บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันต
ปิฎกเล่ม ๑๒
หมวดนี้มี

๑.ทีฆนิกาย
๒.มัชฌิมนิกาย
๓.สังยุตตนิกาย
๔.อังคุตตรนิกาย
๕.ขุททกนิกาย
..เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ
ทุกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๒ ข้อ

ติกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๓ ข้อ

เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคลปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ ทุกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐
สูตรที่ ๓

วรรคที่๑ ชื่อกัมมกรณ
วรรคที่ ๒ ชื่ออธิกรณ
วรรคที่๓ ชื่อพาล
วรรคที่๔ชื่อสมจิตต
วรรคที่๕ ชื่อปริส
ทุติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๒
ตติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๓ ติกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐

วรรคที่๑ ชื่อพาล
วรรคที่๒ ชื่อรถการ
วรรคที่๓ ชื่อปุคคล
วรรคที่๔ ชื่อเทวทูต
วรรคที่๕ ชื่อจูฬ
ทุติปัณณาสก์
หมวดที่๕๐ ที่ ๒
ทุติปัณณาสก์
หมวดที่๕๐ ที่ ๓

 

หน้าที่ ๑ ๑.ทีฆนิกาย
๒.มัชฌิมนิกาย
๓.สังยุตตนิกาย
๔.อังคุตตรนิกาย
๕.ขุททกนิกาย
..เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ
ทุกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๒ ข้อ

ติกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๓ ข้อ

..ขยายความ..

เอกนิบาต ชุมนุม
ธรรมะที่มี ๑ ข้อ

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
๒. เอกปุคคลปาลิ
๓. เอตทัคคปาลิ
ฝ่ายภิกษุ
ฝ่ายภิกษุณี
ฝ่ายอุบาสก
ฝ่ายอุบาสิกา

๔. อัฏฐานปาลิ
๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ

 

หน้าที่ ๒ ทุกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐
สูตรที่ ๓

วรรค ๑ ชื่อกัมมกรณ
วรรค ๒ ชื่ออธิกรณ
วรรค ๓ ชื่อพาล
วรรค๔ชื่อสมจิตต
วรรค๕ ชื่อปริส
ทุติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๒
ตติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๓
พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐

 

หน้าที่ ๓ ติกนิบาต
..ปฐมปัณณาสก์
หรือหมวดที่ ๕๐

วรรคที่๑ ชื่อพาล
วรรคที่๒ ชื่อรถการ
วรรคที่๓ ชื่อปุคคล
วรรคที่๔ ชื่อเทวทูต

 

หน้าที่ ๔
วรรคที่๕ ชื่อจูฬ
ทุติปัณณาสก์
หมวดที่๕๐ ที่ ๒

๑.ตรัสสอนพราหมณ์ชรา
๒.ทรงแสดงติตถายตนะ
พระอานนท์โต้ตอบ
กับฉันทปริพพาชก
๔.ทรงแสดงถึงกรณี
กิจของสมณะ
๕.ตรัสถึงกิจรับด่วน

 

หน้าที่ ๕ ตติยปัณณาสก์
หมวด๕๐ สูตรที่๓

๑.เมื่อก่อนตรัสรู้ ฯลฯ
๒.ทรงแสดงบุคคล
๓.ทรงแสดงถึงภิกษุ
๔.ทรงแสดงนักรบ
๕.บุคคลด้วยธรรม
พระสูตรที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐

 

เล่มที่ ๒๐ ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๑๒
หน้า ๑

   เมื่อจบหมวดประมวลเรื่องราวหรือสังยุตตนิกายแล้ว จึงมาถึงหมวดที่แสดงหลักธรรมเป็นจำนวนซึ่งเรียกว่าอังคุตตรนิกาย. พระไตรปิฏกในหมวดนี้ยังคงเป็นสุตตันตปิฏก มีด้วยกันทั้งหมด ๕ เล่ม เริ่มด้วย   เล่มที่ ๒๐   จนถึงเล่มที่ ๒๔   ในการนี้เล่มที่ ๒๐   ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๑,   ๒ ,๓ จึงใช้คำบาลีว่า   เอก - ทุกติกนิบาท;   เล่มที่ ๒๑   ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๔ จึงใช้คำบาลีว่า จตุกกนิบาต;  เล่มที่ ๒๒   ว่าด้วยธรรมจำนวน   ๕  -  ๖   จึงใช้คำบาลีว่า ปัญจก- ฉักกนิบาต ;   เล่ม ๒๓ ว่าด้วยหลักธรรม จำนวน   ๗ –  ๘- ๙   จึงใช้คำบาลีว่า สัตตก - อัฏฐก- นวกนิบาต; เล่มที่   ๒๔ ว่าด้วยหลักธรรมจำนวน ๑๐  -  ๑๑   จึงใชคำบาลีว่า มสก-เอกาทสกนิบาต.

   การกำหนดจำนวนพระสูตรว่าในหมวดไหน หรือนิกายไหน มีกี่สูตรนั้น ในตอนแรก ๆ ก็กำหนดง่ายนับง่าย เพราะแต่ละสูตรก็มีข้อความยึดยาว คือ     ๑๐ สูตรหรือกว่านั้นเล็กน้อย ก็รวมเป็น   ๑ เล่ม แต่ในตอนหลังนี้ แต่ละเล่มมีกว่าพันสูตร เพราะข้อความไม่กี่บันทัดก็นับได้ว่าเป็นสูตรหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่สังยุตตนิกาย เป็นต้นมา จึงควรกำหนดประเภทของหลักธรรม และในอังคุตตรนิกายนี้ควรกำหนดจำนวนเป็นเกณฑ์ว่า จำนวน   ๑ มีธรรมะอะไรบ้าง จำนวน ๑๐   มีอะไรบ้าง ดังนี้ ก็จะสดวกขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้มองเห็นจำนวนพระสูตรในแต่ละนิกายอีกครั้งหนึ่ง ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อให้พิจารณาดังต่อไปนี้ :-

  ๑. ทีฆนิกาย  หมวดพระสูตรขนาดยาว (เล่ม ๙     ถึง ๑๑ รวม   ๓ เล่ม)   มี ๒๔ สูตร.

  ๒. มัชฌิมนิกาย  หมวดพระสูตรขนาดกลาง ( เล่ม ๑๒   ถึง   ๑๔ รวม   ๓ เล่ม )   มี ๑๕๒ สูตร.

  ๓. สังยุตตนิกาย  หมวดพระสูตรที่ประมวลเรื่องราว (เล่ม ๑๕   ถึง  ๑๙ รวม ๕ เล่ม )   ๗,๗๖๒ สูตร.

  ๔. อังคุตตรนิกาย  หมวดพระแสดงหลักธรรมเป็นจำนวน ( เล่ม ๒๐   ถึง   ๒๔ รวม ๕ เล่ม)   มี ๙,๕๕๗ สูตร.

  ๕. ขุททกนิกาย  หมวดพระสูตรเล็กน้อยหรือเบ็ดเตล็ด ( เล่ม ๒๕   ถึง   ๓๓ รวม ๙ เล่ม )   ไม่ได้แสดงจำนวนสูตรไว้ แต่มีคำกล่าวว่า สูตรที่เหลือจาก   ๔ นิกายข้างต้นก็นับเข้าในขุททกนิกายทั้งสิ้น.

   เมื่อเทียบดูจำนวนสูตร ในพระสูตตันตปิฏกทั้งห้านิกาย ก็จะเห็นได้ว่ามาถึงนิกายหลัง ๆ ตั้งแต่นิกายที่ ๓   ( สังยุตตนิกาย ) มา เรื่องเบ็ดเตล็ดหรือเรื่องย่อย ๆ มีมากขึ้นจนไม่สามารถจะย่อได้ทุกสูตรดั่งแต่ก่อนจึงต้องย่ออย่างจับสาระสำคัญเป็นหมวดใหญ่ ๆ ไว้.

    เฉพาะในเล่ม   ๒๐ คืออังคุตตรนิกาย ที่ว่าด้วยหลักธรรมเป็นจำนวน   ๑- ๒- ๓   นี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ชัดว่า ควรจะได้แบ่งส่วนสำคัญออกเป็น   ๓ ส่วนตามจำนวนเลขนั้น คือรวมหลักธรรมจำนวน   ๑ เรียก   เอกนิบาต รวมหลักธรรมจำนวน ๒   เรียกทุกนิบาต   รวมหลักธรรมจำนวน ๓ เรียกติกนิกลบาต .   ก่อนที่จะกล่าวรายละเอียดพอสมควร จะขอชี้แจงส่วนใหญ่หรือความสำคัญใน   ๓ ชั้นนั้น เป็นการนำทางไว้ในเบื้องแรก คือ :-

 

เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ

   ในหมวดนี้ แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๖ หมวดด้วยกัน คือ :-

  ๑. เอกธัมมาทิปาลิ  บาลีว่าด้วยธรรมะข้อ   ๑ เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า   ธรรมะข้อ ๑   หรือ   ๑ ข้อ มีความสำคัญในทางต่าง ๆ กัน ทานไหนบ้าง.

  ๒. เอกปุคคปาลิ  บาลีว่าด้วยบุคคลคนหนึ่ง จะเป็นใครก็ตาม ที่มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ นับว่าเป็นผู้หายากหรือคนอัศจรรย์ เป็นต้น.

  ๓. เอตทัคคปาลิ  บาลีว่าด้วยเอตทัคคะ คือ   ภิกษุ   ภิกษุณี   อุบาสก   อุบาสิกา   ที่พระผู้มีพระภาคทรงยกย่องให้เป็นเลิศในทางต่าง ๆ   ตามความรู้   ความสามารถ   ความประพฤติ   และความถนัด.

  ๔. อัฏฐานปาลิ  บาลีว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น เป็นไปไม่ได้ที่คนผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( ผู้ไม่มีความคิดเห็นวิปลาสหรือพระโสดาบันขึ้นไป จะฆ่ามารดาบิดา.

  ๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ  บาลีว่าด้วยธรรมะข้อ ๑ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่ง เป็นการกล่าวเพิ่มเติมจากหมวดที่ ๑.

  ๖. ปสาทกรธัมมาทิปาลิ  บาลีว่าด้วยธรรมมะที่ทำให้เกิดความเลื่อมใส เป็นต้น.

   ธรรมะทั้งหกหมวดนี้ รวมกันแล้ว   มี ๑,๐๐๐   สูตรพอดี บางหมวดก็มีมาก บางหมวดก็มีน้อยโดยปกติจัด   ๑๐ สูตรเป็น   ๑ วรรค ,   ๕๐ สูตรเป็น   ๑ ปัณณาสกะ   ซึ่งในการย่อต่อไปจะไม่กล่าวถึงวรรคและปัณณาสกะ จะกล่าวแต่เนื้อหาธรรมะในหมวดนั้น ๆ .

 

ทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี  ๒ ข้อ

   ในหมวดนี้ แบ่งส่วนใหญ่ออกเป็น   ๔ ส่วน แต่ไม่กล่าวถึงเนื้อธรรมะ หากล่าวถึงหมวด ๕๐   ที่ ๑   ที่ ๒   ที่ ๓ และหมวดพิเศษที่ไม่นับเข้าในหมวด ๕๐   แต่ในหมวด ๕๐ นั้น   ( ซึ่งหมายความว่ามี ๕๐ สูตร )   ยังแบ่งเป็นวรรคอีกหมวดละ ๕ วรรค   วรรคละ ๑๐ สูตร   ชื่อวรรคกล่าวตามประเภทธรรมะ เช่น กัมมกณรวรรค (วรรคว่าด้วยเครื่องลงโทษ).

 

ติกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ

   ในหมวดนี้ แบ่งส่วนใหญ่ออกเป็น   ๔ ส่วน เช่นเดียวกับทุกนิบาต คงแปลกออกไปแต่ชื่อวรรคเท่านั้น ต่อไปนี้จะเป็นการย่ออย่างขยายความ.

ขยายความ

 

เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ

   ในการขยายความแห่งไตรปิฏกเล่ม   ๒๐ นี้ เนื้องด้วยไม่สามารถจะกล่าวโดยพิสดารทุกเนื้อถ้อยกระทงความ จึงจะใช้วิธีพิจารณาดูว่า ในหมวดไหนมีความสำคัญอย่างธรรมดา ก็จะนำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างไม่น้อยกว่า   ๑๐ ข้อ เรื่องไหนมีความสำคัญทางหลักฐานจริง ๆ เช่น เรื่องเอตทัคคะ ที่พระผู้มีภาคทรงยกย่องผู้นี้ว่าเลิศทางไหน ก็จำเป็นที่จะต้องระบุนามหมดทุกท่าน.

   

๑. เอกธัมมาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะ ๑ ข้อ เป็นต้น

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ไม่ทรงเห็นรูปอย่างอื่นแม้รูปหนึ่ง ที่รึงรัดจิตของบุรุษได้เหมือนรูปของหญิงเลย.
   ต่อจากนั้นทรงแสดงทีละข้อถึงเสียง   กลิ่น   รส   โผฏฐัพพะของหญิงที่รัดรึงจิตของบุรุษได้อย่างไม่มีเสียง   กลิ่น   รส  โผฏฐัพพะอื่นเสมอเสมือน.
   โดยทำนองเดียวกัน   ทรงแสดงรูป   เสียง   เป็นต้น ของบุรุษว่ารึงรัดจิตของหญิงได้  อย่างไม่มีรูปเสียงอื่น   เป็นต้น เสมอเหมือน.

   ๒. ทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นธรรมอื่นข้อหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้ความพอใจในกามที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลยิ่งขึ้น เหมือนสุภนิมิต ( เครื่องหมายว่างาม คือการกำหนดจิตถึงสิ่งสวยงาม ) ที่บุคคลไม่ใส่ใจโดยแยบคาย.

   ทรงแสดงต่อไปว่า    ปฏิฆนิมิต ( เครื่องหมายที่เป็นเหตุขัดใจ )   เป็นเหตุให้เกิดพยาบาท   ( ความคิดปองร้าย ) ;   ความไม่ยินดี,   ความเกียจคร้าน,   ความซบเซา,   ความเมาอาหาร,   ความท้อแท้แห่งจิต   เป็นเหตุให้เกิดความหดหู่ง่วงงุน;   ความไม่สงบแห่งจิต   เป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ;   การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย   ( ไม่พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้อน )  เป็นเหตุให้เกิดความลังเลสงสัย

   ทรงแสดงต่อไปว่า คือแสดงถึงธรรมะที่เป็นเหตุไม่ให้นีวรณ์ ๕   ที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็จะละได้เป็นข้อ ๆ คือ   อสุภนิมิต   ( เครื่องหมายหรือการกำหนดหมายถึงสิ่งไม่งาม )   เป็นคู่ปรับกับกามฉันท์  ( ความพอใจในกาม) ;   เมตตา (ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข )   เป็นคู่ปรับกับพยาบาท   ( ความคิดปองร้าย) ;   ธาตุคือความริเริ่มความก้าวออก   ความก้าวไปข้างหน้า   ( อารัมภธาตุ   นิกกมธาตุ   ปรักกมธาตุ )   เป็นคู่ปรับกับถีนมิทธะ   ( ความหดหู่ง่วงงุน ) ;  ความสงบแห่งจิต   ( เจตโส   วูปสมะ )   เป็นคู่ปรับกับอุทธัจจกุกกุจจะ   ( ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ) ;  การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย   ( โยนิโสมนสิการ ) เป็นคู่ปรับวิจิกิจฉา   ( ความลังเลสงสัย).

   ๓. ทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นธรรมะอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่ถ้าไม่อบรมแล้วก็ใช้งานไม่ได้เหมือนจิต.

   แล้วทรงแสดงจิตอีก ๙ ลักษณะ   คือธรรมะที่อบรมแล้ว   ย่อมใช้งานได้,   ไม่อบรมแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะ ( ความพินาศ ),   อบรมแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะ ( ประโยชน์),   ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่,   อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่,   ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่, อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่ ,   ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว นำทุกข์มาให้,   อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว นำความสุขมาให้ ธรรมะแต่ละข้อนี้ไม่มีอะไรเสมอเหมือนจิต.

   ๔. ทรงแสดงเรื่องจิตอีก   ๑๐ ข้อ คือไม่ทรงเห็นธรรมอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่บุคคลไม่ฝึกแล้ว เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่,   ฝึกแล้ว เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่,   ไม่คุ้มครองแล้ว ,   ไม่รักษาแล้ว,   ไม่สำรวมระวังแล้ว,   ไม่ฝึกไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวัง ( กล่าวรวมถึง ๔ ข้อ ) เป็นไปเพื่ออนัตถะใหญ่ ถ้าตรงกันข้าม คือคุ้มครองแล้ว เป็นต้น ก็เป็นไปเพื่ออัตถะใหญ่.

   ๕. ทรงแสดงเรื่องจิตต่อไปอีก เปรียบเหมือนข้าวเปลือกแห่งข้าวสาลีหรือข้าวเหนียว ถ้าตั้งไว้ผิดก็ตำมือตำเท้า หรือทำให้เลือดออกไม่ได้ ต่อเมื่อตั้งไว้ถูก จึงตำมือตำเท้า หรือทำให้เลือดออกได้ จิตก็ฉันนั้น ถ้าตั้งไว้ผิดก็ทำลายอวิชชา ( ความไม่รู้ ) ไม่ได้ ทำวิชชาความรู้ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ต่อตั้งไว้ถูกจึงทำลายอวิชชาและทำวิชชาให้เกิดขึ้นได้. นอกจากนั้นยังทรงแสดงถึงการที่จิตอันโทษประทุษร้าย เป็นเหตุให้ไปนรก กับจิตฝ่องใส เป็นเหตุให้ไปสวรรค์,   จิตขุ่นมัว ทำให้ไม่รู้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ส่วนจิตผ่องใสทำให้รู้ประโยชน์ดังกล่าวและทำให้รู้แจ้งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ได้,   จิตอ่อน ควรแก่การงานยิ่งกว่าธรรมอย่างอื่นเหมือนไม้จันทน์เลิศกว่าไม้ชนิดอื่น เพราะอ่อน ควรแก่การงาน,   จิตเปลี่ยนแปลงเร็วจนอุปมาได้ยาก,   จิตผ่องใส เศร้าหมองได้ เพราะอุปกิเลส .  ที่จรมา หลุดพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา.

   ๖. ทรงแสดงเรื่องจิตต่อไปอีกว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่รู้ตามความจริง ไม่มีการอบรมจิต ส่วนอริยสาวกรู้ตามความจริง มีการอบรมจิต,   ถ้าภิกษุส้องเสพ อบรมใส่ใจเมตตาจิตแม้เพียงชั่วลัดนิ้วมือ ก็ชื่อว่าอยู่อย่างไม่ว่างจากฌาน ทำตามคำสอนของศาสดา บริโภคอาหารของราษฏรอย่างไม่เสียเปล่า จะกล่าวไยถึงการทำให้มากซึ่งเมตตาจิตนั้น,   ธรรมทั้งฝ่ายอกุศลและกุศลมีในเป็นหัวหน้า ใจเกิดขึ้นก่อน อกุศลและกุศลจึงตามมา . แล้วทรงแสดงความประมาท ความเกียจคร้านว่า ทำอกุศลธรรมเกิดขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป. และความไม่ประมาททำให้กุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป.

   ๗. ทรงแสดงถึงการริเริ่มความเพียรในทำนองเดียวกับความไม่ประมาท แล้วทรงแสดงธรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายดีเป็นคู่ ๆ ไป ที่ทำให้อกุศลเกิดขึ้น หรือกุศลเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความประมาท ความไม่ประมาทคือความปรารถนามาก, ,   ความปรารถนาน้อย , ,   ความไม่สันโดษ ( ไม่ยินดีด้วยของของตน ), ,   ความสันโดษ, ,   ความไม่ใส่ใจโดยแยบคาย, ,   ความใส่ใจโดยแยบคาย, ,   ความไม่รู้ตัว, ,   ความเป็นผู้คบคนชั่วเป็นมิตร, ,   คบคนดีเป็นมิตร.

  ทรงแสดงโดยทำนองนี้ จนครบ ,   ๑๒ ข้อใหญ่ หรือประมาณ ๑๒๐ ,   หัวข้อย่อย).  

   

๒. เอกปุคคลปาลิ
บาลีว่าด้วยบุคคลหนึ่ง

    ทรงแสดงว่าบุคคลผู้หนึ่งที่เกิดมาในโลก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า,   ยากที่จะปรากฏขึ้นในโลก,   เกิดขึ้นก็เป็นอัจฉริยมนุษย์,   การทำกาละ ( ตาย ) ก็ทำให้ชนเป็นอันมาก เดือดร้อนใจถึง,   เกิดขึ้นก็ไม่มีผู้ใดเทียม,   เกิดขึ้นก็เหมือนดวงตา แสงสว่าง ทำให้มีการบรรลุคุณธรรมต่าง ๆ จนถึงอรหัตตผล ในที่สุดทรงแสดงว่า ไม่ทรงเห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่งที่จะแสดงธรรมจักรได้ดีตามที่พระตถาคตแสดงแล้วได้เหมือนพระสารีบุตร.

   

๓. เอตทัคคปาลิ
บาลีว่าด้วยเอตทัคคะ คือบุคคลที่ได้รับยอย่องว่าเป็นผู้เลิศ

ฝ่ายภิกษุ

    ๑ . พระอัญญาโกณฑัญญะ   เป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี (รัตตัญญูเป็นคนเก่าแก่เห็นเหตุการณ์มามาก).
   ๒. พระสารีบุตร   เป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก.
   ๓. พระมหาโมคคัลลานะ   เป็นผู้เลิศทางมีฤทธิ์.
   ๔. พระมหากัสสปะ   เป็นผู้เลิศในทางกล่าวขัดเกลา ( ธูตวาทะ พูดยกย่องธุดงค์ ).
   ๕. พระอนุรุทธะ   เป็นผู้เลิศในทางมีทิพยจักษุ.
   ๖. พระภัททิยะ กาฬิโคธายบุตร   เป็นผู้เลิศในทางมีสกุลสูง.
   ๗. พระลกุณฏกะ ภัททิยะ   เป็นผู้เลิศในทางมีเสียงไพเราะ.
   ๘. พระปิณโฑละ ภารทวาชะ   เป็นผู้เลิศในทางบรรลือสีหนาท (เปล่งวาจาอย่างองอาจ).
   ๙. พระปุณณะ มันตานีบุตร   เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
   ๑๐. พระมหากัจจานะ   เป็นผู้เลิศในทางจำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยพิสดาร.
   ๑๑. พระจุลลปันถกะ   เป็นผู้เลิศในทางนิรมิตกายอันสำเร็จด้วยใจ.
   ๑๒. พระจุลลปันถกะ   เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในวิวัฏฏะ (ธรรมที่ไม่เวียนว่าย ) ฝ่ายสมาธิ.
   ๑๓. พระมหาปันถกะ   เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในวิวัฏฏะฝ่ายปัญญา.
   ๑๔. พระสุภูติ   เป็นผู้เลิศในทางมีอรณวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่ไม่มีข้าศึก).
   ๑๕ . พระสุภูติ   เป็นผู้เลิศในทางควรแก่การของถวาย ( ทักขิเณยยะ).
   ๑๖. พระเรวตะ ขทิรวนิยะ   เป็นผู้เลิศอยู่ป่า.
   ๑๗. พระกังขาเรวตะ   เป็นผู้เลิศในทางเข้าฌาน.
   ๑๘. พระโสณะ โกลิวิสะ   เป็นผู้เลิศในทางปรารภความเพียร.
   ๑๙. พระโสณะ กุฏกัณณะ   เป็นผู้เลิศในทางกล่าววาจาไพเราะ.
   ๒๐. พระสีวลี   เป็นผู้เลิศในทางมีลาภ.
   ๒๑. พระวักกลิ   เป็นผู้เลิศในทางน้อมใจไปตามความเชื่อ ( สัทธาธิมุต).
   ๒๒. พระราหุล   เป็นผู้เลิศในทางใคร่ต่อการศึกษา.
   ๒๓. พระรัฏฐปาละ   เป็นผู้เลิศในทางบวชด้วยศรัทธา.
   ๒๔. พระกุณฑธานะ   เป็นผู้เลิศในทางจับฉลาก.  เป็นองค์แรก
   ๒๕. พระวังคีสะ   เป็นผู้เลิศในทางมีปฏิภาณ.
   ๒๖. พระอุปเสนะ วังคันตบุตร   เป็นผู้เลิศในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วไป.
   ๒๗. พระทัพพะ มัลลบุตร   เป็นผู้เลิศในทางจัดเสนาสนะ ( จัดที่อยู่อาศัย).
   ๒๘. พระปิลินทวัจฉะ   เป็นผู้เลิศในทางเป็นที่รักเป็นที่พอใจของเทวดา.
   ๒๙. พระพาหิยะ   ทารุจีริยะ เป็นผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้เร็ว.
   ๓๐. พระกุมารกัสสปะ   เป็นผู้เลิศในทางกล่าวธรรมะอันวิจิตร (ด้วยอุปมา).
   ๓๑. พระมหาโกฏฐิตะ   เป็นผู้เลิศในทางบรรลุปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน).
   ๓๒. พระอานนท์   เป็นผู้เลิศในทางพหุสุต ( สดับตรับฟังมาก).
   ๓๓. พระอานนท์   เป็นผู้เลิศในทางมีสติ ( ความระลึกได้ ความทรงจำ).
   ๓๔. พระอานนท์   เป็นผู้เลิศในทางมีคติ ( คติ แปลว่า ทางไปหรือที่ไป อรรถกถาอธิบายว่า ตั้งอยู่ในบทเดียว เรียนได้หกพันบท จำได้ทุกบทตามที่พระพุทธเจ้าตรัส น่าจะหมายความว่าเป็นผู้รู้จักหลักการในการเรียนรู้ คือเมื่อจับหลักได้อย่างหนึ่งแล้ว แม้จะอธิบายยักย้ายนัยไปอย่างไร ก็เข้าใจและจำได้หมด รวมความว่า เมื่อได้หลักเพียงข้อเดียวก็มีทางเข้าใจไปได้มากข้อ).
   ๓๕. พระอานนท์   เป็นผู้เลิศในทางมีธิติ ( ธิติ   โดยทั่วไปแปลว่า ความอดทน   อรรถกถาแก้ว่าความเพียร   คือเพียรในการเรียน,   การท่องจำ,   การทรงจำ,   การอุปฐาก   หรือรับใช้พระศาสดา).
   ๓๖. พระอานนท์   เป็นผู้เลิศในทางอุปฐาก (รับใช้พระพุทธเจ้า).
   ๓๗. พระอุรุเวลกัสสปะ   เป็นผู้เลิศในทางมีบริษัท (บริวาร) มาก.
   ๓๘. พระกาฬุทายี   เป็นผู้เลิศในทางทำสกุลให้เลื่อมใส.
   ๓๙. พระพักกุละ   เป็นผู้เลิศในทางมีอาพาธน้อย.
   ๔๐. พระโสภิตะ   เป็นผู้เลิศในทางระลึกชาติได้.
   ๔๑. พระอุบาลี   เป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย.
   ๔๒. พระนันทกะ   เป็นผู้เลิศในทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี.
   ๔๓. พระนันทะ   เป็นผู้เลิศในทางสำรวมอินทรีย์ ( คือ   ตา   หู   จมูก   ลิ้น  กาย   ใจ ).
   ๔๔. พระมหากัปปินะ   เป็นผู้เลิศในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ.
   ๔๕. พระสาคตะ   เป็นผู้เลิศในทางฉลาดในธาตุไฟ ( หมายถึงฉลาดในการเข้าสมาบัติ มีธาตุไฟเป็นอารมณ์ทำให้เกิดธาตุไฟขึ้นได้).
   ๔๖. พระราธะ   เป็นผู้เลิศในทางทำให้เกิดปฏิภาณ ( ในการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า).
   ๔๗. พระโมฆราชะ   เป็นผู้เลิศในทางทรงจีวรสีหมอง.

    (หมายเหตุ:  นับตามทางที่เลิศได้   ๔๗ ทาง แต่นับจำนวนบุคคล จะได้เพียง   ๔๑ ท่าน เพราะบางท่านได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศหลายทาง)

ฝ่ายภิกษุณี

    ๑ . พระนางมหาปชาบดี โคตมี   เป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี ( รัตตัญญู เพราะเป็นภิกษุณีองค์แรก ).
   ๒. พระนางเขมา   เป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก ( พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารออกทรงผนวช).
   ๓ . นางอุปปลวัณณา   เป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์.
   ๔. นางปฏาจารา   เป็นผู้เลิศในทางทรงจำพระวินัย.
   ๕. นางธัมมทินนา   เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
   ๖. พระนางนันทา ( น้องพระอนุรุทธ์)  เป็นในทางเข้าฌาน.
   ๗. นางโสณา   เป็นผู้เลิศในทางปรารภความเพียร.
   ๘. นางสกุลา   เป็นผู้เลิศในทางมีทิพยจักษุ.
   ๙. นางกุณฑลเกสา  เป็นผู้เลิศในทางตรัสรู้ได้เร็ว.
   ๑๐. นางภัททากาปิลานี   เป็นผู้เลิศในทางระลึกชาติได้.
   ๑๑. พระนางภัททา กัจจานา ( พระนางยโสธรา )   เป็นผู้เลิศในทางบรรลุอภิญญาใหญ่ ( อรรถกถาแสดงว่ามีความสามารถระลึกเหตุการณ์ในกัปป์ต่าง ๆ ย้อนหลังไปได้มากนับไม่ถ้วน).
   ๑๒. นางกิสาโคตมี  เป็นผู้เลิศในทางทรงจีวรสีหมอง.
   ๑๓. นางสิคาลมาตา  เป็นผู้เลิศในทางน้อมไปตามความเชื่อ ( สัทธาธิมุต).

ฝ่ายอุบาสก ( สาวกที่มิได้บวช)

    ๑ . พ่อค้าชื่อตปุสสะ   และภัลลิกะ   เป็นผู้เลิศในทางถึงสรณะ   ( ถึงพระพุทธ   พระธรรม   เป็นสรณะ)   รายแรก.
   ๒. อนาถปิณฑิกะ คฤหบดี ( ผู้มีชื่อเดิมว่า สุทัตตะ)   เป็นผู้เลิศในทางถวายทาน.
   ๓. จิตตะ คฤหบดี ผู้อยู่ ณ นครมัจฉิกาสณฑ์   เป็นผู้เลิศในทางแสดงธรรม.
   ๔. หัตถกะ อาฬวกะ ( ชาวอาฬวี)   เป็นผู้เลิศในทางสงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔.
   ๕. มหานาม ศากยะ  เป็นผู้เลิศในทางถวายของที่ประณีต.
   ๖. อุคคะ คฤหบดี ชาวกรุงเวสาลี   เป็นผู้เลิศในทางถวายของที่ชอบใจ.
   ๗. อุคคตะ คฤหบดี เป็นผู้เลิศในทางอุปฐาก (รับใช้) พระสงฆ์.
   ๘. สูระ อัมพัฏฐะ  เป็นผู้เลิศในทางมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
   ๙. ชีวก โกมารภัจจ์   เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใสในบุคคล (เจาะจงเฉพาะผู้ที่เห็นตนว่าดีงาม).
   ๑๐. คฤหบดี   ผู้เป็นบิดาของนกุลมาณพ เป็นผู้เลิศในทางมีความคุ้นเคย ( กับพระพุทธเจ้า).

ฝ่ายอุบาสิกา (สาวิกาที่มิได้บวช)

    ๑ . นางสุชาดา ผู้เป็นธิดาของกุฏุมพี ( เศรษฐี ) ชื่อเสนิยะ เป็นผู้เลิศในทางถึงสรณะ เป็นคนแรก ( นางสุชาดาคนนี้เป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระผู้มีพระภาค และเป็นมารดาของยสกุลบุตร).
   ๒. นางวิสาขา มิคารมาตา.  เป็นผู้เลิศในทางถวายทาน.
   ๓. นางขุชชุตตรา   เป็นผู้เลิศในทางสดับตรับฟังมาก.
   ๔. นางสามาวดี   เป็นผู้เลิศในทางมีเมตตาเป็นธรรมเครื่องอยู่.
   ๕. นางอุตตรา ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ  เป็นผู้เลิศในทางเข้าฌาน.
   ๖. นางสุปปวาสา ธิดาของโกลิยกษัตริย์  เป็นผู้เลิศในทางถวายของปราณีต.
   ๗. นางสุปปิยา อุบาสิกา  เป็นผู้เลิศในทางพยาบาลไข้.
   ๘. นางกาติยานี  เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
   ๙. คฤหปตานี ผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ   เป็นผู้เลิศในทางมีความคุ้นเคย ( กับพระพุทธเจ้า).
   ๑๐. นางกาลี อุบาสิกา   เป็นผู้เลิศในทางเลื่อมใส เพราะฟังจากผู้อื่น ( ฟังผู้อื่นสรรเสริญพระรัตนตรัยได้บรรลุโสดาปัตติผล).

   

๔. อัฏฐานปาลิ
บาลีว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ๑ . ทรงแสดงฐานะที่เป็นไปไม่ได้ แล้วแสดงฐานะที่เป็นไปได้ ประกอบรวมประมาณ ;   ๓๐ ข้อ โดยใจความเรื่องคนชั่วคนดี ความชั่วความดีเป็นไปไม่ได้ทีจะปรากฏผลในทางตรงกันข้าม เช่น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป ) เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นสังขารว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เห็นธรรมะว่าเป็นอัตตา ( ตัวตัน ) แต่เป็นไปได้ที่จะเห็นสังขารว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เห็นธรรมะว่าเป็นอัตตา ( ตัวตน ) ;  ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นไปไม่ได้ที่จะฆ่ามารดา ,   ฆ่าบิดา,   ฆ่าพระอรหันต์,   ทำโลหิตของพระตถาคตให้ห้อด้วยจิตคิดประทุษร้าย,   ทำลายสงฆ์ให่แตกกัน,   อุทิศศาสดาอื่น ( หันไปนับถือศาสนาอื่น), แต่เป็นไปได้ที่บุถุชนจะทำเช่นนั้น; เป็นไปไม่ได้ที่ในโลกธาตุเดียวกันจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อม ๆ กัน   ๒ พระองค์ แต่เป็นไปได้ที่ในโลกธาตุเดียวจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว.

   

๕. อปรา เอกธัมมาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะข้อหนึ่ง เป็นต้น อื่นอีก

   ทรงแสดงธรรมะข้อเดียวที่เป็นไปเพื่อเหตุผลในทางที่ดีที่ชั่วต่าง ๆ รวมประมาณ   ๔๐ ข้อ เช่น ลำดับ  อนุสสติ ๑๐   ทีละข้อ มีพุทธานุสสติ ( การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ) เป็นต้นว่า เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย,   คลายกำหนัด ,   ดับทุกข์ ,   สงบระงับ ,   รู้ยิ่ง,  ตรัสรู้   และนิพพานได้.   นอกจากนั้น ทรงแสดงถึงมิจฉาทิฏฐิ ( ความเห็นผิด ) ว่าเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น ส่วนสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น เป็นต้น.

   

๖. ปสาทกรธัมมามาทิปาลิ
บาลีว่าด้วยธรรมะที่ทำให้เกิดความเลื่อมใส เป็นต้น

   ทรงแสดงลาภอย่างแน่นอน ( เป็นลาภโดยส่วนเดียว ) (ของภิกษุ ) คือการอยู่ป่า,   การถือบิณฑบาต,   การทรงไตรจีวร ( ไม่สะสมมาก),   การเป็นผู้แสดงธรรม,   การเป็นผู้ทรงจำวินัย,   การสดับตรับฟังมาก,   การบวชได้ยั่งยืน,   การสมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยา ( มารยาท),   การสมบูรณ์ด้วยบริวาร,   การมีบริวารมาก,   ความเป็นกุลบุตร ( ผู้ชาย ),   ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม,   ความเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ,   ความเป็นผู้ปรารถนาน้อย,   ความเป็นผู้มีอาพาธ ( โรคภัยไข้เจ็บ ) น้อย.

   ทรงแสดงว่า ถ้าภิกษุเจริญฌานที่ ๑   ที่ ๒  ที่ ๓  ที่ ๔ ; เจริญเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นจากกิเลสเพราะสมาธิ ) อันประกอบด้วยเมตตา,   กรุณา,   มุทิตา,   อุเบกขา;  เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ ;  เจริญอิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ ;   เจริญอินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่มีศรัทธาและความเพียร เป็นต้น) ๕ ;  เจริญธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ;  เจริญธรรมอันเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ ;  ( โพชฌงค์มีสติ เป็นต้น ) ;   เจริญมรรคมีองค์ ๘ (มีความเห็นชอบ เป็นต้น) แม้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ชื่อว่าไม่ว่างจากฌาน,   ทำตามคำสอนของศาสดา,   บริโภคอาหารของราษฏรไม่เสียเปล่า จะกล่าวไยถึงการทำธรรมะดั่งกล่าวแต่ละข้อนั้นให้มาก.

   ในตอนสุดท้ายทรงสรรเสริญกายคตาสติ คือสติที่เป็นไปในกาย ( รู้ตัวในความเป็นไปของกายต่าง ๆ ดูที่ พระสุตตันตปิฎก  เล่ม ๑๕  หน้า ๑ ว่าเป็นเหตุให้ได้บรรลุอมตธรรม.


๑. อุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต มี   ๑๖ อย่าง มีความโลภ ความคิดประทุษร้าย   ความโกรธ เป็นต้น ดูที่พระสุตตันตะ ๔ หน้า ๑ ในข้อ๗ . วัตถูปมสูตร

๒. คำว่า สลาก แปลว่า ซี่ไม้ เมื่อมีของถวายไม่เหมือนกันหรือไม่พอจำนวนแก่พระก็ต้องใช้วิธีจับฉลากด้วยคุณความดีของท่าน ท่านจับฉลากได้เป็นองค์แรก

๓. สังคหวัตถุ เรื่องของการสงเคราะห์  ๔ อย่าง คือ  ๑. การให้  ๒. การพูดไพเราะ  ๓. การบำเพ็ญประโยชน์  ๔. การวางตัวให้เหมาะสมคือให้เข้ากันได้ตามฐานะ

๔. คำนี้ แปลว่า   มารดาของมิคารเศรษฐี ความจริงเศรษฐีผู้นี้เป็นบิดาของสามีนางวิสาขาและค่อนข้างเกเร   นางวิสาขาเอาความดีชนะจนบิดาของสามียอมให้เกียรติเรียกเป็นมารดา

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ