พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๕

   ธรรม ๔ ประการคือราคะอันยินดีในกาม ๑ คือราคะอันประกอบด้วยสัสสตะทิฏฐิ ๑ คือราคะอันประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ๑ คืออวิชชา ๑

  แลธรรม ๔ ประการนี้ ชื่อว่าอาสวะด้วยเหตุ ๓ ประการ คือประพฤติเป็นไปโดยธรรม ตราบเท่าถึงโคตรภู เป็นไปตามภพตราบเท่าถึงภวัคคะพรหม ก็เป็นอารมณ์แห่งอาสวะได้สิ้น ๑

  คือเป็นกระแสไหลออกบ่มิขาดสายด้วยอสุจิ คือกิเลสโดยทวารทั้ง ๖ อันบุคคลมิได้สำรวมรักษา ดุจหนึ่งน้ำอันไหลออกจากช่องกระออม ๑ คือเป็นเหตุสั่งสมซึ่งสังขารทุกข์ ๑

  อาศัยเหตุ ๓ ประการนี้ ธรรม ๔ ประการจึงได้นามชื่อว่า อาสวะแลอาสวะธรรมทั้ง ๔ นั้นแล ชื่อว่าโอฆะ ชื่อว่าโยคะ

  ชื่อว่าโอฆะนั้น ด้วยสภาวะฉุดคร่าไว้ซึ่งสัตว์อันตกลงในกระแสโอฆะให้ล่มจมอยู่ในภพสาคร แลให้มีมหาสมุทร จตุราบายจะล่วงข้ามได้ด้วยยาก

  ชื่อว่าโยคะนั้น ด้วยอรรถว่าประกอบไว้ซึ่งสัตว์ทั้งหลายกับด้วยอารมณ์แลความทุกข์ บ่มิให้พรางออกได้ อธิบายว่าบ่มิได้สละอารมณ์มีอาการอันเคยถือเอานั้น

  อนึ่ง สัตว์ผู้กระทำซึ่งบาปเห็นปานใด จึงได้เสวยความทุกข์เวทนา ก็ประกอบซึ่งสัตว์นั้นไว้ด้วยบาปเห็นปานนั้นเนือง ๆ จึงได้ชื่อว่าโยคะ

  ธรรม ๕ ประการ คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจะกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เป็นคำรบ ๕ ชื่อว่านิวรณ์ ด้วยอรรถว่ากั้นกำบังเสียซึ่งกุศลจิต คือฌานสมาบัติในเบื้องต้น แลนำจิตสันดานไปสู่วาสนาคือกิเลส แล้วก็ปกปิดเสียมิให้พิจารณาเห็นซึ่งกุศลเป็นอาทิ ดุจหนึ่งวัตถุอันบุคคลกั้นกำบังไว้ด้วยฝาแลบานประตูหน้าต่างเป็นต้น จึงได้ชื่อว่านิวรณ์ธรรม

  แลปรามาสนั้น เป็นชื่อแห่งมิจฉาทิฏฐิ ๆ ชื่อว่าปรามาส เหตุล่วงเสียซึ่งสภาวะมีสุภเป็นอาทิ แห่งธรรมทั้งหลายมีกายเป็นต้นแล้วประพฤติด้วยอาการอันถือว่างามเป็นอาทิ

  อุปาทาน ๕ นั้น มีนัยกล่าวแล้วในปฏิจจสมุปปาทนิเทศนั้นแล้ว ธรรม ๗ ประการ คือ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ มานะ ๑ มิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ภวราคะ ๑ อวิชชา ๑ เป็นคำรบ ๗ ชื่อว่าอนุสัยด้วย ด้วยอธิบายว่า อันบุคคลมิได้หักหาญกำจัดเสียด้วยพระอริยมรรคญาณก็ยังมีกำลังกล้าสามารถจะเป็นปัจจัยแก่กามราคะ เป็นอาทิเนือง ๆ ไปเมื่อยังไม่ได้พร้อมด้วยปัจจัยก็นอนนิ่งสงบอยู่ ครั้นพร้อมด้วยปัจจัยแล้ว ก็บังเกิดกำเริบให้ล่วงทุจริต ถึงกาย วาจา

  ธรรม ๓ ประการ คือราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ชื่อว่ามละแปลว่ามลทิน ด้วยอธิบายว่า ตนเองก็เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์แล้วกระทำซึ่งธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยตนนั้นให้เศร้าหมองมิให้บริสุทธิ์ ดุจหนึ่งเปือกตม เหตุฉะนี้จึงได้ชื่อว่ามลทิน

  อกุศลกรรมบถมีประเภท ๑๐ ประการ มีปาณาติบาทเป็นต้น มีอภิชฌาเป็นปริโยสาน ได้นามชื่อว่าอกุศลกรรมบถ ด้วยอธิบายว่าเป็นข้าศึกแก่กุศล เป็นคลองหนทางทุคติ คือบายภูมิทั้ง ๔

  อกุศลจิตตุปบาทมีประเภท ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ เข้าด้วยกันเป็น ๑๒

  พระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ ให้สำเร็จกิจมละเสียซึ่งปฏิปักขธรรมทั้งหลายมีสังโยชน์เป็นต้น โดยสมควรแก่ประกอบตามลำพัง

  มีปุจฉาว่า  “กถํ”  พระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ ให้สำเร็จกิจมละเสียซึ่งปฏิปักขธรรม ควรแก่ประกอบนั้น มีประการดังฤๅ

  มีคำวิสัชนายกว่าแต่สังโยชน์ก่อน ล้ำสังโยชน์ ๑๐ ประการ พระโสดาปัตติมรรคญาณ ให้สำเร็จกิจประหารเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการ อันเป็นส่วนเสพกามธาตุ คือสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพัตตปรามาส ๑ กามราคะ ๑ ปฏิฆะคือโทสะ ๑ เป็น ๕ ประการ

  สักกายทิฏฐินั้นสังเคราะห์เอาทิฏฐิ ๖๒ อันมีสักกายทิฏฐิเป็นประธาน

  แลสังโยชน์ ๓ ตัว คือ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาสนั้นพระโสดาปัตติมรรคญาณฆ่าเสียหาเศษมิได้

  ฝ่ายกามราคะแลปฏิฆะนั้น พระโสดาบันแบ่งประหารเสียแต่ที่มีกำลังอันจะให้บังเกิดในอบาย แลกามราคะปฏิฆะอันเหลืออยู่ใยสันดานพระโสดาบันนั้น ก็จัดเป็น ๒ สถาน ๆ หนึ่งเป็นอย่างหยาบสถานหนึ่งเป็นอย่างสุขุม อย่างหยาบนั้นเป็นส่วนอันพระสกทาคามิมรรคญาณจะพึงฆ่าเสีย อย่างสุขุมนั้นเป็นส่วนพระอนาคามิมรรคญาณจะพึงฆ่าเสีย จึงสิ้นอโธภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ด้วยกำลังพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔

  ยังอทุธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะอวิชชานั้น เป็นส่วนอันพระอรหัตตมรรคญาณพึงฆ่าเสียแท้จริง

  พระอริยมรรคญาณเบื้องต่ำทั้ง ๓ นั้น จะได้แบ่งปันฆ่าเสียบ้างอย่างกามราคะปฏิฆะนั้นหาบ่มิได้

   เนื้อความจะไปข้างหน้านั้นก็ดี ถ้าว่าส่วนสังกิเลสใด ๆ อันพระอริยมรรคญาณองค์ใดฆ่าเสีย แต่ทว่าหานิยมลงว่า ฆ่าเสียแท้จริงไม่นักปราชญ์พึงเข้าใจว่า สังกิเลสนั้นกำลังที่จะให้ถึงอบายแบ่งปันประหารเสียแต่พระ

   อริยมรรคญาณเบื้องต่ำนั้นบ้างแล้ว ถ้านิยมลงว่าฆ่าเสียแท้จริงในที่ใด ก็พึงเข้าใจว่าสังกิเลสนั้นเฉพาะฆ่าเสียด้วยอริยมรรคเบื้องบนสิ่งเดียว พระอริยมรรคญาณบังเกิดก่อนนั้น บ่มิได้แบ่งปันประหารเสียบ้างเลยเหมือนอย่างอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อันพระอรหัตตมรรคญาณประการเสียนี้เถิด

   ถ้ากิเลสทั้ง ๑๐ ยกเอาแต่กิเลส ๒ ตัว คือ ทิฏฐิ กับวิจิกิจฉา เป็นส่วนพระโสดาบันฆ่าเสียได้ทั้งสิ้น พระอนาคามิมรรคญาณประการเสียซึ่งโทสกิเลส

   พระอรหัตตมรรคญาณสังหารกิเลส ๗ ตัว คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ มานะ ๑ ถีนะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑ เป็นคำรบ ๗ ด้วยกัน บรรดามิจฉัตตะเป็น ๑๐ ประการ ยกเอาแต่ ๔ คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑ มุสาวาท ๑ มิจฉากัมมันตะ ๑ มิจฉาอาวีชะ ๑ เป็นส่วนอันพระโสดาปัตติมรรคพึงฆ่าเสีย

   มิจฉัตตะ ๓ ตัว คือมิจฉาสังกัปโป ๑ ปิสุณาวาจา ๑ ผรุสวาจา ๑ เป็นส่วนอันพระอนาคามิมรรคญาณพึงฆ่าเสีย

   ยังมิจฉัตตะอีก ๖ ตัว คือ สัมผัปปลาป ๑ มิจฉาวายามะ ๑ มิจฉาสติ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑ มิจฉาวิมุตติ ๑ มิจฉาญาณ ๑ เป็น ๖ ประการด้วยกัน เป็นส่วนมิจฉัตตะอันพระอรหัตตมรรคญาณได้ฆ่าเสีย

   ความเคียดแค้นในโลกธรรม คือโกรธแค้นด้วยหาลาภหายศบ่มิได้และเคียดแค้นด้วยทุกข์ และเขานินทา ความโกรธตัวนี้พระอนาคามิมรรคญาณพึงฆ่าเสีย

   ความยินดีในโลกธรรมมีลาภเป็นอาทิ ขาดด้วยพระอรหัตตมรรคญาณ มัจฉริยมรรค ๕ ประการ มีตระหนี่ในอาวาสเป็นอาทินั้นเป็นส่วนพระโสดาปัตติมรรคญาณฆ่าเสียแท้จริง

   วิปลาส ๓ ประการ คือสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส อันประพฤติเป็นไปโดยสำคัญว่าเที่ยง ในสิ่งอันบ่มิได้เที่ยง เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ในสิ่งอันใช่ตัวใช่ตน กับทิฏฐิวิปลาสอันเห็นว่า สุขในกองทุกข์และเห็นว่างามในกองอสุภ วิปลาสเหล่านี้เป็นส่วนอันพระโสดาปัตติมรรคพึงฆ่าเสีย

   พระอนาคามิมรรคญาณประการเสียซึ่งสัญญาวิปลาส แลจิตตวิปลาสอันสำคัญว่างาม ในสิ่งอันมิงาม

   พระอรหัตตมรรคญาณประหารซึ่งสัญญาวิปลาส จิตวิปลาสอันสำคัญว่าสุขในกองทุกข์

   ล้ำคันถะ ๔ ยกเอาแต่ ๒ คือสีลัพพัตตปรามาส กายคันถะ และอิทังสัจจาภินิเวส กายคันถะเป็นส่วนพระโสดาปัตติมรรคพึงฆ่าเสีย พระอนาคามิมรรคญาณประหารเสียซึ่งพยาบาท กายคันถะอันเดียวพระอรหัตตมรรคญาณก็ประหารเสียซึ่งคันถะอันหนึ่ง คืออวิชชา

   อคติ ๒ ประการนั้น เป็นส่วนพระโสดาปัตติมรรคญาณประหารเสียทั้งสิ้น

   แท้จริงในกองอาสวะโอฆะโยคะนั้น พระโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหารเสียซึ่งทิฏฐิอาสวะ ทิฏฐิโอฆะ ทิฏฐิโยคะ พระอนาคามิมรรคญาณประหารเสียซึ่งอวิชชาสวะ อวิชชาโอฆะ อวิชชาโยคะ

   ในนิวรณธรรมนั้น พระโสดาปัตติมรรคญาณฆ่าเสียแต่วิจิกิจฉานิวรณ์ ๓ ตัว คือ กามฉันทะ พยาบาท กุกกุจจะ นี้เป็นส่วนนิวรณ์อันพระอนาคามิมรรคพึงฆ่าเสีย

   ยังมีถีนมิทธนิวรณ์ แลอุทธัจจนิวรณ์ ๒ ตัวนี้ เป็นส่วนพระอรหัตตมรรคญาณพึงประหารเสีย

   บรรดาอุปาทานทั้งหลาย ๔ นั้น แม้ว่ารูปราคะ อรูปราคะ ก็นับเข้าในกามุปาทาน เพราะเหตุว่าโลกิยธรรมทั้งปวงนั้น มาในวาระบาลีว่า  “กามา”  ด้วยสามารถแห่งวัตถุกาม เหตุดังนั้น อันว่ากามุปาทานนี้จึงยกมาเป็นส่วนอันพระอรหัตตมรรคญาณพึงฆ่าเสียในภายหลัง

   อุปาทาน ๓ ตัว คือทิฏฐิอุปาทาน และสีลัพพัตตุปทาน และอัตตวาทุปาทานนั้น เป็นส่วนอันพระโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหารเสียก่อนแล้ว

   ล้ำอนุสัย ๗ ประการนั้น ยกแยกออกแต่สอง คือทิฏฐิอนุสัยกับวิจิกิจฉาอนุสัย ๒ ตัวนี้ เป็นส่วนอันพระโสดาปัตติมรรคญาณฆ่าเสียแท้จริง

   อนุสัย ๒ ตัว คือกามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยนั้น เป็นส่วนพระอนาคามิมรรคญาณพึงประหารเสีย

   อนุสัยอีก ๓ ตัว คือ กามานุสัย ภวรราคานุสัย อวิชชานุสัย เป็นส่วนพระอรหัตตมรรคญาณพึงฆ่าเสีย

   ล้ำมลทิน ๓ ประการ พระอนาคามิมรรคญาณประหารเสียซึ่งมลทินตัวหนึ่ง คือโทสมละ

   ยังมลทินอีก ๒ คือ ราคมละ และโมหมละนั้น เป็นส่วนพระอรหัตตมรรคญาณพึงประหารเสีย

   ในกองอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั้น ยกเอาแต่ ๕ คือ ปาณาติบาท ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาส ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑ เข้าด้วยกันเป็น ๕ ส่วนกรรมบถอันพระโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหารเสีย

   อกุศลกรรมบถ ๓ ตัว คือ ปิสุณาวาจา และผรุสวาจา และพยาบาทเป็นส่วนพระอนาคามิมรรคญาณได้ฆ่าเสีย

   พระอรหัตตมรรคญาณได้ประหารเสีย ซึ่งอกุศลกรรมบถ ๒ คือ สัมผัปปลาป กับอภิชฌา

   ในกองอกุศลจิตตุปบาท ๑๒ นั้น พระโสดาปัตติมรรคญาณได้ฆ่าเสีย ๕ จิตตุปบาทคือโลภมละจิตกอปรด้วยทิฏฐิ ๔ กับวิจิกิจฉา ๑

   พระอนาคามิมรรคญาณได้ประหารเสียซึ่งอกุศลจิต ๒ คือโทสมูล เป็นสสังขาริก ๑ อสังขาริก

   ยังอกุศลจิตตุปบาท ๕ คือโลภมูลจิต อันปราศจากทิฏฐิ ๔ กับ อุทธัจจจิต ๑ เป็นส่วนอันพระอรหัตตมรรคญาณฆ่าเสีย

   และพระอริยมรรคญาณองค์ใด ๆ ฆ่าเสียซึ่งอกุศลธรรม ๒ กอง คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ กอง อกุศลจิตตุปบาท ๑๒ กอง ๑ พระอริยมรรคญาณองค์นั้นก็ได้ชื่อว่ามละเสียซึ่งอกุศลธรรมนั้น เหตุใดเหตุหนึ่ง พระพุทธโฆษาจารย์จึงกล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า พระอริยมรรคญาณทั้ง ๘ ให้สำเร็จกิจมละเสียซึ่งปัจจนิกธรรมทั้งหลาย มีประโยชน์เป็นอาทินั้นโดยสมควรแก่กำลังด้วยประการดังนี้แล

   จึงมีคำปรวาทีโจทนาว่าพระอริยมรรคญาณ ๔ มละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย มีสังโยชน์เป็นอาทิฉันใด แลอกุศลกรรมมีสังโยชน์เป็นต้นนั้น เป็นอดีตหรือ หรือเป็นอนาคต หรือเป็นปัจจุบัน

   ถ้าจะว่าพระอริยมรรคมละเสียซึ่งอกุศลธรรม อันเป็นอดีตความเพียรอันสัมปยุตด้วยพระอริยมรรคนั้น ก็หาผลหาประโยชน์บ่มิได้ เพราะเหตุอกุศลธรรมทั้งหลายสิ้นไปล่วงไปหามีเองไม่ก่อนแล้ว พระอริยมรรคก็พลอยมละเสียเมื่อภายหลัง จะได้มละเสียด้วยกระทำเพียรนั้นหาบ่มิได้

   อนึ่ง ผิว่าพระอริยมรรคญาณนั้น มละเสียซึ่งอกุศลธรรมมีสังโยชน์เป็นอาทินั้นเป็นอนาคต มิฉะนั้นความเพียรพยายามนั้นก็คงว่าหาผลหาประโยชน์มิได้ เพราะเหตุไรเล่า เพราะอกุศลธรรมที่จะพึงมละเสียนั้นยังหามีไม่ในขณะเพียรนั้น

   ถ้าจะว่าพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ มละเสียซึ่งอกุศลธรรมมีสังโยชน์อาทินั้นเป็นปัจจุบัน ถ้าจะว่าดังนั้นก็ยังบ่มิพ้นจากโทษคือความเพียรหาผลหาประโยชน์บ่มิได้นั้น เพราะเหตุอกุศลธรรมมีสังโยชน์ทั้งหลายอันจะพึงมละเสียนั้น มีพร้อมกันกับด้วยความเพรียร เกิดพร้อมกันก็พากันดับไปจะว่าใครมละใคร ใครผจญใคร ใครฆ่าใคร ก็บ่มิรู้จะว่าได้

   อนึ่งโสด บุคคลผู้มีจิตกำหนัดอยู่ด้วยราคะ ก็ได้ชื่อว่ามละเสียซึ่งราคะในขณะอันกำหนัดนั้น บุคคลผู้โกรธก็จะมละเสียซึ่งความโกรธทั้งโกรธนั้น บุคคลผู้หลงและกระด้างด้วยมานะ และกอปรด้วยมิจฉามิฏฐิและมีจิตฟุ้งซ่านสงสัยอยู่ และถึงซึ่งกิเลสมีกำลังก็จะเป็นอันมละเสียซึ่ง โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉานุสัยกิเลส กุศลกับอกุศลกรรมก็ประพฤติเนื่องกำกับเป็นคู่ดุจหนึ่งโคเทียมแอกอันเดียวกัน เมื่อว่ากุศลอกุศลเข้าปนกันเกิดฉะนี้พระอริยมรรคภาวนา ก็ได้ชื่อว่าสังกิเลสเกิดกับดับพร้อมด้วยสังกิเลสบริสุทธิ์มิได้

   อนึ่ง ถ้าจะว่าพระอริยมรรคญาณ มละอกุศลธรรมมีสังโยชน์เป็นอาทิเป็นอดีตนั้นก็หาบ่มิได้ เป็นอนาคตก็หาบ่มิได้ เป็นปัจจุบันนั้นก็หาบ่มิได้ ถ้าจะว่าดังนั้นก็เป็นอันว่ามรรคญาณภาวนาหามีไม่ในกิริยาที่กระทำอริยมรรคอริยผลให้แจ้งก็หามีไม่ กิริยาที่มละกิเลสก็หามีไม่ ที่จะตรัสรู้ธรรมวิเศษก็หามีไม่ เหตุอะไรเล่า เหตุว่ากิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวงในกาลทั้ง ๓ และพระอริยมรรคญาณมิได้มละกิเลสอันเป็นอดีตเป็นอาทิแล้ว ก็ได้ชื่อว่ามรรคภาวนาเป็นอาทินั้นหาบ่มิได้

   คำสักกวาทีบริหารว่า  “อตฺถิ มคฺคภาวนา อตฺถิ ผลสจฺฉิ กิริยา อตฺถิ กิเลสปหานํ อตฺถิ ธมฺมาภิสมโย”  แม้ว่าพระอริยมรรคมิได้มละอกุศลธรรมเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบันดังนั้น และจะมิได้มีมรรคภาวนา จะไม่มีผลสัจฉิกิริยา และจะมิได้มีกิเลสปหานแลธรรมาภิสมัยนั้น อันมรรคภาวนาและผลสัจฉิกิริยาเป็นอาทินั้นคงมีเป็นแท้

   ฝ่ายปรวาทีจึงย้อนถามว่า   “เสยฺยถาปิ ตรุโณ อมฺพรุกฺโข”  อันว่าต้นไม้มะม่วงหนุ่มมีผลยังมิได้บังเกิด มีบุรุษผู้หนึ่งมาตัดมูลรากแก้วแห่งต้นมะม่วงนั้นเสีย ผลมะม่วงที่ยังมิได้เกิด และควรจะบังเกิดในภายภาคหน้า ก็บังเกิดบ่มิได้ ก็ชื่อว่าผลนั้นถึงแก่พินาศฉิบหาย เพราะบุรุษตัดรากเสียนั้น เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาเล็งเห็นซึ่งโทษในอุปาทะ คือขันธ์อันบังเกิดและฉิบหายเข้าใจเป็นแท้ว่า ขันธ์นั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กิริยาอันบังเกิดแห่งกิเลส เมื่อหาขันธ์บังเกิดมิได้แล้ว กิเลสก็มิได้บังเกิดเมื่อพิจารณาเห็นโทษในอุปาทะ ถือขันธ์มันมีความเกิด ความฉิบหายฉะนี้แล้ว จิตแห่งพระโยคาพจรเจ้านั้น ก็เร่งเหนื่อยหน่ายจากอุปาทะ สละอาลัยแล้วก็เเล่นไปในอนุปปาทะ คือพระอมตะมหานิพพานอันหาความเกิดความฉิบหายบ่มิได้ อันว่ากิเลสทั้งหลายใดที่ยังมิได้บังเกิด แต่ทว่าคอยโอกาสจะบังเกิด เพราะเหตุปัจจัยคือขันธ์ อันว่ากิเลสที่ยังมิได้บังเกิดนั้นแล ก็บ่มิได้บังเกิดขึ้นได้ อาศัยเหตุนี้พระโยคาพจรมีจิตอันสัมปยุตด้วยพระอริยมรรคญาณ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ได้ชื่อว่ากิเลสทั้งหลายนั้นอันพระอริยมรรคมละเสีย ก็ถึงแก่พินาศฉิบหายเพราะเกิดขึ้นมิได้ดุจผลมะม่วงนั้น

   กิริยาที่จะดับกิเลสก็อาศัยแก่ดับเหตุคือขันธ์ จะดับทุกข์ก็อาศัยแก่ดับเหตุคือกิเลส เมื่อดับทุกข์แล้วก็เป็นอันดับผล อาศัยเหตุฉะนี้นักปราชญ์พึงเข้าในเป็นแท้ว่า ความเพียรคงมีผล กิริยาที่เจริญมรรคและผลทำให้แจ้งและกิเลสประหารก็มีเป็นแท้ ด้วยประการดังนี้

   มีคำอธิบายในข้อความซึ่งว่ากิเลสทั้งหลาย ยังมิได้บังเกิดและบังเกิดขึ้นบ่มิได้ในภายหน้า เพราะว่าจำเริญมรรคภาวนา และได้ชื่อว่าพระอริยมรรคมละเสียซึ่งกิเลสทั้งหลายนั้น

   ข้อความอันนี้แล เป็นอันแสดงกิริยามละเสียซึ่งภูมิลัทธิกิเลสคือกิเลสอันมีภูมิตั้งได้แล้วและบังเกิด ภูมินั้นจะได้แก่ขันธ์สันดานอันบังเกิดเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาปัญญา คือขันธ์แห่งปุถุชนอันบังเกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามเทพ และรูปเทพ และอรูปภพ อันปุถุชนผู้เป็นเจ้าของขันธ์ ยังบ่มิได้พิจารณากำหนดขันธ์นั้น ด้วยปัญญาและพระวิปัสสนาขันธ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นภูมิที่เกิดแห่งกิเลสอันนอนประจำอยู่ในขันธสันดานนั้น จำเดิมแต่กำเนิดในกาลใด ๆ ก็เป็นภูมิที่เกิดกิเลสในกาลนั้น ๆ ขันธ์ในอดีตก็เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสในอดีตขันธ์ ในปัจจุบันก็เป็นภูมิที่เกิดแห่งกิเลสในปัจจุบันขันธ์ในอนาคตเป็นภูมิที่เกิดแห่งกิเลสในอนาคต อนึ่งขันธ์อย่างนี้ ถ้าเป็นกามาพจรขันธ์ก็เป็นวัตถุที่อยู่แห่งกิเลสอันมีอนุสัย อันบุคคลมิได้มละด้วยมรรคญาณในกามาพจรสันดาน ถ้าเป็นรูปาพจรขันธ์ แลอรูปพจรขันธ์ก็เป็นวัตถุที่อยู่แห่งอนุสัยกิเลส อันบุคคลยังมิได้มละเสียด้วยพระอริยมรรคญาณ ในรูปาพจรขันธ์สันดาน แลอรูปาพจรขันธ์สันดาน กิเลสอันประจำอยู่ในขันธ์สันดานแห่งปุถุชนดังพรรณนามาฉะนี้ เมื่อยังมิได้โอกาสก็ยังสงบแต่ทว่าคอยจะบังเกิดกำเริบขึ้นในขณะเมื่อได้โอกาสข้างหน้า กิเลสอย่างนี้แลได้ชื่อว่าภูมิลัทธิกิเลส

   ก็ถ้าแลบุคคลผู้เป็นเจ้าของขันธ์นั้น พิจารณากำหนดขันธ์ทั้งปวงด้วยพระวิปัสสนาปัญญา ตราบเท่าถึงพระอริยมรรคญาณบังเกิดตนก็ตั้งอยู่ในอริยภูมิ มีพระโสดาบันเป็นอาทิแล้ว ก็มละเสียซึ่งกิเลสอันเป็นมูลแห่งวัฏฏทุกข์ อันประพฤติเป็นไปในขันธ์สันดานก่อนด้วยพระอริยมรรคมีพระโสดาปัตติมรรคเป็นอาทินั้น จำเดิมแต่นั้นไปขันธสันดานแห่งพระอริยบุคคลนั้น ๆ ก็มิได้นับเข้าว่าเป็นภูมิเหตุบ่มิเป็นวัตถุที่เกิดแห่งวัฏฏมูลกิเลสที่มละเสียแล้วนั้น

   ฝ่ายโลกีย์ปุถุชนทั้งปวง อันมีกิเลสเป็นมูลแห่งวัฏฏสงสารประจำอยู่ในสันดานเป็นนิตย์ เหตุบ่มิได้มละเสียซึ่งอนุสัยกิเลสแม้ว่าจะกระทำทำกรรมสิ่งใด ๆ เป็นฝ่ายกุศลแลอกุศลก็ดี ก็ล้วนเป็นมูลแห่งวัฏฏทุกข์ อันประจำอยู่ในขันธสันดานแห่งปุถุชนนั้นจะว่าประจำอยู่ในรูปขันธ์สิ่งเดียว มิได้อยู่ในขันธ์อันอื่น มีเวทนาขันธ์เป็นอาทิ ก็ว่าได้ จะว่าประจำอยู่ใน เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ แต่ละสิ่ง ๆ ก็อย่าพึงว่า เหตุว่าวัฏฏมูลกิเลสนั้นประจำอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ หาส่วนวิเศษเป็นแผนบ่มิได้ ดุจหนึ่งว่ารสปฐวีเป็นอาทิถ้าซาบอยู่ในต้นไม้ แท้จริงในเมื่อต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นปฐวี อาศัยรสปฐวีแลรสอาโปเป็นอุปการแล้ว ก็วัฒนาการจำเริญด้วยรากแลลำต้นและคาคาบ กิ่งน้อยกิ่งใหญ่ใบอ่อนใบแก่ผลิดอกออกผลยังนพดลให้บริบูรณ์ด้วยปริมณฑลกิ่งก้าน ก็ประดิษฐานสืบรุกขประเพณีด้วยพืชปรัมปราตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่ารสปฐวี แลรสอาโปก็ดี จะว่าตั้งอยู่ในรากสิ่งเดียว มิได้ตั้งอยู่ในลำต้นเป็นอาทิก็อย่าพึงว่า จะว่าอยู่ในประเทศมีมูลเป็นต้นมีผลเป็นที่สุด แต่ละสิ่งเดียว ๆ ก็ว่าบ่มิได้ เหตุว่ารสปฐวีเป็นอาทินั้นซาบไปในพฤกษาพยพหาส่วนเศษบ่มิได้ก็ดี แลกิเลสอันประจำอยู่ในขันธสันดานแห่งปุถุชนก็มีอาการเหมือนดังนั้น ผิว่าบุรุษผู้ใดผู้หนึ่ง มีจิตเหนื่อยหน่ายปรารถนาจะไม่ให้ต้นไม้นั้นจำเริญด้วยดอกแลผลสืบต่อไปจึงเอาเงี่ยงกระดูกปลาอาบยาพิษ ตอกเข้าในต้นไม้นั้นทั้ง ๔ ทิศ ด้วยอำนาจพิษครอบงำกำจัดเสีย ซึ่งรสปฐวีแลอาโปให้เหือดแห้งไป ต้นไม้นั้นก็มิอาจเพื่อจะยังรุกขสันดานให้บังเกิดสืบต่อไปได้ฉันใดก็ดี เมื่อกุลบุตรผู้เป็นเจ้าของขันธ์ มีกมลกระสันเหนื่อยหน่ายในขันธปวัตติแล้ว ก็ปรารถนาเพื่อจะจำเริญมรรคภาวนาทั้ง ๔ ในขันธสันดานแห่งอาตมา มีอุปมาดุจดังบุรุษประกอบยาพิษไว้ในทิศทั้ง ๔ แห่งต้นไม้ อันว่าขันธสันดานแห่งกุลบุตรนั้น อันกำลังยาพิษ คือจตุมรรคญาณครอบงำสัมผัสกำจัดวัฏฏมูลกิเลสให้สิ้นหาเศษบ่มิได้ แต่นั้นไปก็มีแต่ประเภทแห่งกรรมทั้งปวง มีกายกรรมเป็นอาทิถึงซึ่งสภาวะ เป็นแต่กิริยาอพยากฤต หาผลหาวิบากบ่มิได้ แลขันธสันดานนั้นก็ถึงซึ่งสภาวะจักมิได้บังเกิดในภพใหม่แล้ว ก็มิอาจเพื่อจะยังสันดานประเพณีให้เกิดสืบต่อไปในภพอันอื่น ได้จะทรมานอยู่ควรแก่กาลกำหนด ถึงจุติแล้ว ก็จะดับสูญสำเร็จแก่พระนิพพาน ด้วยปราศจากเชื้ออุปาทานทั้ง ๔ ดุจเปลวอัคคีอันสิ้นเชื้อไส้น้ำมันนั้นแล้วดับไป

   “เอวเมตฺถ เยน เยน ปหาตพฺพา ธมฺมา”  อันว่ากิเลสธรรมทั้งปลาย อันพระอริยมรรคญาณอันใด ๆ มละเสีย อันว่ากิริยามละกิเลสธรรมทั้งหลายนั้น นักปราชญ์พึงรู้ในญาณทัสสนะนิเทศด้วยประการดังนี้

   แต่นี้ไปจะวินิจฉัยในกิจ ๔ ประการนั้น ๆ คือปริญญากิจ ๑ คือ ปหานกิจ ๑ คือสัจฉิกิริยากิจ ๑ คือภาวนากิจ ๑

   กิจ ๔ ประการนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้ามีพระพุทธฎีกาตรัสบัณฑูรไว้ว่า เป็นด้วยขณะเดียวกัน คือขณะเดียวกัน คือขณะเมื่อมรรคญาณทั้ง ๔ คือพระโสดาปัตติมรรคญาณเป็นอาทิอันใดอันหนึ่งบังเกิดกิจละเสีย ๆ ก็สำเร็จด้วยขณะอันเดียว ในกาลเมื่อตรัสรู้ซึ่งพระจตุราริยสัจจ์นั้น

   แลกิจ ๔ ประการนั้น นักปราชญ์พึงรู้โดยสภาวะ ยุติด้วยคำโบราณาจารย์เจ้าพวกอภัยคิรีวาสี กล่าวเป็นอุปมาสาธกไว้ดังนี้

   “ยถา ปทีโป อปริมํ เอกกฺขเณน จตฺตาริ กิจฺจานิ กโรติ ฯลฯ จตฺตาริ สจฺจนิ อภิสเมติ”  

   อธิบายความตามวาระบาลี   “ปทีโป”  อันว่าประทีปน้ำมันอันบุคคลตามไว้ แลประทีปนั้นให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ คือยังเกลียวไส้ให้เกรียมไม้ประการ ๑ คือขจัดเสียซึ่งอันธการ ๑ คือสำแดงแสงอาโลกให้สว่างประการ ๑ คือสังหารน้ำมันให้สิ้นไปประการ ๑ เป็นกิจ ๔ ประการ พร้อม ๆ กันในขณะเดียว จะได้ก่อนจะได้หลังหาบ่มิได้ฉันใดก็ดี

   พระอริยมรรคทั้ง ๔ แต่ละพระองค์ ๆ ก็ให้สำเร็จกิจตรัสรู้ซึ่งอริยสัจจ์ ๔ ประการในขณะเดียว ก็มีอาการดุจนั้น

   แลพระอริยมรรคญาณ ให้สำเร็จกิจ ๔ ประการนั้น

   คือตรัสรู้ซึ่งสมุทัยสัจจ์ด้วยกำหนดเบญจขันธ์แล้ว แลโดยบ่มิหลง ๑

   คือตรัสรู้ซึ่งสมุทัยสัจจ์ โดยมละเสียด้วยสมุจเฉทปหาน ๑

   คือตรัสรู้ซึ่งพระนิโรธสัจจ์ ด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย คือกระทำพระนิพพานเป็นอารมณ์โดยประจักษ์ ๑

   คือตรัสรู้ซึ่งพระอัษฏางคิกมรรคด้วยภาวนาภิสมัย คือตรัสรู้ด้วยพระอริยมรรคญาณ อันบังเกิดเนื่องมาแต่บุรพภาคภาวนา ๑

   มีคำอธิบายเป็นใจความว่า เมื่อพระโยคาพจรเจ้ากระทำพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้วก็ได้ชื่อว่าถึงว่าเห็นว่าตรัสรู้ พระอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ในขณะเดียวกัน ยุติด้วยพระพุทธฎีกา ตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดไว้ว่า

   “ โย ภิกฺขเว ทุกฺขํ ปสฺสติ ทุกฺขสมุทยํปิ ปสฺสติ”

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ใดหยั่งปัญญาเล็งเห็นทุกขสัจจ์โดยแท้แล้วบุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเห็นซึ่งทุกขสมุทัยสัจจ์ ได้ชื่อว่าเห็นซึ่งทุกขนิโรธสัจจ์ แลทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์พร้อมกันในขณะเดียว นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเป็นใจความว่า เมื่อพระโยคาพจรเห็นพระอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือ ทุกขสัจจ์ก็ดี ทุกขสมุทัยก็ดี แลทุกขนิโรธ แลทุกขนิโรธมินีปฏิปทาก็ดี แต่อันใดอันหนึ่งแล้วก็ได้ชื่อว่าเห็นพระอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ๆ เสมอพร้อมกัน

   “อปรมฺปิ วุตฺติ”  ประการหนึ่ง สมเด็จพระพุทธองค์มีพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้อีกเล่าว่า ญาณอันใดแห่งพระโยคาพจรผู้มีสันดานกอปรไปด้วยพระโลกุตตรมรรคญาณนั้นแล้ว ชื่อว่าประพฤติเป็นไปในทุกขสัจจ์เป็นไปในทุกขสมุทัย เป็นไปในทุกขนิโรธ เป็นไปในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาปฏิบัติ

   “ตตฺถ ยถา ปทีโป”  นักปราชญ์พึงรู้ซึ่งอรรถาธิบาย ข้อความเปรียบเทียบพระอริยมรรคญาณ ให้สำเร็จกิจกับด้วยดวงประทีปดังนี้เล่า

   กิริยาที่พระอริยมรรคญาณ สำเร็จกิจกำหนดซึ่งทุกขสัจจ์นั้นเปรียบด้วยดวงประทีปยังเกลียวไส้ให้ไหม้ไป

   กิริยาที่พระอริยมรรคญาณ มละเสียซึ่งสมุทัยนั้น เปรียบด้วยดวงประทีปอันขจัดเสียซึ่งอันธการ

   กิริยาที่พระอริยมรรคญาณ ยังองค์อัฏฐางคิกมรรค มีสัมมาสังกัปปะเป็นอาทิให้สำเร็จ ด้วยสามารถเป็นสหชาตาทิปัจจัยนั้นเปรียบต่อดวงประทีปอันสำแดงอาโลกส่องแสงสว่างข้างโน้นข้างนี้

   กิริยาที่พระอริยมรรคญาณ สำเร็จกิจกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิโรธสัจจ์อันเป็นเหตุให้สิ้นสรรพกิเลสนั้น เปรียบดุจดวงประทีปอันสำเร็จกิจสังหารน้ำมันให้เหือดแห่งสิ้นไป

   “อปโร นโย”  มีนัยอุปมาอันอื่นอีกเล่า  “สุริโย”  อันว่าพระสุริยมณฑล เมื่อแรกอุทัยขึ้นมาให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ

   คือสำแดงรูปารมณ์ให้ปรากฏแจ้งแก่ตาโลกประการ ๑

   คือขจัดเสียซึ่งมหันธการกองมืด ๑

   คือสำแดงอาโลกส่องรัศมีไปในห้องแห่งจักรวาลประเทศ ๑

   คือบรรเทาเสียซึ่งความลำบาก คือระทดหนาวแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๑

   แลสุริยเทพยมณฑลให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ ดังพรรณนามาดังนี้

   พร้อมด้วยขณะอันปรากฏแห่งอาตมา จะเป็นก่อนเป็นหลังหาบ่มิได้ฉันใดก็ดี แลพระอริยมรรคญาณนี้ ก็ให้สำเร็จกิจ ๔ ประการพร้อมกันในขณะเดียวก็มีอาการดุจนั้น

   นักปราชญ์พึงรู้ข้อความเปรียบเทียบอุปมาดังนี้

   พระอริยมรรคญาณ จำเร็จกิจกำหนดซึ่งทุกขสัจจ์นั้น เปรียบต่อพระอาทิตย์สำแดงรูปทั้งปวงให้ปรากฏแก่ตาโลก

   พระอริยมรรคญาณสำเร็จกิจ มละสมุทัยนั้นเปรียบด้วยพระอาทิตย์สำเร็จกิจ คือกำจัดเสียซึ่งอันธการกองมืด

   พระอริยมรรคญาณสำเร็จกิจ ยังองค์มรรคมีสัมมาสังกัปปะเป็นต้นให้จำเริญ ด้วยสภาวะเป็นสหชาตาทิปัจจัยนั้น เปรียบด้วยดวงพระอาทิตย์อันสำเร็จกิจ สำแดงอาโลกให้ส่องแสงสว่างไปในห้องจักรวาล

   พระอริยมรรคญาณสำเริจ กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิโรธ อันเป็นเหตุจะระงับสรรพกิเลสในสันดาน ปานดุจดังพระอาทิตย์อันสำเร็จกิจระงับซึ่งความเย็นสะท้าน ในสันดานสัตว์ทั้งปวง

   นัยหนึ่งนักปราชญ์พึงรู้กระทู้ความอุปมาอุปไมย ดุจนาวาอันนำของข้ามคลองน้ำ แลนาวานั้นให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ

   คือมละเสียซึ่งฝั่งฟากโพ้นประการ ๑ คือตัดกระแสสายน้ำประการ ๑ คือนำไปซึ่งของประการ ๑ คือถึงซึ่งฝั่งฟากโพ้นประการ ๑

   เป็นกิจ ๔ ประการ พร้อมกันขณะเดียวกันฉันใดก็ดี พระอริยมรรคญาณสำเร็จกิจประเภททั้ง ๔ ก็มีอาการดุจนั้น

   กิริยาที่พระอริยมรรคญาณสำเร็จกิจ กำหนดซึ่งทุกขสัจจ์นั้นมีอาการดุจนาวามละฝั่งฟากโน้น

   พระอริยมรรคญาณสำเร็จกิจเป็นปหานเสีย ซึ่งทุกขสมุทัยคือตัณหานั้น มีอุปมาดุจเรืออันตัดกระแสสายน้ำไป แลนาวาสำเร็จกิจนำไปซึ่งของอันบรรทุกใส่ไปนั้น ฉันใดก็ดี พระอริยมรรคญาณก็สำเร็จกิจให้เจริญซึ่งอัฏฐางคิกมรรค มีสัมมาสังกัปปะเป็นอาทิด้วยสามารถเป็นสหชาตาทิปัจจัยแลนำไปซึ่งทรัพย์อันประเสริฐคือสัตตตึสสัมโพธิปักขิยธรรมก็มีอุปไมยดุจนั้น

   อนึ่ง นาวานั้นสำเร็จกิจฝั่งฟากโน้น มีอุปไมยฉันใด พระอริยมรรคญาณก็สำเร็จ กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันบังเกิดเป็นฝั่งฟากโพ้นแห่งสงสารสาคร ก็มีอุปไมยดุจนั้น

   แลพระโลกุตตรมรรค อันมีญาณประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกิจ ๔ กาลเมื่อตรัสรู้ซึ่งพระจตุราริยสัจจ์ โดยนัยพรรณนามานี้

   แลสัจจทั้ง ๔ นั้น เป็นเอกปฏิเวธ คืออาการอันตรัสรู้พร้อมกันในขณะเดียว แจกโดยตถัตถะ คือสภาวะจริง บ่มิได้วิปริต ๔ ประการเป็นอาการ ๑๖

   อธิบายว่า แต่ทุกข์สิ่งเดียว มีอรรถว่าเป็นสภาวะจริง บ่ทิได้วิปริต ๔ ประการ จึงได้ชื่อว่าทุกขสัจจ์

   สมุทัย แลนิโรธ แลมรรคก็ดี ก็มีอรรถเป็นสภาวะจริง บ่มิได้วิปริตสิ่งละสี่ ๆ จึงได้ชื่อว่าสมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ มรรคสัจจ์

   สภาวะจริงแห่งทุกข์มีอาการ ๔ นั้น  “ปีฬนตฺโถ”  คือสภาวะเบียดเบียนประการ ๑

   “สงฺขตถฺโถ”  คือสภาวะอันปัจจัยประชุมแต่งประการ ๑  “สนฺตาปตฺโถ”  คือสภาวะร้อนโดยรอบคอบประการ ๑  “วิปริณามตฺโถ”  คือสภาวะแปรปรวนประการ ๑ เป็นอาการ ๔ ด้วยกัน ชื่อสภาวะแท้แห่งทุกข์บ่มิได้วิปริต คืออรรถว่าเบียดเบียนก็เบียดเบียนแท้จริงจะแปรผันเป็นอื่นว่าทุกข์แล้ว จะไม่เบียดเบียนหาบ่มิได้ ว่าปัจจัยประชุมแต่งก็แท้จริง ว่าร้อนก็ร้อนจริงโดยแท้ว่าแปรปรวนก็แปรปรวนจริงโดยแท้ จะเป็นอื่นหาบ่มิได้

   ฝ่ายสมุทัยก็มีอรรถอันแท้ ๔ ประการ   “อายุหนตฺโถ”  คือสภาวะกระทำให้ก่อเกิดกองทุกข์ประการ ๑  “นิทาตฺโถ”  คือสภาวะสำแดงซึ่งผลคือทุกข์ประการ ๑   “สํโยคตฺโถ”  คือสภาวะประกอบไว้ด้วยประกอบสังขารทุกข์ประการ ๑  “ปลิโพธตฺโถ”  คือสภาวะให้ขังอยู่ในเรือนจำ คือภพสงสารประการ ๑ เป็นอรรถ ๔ ประการ เป็นสภาวะจริงแท้แห่งสมุทัย

   พระนิโรธก็มีสภาวะจริง ๔ ประการ  “นิสฺสรณตฺโถ”  คือสภาวะออกจากอุปธิ คือตัณหาสมุทัย ตัณหานุสัยประการ ๑  “วิเวกตฺโถ”  คือสภาวะสงัดจากหมู่ คือหากิเลสแลสังสารทุกข์มิได้ประการ ๑  “อสงขตตฺโถ”  คือสภาวะอันปัจจัยมิได้ประชุมตกแต่งประการ ๑  “อมตตฺโถ”  คือสภาวะเป็นอมฤตยรสเป็นธรรมที่ไม่ตายประการ ๑ เป็นอรรถ ๔ ประการด้วยกัน เป็นสภาวะจริงแท้แห่งพระนิโรธ

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com