปัสสนานั้นก็ดี ปัญญาที่กระทำให้ปราศจากความกำหนัดรักใคร่ในสังขารธรรม ละเสียได้ซึ่งราคะเป็นตทังคปหาน ได้นามบัญญัติชื่อว่าวิราคานุปัสสนานั้นก็ดี ปัญญาที่กระทำให้น้อมจิตไปสู่พระนิพพาน สละละเสียซึ่งตัณหาเป็นตทังคปหาน ได้นามบัญญัติ ชื่อว่านิโรธานุปัสสนานั้นก็ดี ปัญญาที่สละละเสียซึ่งกิเลสธรรมทั้งปวง เป็นตทังคปหาน น้อมจิตไปสู่นิพพานได้นามบัญญัติชื่อว่าปฏินิสสัคคานุปัสสนานั้นก็ดี ปัญญาที่สำแดงมาสิ้นทั้ง ๒ ประการนี้นับเข้าในภวังคญาณสิ้นด้วยกัน เพราะเหตุปัญญาทั้ง ๗ นี้บังเกิดแต่กิริยาที่เห็นดับเห็นทำลายแห่งสังขารธรรมนั้นเป็นต้นเป็นเดิม

   แท้จริงวิปัสสนาญาณทั้ง ๗ ประการ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นมีนัยดังวิสัชนามาฉะนี้ บางทีสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ตรัสเทศนาโดยบัญญัตินามชื่อว่า ปริจจาคปฏินิสสัคคานุปัสสนา เพราะเหตุว่า สละละเสียซึ่งกิเลสธรรมทั้งปวง กับทั้งขันธาภิสังขารนั้นเป็นตทังคปหาน บางทีตรัสเทศนาวิปัสสนาทั้ง ๗ นี้ โดยบัญญัตินามชื่อว่าปักขันธปฏินิสสัคคานุปัสสนา เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้ เห็นโทษแห่งสังขตธรรมแล้วแลน้อมไปสู่พระนิพพาน ส่งจิตไปสู่พระนิพพาน

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเป็นใจความว่า ปัญญาที่จะละเสียซึ่งที่เกิดเฉพาะพิจารณาเอาแต่ที่ดับนั้นแล ได้ชื่อว่าภวังคญาณ สมดังบาทพระคาถาว่า

   วตฺถุสงฺกมนา เจว     สญฺญาย จ วิวฏฺฏนา

   อาวฏฺฏนา พลญฺเจว     ปฏิสงฺขา วิปสฺสนา

   อารมฺมณานิ วฺเยน     อุโภ เอเกว วตฺถุนา

   นิโรเธ อธิมุตฺตตา     อยลกฺขณวิปสฺสนา

   อารมฺมณญฺจ ปฏิสงฺขา    ภงฺคญฺจ อนุปสฺสติ

   สุญฺญโต จ อุปฏฺานํ     อธิปญฺญา วิปสฺสนา

   กุสโล ตีสุ อนุปสฺสนาสุ     จตสฺโส จ วิปสฺสนาสุ

   ตโย อุปฏฺาเน กุสลตา     นานาทิฏฺีสุ น กมฺปตีติ

   อธิบายในบาทพระคาถาว่า ปัญญาอันล่วงเสียซึ่งวัตถุอันตนพิจารณาในเดิม คือเดิมนั้นถ้าพิจารณารูปอยู่ก่อน ก็ละรูปนั้นกลับเสียมาพิจารณาซึ่งจิต จิตหมู่ใดพิจารณารูปแล้วแลดับ พระโยคาพจรก็หยั่งปัญญาพิจารณาจิตหมู่นั้น โดยกิริยาที่ดับทำลาย ตกว่าเห็นดับเห็นทำลายแห่งรูปนั้นกลับเห็นดับเห็นทำลายแห่งจิตนั้นเล่า พิจารณารูปนั้นเห็นว่าดับเร็วทำลายเร็วแล้วกลับพิจารณาจิต ก็เห็นว่าจิตนั้นดับเร็วทำลายเร็วยิ่งกว่ารูปนั้นอีกเล่า กิริยาที่เห็นดับเห็นทำลายนั้นเนือง ๆ กันหาระหว่างบ่มิได้ นี้แลเป็นวิสัยแห่งภังคญาณ ๆ นั้น ละเสียซึ่งที่เกิด ตั้งอยู่ในกิริยาอันพิจารณาซึ่งที่ดับ องอาจในที่จะพิจารณาอารมณ์เดิม แล้วแลละอารมณ์เดิมเสีย กลับพิจารณาอารมณ์หลังเป็นอันรวดเร็วยิ่งนักบ่มิได้เนิ่นช้า รู้อารมณ์ทั้งสองฝ่ายเห็นดับเห็นทำลาย ทั้งเบื้องปลายแลเบื้องต้น กำหนดกฏหมายอารมณ์ทั้งสองฝ่าย คืออารมณ์ที่เห็นกับอารมณ์ที่มิได้เห็นนั้น เหมือนกันเป็นอันเดียว เห็นแท้ว่าสังขารธรรมในปัจจุบันที่อยู่นี้ดับทำลายฉันใด สังขารธรรมในอดีตแลอนาคตที่มิได้เห็นนั้นก็ดับทำลายดังนั้น วยลักษณะวิปัสสนากล่าวคือภังคญาณนี้ เมื่อเห็นดับเห็นทำลายเนือง ๆ กันฉะนี้ ก็ยังจิตให้ยินดีในพระนิพพานธรรม กระทำจิตให้ยินดีให้อ่อนให้น้อมมห้โอนให้เงื้อมไปสู่พระนิพพาน อันเป็นปรมัตถธรรมล้ำเลิศประเสริฐยอดธรรมทั้งปวง ภังคญาณนี้เมื่อกล้าหาญย่างขึ้นถึงภูมิอธิปัญญาวิปัสสนาแล้วก็เห็นสังขารธรรมนั้นปรากฏชัดโดยสูญเปล่า ตลอดทั้งเบื้องต้นแลเบื้องปลาย ทั้งฝ่ายอดีตแลอนาคตแลปัจจุบัน

   เหตุดังนั้น พระโยคาพจรผู้ปฏิบัติในห้องภังคญาณ พึงฉลาดในอนุปัสสนา ๓ ประการ คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนาแลอัตตานุปัสสนา

   ใช่แต่เท่านั้น พึงให้ฉลาดในวิปัสสนาทั้ง ๔ คือ นิพพิทานุปัสสนาวิราคานุปัสสนาปัสสนา นิโรธานุปัสสนา ปฏินิสสัคคานุปัสสนา

   แล้วให้ฉลาดในอุปฐาน ๓ ประการ คือ ให้ฉลาดในที่จะพิจารณาสังขารให้ปรากฏ

   โดย ขยะ คือสิ้นไป ๆ โดยปกติธรรมดานั้นประการ ๑

   โดย ขยะ คือฉิบหายประลัยไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ นั้นประการ ๑

   เมื่อสูญสิ้นไปเปล่าปราศจากแก่นสารนั้นประการ ๑

   เมื่อฉลาดในปัญญาภาวนาพิธีดังนี้แล้ว สันดานแห่งพระโยคาพจรนั้นก็จะตั้งมั่นบ่มิได้หวาดหวั่นไหวด้วยอำนาจทิฏฐิต่าง ๆ มีสัสสตทิฏฐิเป็นประธานเมื่อไม่หวาดหวั่นไหวด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ตกไปในฝ่ายมิจฉาทิฏฐิแล้วกิริยาที่มนสิการว่าสังขารธรรมที่ยังมิได้ดับก็จะดับไปเป็นแท้ ซึ่งยังมิได้ทำลายก็จะทำลายเป็นแท้ มนสิการดังนี้ก็จะประพฤติเป็นไปในสันดานพระโยคาพจร ๆ นั้น ก็จะสละละเสียซึ่งอุปปบาทนิมิต แลฐิตินิมิต แลปวัตตินิมิต คือเหตุที่จะให้เห็นว่าสังขารธรรมบังเกิด สังขารธรรมตั้งอยู่สังขารธรรมประพฤติเป็นไปในสันดาน จะปราศจากสันดานแห่งพระโยคาพจร ๆ นั้นจะคงเห็นแท้ แต่กิริยาที่ดับทำลายนั้นอย่างเดียว เปรียบเหมือนบุคคลอันเป็นภาชนะที่ร้าวฉานตลอดแล้ว แลพิจารณาเห็นแต่ที่จะแตกทำลายนั้นอย่างเดียว มิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลอันเป็นธุลีอันแตกเรี่ยรายกระจายอยู่ แลพิจารณาเห็นแต่ที่จะสาบจะสูญจะอันตรธานหายไปนั้นอย่างเดียว มิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลอันเห็นฝันแท่งงาแตกทำลายสิ้นแล้ว แลพิจารณาเห็นว่าเมล็ดงานี้มีแต่จะสาบสูญสิ้นจะอันตรธานนั้นอย่างเดียว มิฉะนั้นเปรียบเหมือนดังบุรุษที่ยืนอยู่ริมกระโบกขรณี แลบุรุษที่ยืนอยู่ริมฝั่งน้ำ กาลเมื่อเม็ดฝนใหญ่ ๆ ตกลงมาเหนือหลังน้ำนั้น ฟองน้ำก็บังเกิดขึ้นเป็นต่อม ๆ เป็นเม็ด ๆ ใหญ่ออกไป ๆ บัดเดี๋ยวใจก็จะแตกจะทำลายอันตรธานสูญสิ้นบ่มิได้ตั้งอยู่นาน บุรุษที่ยืนอยู่ริมขอบสระ บุรุษที่ยืนอยู่ริมฝั่งน้ำนั้นเห็นอาการอันทำลายไป แห่งฟองน้ำ แลมีฉันใด พระโยคาพจรเจ้าผู้ปฏิบัติในห้องภังคญาณ ก็พิจารณาเห็นอาการอันดับอันทำลายแห่งสังขารมีอุปไมยดังนั้น

   เมื่อภังคานุปัสสนาญาณถึงซึ่งกล้าหาญมีกำลังแล้ว อานิสงส์ ๘ ประการซึ่งเป็นบริวารแห่งภังคญาณนั้น ก็จะบังเกิดแก่พระโยคาพจร

   อานิสงส์ ๘ ประการนั้น “ภวปิฏฺิปหานํ”  คือ จะละเสียได้ซึ่งสัสสตทิฏฐิประการ ๑

   “ชีวิตนิกนฺติปริจฺจาโค”  คือ จะสละละเสียได้ซึ่งความยินดีในชีวิต บ่มิได้รักชาติประการ ๑

   “สทา ยุตฺตปยุตฺตา”  คือ จะมีเพียรบำเพ็ญพระกรรมฐานสิ้นกาลเป็นนิตย์ประการ ๑

   “วิสุทฺธา ชีวิตา”  คือ จะประพฤติเลี้ยงชีวิตบริสุทธิ์ ปราศจากโทษประการ ๑

   “อุสฺสุปฺปหานํ”  คือ จะสละละเสียซึ่งขวนขวายในกิริยาที่จะแสวงหาเครื่องอุปโภค แลปริโภค แลบริขารต่าง ๆ จะตั้งอยู่ในที่มักน้อยประการ ๑

   “วิคตยตา จ”  คือ มีความกลัวอันปราศจากบ่มิได้สดุ้งตกใจกล้วแก่ภัยอันตรายต่าง ๆ นั้นประการ ๑

   “ขนฺติ”  คือ จะมีสันดานอันอดกลั้น กอปรด้วยอธิวาสนขันติประการ ๑

   “โสวจฺจปฏิลาโภ”  คือ จะได้ซึ่งคุณคือสภาวะว่าง่ายสอนง่ายบ่มิได้กระด้างกระเดื่องประการ ๑

   “อารติรติสหนฺติ”  คือ จะอดกลั้นได้ซึ่งความกระสันแลความยินดีบ่มิได้ลุอำนาจแห่งความกระสันแลความยินดีนั้นประการ ๑ รวมเป็น ๘ ประการด้วยกัน

  อานิสงส์ทั้ง ๘ ประการนี้ จะบังเกิดเป็นบริวารแห่งภังคญาณ จะสำเร็จแก่พระโยคาพจร อันมีสันดานประกอบด้วยภังคญาณอันกล้าหาญมีกำลังเหตุดังนั้น โบราณาจารย์จึงกล่าวซึ่งบาทพระคาถาสาธกเนื้อความที่กล่าวแล้วนั้นว่า

   “อิมานิ อฏฺ คุณมตฺตมานิ”

   “ทิสฺวา ตหึ สมฺมสตึ ปุนปฺปุนํ”

   “อาทิตฺตเจลสฺสิรสูปโม มุนิ”

   “ภงฺคานุปสฺสี อมตสฺส ปตฺติยา”

  อธิบายในบาทพระคาถาว่า บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ บำเพ็ญเพียรในห้องพระวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อพิจารณาเห็นคุณานิสงส์อันอุดมทั้ง ๘ ประการ มีนัยดังพรรณนามาฉะนี้ พึงมีอุตสาหะพิจารณาสังขารธรรมจงเนือง ๆ อย่าได้ประมาท จำเร็ญพระวิปัสสนาปัญญานั้น ได้กล้าหาญให้ย่างขึ้นถึงภูมิภังคญาณนั้นให้จงได้ พึงมนสิการกำหนดในใจ ให้เห็นอาการที่ดับที่ทำลายไปแห่งรูปธรรมนามธรรมนั้น ติดพันกันอยู่กับตนเป็นนิตย์นิรันดร์พิจารณาให้เห็นดับเห็นทำลายนั้นเนือง ๆ ในตน เปรียบประดุจบุคคลอันเพลิงไหม้ผ้าโพกศีรษะ แลพิจารณาเห็นอาการที่ไหม้ที่ร้อนนั้นเนือง ๆ ในตน ติดพันอยู่กับตน ปัญญาอันพิจารณาเห็นดับเห็นทำลายดังนี้ อาจจะเป็นปัจจัยให้เห็นพระนิพพาน อาจให้ถึงพระนิพพานสำเร็จมโนรถความปรารถนา

   “ภงคานุปสฺสนาญาณํ นิฏฺิตํ”   สำแดงภังคานุปัสสนาญาณโดยพิสดาร ยุติการเท่านี้

  แต่นี้จะสำแดงภยตูปัฏฐานสืบต่อไป ตามวาระพระบาลีว่า

   “ตสฺเสวํ สพฺพสงฺขารานํ ขยวยเภทา นิโรธา อารมฺมณํ ภงฺคานุปสฺสนานํ อาเสวนฺตสฺส พหุลีกโรนฺตสฺส ปพฺพภวโยนิคติ ิติสตฺตาวาเสสุ สเภทกา สงฺขารา สุเขน ชีวิตุกามสฺส ภิรุกปริสฺส สีหพฺยคฺฆทิปิอจฺฉตรจฺฉยกฺขรกฺขสจณฺฑโคณจณฺฑกุกฺกุรปริภินฺนมท จณฺฑหตฺถิโฆรอาสิวิสอสนิจกฺกสุสานรณภูมิชลิต องฺคารกาสุ อาทโย วิย มหาภยํ อฏหนฺติ”

  เมื่อพระโยคาพจรสร้องเสพซึ่งภังคานุปัสสนาญาณ อันกล้าหาญมีกำลังด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้นภยตูปัฏฐานญาณก็จะบังเกิดในสันดานแห่งพระโยคาพจร ๆ ก็จะพิจารณาเห็นภัยแห่งสังขารธรรม อันเวียนตายเวียนเกิดท่องเที่ยวไปในภพทั้งปวง อันอากูลไปด้วยกำเนิดทั้ง ๔ คือ อัณฑชะ แลชลัมพุชะ แลสังเสทชะ แลอุปปาติกะ ประกอบด้วยคติทั้ง ๕ คือ นิรยคติ แลเปตคติ แลติรัจฉานคติแลนุสสคติ แลเทวคติต่างกันโดยประเภทแห่งวิญญาณฐิติ ๗ แลสัตตาวาส ๙ โยคาพจรกุลบุตรผู้มีสันดานกอปรด้วยภยตูปัฏฐานญาณนั้น พิจารณาเห็นภัยเป็นอันมาก เปรียบประดุจบุรุษภิรุกชาติปรารถนาจะได้มีชีวิตอยู่โดยสุข แลพิจารณาเห็นภัยอันจะบังเกิดแต่ราชสีห์ แลเสือโคร่งเสือเหลือง พิจารณาเห็นภัยอันจะบังเกิดแต่โคร้ายแลกระบือร้ายแลช้างอันซับมันแลอสรพิษ พิจารณาเห็นภัยอันจะบังเกิดแต่ขวานฟ้า ป่าช้าแลการรณรงค์แลขุมถ่านเพลิงอันรุ่งเรืองเป็นอาทิ

  พระอรรถกถาจารย์เจ้า จึงสำแดงอุปมาแห่งภยตูปัฏฐานญาณนี้โดยนัยนิเทศวารว่า

   “เอกิสฺสา กิร อิตฺถิยา ตโย ปุตฺตา”   ดังได้ยินมาว่ามีสตรีผู้หนึ่งมีบุตรชาย ๓ คน บุตรชายทั้ง ๓ คนนั้นกระทำกรรมอันผิดประพฤติซึ่งทุจริตในพระราชฐาน พระมหากษัตริย์แจ้งเหตุอันนั้น จึงบังคับนายเพชฌฆาตให้จับบุตรชายแห่งสตรีนั้นไปทั้ง ๓ คน เพื่อจะให้ประหารชีวิตเสียทั้ง ๓ คนนั้น สตรีผู้เป็นมรรดาแลเห็นนายเพชฌฆาตนำเอาบุตรชายทั้ง ๓ คนนั้นไป ก็ร้องไห้วิ่งตามไปถึงที่ตะแลงแกงนายเพชฌฆาตจึงตัดศีรษะลูกชายใหญ่ด้วยดาบอันคมกล้าให้ขาดตกลงแล้ว ก็ปราถนาเพื่อจะตัดศีรษะลูกชายคนกลางนั้นสืบต่อไป สตรีผู้นั้นแลเห็นเขาตัดศีรษะลูกชายใหญ่ขาดตกลงแล้ว ก็เหลี่ยวหน้ามาดูลูกชายคนโตเล่านายเพชฌฆาตก็ฟันให้ศีรษะตกลง สตรีผู้นั้นก็สละเสียซึ่งอาลัยลูกชายน้อย มาดำริว่าลูกชายน้อยคนสุดท้องของอาตมานี้ไหนเลยจะรอดเล่า เขาก็จะฆ่าเสียเหมือนกัน สตรีผู้นั้นพิจารณาเห็นความตายแห่งลูกชายทั้ง ๓ คน ฉันใดก็ดี ภยญาณนี้ก็ให้พิจารณาเห็นความตายในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต ปัจจุบันมีอุปไมยดังนี้

  ถ้ามิดังนั้น เปรียบประดุจสตรีครรภ์บุตรถึง ๑๑ คน เกิดคนไหนก็ตายคนนั้น สุดแท้แต่คลอดออกมาแล้วก็ตาย แต่ตายไปถึง ๙ คนด้วยกันแล้วไม่รอดแต่สักคน ลูกที่คลอดในวาระเป็นคำรบที่ ๑๐ นั้นเล่า พอคลอดพ้นครรภ์ สตรีนั้นเอามือทั้งสองประคองลูกอุ้มขึ้นไว้ก็ตายอยู่ในมือ ครั้นว่ามีครรภ์ขึ้นมาในวาระเป็นคำรบ ๑๑ ยังมิได้คลอด สตรีนั้นก็สละละเสียซึ่งอาลัยในบุตรที่อยู่ในครรภ์ มาดำริว่าลูกอยู่ในครรภ์แห่งอาตมานี้ไหนเลยจะรอดเล่า น่าที่จะตายไปเหมือนกัน สตรีผู้เป็นมารดาพิจารณาเห็นความตายแห่งลูกชายทั้ง ๑๑ คนเหมือนกันเป็นอันเดียว แลมีฉันใดภยญาณนี้ก็พิจารณาเห็นความตายในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต แลปัจจุบันมีอุปไมยดังนั้น

  กาลเมื่อสตรีผู้เป็นมารดา พิจารณาเห็นความตายแห่งลูกทั้ง ๙ คนที่ตายแล้วนั้น มีอุปไมยดังภยญาณอันพิจารณาเห็นความตายในอดีตชาติเบื้องหลัง

  กาลเมื่อสตรีผู้เป็นมารดาพิจารณาเห็นความตายแห่งลูกชายเป็นคำรบ ๑๐ ซึ่งตายอยู่ในมือนั้น มีอุปไมยดังภยญาณอันพิจารณาเห็นความตายในชาติที่เป็นปัจจุบัน

  กาลเมื่อสตรีผู้เป็นมารดาพิจารณาเห็นความตายแห่งลูกชาย เป็นคำรบที่ ๑๑ ซึ่งอยู่ในครรภ์นั้น มีอุปไมยภยญาณอันพิจารณาเห็นความตายในชาติอันเป็นอนาคตเบื้องหน้า ฯ

  ในที่อันนี้มีคำปุจฉาว่า ภยตูปัฏฐานญาณนี้ เมื่อบังเกิดมีในสันดานแห่งพระโยคาพจรนั้น ยังพระโยคาพจรให้มีความสะดุ้งตกใจกลัวอยู่หรือ ๆ ไม่สะดุ้งตกใจกลัวเป็นประการใด

  มีคำวิสัชนาว่า   “น ภายติ”  ภยตูปัฏฐานญาณนี้นั้น จะกระทำให้พระโยคาพจรสะดุ้งตกใจกลัวหาบ่มิได้ แต่ปัญญาที่ตั้งอยู่ในภูมิภังคญาณนั้นสิยังขจัดความกลัวเสียได้แล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงปัญญาที่แก่ยังขึ้นถึงภูมิภยตูปัฏฐานญาณนี้ได้ ดังฤๅความสะดุ้งตกใจกลัวจะบงเกิดแก่พระโยคาพจรเล่า ขึ้นชื่อว่าปัญญาแก่กล้าแล้วนี้ไม่มีความกลัวเลยเป็นอันขาด แลข้อซึ่งปัญญาได้นามบัญญัติชื่อว่า ภยตูปัฏฐานญาณนั้นด้วยสามารถที่พิจารณาเห็นภัย จะมีครุวนาฉันใด มีครุวนาดังบุรุษอันเห็นขุมถ่านเพลิงทั้ง ๓ อันมีอยู่แถมประตูพระนคร ในกาลเมื่อเล็งแลดูขุมถ่านเพลิงทั้ง ๓ อันมีเปลวรุ่งโรจน์โชตนาการนั้น บุรุษนั้นจะได้สะดุ้งตกใจกลัวหาบ่มิได้ เป็นแต่พิจารณาเห็นภัยว่า สัตว์จำพวกใดตกลงในขุมถ่านเพลิงทั้ง ๓ นี้ สัตว์จำพวกนั้นก็จะได้เสวยทุกขเวทนาอันหยาบ ช้าสาหัสมิได้น้อยได้เบาเลยเป็นขันขาด   “สยํ น ภายติ”  ตกว่าบุรุษผู้นั้นตกเองหากลัวไม่แลมีฉันใด ภยตูปัฏฐานญาณนี้ก็มิได้กระทำให้พระโยคาพจรสะดุ้งตกใจกลัว เป็นแต่ให้พิจารณาเห็นมรณภัยในกาลทั้ง ๓ คือ อดีตแลอนาคต แลปัจจุบัน มีอุปไมยดังนั้น

  ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุรุษอันเห็นหลาว ๓ เล่ม คือ หลาวไม้ตะเคียน หลาวเหล็ก หลาวทอง ปักเรียงกันอยู่ในคูแทบประตูพระนครบุรุษนั้นครั้นเห็นก็มีความดำริ ถ้าสัตว์จำพวกใดตกลงถูกหลาวทั้ง ๓ สัตว์จำพวกนั้นก็ได้เสวยทุกขเวทนา อันหยาบช้ากล้าแข็งบ่มิได้เลยเป็นอันขาดมิตายก็จะลำบากแทบบรรดาตาย   “สยํ น ภายติ”  ตกว่าบุรุษนั้นตนเองหากลัวไม่ หาสะดุ้งตกใจไม่ เป็นแต่พิจารณาเห็นมรณภัยในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต แลอนาคต แลปัจจุบัน มีอุปไมยดังนั้น

  มีคำปุจฉาว่า กาลเมื่อกระทำมนสิการโดยอนิจจังเห็นอนิจจังนั้นสิ่งดังฤๅ ปรากฏอันเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจร

  กาลเมื่อมนสิการโดยทุกขังนั้น สิ่งดังฤๅปรากฏเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจร กาลเมื่อมนสิการโดยอนัตตานั้น สิ่งดังฤๅปรากฏเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาจร

  มีคำวิสัชนาว่า กาลเมื่อมนสิการโดยอนิจจังเห็นอนิจจังนั้นนิมิตคือสังขารธรรมปรากฏเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจร เพราะเหตุว่าเห็นอนิจจังแล้วก็เห็นความตายแห่งสังขารธรรมเมื่อเห็นความตายแท้สันทัด เห็นสัตว์เห็นเที่ยงที่จะตายนั้นกาลใด สังขารธรรมทั้งปวงก็ปรากฏเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจรในกาลนั้น

  แลกาลเมื่อมนสิการโดยทุกขังเห็นทุกขังนั้น รูปารูปภวปวัตติปรากฏเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจร

  รูปปารูปภปวัตตินั้น คือกิริยาที่รูปธรรมแลอรูปธรรมประพฤติเป็นไปในภพ เมื่อมีปัญญาแลพิจารณาเห็นทุกขังแล้วก็เห็นว่ากิริยาที่เวียนไปในภพนี้ อากูลมูลมองไปด้วยกองทุกข์กองภัยมีประการต่าง ๆ ความทุกข์นั้นเบียดเบียนอยู่เนือง ๆ บ่มิได้มีที่สุด บ่มิได้มีที่หยุดยั้งถึงสุคติภพที่โลกนับถือว่าเป็นสุขนั้น ก็ยังประกอบด้วยทุกข์ติดตามย่ำยีบีฑาอยู่เนือง ๆ บ่มิรู้สิ้นสุดเหตุฉะนี้ เมื่อมีปัญญาพิจารณาเห็นทุกขังสันทัดแท้แน่ในใจแล้วกาลใด กิริยาที่รูปธรรมแลอรูปธรรมอันเวียนไปในไตรภพนั้นก็ปรากฏ เป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจรในกาลนั้น

  แลกาลเมื่อมนสิการโดยอนัตตาเห็นอนัตตานั้น นิมิตแลวัตติปรากฏเป็นภัยอันพิลึกสิ้นทั้งสองประการ

  อธิบายว่ากาลเมื่อเห็นพระอนัตตานั้น รูปธรรมนามธรรมปรากฏโดยเปล่าสูญ เปรียบประดุจบ้านร้างอันเปล่าหาคนอยู่บ่มิได้ มิฉะนั้นเปรียบประดุจพยับแดด อันปรากฏเป็นแสงระยับ ๆ แล้วแลเคลื่อนหายไปบัดเดี๋ยวใจไม่ยั่งไม่ยืน มิฉะนั้นเปรียบประดุจเมืองแห่งคนธรรพเทวบุตรอันบังเกิดขึ้นต่อพอเป็นที่เล่น โดยควรแก่อัชฌาสัยแห่งคนธรรพเทวบุตรแล้วแลสาปสูญไปในขณะบัดเดี๋ยวใจนั้น บ้านร้างแลพยับแดดแลเมืองแห่งคนธรรพเทวบุตร อันตรธานเป็นอันเร็วพลันสูญเปล่าบ่มิได้เป็นหลักเป็นประธาน แลมีฉันใดรูปธรรมนามธรรมก็อันตรธานเป็นอันเร็วสูญเปล่า บ่มิได้เป็นประธาน มีอุปไมยดังนั้น

   เมื่อเห็นรูปธรรมนามธรรมปรากฏโดยเปล่าโดยสูญ บ่มิได้เป็นหลักเป็นประธานด้วยประการฉะนี้ อันว่านิมิตแลปวัตติคือสังขารธรรมอันบังเกิดแลกิริยาที่สังขารธรรมท่องเที่ยวไปในภพทั้งสองประการนี้ ก็ปรากฏเป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจร ที่พิจารณาเห็นพระอนัตตาและกระทำมนสิการโดยอนัตตานั้น

   “ภยตูปฏฺานญาณํ นิฏฺิตํ”  สำแดงภยตูปัฏฐานญาณยุติการแต่เท่านี้

  แต่นี้จะสำแดงอาทีนวญาณสืบต่อไป

   “ตสฺส ตํ ภยตูปฏฺานญาณํ อาเสวนฺตสฺส ภาเวนฺตสฺส พหุลีกโรนฺตสฺส”  

  เมื่อพระโยคาพจรกุลบุตรเสพซึ่งภยตูปัฏฐานญาณจะเริญเนือง ๆ กระทำไว้ให้มากในขันธ์สันดานแล้ว อันว่าภพแลกำเนิดคติแลวิญญาณฐิติแลสัตตาวาส ก็ปรากฏโดยสภาวะที่เร้นที่ซ่อนบ่มิได้ปรากฏโดยสภาวะหาที่พึงที่สำนักที่พิทักษ์รักษาบ่มิได้สิ้นทั้งนั้น พระโยคาพจรก็สิ้นรักสิ้นใคร่สิ้นความปราถนา อาลัยในสังขารธรรมสิ้นทั้งปวง ภพทั้ง ๓ นั้นก็ปรากฏประดุจขุมถ่านเพลิงอันเป็นเปลวรุ่งโรจน์ โชตนาการมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุนั้น ก็ปรากฏประดุจอสรพิษ ทั้ง ๔ ตัวอันมีพิษอันพิลึก ปัญจขันธ์ทั้ง ๕ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นั้นก็ปรากฏดุจนายเพชฌฆาตทั้ง ๔ อันถือดาบเงือดเงื้อไว้คอยอยู่ที่จะฟาดฟัน อายตนะภายในทั้ง ๖ คือ จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ นั้นก็ปรากฏประดุจบ้านร้างบ้านเซ บ้านเปล่าสูญสิ้นทั้ง ๖ บ้าน อายตนะ ภายนอกทั้ง ๖ คือ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ธัมมายตนะนั้นก็ปรากฏประดุจโจร ๖ คนอันมีฝีมือกล้าหยาบช้าทารุณ เข้าบ้านไหนก็จะฆ่าจะฟันชาวบ้านนั้นให้ถึงซึ่งความพินาศฉิบหาย

  วิญญาณฐิติ ๗ แลสัตตาวาส ๙ นั้น ก็ปรากฏประดุจเพลิง ๑๖ กองไหม้เป็นเปลวโดยรอบกอปรด้วยรัศมีเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ   “สพฺพสงฺขารา”  สังขารธรรมทั้งปวงนั้นก็ปรากฏประดุจฝีมืออันใหญ่อันมีพิษปวดแสบล้นพ้นที่จะอดกลั้นมิฉะนั้น  “โรคภูตา”  สังขารธรรมทั้งปวงก็ปรากฏประดุจบังเกิดเป็นโรคพยาธิเบียดเบียนให้ลำบาก เวทนาอยู่เป็นนิจนิรันดร์ มิฉะนั้น  “สลฺลภูตา”  สังขารธรรมทั้งปวงจะปรากฏประดุจดังเกิดเป็นลูกศรเสียบแทงอยู่ในกรัชกายสิ้นกาลทุกเมื่อ มิฉะนั้น  “อฆภูตา อาพาธภูตา”  สังขารธรรมทั้งปวงจะปรากฏประดุจเป็นกองทุกข์กองอาพาธ แลกองโทษอันใหญ่ปราศจากความยินดี เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นฉะนี้ จิตสันดานแห่งพระโยคาพจรนั้นก็จะมากไปด้วยสังเวชจะพิจารณาเห็นแต่โทษฝ่ายเดียว เปรียบประดุจบุรุษอันมีความปรารถนาเพื่อจะเลี้ยงชีวิตให้เป็นสุข แลเข้าไปสู่ป่าอันตั้งอยู่ด้วยอาการอันควรจะเป็นที่ผาสุกสนุกสบาย เมื่อเเรกเข้าไปสู่ป่านั้นไม่รู้ว่าป่านั้นไม่รู้ว่าประกอบด้วยสัตว์ร้าย ครั้นรู้ว่ามีสัตว์ร้ายก็สิ้นความผาสุกสิ้นความสนุกสบาย จิตนั้นประกอบด้วยความรังเกียจ พินิจพิจารณาเห็นแต่โทษนั้นฝ่ายเดียวอันนี้แลมีฉันใด อาทีนวญาณนั้น เมื่อบังเกิดในสันดานแห่งพระโยคาพจรแล้ว ก็ให้พระโยคาพจรนั้น พิจารณาเห็นภพแลคติเห็นวิญญาณฐิติแลสัตตาวาสนั้น ปราศจากสุขไม่มีความสนุกสบายเลยพิจารณาเห็นแต่โทษนั้นฝ่ายเดียว มีอุปไมยดังนั้น

  มิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุรษอันปรารถนาหาความสุข แลหลงเข้าไปในถ้ำอันประกอบไปด้วยเสือโคร่ง เดิมนั้นหารู้ว่าเสือโคร่งอยู่ในถ้ำนั้นไม่ ต่อเมื่อเข้าไปนอนไปหลับระงับกายแล้ว จึงรู้ว่าเสือโคร่งตัวใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำอันนั้น เมื่อรู้ว่าเสืออยู่ในถ้ำก็สิ้นรักสิ้นใคร่ ไม่มียินดีที่จะหลับจะนอน ใจนั้นประกอบด้วยความรังเกียจ มิได้เห็นคุณอันหนึ่งเลย เห็นแต่โทษฝ่ายเดียวอันนี้แลมีฉันใด อาทีนวญาณนั้นก็พิจารณาเห็นสังขารธรรมทั้งปวงว่า ปราศจากคุณมีแต่โทษนั้นฝ่ายเดียวมีอุปไมยดังนั้น

  มิฉะนั้น เปรียบเหมือนบุรุษอันลงสู่ประเทศที่น้ำลึก อันประกอบด้วยจระเข้แลมังกรแลผีเสื้อน้ำอันร้าย สำคัญว่าจะเล่นน้ำให้สนุกสบาย ต่อลงไปในน้ำว่ายออกไปถึงที่ลึกแล้วจึงจะรู้ว่ามีจระเข้ร้าย มีมังกรแลผีเสื้อน้ำ ครั้นรู้ก็สิ้นความปรารถนา สิ้นสนุกสบาย พินิจพิจารณาเห็นโทษนั้นฝ่ายเดียว อันนี้แลมีฉันใด อาทีนวญาณก็พิจารณาเห็นแต่โทษแห่งสังขารนั้นฝ่ายเดียว มีอุปไมยดังนั้น

  มิฉะนั้น  “มนุสฺสิตขคฺคา วิย ปจฺจตฺถิกา”  เปรียบประดุจบุรษอันมีข้าศึกถือดาบแวดล้อมขยับอยู่ที่จะฟาดจะฟัน บุรุษนั้นเห็นแต่โทษฝ่ายเดียว แลมีฉันใด อาทีนวญาณ ก็พิจารณาเห็นแต่โทษแห่งสังขารนั้นฝ่ายเดียว มีอุปไมยดังนั้น

  มิฉะนั้น  “สวีสํ วิย โภชนํ”  เปรียบเหมือนบุรษอันหลงบริโภคอาหารที่ระคนด้วยยาพิษบุรุษนั้น พิจารณาเห็นแต่โทษนั้นฝ่ายเดียวมีอุปไมยดังนั้น

  มิฉะนั้น อาทีนวญาณ ย่อมเห็นโทษแห่งสังขาร เปรียบประดุจบุรษเดินทางกันดารอาเกียรณ์ด้วยโจรร้าย แลพิจารณาเห็นแต่โทษนั้นฝ่ายเดียว

  มิฉะนั้น  “อทิตฺตํ อิว อาคารํ”  เปรียบเหมือนบุรุษเจ้าของเรือนอันเห็นเรือนไฟไหม้ติดตลอดแล้ว แลพิจารณาเห็นแต่โทษนั้นฝ่ายเดียว

  มิฉะนั้น  “อุยฺยุตฺตเสนา วิย รณภูมี”  เปรียบเหมือนเสนาอันยกออกไปสู่ที่สมรภูมิ แลพิจารณาเห็นแต่โทษฝ่ายเดียว

  นักปราชญ์สันนิษฐานว่า ภยปัฏฐานญาณกับอาทีนวญาณนี้มีอรรถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้ต่างกันนั้นหาบ่มิได้ต่างกันแต่พยัญชนะเมื่อจะสำแดงโดยนิเทศ สำแดงที่แท้นั้น ภยตูปัฏฐานญาณกับอาทีนวญาณนี้ก็อันเดียวกันนั้นแล จะได้ต่างกันหาบ่มิได้เพราะเหตุว่า เห็นภัยกับเห็นโทษนั้นไม่ห่างไกลกัน เหตุดังนั้นสมเด็จพระมหากรุณาจึงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาว่า

   “กถํ ภยตูปฏาเน ปญญา อาทีนเว ปญญา อุปฺปาโท ภยนฺติ ภยตูปฏาเน ปญฺญา อาทีนเว ญาณํ ปวตฺตํ ภยนฺติ นิมิตฺตํ ภยนฺติ ฯ เป ฯ อุปายาโส ภยนฺติ ภยตูปฏฺาเน ปญฺญํ อาทีนเว ญาณํ”

  มีพระพุทธฎีกาตรัสเป็นกเถตุกามยตาปุจฉาว่า ปัญญาอันพิจารณาเห็นภัยประพฤติเป็นไปในห้องแห่งภยตูปัฏฐาณญาณ แลจัดเอาสำแดงในห้องแห่งอาทีนวญาณ ยกขึ้นเป็นอาทีนวญาณนั้น จะได้แก่ปัญญาดังฤๅ

  ตรัสปุจฉาฉะนี้แล้ว ก็ตรัสวิสัชนาว่าปัญญาที่พิจารณาเห็นว่ากิริยาที่บังเกิดแต่ปัจจัยคือปุริมกรรม เกิดแล้วเกิดเล่า เกิดที่นี้แล้วไปเกิดที่นั้น ๆ แล้วไปเกิดที่โน้น เวียนเอากำเนิดเกิดแล้วเกิดเล่าไม่สิ้นไม่สุดไม่หยุดไม่ยั้งนี้แลเป็นภัยอันใหญ่หลวงเป็นภัยอันพิลึก ควรจะสังเวช ควรจะสะดุ้งตกประหม่า ปัญญาพิจารณาเห็นกิริยาที่บังเกิดว่าเป็นภัยอย่างนี้จัดเป็นอาทีนวญาณประการ ๑

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com