พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๓

   และข้อซึ่งกระจายออกพิจารณาที่สูญด้วยอาการ ๘ นั้น คือพระโยคาพจรพิจารณาว่า

   “รู ปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ สาราปคตํ นิจฺจสารสาเรน วา ” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นใช่สาร บ่มิเป็นแก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะเหตุว่าคุณ คือนิสสาระนั้นมิได้ในรูป จะหาคุณที่เที่ยงแห่งรูปนั้นหาบ่มิได้เลยเป็นอันขาด แก่นสารคือสภาวะเที่ยงนั้น มิได้มีในรูปโดยปกติธรรมดาพิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปนั้นปฐม

   แลอาการพิจารณาว่า “ รู ปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ สาราปคตํ ธุวสารสาเรน วา” รูปนี้ที่ได้ชื่อว่าใช่แก่นใช่สาร บ่มิเป็นแก่นสารปราศจากแก่นสารเพราะเหตุว่าคุณ คือธุวสารนั้นมิได้ในรูป จะหาคุณที่ยั่งยืนมั่นคงแห่งรูปนั้นหามิได้เลยเป็นอันขาด แก่นสารคือสภาวะยั่งยืนมั่นคงนั้นมิได้มีในรูปเป็นปกติธรรมดาพิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๒

   แลอาการพิจารณาว่า “ รู ปํ อสฺสารํ สาราปคตํ สุขสารสาเรน วา” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นสารบ่มิได้เป็นแก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะเหตุว่าคุณคือสุขสารนั้นมิได้มีในรูป จะหาคุณคือความสุขอันบังเกิดแต่รูปนั้น หาได้เป็นอันยากยิ่งนัก คุณสารคือความสุขนั้นมิได้มีในรูปปกติธรรมดาพิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๓

   แลอาการพิจารณา “ รู ปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ สาราปคตํ อตฺต สารสาเรน วา” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นสาร บ่มิเป็นแก่นสารปราศจากแก่นสารเพราะเหตุว่า คุณคืออัตตสารนั้นมิได้มีในรูป อันจะหาคุณเป็นตนเป็นของแห่งตน ซึ่งจะมีในรูปนั้นหาบ่มิได้เลยเป็นอันขาด คุณสารคือสภาวะเป็นตน เป็นของแห่งตนนั้นบ่มิได้มีในรูปเป็นปกติธรรมดาพิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๔

   แลอาการพิจารณาว่า “ รู ปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ สาราปคตํ นิจฺเจน วา” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะเหตุว่ารูปนี้เปล่าสภาวะเที่ยงพิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๕

   แลอาการพิจารณาว่า “ รู ปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ สาราปคตํ ธุเวน วา” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เพราะเหตุว่ารูปนี้เปล่าจากสภาวะยั่งยืนแลมั่นคง อันจะแสวงหากิริยาที่ยั่งยืนมั่นคงแห่งรูปนี้หาเสียเปล่ายิ่งหาไปก็ยิ่งเปล่ายิ่งสูญ บ่มิได้พบได้ปะรูปที่ยั่งยืนที่มั่นคงพิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๖

   แลอาการพิจารณา “ รู ปํ อสฺสารํ สาราปคตํ ตสฺสเตน วา” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นสาร บ่มิเป็นแก่นสารปราศจากแก่นสาร เพราะเหตุว่ารูปนี้เปล่าจากกิริยาที่ถือว่าเที่ยงลัทธิเดียรถีย์ที่ถือว่ารูปเที่ยงนั้น ถือเปล่าไม่สัตย์ไม่จริง พิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๗

   แลอาการพิจารณา “รู ปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ สารปคตํ อวิปริณามธมฺเมน วา” รูปนี้ได้ชื่อว่าใช่แก่นสาร บ่มิได้เป็นแก่นสารปราศจากแก่นสาร เพราะเหตุว่า รูปนี้เปล่าจากอวิปปริณามธรรม รูปนี้ที่จะไม่แปรไม่ปรวนไปนั้นหาบ่มิได้ มีแต่แปรปรวนไปเป็นเบื้องหน้า พิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการพิจารณาที่สูญแห่งรูปเป็นคำรบ ๘

   แลเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละขันธ์ ๆ นั้น พระโยคาพจรพึงพิจารณาที่สูญด้วยอาการ ๓ เหมือนอย่างพิจารณาที่สูญแห่งรูปนี้เถิด

   ถึงจักขุแลโสตฆานแลชิวหา ตลอดไปตราบเท่าถึงชราแลมรณะ

   นั้นให้พระโยคาพจรพิจารณาที่สูญแต่ละสิ่ง ๆ นั้น ให้ประกอบด้วยอาการ ๘ สิ้นด้วยกัน

   แล้วให้พระโยคาพจรพิจารณาที่สูญโดยนัยอุปมาว่า รูป แลเวทนา แลสัญญา แลสังขาร แลวิญญาณ จักขุแลโสต ฆาน แลชิวหาตลอดไปตราบเท่าถึงชราแลมรณะนั้นปราศจากแก่นสาร   “ยถา นโฬ” เปรียบประดุจไม้อ้ออันสูญเปล่าปราศจากแก่น 

   มิฉะนั้น  “ยถา เอรณฺโฑ”  เปรียบประดุจไม้ละหุ่งไม้มะเดื่ออันปราศจากแก่น

   มิฉะนั้น  “ยถา สตวจโฉ”  เปรียบประดุจไม้สนุ่นแลไม้มองกวาวอันปราศจากแก่น

   มิฉะนั้น  “ยถา เผณุปิณฺโฑ”  เปรียบประดุจก้อนแห่งฟองน้ำ แลปุ่มเปือกอันหาแก่นสารมิได้

   มิฉะนั้น  “ยถา มรีจิ ยถา กทฺทลี”  เปรียบประดุจพยับแดด ต้นกล้วยอันปราศจากแก่น

   มิฉะนั้น  “ยถา มายา”  เปรียบประดุจคำโกหกมารยา อันหาแก่นสารบ่มิได้

   จบพิจารณาที่สูญโดยอาการ ๘ เท่านี้

   แลพิจารณาที่สูญกระจายออกโดยอาการ ๑๐ นั้น

   “รตฺตโต”  คือให้พระโยคาพจรกุลบุตร พิจารณาซึ่งรูปโดยสภาวะเปล่าจากแก่นสาร มีนิจสารเป็นอาทิประการ ๑

   “ตุจฺฉโต”  ให้พิจารณาซึ่งรูปโดยสภาวะ มีอายุน้อยแลลามกประการ ๑

   “สุญฺญโต”  ให้พิจารณารูปโดยเปล่าจากอัตตสาร คือบ่มิได้เป็นตัวเป็นตนประการ ๑

   “อนตฺตโต”  ให้พิจารณารูปโดยสภาวะ ไบ่มิได้ประพฤติตามอำนาจประการ ๑

   “อนิสฺสริยโต”  ให้พิจารณารูปโดยสภาวะ ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นอิสรภาพสามารถจะบังคับบัญชาได้ประการ ๑

   “อกามํ การิยโต”  ให้พิจารณารูปโดยสภาวะไม่กระทำความปรารถนา จะกระทำให้เที่ยงอยู่เป็นต้นนั้น กระทำไม่ได้สำเร็จดังใจนึกใจหมาย เปรียบบุคคลอันเอาฟองน้ำมากระทำซึ่งภาชนะเป็นต้นและกระทำไม่ได้สำเร็จดังใจนึกใจหมาย ให้พิจารณาดังนี้ประการ ๑

   “อลพฺภนียโต”  ให้พิจารณารูปโดยอาการกิริยาอันบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมิพึงกล่าวได้ ว่าท่านจงเป็นดังนี้ ๆ อย่าได้เป็นดังนี้ ๆ ถึงจะว่าก็ว่าเสียเปล่ารูปเสียเปล่าหาฟังถ้อยฟังคำไม่ ว่ากับไม่ว่านั้นเหมือนกันให้พิจารณาดังนี้ประการ ๑

   “อวตฺตนโต”  ให้พิจารณารูปตนโดยกิริยาที่บ่มิอาจคงดีคงงามอยู่ตามอำนาจแห่งผู้อื่น แลบ่มิอาจยังรูปผู้อื่น ให้คงดีคงงามอยู่ตามอำนาจแห่งตนประการ ๑

   “ปรโต”  ให้พิจารณารูปโดยกิริยาที่เหมือนด้วยผู้อื่น เพราะเหตุที่ว่าไม่ได้ไว้ไม่ได้ฟัง ไม่พอใจจะให้แก่ขืนแก่ ไม่พอใจจะให้ตายขืนตาย เมื่อว่าไม่ได้ไว้ไม่ได้ฟังดังนี้ จะว่าเป็นตนก็มิใช่ตน เพราะเหตุว่าเหมือนด้วยผู้อื่น เมื่อพิจารณาให้ละเอียดไปดังนี้ เหมือนผู้อื่นแท้ไม่แปลกผู้อื่นเลย ให้พิจารณาดังนี้ประการ ๑

   “วิวิตฺตโต”  ให้พิจารณารูปโดยกิริยาที่สงัดจากเหตุผลแล

   อธิบายตามคำฎีกาจารย์นั้นว่า ผลมิตั้งอยู่ด้วยเหตุ เหตุที่ให้บังเกิดผลนั้นบ่มิได้ตั้งอยู่ด้วยผล อันนี้อธิบายตามคำฎีกาจารย์

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าผลนั้นได้แก่รูป แลเวทนาแลสัญญาแลสังขาร แลวิญญาณ ที่เป็นผลนั้นจะได้ตั้งอยู่กันกับเหตุ ติดพันกันกับเหตุ คือกุศลแลอกุศลนั้นบ่มิได้ เป็นปัจจัยแก่กันก็จริงแล แต่ทว่าอยู่เป็นแผนก ๆ แยกกันอยู่เป็นหมวด ๆ กัน จะไปปะปนระคนกันหาบ่มิได้

   ข้อซึ่งว่ารูปสงัดจากเหตุผลแลนั้น สิริประสงค์เอากิริยาที่เหตุกับผลบ่มิได้ระคนปนกัน สิริอาการซึ่งพิจารณาที่ศูนย์แห่งรูปเข้าด้วยกันเป็นอาการ ๑๐ โดยนัยดังพรรณามาฉะนี้

   พิธีพิจารณาศูนย์แห่งรูปกระจายออกโดยอาการ ๑๐ นี้ พระโยคาพจรพึงเอาแบบอย่างพิจารณา เวทนา แลสัญญา แลสังขาร แลวิญญาณ ให้ประกอบด้วยอาการละสิบ ๆ ตลอดไปตราบเท่าถึงชราแลมรณะนั้นเถิด

   แลพิจารณาที่ศูนย์กระจายออกไปโดยอาการ ๑๒ นั้น คือให้พิจารณาว่า

   “รูปํ น สตฺโต”  รูปนี้ใช่สัตว์บ่มิได้เป็นสัตว์ ข้อซึ่งโลกโวหารร้องเรียกสัตว์นั้น ประสงค์เอากิริยาที่ประชุมกันแห่งรูปแลเวทนา แลสัญญา แลสังขาร แลวิญญาณ แต่รูปสิ่งเดียวนั้นจะได้ชื่อว่าสัตว์หาบ่มิได้ กิริยาที่พิจารณารูปว่าใช่สัตว์นี้ จัดเป็นอาการเป็นปฐม

   แลกิริยาที่พิจารณา   “รูปํ น ชีโว”  รูปนี้มิใช่ชีวิต จัดเป็นอาการคำรบ ๒

   กิริยาที่พิจารณา   “รูปํ น นโร”  รูปนี้มิใช่คน จัดเป็นอาการคำรบ ๓

   กิริยาที่พิจารณา   “รูปํ น ภาโว”  รูปนี้ไม่ใช่มาณพ จัดเป็นอาการคำรบ ๔

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น อิตฺถี”  รูปนี้มิใช่หญิง ข้อซึ่งโลกโวหาร ร้องเรียกว่าหญิงสมมติสัจยังหาแท้ไม่ เมื่อสำแดงโดยปรมัตถสัจอรรถอันสุขุม สำแดงโดยแท้นั้น รูปนี้มิใช่หญิงบ่มิได้เป็นหญิงพิจารณาดัง จัดเป็นอาการคำรบ ๕

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น ปุริโส”  รูปนี้มิใช่บุรุษ จัดเป็นอาการคำรบ ๖

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น อตฺตา”  รูปนี้บ่ใช่ตน บ่มิเป็นตนจัดเป็นอาการคำรบ ๗

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น อตฺตนิยํ”  รูปนี้บ่มิใช่ของตน บ่มิเป็นตนจัดเป็นอาการคำรบ ๘

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ นาหํ”  รูปนี้ใช่เรา มิใช่ของแห่งเราข้อซึ่งโลกโวหารกล่าวว่า   “อหํ ๆ”  ว่าเรา ๆ นั้นจะได้แก่รูปนี้หามิได้ รูปนี้มิใช่เรา พิจารณาดังนี้ จัดเป็นอาการคำรบ ๙

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น มม ”  รูปนี้มิใช่ของแห่งเรา ข้อซึ่งโลกกล่าวว่า  “มม”  ว่าของ ๆ เรานั้น จะได้แก่รูปนี้หาบ่มิได้ รูปนี้มิใช่ของเรา พิจารณาดังนี้จัดเป็นอาการคำรบ ๑๐

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น อญฺญสฺส”  รูปนี้มิใช่ของแห่งผู้อื่นข้อซึ่งโลกโวหารกล่าวว่า  “อญฺญสฺส ๆ”  ว่าของผู้อื่น ๆ นั้น จะได้แก่รูปนี้หาบ่มิได้ รูปนี้มิใช่ของแห่งผู้อื่น พิจารณาดังนี้จัดเป็นอาการคำรบ ๑๑

   กิริยาที่พิจารณาว่า  “รูปํ น กสฺสจิ”  รูปนี้มิใช่ของแห่งผู้ใดผู้หนึ่ง ๆ นั้นจะได้แก่รูปนี้หาบ่มิได้ รูปนี้มิใช่ของผู้ใดผู้หนึ่งพิจารณาดังนี้จัดเป็นอาการคำรบ ๑๒

   พิธีพิจารณาที่สูญแห่งรูปนี้ ประกอบด้วยอาการ ๑๒ ฉันใด พิธีพิจารณาที่สูญแห่งเวทนา แลสัญญา แลสังขาร แลวิญญาณ ตลอดออกไปตราบเท่าถึงชราแลมรณะนั้น พระโยคาพจรพิจารณาให้ประกอบด้วยอาการ ๑๒ ๆ เหมือนดังนั้น

   มีคำฎีกาจารย์วิสัชนาว่า บท ๘ บทจำเดิมแต่  “รูปํ น สตฺโต”  ไปตราบเท่าจนถึงถึง  “รูปํ น อตฺตานิยํ”  นั้น สำแดงใจความให้เห็นว่ารูปแลเวทนาเป็นอาทินั้น เปล่าจากสภาวะเป็นต้น สูญจากสภาวะเป็นต้น บ่มิได้เป็นตนเลยเป็นอันขาด

   แลบท ๔ บทในเบื้องปลายนั้น สำแดงในความให้เห็นว่า รูปแลเวทนาเป็นอาทินั้น บ่มิควรที่พระโยคาพจรจะมาให้เป็นปลิโพธกังวลอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

   แลพิธีพิจารณาที่สูญ แผ่ออกด้วยอาการ ๔๒ นั้น

   “อนิจฺจโต”  คือให้พระโยคาพจรพิจารณารูปโดยอนิจจังประการ ๑

   “ทุกฺขโต”  ให้พิจารณารูปโดยทุกขังประการ ๑

   “โรคโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่าเป็นโรคอยู่เป็นนิตย์ เป็นไข้อยู่เป็นนิตย์ประการ ๑

   “คณฺฑโต”  ให้พิจารณารู้ให้เห็นว่า เป็นที่ไหลออกแห่งกิเลสแลอสุจิโสโครกต่าง ๆ เหมือนด้วยฝีปากเน่าที่แตกเป็นบุพโพโลหิตเปื่อยหวะนั้นประการ ๑

   “สลฺลโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เหมือนด้วยลูกปืนอันยอกเสียดเสียบแทง ยากนักที่จะชักจะถอนได้ประการ ๑

   “อฆโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ประกอบด้วยลามกเป็นอันมากเป็นที่ติฉินเกลียดหน่ายแหนงแห่งพระอริยเจ้าประการ ๑

   “อาพาธโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ประกอบอยู่ด้วยอาพาธเป็นเนืองนิตย์ สิ่งที่ไม่รักปรารถนานั้นชักนำเอามาให้บังเกิดขึ้นประการ ๑

   “ปรโต”  ให้พิจารณารูปเหมือนผู้อื่น เพราะเหตุที่ว่าไม่ได้ไว้ไม่ได้ฟังประการ ๑

   “ปโลกโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ขาดเด็ดกระเด็นออกด้วยอำนาจชราทุกข์แลพยาธิแลมรณะนั้นประการ ๑

   “อีติโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เป็นจัญไรนำมาซึ่งความร้ายความฉิบหายประการ ๑

   “อุปทฺทวโต”  ให้พิจารณาให้เห็นว่า เป็นอุปัทวะชนเอาที่ชั่วที่ไม่ได้มาสะสมประการ ๑

   “ภยโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่าเป็นบ่อเกิดแห่งภัยประการ ๑

   “อุปสคฺคโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เป็นตัวอันตรายติดตามย่ำยียีฑาประการ ๑

   “จลโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ไหวด้วยโลกธรรม ไหวด้วยชราแลพยาธิแลมรณะประการ ๑

   “ปภงฺคโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า บางคาบทำลายเอง บางคาบทำลายด้วยความเพียรแห่งผู้อื่นประการ ๑

   “อธุวโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนไปเลยย่อมทอดทิ้งกลิ้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ไม่มีที่กำหนดประการ ๑

   “อตาณโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า บ่มิอาจจะคุ้มครองรักษาสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งได้ประการ ๑

   “อเลณโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ปราศจากที่เร้นซ่อนถึงคราวจะป่วยไข้ ถึงคราวจะแก่จะตายแล้ว จะหาที่เร้นซ่อนให้พ้นป่วยพ้นไข้ ให้พ้นแก่พ้นตายนั้นหาได้ไม่ประการ ๑

   “อสรณโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า รูปนี้บ่มิอาจบังเกิดเป็นที่พึ่งอาศัย คุ้มครองป้องกันชาติและชราพยาธิและมรณะได้นั้นประการ ๑

   “ริตฺตโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เปล่าจากเที่ยงและงามเปล่าจากสภาวะเป็นสุขและเป็นอาตมาประการ ๑

   “ตุจฺฉโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า งามอยู่เป็นอันน้อยมีความสุขอยู่เป็นอันน้อยประการ ๑

   “สุญฺญโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เป็นธรรมอันเปล่าอันสูญโดยปกติธรรมดาประการ ๑

   “อนตฺตโต”  ให้พิจารณารูปโดยมิได้เป็นอาตมาประการ ๑

   “อนสฺสาทโต”  ให้พิจารณารูปโดยสภาวะ มีความโสมนัสอันน้อยนักน้อยหนาประการ ๑

   “อาทีนวโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า รูปนั้นมากไปด้วยโทษประการ ๑

   “วิปริณามธมฺมโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า รูปมีสภาวะวิปริตแปรปรวนประการ ๑

   “อสารกโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า หาแก่นสารบ่มิได้ประการ ๑

   “อฆมูลโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เป็นเค้าเป็นมูลแห่งทุกข์ประการ ๑

   “วิธกโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า มีปกติเบียดเบียนเปรียบประดุจนายเพชฌฆาตประการ ๑

   “วิภวโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า มีแต่ความฉิบหายเป็นเบื้องหน้าบ่มิได้พ้นจากความฉิบหายประการ ๑

   “อาสวโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ประกอบอยู่ด้วยอาสวะกิเลสประการ ๑

   “สงฺขโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า รูปนั้นแล้วด้วยกุศลและอกุศลประชุมแต่งประการ ๑

   “มารามิสฺสโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า เป็นเหยื่อแห่งมารประการ ๑

   “ชาติธมฺมโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า อากูลมูลมองไปด้วยชาติทุกข์ประการ ๑

   “ชราธมฺมโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ความชรารัดรึงตรึงตราประการ ๑

   “มรณธมฺมโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า มีสภาวะเที่ยงที่จะตายประการ ๑

   “โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสธมฺมโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็นว่า ประกอบด้วยความโศกเศร้าและร้องไห้ร่ำไร และกิริยาที่สลดหดหู่และโทมนัสขัดเคืองสะอึกสะอื้นอาลัย เป็นปกติธรรมดาประการ ๑

   “สมุทยโต”  ให้พิจารณารูปให้เห็น รูปนี้นายช่างเรือนคือตัณหาตกแต่งไว้ประการ ๑

   “อตฺถงฺคมโต”  ให้พิจารณารูปอันมีสภาวะเกิดแล้วดับเนือง ๆ กันมาหาระหว่างมิได้ประการ ๑

   “นิสฺสรณโต”  ให้พิจารณาซึ่งกิริยาอันจะบรรเทาเสียซึ่งฉันทะราคะสละละเมินฉันทะราคะเสีย อย่ารักอย่ากำหนัดในรูปประการ ๑

   สิริเข้าด้วยกัน จึงเป็นอาการอันพิจารณาสภาวะสูญเปล่าแห่งรูปแผ่ออกโดยพิสดาร ๔๒ ประการดังนี้

   วิธีที่พิจารณาเวทนาและสัญญาพิจารณาสังขารและวิญญาณนั้น พระโยคาพจรพึงพิจารณาให้ประกอบด้วยอาการ ๔๒ ๆ เหมือนอย่างพิจารณารูปนี้เถิด

   พิจารณาดังนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า ดูกรโมฆราชพราหมณ์ นักปราชญ์ผู้มีสตินั้น ย่อมพิจารณาซึ่งขันธาทิโลกคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ด้วยอาการ ๔๒ มีพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยงเป็นต้น มีพิจารณากิริยาที่สละเสียซึ่งฉันทะราคะเป็นที่สุดดุจพรรณนามาฉะนี้สิ้นกาลทุกเมื่อ

   “โลกํ อเวกฺขสฺสุ”  ขอท่านจงมีสติพิจารณาขันธาทิโลกด้วยอาการ ๔๒ นี้ สิ้นกาลทุกเมื่อเถิด อย่าได้ประมาท บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์บำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน พิจารณาขันธาทิโลกด้วยอาการ ๔๒ โดยนัยพิสดารดังนี้ นักปราชญ์นั้นอาจเพื่อจะเพิกถอนเสียได้ซึ่งสักกากายทิฏฐิอาจข้ามพ้นจากจตุรโอฆสงสาร ไปสู่พระนิพพานลับนัยน์ตาพญามัจจุราชมิอาจแลเห็น อริยนักปราชญ์เห็นปานฉะนี้

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้า ยกเอาพระพุทธฏีกามาสาธกให้มั่นด้วยประการฉะนี้ จึงสำแดงวิปัสสนาพิธีสืบต่อไป

   “เอวํ สุญฺญโต ทิสฺวา ติลกฺขณํ อาโรเปตวา”  

   เมื่อพระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยเปล่าโดยสูญยกปัญญาขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ กำหนดกฏหมายสังขารธรรมโดยอาการ ๔๒ ดังนี้ จิตแห่งพระโยคาพจรนั้นก็จะสิ้นกลัวสิ้นสะดุ้งสิ้นรักสิ้นใคร่จะตั้งอยู่ในที่เป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่ถือว่าเบญจขันธ์เป็นอาตมา เป็นของอาตมา

   “วิสฺสฏฺภริโย วิย ปุริโส”  เปรียบประดุจบุรุษอันมีภริยาหย่าขาดแล้ว และมัธยัสถ์อยู่ในภริยานั้น พระผู้เป็นเจ้าพุทธโฆษาจารย์จึงสำแดงอุปมาโดยนัยพิสดารว่า บุรุษผู้หนึ่งมีภริยาเป็นที่ชอบอัชฌาสัย เป็นที่รักที่จำเริญใจยิ่งนัก บุรุษนั้นถ้าไม่ได้เห็นหน้าภริยาแต่สักครู่หนึ่งอยู่มิได้ ถ้าเห็นภริยานั้นไปยืนอยู่ด้วยบุรุษอื่นก็ดี บุรุษนั้นมีความโทมนัสขัดแค้นเป็นหนักหนา

   “อปเรน สมเยน”  อยู่จำเนียรภาคไปเบื้องหน้า บุรุษนั้นพิจารณาเห็นโทษ เห็นว่าภริยานั้นไม่ซื่อไม่สัตย์ต่อตนแล้ว ก็ทิ้งขว้างร้างหย่าภริยานั้นเสีย บ่มิได้สำคัญว่าเป็นของอาตมา “ตโต ปฏฐาย” จำเดิมแต่อย่าขาดเสียแล้ว ถึงจะเห็นสตรีนั้นไปนั่งเล่นเจรจาคบหาสมาคมกับใคร ๆ ก็ดี บุรุษนั้นจะได้กริ้วโกรธโทมนัสขัดเคืองมาตรว่าน้อยหนึ่งหามิได้ ตกว่าจิตแห่งบุรุษนั้นตั้งอยู่ในอุเบกขา อันนี้แลมีอุปมาฉันใดเมื่อพระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยเปล่าสูญ ยกปัญญาขึ้นสู่พระไตรลักษณ์กำหนดกฏหมายสังขารธรรมโดยอาการ ๔๒ ดังนี้ จิตแห่งโยคาพจรนั้นก็จะสิ้นสะดุ้งกลัวสิ้นรักสิ้นใคร่ จะตั้งอยู่ในที่เป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่ถือว่าเป็นเบญจขันธ์เป็นอาตมาเป็นของอาตมา มีอุปไมยดังนั้น

   เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ในที่เป็นอุเบกขาแล้ว สันดานนั้นก็มีแต่จะหดหู่ไม่เบิกบาน ไม่ติดไม่พันอยู่ในภพทั้ง ๓ และกำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ สันดานนั้นมีแต่จะเกลียดจะหน่าย กับที่จะเป็นอุเบกขาเท่านั้น ตกว่าจิตนั้นไม่ติดไม่พันอยู่ในโลกสันนิวาสนั้นเลย เปรียบประดุจใบบัวอันมีก้านอ่อนสลวย และหยาดน้ำตกลง หยาดน้ำบ่มิได้ติดได้ขัง

   ถ้ามิฉะนั้น จิตแห่งพระโยคาพจรหดหู่ เปรียบประดุจปีกไก่อันต้องเพลิง เอาเอ็นกระด้างอันบุคคลทิ้งเข้าไปในเพลิงและหดหู่เข้านั้น นักปราชญ์พึงสัณฐานว่า สังขารุเบกขาญาณอันประพฤติมัธยัสถ์อยู่ในสังขารธรรมมีนัยดังวิสัชนามาฉะนี้

   ถ้าเห็นพระนิพพานอันเป็นโกฏฐาสอันระงับโดยละเอียด ปัญญานั้นก็สละละเสียซึ่งสังขารปวัตติทั้งปวง แล้วก็เล่นไปสู่นิพพานยึดหน่วงเอา

  พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าปัญญานั้นยังมิได้เห็นพระนิพพานโดยละเอียดยังยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์มิได้ ก็กลับมายึดหน่วงเอาสังขารธรรมเป็นอารมณ์พิจารณาสังขารธรรมนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ มีอาการเหมือนการนั้น อันพ่อค้าเลี้ยงไว้สำหรับจะได้กำหนดทิศ

   “กิร”  ดังได้ยินมา พ่อค้าสำเภาทั้งหลายอันไปเที่ยวค้าขายในท้องพระมหาสมุทรนั้น ย่อมเลี้ยงกาจำพวกหนึ่งไว้ในสำเภาสำหรับจะได้แก้อับแก้จน ในกาลเมื่อสำเภาซัดออกไปไม่เห็นฝั่ง กาลเมื่อสำเภาต้องลมพายุกล้าพายุใหญ่ สำเภาซัดออกไปตกทะเลลึกแลไม่เห็นฝั่งนั้น ไม่รู้แห่งที่จะยักย้ายบ่ายสำเภาไปข้างไหนได้จนใจแล้ว ชาวสำเภาก็ปล่อยกานั้นให้บินขึ้นสู่อากาศ กานั้นครั้นบินขึ้นไปสูงแล้วก็เหลี่ยวซ้ายแลขวา เห็นฝั่งปรากฏข้างไหนก็บินไปข้างนั้น ชาวสำเภาก็บ่ายสำเภาแล่นไปตามกา ถ้ากานั้นเหลี่ยวซ้ายแลขวายังไม่เห็นฝั่งปรากฏก่อน ก็บินย้อนมาสู่เสากระโดงสำเภา ครั้นแล้วก็บินขึ้นไปอีก ดูซ้ายดูขวายังไม่เห็นฝั่งก็กลับมายั้งอยู่ที่ปลายเสากระโดงนั้นอีกเล่า ตกว่าบินขึ้นเนือง ๆ ถ้าเห็นฝั่งก็บินไปเฉพาะหน้าสู่ฝั่ง ถ้าไม่เห็นฝั่งก็กลับมาจับปลายเสากระโดงเก่า อันนี้แลมีอุปมาฉันใด วิปัสสนาปัญญาชื่อว่าสังขารอุเบกขาญาณนั้น เมื่อพิจารณาเห็นพระนิพพานสันทัดก็สลัดซึ่งสังขารปวัตติ มิได้เอาสังขารแล่นไปสู่พระนิพพานยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้ายังไม่เห็นพระนิพพานสันทัด ยังบ่มิอาจจะยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ก็กลับยึดหน่วงเอาสังขารเป็นอารมณ์ พิจารณาสังขารนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ ครั้นแล้วขยับขึ้นพิจารณาพระนิพพานนั้นเนือง ๆ ถ้ายังไม่เห็นพระนิพพานนั้นปรากฏก็ลงมาพิจารณาสังขารยึดหน่วงเอาสังขารเป็นอารมณ์อีกเล่า มีอุปไมยดังกาบินขึ้นเนือง ๆ ยังมิได้เห็นฝั่งปรากฏก่อน และบินมาจับปลายเสากระโดงอยู่นั้น วิปัสสนาปัญญาอันชื่อว่าสังขารุเบกขาญาณนี้ มีกิจอันพิจารณาซึ่งสังขารธรรมโดยพิธีประการต่าง ๆ พิจารณาแผ่ออกไปโดยพิศดารแล้วพิจารณาให้ย่อให้น้อยถอยเข้ามาเป็นชั้นเล่า ๆ มีอาการเหมือนบุคคลอันร่อนแป้ง แผ่นแป้งออกไปแล้วและร่อนเข้าให้กลมอยู่ในปลายกระด้งมิฉะนั้นมีอาการเหมือนบุคคลอันดีดฝ้ายที่หีบแล้วด้วยแม่กง บุคคลอ่อนร่อนแป้งและบุคคลอันดีดฝ้ายนั้น มีแต่จะยีแป้งแลฝ้ายให้แหลกละเอียดมิให้หยาบให้คายอยู่ได้ และมีฉันใด สังขารุเบกขาญาณก็ย่ำยีสังขารด้วยพีธีพิจารณาให้แหลกละเอียด มีอุปไมยดังนั้น

  สังขารุเบกขาญาณนี้ เมื่อย่ำยีสังขารให้แหลกละเอียด ด้วยพิธีพิจารณาโดยนัยที่สำแดงแล้วแต่หนหลัง ครั้นเห็นสังขารธรรมทั้งปวงปรากฏโดยเปล่าโดยสูญสิ้นแล้ว ก็หายสะดุ้งหายกลัวแต่สังขารหายรักใคร่ในสังขารตั้งอยู่ในที่มัธยัสถ์ บ่มิได้พิจารณาสืบต่อไปโดยนัยพิศดาร คงอยู่แต่ในอนุปัสสนา ๓ ประการ คือ อนิจจานุปัสสนา และทุกขานุปัสสนา และอนัตตานุปัสสนา เมื่อตั้งอยู่ในอนุปัสสนาทั้ง ๓ ประการนี้ สังขารุเบกขาญาณนี้ถึงสภาวะเป็นวิโมกขมุข ๓ ประการ คือ

  อนิมิตตวิโมขมุขประการ ๑ อัปปณิหิตวิโมกขมุขประการ ๑ สุญญตวิโมกขมุขประการ ๑

  ด้วยอำนาจที่มีสันธินทรีย์ และสมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์เป็นอธิบดีปัจจัย ตกว่าสังขารุเบกขาญาณแยกออกเป็นวิโมกขมุข ๓ ประการ นี้แยกออกด้วยอำนาจอนุปัสสนาทั้ง ๓ นี้เอง ถ้าสังขารุเบกขาญาณนั้นคงตั้งอยู่เป็นอนิจจานุปัสสนา พิจารณาสังขารโดยกำหนดแต่ที่เกิดไปตราบเท่าดับ เห็นสังขารธรรมนั้นปรากฏโดยสิ้นไม่ฉิบหายไป มีสัทธินทรีย์เป็นอธิบดีปัจจัยแล้ว ขยับขึ้นพิจารณาพระนิพพานยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมรณ์ได้กาลใด ก็ได้นามบัญญัติชื่อว่าอนิมิตตวิโมกขมุขในกาลนั้น

  ถ้าสังขารุเบกขาญาณนั้น คงตั้งอยู่ในทุกขานุปัสสนาสังขารธรรมนั้นปรากฏโดยนัย ความสังเวชนั้นบังเกิดในจิตสันดานประกอบด้วยสมาธินทรีย์เป็นอธิบดีปัจจัย ปัญญานั้นขยับขึ้นพิจารณาพระนิพพานยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้กาลใด ก็ได้นามบัญญัติชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกขมุขในกาลนั้น

  ถ้าสังขารุเบกขาญาณนั้นคงตั้งอยู่ในอนัตตานุปัสสนา พิจารณาสังขารธรรมโดยอาหารอันใช่ของอาตมาใช่ของอาตมา เห็นสังขารธรรมนั้นปรากฏโดยเปล่าโดยสูญ มีปัญญินทรีย์เป็นอธิบดีปัจจัยแล้ว จะขยับขึ้นพิจารณาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้กาลใด ก็ได้นามบัญญัติชื่อว่าสุญญตวิโมกขมุขในกาลนั้น

  ข้อซึ่งเรียกว่าวิโมกขมุขนั้น ด้วยอรรถว่าเป็นอุบายให้ได้วิโมกขธรรม ๓ ประการ คือ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ และสุญญตวิโมกข์ วิโมกข์ทั้ง ๓ นี้มิใช่อื่น คือพระอริยมรรค ๆ ได้ชื่อว่าวิโมกข์นั้นด้วยอรรถน่าพ้นจากกิเลส

  พระอริยมรรคได้ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์นั้น ด้วยอรรถว่าพระโยคาพจรได้ด้วยกิริยาที่กระทำมนสิการโดยอนิจจัง และสันดานมากไปด้วยสัทธินทรีย์

  พระอริยมรรคได้ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์นั้น ด้วยอรรถว่าพ้นจากกิเลส ด้วยอรรถว่าพระโยคาพจรได้กิริยาที่กระทำมนสิการโดยทุกขังและมีสันดานมากไปด้วยปัสสัทธิเจตวิกและมีสมาธินทรีย์

  และพระอริยมรรคได้ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์นั้น ด้วยอรรถว่าพ้นจากกิเลสด้วยอรรถว่าพระโยคาพจรได้ด้วยกิริยาที่กระทำมนสิการ โดยอนัตตาแลมีสันดานมากไปด้วยปัญญินทรีย์

  นัยหนึ่งว่าพระอริยมรรค จะได้นามบัญญัติชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์แลอัปปณิหิตวิโมกข์ แลสุญญตวิโมกข์ ได้ด้วยอำนาจนิพพานธรรมที่บังเกิดเป็นอารมณ์ ถ้านิพพานที่เป็นอารมณ์แห่งมัคคจิตนั้นก็ปรากฏแจ้งโดยอาการอันหาสังขารนิมิตบ่มิได้ พระอริยมรรคจิตนั้นก็ปรากฏชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์

  ถ้าพระนิพพานธรรมที่เป็นอารมณ์แห่งมัคคจิตนั้น ปรากฏแจ้งโดยอาการอันหาราคาทิปณิธิบ่มิได้ พระอริยมรรคจิตนั้นก็ได้นามปรากฏชื่อว่าอัปปณิหิวิโมกข์

  ถ้าพระนิพพานที่เป็นอารมณ์แห่งจิตนั้น ปรากฏแจ้งโดยอาการอันเปล่าสูญจากสังขารธรรม พระอริยมรรคจิตนั้นก็ได้นามปรากฏชื่อว่าสุญญตวิโมกข์

  นัยหนึ่งพระอนิจจานุปัสสนานั้น จะเรียกว่าอนิมิตตวิโมกข์ก็สมควรเพราะเหตุว่า พิจารณาเห็นสังขารธรรมไม่เที่ยง สละละเสียซึ่งกิริยาที่ถือว่ามั่นว่าสังขารธรรมเที่ยง

  แลทุกขานุปัสสนานั้น จะเรียกว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ก็สมควรเพราะเหตุพิจารณาเห็นว่าสังขารธรรมประกอบด้วยทุกข์ สละละเสียซึ่งกิริยาอันถือว่า สังขารธรรมประกอบด้วยสุข

  แลอนัตตานุปัสสนานั้น จะเรียกว่าสุญญตวิโมกข์ก็สมควรเพราะเหตุพิจารณาเห็นว่า สังขารธรรมใช่อาตมาของอาตมา สละละเสียซึ่งกิริยาที่ถือมั่นว่า สังขารธรรมเป็นอาตมาเป็นของอาตมา

  สังขารุเบกขาญาณนี้ เป็นปัจจัยที่จะให้สำเร็จเป็นพระกริยบุคคล ๗ จำพวก คือ สัทธานุสารีจำพวก ๑ สัทธาวิมุตรติจำพวก ๑ กายสักขีจำพวก ๑ อุภโตภาควิมุตติจำพวก ๑ ธัมมานุสารีจำพวก ๑ ทิฏฐิปัตตจำพวก ๑ ปัญญาวิมุตติจำพวก ๑ รวมเป็น ๗ จำพวกด้วยกัน

  อธิบายว่าพระโยคาพจรผู้มนสิการในอนิจจานุปัสสนา มีสันดานมากไปด้วยสัทธาแลปัญญินทรีย์นั้น ถ้าสำเร็จพระโสดามรรคในขณะใดก็ได้นามบัญญัติชื่อว่า สัทธานุสารีในขณะนั้น

  ครั้นได้พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผลนั้น ก็ได้ชื่อว่าสัทธาวิมุตติเหมือน ๆ กัน

  แลพระโยคาพจรผู้มนสิการในทุกขาวิปัสสนา มีสันดานมากไปด้วยปัสสิทธิ แลสมาธินทรีย์ เมื่อได้สมเร็จพระโสดามรรคก็ได้นามชื่อว่าสักขีบุคคล เมื่อได้สำเร็จพระโสดาผล พระสกิทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผลนั้น ก็ได้นามชื่อว่ากายสักขีบุคคลเหมือน ๆ กัน

  แลพระโยคาพจรผู้ได้รูปฌานแล้ว แลรูแฌานเป็นที่ตั้ง จำเร็ญวิปัสสนาอันลุถึงพระอรหัตตผล ก็ได้นามชื่อว่า อุภโตภาควิมุตติ

  แลพระโยคาพจรผู้มนสิการในพระอนัตตานุปัสสนา มีสันดานมากไปด้วยปัญญาแลปัญญินทรีย์นั้น เมื่อได้สำเร็จพระโสดามรรคก็ได้นามชื่อว่าธัมมานุสารีบุคคล

  เมื่อสำเร็จพระโสดามรรค พระโสดาผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรคนั้น ก็ได้นามชื่อว่าทิฏฐิปัตตบุคคล

  เมื่อได้สำเร็จพระอรหัตตผลนั้น ได้นามชื่อว่าปัญญาวิมุตติบุคคล

  สังขารุเบกขาญาณนี้ เป็นปัจจัยที่จะให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ๗ จำพวก โดยนัยวิสัชนามาฉะนี้

  วิปัสสนาญาณนั้น ๓ ประการ คือ มุญจิตุกามยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเบกขาญาณนี้ ต่างกันแต่พยัญชนะ ต่างกันก็แต่ชื่อ มีอรรถอันเดียวกันเป็นปัญญาอันเดียว

  สังขารุเบกขาญาณนี้ จะเรียกว่าสิกขัปปัตตวิปัสสนาก็สมควรเพราะเหตุว่าถึงซึ่งความเป็นองค์แห่งวิปัสสนาทั้งปวง มิฉะนั้นจะเรียกว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนาก็สมควร เพราะเหตุว่า สังขารุเบกขาญาณนี้ดำเนินถึงภูมิพระอริยมรรคสืบต่อกันกับพระอริยมรรค

  แลวุฏฐานคามินีวิปัสสนา อันจะสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้นจะได้เหมือนกันหาบ่มิได้

  วุฏฐานคามินีสิปัสสนา แห่งพระโยคาพจรบางพระองค์นั้นเดิมทีพิจารณาสังขารภายใน ครั้นถึงเมื่อกาลเมื่อกาลเมื่อสืบเข้ากับพระอริยมรรคนั้นก็พิจารณาสังขารภายในคงเดิมอยู่

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณาสังขารกายนอก ถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณาสังขารภายนอกคงเดิมอยู่

  พระโยคาพจรบางพระองค์นั้น เดิมทีวิฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาสังขารภายนอก ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับพระอริยมรรคนั้นพิจารณาสังขารภายใน

  พระโยคาพจรบางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาสังขารภายใน ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากันด้วยพระอริยมรรคนั้นก็พิจารณาสังขารภายนอก

  พระโยคาพจรบางพระองค์ เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณารูปธรรม ครั้นถึงกาลเมื่อสืบเข้ากันด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณารูปธรรมคงเดิมอยู่

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณารูปธรรมครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วย พระอริยมรรคนั้นพิจารณาอรูปธรรม

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณาอรูปธรรม ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็ยังพิจารณาพิจารณาอรูปธรรมคงเดิมอยู่

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณาอรูปธรรม ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น พิจารณารูปธรรม

  พระโยคาพจรบางพระองค์ เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณารูปธรรมแลอรูปธรรมเข้าด้วยกัน ครั้นถึงกาลเมื่อจะสืบต่อเข้ากับพระอริยมรรคนั้น พิจารณาเบญขันธ์พร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

  พระโยคาพจรบางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณาสังขารโดยอนิจจัง ครั้นเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณาโดยอาการอนิจจังคงเดิมอยู่

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา พิจารณาสังขารโดยอนิจจัง ครั้นเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณาโดยทุกขัง

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาโดยอนิจจังเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น พิจารณาสังขารโดยอาการอนัตตา

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาสังขารโดยอาการทุกขัง ครั้นถึงกาลเมื่อสืบเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณาโดยอาการทุกขังคงเดิมอยู่

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาโดยทุกขังเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณาโดยอนิจจัง

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาโดยทุกขัง ครั้นเมื่อสืบต่อเข้ากับพระอริยมรรคนั้น พิจารณาโดยอนัตตา

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาสังขารโดยอาการอนัตตา ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้าด้วยกับพระอริยมรรคนั้นก็พิจารณาโดยอาการอนัตตาคงเดิมอยู่

  บางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาโดยอนัตตา ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น พิจารณาสังขารธรรมโดยอนิจจัง

  พระโยคาพจรบางพระองค์นั้น เดิมทีวุฏฐานคามินีวิปัสสนาพิจารณาสังขารธรรมโดยอนัตตา ครั้นถึงกาลเมื่อสืบต่อเข้ากับด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็พิจารณาสังขารธรรมโดยอาการทุกขัง

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า วุฏฐานมินีวิปัสสนานี้มิใช่อื่นใช่ไกลได้แก่ปัญญาทั้ง ๓ คือ สังขารุเบกขาญาณ แลอนุโลมญาณแลโคตรภูญาณ

  ในที่นี้พระผู้เป็นเจ้าพุทธโฆษาจารย์ ซักเอาเนื้อความอุปมามาสาธกไว้ เพื่อจะสำแดงให้เห็นแจ้งในวิปัสสนาญาณทั้งปวง จำเดิมแต่เบื้องต้นมาตราบเท้าถึงมรรคญาณ ผลญาณ อันเป็นอวสานที่สุดว่า

   “เอกา อิร วคฺคุลี”  ยังมีค้างคาวตัวหนึ่ง แลเห็นต้นมะทรางมีกิ่ง ๕ กิ่งก็ดีใจ สำคัญว่าต้นไม้อันนั้นเห็นทีจะมีดอกมีผลบริบูรณ์หนักหนา อาตมะจะไปจับอยู่ที่ต้นไม้ต้นนั้นเถิด เพลาราตรีวันนี้อาตมะจะได้บริโภคซึ่งดอกแลผลตามความปราถนา ดำริฉะนี้แล้วก็บินไปจับอยู่ที่ต้นมะทรางอันมีกิ่ง ๕ กิ่ง ครั้นเพลาราตีนั้นก็บินออกจากที่อันตนจับอยู่ลูบดูกิ่งอันหนึ่งก็ไม่เห็นดอกผลที่ตนควรจะถือเอาเป็นอาหารนั้น จะมีแต่สักหน่อยหนึ่งหาบ่มิได้ค้างคาวจึงบินไปลูบดูกิ่งอันเป็นคำรบ ๒ นั้นเล่า ก็เปล่าไปไม่เห็นดอกแลผลอันใดอันหนึ่ง ค้างคาวจึงบินไปลูบดูกิ่งเป็นคำรบ ๓ คำรบ ๔ คำรบ ๕ นั้นเล่า ก็เปล่าไปไม่เห็นผลอันใดอันหนึ่ง ที่ตนควรจะถือเอาเป็นอาหาร ค้างคาวนั้นก็มาดำริว่าอนิจจาเอ๋ย อาตมานี้เฝ้าอยู่ที่ต้นไม้นี้วันหนึ่งยันค่ำคิดว่าจะได้รับประทานอาหารอันใดอันหนึ่งบ้าง มิรู้ก็เฝ้าเล่นเปล่า ๆ ทีเดียวไม่ได้ดอกไม่ได้ผลสักหน่อย ก็อาตมาจะมาเฝ้าอยู่ที่ต้นไม้ต้นนี้ จะต้องการอันใดเล่าอาตมาจะไปสู่ต้นไม้ต้นอื่นเถิดดำริฉะนี้แล้วค้างคาวนั้นจึงสละละเสียซึ่งอาลัยในต้นไม้นั้นแล้ว ก็บินขึ้นไปสู่กิ่งยอดแหวนดูเบื้องบนแล้ว ก็บินไปในอากาศไปจับในต้นไม้ต้นอื่นที่มีผล   “ยถา”  อันนี้แลมีอุปมาฉันใดอุปไมยดังพระโยคาพจรเจ้าอันจำเริญซึ่งวิปัสสนาญาณแล้ว แลได้ซึ่งมรรคแลผล แลพระโยคาพจรนั้นเปรียบเหมือนดังค้างคาว ต้นมะทรางอันมีกิ่งนั้นเปรียบเหมือนเบญขันธ์ทั้งห้า ขณะเมื่อค้างคาวบินไปจับอยู่ในต้นไม้มะทรางด้วยสำคัญว่าจะได้รับประทานดอกแลผลเป็นอาหารนั้น เปรียบเหมือนดังว่าพระโยคาพจรอันมีปัญญายังมิได้แก่กล้า ยังสำคัญอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นตน ว่าเป็นของแห่งอาตมา ขณะเมื่อค้างคาวบินออกจากที่ตนจับดูซึ่งกิ่งมะทรางอันเป็นปฐม แลมิได้เห็นดอกแลผลอันใดอันหนึ่งที่ควรถือเอาเป็นอาหารนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันพิจารณาซึ่งรูปขันธ์นั้นหาแก่นสารบ่มิได้ ไม่เป็นผลประโยชญ์อันใดอันหนึ่งขณะเมื่อค้างคาวลูบดูกิ่งอันเป็นคำรบ ๒ คำรบ ๓ คำรบ ๔ คำรบ ๕ แลเห็นว่าหาดอกหาผลมิได้นั้นเปรียบดุจพระโยคาพจรอันพิจารณาเห็นซึ่งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ว่าหาแก่นสารบ่มิได้ ไม่เป็นผลไม่เป็นประโยชญ์ ขณะเมื่อค้างคาวสละละเสียซึ่งอาลัยในต้นมะทราง มิได้ปรารถนาที่จะอยู่ในต้นมะทรางนั้น เปรียบดังพระโยคาพจรอันได้ซึ่งมุญจิตุกามยตาญาณ แลปฏิสังขาญาณ แลปฏิสังขารุเบกขาญาณ แลปรารถนาจะไปให้พ้นจากสังขาร คิดอ่านอุบายจะไปให้พ้นจากสังขารเป็นอุเบกขา มัธยัสถ์มิได้เอื้อเฟื้ออยู่ในสังขารธรรมทั้งหลายนั้น

  ขณะเมื่อค้างคาวบินไปสู่กิ่งยอดกิ่งตรงขึ้นไปนั้น เปรียบประดุจพระโยคาพจรอันได้อนุโลมชวนะ

  ขณะเมื่อค้างคาวแหงนดูในเบื้องบนอากาศนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งโคตรภูชวนะ

  ขณะเมื่อค้างคาวบินไปในอากาศนั้น เปรียบประดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งมรรคญาณ

  ขณะเมื่อค้างคาวบินไปอยู่ที่ต้นไม้อันมีผล เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งผลญาณ

  พระอรรถกถาจารย์ชักอุปมาอันนี้มาเปรียบไว้ นำอุปมาอันอื่นมาเปรียบเล่า ว่ายังมีฆรสามิกบุรุษเจ้าของเรือนผู้หนึ่งบริโภคอาหารในเพลาเย็นแล้วก็ขึ้นสู่ที่นอน ๆ หลับในราตรี เกิดเพลิงขึ้นในเรือนติดถนัดแล้วเผอิญบุรุษนั้นจึงตื่นขึ้นเห็นเพลิงก็สะดุ้งตกใจว่าอนิจจาเอ๋ย อาตมานี้อยู่กลางไฟที่เดียว แล้วก็จะตายเสียในไฟเล่าทำไฉนอาตมาจะพ้นเพลิงออกไปตามทางอันใดหนอ ดำริฉะนี้แล้วชายผู้นั้นก็แลดูทางที่จะออกไป ครั้นเห็นทางพอที่จะวิ่งออกไปได้ชายนั้นก็ออกจากที่แล้ว ก็วิ่งออกมาด้วยเร็วพลัน ครั้นพ้นเพลิงแล้วชายนั้นก็ยืนอยู่ในที่อันเพลิงไหม้มิได้ถึง  “ยถา”  อันนี้แลมีฉันใด อุปไมยดังพระโยคาพจรอันจำเริญวิปัสสนาแลได้ซึ่งมรรคแลผล

  ฆรสามิกบุรุษเจ้าของเรือน เปรียบดังพระโยคาพจร เรือนนั้นเปรียบเหมือนเบญจขันธ์ทั้ง ๕

  ขณะเมื่อบุรุษเจ้าของเรือนบริโภคอาหารในเพลาเย็นแล้ว ก็ขึ้นสู่ที่นอน ๆ หลับไปในราตรีนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันมีปัญญายังอ่อนยังสำคัญอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นอาตมาเป็นของแห่งอาตมา

  ขณะเมื่อบุรุษตื่นขึ้นเห็นเพลิงติดถนัดโดยรอบคอบแล้ว แลมีความสะดุ้งตกใจกลัวนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันพิจารณาเห็นที่เกิดที่ดับที่ฉิบหายที่ทำลายแห่งสังขารแล้ว แลมีความสะดุ้งตกใจกลัวแต่สังขารธรรมนั้น

  ขณะเมื่อบุรุษปรารถนาจะออกมาให้พ้นเพลิง ก็เล็งดูทางที่จะออกนั้นเปรียบดังพระโยคาพจรอันได้ซึ่งมุญจิตุกามยตญาณ แลสังขารุเบกขาญาณแล้วแลปรารถนาจะให้พ้นจากสังขาร คิดอ่านอุบายจะไปให้พ้นจากสังขารมิได้เอื้อเฟื้ออาลัยรักใคร่ในสังขารนั้น

  ขณะเมื่อบุรุษแลเห็นหนทางที่จะวิ่งว่างออกไปได้นั้น เปรียบดังพระโยคาพจรอันได้ซึ่งอนุโลมชวนะ

  ขณะเมื่อบุรุษวิ่งควบออกมานั้น เปรียบดังพระโยคาพจรอันได้ซึ่งมรรคญาณ

  ขณะเมื่อบุรุษออกพ้นออกจากจากเพลิงแล้ว แลยืนอยู่ในที่อันเพลิงไหม้มิได้นั้น เปรียบดังพระโยคาพจรอันได้ซึ้งผลญาณ

  พระอรรถกถาจารย์นำอุปมานี้มาสำแดงแล้ว ชักอุปมาอันอื่นมาเปรียบอีกเล่า ยังมีบุรุษชาวนาผู้หนึ่งไปไถนาในเพลากลางวัน แล้วเพลาเย็นลงนั้นก็ต้อนโคเข้าคอก แล้วบุรุษผู้นั้นก็นอนหลับไปในเพลาราตรี เมื่อบุรุษนั้นนอนหลับแล้ว โคทั้งหลายก็แหกคอกออกได้ ปลายนาหนีไป   “ปจฺจูสสม เย”  เมื่อเพลาปัจจุสมัยจะใกล้รุ่ง บุรุษผู้นั้นตื่นขึ้นแลไปดูโคที่คอกมิได้เห็นว่า โคหนีไปแล้วชายนั้นก็ตามรอยโคนั้นไป ตามไป ๆ เห็นโคของพระมหากษัตริย์เข้า ก็สำคัญว่าเป็นโคของตัวอาศัยด้วยยังขมุกขมัวอยู่ ชายคนนั้นก็ต้อนโคของพระมหากษัตริย์มา ครั้นสว่างขึ้นมารู้ว่ามิใช่โคของอาตมาเป็นโคของพระมหากษัตริย์ต่างหาก ก็มีความสะดุ่งตกใจว่ามิเป็นการแล้ว อะไรอาตมานี้ต้อนเอาโคของพระมหากษัตริย์มาที่เดียวนี่หรือ ถ้าเขาเห็นบัดเดี๋ยวนี้ เขาก็จะจับเอาอาตมาว่าเป็นผู้ร้ายแล ไม่ได้แล้วจำจะหนีเอาตัวรอดอย่าให้ทันราชบุรุษจับได้ ถ้าเขาจับตัวแล้วมิฉิบหายก็ตายนั้นแล จำจะหนีไปให้พ้นก่อน ดำริฉะนี้แล้ว ชายผู้นั้นก็ละทิ้งโคทั้งปวงเสีย ออกจากที่นั้นแล้วก็วิ่งตะบึงไป เห็นว่าไกลว่าไกลพ้นภัยที่เขาจะจับจะกุมเอาเป็นผู้ร้ายแล้ว ชายผู้นั้นจึงยืนอยู่   “ยถา”  อันนี้แลมีฉันใดเปรียบเหมือนพระโยคาพจรอันจำเริญพระวิปัสสนาแล้ว แลได้ซึ่งมรรคแลผล

  บุรุษเจ้าของโคนั้นเปรียบประดุจพระโยคาพจร โคนั้นเปรียบประดุจเบญจขันธ์

  ขณะเมื่อบุรุษผู้นั้นต้อนโคของพระมหากษัตริย์ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นโคของตัว เปรียบเหมือนพระโยคาพจรอันมีปัญญายังอ่อน ยังเห็นว่าเป็นอาตมาเป็นของอาตมาอยู่

  ขณะเมื่อบุรุษผู้นั้นรู้ว่ามิใช่โคของตัว เป็นโคแห่งพระมหากษัตริย์ต่างหาก เปรียบประดุจพระโยคาพจรพิจารณาเห็นสังขารธรรม โดยพระไตรลักษณ์

  ขณะเมื่อบุรุษมีความสะดุ้งตกใจกลัวเขาจะจับจะกุม เอาเป็นผู้ร้ายนั้นเปรียบประดุจดังพระโยคาพจรอันได้ซึ่งภยตูปัฏฐานญาณ แลัวแต่สังขารธรรมทั้งปวง

  ขณะเมื่อบุรุษปรารถนาจะไปให้พ้นเขาจับนั้น เปรียบประดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งมุญจิตุกามตญาณ คือปัญญาอันปรารถนาจะไปให้พ้นจากสังขารธรรม

  ขณะเมื่อบุรุษละโคเสียปรารภเพื่อจะวิ่งหนีเอาตัวรอดนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งโคตรภูชวนะ

  ขณะเมื่อเจ้าของโควิ่งตะบึงไปจะให้พ้นภัยนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งมรรคญาณ

  ขณะเมื่อชายคนนั้นไปยืนอยู่ในที่ไกลพ้นภัยนั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งผลญาณ

  พระอรรถกถาจารย์นำอุปมานี้มาสำแดงแล้ว ๆ นำอุปมาอื่นมาสำแดงอีกเล่า ว่ายังมีบุรุษผู้หนึ่งสมัครสังวาสกับด้วยนางยักขินีด้วยสำคัญว่าเป็นหญิงมนุษย์ มิได้รู้ว่าเป็นนางยักขินีนอนอยู่ด้วยกันในราตรี ยักขินีผู้นั้นสำคัญว่าชายผู้นั้นหลับแล้ว ก็ไปสู่ป่าช้าผีดิบไปกินซากอสุภแห่งมนุษย์บุรุษผู้นั้นเห็นนางยักขินีลุกหนีไป ก็มีความสงสัยว่าภริยาของอาตมานี้ไปไหนหนอ ลุกขึ้นติดตามสะกดรอยออกไปก็เห็นภริยาไปกินซากผีอยู่ที่ป่าช้า ก็รู้ว่าภริยานั้นเป็นยักขินีครั้นรู้แล้วก็มีความสะดุ้งตกใจกลัวนั้นนักหนา ว่าอะไรนี่หนออาตมาไม่รู้เลยว่าหญิงนี้เป็นยักขินี สำคัญเอาเป็นดิบเป็นดีว่าหญิงมนุษย์อยู่สมัครสังวาสแล้วกับมันมิเป็นการแล้ว นานไปเบื้องหน้ามันจะกินอาตมาเสีย อาตมาจะอยู่ไปกับมันนี้มิได้ จำจะหนีไปให้พ้นเถิด ดำริฉะนี้แล้วชายนั้นก็บ่ายหน้าออกจากสถานที่นั้น วิ่งหนีไปด้วยเร็วพลันไปถึงที่อันนางยักขินีนั้นจะตามเอาตัวมิได้แล้วก็อยู่ในที่อันนั้น  “ยถา”  อันนี้แลมีอุปมาฉันใดอุปไมยดังพระโยคาพจร อันจำเริญพระวิปัสสนาได้แก่กล้าแล้ว แลกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคแลผล

  บุรุษนั้นเปรียบดุจพระโยคาพจร ยักขินีนั้นเปรียบประดุจเบญจขันธ์

  ขณะเมื่อบุรุษสมัครสังวาสกับนางยักษ์ รักใคร่นางยักษ์ ด้วยสำคัญสัญญาว่าภริยาของของตนนั้น เปรียบประดุจพระโยคาพจรเมื่อยังเป็นพาลปุถุชนอยู่ยังลุ้มหลงรักใคร่ในเบญจขันธ์ สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนว่าเป็นของอาตมา

  ขณะเมื่อบุรุษเห็นภริยาไปกินซากอสุภอยู่ที่ป่าช้านั้น แลรู้ว่าเป็นยักขินีนั้น เปรียบประดุจพระโยคาพจร เมื่อมีปัญญาพิจารณาเห็นสังขารธรรมโดยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

  ขณะเมื่อบุรุษสะดุ้งตกใจกลัวแต่ภัย อันจะบังเกิดโดยยักขินีไปนั้น เปรียบประดุจโยคาพจร อันได้ซึ่งภยตูปัฏฐานญาณ

  ขณะเมื่อบุรุษปรารถนาจะหนีนางยักขินีไปนั้น เปรียบดุจโยคาพจรอันได้มุญจิตุกามยตญาณ คือปัญญาอันปรารถนาจะไปให้พ้นจากสังขารธรรม

  ขณะเมื่อบุรุษละเสียซึ่งนางยักขินีที่ในป่าช้า แลบ่ายหน้าจะเล่นหนีไปนั้น เปรียบดุจโยคาพจรอันได้ซึ่งโคตรภูชวนะ

  ขณะเมื่อบุรุษเล่นหนียักขินีไปด้วยเร็วพลันนั้น เปรียบดุจโยคาพจรอันได้ซึ่งมรรคญาณ

  ขณะเมื่อบุรุษหนีไปอยู่ที่อันยักขินีติดตามไปมิได้นั้น เปรียบเหมือนโยคาพจรอันได้ซึ่งผลญาณ

  พระอรรถกถาจารย์ชักอุปมาอันนี้มาสำแดงแล้ว จึงชักอุปมาอันอื่นมาสำแดงอีกเล่าว่า

   “เอกา อิตฺถี”  ยังมีสตรีผู้หนึ่งกำหนัดในลูก รักลูกนั้นรักนักที่เดียว วันหนึ่งสตรีผู้นั้นขึ้นไปอยู่เบื้องบนปราสาท ได้ยินเสียงทารกร้องไห้ที่กลางถนนสำคัญว่าลูกของตน ผลุดลุกขึ้นได้ก็เล่นลงมาจากปราสาทร้องว่าใครทำอะไรแก่ลูกข้า วิ่งลงมาครั้นถึงก็เข้าเอาทารกผู้นั้นอุ้มสำคัญว่าลูกของตน ต่อแลดูหน้าจึงรู้ว่าเป็นลูกของคนอื่น ก็มีความละอายมาดำริว่า อนิจจา ๆ อาตมานี้สำคัญผิดแล้ว นี่ลูกเขาอื่นนี่หรือ ช่างหลงอุ้มได้เป็นดินเป็นดี ถ้าเจ้าพ่อเจ้าแม่เขาเห็น เขาจะว่าอาตมานี้ลักลูกของเขาบังเกิดความละอายแลดูซ้ายแลดูขวาแล้วก็วางทารกนั้นลงไว้ กลับขึ้นไปสู่ปราสาทด้วยเร็วพลัน ไปนั่งอยู่บนปราสาท  “ยถา”  อันนี้แลมีฉันใดสตรีนั้นอุปไมยดังพระโยคาพจร ทารกนั้นเปรียบประดุจเบญจขันธ์

  เมื่อสตรีสำคัญว่าทารกเป็นลูกของตัวแลอุ้มขึ้นนั้น เปรียบดุจโยคาพจรเมื่อยังเป็นพาลปุถุชนอยู่ ยังสำคัญในเบญขันธ์ว่าเป็นอาตมาเป็นของอาตมา

  ขณะเมื่อสตรีมีความละอายกลัวเขาจะว่าลักลูกเขานั้น เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งภยตูปัฏฐานญาณ

  ขณะเมื่อสตรีปรารถนาจะวางทารกลงนั้น แลเหลี่ยวดูซ้ายแลขวานั้น มีครุวนาดุจโยคาพจรอันได้ซึ่งมุญจิตุกามยตญาณ

  ขณะเมื่อสตรีวางทารกลงนั้น เปรียบดุจโยคาพจรอันได้ซึ่งอนุโลมชวนะ

  ขณะเมื่อสตรีปรารภที่จะขึ้นไปสู่ปราสาทนั้น เปรียบดุจโยคาพจรอันได้ซึ่งโคตรภูชวนะ

  เมื่อสตรีขึ้นสู่ปราสาท เปรียบดุจพระโยคาพจรอันได้ซึ่งอริยมรรคญาณ

  ขณะเมื่อสตรีขึ้นไปนั่งอยู่บนปราสาทนั้น เปรียบดุจโยคาพจรอันได้ซึ่งผลญาณ

  จบปฏิทาญาณทัสสวิสุทธิทิเทศ ปริจเฉทคำรบ ๒๑ เท่านี้

   “อิโต ปรฺ โคตฺรภูญาณํ โหติ ตํ มคฺคสฺส อาวชฺชนฏฺานิ ยตฺตาเนว ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธิ น ญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ภชฺชติ อนฺตจา อพฺโกหาริกเมว โหติ วิปสฺสนา โสเตปติตตฺตา ปน วิปสฺสนาติ สงฺขยํ คจฺฉติ”

  จักวินิจฉัยในปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๒ ชื่อว่า ญาณทัสสนวิสุทธินิเทศเป็นลำดับแห่งปฏิทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ ตามวาระพระบาลีมีต้นว่า   “อิโต ปรํ โคตฺรภูญาณํ โหติ”  แปลเนื้อความว่า เมื่ออนุโลมญาณดับแล้ว เบื้องหน้าแต่นั้นโคตรภูญาณก็บังเกิดแลโคตรภูญาณนั้น จะนับเข้าว่าเป็นองค์ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็หาบ่มิได้ จะนับเข้าว่าเป็นญาณทัสสนวิสุทธิก็หาบ่มิได้ เหตุตั้งอยู่ในที่เป็นอาวัชชนะแห่งมรรคญาณ ตกอยู่ในระหว่างกลาง ควรจะนับเข้าได้แต่เพียงชื่อว่าวิปัสสนา เพราะเหตุว่าตกลงในกระแสแห่งพระวิปัสสนาติดพ้นเนื่องกันมา ญาณอันประเพฤติเป็นไปในมรรคทั้ง ๔ คือ พระโสดาปัตติมรรค ๑ พระสกทาคามิมรรค ๑ พระอนาคามิมรรค ๑ พระอรหัตตมรรค ๑ ญาณอันเป็นไปในมรรคทั้ง ๔ นี้ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิด้วยอรรถว่ารู้ว่าเห็นซึ่งพระจตุราริยสัจจ์ แลบริสุทธิ์จากราคาทิกิเลส ล้ำพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ นั้น จะพรรณนาแต่พระโสดาปัตติมรรคญาณเป็นปฐมนั้นก่อน เมื่อพระโยคาพจรยังพระโสดาปัตติมรรคญาณให้สำเร็จนั้นเล่า กิจอันใดที่ควรจะพึงกระทำเมื่อพระโยคาพจรเจ้ายังพระวิปัสสนาโดยลำดับตราบเท่าถึงอนุโลมญาณ เป็นที่สุดให้บังเกิดก็เป็นอันสำเร็จกิจทั้งปวงนั้น

  ใจความว่า เมื่ออนุโลมญาณเกิดสามขณะ กำจัดเสียซึ่งกองมืดโมหันธการ กิเลสอย่างหยาบแลหยาบอันปกปิดปัญญาบ่มิได้เห็นพระจตุราริยสัจจ์ให้อันตรธานไปโดยสมควรแก่กำลังอาตมาแล้ว จิตแห่งพระโยคาพจรนั้น ก็บันดาลกลับจากสังขารธรรมทั้งปวง มิได้ข้องอยู่ในภพสังขารปานดุจหนึ่งว่าต่อมน้ำ อันกลมกลิ้งไปจากใบบัวอันว่าสังขารธรรมทั้งปวงก็ปรากฏเห็นโดยกังวลดังนี้แล้ว อันว่าโคตรภูญาณเมื่อกระทำพระนิพพานเป็นอารมณ์ ข่มเสียซึ่งปุถุชนโคตรแลจะให้ถึงซึ่งพระอริยโคตร คือ อริยภูมิแลโคตรภูญาณนี้บังเกิดเป็นปฐมาวัชชนะ คือแรกพิจารณาเล็งเห็นพระอมตมหานิพพานแลให้สำเร็จซึ่งสภาวะเป็นปัจจัยแก่พระอริยมรรคด้วยอาการ ๖ คือ เป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย แลอาเสวนปัจจัย อุปนิสยปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัยแลเป็นที่สุดยอดแห่งพระวิปัสสนา บังเกิดในที่สุดแห่งอนุโลมญาณอันมีอาเสวนะเนือง ๆ นั้น

   จึงมีคำอุปมาสาธกสำแดงอาการอันประพฤติเป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ แห่งอนุโลมญาณแลโคตรภูญาณทั้งหลาย อันเป็นไปในชวนวาระวิถีอันเดียวกัน คำอุปมาว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งมีความปรารถนาเพื่อจะโดดข้ามเหมืองอันใหญ่ แล้วจะไปประดิษฐานยังฝั่งฟากโน้น บุรุษนั้นก็เล่นไปด้วยกำลังอันเร็ว แล้วก็ยึดหน่วงเอาซึ่งเชือกก็ดี ซึ่งไม้เส้าก็ดีอันผูกห้อยไว้ในกิ่งไม้แล้วก็ห้อยโหนโน้มไป ครั้นถึงที่ตรงเบื้องบนฝั่งฟากโพ้นแล้ว ก็ยังมิได้ละวางเชือกแลไม้เส้าเสียจากกร ก็ค่อยหน่วงตัวลงประดิษฐานยังฝั่งฟากโพ้น มีสกลกายกำเริบหวั่นไหวยังบ่มิตั้งตัวได้เป็นอันดี จะมีอุปมาดุจใด อันว่าพระโยคาพจรนี้ปรารถนาจะเอาาจิตไปประดิษฐานในพระอมตนิพพาน อันเป็นฝั่งฟากโพ้นแห่งภพสงสารนี้ก็เป็นไปด้วยกำลังอันเร็ว กล่าวคือพระวิปัสสนามีอุทยัพพยญาณเป็นอาทิ ก็ยึดหน่วงเอาเชือก กล่าวคือรูปขันธ์ก็ดีซึ่งไม้เส้ากล่าวคืออรูปขันธ์ มีเวทนาเป็นอาทิอันใดอันหนึ่งก็ดีอันผูกห้อยอยู่ในกิ่งไม้ กล่าวคืออาตมาภาพด้วยกายคืออนุโลมญาณอันพิจารณาพระไตรลักษณ์มีอนิจจังเป็นอาทิแล้ว ก็ยังมิได้ละเสียซึ่งเชือกแลไม้เส้า

  กล่าวคือรูปเวทนาเป็นอาทินั้น ก็ห้อยโหนแกว่งกายไปด้วยอนุโลมชวนะเป็นปฐมแล้ว ก็มีจิตน้อมไปสู่พระนิพพานด้วยอนุโลมญาณเป็นคำรบ ๒ ดุจบุรุษมีกายอันน้อมลงในฝั่งฟากโพ้นแห่งเมืองใหญ่ พระโยคาพจรก็มีจิตใกล้พระนิเพานอันควรจะพึงถึงในปัจจุบันขณะด้วยอนุโลมชวนะเป็นคำรบ ๓ เปรียบดุจบุรุษมีการอันซึ่งเบื้องบนฝั่งฟากโพ้นแห่งเหมืองใหญ่ พระโยคาพจรก็มิละเสียซึ่งอารมณ์ คือสังขารมีรูปเป็นอาทิ ด้วยกิริยาที่ดับอนุโลมจิตเป็นคำรบ ๓ แล้ว ก็มีสันดานตกไปในพระนิพพาน อันเป็นฝั่งฟากโพ้นแห่งสรรพสังสาร ด้วยโคตรภูญาณก็ยังไปบ่มิได้ประดิษฐานเป็นอันดี ดุจหนึ่งบุรุษมีสรีระกายอันหวั่นไหว อาศัยเหตุโคตรภูญาณหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ขณะเดียว ยังหาอาเสวนปัจจัยร่วมอารมณ์กันบ่มิได้ โคตรภูจิตดับแล้ว ลำดับนั้นพระอริยมรรคญาณจึงบังเกิด พระโยคาพจรเจ้าก็ได้ชื่อว่าประดิษฐานเป็นอันดีในพระนิพพานด้วยอริยมรรคนั้น ล้ำอนุโลมญาณและโคตรภูญาณอันบังเกิดในบุรพภาคแห่งพระอริยมรรคนั้น อนุโลมญาณเป็นพนักงานอาจจะบรรเทาเสียซึ่งโมหันธการกองกิเลสอันปกปิดไว้ซึ่งพระจตุราริยสัจจ์ แต่ทว่าบ่มิอาจเพื่อกระทำซึ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้

   ฝ่ายโคตรภูญาณอาจเพื่อจะบรรเทาเสียซึ่งมืดคือ กิเลสอันปกปิดซึ่งพระจตุราริยสัจจ์ นั้นได้   “ตตฺรายํ อุปมา”  มีข้อความอุปมาสาธกให้เห็นว่า อนุโลมฌาณกับโคตรภูญาณมีกิจต่างกัน  “เอโก จกฺขุมา ปุริโส”  ยังมีบุรุษผู้หนึ่งมีจักขุบริบูรณ์ปรารถนาจะใคร่แลดูดวง พระจันทรมณฑลอันกอปรด้วยนักขัตตฤกษ์ ออกมาสู่ที่แจ้งในราตรีภาค เงยพักตร์เล็งแลดู ณ เบื้องบน พระจันทรมณฑลก็บ่มิได้ปรากฏเหตุเมฆพลาหกปิดไว้หลายชั้น ในขณะนั้นจึงเกิดมีลมจำพวกหนึ่งพัดเพิกพื้นเมฆอันหยาบให้เกลื่อน ลมจำพวกหนึ่งจึงพัดอีกเล่า กำจัดพื้นเมฆที่เป็นอย่างกลางให้เปลื้องไป ลมจำพวกหนึ่ง จึงพัดขจัดพื้นเมฆอย่างละเอียดให้เกลื่อนหายพื้นนภาลัยก็บริสุทธิ์ บุรุษผู้นั้นแลเห็นดวงจันทร์อันแจ่มจ้าจึงรู้ว่าพระจันทร์กอปรด้วยนักขัตตฤกษ์นั้น ๆ แลกองกิเลสอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียดนั้น เปรียบดุจหนึ่งเมฆทั้งสามชั้นอนุโลมจิตเกิดสามขณะเปรียบดุจหนึ่งลมสามจำพวก โคตรภูญาณนั้นเปรียบต่อบุรุษบริบูรณ์พระอมตนิพพานเปรียบดังดวงพระจันทร์

  แลกิริยาอันอนุโลมจิตทั้งสามขจัดเสียซึ่งกองมืด คือกิเลสอันปกปิดพระจตุราริยสัจจ์นั้น เปรียบดุจหนึ่งลมสามจำพวก อันพัดพลาหกให้เกลื่อนไปโดยอนุกรมลำดับ เมื่อแลกองมืดคือกิเลสอันปกปิดพระอริยสัจจ์ขจัดแล้ว แลโคตรภูญาณก็ทัศนาการเห็นพระนิพพานเปรียบอาการดุจหนึ่งบุรุษเห็นพระจันทรมณฑล อันบริสุทธิ์ในพื้นนภางคประเทศ อันมีพื้นพลาหกอันตรธานไปแล้วนั้น แท้จริงพระอนุโลมญาณทั้งสามขณะ อาจเพื่อจะบรรเทาซึ่งกองมืดปิดปังพระอริยสัจจ์แลมิอาจเพื่อจะเห็นพระนิพพาน เปรียบดุจหนึ่งลมสามจำพวกอันสามารถจะกำจัดพื้นพลาหก อันปกปิดซึ่งดวงพระจันทร์ให้เกลื่อนไป แลมิอาจเพื่อจะสำเร็จกิจคือเห็นพระนิพพานสิ่งเดียว มิอาจเพื่อจะบรรเทาเสียซึ่งกิเลส ดุจหนึ่งบุรุษอาจเพื่อจะเล็งจะเเลซึ่งดวงพระจันทร์ แลมิอาจกำจัดเสียซึ่งเมฆพลาหกให้อันตรธานได้ เหตุใดเหตุดังนั้น อันว่าโคตรภูญาณนั้นแม้ว่ามิได้เป็นอาวัชชกิจก็ดี แต่ทว่าตั้งอยู่ที่อาวัชชนะพิจารณาเห็นพระนิพพานมีอาการดุจหนึ่งจะให้สำคัญแก่พระอริยมรรค ว่าท่านจะบังเกิดด้วยอาการดังนี้แล้ว ก็ดับไปฝ่ายพระอริยมรรคญาณก็บ่มิได้ละซึ่งสำคัญ อันโคตรภูญาณนั้นให้ก็บังเกิดเป็นอนุพันธ์เนื่องตามซึ่งโคตรภูญาณ ด้วยสามารถระหว่างมิได้ปรากฏ ก็ทำลายล้างซึ่งกองกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ อันมิได้เคยทำลายแต่ก่อนให้ขาดเป็นสมุจเฉทปหานโดยอันควรแก่กำลัง

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com