พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๖

   ฝ่ายพระอริยมรรค ก็มีอรรถเป็นสภาวะจริงแท้ด้วยการ ๔   “นิยฺยานตฺโถ”  คือสภาวะออกจากวัฏฏสงสารประการ ๑  “เหตวตฺโถ”  คือเหตุเห็นพระนิพพานประการ ๑  “ทสฺสนตฺโถ”  คือเป็นสภาวะเห็นพระนิพพาน ๑  “อธิปเตยฺยตฺโถ”  คือสภาวะเป็นอธิบดีในที่เห็นพระนิพพานแห่งสหชาติธรรมประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน เป็นอรรถอันแท้บ่มิได้วิปริตแห่งพระอริยมรรค

   ธรรม ๔ ประการ มีทุกข์เป็นอาทิชื่อว่าสัจจะ ด้วยอรรถอันแท้โดยอาการ ๑๖ นี้ พระอาจารย์สงเคราะห์เอาสัจจะทั้ง ๔ นั้นด้วยอาการอันเดียวคือเอาแต่อรรถว่าจริง มิได้วิปริตเท่านั้น เป็นใจความว่า เมื่อสงเคราะห์เอาด้วยอาการอันเดียวดังนี้แล้ว สัจจะทั้ง ๔ นั้นก็นับว่าเป็น ๑ แล้วพระโยคาพจรนั้นก็ตรัสรู้พระจตุราริยสัจจ์นั้นด้วยญาณอันเดียว แลสัจจะทั้ง ๔ นั้นก็ได้ชื่อว่าเอกปฏิเวธด้วยประการดังนี้

   มีคำโจทนาดังนี้เล่านี้ อรรถทั้งหลายมีอรรถว่าโรค แลอรรถว่าเป็นปม เป็นอาทิแห่งสัจจะทั้งหลาย ๔ มีทุกข์เป็นอาทิก็ยังมีอยู่ เหตุดังฤๅพระอาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า แต่อรรถละสี ๆ นั้นว่าด้วยอรรถอันควรจะปรากฏด้วยลักษณะแห่งตน แลเล็งเห็นสัจจะอันอื่นมีสมุทัยเป็นต้น อธิบายว่าอรรถทั้งหลายใด อันควรจะปรากฏด้วยสภาวะแห่งตนก็ดี ด้วยสามารถแห่งสัจจะอันอื่นก็ดี แลอรรถทั้งหลายนั้นมีอาการละสี่ ๆ มีอาการเบียดเบียนเป็นอาทิต่าง ๆ กันสิริเป็นอาการ ๑๖ แท้

   คำที่ว่ามานี้ ยุติด้วยคำภายหลัง อันสัจจญาณนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาในพระบาลีสัจจวิภังค์นั้น ตรัสเทศนาด้วยสามารถแห่งญาณอันหระทำซึ่งสัจจะสิ่งละอัน ๆ เป็นอารมณ์ เป็นสัจจญาณ ๔ ประการมีญาณอันปรารภเอาทุกข์เป็นอารมณ์เป็นอาทิต่าง ๆ กัน ตรัสเทศนาด้วยอรรถ ก็ตรัสเทศนาโดยสามารถแห่งญาณปรารภสัจจอื่น ๆ เป็นอารมณ์แล้วก็ให้สำเร็จกิจในสัจจะทั้งหลายอันเศษ เป็นอันสำเร็จโดยนัยพระบาลี  “โย ภิกฺขเว ทุกฺขํ ปสฺสติ”  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ใดเห็นซึ่งทุกขสัจจ์ บุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเห็นสมุทัยสัจจ์ ได้ชื่อว่าเห็นซึ่งนิโรธสัจจ์

   ล้ำอรรถทั้ง ๒ คือสภาวะแห่งตน เล็งแลเห็นซึ่งสัจจะอันอื่นนั้นกาลใดพระอริยสัจจญาณกระทำซึ่งสัจจะละอัน ๆ เป็นอารมณ์นั้นขณะเมื่อเอาทุกข์เป็นอารมณ์นั้น  “ปีฬนตฺโถ”  อันว่าอรรถว่าเบียดเบียนก็ปรากฏตามสภาวะลักษณะแห่งตน คือทุกขสัจจ์  “สงฺขตตฺโถ”  แลทุกขสัจจ์ มีอรรถว่าปัจจัยประชุมแต่งเป็นอรรถคำรบ ๒ ก็ปรากฏด้วยเล็งเห็นสมุทัยสัจจ์

   อธิบายว่ากองทุกข์คือเบญจขันธ์ อันกอปรด้วยชาติทุกข์เป็นอาทินี้จะไม่มีผู้เป็นพนักงานตกแต่งแลจะบังเกิดเองหาบ่มิได้ จำจะมีผู้ตกแต่งจึงจะบังเกิดได้ ผู้ตกแต่งนั้นก็ใช่อื่นใช่ไกล คือตัวตัณหาสมุทัยเป็นพนักงานได้ตกแต่ง ให้เกิดทุกขราสิในภพกำเนิดแลคติฐิติสตตวาส จึงได้เสวยชาติชราพยาธิมรณะทุกข์ แลอบายทุกข์ ทั้งนี้ก็เพราะตัณหาสมุทัยเป็นปัจจัยตกแต่ง

   เมื่อสัจจญาณเล็งเห็นตัวสมุทัย ผู้เป็นพนักงานตกแต่งมีอยู่ฉะนี้แล้วอันว่าทุกขสัจจ์มีอรรถว่ามีปัจจัยประชุมแต่งก็ปรากฏแจ้งเพราะสำแดงเหตุคือสมุทัย ด้วยประการดังนี้

   “สนฺตาปตฺโถ”  แลทุกขสัจจ์มีอรรถคือสภาวะร้อนเป็นคำรบ ๓ ก็ปรากฏเพราะเล็งเห็นมรรคสัจจ์ ๆ นั้นกอปรด้วยคุณอันเย็นระงับเสียซึ่งความร้อนคือราคาทิกิเลส เหตุใดเหตุดังนั้น อันว่าทุกขสัจจ์มีอรรถว่าร้อนก็ปรากฏ เพราะเล็งเห็นมรรคสัจจ์ เปรียบอาการดุจหนึ่งนางรูปนันทชนปทกัลยาณี กลับมีรูปอันต่ำช้าปรากฏแก่พระอานนท์ อันได้ทัศนาการซึ่งสิริแห่งนางเทพกัญญา

   อนึ่ง ทุกขสัจจ์มีอารรถ คือสภาวะเป็นวิปริณามแปรปรวนบ่มิเที่ยงแท้ เป็นอรรถคำรบ ๔ นั้นปรากฏ เพราะเล็งเห็นพระนิโรธสัจจ์นั้น ๆ บ่มิได้เป็นวิปริณามธรรมโดยเที่ยงแท้ มิได้แปรปรวนไปด้วยความเกิดความแก่ความตาย ฝ่ายทุกขสัจจ์อันมีลักษณะเป็นปริณามนั้นก็ปรากฏแก่สัจจญาณเพราะเล็งเห็นนิโรธเที่ยงอยู่นั้น

   ทุกขสัจจ์มีอรรถ ๔  “ปีฬนตฺโถ”  อรรถเป็นปฐม คือสภาวะเบียดเบียนปรากฏด้วยสภาวะแห่งตน ยังอรรถ ๓ คืออรรถว่าปัจจัยประชุมแต่ง อรรถว่าร้อน อรรถว่าแปรปรวนนั้น ก็ปรากฏด้วยเล็งเห็นสัจจะอันอื่น คือสมุทัยยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ มรรคสัจจ์ด้วยประการดังนี้

   เมื่อสัจจญาณกระทำซึ่งสมุทัยสัจจะเป็นอารมณ์ในกาลใด

   “อายุหนตฺโถ”  อันว่าอรรถว่าประมวลซึ่งทุกข์ ก็ปรากฏโดยสภาวะลักษณะแห่งตนคือสมุทัย มิได้เล็งเห็นสัจจะอันอื่นในกาลนั้น

   “นิทานตฺโถ”  อันว่าสภาวะเป็นนิทาน คือสำแดงผลเป็นอรรถคำรบ ๒ แห่งสมุทัย ก็ปรากฏด้วยเล็งเอาซึ่งทุกข์อันเป็นผลแห่งตนเปรียบดุจหนึ่งโภชนาหารของผิดสำแดง ก็ปรากฏว่าเป็นโรคนิทานเพราะเห็นพยาธิอันบังเกิดแต่อสัปปายโภชนะนั้น

   “สํโยคตฺโถ”  อันว่าสภวะประกอบสัตว์ไว้ด้วยสังขารทุกข์เป็นอรรถคำรบ ๓ แห่งสมุทัยสัจจ์ ก็ปรากฏด้วยเล็งเห็นนิโรธอันเป็นเหตุพรากออกจากสังขารทุกข์นั้น

   “ปลิโพธตฺโถ”  อันว่าสภาวะเป็นปลิโพธิ คือกั้นกำเสียซึ่งอริยมรรค แลได้ขัดข้องอยู่ในเรือนจำ คือวัฏฏทุกข์เป็นคำรบ ๔ แห่งสมุทัยสัจจ์ ปรากฏด้วยเล็งเห็นซึ่งมรรคสัจจ์ อันบังเกิดเป็นปฏิบัติตัดปลิโพธออกจากวัฏฏสงสาร

   สมุทัยสัจจ์มีอรรค ๔ ประการด้วยสภาวะแห่งตน แลปรากฏด้วยเล็งเห็นสัจจะอันอื่น ด้วยประการดังนี้

   อนึ่งสัจจญาณกระทำซึ่งนิโรธสัจจ์สิ่งเดียว เป็นอารมณ์ในกาลใด

   “นิสฺสรณตฺโถ”  อันว่าสภาวะออกจากอุปธิทั้งปวง เป็นอรรถแห่งนิโรธก็ปรากฏด้วยสภาวะแห่งตน มิได้เล็งเห็นซึ่งสัจจะอันอื่นในกาลนั้น

   “วิเวกตฺโถ”  อันว่าสภาวะสงัดจากอุปธิวิเวก ก็เป็นอรรคคำรบ ๒ แห่งนิโรธ ก็ปรากฏด้วยเล็งเห็นสมุทัยสัจจ์ อันมิได้สงัดจากหมู่กิเลสทั้งหลาย

   “อสงฺขตตฺโถ”  อันว่าสภาวะอันปัจจัยมิได้ประชุมแต่งเป็นอรรถคำรบ ๓ แห่งนิโรธ ก็ปรากฏด้วยเล็งเห็นมรรคสัจจ์

   อธิบายว่ามรรคสัจจ์นั้น แม้พระโยคาพจรเจ้ามิเคยพบเห็นเลยมาแต่ก่อน ในสังสารวัฏอันมีที่สุดเบื้องต้นมิได้ปรากฏ พึงมาปรากฏในกาลบัดนี้ ก็เห็นเป็นมหัศจารรย์อยู่แล้ว แต่ทว่าเป็นสังขตะธรรมแท้ เหตุประกอบด้วยปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นอาทิ ตกแต่งอยู่ปราศจากปัจจัยอย่างนิโรธสัจจ์อย่างนิโรธสัจจ์นี้หามิได้ อันนิโรธสัจจ์สิ่งเดียวนี้แลปราศจากปัจจัย เหตุดังนั้นอันสภาวะชื่อ อสังขตะเป็นอรรถแห่งนิโรธสัจจ์ อันหาปัจจัยมิได้ก็ปรากฏยิ่งนัก เพราะเหตุเล็งเห็นมรรคสัจจ์ด้วยประการดังนี้

   อนึ่งโสด  “อมตตฺโถ”  อันว่าสภาวะเป็นอมฤตยรสเป็นอรรถคำรบ ๔ แห่งนิโรธก็ปรากฏด้วยเล็งเห็นทุกขสัจจ์

   อธิบายว่า ทุกขสัจจ์นั้น ได้ชื่อว่าพิษ เหตุเบียดเบียนสัตว์ให้ลำบากหาที่สุดมิได้ ฝ่ายพระนิพพานเป็นอมฤตยะโอสถอันประเสริฐบังเกิดเป็นยาดับพิษคือทุกข์ อาศัยเหตุเล็งเอาทุกข์สัจจ์ดังนี้ นิโรธสัจจ์จึงมีอรรถปรากฏว่าเป็นอมฤตยรสเป็นคำรบ ๔

   อนึ่งเมื่อสัจจญาณกระทำซึ่งมรรคสัจจ์สิ่งเดียว เป็นอารมณ์ในกาลใด

   “นิยฺยาวตฺโถ”  อันว่าอรรถอันเป็นปฐม คือสภาวะออกจากวัฏฏสงสารเป็นอรรถแห่งมรรคสัจจ์ ก็ปรากฏด้วยสภาวะแห่งตนมิได้เล็งเห็นสัจจะอันอื่น

   “เหตวตฺโถ”  อันว่าสภาวะเป็นเหตุ เป็นอรรถคำรบ ๒ แห่งมรรคสัจจ์ ก็ปรากฏด้วยสิ่งเห็นซึ่งสมุทัยสัจจ์ คือเข้าใจเป็นแท้ว่าตัณหาสมุทัยนั้นบ่มิได้เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ฝ่ายมรรคสัจจ์นี้เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพานแท้จริง

   อรรถเป็นคำรบ ๓ นั้น  “ทสฺสนตฺโถ”  คือกิริยาอันเป็นอรรถแห่งมรรคสัจจ์ ก็ปรากฏด้วยเห็นนิโรจจ์ อันเป็นอันจันตะบรมสุขุมคัมภีรอารมณ์ยิ่งนัก เปรียบอาการดุจหนึ่งบุรุษมีจักษุอันผ่องใสเมื่อเล็งเห็นรูปารมณ์อันละเอียดแล้ว ก็เข้าใจว่าจักษุของอาตมานี้ผ่องใสบริสุทธิ์จากมลทิน

   “อธิปเตยฺยตฺโถ”  อันว่าสภาวะเป็นอธิบดีศร อันเป็นอรรถคำรบ ๔ แห่งมรรคสัจจ์นั้น ปรากฏด้วยเล็งเห็นซึ่งทุกขสัจจ์ อันกอปรด้วยเอนกโทษแผ่ไฟศาล ปานประหนึ่งบุคคลได้ทัศนาการซึ่งชนกำพร้าอันอาดูรเดือดร้อนอยู่ด้วยอเนกโรคาหาที่พำนักมิได้ อิสรภาพอันหาโรคาพยาธิมิได้นั้นก็ปรากฏด้วยโอฬาริกายิ่งนัก

   “เอวเมตฺถ สลกฺขณวเสน”  ล้ำอรรถทั้งหลายนั้น อันว่าอรรถละสี่ ๆ แห่งอริยสัจจ์ละอัน ๆ องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าตรัสเทศนาโดยสภาวะปรากฏแห่งอรรถอันหนึ่ง ด้วยสามารถลักษณะแห่งตนแลปรากฏแห่งอรรถละสาม ๆ อันเศษ ด้วยเล็งเห็นซึ่งอริยสัจจ์อันอื่นด้วยประการฉะนี้

   แลอรรถทั้งปวงนั้นก็ถึงซึ่งสภาวะอันพระโยคาพจร ตรัสรู้ซึ่งอริยสัจจ์อันอื่น ด้วยประการฉะนี้

   แลอรรถทั้งปวงนั้นก็ถึงซึ่งสภาวะอันพระโยคาพจร ตรัสรู้ด้วยสัจจญาณอันเดียว ในขณะเมื่อโลกุตตรมรรคญาณบังเกิดนั้น

   “อิมานิ ยานิ ตานิ ปริญฺญาทีนิ จตฺตาริ กิจฺจานิ อตฺตานิ”

   บัดนี้จะถวายวิสัชนาการจำแนกในกิจ ๔ ประการ คือปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจ ภาวนากิจ ล้ำกิจ ๔ ประการนั้น  “ติวิธา หิโต ปริญฺญา”  ปริญญากิจสิ่งหนึ่ง มีประเภท ๓ ปหานก็มีประเภท ๓ สัจฉิกิยามีกิจประเภท ๓ ภาวนากิจก็มีประเภท ๓   “วินิจฺฉโย ญาตพฺโพ”  นักปราชญ์พึงรู้วินิจฉัยในกิจ ๔ ประการดังนี้

   “ติวิธา”  ปริญญากิจมีประเภท ๓ นั้น คือญาตปริญญา ๑ ตีรณปริญญา ๑ ปหานปริญญา ๑ ปริญญาทั้ง ๓ นี้ ก็มีนับดังกล่าวมาแล้วในมัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธินิเทศ ในหนหลังแล้ว ในที่นี้จักวิสัชนาแต่ใจความสังเขป ตามวาระพระบาลีว่า  “สพฺเพ ภิกขเว อภิญฺเญยฺ ยํ”  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญาแห่งพระโยคาพจรกำหนดนามและรูปกับทั้งปัจจัยแล้ว แลรู้ด้วยลักษณะรสปัจจุปัฏฐานปทัฏฐาน นี้แลเป็นภูมิเป็นแผนกญาตปริญญา

   ปัญญาแห่งโยคาพจร อันพิจารณานามรูปด้วยพระไตรลักษณ์จับเดิมแต่สัมมัสสนญาณ พิจารณากองกลาปตราบเท่าถึงอนุโลมญาณนี้แลเป็นภูมิเป็นแผนกแห่งตีรณปริญญา

   ปัญญาแห่งโยคาพจร อันประพฤติเป็นไปด้วยนัยเป็นต้น คืออนิจจานุปัสสนา  “นิจฺจสญฺญํ ปชหติ”  มละเสียซึ่งสำคัญว่าเที่ยงในไตรภพสังขาร ด้วยอนิจจานุปัสสนาเป็นอาทิดังนี้ชื่อว่า ปหานปริญญา

   ปหานปริญญานี้ มีญาณอันประพฤติเป็นไป จับเดิมแต่ภังคานุปัสสนาตราบเท่าถึงพระอริยมรรคญาณ เป็นภูมิที่ดำเนินโดยแผนก

   “อยํ อิธ อธิปฺเปโต”  ปหานปริญญานี้เป็นที่ต้องประสงค์ในที่นี้เพราะเหตุว่า วิสัชนามาด้วยการอันตรัสรู้ซึ่งจตุราริยสัจจ์ ญาตปริญญาแลตีรณปริญญาทั้ง ๒ นี้ ยกขึ้นว่าด้วยแต่พอจะให้รู้จักประเภทแห่งปริญญาจะเป็นที่ต้องประสงค์ในที่นี้หามิได้

   “อปิจ”  นัยหนึ่งถ้าจะว่าญาตปริญญาแลตีรณปริญญาทั้งสองต้องประสงค์ด้วยก็ว่าได้ ด้วยปริญญาทั้ง ๒ นี้ ต้องอยู่ในที่จะให้สำเร็จประโยชน์คือพระอริยมรรคประการ ๑ ขณะเมื่อพระอริยมรรคญาณบังเกิด ยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์  “ปหานํปิ”  มละเสียซึ่งธรรมหมู่ใด ธรรมหมู่นั้นก็ได้ชื่อว่าญาตะชื่อว่าตีรณะ ว่าอันพระอริยมรรคญาณหากรู้หากพิจารณาโดยนิยมเที่ยงแท้ เหตุใดเหตุดังนั้นนักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าปริญญาทั้ง ๓ นี้ เป็นกิจแห่งพระอริยมรรคญาณโดยปริยายนามดังนี้ สิ้นความในปริญญากิจโดยสังเขปแต่เท่านี้

   “ตถา ปหานํปิ”  ฝ่ายปหานกิจนั้นก็มีประเภท ๓ ประการ เหมือนปริญญาคือเป็นวิกขัมภนปหาน ๑ ตทังปหาน ๑ สมุจเฉทปหาน ๑ ล้ำปหานทั้ง ๓ ประการนั้น จะยกวิสัชนาแต่วิกขัมภนปหานนั้นก่อน

   “ยํ ปหานํ”  อันว่าปหานอันใด คือกิริยาอันพระโยคาพจรเจ้าข่มเสียซึ่งนิวรณธรรม แลปัจจนิกธรรมทั้งหลายมิได้เกิดกำเริบอันทำครอบงำสันดานได้สิ้นกาลช้านานด้วยโลกิยสมาธินั้น ๆ “วิกฺขมุภนํ วิย”  ดุจหนึ่งบุคคลข่มเสียซึ่งเสวาลชาติ คือจอกแหน่สาหร่ายด้วยกระออมอันวางลงเหนือหลั่งน้ำอันกอปรด้วยเสวาลชาติ อนึ่งเป็นคำรบโบราณคติพระโบราณาจารย์กล่าวไว้ เหมือนด้วยศิลาทับหญ้า  “โลกิยสมาธินา”  กิริยาที่ข่มนิวรณธรรมด้วยโลกิยสมาธิดังนี้ว่าวิกขัมภนปหาน

   “ปาลิยํ ปน”  ฝ่ายพระบาลีนั้นว่า องค์สมเด็จพระสรรเพชญ์ตรัสพระสัทธรรมเทศนา เฉพาะแต่ข่มขี่นิวรณธรรมแท้ เป็นวิกขัมภนปหานพระบาลีอันนี้ นักปราชญ์พึงเข้าใจว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาเฉพาะว่าแต่ทีปรากฏ เหตุว่าเมื่อพระโยคาพจรออกจากญานแล้ว ก็ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้อื่น เข้าใจว่าท่านผู้มีจิตมิได้พยายาม แลปราศจากถีนมิทธะ

   แท้จริงอันว่านิวรณธรรมทั้งหลาย มีกามฉันท์เป็นอาทินั้นแต่ในบุรพภาคปฏิบัติ เมื่อยังมิได้อัปปนาฌานก็ดี ก็มิได้ครอบงำจิตสันดานอันเป็นอันเร็วพลัน แม้ออกจากอัปปนาญานแล้ว ก็มิได้ครอบงำจิตสันดานเป็นอันเร็วพลัน กิริยาที่ข่มขี่ริวรณธรรมนั้น จึงปรากฏดังกล่าวแล้ว

   ฝ่ายปัจจนิกธรรมทั้งหลายอื่น ๆ มีวิตกเป็นอาทิ อันเป็นจะพึงข่มเสียด้วยทุติฌานเป็นอาทินั้น จะไม่ครอบงำจิตสันดานก็เพราะแต่ในอัปปนามึทุติยญานเป็นอาทิ ครั้นออกจากญานแล้ววิตกวิจารก็ครอบงำจิตสันดานได้เป็นอันเร็วพลัน เหตุดังนั้นกิจที่ข่มขี่ปัจจนิกธรรมมีวิตกเป็นอาทินั้นได้ชื่อว่าปรากฏแก่ผู้อื่น เหตุดังนั้น กิริยาที่ข่มนิวรณธรรมมีกรรมฉันท์เป็นอาทินั้นได้ชื่อว่าปรากฏแจ้ง อาศัยเหตุฉะนี้สมเด็จสรรเพชญ์พุทธเจ้า จึงตรัสเทศนาเฉพาะแต่ข่มนิวรณ์สิ่งเดียวเป็นวิกขัมภนปหาน

   ในพระบาลีนั้นว่า  “ยํ ปหานํ”  อันว่าปหานอันใดคือกิริยาอันมละเสีย ขจัดเสียซึ่งธรรมอันควรจะพึงมละเสียนั้น ๆ ด้วยองค์คือญาณอันบังเกิดเป็นอวัยวะแห่งวิปัสสนานั้น ๆ ดุจหนึ่งกิริยาดวงประทีป อันบุคคลตามไว้ในราตรีภาค ขจัดเสียซึ่งมืด ปหานดังนี้ชื่อว่า ตทังคปหานจัดโดยประเภทได้ ๑๓

   คือกิริยาอันโยคาพจรมละเสีย ซึ่งสักกายทิฏฐิด้วยกำหนดซึ่งนามแลรูป ๑

   คือมละเสียซึ่งอเหตุกทิฏฐิ แลวิสมเหตุกทิฏฐิ แลมลทินคือกังขาด้วยกำหนดซึ่งปัจจัยแห่งนามแลรูป ๑

   คือมละเสียซึ่งลัทธิ อันถือผิดถือเอาซึ่งประชุมแห่งนามแลรูปว่าตนว่าของตนด้วยพิจารณากลาป ๑

   คือมละเสียซึ่งทางอันผิด สำคัญว่าทางในธรรมอันใช่ทางด้วยมัคคา มัคคววัตถานญาณ ๑

   คือมละเสียซึ่งอุจเฉททิฏฐิ ด้วยอุทยทัสสนะ คือญาณอันรู้ซึ่งลักษณะเกิดแห่งนามแลรูป ๑

   คือมละเสียซึ่งสัสสตทิฏฐิด้วยญาณอันเห็นซึ่งลักษณะแห่งนามแลรูป ๑

   คือมละเสียซึ่งสำคัญ คือสภาวะหามิได้ ในนามรูปอันกอปรด้วยภยตูปัฏฐานญาณ ๑

   คือมละเสียซึ่งสำคัญผิด อันประพฤติเป็นไปด้วยสามารถยินดีในเบญจขันธ์ ด้วยทีนวญาณ ๑

   คือมละเสียซึ่งสัญญาอันกำหนดยิ่งนัก ด้วยนิพพิทาญาณ ๑

   คือมละเสียซึ่งสภาวะมิได้เปลื้องปล่อยตน ให้พ้นจากนามแลรูปด้วยมุญจิตุกามยตญาณ ๑

   คือมละเสียซึ่งโมหะอันเป็นปฏิปักษ์แก่ปฏิสังขาญาณ คือปัญญาอันตกแต่งอุบายอันจะมละเสียซึ่งสังขาร ๑

   คือมละเสียซึ่งมิได้มัธยัสถ์ในสังขารด้วยอุเบกขาญาณ ๑

   คือมละเสียซึ่งอันผิดจากคลองอริยสัจจ์ คือถือเอาว่าเที่ยงเป็นอาทิในสังขาร ด้วยอนุโลมญาณ ๑ เป็น ๑๓ ด้วยกัน ชื่อตทังคปหาน

   พระพุทธโฆษาจารย์แสดงตทังคปหาน โดยอนุโลมลำดับแห่งสุวิสุทธิดังนี้แล้ว บัดนี้ปรารถนาเพื่อจะสำแดงตทังคปหานนั้น ด้วยสามารถแห่งอัฏฐารสมหาวิปัสสนา จึงกล่าววาระพระบาลีเป็นอาทิคือ  “ยํ วา ปน”  แปลว่าตามวาระพระบาลีว่า  “ยํ ปหานํ”  อันว่าปหานอันใดประพฤติเป็นไปในมหาวิปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งสุขสัญญา สำคัญว่าเป็นสุขด้วยทุกขานุปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งสำคัญว่าตน ด้วยอนัตตานุปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งตัณหาอันประกอบด้วยปิติด้วยนิพพานุปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งราคะ ด้วยวิราคานุปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งสมุทัย ด้วยนิโรธานุปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งถือมั่นด้วยตัณหาทิฏฐิในปัญจขันธ์ ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา ๑

   คือมละเสียซึ่งสำคัญว่าเป็นแท่งหนึ่งแท่งเดียว ด้วยสามารถแห่งสันตติเนื่องบ่มิได้ขาด แลประชุมไปด้วยกองนามแลรูปแลกิจจารย์ด้วยขยานุปัสสนาคือปัญญาอันวิจาร์พรากสังขารออกจากแท่งแล้วก็เล็งเห็นว่าอนิจจัง  “ขยตฺ เถน”  ด้วยสภาวะสิ้นไป ๑

   คือมละเสียซึ่งอายุหนะ คือกิริยาอันเพียรพยายามให้เกิดอภิสังขารมีบุญญาภิสังเป็นอาทิ ด้วยขยานุปัสสนา คือสภาวะเล็งเห็น ซึ่งทำลายสังขาร โดยปัจจักขสิทธิ์ แลอนุมานสิทธิ์ แลน้อมจิตไปในนิโรธคือสังขารภังค์นั้น ๑

   คือมละเสียซึ่งธุวสัญญา สำคัญว่าถาวรมั่นคงในสงสาร ด้วยวิปริณามานุปัสสนา คือปัญญาอันเล็งซึ่งสังขารมีรูปสัตว์เป็นอาทิอันล่วงเสียซึ่งปริจเฉทนั้น ๆ มีปฏิสนธิแลจุติเป็นต้น แล้วแลประพฤติแปรเป็นอื่นแลแปรไปด้วยอาการ ๒ คือชราแลมรณะแห่งสังขารอันบังเกิด ๑

   คือมละเสียซึ่งอนิจจานิมิต คือกำหนดว่าเที่ยงด้วยอนิจจานิมิตตานุปัสสนา คือปัญญาอันพิจารณาเห็นว่าเป็นอนิจจัง ๑

   คือมละเสียซึ่งปณิธิ คือความปรารถนา ซึ่งสุขในสังขารด้วยอัปปณิหิตานุปัสสนา คือปัญญาอันพิจารณาเห็นแต่ทุกข์ฝ่ายเดียว

   คือมละเสียซึ่งอภินิเวส ถือเอามั่นว่า  “อตฺถิ อตฺตา”  ตัวตนนี้มีด้วยสุญญตานุปัสสนา คือปัญญาพิจารณาเห็นว่าสูญเปล่าจากตน ๑

   คือมละเสียซึ่งถือมั่นว่า เป็นแก่นสารในสังขารธรรมอันหาแก่นมิได้ ด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ได้แก่ปัญญาอันรู้ซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นอาทิ แล้วแลเห็นซึ่งทำทั้งหลายแห่งอารมณ์นั้น แลทำลายแห่งจิตมีรูปเป็นอาทินั้น เห็นอารมณ์แล้วก็ถือเอาสภาวะสูญเปล่าด้วยสามารถแห่งทำลายด้วยมนสิการว่าสังขารธรรมแท้จริง มีแต่จะทำลายไปฝ่ายเดียวมรณธรรมนั้นเล่า ก็มีแต่สังขารธรรมเป็นแท้จะมีสัตว์มีบุคคลผู้อื่นจากสังขารทำลายหามิได้ ๑

   คือมละเสียซึ่งสัมโมหาภินิเวส อันประพฤติเป็นไปด้วยสามารถแห่งกงขาเป็นอาทิว่า ดังอาตมาะรำพึง ตัวอาตมะนี้ มีแลหรือในอดีตกาลแลเป็นไปด้วยถือผิด เป็นต้นว่าสัตว์โลกบังเกิดแต่พระอิศวรนารายณ์ตกแต่งด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ คือกำหนดซึ่งนามแลรูปกับทั้งปัจจัย ๑

   คือมละเสียซึ่งอาลยาภินิเวส คือถือมั่นผูกอาลัยในสังขาร เหตุมนสิการกำหนดว่าสังขารอันใดน้อยหนึ่ง ที่ควรจะเป็นที่แอบอิงอาศัยนั้นมิได้ปรากฏด้วยอาทีนวานุปัสสนา คือปัญญาอันบังเกิดด้วยสามารถแห่งภยตูปัฏฐานญาณเห็นซึ่งโทษในภพทั้งปวงเป็นอาทิ ๑

   คือมละเสียซึ่งโมหะอันเป็นปฏิปักษ์แก่สังขาญาณ ด้วยปฏิสังขานุปัสสนาคือปัญญาอันตนแต่งอุบาย จะเปลื้องตนให้พ้นจากสังขาร ๑

   คือมละเสียซึ่งโยคาภินิเวสคือ ประพฤติเป็นไปแห่งกามสังคโยคาทิกิเลส ด้วยวิวัฏฏานุปัสสนา สังขารุเบกขาญาณแลอนุโลมญาณ ๑

   อันว่าปหานอันสำแดงมาในมหาวิปัสสนาทั้ง ๑๘ ประการก็ชื่อว่าตทังคปหาน นักปราชญ์พึงรู้โดยพิสดาร ด้วยประการดังนี้

   สมุจเฉทปหานนั้น เมื่อพระโยคาพจรเจ้า มละเสียซึ่งธรรมทั้งหลาย มีอนุสัยสังโยชญ์เป็นอาทิ พระอริยมรรคญาณ สัฃขารเสียมิได้ประพฤติเป็นไปในสันดาน มีอาการดุจหนึ่งอสุนีจักรอันตกต้องต้นไม้ ๆ นั้นก็ถึงแก่พินาศ มิอาจเพื่อจะเจริญสืบรุกขสันดานต่อไปได้ ล้ำปหาน ๓ ประการ ดังพรรณนามาแล้วนั้น ยกเอาแต่สมุจเฉทปหานสิ่งเดียว เป็นที่ต้องประสงค์ในที่นี้ ถ้าจะว่าฝ่ายหนึ่งเล่าแม้ว่าปหานทั้ง ๓ คือวิกขัมภนปหาน และตทังคปหานก็ดีเมื่อประพฤติเป็นไปในบุพรภาคปฏิบัติแห่งพระโยคาพจรนั้นก็เป็นอุปการะเพื่อจะให้สำเร็จประโยชญ์ คือสมุจเฉทปหานแท้จะแปรเป็นอื่นหาบ่มิได้ เหตุดังนั้นนักปราชญ์พึงสันนิษฐานเถิดว่าปหานทั้ง ๓ ประการนั้น เป็นกิจแห่งพระอริยมรรคญาณทั้งสิ้น ด้วยปริยายนามดังนี้ เปรียบอาการดุจหนึ่งบรมกษัตราธิราชอันพิฆาตฆ่าซึ่งพระยาอันเป็นปัจจามิตรเสียแล้วแลได้ปราบดาภิเษก การทั้งปวงที่กระทำมาตราบเท่าถึงสำเร็จราชสมบัตินั้นแม้ว่าผู้อื่นจากบรมกษัตริย์กระทำก็ดี ชนทั้งปวงก็ย่อมกล่าวว่า บรมกษัตริย์สิ้นทั้งนั้น ฉันใดก็ดี นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ปหานทั้ง ๓ ประการ มีวิกขัมภนปหานเป็นอาทิ เป็นกิจแห่งพระอริยมรรคญาณดุจดังนั้น

สิ้นใจความในปหานกิจเท่านี้

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com