บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๒๕

อุปทานภาค ๒

๑. มหากัจจายน
เถราปทาน
๒. มหากัปปิน
เถราปทาน

๓. ทัพพมัลลปุตต
เถราปทาน
๔. กุมารกัสสป
เถราปทาน
๕. มหาโกฏฐิต
เถราปทาน

๑. มหาปชาบดี
โคตมีเถริยาปทาน
๒. เขมาเถริ
ยาปทาน
๓. อุปปลวัณณา
เถริยาปทาน
๔. ปฏาจารา
เถริยาปทาน
๕. กุณฑลเกสี
เถริยาปทาน

๒. พุทธวังสะ
( วงค์แห่งพระพุทธเจ้า )
๓. จริยาปิฎก
( คัมภีร์ว่าด้วยพระพุทธจริยา )

๑. ทานบารมี ๑๐ เรื่อง
๒. ศีลบารมี ๑๐ เรื่อง
๓. เนกขัมมบารมี

สโมธานกถา
กล่าวคำสรูป
( ท้ายเล่มที่ ๓๓ )

 

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ ชื่อขุททกนิกาย
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๔)

อปทานภาคที่ ๒, พุทธวังสะ, จริยาปิฎก.

      พระไตรปิฎกเล่มนี้เป็นเล่มสุดท้ายแห่งพระสุตตันตปิฎก มีข้อความเรื่อง อปทาน ต่อมาจากเล่มที่ ๓๒ กับมีหัวข้ออื่นอีก ๒ ข้อ คือ พุทธวังสะ ( วงค์แห่งพระพุทธเจ้า ) แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ เริ่มต้นตั้งแต่พระทีปังกร จนถึงพระพุทธเจ้าของเรา คือพระสมณโคดม กับหัวข้อใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือ จริยาปิฎก ( คัมภีร์ว่าด้วยจริยา คือความประพฤติของพระพุทธเจ้า ) เรื่องนี้แสดงถึงการที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ, ต่อไปนี้จะขยายความทั้งสามหัวข้อนั้นเป็นลำดับไป.

๑. อปทาน ภาคที่ ๒

      มีข้อที่ควรกล่าวก็คือ ในอปทานภาคที่ ๑ มีประวัติของพระพุทธเจ้า ๒ เรื่อง, ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ เรื่อง, ประวัติของพระสาวกต่าง ๆ ๔๐๙ เรื่อง รวม ๔๑๒ เรื่อง แต่ในอปทานภาคที่ ๒ นี้ มีประวัติของพระสาวกต่าง ๆ ที่เป็นพระเถระ ๑๔๐ รูป พระเถรี ๔๐ รูป. ในที่นี้จะแสดงตัวอย่างอปทาน คือข้ออ้างหรืออดีตประวัติของพระเถระ ๕ รูป ของพระเถรี ๕ รูป คือ :-

๑. มหากัจจายนเถราปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระมหากัจจายนเถระ)

      ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ข้าพเจ้า ( พระมหากัจจายนเถระ ) เป็นดาบส อยู่ ณ หิมวันตประเทศ เที่ยวไปผู้เดียว ขณะที่ไปยังถิ่นของมนุษย์ทางอากาศ ได้เห็นพระชินะจึงเข้าไปใกล้ ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ผู้กำลังพรรณนาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสาวก และตั้งเป็นเอตทัคคะ ( เป็นยอดหรือเลิศ ) ในทางประกาศพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ย่อ ๆ ให้พิศดาร. ข้าพเจ้าได้ฟังก็รู้สึกพิศวงจึงไปยังหิมวันตประเทศ รวบรวมดอกไม้นำมาบูชาพระพุทธเจ้า แล้วปรารถนาฐานะเช่นกัน ( ตำแหน่งพระสาวกผู้เป็นเลิศทางแสดงธรรมให้พิสดาร ). พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่าข้าพเจ้าจะได้เป็นสาวกของพระโคดมมหามุนี มีนามว่า กัจจานะ บรรลุฐานะ ( ที่ประสงค์ ) นั้น ก็ได้บรรลุในชาติสุดท้ายนี้สมตามที่ปรารถนา.

๒. มหากัปปินเถราปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระมหากัปปินเถระ)

      พระชินะทรงพระนามว่า ปทุมุตตร ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงอุบัติขึ้น ดั่งดวงอาทิตย์อุทัยในอากาศอันปลอดโปร่งในท้องฟ้าฤดูสารท. พระนายกนั้น ทรงยังดอกปทุมคือเวไนยสัตว์ให้บานด้วยแสง คือคำสอน ทรงทำเปือกตมคือกิเลสให้แห่งด้วยรังสีคือความรู้. ครั้งข้าพเจ้า ( พระมหากัปปินเถระ) เป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยอรรถคดีในหังสนคร ( หังสวตี ) ได้สดับธรรมของพระตถาคตผู้ทรงประกาศคุณของพระสาวก นามว่า ชลชุตตมะ ผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีสติ ยังใจของข้าพเจ้าให้ร่าเริง ครั้นสดับแล้วก็เกิดปีติโสมนัสนิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยทั้งศิษย์สาวกฉันภัตตาหาร แล้วปรารถนาฐานะนั้น ( ตำแหน่งพระสาวกผู้เลิศในทางสอนภิกษุทั้งหลาย ) พระตถาคตเจ้าก็ตรัสพยากรณ์ว่า จะได้เป็นผู้มีนามว่ากัปปินะ เป็นสาวกของพระโคดมศาสดา, ต่อมาก็ได้สำเร็จสมความประสงค์ พระชินะทรงตั้งข้าพเจ้าในเอตทัคคะทางให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย.

๓. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระทัพพมัลลบุตรเถระ)

      ในครั้งนั้นข้าพเจ้า ( พระทัพพมัลลบุตร ) เป็นบุตรเศรษฐี อยู่ในกรุงหังสวดี ได้ฟังคำของพระปทุมมุตตรศาสดา ผู้ทรงประกาศกิตติคุณพระสาวกของพระองค์ผู้จัดเสนาสนะ ( ที่อยู่อาศัย ) ของภิกษุทั้งหลาย ก็มีใจเบิกบานกระทำอธิการ ( คุณความดี ) แด่พระศาสดาพร้อมทั้งพระสงฆ์ ปรารถนาฐานะนั้น ( ตำแหน่งพระสาวกผู้เลิศในทางจัดเสนาสนะ)ก็ได้รับพยากรณ์ว่า จะได้เป็นผู้มีนามว่าทัพพะ เป็นสาวกของพระโคดมศาสดา เป็นผู้เลิศในทางจัดเสนาสนะ จำเนียรกาลล่วงมาก็เป็นไปสมตามที่ปรารถนานั้น.

๔. กุมารกัสสปเถราปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระกุมารกัสสปเถระ)

      ในครั้งนั้น ข้าพเจ้า ( พระกุมารกัสสป) เป็นพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ถึงฝั่งแห่งพระเวท ขณะไปสู่ที่พักกลางวัน ได้เห็นพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ผู้เป็นนายกแห่งโลกกำลังประกาศสัจจธรรม ๔ ประการ ยังโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลกให้ตื่นขึ้น ทรงพรรณนาคุณแห่งพระสาวกของพระองค์ผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร ในท่ามกลางมหาชน ข้าพเจ้าก็มีจิตเบิกบานนิมนต์พระตถาคต พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันโภชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ ครบ ๗ วัน แล้วปรารถนาฐานะนั้น ( ตำแหน่งพระสาวกผู้เลิศในทางกล่าวธรรมอันวิจิตร ) ซึ่งได้รับพยากรณ์ว่า จะเป็นผู้มีนามว่ากุมารกัสสป เป็นสาวกของพระโคดมศาสดา. จำเนียรกาลล่วงมาก็เป็นไปสมตามที่ปรารถนานั้น.

๕. มหาโกฏฐิตเถราปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระมหาโกฏฐิตเถระ)

      ในครั้งนั้น ข้าพเจ้า ( พระมหาโกฏฐิตะ) เป็นพราหมณ์ผู้ถึงฝั่งแห่งพระเวทในกรุงหังสวตี ได้เข้าไปเฝ้าพระปทุมุตตรศาสดา ฟังธรรม. ครั้งนั้น พระองค์ทรงตั้งพระสาวกผู้มีปฏิสัมภิทาแตกฉาน คือฉลาดในอรรถ ในธรรมในนิรุตติ ( ภาษาพูด ) และในปฏิภาณ ไว้ในตำแหน่งอันเลิศ ก็มีใจเบิกบาน จึงนิมนต์พระชินวร พร้อมด้วยพระสาวกไปฉันตลอด ๗ วัน แล้วปรารถนาฐานะนั้น ( ตำแหน่งพระสาวกผู้เลิศในปฏิสัมภิทาคือความแตกฉานในอรรถ, ธรรม, นิรุตติ,ปฏิภาณ ) ซึ่งได้รับพยากรณ์ว่า จะเป็นผู้มีนามว่า โกฏฐิตะเป็นสาวกของพระโคตมศาสดา จำเนียรกาลล่วงมาก็ได้เป็นไปสมตามที่ปรารถนานั้น.

      ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างอปทานของพระเถรีอีก ๕ รูป

๑. มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน

(อปทานหรือประวัติของพระนางมหาปชาบดีเถรี )

      พระผู้มีพระภาคประทับ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี พระนางมหาปชาบดี-โคตมี ก็ประทับอยู่ในสำนักนางภิกษุณี ใกล้นครนั้น พร้อมด้วยนางภิกษุณีทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ รูป ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลส. พระนางทรงพระดำริว่า จะมิได้เห็นการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระราหุล พระอานนท์ พระนนทะ จึงทรงปลงอายุสังขารที่จะปรินิพพาน และจะไปกราบทูลขอพระพุทธานุญาต แม้นางภิกษุณีอื่น ๆ ๕๐๐ รูป มีพระนางเขมา เป็นต้น ก็นึกในทำนองเดียวกัน จึงพร้อมกันไปเฝ้ากราบทูลลาปรินิพพาน. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสประทานอนุญาตแล้ว ก็มีผู้เลื่อมใสแสดงความโศก พระนางจึงแสดงธรรมสั่งสอน และเล่าพระประวัติที่ออกบรรพชาอุปสมบท กับได้ตรัสเล่าพระประวัติในอดีตกาลทั้งพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระนางเกิดเป็นบุตรีของมหาอำมาตย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยบิดาของตนและหมู่ทาสี ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งพระน้านางของพระองค์ในเอตทัคคะ จึงถวายทานและปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ก็ได้รับพยากรณ์ว่า จะได้เกิดมีนามว่าโคตมี เป็นสาวิกาของพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งก็สำเร็จสมตามปรารถนานั้น ในประวัตินั้นยังแสดงต่อไปจนถึงสมัยที่พระนางมหาปชาบดี โคตมี เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สำนักแห่งนางภิกษุณี ทรงเข้าอนุบุพพวิหาร ๙ โดยอนุโลมและปฏิโลม แล้วทรงกลับเข้ารูปฌานทั้งสี่ ออกจากฌานที่ ๔ ก็เสด็จปรินิพพาน. ( อันเห็นได้ชัดว่าเรื่องอปทานนี้ มิใช่เจ้าของประวัติแต่งเอง แต่มีผู้รวบรวมเรื่องราวมาแต่งขึ้นในภายหลัง ซึ่งน่าจะเป็นสมัยทำสังคายนา ร้อยกรองพระธรรมวินัย ระหว่างครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๒ นอกจากนั้นสำนวนภาษาบาลีก็ดี สำนวนกวีก็ดี แสดงสมัยว่าต่างจากภาษาบาลีสำนวน พระสูตรสมัยแรก แต่โดยเหตุที่เรื่องนี้ เป็นเพียงการรวบรวมประวัติที่ทรงจำกันด้วยปากให้เป็นตัวหนังสือขึ้น การจัดเข้าในสุตตันตปิฎกด้วย จึงเป็นการที่ทำให้ตำราทางพระพุทธศาสนาสมบูรณ์ขึ้น ).

๒. เขมาเถริยาปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระนางเขมาเถรี )

      ในกาลนั้น ข้าพเจ้า ( พระนางเขมาเถรี ) เกิดในสกุลเศรษฐี ในกรุงหังสวตี ในสมัยแห่งพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนามีความเลื่อมใส ขอให้บิดานิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระสาวก ฉันครบ ๗ วัน ได้สดับเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งเอตทัคคะ ทางมีปัญญามาก มีความชื่นชม กระทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นต่อพระผู้มีพระภาค ก็ได้พยากรณ์ว่า จะได้เป็นสาวกของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่า เขมา ได้บรรลุตำแหน่งเอตทัคคะสมดังปรารถนา และในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ก็ได้สำเร็จสมปรารถนาทุกประการ อนึ่งในสมัยพระวิปัสสี และพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ทำเช่นเดียวกับพระนางอุปปลวัณณาซึ่งจะกล่าวต่อไป.

๓. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระนางอุปปลวัณณาเถรี )

      ในกาลนั้น ข้าพเจ้า ( พระนางอุปปสวัณณา ) เป็นนาคกัญญา นิมนต์พระปทุมุตตรสัมมา-สัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกเสวย ได้เห็นนางภิกษุณีองค์หนึ่งแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ จึงตั้งจิตปรารถนาฐานะเช่นนั้น ได้ถวายข้าวน้ำ และถวายดอกอุบลชื่ออรุณะ ปรารถนาให้ผิวกายดังดอกอุบล. ครั้นในศาสนาของพระปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เกิดเป็นธิดาเศรษฐีถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. ในสมัยแห่ง พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็นพระธิดาองค์ที่ ๒ ของพระเจ้ากิกิ ราชาแห่งแคว้นกาสีผู้อุปฐากพระพุทธเจ้า ( พระนางเขมาเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๑ ) ฟังพระธรรมของบรรพชา แต่พระราชบิดาไม่ทรงอนุญาต จึงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในพระราชวังพร้อมด้วยพระภคินีอื่น ๆ รวม ๗ พระองค์ ทั้งพระองค์เอง. นอกจากนั้นในชาติอื่น ๆ อีก ยังได้ทำความดีในพระปัจเจกพุทธเจ้าหลายพระองค์. ในชาติสุดท้ายเกิดเป็นธิดาเศรษฐี ออกบวชตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ละกิลาสาสวะได้ ( เป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์ ).

๔. ปฏาจาราเถริยาปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระนางปฏาจาราเถรี )

      ในกาลนั้น ข้าพเจ้า ( พระนางปฏาจาราเถรี) เกิดในสกุลแห่งเศรษฐีในกรุงหังสวดี ในสมัยของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สดับพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ มีจิตชื่นบาน เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคทรงตั้งนางภิกษุณีในตำแหน่งเลิศทางทรงพระวินัย จึงปรารถนาฐานะนั้น นิมนต์พระทศพล พร้อมทั้งพระสงฆ์ฉันเป็นเวลา ๗ วัน แล้วได้กราบทูลแสดงความปรารถนา ก็ได้รับพยากรณ์ว่า จะได้มีนามว่าปฏาจารา เป็นสาวกของพระโคตมสัมมา-สัมพุทธเจ้า. อนึ่ง ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เป็นธิดาองค์ที่ ๓ ของพระเจ้ากิกิ มีความเป็นไปเช่นเดียวกับพระนางอุปปลวัณณา.

๕. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

(ข้ออ้างหรือประวัติของพระนางกุณฑลเกสีเถรี )

      ประวัติของพระนางกุณฑลเกสี ก็เช่นเดียวกับพระนางเขมา, พระนางอุปปลวัณณา, พระนางปฏาจารา ได้บำเพ็ญกุศลในสมัยพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน.ในสมัยแห่งพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ออกบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเลิศทางตรัสรู้ได้เร็ว.

(จบตัวอย่างอปทานฝ่ายพระเถรี )

๒. พุทธวังสะ ( วงค์แห่งพระพุทธเจ้า )

      ในเรื่องพุทธวงค์นี้ แบ่งออกเป็น ๒๘ หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อแรกว่าด้วยรตนจงกรม คือที่จงกรมแก้ว อันเป็นที่เสด็จจงกรม ( เดินกลับไปมามีสติสัมปชัญญะ ) ส่วนหัวข้อที่ ๒ ถึงที่ ๒๖ ว่าด้วยพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกร จนถึงพระโคดมเป็นที่สุด.หัวข้อที่ ๒๗ ว่าด้วยปกิณณกะ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า. หัวข้อที่ ๒๘ ว่าด้วยการแจกพระสาริกธาตุ ซึ่งจะกล่าวตามลำดับหัวข้อต่อไปนี้โดยสังเขป.

       ๑. รตนจังกมนกัณฑ์     หมวดว่าด้วยที่จงกรมแก้ว เป็นคำฉันท์พรรณนาเหตุการณ์ เมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ตรัสแสดงธรรมเรื่องเวสสันดรชาดก เสร็จแล้วจึงทรงนิรมิตเรือนแก้วเสด็จจงกรม แสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นว่าทรงบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ มาในอดีตกาลอย่างไร.

      ( เรื่องนี้อาจถอดความได้ว่า ทรงแสดงธรรมได้ชัดเจนอย่างปาฏิหาริย์ เห็นจริงเห็นจังว่า ได้ทรงบรรลุผลดีมิใช่อย่างลอย ๆ แต่ต้องบำเพ็ญบารมีมาอย่างมากมาย อันแสดงหลักการที่สำคัญแห่งพระพุทธศาสนา ที่ว่ามิได้มีการได้ดีใด ๆ เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ).

       ๒. ทีปังกรพุทธวงศ์ ( ที่ ๑ )     วงศ์แห่งพระทีปังกรณ์พุทธเจ้า เล่าเรื่องเมื่อครั้งพระโคดมพุทธเจ้าเป็นสุเมธดาบส ช่วยชาวบ้านทำทางให้พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จผ่าน มีที่เหลืออยู่อีกหน่อยยังทำทางไม่เสร็จด้วยศรัทธา สุเมธดาบสจึงลงนอนทับโคลนให้พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกเสด็จและเดินเหยียบข้ามไปแล้วได้รับพยากรณ์ว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเฉพาะพระทีปังกรพุทธเจ้า.

       ๓. โกณฑัญญพุทธวงศ์ ( ที่ ๒ )    วงศ์แห่งพระโกณฑัญญพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า ได้เคยเป็นกษัตริย์พระนามว่า วิชิตาวี ได้ถวายทานแด่พระโกณฑัญญพุทธเจ้า และได้รับพยากรณ์.ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระโกณฑัญญพุทธเจ้า.

       ๔. มังคลพุทธวงศ์ ( ที่ ๓ )     วงค์แห่งพระมังคลพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นพราหมณ์ มีนามว่า สุรุจิ ได้บูชาพระมังคลพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และถวายน้ำนมโคให้ดื่ม ก็ได้รับพยากรณ์. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระมังคลพุทธเจ้า.

       ๕. สุมนพุทธวงศ์ ( ที่ ๔ )    วงศ์แห่งพระสุมนพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นอตุลนาคราช ได้ถวายข้าวน้ำและผ้าคู่แด่พระสุมนพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และได้รับพยากรณ์. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระสุมนพุทธเจ้า.

       ๖. เรวตพุทธวงศ์ ( ที่ ๕ )     วงศ์แห่งพระเรวตพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นพราหมณ์นามว่า อติเทวะ ได้ถึงพระเรวตพุทธเจ้าเป็นสรณะ ได้ชมเชยพระคุณ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และได้ถวายทานอันยอดเยี่ยม ได้รับพยากรณ์. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระเรวตพุทธเจ้า.

       ๗. โสภิตพุทธวงศ์ ( ที่ ๖ )    วงศ์แห่งพระโสภิตพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นพราหมณ์นามว่า สุชาตะ ได้ถวายข้าวน้ำแด่พระโสภิตพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวก และได้รับพยากรณ์.( ข้อความเกี่ยวกับรายละเอียด เฉพาะพระองค์ของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวพระนามนั้น มีกล่าวไว้ทุกแห่ง ต่อไปจะไม่กล่าวถึง เป็นอันทราบกันว่า มีรายละเอียดกล่าวไว้ทุกพระองค์ และพระโคดมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญความดี พร้อมทั้งได้รับพยากรณ์ทุกครั้ง).

       ๘. อโนมทัสสิพุทธวงศ์ ( ที่ ๗ )    วงศ์แห่งพระอโนมทัสสี พุทธเจ้า.

       ๙. ปทุมพุทธวงศ์ ( ที่ ๘ )    วงศ์แห่งพระปทุมพุทธเจ้า.

       ๑๐. นารทพุทธวงศ์ ( ที่ ๙ )    วงศ์แห่งพระนารทพุทธเจ้า.

       ๑๑. ปทุมุตตรพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๐ )    วงศ์แห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า.

       ๑๒. สุเมธพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๑ )    วงศ์แห่งพระสุเมธพุทธเจ้า.

       ๑๓. สุชาตพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๒ )    วงศ์แห่งพระสุชาตพุทธเจ้า.

       ๑๔. ปิยทัสสิพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๓ )    วงศ์แห่งพระปิยทัสสีพุทธเจ้า.

       ๑๕. อัตถทัสสิพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๔ )     วงศ์แห่งพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า.

       ๑๖. ธัมมทัสสิพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๕ )    วงศ์แห่งพระธัมมทัสสีพุทธเจ้า.

       ๑๗. สิทธัตถพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๖ )     วงศ์แห่งพระสิทธัตถพุทธเจ้า.

       ๑๘. ติสสพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๗ )     วงศ์แห่งพระติสสพุทธเจ้า.

       ๑๙. ปุสสพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๘ )     วงศ์แห่งพระปุสสพุทธเจ้า.

       ๒๐. วิปัสสิพุทธวงศ์ ( ที่ ๑๙ )     วงศ์แห่งพระวิปัสสีพุทธเจ้า.

       ๒๑. สิขิพุทธวงศ์ ( ที่ ๒๐ )    วงศ์แห่งพระสิขีพุทธเจ้า.

       ๒๒. เวสสภูพุทธวงศ์ ( ที่ ๒๑ )     วงศ์แห่งพระเวสสภูพุทธเจ้า.

       ๒๓. กุกกุสันธพุทธวงศ์ ( ที่ ๒๒)   วงศ์แห่งพระกุกกุสันธพุทธเจ้า(พระนามนี้ในที่อื่นใช้คำว่ากกุสันธะ).

       ๒๔. โกนาคมนพุทธวงศ์ ( ที่ ๒๓ )       วงศ์แห่งพระโกนาคมนพุทธเจ้า.

       ๒๕. กัสสปพุทธวงศ์ ( ที่ ๒๔ )     วงศ์แห่งพระกัสสปพุทธเจ้า.

       ๒๖. โคตมพุทธวงศ์ ( ที่ ๒๕ )    วงศ์แห่งพระโคดมพุทธเจ้า. มีข้อความแสดงธรรมการประชุมพระสาวก พระนามพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา และพระนามพระสาวกที่สำคัญ.

       ๒๗. พุทธปกิณณกกัณฑ์     หมวดเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแสดงว่าในกัปป์ไหน พระพุทธเจ้าพระองค์ไหน ทรงอุบัติบ้าง ในตอนต้นได้แสดงว่าในกัปป์เดียวกับพระทีปังกรพุทธเจ้า ( พระองค์ที่ ๑ ในพุทธวงศ์ ) นั้น ยังมีพระพุทธเจ้าอีก ๓ พระองค์ ( รวมเป็น ๔ ) คือ พระตัณหังกร, พระเมธังกร, พระสรณังกรต่อจากนั้นจึงถึงพระทีปังกรพุทธเจ้า. ( อันแสดงว่าทั้งสามพระองค์นั้น มีมาก่อนพระองค์แรกในพุทธวงศ์ ๒๕ พระองค์ ซึ่งความจริงตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าในอดีตมีมากนับจำนวนไม่ได้ ในเล่มนี้แสดงพระนามไว้ ๒๘ พระองค์ ).

       ๒๘. ธาตุภาชนียกถา    แสดงว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วได้มีการแจกพระธาตุไปไว้ในที่ต่าง ๆ คือ ๑. ในนครของพระเจ้าอชาตศัตรุ ( ราชคฤห์ ) ๒. ในกรุงเวสาลี ๓. ในกรุงกบิลพัสดุ์ ๔. ในแคว้นอัลลกัปปะ ๕. ในรามคาม ๖. ในแคว้นเวฏฐทีปกะ ๗. ในกรุงปาวาแห่งกษัตริย์มัลละ ๘. ในกรุงกุสินารา. ( รวมเป็นพระเจดีย์บรรจุพระอัฏฐิ ๘ แห่ง ). โทณพราหมณ์ได้นำทะนานสำหรับตักแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในสตูป เรียกว่าตุมพเจดีย์ ( พระเจดีย์ทะนาน ). โมริยกษัตริย์ได้ขอรับพระอังคาร ( เถ้าถ่าน ) ไปบรรจุเป็นอังคารสตูป. นอกจากนั้นยังแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้ว พระทนต์ พระเกศ พระโลมา และพระพุทธบริขารต่าง ๆ .

(จบพระพุทธวงศ์)

๓. จริยาปิฎก ( คัมภีร์ว่าด้วยพระพุทธจริยา )

      ( จริยาปิฎกหรือคัมภีร์ว่าด้วยพระพุทธจริยานี้ นับเป็นเรื่องใหญ่หัวข้อสุดท้ายในเล่มที่ ๓๓ ซึ่งเริ่มด้วยเรื่องอปทานกับเรื่องพุทธวงศ์มาแล้วโดยลำดับ. จริยาหรือความประพฤติในอดีตของพระพุทธเจ้า ที่นำมากล่าวไว้ในจริยาปิฎก มี ๓๕ เรื่อง โดยแยกแสดงว่า เป็นการบำเพ็ญทานบารมี ๑๐ เรื่อง, เป็นการบำเพ็ญศีลบารมี ๑๐ เรื่อง, เป็นการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ( การออกบวช ) ๖ เรื่อง, สัจจบารมี ๖ เรื่อง, เมตตาบารมี ๒ เรื่อง, อุเบกขาบารมี ๑ เรื่อง, รวมเป็น ๑๕ เรื่อง กับตอนสุดท้าย มีสโมธานกถา คือคำสรูปว่า เรื่องไหนเป็นบารมี อะไรในบารมีมี ๑๐ ประการ. มีข้อที่ควรพิจารณาในเบื้องแรก คือไฉนจริยาปิฎกจึงแบ่งบารมีไว้เพียง ๖ แต่ใน สโมธานกถากล่าวว่า บารมีมี ๓๐ และใน สำนวนกวีที่เล่าไว้ในจริยา ๓๕ เรื่องนั้น แสดงเป็นสำนวนของพระผู้มีพระภาคว่า เราเป็นผู้นั้นผู้นี้ในชาตินั้นชาตินี้. ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ( ผู้จัดทำ ) สันนิษฐาน ว่า มีผู้แต่งเป็นบทกวีขึ้นในชั้นหลังที่มีการสังคายนาพระธรรมวินัยแล้ว โดยรวบรวมเรื่องราวมาจัดระเบียบขึ้นให้ค้นง่าย ๆ หาง่าย. ทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่ามีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติ เฉพาะที่ปรากฏในชาดกนับจำนวนหลายร้อย แต่กลับนำมาแสดงในจริยาปิฎกเพียง ๓๕ เรื่อง เพียง ๖ บารมี ไม่ครบ ๑๐ บารมี ในสโมธานกถา หรือคำสรูปแสดงบารมี ๑๐ แจกเป็น ๓๐ คือบารมี หรือคุณธรรมที่ให้ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จอย่างธรรมดา ๑ สูงขึ้นมากกว่านั้น เรียกอุปบารมี ๑ สูงสุด เรียกปรมัตถบารมี ๑ บารมี ๓ ขั้นนี้ เป็น ไปในคุณธรรม ๑๐ ข้อ จึงเป็นบารมี ๓๐. คุณธรรม ๑๐ ข้อ คือ ๑. ทาน การให้ ๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ๓. เนกขัมมะ การออกบวช หรือออกจากกาม ๔. ปัญญา ๕. วิริยะ ความเพียร ๖. ขันติ ความอดทน ๗. สัจจะ ความจริงใจ ๘. อธิฏฐาน ความตั้งใจมั่น ๙. เมตตา ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุข ๑๐.อุเบกขา วางใจเป็นกลาง ในสโมธานกถาได้แสดงไว้ด้วยว่า เรื่องอะไรบ้างเป็นบารมีเฉย ๆ เป็นอุปบารมี และเป็นปรมัตถบารมี แต่ก็แสดงไว้พอเป็นตัวอย่าง ไม่ถึงร้อยเรื่องต่อไปนี้จะกล่าวตามลำดับจริยาตามที่ปรากฏในบาลีเป็นลำดับไป ).

๑. ทานบารมี ๑๐ เรื่อง

๑. อกิตติจริยา

ความประพฤติหรือประวัติครั้งเป็นอกิตติดาบส

      ในสมัยที่เรา ( พระผู้มีพระภาค ) เป็นอกิตติดาบส อยู่ในป่าใหญ่ ท้าวสักกะปลอมตัวเป็นพราหมณ์มาขอภิกษายืนอยู่ที่ประตู จึงให้ใบไม้ที่นำมาจากป่า อันไม่มีน้ำมัน ไม่มีรสเค็ม เกลี่ยลง ( ในภาชนะของท้าวสักกะ ) ด้วยภาชนะของตน. ครั้นให้ใบไม้ ( ที่ใช้เป็นอาหาร ) แล้วก็คว่ำภาชนะ ไม่แสวงหา ( ใบไม้มาใช้เป็นอาหารสำหรับตน ) อีกเข้าสู่บรรณศาลา. แม้ในวันที่ ๒ วันที่ ๓ ( เมื่อเราแสวงหาอาหารคือใบไม้มาได้แล้ว ) ท้าวสักกะก็มาขออีก เราก็ให้ไปเช่นเดิมโดยไม่หวั่นไหว ไม่ติดข้อง ( แล้วก็ไม่หามาบริโภคเองอีกด้วย ). ความเปลี่ยนแปลงในสรีระของเราเป็นเพราะเหตุนั้นไม่มี. เราได้ยังวันและคืนนั้นให้ล่วงไปด้วยปีติและสุข ( ในฌาน ). ถ้าเราจะพึงได้ผู้ควรแก่ทักษิณา แม้เดือนหนึ่งหรือสองเดือนเราก็จะให้ทานอันอุดม โดยไม่หวั่นไหว ไม่ติดข้อง. เมื่อเราให้ทานแก่พราหมณ์นั้น มิได้ปรารถนายศและลาภ หากปรารถนาพระสัพพัญญุ-ตญาณ ( ญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง คือการได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า บำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกได้เต็มที่ ).

๒. สังขพราหมณจริยา

ประวัติครั้งเป็นสังขพราหมณ์

      ในกาลเมื่อเรา ( พระผู้มีพระภาค ) เป็นพราหมณ์ชื่อสังขะ ใคร่จะข้ามสมุทร จึงไปที่ท่าน้ำ ณ ที่นั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จเดินทางกันดารมาบนพื้นดินอันแข็งและร้อนสวนทางมา จึงคิดว่า ( บัดนี้ ) นาของผู้ต้องการบุญมาถึงที่นี่แล้ว จึงถอดรองเท้า ถวายร่มและรองเท้า เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้สุขุมาล ( ละเอียดอ่อน ) โดยคุณตั้งร้อย ได้รับความสุข. เราได้บำเพ็ญทาน ถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยประการอย่างนี้.

๓. กุรุธัมมจริยา

ประวัติเนื่องด้วยธรรมของชาวกุรุ

      ในสมัยเมื่อเรา ( พระผู้มีพระภาค ) เป็นพระเจ้าธนัญชัย ประกอบด้วยกุศล ๑๐ ประการ ( ทศพิธราชธรรม ) ในกรุงอินทปัตถ์. มีพราหมณ์ชาวกาลิงครัฏฐ์มาขอพญาช้าง อันควรสงวนนับถือกันว่าเป็นมงคล อ้างว่าชนบทของตนฝนไม่ตก ทำให้เกิดทุพภิกขภัย และฉาตกภัย ( ภัยคือข้าวยากและอดอยากหิวโหย ) อันยิ่งใหญ่. จึงใคร่ขอช้างตัวประเสริฐมีสีเขียว มีนามว่า อัญชัน ก็ได้พระราชทานช้างไป เมื่อชาวเมืองคัดค้าน จึงตรัสตอบว่า เราย่อมให้แม้ราชสมบัติ แม้ร่างกายของเราทั้งสิ้น พระสัพพัญญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เราจึงให้ช้างเพราะเหตุ นั้น.

๔. มหาสุทัสสนจริยา

ประวัติครั้งเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ

      ในสมัยเมื่อเรา เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์ ในกรุงกุสาวดี ได้ประกาศให้ทานทุกอย่างที่มี ผู้ต้องการวันละ ๓ เวลา ไม่มีอาลัย ไม่หวังสิ่งตอบแทน ( อย่างอื่น ) นอกจากเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ.

๕. มหาโควินทจริยา

ประวัติครั้งเป็นมหาโควินทพราหมณ์

      ในสมัยเมื่อเราเป็นมหาโควินทพราหมณ์ เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์ ได้ถวายมหาทาน ไม่ใช่เกลียดทรัพย์และข้าวเปลือก ไม่ใช่สะสมทรัพย์ไม่เป็น แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะเหตุนั้นเราจึงให้ทรัพย์อันประเสริฐ.

๖. เนมิราชจริยา

ประวัติครั้งเป็นพระเจ้าเนมิ

      ในสมัยเมื่อเราเป็นมหาราชนามว่า เนมิ ในกรุงมิถิลา ได้สร้างศาลา ๔ หลัง มี ๔ หน้า ได้ให้ทานทั้งคนและสัตว์ ทำสัตว์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยทาน เพราะเราปรารถนาพระโพธิญาณอันอุดม.

๗. จันทกุมารจริยา

ประวัติครั้งเป็นจันทกุมาร

      ในสมัยเมื่อเราเป็นจันทกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าเอกราช ในกรุงบุปผวดี ได้พ้นจากการถูกบูชายัญ รู้สึกสลดใจ จึงจัดให้มีมหาทาน ได้ให้ทานตลอด ๔-๖ วัน อย่างไม่เป็นอันดื่ม ไม่เป็นอันกิน เราไม่ถอยจาก การให้ทานเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ.

๘. สิวิราชจริยา

ประวัติครั้งเป็นพระเจ้าสีพี

      ในสมัยเมื่อเราเป็นกษัตริย์นามว่า สิวิ    ในกรุงอริฏฐะ วันหนึ่งดำริว่า ทานที่เป็นของมนุษย์ใด ๆ ที่เราไม่เคยให้ ไม่มี แม้ผู้ใดจะขอดวงตา เราก็จะให้โดยมิหวั่นไหว. ท้าวสักกะทราบความดำริของเรา จึงปลอมตัวเป็นพราหมณ์แก่ตาบอดมาขอตาข้างหนึ่ง แต่เรากลับให้สองข้าง. ( ในที่สุดด้วยสัจจกริยา ก็หายเป็นปกติ เห็นได้ตามเดิม ). ดวงตาทั้งสองของตนเองมิได้เป็นที่เกลียดชังของเรา. แต่พระสัพพัญญุตญาณ เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงให้ดวงตา.

๙. เวสสันตรจริยา

ประวัติครั้งเป็นพระเวสสันดร

      ในสมัยเมื่อเราเป็นพระเวสสันดร ราชโอรสของพระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสสดี ได้ให้ช้างชื่อปัจจยนาค เป็นเหตุให้ชาวสีพีโกรธขับไล่ เราจึงบำเพ็ญมหาทานก่อนจากไปอยู่ป่า. เมื่อไปอยู่ในป่าแล้ว ก็มีผู้ต้องการไปขอ ชาลีกัณหาผู้เป็นบุตรน้อยของเรา เราก็ให้ไป. ท้าวสักกะปลอมตัวเป็นพราหมณ์มาขอมัทรี ( พระชายา ) เราก็ให้ไปอีก ( แต่ในที่สุดก็ได้กลับอยูร่วมกันทั้งหมดทุกพระองค์ ).

๑๐. สสปัณฑตจริยา

ประวัติครั้งเป็นสสบัณฑิต

      ในสมัยเมื่อเราเป็นกระต่าย กินหญ้า กินใบไม้ และผลไม้เป็นอาหาร เว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น มีสหายอีก ๓ อยู่ร่วมกัน คือลิง สุนัขจิ้งจอก และนาก เราสั่งสอนสหายให้เว้นความชั่ว ประพฤติความดี. ท้าวสักกะปลอมเป็นพราหมณ์มาขออาหาร เพื่อจะทดลองเรา, เราจึงให้ก่อไฟขึ้น แล้วกระโดดเข้าไปในไฟ เพื่อให้เป็นอาหารของพราหมณ์นั้น ( แต่กลับเย็นสบายไม่รู้สึกร้อนเลย ในที่สุดท้าวสักกะก็แสดงตน และให้ความสุขแก่สัตว์ทั้งสี่นั้นด้วยเทวานุภาพ ).

๒. ศีลบารมี ๑๐ เรื่อง

๑. สีลวนาคจริยา

ประวัติครั้งเป็นช้างผู้มีศีล

      ในสมัยที่เราเป็นช้างผู้เลี้ยงมารดาอยู่ในป่า พรานคนหนึ่งเห็นเข้าก็ไปกราบทูลแด่พระราชา พระราชาจึงทรงส่งควาญช้างไปจับเรา พรานช้างสังเกตเห็นเราถอนรากเหง้าบัวเพื่อเลี้ยงมารดา ก็เข้ามาจับงวง เรียกเราว่า ลูกเอ๋ยจงมา เพื่อที่จะรักษาศีลไว้ เราแม้จะมีกำลังมาก ก็มิได้ทำให้จิตปรวนแปรผิดปกติ.

๒. ภูริทัตตจริยา

ประวัติครั้งเป็นภูริทัตตนาคราช

      เรื่องของภูริทัตตนาคราช มีเล่าไว้ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ )     หมายเลขที่ ๖.ภูริทัตตชาดก

๓. จัมเปยยจริยา

ประวัติครั้งเป็นจัมเปยยนาคราช

      ในสมัยที่เราเป็นจัมเปยยกนาคราชผู้ตั้งอยู่ในธรรม ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร ขณะจำศีลรักษาอุโบสถ ได้ถูกหมองูจับไปเล่น ( เพื่อขอเงินชาวบ้าน ) แลเราก็อนุโลมตามจิตของหมองูนั้น ถ้าเราโกรธก็อาจทำให้หมองูนั้นเป็นเถ้าถ่านได้ทันที แต่เราก็มิได้ทำลายศีล.

๔. จูฬโพธิจริยา

ประวัติครั้งเป็นจูฬโพธิพราหมณ์

      ในสมัยที่เราเป็นจูฬโพธิพราหมณ์ เห็นภัยในภพออกบวช พราหมณีผู้เป็นภริยานามว่า กนกสันนิภา ก็ออกบวชด้วย ต่างถือเพศบรรพชิต เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ไม่คลุกคลีในสกุล ในหมู่คณะ เมื่อไปถึงกรุงพาราณสีเห็นพระราชอุทยาน ไม่พลุกพล่าน มีเสียงน้อย จึงอยู่ในราชอุทยานนั้นทั้งสองคน พระราชาเสด็จไปยังราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามทราบความ เกิดความพอพระทัยในนางปริพพาชิกา จึงสั่งให้อำมาตย์ฉุดเข้าไปไว้ในพระราชวัง เรารู้สึกโกรธแล้วก็ระงับได้ ไม่ยอมทำลายศีล เพราะเหตุ ( ที่ปรารถนา ) พระโพธิญาณ. ( เรื่องพิศดารในชาดกกล่าวต่อไปอีกว่า แม้จะพูดจาหว่านล้อมอย่างไร ก็ไม่สามารถทำนางปริพพาชิกาให้กลับใจครองฆราวาสวิสัยได้ พระราชาก็เลยไม่กล้าล่วงเกินผู้มีศีล เสด็จไปหา พระโพธิสัตว์ ได้ฟังธรรมทรงเลื่อมใสและคืนนางปริพพาชิกาให้ ).

๕. มหิสราชจริยา

ประวัติครั้งเป็นพญากระบือ

      ในสมัยที่เราเป็นกระบือใหญ่ เที่ยวไปในป่า มีลิงตัวหนึ่งมาถ่ายปัสสาวะรดบ้าง ถ่ายอุจจาระรดบ้าง วันละ ๑ ครั้งบ้าง ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้ง ๔ ครั้งบ้าง ประทุษร้ายเราตลอดกาล ยักษ์ตนหนึ่งเห็นเช่นนั้น จึงกล่าวยุเราให้ประหารเสียด้วยเขาหรือเท้า เราจึงตอบว่า ถ้าเราโกรธลิง เราก็จะเลวกว่าลิงนั้น ศีลก็จะทำลายวิญญูชนก็จะติเตียนได้.

๖. รุรุมิคจริยา

ประวัติครั้งเป็นพญาเนื้อชื่อรุรุ

      ในสมัยที่เราเป็นพญาเนื้อชื่อรุรุ ผู้ประกอบด้วยศีลอย่างยอดเยี่ยม. ชายผู้หนึ่งหนีเจ้าหนี้โดดแม่น้ำคงคา ถูกกระแสน้ำเชี่ยวพัดไป และร้องขอความช่วยเหลือ เราจึงช่วยชีวิตไว้ แต่ได้ขอไว้อย่างหนึ่งว่า อย่าบอกแก่ใครเกี่ยวกับตัวเรา ( ว่าเป็นเนื้อซึ่งมีสีเหมือนทอง ) แต่ผู้นั้นก็เห็นแก่ทรัพย์ จึงไปพาพระราชาจะมาจับเรา. แต่เมื่อพระราชาทรงทราบว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร จึงจะฆ่าเสีย แต่เราได้ห้ามไว้ การที่มีศีลในครั้งนั้นก็เพื่อพระโพธิญาณ.

๗. มาตังคจริยา

ประวัติครั้งเป็นชฎิลชื่อมาตังคะ

      ในสมัยที่เราเป็นชฎิลชื่อมาตังคะ เป็นผู้มีศีล มีจิตตั้งมั่นด้วยดี ได้ตั้งอาศรมอยู่ริมแม่น้ำคงคากับพราหมณ์ผู้หนึ่ง เราอยู่เหนือน้ำ พราหมณ์อยู่ใต้น้ำ ( คือน้ำที่ไหลนั้นผ่านอาศรมของมาตังคฤษีก่อน แล้วจึงจะถึงอาศรมของพราหมณ์ ) ครั้งหนึ่งพราหมณ์นั้นเดินมาตามฝั่งน้ำ เห็นอาศรมของตั้งอยู่เหนือน้ำ ก็ปริภาษเราและสาปให้ศีรษะแตก ๗ เสี่ยงถ้าเราจะโกรธตอบ ไม่รักษาศีลของเราเพียงจ้องดูเท่านั้น เขาก็จะเป็นถ่านเถ้าไป พราหมณ์นั้นโกรธมีจิตใจประทุษร้ายสาปเราคำสาปก็ตกแก่เขาเอง เราได้เปลื้องพราหมณ์นั้น ( จากคำสาป ) ด้วยโยคะ เรารักษาศีล มิได้รักษาชีวิตของเรา ที่รักษาศีลในกาลนั้น ก็เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น.

      ( หมายเหตุ :    ความจริงมาตังคจริยานี้ มิใช่เพียงแสดงเรื่องศีลบารมีเท่านั้น หากเป็น เรื่องที่ต้องการชี้ให้เห็นความเย่อหยิ่งถือตัวเพราะเหตุถือชั้นวรรณะอย่างรุนแรงของคนโบราณด้วย. ในที่นี้จะนำเรื่องบางตอนมากล่าวไว้ เพื่อให้เห็นว่า พระโพธิสัตว์ ( ซึ่งเกิดเป็นคนจันฑาล ) ช่างทรมานคนที่ถือตัวเพราะชาติอย่างไร เป็นเรื่องน่าขันพอใช้.

      พราหมณ์คนที่อยู่ใต้น้ำ หรืออยู่ในทิศทางที่กระแสน้ำจะไหลมาถึงทีหลังนั้น เป็นคนถือชาติมีมานะจัด. วันหนึ่งมาตังคดาบส ( พระโพธิสัตว์ ) เคี้ยวไม้สีฟัน แล้วก็อธิฐานให้ไม้สีฟันลอยน้ำไปติดที่มวยผมของดาบสผู้ถือตัวแล้วก็ทิ้งลงไปตามกระแสน้ำ ไม้สีฟันก็ลอยไปติดที่มวยผมของดาบสนั้นผู้กำลังอาบน้ำอยู่ ดาบสก็โกรธเคืองมาก จึงเที่ยวเดินดูไปทางต้นน้ำ พอมาพบมาตังคดาบส ก็ถามก่อนทีเดียวว่า ท่านเป็นคนชาติอะไร ( กษัตริย์ หรือพราหมณ์ ) พอรู้ว่าเป็นคนจัณฑาล และเป็นคนทิ้งไม้สีฟันให้ลอยน้ำไป ก็ยิ่งโกรธเคืองอย่างบอกไม่ถูก เพราะพราหมณ์ถือว่าคนจัณฑาลเป็นเสนียดมากจึงสั่งการทันทีว่า เจ้าคนถ่อย เจ้าอยู่ที่นี่ไม่ได้ ต้องไปอยู่ใต้น้ำ. ครั้นอพยพไปตั้งอาศรมอยู่ใต้น้ำแล้ว เคียวไม้สีฟันทิ้งลงไป ไม้สีฟันก็ลอยทวนน้ำไปติดที่มวยผมของดาบสผู้ถือชาติอีก ทำให้ดาบสนั้นมีความโกรธเคืองเป็นทวีคูณ สาปให้ศีรษะแตก ๗ เสี่ยงแต่คำสาป ไม่ตกแก่มาตังคดาบสผู้มีฤทธิ์เหนือกว่า. ดาบสผู้ถือตัว กลับถูกประชาชนบังคับให้ไปขอขมาต่อมาตังคดาบสอีก ในภายหลัง ).

๘. ธัมมเทวปุตตจริยา

ประวัติครั้งเป็นธัมมเทพบุตร

      ในสมัยที่เราเป็นมหายักษ์๑๐    ชื่อธรรมะ ( ธรรมเทพบุตร ) ชักชวนมหาชนให้ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ส่วนยักษ์ฝ่ายชั่ว ( อธรรมเทพบุตร ) ชักชวนให้ประพฤติความชั่ว ๑๐ ประการ ต่างเป็นศัตรูกัน ครั้งหนึ่งขับรถมาสวนทางกันจึงเกิดสงครามขึ้น เพื่อจะให้อีกฝ่ายหนึ่งหลีกทางให้ ตกลงเราทำใจให้สงบ ( ไม่โกรธเคือง ) หลีกทางให้เพื่อรักษาศีล แต่พอเราหลีกทางให้ ทำจิตของเราให้สงบ เทพบุตรฝ่ายชั่วก็ถูกธรณีสูบ ( คือรถบ่ายหัวลงตกลงสู่พื้นโลก ).

      ( หมายเหตุ :    เรื่องนี้เป็นที่มาแห่งพระราชนิพนธ์ เรื่องธรรมาธรรมสงคราม ซึ่งพระ บาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์.

๙. ชยทิสจริยา

ประวัติครั้งเป็นโอรสพระเจ้าชยทิศะ

      ในสมัยที่เราเป็นผู้มีนามว่า อลีนสัตตะ๑๑ เป็นโอรสของพระเจ้าชยทิศะ ในกรุงกัปปิลา ( บางแห่งเรียก กัมปิลละ ) แห่งแคว้นปัญจาละผู้ประกอบด้วยคุณคือศีล. ครั้งหนึ่งบิดาไปล่าเนื้อถูกมนุษย์กินคน ( โปริสาท=ปุริส+อท=กินคน ) จับได้ ปล่อยให้กลับด้วยมีสัญญาว่าจะไปให้กินในภายหลัง. เราได้ไปแทนแต่ก็มิได้ทำอันตรายมนุษย์กินคน เพราะเกรงศีลขาด ( ได้เจราจากัน ในที่สุด พูดเกลี้ยกล่อมให้มนุษย์กินคนรู้สึกผิดชอบออกบวชเป็นดาบส ).

๑๐. สังขปาลจริยา

ประวัติครั้งเป็นพญานาคชื่อสังขปาละ

      ในสมัยที่เราเป็นพญานาคชื่อสังขปาละ ได้อธิษฐานจำอุโบสถในทางใหญ่สี่แพร่ง ปลงใจว่าใครจะต้องการหนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูกของเรา ก็จงเอาไปเถิด ได้ถูกพวกพรานร้ายเข้าไปหาแทงที่จมูก ที่หาง กึ่งกลางหลัง( อรรถกถาชาดกว่า แทง ๘ แห่ง ) แล้วเอาหวายร้อย ใส่หาบ หาบไป ถ้าเราปรารถนาก็อาจทำลายให้เผาไหม้ไปได้ด้วยลมจมูกแม้เมื่อถูกแทงด้วยหลาว ถูกสักด้วยหอก ก็มิได้โกรธคนเหล่านั้น นี้เป็นศีลบารมีของเรา.

๓. เนกขัมมบารมี เป็นต้น

( ในหมวดเรื่องนี้มี ๑๕ เรื่อง เป็นเนกขัมมบารมี ๖ เรื่อง สัจจบารมี ๖ เรื่อง
เป็นเมตตาบารมี ๒ เรื่อง อุเบกขาบารมี ๑ เรื่อง )

๑. ยุธัญชยจริยา

ประวัติครั้งเป็นราชบุตรชื่อยุธัญชัย

      ในสมัยที่เราเป็นราชบุตรชื่อยุธัญชัย ได้กราบทูลลามารดาบิดาออกบวช แม้ท่านจะห้าม และคร่ำครวญก็ออกบวชจนได้. เรามิได้เกลียดมารดาบิดา มิได้เกลียดยศใหญ่ แต่เราสละราชสมบัติเพราะรักโพธิญาณ ( เรื่องนี้เป็นเนกขัมมบารมี ).

๒. โสมนัสสจริยา

ประวัติครั้งเป็นโสมนัสสราชกุมาร

      ในสมัยที่เราเป็นกุมารนามว่า โสมนัส ในกรุงอินทปัตถ์ มีศีล มีคุณธรรม มีดาบสผู้ปราศจากคุณธรรมอยู่ผู้หนึ่ง ซึ่งพระราชบิดาทรงนับถือ ครั้งหนึ่งมีกิจที่ต้องเสด็จปราบชนบทชายแดน พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้เราดูแลดาบส จัดถวายสิ่งซึ่งประสงค์ เพราะทรงเชื่อว่าดาบสเป็นผู้อำนวยสิ่งทั้งปวงได้ เราได้ไปหาดาบส ( ได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่สมแก่ความเป็นสมณะ ) จึงใช้ถ้อยคำเรียกดาบสว่า ผู้ครองเรือน ( คฤหบดีเจ้าเรือน ). เมื่อพระราชบิดาเสด็จกลับ ดาบสก็ฟ้องใส่ความ( หาว่าเราทำร้าย โดยดาบสแกล้งทุบหม้อน้ำ รื้อหญ้ามุงหลังคาเตรียมไว้ล่วงหน้า ) พระราชบิดาทรงพระพิโรธสั่งให้ราชบุรุษจับเรา เพื่อจะประหารชีวิตแต่เราทำให้เข้าใจถูกต้องได้ ( ได้อ้างพยานพิสูจน์ว่าดาบสนั้นเก็บใบไม้ผลไม้ใช้คนไปขาย และค้นได้ห่อ เงินที่ขายใบไม้ได้มากมายในบรรณศาลา ต่อพระพักตร์พระราชา ทั้งคนที่รับไปขายหลายคนก็ยืนยันเป็นหลักฐาน ). พระราชาก็ทรงขออภัยเราและพระราชทานราชสมบัติ แต่เราออกบวชมิใช่เกลียดราชสมบัติ มิใช่เกลียดการบริโภคกาม ที่สละราชสมบัติก็เพราะรักพระโพธิญาณ. ( ดาบสโกงถูกประชาชนรุมทำร้ายถึงตาย และเรื่องนี้เป็นเนกขัมมบารมี ).

๓. อโยมฆรจริยา

ประวัติครั้งเป็นอโยฆรราชกุมาร

      ในสมัยที่เราเป็นกุมารนามว่า อโยฆระ เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี เจริญขึ้นในเรือนเหล็ก ( อโยฆร=เรือนเหล็ก มีการสร้างเรือนเหล็ก เพื่อเอาเคล็ดป้องกันนางยักษิณี ด้วยเชื่อว่าพระราชบุตรสองพระองค์สิ้นพระชนม์แต่เล็ก เพราะถูกยักษิณีกิน ) เห็นโทษทุกข์ จึงไม่ต้องการราชสมบัติ แสวงหาความดับเย็น ในขณะที่มหาชนร้องให้อยู่ เราได้ตัดเครื่องผูกเข้าสู่ป่า เหมือนพญาช้าง มิใช่เกลียดพระราชมารดาพระราชบิดา มิใช่เกลียดยศใหญ่ ที่สละราชสมบัติก็เพราะรักพระโพธิญาณ ( เรื่องนี้เป็นเนกขัมมบารมี ).

๔. ภิงสจริยา

ประวัติครั้งเป็นดาบสกินเหง้าบัว

      เราและพี่น้องชายหญิงรวม ๗ คน เกิดในสกุลโสตถิยะ ( ซึ่งเป็นสกุลพราหมณ์ ) ในพระนครหลวง แห่งแคว้นกาสี เราผู้เป็นพี่ประกอบด้วยความละอายใจ ( ในการทำความชั่ว ) และธรรมอันขาว ( กุศลธรรม ) เห็นภัยในภพ จึงยินดีในการออกบวช มีสหายร่วมใจหลายคน ซึ่งท่านมารดาบิดาส่งมาเกลี้ยกล่อมให้พอใจในกาม แต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดทุกคน คือมารดาบิดา และพี่น้องทั้งเจ็ด ก็สละทรัพย์จำนวนมาก เข้าสู่ป่าใหญ่ (ถือเพศเป็นนักบวช ) ( เรื่องนี้เป็นเนกขัมมบารมี ).

๕. โสณนันทบัณฑิตจริยา

ประวัติครั้งเป็นโสณบัณฑิตคู่กับนันทบัณฑิต

      ในสมัยที่เราเกิดในสกุลมหาศาล มั่งคั่ง ในนครชื่อพรหมวัฒนะ เราเห็นโลกเป็นของมืดมนเห็นบาปมีประการต่าง ๆ จึงออกเรือนเข้าสู่ป่า แม้จะมีพวกญาติมาชวนให้อยู่บริโภคกาม แต่เราก็แจ้งความพอใจ ( ในการบวช )ให้ทราบ น้องชายของเราเป็นบัณฑิตนามว่า นันทะ ก็สั่งสอนเราให้พอใจการบวช พวกเราคือเรา (โสณะ ) กับนันทะ ( น้องชาย )พร้อมด้วยมารดาบิดา ได้ทิ้งโภคทรัพย์เข้าไปสู่ป่าใหญ่ (เรื่องนี้เป็นเนกขัมบารมี)

๖. มูคผักขจริยา

ประวัติครั้งเป็นเตมิยราชกุมารผู้เป็นใบ้และเป็นง่อย

      ประวัติเมื่อครั้งเป็นเตมิยราชกุมาร มีเล่าไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐)     หมายเลขที่ ๑.เตมิยชาดก ( เรื่องนี้เป็นเนกขัมมบารมี ).

๗. กปิลราชจริยา

ประวัติครั้งเป็นพญาลิง

      พญาลิงกระโดดเหยียบศีรษะจระเข้ ข้ามฝั่งน้ำไปได้ โดยไม่ยอมหลงกลให้จระเข้ฆ่ากินเป็นอาหาร ไม่ยอมพูดปดพล่อย ๆ เหมือนจระเข้ และลงสุดท้ายว่า นี่เป็นสัจจบารมีของเรา.

๘. สัจจสัวหยปัณฑิตจริยา

ประวัติครั้งเป็นดาบสชื่อสัจจะ

      สมัยที่เราเป็นดาบสชื่อว่าสัจจะ ได้คุ้มครองโลกด้วยสัจจะ ทำให้คนสามัคคีกัน ( เรื่องนี้เป็นเนกขัมมบารมี ).

๙. วัฏฏกโปตกจริยา

ประวัติครั้งเป็นลูกนกกระจาบ

      ในสมัยที่เราเป็นลูกนกกระจาบน้อย ขนาดเท่าก้อนเนื้อยังไม่มีปีกงอก อยู่ในรัง มารดาหาอาหารมาเลี้ยงด้วยจงอยปาก เป็นอยู่ได้ด้วยผัสสะของมารดา ไม่มีกำลังกาย. มีไฟป่าเกิดขึ้นในฤดูร้อน ลามเข้ามา. มารดาบิดาของเราตกใจกลัวไฟ จึงทิ้งเราไว้ในรัง เอาตัวรอด เราจึงทำสัจจกริยา อ้างคุณของศีล ระลึกถึงกำลังคือธรรมะ และพระชินะในกาลก่อน ไฟป่าก็หยุดอยู่ เว้นเนื้อที่ ๑๖ กรีส ( ๑ กรีสมากกว่า ๑ ไร่ ) นี้เป็นสัจจบารมีของเรา.

๑๐. มัจฉราชจริยา

ประวัติครั้งเป็นพญาปลา

      ในสมัยเมื่อเราเป็นพญาปลาในสระใหญ่ ถึงฤดูร้อน น้ำในสระแห้งเพราะแสงแดด. กา, แร้ง, นกกระสา และเหยี่ยว ก็พากันมาหากินปลาทั้งกลางวันกลางคืน เราคิดหาทางเปลื้องญาติทั้งหลายจากความทุกข์ จึงระลึกธรรมของสัตบุรุษ ทำสัจจกิริยา ฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมา เพราะอาศัยกำลังเดชแห่งสัจจะ นี้เป็นสัจจบารมีของเรา.

๑๑. กัณหทีปายนจริยา

ประวัติครั้งเป็นกัณหทีปายนฤษี

      ในสมัยที่เราเป็นกัณหทีปายนฤษี ประพฤติพรตอย่างไม่มีความยินดี ( ฝืนใจ ) เป็นเวลากว่า ๕๐ ปี ไม่มีใครรู้ความในใจของเรา และเราก็มิได้บอกแก่ใคร ๆ สหายของเรานามว่า มัณฑัพยะ เป็นมหาฤษี ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ประกอบด้วยกรรมอันทำไว้ในกาลก่อน ต้องถูกเสียบด้วยหลาว. เราได้พยาบาลสหายนั้นจนหายแล้ว จึงลามาสู่อาศรมของเรา. สหาย ( อีกคนหนึ่ง ) ซึ่งเป็นพราหมณ์ ได้พาภริยาและบุตร รวมกัน ๓ คน มาเยี่ยมเรา. เด็กน้อยโยนลูกกลม( วัฏฏะ แต่ในอรรถกถาชาดกว่า เคณฑุกะ คือลูกคลีหนัง ) ทำให้งูโกรธ ( เพราะลูกคลีหนังนั้นตกลงไปในโพรงที่งูอยู่ ). เด็กตามไปเอามือล่วงในโพรง งูจึงกัดล้มลงบนพื้นดิน เราจึงได้ทำสัจจกิริยาว่า เราประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความเลื่อมใสเพียง ๗วันเท่านั้น ต่อจากนั้นอีก ๕๐ ปีเศษ มิได้มีความพอใจ ( หรือเต็มใจ ) ประพฤติเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอให้พิษจงหมดไป ขอกุมารผู้มีนามว่ายัญญทัตจงฟื้นขึ้น. พร้อมกับที่ได้ทำสัจจะ เด็กน้อยก็หาย ฟื้นลุกขึ้นได้. สิ่งที่เสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี. นี้เป็นสัจจบารมีของเรา. ( แม้ความสัตย์นั้นจะเป็นการนำเรื่องที่ไม่ใช่ดีเลิศอะไรมากล่าว ถ้าเป็นการเปิดเผยความจริงก็ใช้ได้ ).

๑๒. สุตโสมจริยา

ประวัติครั้งเป็นพระเจ้าสุตโสม

      ในสมัยที่เราเป็นผู้ปกครองแผ่นดินนามว่า สุตโสม ถูกมนุษย์กินคนจับได้ ระลึกถึงการนัดหมายไว้กับพราหมณ์ จึงขอตัวไปพบกับพราหมณ์ ฟังธรรม ( จากพราหมณ์ ) ให้ทรัพย์แล้ว จึงเข้าไปหามนุษย์กินคน โดยไม่ลังเลใจว่าเขาจะฆ่าหรือไม่ เรารักษาสัจจวาจา อุทิศชีวิต นี้คือสัจจบารมีของเรา. ( เมื่อเข้าไปหามนุษย์กินคนตามสัจจวาจา และได้พูดแนะนำจนมนุษย์กินคนยอมงดเว้นความประพฤตินั้นกลับตัวเป็นคนดี เพราะมนุษย์กินคนนั้น เดิมก็เป็นกษัตริย์มนุษย์ธรรมดา ภายหลังมีความคิดเห็นวิปริตไป จึงกลายเป็นประหนึ่งโจรหรือปีศาจ ) ( เรื่องนี้เป็นสัจจบารมี ).

๑๓. สุวัณณสามจริยา

ประวัติครั้งเป็นสุวรรณสาม

      เรื่องสุวรรณสาม ได้กล่าวไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ )     หมายเลขที่ ๓.สุวัณณสามชาดก แต่ในคำกล่าวตอนนี้เล่าเพียงที่อยู่ในป่า โดยไม่หวาดระแวงภัยใด ๆ เพราะกำลังแห่งเมตตา. ( เรื่องนี้เป็นเมตตาบารมี ).

๑๔. เอกราชจริยา

ประวัติครั้งเป็นพระเจ้าเอกราช

      ในสมัยที่เราเป็นพระเจ้าเอกราช ได้ตั้งใจรักษาศีลอย่างยอดเยี่ยม ปกครองมหาปฐพี ยังกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้เป็นไปโดยไม่เหลือ ( ประพฤติครบทั้งสิบข้อ ) สงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ. พระเจ้าทัพพเสนะชิงบุรีได้สำเร็จ จึงขุดหลุมฝังเรา ( เราได้แผ่เมตตา ) นี้เป็นเมตตาบารมีของเรา. (ในเรื่องนั้นด้วยอำนาจแห่งเมตตาพระเจ้าทัพพเสนะกลับล้มดิ้นไปดิ้นมาบนพื้น ร้องว่าร้อนเหลือเกิน ต่อเมื่อขอขมาพระเจ้าเอกราชแล้ว จึงหายเป็นปกติ ).

๑๕. มหาโลมหังสจริยา

ประวัติครั้งเป็นนักบวช มีความเป็นอยู่อย่างน่ากลัว

      ในสมัยที่เรา ( เป็นนักบวช ) นอนหนุนซากศพในป่าช้า เป็นผู้มีใจสม่ำเสมอในบุคคลทั้งปวงทั้งผู้นำทุกข์มาให้ทั้งผู้ให้สุขแก่เรา ไม่มีความรักหรือความโกรธ เป็นผู้เสมอ ( มีใจเป็นตาชั่ง ) ในสุขทุกข์ ในยศและมิใช่ยศ นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา.

สโมธานกถา กล่าวคำสรูป ( ท้ายเล่มที่ ๓๓ )

      บารมี มี ๑๐,๑๒    อุปบารมี มี ๑๐, ปรมัตถบารมี มี ๑๐ เป็นเครื่องบ่มการตรัสรู้ให้สุก ( คือให้สำเร็จ ). เมื่อเป็นพระเจ้าสิวิราชผู้ประเสริฐ เป็นทานบารมี ; เมื่อเป็นพระเวสสันดร,เป็นเวลามพราหมณ์ และอกิตติฤษี เป็นทานอุปบารมี ; เมื่อเป็นไก่, เป็นพญาช้างชื่อสีลวนาค, เป็นกระต่าย ; เป็นทานปรมัตถบารมี ; เมื่อเป็นพญาลิง, เป็นพญาช้างชื่อฉัททันต์ และเป็นพญาช้างผู้เลี้ยงมารดา เป็นศีลบารมี. เมื่อเป็นพญานาคชื่อจัมเปยยกะและเป็นพญานาคชื่อภูริทัตต์ เป็นศีลอุปบารมี. เมื่อเป็นพญานาคชื่อสังขปาละ เป็นศีลปรมัตถบารมี. เมื่อเป็นยุธัญชยราชบุตร, เป็นมหาโควินทพราหมณ์, เป็นคนเลี้ยงช้าง, เป็นราชกุมารชื่ออโยฆระ, เป็นพระราชาพระนามว่า ภัลลาติ, เป็นสุวรรณสาม ( ข้อความตกหายไป ๑ บาทคาถา ) เป็นพระราชาพระนามว่า มฆเทวะ และเป็นราชกุมารชื่อนิมิ ( หรือเนมิ ) เป็นอุปบารมี ฯลฯ ( โดยนัยนี้ได้แสดงว่า เมื่อเสวยพระชาติเป็นอะไร เป็นศีลบารมี, ศีลอุปบารมี, ศีลปรมัตถบารมี เป็นต้น จนถึงอุเบกขาบารมี ).

จบจริยาปิฎก

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓

และจบพระสุตตันตปิฎก รวม ๒๕ เล่มเพียงนี้


    '๑' . จากต้นฉบับหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ ) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ คำว่า กัจจายนะ หรือ กัจจานะ ใช้แทนกันได้

    '๒' . ได้ลองถอดข้อความในตอนนี้ออกมาทุกตัวอักษร ให้เห็นความไพเราะในคำฉันท์ ความจริงคำฉันท์ตลอดเล่มที่ ๓๒ และ ๓๓ มีสำนวนไพเราะเช่นนี้โดยมาก

    '๓' . คือวิจิตรด้วยอุปมา พระกุมารกัสสปรูปนี้ กล่าวธรรมวิจิตรอย่างไร พึงย้อนไปดูปายาสิราชัญญสูตรที่ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ หน้า ๔)     ปายาสิราชัญญสูตร

    '๔' . ในอปทานว่า พระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์ พระสาริบุตรเป็นอุปัชฌายะของท่าน

    '๕' . ดูเรื่องอนุบุพพวิหารนี้ ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ หน้า ๒ )     อนุบุพพวิหารเรื่องลีลาในการปรินิพพาน พึงสังเกตว่า ผู้ปรินิพพานแบบนี้ มีพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร (ดูกองทัพธรรมภาค ๓ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ )     ๖. ปาสาทิกสูตรและศาสดา, หลักธรรม, สาวก กับพระนางมหาปชาบดี โคตมี นี้

    '๖' . ไม่ใช่พระองค์เดียวกับพระโคดมพุทธเจ้า

    '๗' . ในอรรถกถาชาดก เล่มที่ ๗ หน้าเอกสารทางประวัติศาสตร์) หน้าเอกสารทางประวัติศาสตร์    กล่าวว่าจริยาปิฎกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงแก่พระสาริบุตร ปัญหาจึงมีอยู่เพียงว่า ตรัสแสดงอย่างพูดกันธรรมดา หรือแสดงเป็นบทกวีอย่างที่ปรากฏอยู่ในจริยาปิฎกนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าตรัสแสดงด้วยคำพูดธรรมดา แต่มารวบรวมเป็นบทกวีขึ้นภายหลัง. เพราะถ้าจะกล่าวไปแล้วที่เป็นพระไตรปิฎกขึ้นได้ ก็เพราะการรวบรวมขึ้น จากที่จำได้ ท่องได้ทั้งสิ้น. ข้อสำคัญนั้นมิใช่อยู่ที่สำนวนแบบนั้นแบบนี้ แต่อยู่ที่ธรรมะ หรือตัวอย่างแห่งคุณความดี

    '๘' . ช้างนั้น ในอรรถกถาชาดกกล่าวว่า ชื่อว่าอัญชนสันนิภะบ้าง อัญชนวสภะบ้าง เมื่อพราหมณ์ได้ช้างไปแล้ว ฝนก็ยังไม่ตก จึงได้นำช้างมาคืน ขอจารึกกุรุธรรมลงในแผ่นทอง เพื่อไปประพฤติปฏิบัติ. กุรุธรรมที่จารึกไป คือศีล ๕ เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาลตามเดิม

    '๙' . สำเนียงไทยนิยมเรียกเป็นสีพี

    '๑๐' . คำว่า ยักษ์ ในที่นี้ หมายถึงเทพบุตร จึงแสดงที่มาให้เห็นชัด เพื่อว่าเห็นคำว่า ยักษ์ในที่อื่น จะได้ไม่ด่วนทึกทักว่า ว่าเป็นพวกดุร้าย มีเขี้ยวออกนอกปากเสมอไป

    '๑๑' . อรรถกถาชาดก เล่มที่ ๗ได้กล่าวไว้ว่า ชื่อว่า " อลีนสัตตุ " ไม่ใช่อลีนสันตะ

    '๑๒' . บารมี ๑๐ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ ( การออกบวช ), ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน( ตั้งใจมั่น ), เมตตาและอุเบกขา บารมีที่สูงกว่าธรรมดาเรียกว่าอุปบารมี ที่สูงสุดหรือทำได้ยากที่สุดเรียกปรมัตถบารมี

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ