บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันต
ปิฎกเล่ม ๑๒
หมวดนี้มี

๑.ทีฆนิกาย
๒.มัชฌิมนิกาย
๓.สังยุตตนิกาย
๔.อังคุตตรนิกาย
๕.ขุททกนิกาย
..เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ
ทุกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๒ ข้อ

ติกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๓ ข้อ

เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคลปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ ทุกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐
สูตรที่ ๓

วรรคที่๑ ชื่อกัมมกรณ
วรรคที่ ๒ ชื่ออธิกรณ
วรรคที่๓ ชื่อพาล
วรรคที่๔ชื่อสมจิตต
วรรคที่๕ ชื่อปริส
ทุติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๒
ตติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๓ ติกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐

วรรคที่๑ ชื่อพาล
วรรคที่๒ ชื่อรถการ
วรรคที่๓ ชื่อปุคคล
วรรคที่๔ ชื่อเทวทูต
วรรคที่๕ ชื่อจูฬ
ทุติปัณณาสก์
หมวดที่๕๐ ที่ ๒
ทุติปัณณาสก์
หมวดที่๕๐ ที่ ๓

 

หน้าที่ ๑ ๑.ทีฆนิกาย
๒.มัชฌิมนิกาย
๓.สังยุตตนิกาย
๔.อังคุตตรนิกาย
๕.ขุททกนิกาย
..เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ
ทุกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๒ ข้อ

ติกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๓ ข้อ

..ขยายความ..

เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคลปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
ฝ่ายภิกษุ
ฝ่ายภิกษุณี
ฝ่ายอุบาสก
ฝ่ายอุบาสิกา

๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ

 

หน้าที่ ๒ ทุกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐
สูตรที่ ๓

วรรค ๑ ชื่อกัมมกรณ
วรรค ๒ ชื่ออธิกรณ
วรรค ๓ ชื่อพาล
วรรค๔ชื่อสมจิตต
วรรค๕ ชื่อปริส
ทุติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๒
ตติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๓
พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐

 

หน้าที่ ๓ ติกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐

วรรคที่๑ ชื่อพาล
วรรคที่๒ ชื่อรถการ
วรรคที่๓ ชื่อปุคคล
วรรคที่๔ ชื่อเทวทูต

 

หน้าที่ ๔
วรรคที่๕ ชื่อจูฬ
ทุติปัณณาสก์
หมวดที่๕๐ ที่ ๒

๑.ตรัสสอนพราหมณ์ชรา
๒.ทรงแสดงติตถายตนะ
พระอานนท์โต้ตอบ
กับฉันทปริพพาชก
๔.ทรงแสดงถึงกรณี
กิจของสมณะ
๕.ตรัสถึงกิจรับด่วน

 

หน้าที่ ๕ ตติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๓

๑.เมื่อก่อนตรัสรู้ ฯลฯ
๒.ทรงแสดงบุคคล
๓.ทรงแสดงถึงภิกษุ
๔.ทรงแสดงนักรบ
๕.บุคคลด้วยธรรม
พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐

 

เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๔

วรรคที่ ๕ ชื่อจูฬวรรค ว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
   ทรงแสดงว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้บุญมาก เพราะพร้อมหน้าธรรมะ ๓ อย่าง คือ   ๑. พร้อมหน้าศรัทธา    ๒. พร้อมหน้าไทยธรรม ( ของถวาย )    ๓. พร้อมหน้าผู้ควรแก่ของถวาย ( ทักขิไณยบุคคล ).

   คนมีศรัทธาพึงทราบโดยฐานะ ๓ คือ     ๑. ใคร่เห็นท่านผู้มีศีล    ๒. ใคร่ฟังพระสัทธรรม     ๓. ยินดีในการบริจากทาน.

   บุคคลเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ อย่าง จึงควรแสดงธรรม คือ    ๑. ผู้แสดงย่อมรู้อรรถรู้ธรรม   ๒. ผู้ฟังย่อมรู้อรรถรู้ธรรม    ๓. ทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟังสองฝ่ายย่อมรู้อรรถรู้ธรรม.

   กถา ( ถ้อยคำ ) ย่อมเป็นไปโดยฐานะ ๓ คือ    ๑. ผู้แสดงธรรม   ๒. ผู้ฟังธรรม   ๓. ทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟังย่อมรู้อรรถรู้ธรรม.

   สิ่งที่บัณฑิตบัญญัติ ที่สัตบุรุษ ( คนดี ) บัญญัติ   ๓ อย่าง คือ    ๑. ทาน การให้    ๒. บรรพชา การถือบวช    ๓. มาตาปิตุปัฏฐาน บำรุงเลี้ยงมารดาบิดา.

   มนุษย์ย่อมได้บุญมาก ในที่ที่บรรพชิตผู้มีศีลอาศัยอยู่ เป็นการได้บุญโดยฐานะ ๓ คือทางกาย   ทางวาจา   ทางใจ.

   ลักษณะของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ( สังขตลักษณะ ) ๓ อย่าง คือความเกิดขึ้นปรากฏ   ความเสื่อมปรากฏ   ความแปรปรวนปรากฏ   ส่วนลักษณะของสิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง (อสังขตลักษณะ) ตรงกันข้าม.

   อันโตชน ( คนภายใน ) ที่อาศัยหัวหน้าครอบครัว ผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๓ อย่าง   คือเจริญศรัทธา   ด้วยศีล   ด้วยปัญญา   เหมือนไม้สาละใหญ่ เจริญด้วยกิ่งใบ ด้วยเปลือกและสะเก็ด ด้วยกะพี้และแก่น.

   ควรทำความเพียรโดยฐานะ ๓ คือ    ๑. เพื่อมิให้เกิดอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิด     ๒. เพื่อให้เกิดกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด   ๓. เพื่ออดทนต่อทุกขเวทนากล้า. ภิกษุผู้ทำได้อย่างนี้ ชื่อว่ามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพิ่อทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดโดยชอบ.

   มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๓ จึงทำการของโจรได้ คือ    ๑. อาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ    ๒. อาสัยป่ารก   ๓. อาศัยกำลัง. ภิกษุชั่วก็ประกอบด้ยองค์ ๓   คืออาศัยทางอันไม่สม่ำเสมอ   เทียบด้วยการกระทำทางกาย   วาจา  ใจ   อันไม่เรียบร้อย   อาศัยป่าชัฏ   เทียบด้วยมีความเห็นผิด   อาศัยกำลัง   เทียบด้วยอาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ( สนับสนุน).

   

ทุติยปัณณาสก์   หมวด ๕๐  ที่ ๒

   ( ในหมวด  ๕๐ นี้ คงมี  ๕ วรรค วรรคละประมาณ  ๑๐ สูตร เช่นเดียวกับหมวด  ๕๐ ที่แล้วมา. วรรคทั้งห้า   คือ     ๑. พราหมณวรรค ว่าด้วยพรหามณ์     ๒. มหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่     ๓. อานันทวรรค ว่าด้วยพระอานนท์     ๔. สมณวรรค ว่าด้วยสมณะ     ๕. โลกรณผลวรรค ว่าด้วยเมล็ดเกลือ. ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ในหมวด  ๕๐ ที่ ๑   ย่อไว้ค่อนข้างพิศดาร พอถึงหมวด  ๕๐ ต่อไป ก็ย่อสั้นลงไปอีก ดังที่เป็นมาแล้วในทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ ,   ในติกนิบาต ชุมนุมธณรมะที่มี   ๓ ข้อนี้ ก็จะทำเช่นเดียวกัน หมายเลข ข้างหน้าข้อความจึงเท่ากับเป็นเครื่องหมายวรรคที่เท่านั้นเท่านี้ด้วย.

   ๑. ตรัสสอนพราหมณ์ชรา     อายุประมาณ ๑๒๐ ปี   ๒ คน ที่มาเฝ้าขอให้ทรงสั่งสอน จึงตรัสว่าโลกอันความแก่   ความเจ็บ   ความตาย   นำเข้าไปใกล้   จึงสำรวมทางกาย  วาจา   ใจ   เพื่อเป็นเครื่องต้านทานเป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไปในเบื้องหน้าของผู้ที่ละโลกนี้ไป
และทรงสอนพราหมณ์ชราทั้งสองคน   ในทำนองเดียวกัน เป็นแต่แสดงว่า  โลกร้อน   ( ลุกเป็นไฟ )  เพราะความแก่   ความเจ็บ   ความตาย.
ตรัสตอบปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่ง   เรื่องธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง ( สันทิฏฐิกะ ) ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันผู้รู้พึงทราบจำเพราะตน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อคนกำหนัดแล้ว คิดประทุษร้ายแล้ว  หลงแล้ว   ย่อมคิดเบียดเบียนตน   คนอื่น   ทั้งตนทั้งผู้อื่น ได้ประสบความทุกข์โทมนัส  เมื่อละราคะ โทสะ โมหะได้   ก็ไม่เป็นเช่นนั้น . และนี่เเหละคือธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นต้น.
ตรัสตอบปัญาหของพราหมณ์ปริพพาชกผู้หนึ่ง   เรื่องธรรมะที่เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นต้น โดยชี้ไปที่ราคะ   โทสะ   โมหะเช่นเดิม เป็นแต่ย้ายสำนวนว่า ผู้กำหนัดแล้ว คิดประทุษร้ายแล้ว   หลงแล้ว ย่อมคิดเบียดเบียนดั่งกล่าวข้างต้น,   ย่อมประพฤติทุจริตกาย   วาจา   ใจ ,   ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งของตนทั้งของผู้อื่นตามความเป็นจริง.
ตรัสตอบปัญหาของชาณุสโสณิพราหมณ์   เรื่องนิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ( สันทิฏฐิกะ ) ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู เป็นต้น โดยชี้ไปที่การที่บุคคลถูกราคะ   โทสะ   โมหะ   ครอบงำจิต   ย่อมคิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น หรือคิดเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นดั่งกล่าวข้างต้น.
ตรัสตอบปัญหาของพราหมณมหาศาลคนหนึ่ง   ถึงเรื่องความเสื่อมของมนุษย์และบ้านเมือง โดยชี้ไปที่การที่มนุษย์ยินดีในอธรรม,   โลภอย่างไม่เลือกทาง ( วิสมโลภ) ,   มีธรรมะที่ผิดนำทาง .
ตรัสตอบปัญหาของวัจฉโคตรปริพพาชก  ผู้ได้ฟังมาว่า พระองค์สอนให้ถวายทานแก่พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่น ทานที่ถวายแก่พระองค์และสาวกของพระองค์มีผลมาก ที่ให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก. ตรัสปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง   ผู้ใดห้ามผู้ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่คน   ๓ ประเภท คือ   แก่ผู้ให้   แก่ผู้รับ และทำลายตนเองก่อน   แล้วตรัสว่า ผู้ใดเทน้ำล้างถาดหรือน้ำล้างชามลงไปในน้ำครำหรือในหลุมโสโครก ด้วยคิดว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในนั้น จะได้ยังชีพ ก็ยังได้บุญ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ แต่ตรัสว่า ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก,  ให้แก่ผู้ทุศีลไม่มีผลมาก,   ทานที่ให้แก่ผู้ละองค์ ๕ ( นีวรณ์กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ๕ ) ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ( ศีล,  สมาธิ ,  ปัญญา,  วิมุติ,  วิมุติติฌาณทัสสนะ )   มีผลมาก.
ตรัสแสดงธรรมแก่ติกัณณพราหมณ์  ผู้สรรเสริญพราหมณ์ผู้รู้วิชชา ๓ ( พระเวททั้งสาม ) โดยอธิบายวิชชา ๓  ในพระพุทธศาสนา คือ   ปุพเพนิวาสานุสสตญาณ ( ละรึกชาติได้ )   จุตูปาตญาณ ( เห็นความตายความเกิดหรือมีทิพยจักษุ )   และอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำให้สิ้น).
ทรงแสดงธรรมแก่ชาณุสโสณิพราหมณ์  โดยอธิบายเรื่องวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนาดั่งกล่าวข้างต้น ต่างจากพระเวททั้งสามของพราหมณ์.
ทรงแสดงธรรมแก่สังคารวพราหมณ์  เรื่องการบูชายัญ และปาฏิหาริย์ ๓   คือ อิทธิปาฏิหาริย์   ( แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ),   อาเทสนาปาฏิหาริย์ ( ดักใจทายใจ ได้เป็นอัศจรรย์ ) และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ( สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ) เมื่อตรัสอธิบายและตรัสถามให้พราหมณ์ตอบพราหมณ์ก็ตอบแสดงความพอใจในอนุสาสนีปฏิหาริย์ ( สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ) ว่าดีงามกว่า ประณีตกว่า.

    ๒. ทรงแสดงติตถายตนะ   ( ลัทธิศาสนา , ลัทธิเดียรถีย์ ) ๓ คือ ถือว่าสุข   ทุกข์   มิใช่ทุกข์   มิใช่สุข   ที่บุคคลเสวยทั้งปวง เกิดขึ้น    ๑. เพราะเหตุที่ทำไว้ในกาลก่อน   ๒. เพราะพระผู้เป็นเจ้าบันดาล ( อิสสรนิมมานเหตุ )    ๓. เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย. ทรงค้านลัทธิศาสนาทั้งสามนั้นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ที่บุคคลประพฤติทุจจริตกาย   วาจา   ใจ   ก็คงจะเนื่องมาจากเหตุสามประการนี้. แล้วทรงแจกธาตุ ๖  อายตนะ ๖   มโนปวิจาร ๑๘   ( ความท่องเที่ยวไปแห่งใจในอารมณ์ ๖   มีรูป   เสียง   เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส,   โทมนัส ,   อุเบกขา   จึงเป็น ๑๘   คืออารมณ์ ๖ × เวทนา ๓ = ๑๘ )   อริยสัจจ์ ๔   ( มีข้อน่าสังเกตในการอธิบายอริยสัจจ์ ๔   ทรงอธิบายอริยสัจจ์ข้อที่ ๑   กับที่ ๔   คือ ทุกข์   กับ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ตามแนวทั่วไป ๆ ไป แต่อริยสัจจ์ข้อที่ ๒   กับที่ ๓   คือ  ทุกขสมัย   ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสายเกิดตลอดสาย ว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนทุกขนิโรธ ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสายดับตลอดสาย ว่าเป็นความดับทุกข์ ).
ทรงแสดงอมาตาปุตติกภัย คือภัยที่แม่ลูกพลัดกัน ตามความเข้าใจของบุถุชน ( คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส ) ว่าได้แก่ไฟไหม้,   น้ำท้วม,   โจรปล้นและทรงชี้ว่า   บางครั้งแม่ลูกก็พบกันได้ ส่วนภัยที่แม่ลูกพลัดกัน คือความแก่   ความเจ็บ   ความตาย   ซึ่งแม่หรือลูกจะปราถนาให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่แก่   ไม่เจ็บ   ไม่ตายไม่ได้   แล้วทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘   ว่าเป็นข้อปฏิบัติเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงภัยทั้งสามนี้.
ตรัสตอบคำถามของพราหมณ์คฤหบดี ชาวบ้านพราหมณ์  ชื่อ  เวนาคปุระ   ผู้เห็นอินทรีย์และพระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์ผ่องใส จึงกราบทูลถามว่า ทรงใช้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่   มีอาสันทิ   บัลลังก์   เป็นเต้น ได้ตามต้องการใช่หรือไม่ ทรงชี้แจงว่า ที่นั่งหรือที่นอนสูงใหญ่ แบบนั้นไม่ควรแก่สมณะ แต่มีอยู่ ๓   อย่างที่ทรงได้ตามต้องการ คือที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ที่เป็นทิพย์ อันได้แก่การเข้าฌาน ๔ ,   ที่เป็นพรหม   อันได้แก่การเจริญพรหมวิหาร ๔   มีเมตตา   เป็นต้น,   ที่เป็นอริยะ   อันได้แก่การละ   ราคะ   โทสะ  โมหะ.
ตรัสปรารภสรภปริพพาชก  ผู้เข้ามาบวชแล้วหลีกไปจากพระธรรมวินัย เที่ยวอวดอ้างว่าตนรู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรแล้ว เมื่อรู้ทั่วแล้ว จึงหลีกไปจากพระธรรมวินัยนั้น. พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จไปยังอารามของปริพพาชก ถามให้สรภปริพพาชกตอบในที่ประชุมปริพพาชกว่า รู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรอย่างไร ถ้าบกพร่องก็จะช่วยเติมให้ ตรัสถามถึง   ๓ ครั้ง สรภปริพพาชกก็ไม่ตอบ   นั่งนิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า จึงตรัสว่า ผู้ที่พูดโอ้อวดเช่นนี้ เมื่อตรัสสอบถามเข้า ก็มีทางไปอยู่   ๓ ทาง คือ   ๑. พูดเลี่ยงไปเลี่ยงมา   ๒. แสดงอาการโกรธเคือง  ๓. นั่งนิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า.
ตรัสแสดงธรรมแก่ชาวนิคมเกสปุตตะแคว้นกาลามะ ผู้ทูลถามถึงสมณพราหมณ์ต่าง ๆ ที่ยกย่องวาทะของตนข่มผู้อื่น ตรัสสอนมิให้เชื่อ   ๑. โดยฟังตามกันมา  ๒. โดยนำสืบกันมา  ๓. โดยตื่นข่าวลือ  ๔. โดยอ้างตำรา  ๕. โดยนึกเดาเอา  ๖. โดยคาดคะเน  ๗. โดยตรึกตามอาการ  ๘. โดยพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน   ๙. โดยเห็นว่าพอเชื่อได้  ๑๐. โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง.
แล้วตรัสถามให้เห็นจริงในโทษของความโลภ   ความคิดประทูษร้าย   ความหลง  และคุณของความไม่โลภ   ไม่คิดประทุษร้าย   ไม่หลง   ตรัสเรื่องการเจริญพรหมวิหาร ๔ คือ   เมตตา ( ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข )   กรุณา   ( สงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์)   มุทิตา ( ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่ริษยา )   อุเบกขา ( วางใจเป็นกลาง )   แล้วแสดงว่า ผู้มีจิตไม่ผูกเวร ไม่พยาบาท   ไม่เศร้าหมอง   มีจิตบริสุทธิ์   ย่อมวางใจ   ( หรือเบาใจสบายใจได้ ) ๔ อย่าง   คือ    ๑. ถ้าผลของความดีความชั่วมี ตนก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ( เพราะตนทำความดี )    ๒. ถ้าผลของความดีความชั่วไม่มี ก็รักษาตัวให้มีความสุขได้ในปัจจุบัน    ๓. ถ้าทำบาปเป็นอันทำตนไม่ทำบาปก็คงจะไม่ประสบทุกข์    ๔. ถ้าทำบาปไม่เป็นอันทำ ก็เห็นตัวเองว่าบริสุทธิ์ทั้งสองทาง ( คือไม่ว่าจะทางทำบาปเป็นอันทำ หรือทำบาปแล้วไม่เป็นอันทำ ตนก็ไม่มีข้อเสียหายทางไหนเลย ) ชาวกาลามะกราบทูลเห็นด้วยกับความวางใจหรือความอุ่นใจ ๔   ประการเกี่ยวกับโลกหน้าของผู้มีจิตอันไม่ผูกเวร เป็นต้น คือ    ๑. ถ้าโลกหน้ามี   ถ้าผลแห่งกรรมดีกรามชั่วมี   ก็มีฐานะอยู่ที่เราจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์   ๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี   ถ้าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เราก็บริหารตนให้ไม่มีเวรอยู่เป็นสุขได้ในปัจจุบัน   ๓. ถ้าทำบาปเป็นอันทำ เราไม่ได้ทำบาปก็คงจะไม่ได้รับทุกข์   ๔. ถ้าทำบาปไม่เป็นอันทำ เราก็มองเห็นตัวเองบริสุทธิ์ทั้งสองทาง.

พระนันทกะแสดงธรรมสอน  สาฬหะ   หลานมิคารเศรษฐี   และโรหนะ หลานเปขุณิยเศรษฐี ( อรรถกถาว่า เขณิยเศรษฐี ) มิให้เชื่อตามที่ฟังตามกันมา เป็นต้น คล้ายคลึงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนชาวกาลามะ   ต่างแต่แสดงโลภะ   คู่กับ อภิชฌา   โทสะ   คู่กับพยาบาท   โมหะ   คู่กับอวิชชา   ( ว่าเป็นพวกเดียวกันในคู่นั้น ๆ ) แล้วแสดงถึงข้อปฏิบัติพรหมวิหาร ๔   มีเมตตา   เป็นต้น จนจิตหลุดพ้นจากอาสวะ นิพพานได้ในปัจจุบัน.
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงเรื่องกถาวัตถุ   ( เรื่องของคำพูด )   ๓ อย่าง คือถ้อยคำที่ปรารภอดีต ,   อนาคต,   และปัจจุบัน   และเรื่องบุคคลผู้ควรพูดด้วย   ไม่ควรพูดด้วย   พึงทราบด้วยการเผชิญถ้อยคำ   คือปัญหาที่ควรตอบแง่เดียว ,   ควรตอบแยกตามเหตุผล ( หลายแง่ ),   ควรย้อนถาม   หรือความระงับไว้ไม่ตอบ  ถ้าบุคคลไม่ตอบตามที่ควร   ก็ไม่ควรพูดด้วย   ถ้าตอบตามที่ควร   ก็ควรพูดด้วย   นอกจากนั้นยังทรงแสดงผู้ควรพูดด้วย   ไม่ควรพูดด้วย ที่มีลักษณะอื่น ๆ อีก.
ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า   ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามว่า   ราคะ  โทสะ   โมหะ   ต่างกันอย่างไร   พึงตอบว่า   ราคะมีโทษน้อย   แต่คลายช้า ,   โทสะมีโทษมาก   แต่คลายเร็ว,   โมหะมีโทษมาก   และคลายช้า.   สุภนิมิต ( เครื่องหมายที่สวยงาม )   ทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น   ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น.   ปฏิฆนิมิต ( เครื่องหมายที่ทำให้ขัดใจ )   ทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น   ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น.   อโยนิโส มนสิการ   ( การไม่ทำไว้ในใจคือไม่พิจารณาโดยแยบคาย )   ทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น.
ทรงแสดงโลภะ   โทสะ   โมหะ  ว่าเป็นอกุศลมูล   ( มูลรากแห่งอกุศล )   อโลภะ   อโทสะ   อโมหะ   ว่าเป็นกุศลมูล   ( มูลรากแห่งกุศล )
ทรงแสดงธรรมแก่นางวิสาขา  เรื่องอุโบสถ   ๓ อย่าง คือ   โคปาลอุโปสถ   ( อุปโบสถ   หรือการรักษาศีล   หรือจำศีลแบบคนเลี้ยงโค )   ได้แก่การรักษาอุโบสถด้วยความโลภ   คิดแต่จะกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนคนเลี้ยงโค   คิดแต่เรื่องการหากินของโค   นิคคัณฐอุโบสถ   ( อุโบสถของนักบวชพวกนิครนถ์ ) ได้แก่อุโบสถแบบนิครนถ์   คือเว้นชักชวนให้จากการฆ่าสัตว์เจาะจงอุทิศ   เจาะจงบางประเภท   ไม่นุ่งผ้าด้วยคิดว่าหมดกิเลส ชักชวนให้พูดปดในสมัยที่ควรชักจูงให้พูดจริง บริโภคของที่ไม่มีผู้อื่นให้ ( ไม่ได้ประเคน )   ในเวลารุ่งเช้า อุโบสถทั้งสองแบบนี้ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก. ส่วนอุโบสถประเภทที่   ๓ คือ   อริยอุโบสถ   ( อุโบสถแบบพระอริยเจ้า ) ได้แก่เพียรชำระจิตที่เศร้าหมองด้วยความพยายาม   และระลึกถึง ( คุณของ ) พระพุทธเจ้า ,   ระลึกถึง ( คุณของ ) พระธรรม ,  ระลึกถึง ( คุณของ ) พระสงฆ์ ,   ระลึกถึงศีลของตน ,   ระลึกคุณที่ทำให้เป็นเทวดา และพิจารณาองค์อุโบสถทีละข้อ ซึ่งตนตั้งใจรักษาคืนหนึ่งกับวันหนึ่งเทียบกับพระอรหันต์. แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของอริยอุโบสถว่า มากยิ่งกว่าการครองราชย์ในชนบททั้งสิบหก.

    ๓. พระอานนท์โต้ตอบกับฉัทปริพพาชก     อธิบายการละราคะ   โทสะ   โมหะ   พร้อมทั้งข้อปฏิบัติเพื่อละให้ฟัง ปริพพาชกกล่าวชมเชย.
   พระอานนท์โต้ตอบกับคฤหบดีคนหนึ่ง   ผู้เป็นสาวกของชีวกผู้ถามว่า ใครกล่าวธรรมไว้ดีแล้ว   ใครปฏิบัติในโลก   ใครเป็นพระสุคต ( ผู้ไปดี )   ในโลก. พระอานนท์ถามว่าผู้ใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ  โทสะ   โมหะ   ผู้นั้นจะเชื่อว่ากล่าวธรรมไว้ดีแล้วหรือไม่ ตอบว่า กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว. ถามว่า ผู้ใดปฏิบัติเพื่อละราคะ   โทสะ  โมหะ  ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติในโลกหรือไม่ ตอบว่า ใช่ ถามว่าผู้ใดละราคะ   โทสะ   โมหะ   ได้เด็ดขาด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพระสุคตในโลกหรือไม่ ตอบว่า เป็น. พระอานนท์จึงตอบสรุปว่า เป็นอันท่านตอบปัญหาของท่านด้วยตนเองแล้ว. คฤหบดีสาวกของอาชีวกก็ชมเชยว่า แสดงธรรมไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น จึงแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.
พระผู้มีพระภาค  ทรงหายประชวรจากไข้ไม่นานนัก มหานามศากยะ ( พี่พระอนุรุทธเถระ มีศักดิ์เป็นน้องพระผู้มีพระภาค ) เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องสมาธิกับญาณ อย่างไหนจะเกิดก่อน. พระอานนท์เกรงจะเป็นการรบกวนพระผู้มีพระภาค จึงจับแขนชวนมหานามศากยะไปสนทนากันที่อื่น แล้วกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงศีล   สมาธิ   ปัญญา   ไว้อย่างที่เป็นเสขะ   ( ของผู้ยังศึกษา ) ทั้งที่เป็นอเสขะ   ( ของผู้ไม่ต้องศึกษา คือที่เป็นพระอรหันต์ ) พร้อมทั้งแสดงรายการเรื่องศีล   สมาธิ   ปัญญา   ที่เป็นเสขะ.
พระอานนท์แสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวี ๒ องค์  คือ อภัยกับปัณฑิตกุมารกะ ผู้เล่าถึงเรื่องนิครนถนาฏบุตร ผู้ปฏิญญาถึงญาณทัสสนะของตนเองว่ารู้รอบไม่มีส่วนเหลือไม่ว่าจะเดิน,   ยืน,   หลับ,   ตื่น   ญาณทัสสนะจะปรากฏติดต่อสมบูรณ์ตลอดเวลา. นิครนถนาฏบุตรนั้นบัญญัติความสิ้นสุดแห่งกรรมเก่าด้วยตบะ ( ความเพียร ทรมานตน ),   การชักสะพาน ( งดเว้น เลิกทำ )   กรรมใหม่ด้วยการไม่ทำ,   เพราะสิ้นกรรม   ก็สิ้นทุกข์   เพราะสิ้นทุกข์   จึงสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ความทุกข์ทั้งปวงจึงหมดสิ้นไป ความก้าวล่วงทุกข์ ย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์อันไม่เสื่อมโทรม เห็นได้ด้วยตนเองดังนี้ ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร. พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิชชราวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์อันไม่ชรา ไม่เสื่อมโทรม )   ๓ ประการ   เพื่อดับทุกข์ เพื่อทำให้แจ้งด้วยนิพพาน คือภิกษุตั้งอยู่ในศีล ( ปาฏิโมกข์ ),   เจริญฌาน ๔   ( สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ),   ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ   และปัญญาวิมุติ   อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. สองมาณพก็ชื่นชมภาษิตของพระเถระ.
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า ท่านทั้งหลายจงอนุเคราะห์ญาติมิตรสายโลหิตให้ตั้งอยู่ในความเชื่ออันไม่หวั่นไหวในพระรันตตรัย.
พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามของพระอานนท์   ผู้กราบทูลถามเรื่องเหตุที่ให้มีภพ ( คือความมีความเป็น ) โดยทรงชี้ว่า   กรรมเป็นนา,   วิญญาณเป็นพืช,   ตัญหาเป็นยางเหนียว ( ในพืช ).     ตรัสชมเชยพระอานนท์ว่า   เป็นพระเสขะ   ยากที่จะมีผู้เสมอในทางปัญญา เมื่อตรัสเรื่องศีล,   พรต,   พรหมจรรย์   เป็นต้นว่า มีแก่นสาร   มีผลทุกอย่างหรือ พระอานนท์ตอบแบ่งว่า อย่างไหนเมื่อเสพเข้าอกุศลธรรมเจริญ อย่างนั้นก็มีแก่นสาร มีผล. ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์เรื่องกลิ่นที่ไปได้ทั้งตามลมและทวนลม โดยทรงชี้ไปที่กลิ่นศีล.
ตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์   เรื่องโลกธาตุขนาดเล็ก จำนวนพัน,   ขนาดกลางจำนวน   ๒ พัน   ขนาดใหญ่ จำนวน   ๓ พัน   มีพระจันทร์   พระอาทิตย์   จำนวนพัน ๆ.

    ๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงกรณียกิจของสมณะ   คือการสมาทานอธิศีล,   อธิจิต,   และอธิปัญญา.   อรรถกถา   อธิบายว่า อธิศีล   อธิจิต   อธิปัญญาไว้น่าฟังมาก คือกล่าวว่า เรื่องนี้ก็คือ เรื่องของศีล   การรักษา   กายวาจาให้เรียบร้อย   จิตที่ประกอบด้วยคุณธรรมคือสมาธิ และปัญญาความรอบรู้นั้นเอง ถ้าจะรู้ว่าเป็น   “ อธิ ”   คือ   “ ยิ่ง ”   ก็ให้ตั้งเกณฑ์ศีล ,  จิต หรือปัญญาธรรมดา แล้วเทียบกับศีล จิต ปัญญา ที่สูงกว่า อันที่สูงกว่า ก็เป็นอธิศีล   อธิจิต  อธิปัญญา   เช่นเมื่อเทียบกับศีล ๕   ศีล ๑๐,  ก็เป็นอธิศีล,   เมื่อเทียบกับศีล ๑๐ ,  ปาริสุทธิศีล ก็เป็นอธิศีล,   เมื่อเทียบกับโลกิยศีล ,  โลกุตตรศีล ก็เป็นอธิศีล;   เมื่อเทียบกับกามาวจรจิต, รูปาวจรจิตก็เป็นอธิจิต,   เมื่อเทียบกับรูปาวจรจิต,   อรูปาวจรจิตก็เป็นอธิจิต ดังนี้เป็นต้น ).
ตรัสแสดงธรรมเรื่องลาเดินตามหลังโค  ร้องว่า  ฉันเป็นโค  ฉันเป็นโค แต่สีกาย เสียง และรอยเท้าก็ไม่เหมือนของโคฉันใด ภิกษุบางรูปที่เดินตามหลังภิกษุสงฆ์ กล่าวว่า  ฉันเป็นภิกษุ  ฉันเป็นภิกษุ  แต่ความพอใจในการสมาทาน  อธิศีล,  อธิจิต ,   อธิปัญญา ของภิกษุนั้น ย่อมไม่เหมือนของภิกษุเหล่าอื่น จึงได้แต่ตามหลังเท่านั้น.
ตรัสแสดงเรื่องกิจที่ควรทำก่อนของผู้ครองเรือนที่เป็นชาวนา ๓ อย่าง  คือ   ๑. ไถพื้นให้ดี  ๒.ปลูกพืชโดยกาลอันสมควร  ๓. นำน้ำมา ( ไขน้ำเข้านา ) โดยสมัยอันสมควร ทรงเปรียบเทียบด้วยกิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ   ๓ อย่าง คือ   การสมาทานอธิศีล,  อธิศีล,   อธิปัญญา.
ตรัสสอนภิกษุวัชชีบุตร  ผู้ปรารภว่าสิกขาบท ๑๕๐   ( เท่าที่บัญญัติไว้ในครั้งนั้น แต่ต่อมายังทรงบัญยัติไว้มากกว่านั้น ) ซึ่งมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ( คือที่สวดปาฏิโมกข์ทบทวนกันทุกกึ่งเดือน ) มากไป  ไม่สามารถจะรักษาได้. พระองค์ตรัสถามว่า เธอจะสามารถศึกษาในสิกขา   ๓ คือ   อธิศีลสิกขา  อธิจิตสิกขา  อธิปัญญาวิกขาได้หรือไม่. เมื่อกราบทูลตอบว่า  รักษาได้ จึงตรัสว่า  เมื่อเธอศึกษา  อธิศีล  เป็นต้นแล้ว  ก็จะละราคะ  โทสะได้  ไม่ทำ  ไม่เสพอกุศล.
ตรัสตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่ง  เรื่องพระเสขะ  ว่าได้แก่ผู้ศึกษาอธิศีล  อธิจิต และอธิปัญญา .
ตรัสแสดงว่า พระโสดาบัน  เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา แต่ก็อาจต้องอาบัติเล็กน้อยได้ มี   ๓ ประเภท คือ   เพราะสิ้นสัญโญชน์ .  ๓ จึงจะท่องเที่ยวไปในเทพและมนุษย์อย่างมากเพียง ๗ ครั้งก็ทำที่สุดทุกข์ได้,   ท่องเที่ยวไปสู่ ๒ - ๓ สกุล     ( ๒ - ๓ ชาติ ) ก็ทำที่สุดทุกข์ได้,  เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียวก็ทำที่สุดทุกข์ได้. ทรงแสดงพระ สกทคามี   พิเศษออกไปว่า เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓   และเพราะมีราคะ   โทสะ  โมหะน้อยลง ( กว่าพระโสดาบัน ) จึงจะมาสู่โลกนี้ เพียงครั้งเดียวแล้วทำที่สุดทุกข์ได้. ทรงแสดง พระอนาคามี ว่าทำให้บริบูรณ์ในศีล ,  ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ,   ทำพอประมาณในปัญญา   เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๕ )   เพิ่มการละกามราคะ   ความกำหนัดในกาม   และปฏิฆะ  ความขัดใจ  รวมเป็นข้อที่   ๔ และที่   ๕ จึงเป็นพระอนาคามีประเภทใดประเภทหนึ่งใน   ๕ ประเภท คือ   ๑. อุทธังโสโต   อกนิฏฐคามี   ( ผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ )   ๒. สสังขารปรินิพพานยี ( ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม )   ๓. อสังขารปรินิพพานยี ( ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม )   ๔. อุปหัจจปรินิพพานยี ( มีอายุเกินกึ่ง   จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมายถึงบรรลุอรหัตตผล   เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย  ตรังนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด )   ๕. อัตราปรินิพพายี   ( มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้ ). แล้วตรัสแสดงถึงท่านผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ  อันไม่มีอาสวะ   ( พระอรหันต์ )   ว่าเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล , สมาธิ, และปัญญา.   ตรัสอธิบาย   การมีศีล  สำรวมในพระปาฏิโมกข์   ว่าเป็นอธิศีลสิกขา,   การเจริญฌาน ๔   ว่าเป็นอธิจิตตสิกขา ,   การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริงว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา.   อีกนัยหนึ่งทรงแสดง การทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา.
ตรัสสอนภิกษุกัสสปโคตร ผู้อยู่ในนิคมปังกธา   ถึงภิกษุที่พระองค์ตรัสสรรเสริญและไม่ตรัสสรรเสริญ แม้เป็นภิกษุหนุ่มถ้าใคร่การศึกษา สรรเสริญการศึกษา ชักชวนเพื่อการศึกษา เป็นต้น ก็ตรัสสรรเสริญ.

    ๕. ตรัสถึงกิจรีบด่วน    ของผู้ครองเรือนที่เป็นชาวนา ๓ ประการ   คือการไถ ,   การปลูกพืช,   และการไขน้ำเข้านาเทียบด้วยสิกขา
๓. ตรัสแสดงการบัญญัติปวิเวก   ( ความสงัด ) ๓ ประการของนักบวชลัทธิอื่น คือ   จีวรวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะผ้านุ่งห่ม )  ปิณฑปาตวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้นเพราะอาหาร )   เสนาสนปวิเวก ( ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะที่อยู่อาศัย ) โดยกำหนดการใช้ผ้านุ่งห่มการบริโภคอาหาร ที่อยู่อาศัยอย่างนั้นอย่างนี้. ส่วนปวิเวกในพระธรรมวินัยมี   ๓ อย่าง คือ    ๑. มีศีล ละความทุศีลได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น    ๒. มีความเห็นถูก ละความเห็นผิดได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น   ๓. สิ้นอาสวะ ละอาสวะได้ สงัดจากกิเลสเพราะเหตุนั้น.
ทรงแสดงการที่ภิกษุละสัญโญชน์ ๓ ได้  ต่อมา นำตนออกจากอภิชฌา ( ความโลภ ) พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ได้,   เจริญฌานที่ ๑ ได้ ถ้าสิ้นชีวิตในสมัยนั้นก็จะไม่มาสู่โลกนี้ ( เป็นพระอนาคามี ).
ทรงแสดงบริษัท   ๓ ประเภท   คือ ที่เลิศ,   ที่เป็นพรรค เป็นพวก ,   ที่สามัคคีกัน.
ทรงแสดงม้าอาชาไนย   ที่ควรแก่พระราชา คือสมบูรณ์ด้วยผิวพรรณ,  กำลัง ,   และฝีเท้า  เทียบด้วยภิกษุมีศีล,   มีความเพียร,   มีปัญญารู้อริยสัจจ์ ๔   ตามเป็นจริง.
อีกนัยหนึ่งเทียบด้วยภิกษุ   มีศีล,   มีความเพียร,  ละสัญโญชน์ ๕ ได้ ( เป็นพระอนาคามี ) .
อีกนัยหนึ่งเทียบด้วยภิกษุ   มีศีล,   มีความเพียร,  ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ   อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่าผ้าเปลือกไม้   แม้จะใหม่,   ปานกลาง ,   หรือเก่า   ก็มีสีทราม   มีสัมผัสหยาบ   มีราคาถูก   ถ้าเป็นผ้าเก่า เขาก็ใช้เป็นผ้าเช็ดหม้อ   หรือทิ้งที่กองขยะเปรียบเหมือนภิกษุผู้ทุศีล   ไม่ว่าจะเป็นภิกษุใหม่   ปานกลาง,   หรือผู้เฒ่า   การที่ทุศีลเทียบด้วยมีสีทราม,   ทำคนที่คบหาให้ขาดประโยชน์มีทุกข์   เทียบด้วยมีสัมผัสหยาบ,   การรับปัจจัย ๔   ซึ่งไม่มีผลมากแก่ผู้ถวาย   เทียบด้วยมีราคาถูก.   ส่วนผ้ากาสีตรงกันข้าม   มีสีดี   มีสัมผัสนุ่มนวล   มีราคาแพง   แม้เก่าแล้วเขาก็ใช้ห่อรันตะ   หรือใส่ไว้ในกรักของหอม.   แล้วทรงเทียบด้วยภิกษุผู้มีศีล ในทางตรงกันข้ามกับภิกษุผู้ทุศีล. ในที่สุดตรัสสอนให้เป็นอย่างผ้ากาสี อย่าเป็นอย่างผ้าเปลือกไม้
ตรัสสอนว่าบุคคลทำกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเดียวกัน   แต่กรรมส่งผลให้บางคนไปสู่นรก บางคนได้รับผลในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยไม่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่แกการที่บุคคลอบรมกาย   อบรมศีล   อบรมจิต   อบรมปัญญาหรือไม่   เปรียบเหมือนเอาเมล็ดเกลือใส่ลงในจอกน้ำเล็ก ๆ น้ำในจอกนั้นก็เค็มได้ แต่ถ้าใส่ลงไปในแม่น้ำคงคาก็ไม่เค็ม เพราะเป็นห่วงน้ำใหญ่ .
ทรงแสดงอุปกิเลส ( เครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๓ )   ของภิกษุผู้บำเพ็ญสมาธิ   ว่ามี ๓ ชั้น คืออย่างหยาบ   ได้แก่ทุจจริตกาย   วาจา   ใจ,   อย่างกลางได้แก่ความตรึก ( วิตก ) ในกาม   ในการคิดปองร้าย   ในการเบียดเบียน ,   อย่างละเอียด   ได้แก่ความตรึกถึงชาติ   ความตรึกถึงชนบท และความตรึกที่ไม่ต้องการให้ใครดูหมิ่น เปรียบเหมือนเครื่องเศร้าหมองของเงินทองมีทั้งอย่างหยาบ   อย่างกลาง   และอย่างละเอียด แล้วทรงแสดงถึงการที่จิตเป็นสมาธิ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นเหตุให้บรรลุอภิญญา ๖ คือ    ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้    ๒. ทิพพโสต หูทิพย์    ๓. เตโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่น    ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้    ๕. จุตูปปาตญาณ มีทิพยจักษุ เห็นความตายความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และ    ๖. อาสวักขยญาณ บรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.
ทรงแสดงว่าภิกษุผู้บำเพ็ญสมาธิ  พึงใส่ใจนิมิต ( เครื่องหมายในจิตใจ ) ๓ อย่าง โดยกาลอันสมควร ได้แก่สมาธินิมิต (เครื่องหมายคือสมาธิหรือความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ) ปัคคาหนิมิต ( เครื่องหมายคือความเพียร ) อุเบกขานิมิต ( เครื่องหมายคือความวางเฉย ). ถ้าใส่ใจแต่สมาธินิมิตอย่างเดียว จิตก็จะน้อมไปเพื่อความเกียจคร้านได้,   ถ้าใส่ใจแต่ปัคคาหนิมิตอย่างเดียว จิตก็น้อมไปเพื่อความฟุ้งสร้านได้. ถ้าใส่ใจแต่อุเบกขานิมิตอย่างเดียว จิตก็ไม่พึงตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อสิ้นอาสวะได้ . ต่อเมื่อใส่ใจนิมิตทั้งสามโดยกาลอันสมควร จิตจึงอ่อน ควรแก่การงาน ผ่องใสตั้งมั่นโดยชอบเพื่อสิ้นอาสวะ เปรียบเหมือนช่างทองที่หลอมทองเงิน ย่อมสูบ ( เป่าลม ) โดยกาลอันสมควร,   พรมน้ำโดยกาลอันสมควร,   วางเฉยโดยกาลอันสมควร.


๑. ข้อนี้นักดาราศาสตร์คงจะพอใจที่พบว่า หลักฐานเมื่อ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่ายังมีโลกอื่นมีพระจันทร์ พระอาทิตย์อื่นอีกมาก

๒. สัญโญชน์ ๓   คือสักกายทิฏฐิ   ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน   วิจิกิจฉา   ความสงสัยในพระรัตนตรัย และสีลัพพตปรามาส   การลูบคลำศีลและพรต   คือถือโชคลาง   หรือติดในลัทธิพิธี

๓. สำนวนตรงนี้ก็คือ ละกามราคะ กับปฏิฆะ อันเป็นสัญโญชน์อีก ๒ ข้อ ได้ แต่ใช้คำอื่นแทน

๔. พระพุทธภาษิตนี้ แสดงว่าคนทำกรรมเหมือนกัน แต่ได้รับผลไม่เหมือนกัน เพราะพื้นฐานภายในของบางคนเปรียบเหมือนจอกใส่น้ำเล็ก ๆ เอาเกลือใส่ลงไปก็เค็มได้ แต่ของบางคนเหมือนแม่น้ำ เกลือที่ใส่ลงไปทำให้เค็มไม่ได้ นับว่าน่าพิจารณามาก

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ