พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๗

   จักถวายวินิจฉัยในบท คือสัจกิริยาสืบต่อไป

  สักฉิกิริยา มีประเภท ๒ ประการคือ โลกิยสัจฉิกิริยา กระทำอารมณ์ให้แจ้งฝ่ายโลกิยะ ๑

  คือโลกุตตรสัจฉิกิริยา กระทำอารมณ์ให้แจ้งฝ่ายโลกุตตระ ๑

  ในโลกิยสัจฉิกิริยานั้น มีประเภท ๒ ประการ คือ ทัสสนะสัจฉิกิริยา ๑ ภาวนาสัจฉิกิริยา ๑

  พระโยคาพจรถูกต้องซึ่งฌานมีปฐมฌานเป็นอาทิด้วยฌานสัมผัสส์ คือรู้แจ้งว่าฌานนี้อาตมาะได้ ดังนี้ก็ได้ชื่อว่าโลกิยสัจฉิกิริยา

  ประการหนึ่งธรรมทั้งหลายใด แม้ว่าจะให้เกิดในสันดานแห่งตน ดุจหนึ่งว่าวิญญาณแลมรรคแลผลนั้นก็ดี แต่ทว่าบุคคลหารู้ด้วยญานแห่งตน มิได้ถือเอาแต่คำผู้อื่นด้วยสามารถกำจัดเสียซึ่งโมหะอันปกปิดไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายนั้น แลธรรมทั้งหลายนั้นก็ได้ชื่อว่าอันบุคคลกระทำให้แจ้งด้วยโลกิยสัจฉิกิริยา

  กิริยาอันพระโยคาพจรเห็นพระนิพพาน ในขณะแห่งพระโสดาปัตติมรรคบังเกิดชื่อว่า ทัสสนะสัจฉิกิริยา ทัสสนะนั้นเป็นชื่อแห่งพระโสดาปัตติมรรค เพราะเหตุเห็นพระนิพพานก่อนพระอริยมรรคเบื้องบน ๆ ฝ่ายโคตรภูญาณนั้น แม้ว่าเห็นพระนิพพานก่อนพระโสดาปัตติมรรคก็ดี ก็ได้ชื่อว่าทัสสนะ เพราะเหตุว่า เห็นแล้วแลมิได้สำเร็จอันพึงกระทำ คือกำจัดกิเลสอย่างพระอริยมรรคนั้น กิริยาอันพระโยคาพจรเห็นพระนิพพาน ในขณะแห่งพระอริยมรรคตรัยเบื้องบน มีพระสกทาคามิมรรคเป็นอาทิชื่อว่า ภาวนาสัจฉิกิริยา ภาวนานั้น เป็นชื่อแห่งพระอริยมรรคเบื้องบน เพราะหตุว่าจำเริญในอารมณ์คือพระนิพพาน อันพระโสดาปัตติมรรคเห็นแล้วนั้น

  ในที่นี้พระอาจารย์ประสงค์เอาแต่สัจฉิกิริยา ๒ ประการ คือทัสสนะสัจฉิกิริยา แลภาวนาสัจฉิกิริยา เหตุดังนั้น นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ภาวนากระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ด้วยสามารถแห่งทัสสนะภาวนาทั้ง ๒ นั้น เป็นกิจแห่งพระอริยมรรคญาณนี้สิ้นความในสัจฉิกิริยาเท่านั้น ฝ่ายภาวนากิจนั้นเล่า ที่พระอาจารย์เจ้าประสงค์กล่าวในที่นี้ก็มี ๒ ประการคือ โลกิยภาวนาประการ ๑ โลกุตตรภาวนาประการ ๑

  ล้ำภาวนา ๒ นั้น พระโยาคาพจรยังศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นฝ่ายโลกิยะให้บังเกิด แลอบรมสันดานด้วย ศีล สมาธิ ปัญญานั้นชื่อว่าโลกิยภาวนา

  พระโยคาพจรยังศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นฝ่ายโลกุตตระให้บังเกิด แลอบรมสันดานด้วยโลกุตตรศีลเป็นอาทินั้น ชื่อว่าโลกุตตรภาวนา

  ในที่นี้พระอาจารย์ประสงค์เอาแต่โลกุตตรภาวนา คำที่ว่ามานี้ยุติด้วยคำภายหลัง เมื่อพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ ยังศีล สมาธิปัญญาอันโลกุตตระให้บังเกิดแล้ว ก็อบรมสันดานแห่งพระอริยบุคคล ด้วยโลกุตตรศีลเป็นต้นนั้น ด้วยภาวนาเป็นสหชาตาทิปัจจัย เหตุใดเหตุดังนั้น อันว่าโลกุตตรภาวนานี้แลได้ชื่อว่า เป็นนิจแห่งพระอริยมรรคญาณ

  วินิจฉัยในกิจ ๔ มีปริญญากิจเป็นต้น สิ้นความโดยสังเขปเท่านี้

   อันว่าปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๒ ชื่อว่า ญาณทัสสนะวิสุทธิเทศในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค อันพระพุทธโฆษาจารย์เจ้ารจนาไว้ เพื่อประโยชน์จะให้บังเกิดปราโมทย์ยินดีแห่งสัปปุริสชน ก็ยุติการจบบริบูรณ์เท่านี้

   “ปญฺญาภาวนาย โก อานิสํโส”  พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจึงวิสัชชนาในปัญหากรรม คือคำปุจฉาถามว่า ธรรมดังฤๅเป็นอนิสงส์แห่งปัญญาภาวนา

   ในที่นี้ยากที่จะสำแดงโดยพิสดารให้เสร็จสิ้นได้ จะสำแดงแต่ใจความโดยสังเขป

   “นานากิเลสวิทฺธํสนํ”  กิริยาที่พระโยคาพจรกำจัดเสียซึ่งกิเลสต่าง ๆ มีสักกายทิฏฐิเป็นอาทิ ด้วยวิกขัมภนปหาน แลตทังคปหานจำเดิมแต่กำหนดซึ่งนามแลรูป อันนี้นักปราชญ์พึงรู้ว่าเป็นอานิสงส์แห่งโลกิยปัญญาภาวนา

   “อริยมคฺคกฺขเณ”  พระโยคาพจรกำจัดเสียซึ่งกิเลสต่าง ๆ มีสังโยชน์เป็นอาทิ ในขณะบังเกิดแห่งพระอริยมรรคทั้ง ๔ อันนี้แลเป็นอานิสงส์แห่งโลกุตตรปัญญาภาวนา

   “น เกวลญฺจ”  ใช่จะประสงส์เอาแต่ภาวะกำจัดกิเลส เป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนาแต่เท่านั้นหาบ่มิได้

   “อริยผลรสานุภาวนํปิ”  แม้ว่ากิริยาอันพระอริยบุคคลได้เสวยรสแห่งพระอริยสามัญญผลทั้ง ๔ มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนา

   “ทฺวิหากาเรหิ รสานุภาวนํ”  แลกิริยาอันเสวยรส แห่งอริยผลนั้นมี ๔ ประการ คือ เสวยรสแห่งอริยผล ประพฤติเป็นไปในมัคควิถีประการ ๑ คือเสวยรสแห่งอริยผล อันเป็นไปด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติประการ ๑ เป็นรสแห่งพระอริยผล ๒ ประการด้วยกัน

   มีกระทู้ความในปัญญา ๙ ประการ ท่านตั้งไว้เพื่อประโยชน์จะสำแดงให้แจ้งความ ซึ่งว่าพระอริยผลประพฤติเป็นไปในผลสมาบัติ

   ปฐมปัญหานั้นว่า ผลสมาบัตินั้นเป็นดังฤๅ ทุติยปัญหานั้นว่าบุคคลดังฤๅเข้าไปสู่ผลสมาบัติ ตติยปัญหานั้นว่า บุคคลดังฤๅมิได้เข้าสู่ผลสมาบัติ

   จตุตถปัญหานั้นว่า บุคคลเข้าสู่สมาบัตินั้น เพื่อประโยชน์ดังฤๅ

   ปัญจมปัญหานั้นว่า กิริยาอันเข้าซึ่งผลสมาบัตินั้นเป็นดังฤๅ

   ฉัฏฐมปัญหานั้นว่ากิริยาที่จะตั้งอยู่ในผลสมาบัตินั้นด้วยอาการดังฤๅ

   สัตตมปัญหานั้นว่า จะออกจากผลสมาบัตินั้นด้วยอาการดังฤๅ

   ฉัฏฐมปัญหานั้นว่า ธรรมดังฤๅเกิดในลำดับแห่งผล

   นวมปัญหานั้นว่า ผลนั้นเกิดในลำดับแห่งผลดังฤๅ

   ซึ่งถามในปฐมปัญหาว่า คือผลสมาบัตินั้นเป็นดังฤๅ วิสัชนาว่ากิริยาอันประพฤติเป็นไป แห่งพระอริยผลฌานด้วยแห่งอัปปนาคือ อันบังเกิดเป็นอารมณ์น้อมจิตเข้าสู่พระนิพพานนั้นแล ชื่อว่าผลสมาบัติ

   ในทุติยปัญหา กับตติยปัญหา ว่าบุคคลดังฤๅเข้าซึ่งผลสมาบัติแลบุคคลดังฤๅมิได้เข้าซึ่งผลสมาบัติ ท่านวิสัชนาเป็นปัจฉาสตินัยคือวิสัชนาข้างตติยปัญหาก่อน แล้วจึงย้อนวิสัชนา ทุติยปัญหาต่อภายหลัง ว่าปุถุชนทั้งปวงมิได้เข้าซึ่งผลสมาบัติเหตุดังฤๅ เหตุผลสมาบัตินั้น อันปุถุชนทั้งปวงยังมิได้ถึง พระอริยทั้งปวงเข้าสู่ผลสมาบัติ เหตุผลสมาบัตินั้นพระอริยบุคคลได้แล้ว

   ถ้าจะว่าโดยพิเศษเป็นแผนก พระอริยเข้าเบื้องบน ๆ มีพระสกทาคามีเป็นต้น ก็มิได้เข้าซึ่งผลสมาบัติเบื้องต่ำ ๆ มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น เหตุผผลสมาบัติเบื้องต่ำนั้น ระงับจากสันดานเพราะว่าถึงซึ่งภาวะเป็นบุคคลอันต่างไปแล้ว

   ฝ่ายพระอริยบุคคลเบื้องต่ำ ก็มิอาจเข้าสู่ผลสมาบัติเบื้องบนได้เหตุยังไปมิได้ถึง

   นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเป็นแท้ว่า พระอริยบุคคลทั้งปวงเฉพาะเข้าได้แต่ผลสมาบัติแห่งตน ๆ

   ในปัญหาคำรบ ๔ ที่ว่าบุคคลเข้าสู่สมาบัติเพื่อประโยชน์ดังฤๅนั้นวิสัชนาว่า บุคคลมีประโยนช์จะอยู่สบายในอัตตาภาพอันเห็นประจักษ์ในปัจจุบันนั้น จึงเข้าสู่ผลสมาบัติ

   มีสาธกอุปมาเปรียบคำว่า บรมกษัตริย์อันเสวยความสุขในสิริราชสมบัติ แลเทพยดาอันเสวยสุขในทิพยสมบัติ ฉันใดก็ดี ฝ่ายพระอริยสาวกทั้งหลาย ก็กำหนดซึ่งกาลเวลาด้วยมนสิการว่า อาตมาจะเสวยซึ่งโลกุตตรสุข แล้วก็เข้าสู่ผลสมาบัติ ในขณะอันปรารถนาก็มีอุปไมยดังนั้น

  

   แลตั้งอยู่ในสมาบัติด้วยอาการดังฤๅ แลออกจากสมาบัติด้วยอาการดังฤๅนั้น วิสัชชนาโดยลำดับกิริยาที่พระอริยบุคคลเข้าสู่สมาบัตินั้นด้วยอาการ ๒ คือมิได้มนสิการซึ่งอารมณ์อันอื่นจากพระนิพพาน ๑ คือกระทำซึ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ไว้ในใจ ๑

   นักปราชญ์พึงรู้ลำดับแห่งกิริยา อันพระอริยบุคคลจะเข้าสู่ผลสมาบัติดังนี้

   พระอริยสาวกผู้มีประโยชญ์ ด้วยผลสมาบัตินั้นพึงเข้าสู่ที่รโหฐานเป็นที่ควรแก่การวิเวก แล้วมีจิตออกจากอารมณ์ต่าง ๆ แลเร้นอยู่ในพระกรรมฐาน พึงพิจารณาสังขารจำเดิมแต่อุทยัพพญาณเป็นอาทิตราบเท่าถึงอนุโลมญาณ อันว่าวิตสันดานแห่งพระอริยสาวก อันมีลำดับพระวิปัสสนาประพฤติเป็นไปดังนี้ ก็เข้าไปในอารมณ์คือพระนิโรธ ด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติ ในลำดับแห่งพระโคตรภูญาณอันเป็นสังขารเป็นอารมณ์

   อนึ่งพระเสขบุคคล มีพระโสดาบันเป็นอาทิ พิจารณาสังขารด้วยอุทยัพพยญาณเป็นต้นดังกล่าวมานี้ เมื่อพระอัปปนาจะบังเกิดก็เกิดเป็นจิตแท้จะบังเกิดมรรคจิตหาบ่มิได้ เพราะเหตุว่ามีอัชฌาสัยน้อยไปในผลสมาบัติเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารโดยแท้ จะเจริญพระวิปัสสนา เพื่อจะให้ถึงซึ่งพระอริยมรรคเบื้องบนนั้นยังบ่มิได้ก่อนอาศัยเหตุนี้ มรรคจิตจึงไม่บังเกิดแท้จริง บังเกิดแต่ผลที่อาตมาได้ไว้แต่ก่อนนั้น

   อนึ่งมีคำอาจารย์ พวกอภัยคีรีวาสีกล่าวไว้ฉะนี้ ว่าแต่พระเสขบุคคลคือพระโสดาบัน มีความดำริว่าอาตมาจะเข้าซึ่งผลสมาบัติปรารภเจริญพระวิปัสสนา ก็เป็นพระอนาคามีบุคคลไป

   พึงให้นักปราชญ์รู้แท้กล่าวแก้อาจารย์เหล่านั้นดังนี้ว่า ถ้าท่านจะถือเอาอธิบายดังนั้น ก็ยังไม่คงอยู่แต่เพียงนั้น แม้พระอนาคามีบุคคลเมื่อเจริญพระวิปัสสนา เพื่อจะเข้าสู่สมาบัติก็ผลัดตัวไปเป็นพระอรหันต์ ๆ ก็จะผันแปรไปเป็นพระปัจเจกโพธิ์ ๆ ก็จะไปเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็จะได้โดยลัทธิแห่งท่าน เหตุดังนั้นอันคำอาจารย์พวกนี้ บ่มิควรที่จะถือเป็นประมาณได้ คำพระอาจารย์ทั้งหลายก็ห้ามในพระบาลี เหตุดังนั้นคำอภัยคีรีอาจารย์นั้น นักปราชญ์อย่าพึงเอา พึงถือเอาคำมีผลจิตแท้จริงบังเกิดแก่พระเสขบุคคลอันเข้าสู่ผลสมาบัติ มรรคจิตจะบังเกิดบ่มิได้ คำนี้แลนักปราชญ์พึงถือเป็นประมาณได้

   ประการหนึ่งพระอริยสาวกเจ้าทั้งปวง เมื่อแรกได้พระอริยมรรคมีพระโสดาปัตติมรรคเป็นอาทิ แลพระอริยมรรคนั้น ยุติในปฐมฌานคือประกอบด้วยฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปิตี สุข เอกกัคคตาเหมือนด้วยปฐมฌาน พระอริยผลอันบังเกิดในผลสมาบัติวิถีนั้นก็ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ เหมือนด้วยองค์ปฐมฌาน ผิว่าพระอริยมรรคอันพระอริยสาวกได้นั้น เหมือนด้วยทุติยฌานเป็นต้นอันใดอันหนึ่ง คือมละองค์มีวิตกวิจารย์เป็นอาทิอันหนึ่งนั้น อันว่ากิริยาอันพระอริยบุคคลเข้าสู่ผลสมาบัติก็มีด้วยประการดังกล่าวมานี้

   สภาวะตั้งอยู่ในผลสมาบัตินั้น ก็ตั้งอยู่ด้วยอาการ ๓ คือมิได้มนสิการ ซึ่งนิมิตทั้งปวง

   อธิบายว่า มิได้เอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอารมณ์ ๑

   คือกำหนดกาลแต่ก่อนเข้าสู่ผลสมาบัตินั้นว่า อาตมาจะอยากจากสมาบัติในกาลมีชื่อโพ้น ๑

   เมื่อกาลมีกำหนดนั้นยังไปมิได้ตราบใด ก็ตั้งอยู่ในสมาบัตินั้นด้วยอาการ ๓ ดังกล่าวมานี้

   กิริยาที่จะออกผลสมาบัตินั้นเล่า ก็ออกด้วยอาการ ๒ คือกระทำมนสิการ ซึ่งสังขารธรรมทั้งปวง มีรูปนิมิตเป็นต้น เป็นอารมณ์ประการ ๑ แลข้อที่กระทำมนสิการ ซึ่งนิมิตทั้งปวง มีรูปนิมิตทั้งปวงเป็นอารมณ์นั้น จิตอันนั้นจะเอานิมิตทั้งปวงเป็นอารมณ์ได้ ในขณะเดียวขณะอันออกจากสมาบัตินั้นหามิได้โดยแท้ แต่ทว่าคำซึ่งมนสิการซึ่งนิมิตทั้งปวงนั้นว่า ด้วยสามารถสงเคราะห์เอาซึ่งอารมณ์ทั้งปวงหานิยมบ่มิได้ตามแต่จะปรากฏ เหตุดังนั้นถ้าจะเอาใจความ ก็คือนิมิตอันใดอันหนึ่งมีกรรมนิมิตเป็นอาทิที่เป็นอารมณ์แห่งภวังคจิต ติดพันมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนั้น เมื่อพระอริยสาวกมละอารมณ์ คือพระนิพพาน แลกระทำมนสิการซึ่งอารมณ์ มีกรรมนิมิตเป็นอาทิ กิริยาที่ออกจากผลสมาบัติก็มีด้วยภวังคจิตนั้น

  

   ผล ๆ บังเกิดในลำดับแห่งธรรมดังฤๅนั้น วิสัชชนาว่า ผลจิตแท้จริงเกิดในลำดับแห่งผลก็มีบ้าง บางทีภวังคจิตบังเกิดในลำดับแห่งผลก็มี อนึ่งผลนั้นที่บังเกิดในลำดับแห่งมรรคก็มี ผลบังเกิดในลำดับแห่งผลก็มี ผลบังเกิดแห่งโคตรภูก็มี ผลบังเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายนะก็มี ล้ำผลทั้งปวงอันบังเกิดในลำดับแห่งมรรคนั้น เฉพาะได้แต่มรรควิถี ๆ นั้น ผลจิตบังเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะ ผลที่บังเกิดเป็นปฐมนั้นชื่อว่าเกิดในลำดับแห่งผลอันบังเกิดภายหลัง ๆ นั้น ชื่อว่าเกิดในลำดับแห่งผลอันบังเกิดก่อน ๆ

   ในผลสมาบัติวิถีนั้นเล่า ผลที่บังเกิดแรกนั้นในลำดับแห่งโคตรภู ๆ ในที่นี้ได้แก่อนุโลมญาณ อันถือเอาสังขารเป็นอารมณ์สมด้วยวาระพระบาลีอันสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าตรัสพระสัทธรรมเทศนา ในพระคัมภีร์พระมหาปัฏฐานว่า

   “อรหโต อนุโลมํ ผลสมาปตฺติยา อนนฺตรปจฺจเยน ปจฺจโย เสกฺขานํ อนุโลมํ ผลสมาปตฺตยา อนนฺตรปจฺจเยน ปจฺจโย”

   แปลเนื้อความว่า อนุโลกจิตแห่งพระอรหันต์ เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติแห่งพระอรหันต์ อนุโลมจิตแห่งพระเสขบุคคลเป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติแห่งพระเสขบุคคล ดังนี้ปราชญ์พึงรู้เถิดว่า โคตรภูที่นำหน้าผลสมาบัตินี้ได้แก่อนุโลมจิตตามวาระพระบาลีในคัมภีร์พระมหาปัฏฐานนั้น

   เมื่อพระอริยสาวกเจ้า เข้าซึ่งนิโรธสมาบัตินั้น แลออกจากนิโรธ แลออกจากนิโรธสมาบัตินั้นด้วยผลจิตอันใด คือพระอนาคามิผลก็ดี พระอรหัตตผลก็ดีตามสมควรแก่บุคคล พระอนาคามิผล แลพระอรหัตตผลนั้นแล ได้ชื่อว่าเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะแม้ว่าล่วงไปถึง ๗ วันแล้วก็ดีก็ได้ชื่อว่าเกิดในลำดับ เพราะเหตุมิได้มีจิตอื่นบังเกิดขึ้นในระหว่าง ๗ นั้น ผลจิตทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วนั้น ยกเสียแต่ผลจิตอันเกิดในมรรควิถี เหลือนั้นได้ชื่อว่าอันเป็นไปด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติทั้งสิ้น   “เอวเมตํ มฺคฺคมิ ถิยํ”  อันว่าผลจิตนั้นประพฤติเป็นไปโดยอาการ ๒ ด้วยสามารถบังเกิดในมรรควิถีแลผลสมาบัติวิถี ด้วยประการดังนี้

   “นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา”  กิริยาที่เสวยรสแห่งอริยสามัญญผลที่จะเป็นปัญญาภาวนานิสงส์ สุดแต่เพียงนั้นหาบ่มิได้ แม้ว่าภาวนาสามารถเพื่อจะเข้าซึ่งนิโรธสมาบัติก็ดี นักปราชญ์พึงรู้ว่าจัดเป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนา

   จึงมีปัญหากรรม เพื่อจะสำแดงให้ปรากฏแห่งนิโรธสมาบัติในคำวังเขปนั้นว่า  “กา นิโรธสมาปตฺติ”  ธรรมดังฤๅ ชื่อว่านิโรธสมาบัติบุคคลดังฤๅเข้าถึงนิโรธสมาบัติมิได้ บุคคลเข้านิโรธสมาบัติได้นั้น เข้าได้ในภพดังฤๅ บุคคลเข้านิโรธสมาบัตินั้นเพื่อประโยชน์ดังฤๅ อนึ่งกิริยาที่เข้านิโรธนั้นด้วยอาการดังฤๅ เมื่อเข้าแล้วแลจะตั้งอยู่ในนิโรธนั้น ด้วยอาการดังฤๅ ออกจากนิโรธนั้น น้อมไปในธรรมดาดังฤๅ อนึ่งบุคคลรู้กระทำกาลกิริยา กับบุคคลผู้เข้าในนิโรธนั้น จะแปลกกันดังฤๅ อนึ่งนิโรธสมาบัตินั้นเป็นสังขตธรรมหรือ ๆ เป็นอสังจตธรรม อนึ่งจะว่าจะเป็นโลกิยธรรมหรือ ๆ จะว่าเป็นโลกุตตรธรรม จะว่าเป็นนิปผันธรรมหรือ ๆ จะว่าเป็นอนิปผันธรรม สิริเป็นปัญหากรรม ๑๐ ข้อ

   วิสัชนาในปฐมปัญหานั้นว่า กิริยาอันมิได้ประพฤติเป็นไปแห่งจิตแลจิตสิกทั้งหลาย ด้วยสามารถดับไปโดยอนุกรมนั้นแล ชื่อว่านิโรธสมาบัติ

   ในทุติยปัญหา แลตติยปัญหา คือถามว่าบุคคลดังฤๅ เข้านิโรธสมาบัติมิได้นั้น ท่านวิสัชนาตติยปัญหาก่อน เพราะเหตุเป็นครุฏฐาน แล้วจึงกลับวิชนาทุติยปัญหาต่อภายหลัง เพราะเป็นอครุฏฐาน อย่างบุคคลผู้รู้ทาง บอกมรรคาให้แก่ผู้อื่นว่า  “วามํ มุญฺจ ทกฺขิณํ คณฺห”  ว่าท่านจงมละเสียซึ่งทางซ้าย แล้วจึงถือเอาซึ่งทางขวา

   มีคำวิสัชนาว่าบุคคลที่เป็นปุถุชนทั้งปวงก็ดี พระโสดาบันบุคคลทั้งปวงก็ดี พระสกทาคามิบุคคลทั้งปวง แม้ว่ามีปกติได้ซึ่งอัฏฐสมาบัติก็ดี ก็บ่มิอาจเพื่อเข้านิโรธสมาบัติได้เหมือนกันกับบุคคลอันมิได้ซึ่งอัฏฐสมาบัติ เพราะว่ายังมิได้เป็นองค์ปริปุรณาจารีคือกระทำให้บริบูรณ์ในสมาธิอาศัยเหตุได้มละเสียซึ่งกามฉันท์เป็นอาทิ อันเป็นข้าศึกแก่สมาธินั้น ด้วยสมุจเฉทปหาน แลสภาวะที่จะกระทำให้บริบูรณ์ในสมาธินั้น อาศัยแก่มละกามฉันท์เป็นอาทิขาดด้วยแท้

   อนึ่ง พระอนาคามีบุคคลอันเป็นสุกขวิปัสสกะก็ดี พระอรหันต์อันเป็นสุกขวิปัสสกะก็ดี ก็บ่มิอาจเพื่อขะเข้านิโรธได้ เพราะเหตุมีแต่กำลังวิปัสสนาสิ่งเดียว หากำลังสมาธิคืออัฏฐสมาบัติบ่มิได้

   สภาวะอาจเพื่อจะเข้านิโรธสมาบัติได้นั้น อาศัยแก่บริบูรณ์กำลัง ๒ ประการ คือวิปัสสนาแลสมาธิ บุคคล ๒ จำพวก คือ พระอนาคามีบุคคล อันมีปกติได้ซึ่งอัฏฐสมาบัติจำพวก ๑ พระขีณาสพบุคคลอันมีปกติได้ชื่งอัฏฐสมาบัติจำพวก ๑ อาจเพื่อจะเข้าได้ซึ่งนิโรธสมาบัติ เพราะเหตุประกอบด้วยกำลัง ๒ ประการ

   ข้อความที่กล่าวมานี้ ยุติด้วยพระบาลีอันพระะรรมเสนาบดีกล่าวเป็นอุเทศวารไว้ในคัมภีร์พระปฏิสัมภิทามรรคว่า  “ทฺวีหิ พเลหิสมนฺ นาคตตฺตา ฯลฯ นิโรธสมาปตฺติยา ญาณนฺติ”  แปลเนื้อความว่าปัญญาอันเจริญด้วยวสีสามารถ เหตุประกอบด้วยคุณสัมปทา ๔ คือกำลังสองประการ ๑ คือระงับแห่งไตรพิธสังขาร ๑ คือประพฤติเป็นไปแห่งโสฬสญาณประการ ๑ คือประพฤติเป็นไปแห่งนวานุรุบุรพวิหารสมาบัติประการ ๑ ชื่อว่าญาณอันเป็นไปเพื่อจะเข้าซึ่งนิโรธ

   แลคุณสัมปทากอปรด้วพละ ๒ เป็นอาทินี้ ก็เฉพาะมีแก่พระอริยบุคคล ๒ จำพวก คือพระอนาคามีบุคคล คือพระขีณาสพบุคคลอันมิได้เหตุใดเหตุดังนั้น จึงเฉพาะเข้านิโรธได้ แต่พระอริยบุคคล ๒ จำพวก จำพวกอื่นบ่มิอาจเข้านิโรธได้

   มีคำนิเทศวารพิศดารแห่งอุทเทศวาระบาลี กำลังทั้ง ๒ ประการนั้นได้แก่สมถพละ ๑ วิปัสสนาพละ ๑

   จึงมีคำปัญหากรรม   “กตมํ สมถพลํ”  ธรรมดังฤๅชื่อว่าสมฤพละ

   วิสัชนาว่า กิริยาอันมิได้ฟุ้งซ่านใด คือจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ด้วยอำนาจแห่งเนกขัมมวิตก ฉันข่มเสียซึ่งกายฉันท์ ผลอำนาจแห่งกุศลจิตตุปบาทอันมีโลกะเป็นประธาน ประพฤติเป็นไปด้วยอาการข่มเสียซึ่งกามฉันท์ กิริยาที่มิได้ฟุ้งซ่านคือเอกกัคคตาจิต ข่มเสียซึ่งกามฉันท์นี้ได้ชื่อว่าสมถพละ ด้วยอรรถว่าระงับซึ่งปัจจนิกธรรมมีกามฉันท์เป็นอาทิ และมิได้กัมปนาการด้วยปฏิปักขธรรม

   อนึ่ง อันว่าสภาวะมิได้ฟุ้งซ่านอันใด กล่าวคือเอกัคคตาจิตตั้งมั่นด้วยอำนาจพยาบาทวิตก อันข่มสียซึ่งวิตกพยาบาท และอำนาจแห่งกุศลจิตตุปบาท อันมีอโทสะเป็นประธาน อันประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจข่มเสียซึ่งพยาบาทนั้น อย่างนั้นก็ได้ชื่อว่าสมถพละโดยอรรถอันนี้

   อนึ่ง กิริยาอันมิได้ฟุ้งซ่านอันใด กล่าวคือเอกัคคตาจิตสมาทานตั้งมั่นด้วยอำนาจอาโลกสัญญา อันบังเกิดด้วยกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเป็นพระอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุข่มเสียได้ซึ่งถีนมิทธะแล้วและกระทำไว้ในใจให้ดี

   อนึ่ง สภาวะมิได้ฟุ้งซ่านอันใด กล่าวคือเอกัคคตาจิตตั้งมั่นด้วยอำนาจแห่งจิตสมาทานพระรัตนตรัยมั่น ฆ่าเสียได้ซึ่งอุทธัจจะก็ดีสภสวะมิได้ฟุ้งซ่านอันใด กล่าวคือเอกัคคตาจิตตั้งมั่นด้วยสามารถแห่งโยคาพจรผู้พิจารณา ซึ่งสละสังขารแล้วและหายใจออก และหายใจเข้าสำเร็จด้วยอานาปาสติ อันถึงซึ่งสภาวะเป็นยอดแห่งกิริยาที่ข่มเสียซึ่งมิจฉาวิตกทั้งปวงก็ดี

   และกิริยาอันมิได้ฟุ้งซ่าน กล่าวคือเอกัคคตาจิตตั้งมั่นดังนี้ ๆ ก็ได้ชื่อว่าสมถพละ ด้วยอรรถาธิบายดุจกล่าวแล้ว

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าสำแดงซึ่งสมถพละ ด้วยสามารถแห่งอุปาจารฌาน ดุจพรรณนามาฉะนี้แล้ว บัดนี้ปรารถนาเพื่อจะสำแดงสมถพละนั้น ด้วยสามรถอันถึงซึ่งกำลังอันตั้งมั่น อันข้าศึกทั้งหลายในภายนอกบ่มิอาจครอบงำย่ำยีได้ ด้วยอำนาจแห่งอัปปนาสมาธิสมบัติ ๘ ประการ จึงตั้งกระทู้ปัญหาวาระบาลีว่า  “สมถพลนฺติ เกนตฺเถนสมถพลํ”  แปลคำปุจฉาว่า  “ยํ สมถพลํ”  อันว่ากำลังสมถะอันใด  “วุตฺตํ”   อันอาจารย์กล่าวไว้   “ตํ สมถพลํ”  อันว่ากำลังสมถะนั้น ด้วยอรรถาธิบายเป็นดังฤๅ

   จึงวิสัชนาเป็นใจความสังเขปว่า สมาธิอันสัมปยุตด้วยฌาน คือสมาบัติ ๘ ประการ คือปฐมฌานจิตตั้งมั่น มิได้ไหวด้วยปัญจนิวรณ์ธรรมทุติยฌานจิตตั้งมั่น อันมิได้ไหวด้วยวิตกวิจาร ตติฌาณสมาธิจิตตั้งมั่นมิได้ไหวด้วยปีติ จตุตถฌานสมาธิจิตตั้งมั่นมิได้ไหวด้วยสุขโสมนัส เอกัคคตาจิตในอากาสานัญจายตสมาธิมิได้ไหวด้วยรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา อัตตสัญญาวิญญาณัญจายตนสมาธิมิได้ไหวด้วยอากาสานัญจายนะ อากิญจัญญายตนสมาธิจิต มิได้ไหวด้วยวิญญาณัญจายตนะเนวสัญญานาสัญญายตนสมาธิมิได้หวั่นไหวด้วยอากิญจัญญายตนะ และจิตสมาทานตั้งมั่นมิได้จลาจลหวั่นไหว เพราะเหตุอุทธัจจะและกองสรรพกิเลสธรรม อันสหรคตด้วยอุทธัจจะและปัญจขันธ์ทั้งหลาย  “อิทํ อกปฺปนียตํ”  อันว่ากิริยาอันมิได้ฟุ้งซ่าน คือสภาวะแห่งจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ได้นามบัญญัติชื่อว่าสมถะพละนี้ โดยอรรถาธิบายว่า ตั้งมั่นมิได้หวั่นไหวด้วยปัจจนิกธรรมดังพรรณนามานี้แล้ว ก็สิ้นความในสมถะพละนิเทศวารเท่านี้

   จึงมีคำปุจฉาในวิสัชนาพลนิเทศวารว่า  “กตมํ วิปสฺสนาพลํ”  กำลังพระวิปัสสนานั้นคือสิ่งดังฤๅ

   วิสัชนาว่า พระวิปัสสนา ๗ ประการ

   คือ อนิจจานุปัสสนา ๑ ทุกขานุปัสสนา ๑ อนัตตานุปัสสนา ๑ นิพพิทานุปัสสนา ๑ วิราคานุปัสสนา ๑ นิโรธานุปัสสนา ๑ ปฏินิสสัคคานุปัสสนา ๑ รวมกันเป็น ๗ ประการด้วยกัน

   “ยา ปญฺญา”  อันว่าปัญญาอันใดแห่งพระโยคาพจรอันพิจารณาเห็นอนิจจลักษณะ คือขยวยะวิปัสสนามิเที่ยงแห่งขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอายตนะมีจักขุเป็นอาทิ และชรามรณะธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนิจจัง ด้วยอรรถว่าบังเกิดขุ้นแล้วก็สิ้นไป เกิดในอดีตฉิบหายไปในอดีต บ่มิทรมานได้มาถึงปัจจุบัน เกิดในปัจจุบันบ่มิได้ไปถึงอนาคต เกิดในอนาคตก็ดับไปในที่เกิดนั้น ๆ

   สา ปญฺญา ”  อันว่าปัญญานั้น คือพิจารณาเห็นอนิจจลักษณะดังชื่อว่าอนิจจานุปัสสนา

   ปัญญาพิจารณาเห็นสังขารธรรมรูปเป็นอาทินั้น ว่ากอปรไปด้วยทุกข์โดยสภาวะที่พิลึกพึงกลัว เหตุอันความเกิดและความดับหากเบียดเบียนและทุกข์โดยสภาวะที่พิลึกพึงกลัว เหตุอันความเกิดและความดับหากเบียดเบียนและทุกข์อันเกิดในจตุราบาย และพื้นแห่งโรคมีจักขุโรคเป็นอาทิปัญญาพิจารณาเห็นโดยทุกขลักษณะดังนี้ ชื่อว่าทุกขานุปัสสนา

   ปัญญาอันพิจารณาเห็นสังขาร มีรูปเป็นอนัตตลักษณะโดยอรรถว่าสูญเปล่าจากแก่นสาร โดยใช่ตัวใช่ตนใช่สัตว์ใช่บุคคลมิได้อยู่ในอำนาจแห่งตน เปล่าจากคนพาลปริกัปป ชื่อว่าอนัตตานุปัสสนา

   ปัญญาอันพิจารณาเห็นสังขารทุกข์ แล้วแลเหนื่อยหน่ายในสังขารธรรมเพระเห็นโทษดังกล่าวแล้ว ได้ชื่อว่านิพพิทานุปัสสนา

   ปัญญาพิจารณาเห็นความปราศจากกำหนัดในสังขาร ชื่อว่าวิราคานุปัสสนา

   ปัญญาพิจารณาเห็นเนือง ๆ ในคุณพระนิพพานอันเป็นที่ดับแห่งสังขาร ชื่อว่านิโรธานุปัสสนา

   ปัญญาอันพิจารณาในที่สละอาลัยในสังขาร มีรูปเป็นอาทิ ชื่อว่าปฏินิสสัคคานุปัสสนา

   และพระอนุปัสสนาทั้ง ๘ ประการ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นอาทิดังพรรณนามาฉะนี้ แต่ละอัน ๆ ชื่อว่าวิปัสสนาพละ

   ข้อความที่พรรณนามานี้ ได้อรรถธิบายแต่วิปัสสนาศัพท์ อรรถแห่งพลศัพท์ยังมิได้ปรากฏก่อน

   จึงมีคำปุจฉาด้วยอรรถพลศัพท์ว่า  “เอกตฺเถน วิปสฺสนาพลํ”  พระอนุปัสสนาพละนั้น โดยอรรถาธิบายเป็นดังฤๅ

   วิสัชนาว่า วิปัสสนาพละคือจิตตั้งมั่น อันข้าศึกบ่มิอาจเพื่อจะครอบงำให้กัมปนาการหวาดไหวได้ จึงได้ชื่อว่าวิปัสสนาพละ

   อธิบายว่า พระอนิจจานุปัสสนาพิจารณาเห็นสังขารธรรมว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แล้ว ก็มิได้หวาดไหวเพราะวิปลาส คืออนิจจสัญญาอันสำคัญว่าเที่ยง

   ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา พิจารณาเห็นธรรมสังขารธรรมเป็นทุกข์ว่าหาแก่นสารบ่มิได้แล้ว ก็มิหวาดไหวเพราะข้าศึก คือวิปลาสสัญญาสำคัญว่ามีสุข และสำคัญว่าตัวตนในสังขาร

   ปัญญาอันพิจารณาเห็นแต่เหนื่อยหน่ายถ่ายเดียวแล้ว ก็บ่มิได้ไหวเหตุข้าศึกคือตัณหาอันมีในสังขารมีรูปเป็นอาทิ

   ปัญญาอันพิจารณาปราศจากราคะคือกำหนดมิหวาดไหว เพราะข้าศึกราคะ

   ปัญญาพิจารณานิโรธ คือพระนิพพานอันเป็นที่ดับสังขารมิได้ไหวเพราะข้าศึก คือตัณหาสมุทัย

   ปัญญาพิจารณาสละอาลัยในสังขาร มิได้ไหวเพราะข้าศึก คืออาทานประทาน อันถือมั่นด้วยตัณหาและทิฏฐิ

   ปัญญาอันพิจารณาเห็นแจ้งในสังขารธรรมทั้งปวงแล้ว มิได้ไหวเพราะเหตุอวิชชาและกองสรรพกิเลสธรรม อันสหรคตอวิชชาและรูปจตุขันธ์ และกอปรด้วยอวิชชา

   “อิทํ วิปสฺสนาพลํ”  อันว่าสภาพแห่งพระอนุปัสสนาปัญญามิได้จราจล เพราะปัจจนิกธรรมมีสำคัญว่าเที่ยงเป็นอาทิ เพราะครอบงำเสียซึ่งปัจจนิกธรรมมทั้งปวงแล้วและตั้งมั่นดังนี้ เชื่อว่าวิปัสสนาพละ

   แลคุณสัมปทาคำรบ ๒ ชื่อว่าระงับสังขาร ๓ ประการนั้น มีนิเทศวารปุจฉาว่า สังขาร ๓ ประการนั้น คือสิ่งดังฤๅ

   วิสัชนาว่า สังขารทั้ง ๓ นั้น คือ วจีสังขาร ๑ กายสังขาร ๑ จิตจสังขาร ๑

   และวจีสังขารนั้นได้แก่วิตกวิจาร เป็นพนักงานผู้ตกแต่งซึ่งวจีเภท อธิบายว่า เมื่อบุคคลกล่าวถ้อยคำอันใดอันหนึ่ง ก็อาศัยแก่วิตกวิจารยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ พิจารณาก่อนแล้วจึงออกวจีเภท คือ วาจาเมื่อภายหลังอาศัยเหตุนี้ อันว่าวิตกวิจารนั้นจึงได้นามบัญญัติว่าวจีสังขาร

   กายสังขารนั้น ได้แก่จิตตขวาโยธาตุ คืออัสสาสะ ปัสสาสะ ลมหายใจออกหายใจเข้า และลมอัสสาสะวาตปัสสาสะวาตนั้น ได้นามบัญญัติชื่อว่ากายสังขาร โดยบทวิคคะหะ  “กาเยน สงฺขริยนฺตีติ กายสงฺขารา”  แปลว่า   “เย อสฺสาสปสฺสาสา”  อันว่าลมอัสสาสะและปัสสาสะทั้งหลายใด  “กาเยน”  อันนามกายกล่าวคือจิตแลรูปกายคือสหชาตรูป  “สงฺขริ ยนฺติ”  ตกแต่งด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย และสหชาตปัจจัย เหตุใดเหตุดังนั้น อันว่าลมอัสสาสะวาตและปัสสาสะวาตจึงได้ชื่อว่ากายสังขาร

   อนึ่ง ลมอัสสาสะวาตและปัสสาสะวาตนั้น เมื่อบังเกิดในกายประพฤติเนื่องด้วยกาย จึงได้ชื่อว่ากายสังขาร ยุติด้วยวาระบาลีอันพระธรรมทินนาเถรีภิกษุณีกล่าวไว้แก่วิสาขาอุบาสกว่า   “อสฺสาสปสฺสาสาโข อาวุโส วิสาข กายิกา เอเต ธมฺมา กายปฏิพทฺธา ตสฺมา อสฺสาสปสฺสาสา กายสงฺขารา”

   จิตตสังขารนั้นได้แก่สัญญาเวทนา โดยวิคคหะว่า  “จิตฺเตน สงฺขริยนฺติ จิตฺตสงฺขารา”  แปลว่า   “เย ธมฺมา”  อันว่าธรรมใด  “จิตฺเตน”  อันจิต  “สงฺขริยนฺติ”  ตกแต่ง เหตุใดเหตุเหตุดังนั้น อันว่าธรรมทั้งหลายนั้น  “จิตฺตสงฺขารา”  ชื่อว่าจิตตสังสาร ๆ ได้แก่สัญญาและเวทนา

   อธิบายว่า สัญญาเป็นพนักงานหมายอารมณ์ เวทนาเป็นพนักงานเสวยรสแห่งอารมณ์ เมื่อบังเกิดก็อาศัยจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นอุปาทปัจจัยให้บังเกิด ๆ ในจิต ประพฤติเนื่องด้วยจิตได้ชื่อว่าตกแต่ง จึงได้นามบัญญัติชื่อว่าจิตตสังขารในที่นี้ ยุติด้วยวาระพระบาลี  “สญฺญา จ เวทนา จ เจตสิกา เอเต ธมฺมา จิตฺตปฏิพทฺธา ตสฺมา สญฺญา จ เวทนา จ จิตฺตสงฺขาราติ”  

   และวจีสังขาร คือวิตกวิจารนั้นระงับไปในขณะหนึ่ง เมื่อพระอริยสาวกเข้าสู่ทุติยฌานสมาธิ กายสังขารคือลมหายใจเข้าออกนั้นระงับในขณะเมื่อสู่จตุตถาฌานสมาธิ   “ตสฺมา อสฺสาสปสฺสาสา กายสงฺขารา”  เพราะเหตุฉะนั้น อัสสาสะปัสสาสะลมมหายใจออกและลมหายใจเข้าจึงได้นามบัญญัติชื่อว่ากายสังขาร

   จิตตสังขาร คือสัญญาเวทนา ระงับไปในขณะเมื่อเข้านิโรธสมาบัติปัญญาอันมีวสีสามารถชำนาญ กอปรด้วยระงับสังขาร ๓ ประการ โดยลำดับพรรณนามาฉะนี้ ก็เป็นอุปการูปนิสสัยคุณสัมปทาในนิโรธสมบัติ

   นิเทศวารปุจฉาในคุณสัมปทา ข้อความที่ว่าวสีภาวนาเป็นไปด้วยญาณจิรยา ๒๖ และญาณจริยา ๑๖ นั้น คือสิ่งใดบ้าง

   วิสัชนาว่า พระอนุปัสสนา ๘ ประการ คือ อนุปัสสนา ๗ ประการ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นอาทิ มีปฏินิสสัคคานุปัสสนาเป็นปริโยสานที่กล่าวแล้วในวิปัสสนาพละนั้น จัดเป็นฌาณจริยาละอัน ๆ และวิวัฏฏนฺปัสสนาปัญญา อันพิจารณาเห็นพระนิพพานอันปราศจากกรรมวัฏฏ์ คือ อภิสังขารเจตนา อวิชชา ตัณหา อุปาทาน นามและรูปเป็นอาทิ จัดเป็นญาณจริยาอันหนึ่ง เป็นคำรบ ๘

   ฝ่ายโลกิยญาณจริยา ๑ พระอริยมรรคญาณ ๔ พระอริยผลสมาบัติญาณ ๓ จัดเป็นญาณจริยาละอัน ๆ เป็นโลกุตตรญาณจริยา ๘ ประการคือ ญาณจริยาฝ่ายโลกิยะ โลกุตตตระ ๘ เข้ากันเป็นญาณจริยา ๑๖ เป็นอุปนิสสยูปการ แก่พระนิโรธญาณ

   นิเทศวารปุจฉาในคุณสัมปทา ชื่อว่าสมาธิจริยา ๙ นั้น คือธรรมดังฤๅ

   วิสัชนาว่า รูปพจรอัปปนาฌาณพจร ๔ คือปฐมฌานก็ได้ชื่อว่าสมาธิจริยา

   อธิบายว่า เป็นไปแห่งพระอัปปนาสมาธิ ทุติฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ดี ก็ได้ชื่อว่าสมาธิจริยาละอัน ๆ

   อรูปสมาธิบัติ ๔ ประการ คืออากาสานัญจายตนสมาบัติ และวิญญาณัญจายตนสมาบัติ และอากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็จัดเป็นสมาธิจริยาละอัน ๆ รูปาพจรฌาน ๔ อรูปาพจรฌาน ๔ เข้ากันเป็นสมาธิจริยา ๓ ประการ แต่ฝ่ายพระอัปปนาสมาธิ

   อันว่าองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา อันเป็นไปในบุรพภาคคืออุปจาร มีอาวัชชนะต่าง ๆ เพื่อจะได้ซึ่งพระอัปปนา คือปฐมฌาน อันประกอบด้วยองค์คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาก็ดีเป็นไปในอุปจาร เพื่อจะได้ซึ่งพระอัปปนา คือทุติยฌาน คติฌาน จตุตถฌาน และอรูปสมาบัติทั้ง ๔ ก็ดี ก็จัดเป็นสมาธิจริยาอันเดียว โดยสำคัญเป็นอุปาจารสมาธิ ก็ครบจำนวนถ้วน ๙ กับทั้งพระอัปปนาสมาธิ ๘ ประการนั้น

   และพระสมาธิจริยา ๘ ประการดังพรรณนามานี้ ก็จัดเป็นอุปการูปนิสสัยคุณสัมปทา ประกอบในนิโรธสมาบัติฌาน

  บุคคลที่มีสัทธาทิอินทรีย์อยู่ข้างอ่อน เจริญซึ่งปฐมมรรคด้วยสามารถแห่งพระวิปัสสนาอันมิได้กล้าแล้ว และมาสู่ภาวะเป็นพระโสดาบันบุคคลคือตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล พระอริยบุคคลอย่างนี้ได้นามชื่อว่า สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน

  อธิบายว่า ถ้ายังมิได้พระอรหัตต์ในชาตินั้น จะเที่ยวท่องถือเอาปฏิสนธิกำเนิด ในสุคติภพ คือกามาพจรสวรรค์ แลมนุษย์สุคติเจือกันอีกเป็น ๗ ชาติ ก็จะกระทำที่สุดแห่งสกลวัฏฏทุกข์ คือได้พระอรหัตต์ในชาติเป็นคำรบ ๗ นั้น

  บุคคลที่มีอันทรีย์เป็นปานกลาง เจริญปฐมมรรคให้บังเกิดด้วยวิปัสสนาอันเป็นมัชฌิมแล้วแลถึงซึ่งพระโสดาปัตติผล พระโสดาบันบุคคลอย่างนี้ ชื่อว่า โกลังโกละโสดาบัน ด้วยอรรถว่าจะออกจากตระกูลแล้วและไปสู่ตระกูลเล่า จึงได้ชื่อว่า โกลังโกละ

  คำอธิบายว่า จำเดิมแต่กระทำให้แจ้ง ซึ่งพระโสดาปัตติผลแล้วก็มิรู้เกิดในตระกูลอันต่ำช้าลามกเลย จะบังเกิดในมหาโภคตระกูล แลโกลัง

  

  ขึ้นไป ตราบเท่าถึง ๖ ชาติ ก็จะสำเร็จพระอรหัตต์ในชาติเป็นคำรบ ๖

  ถ้าบุคคลมีสัทธาทิอินทรีย์อันกล้าขึ้นกว่านั้น เจริญปฐมมรรคปัญญาด้วยวิปัสสนาอันกล้าแล้ว แลได้พระโสดาปัตติผล เป็นเอกพีชีโสดาบันจะไปยังภพกำเนิด ในสุคติภพ แลได้พระโสดาปัตติผล เป็นเอกพีชีโสดาบันจะไปยังภพกำเนิด ในสุคคติภพ คือมนุษย์ก็ดีสวรรค์ก็ดี อีกชาติเดียวก็จะได้พระอรหัตต์ สิ้นสังขารทั้งปวง

  ในคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา ฏีกาพระวิสุทธิมรรค มีกระทู้ความปุจฉาว่าธรรมดังฤๅเป็นนิยมให้พระโสดาบันบุคคลมีประเภทเป็น ๓ สถานะฉะนี้

  วิสัชนาว่า พระวิปัสสนาแห่งพระอุปริมรรคตรัยเบื้องบนหาก็นิยมให้มีประเภทเป็น ๓ ดังนั้นแท้จริง

  ผิว่าวิปัสสนาปัญญา อันพิจารณาสังขารธรรม เพื่อจะให้ถึงซึ่งมรรคตรัยเบื้องบนมีกำลังกล้าก็นิยมให้พระโสดาบันบุคคลนั้นเป็นเอกพีชี

  ผิว่าวิปัสสนาปัญญา หากจะอ่อนลงกว่านั้นก็นิยมให้เป็นโกลังโกละถ้าอ่อนนักลงกว่านั้น ก็นิยมให้เป็นสัตตักขัตตุปรมะ

  บุคคลผู้เจริญมรรคปัญญาเป็นคำรบ ๒ ได้สำเร็จโลกุตตรผลเป็นอริยบุคคลชื่อว่าสกทาคามี

  อธิบายว่า ถ้ายังมิได้อรหัตต์ในชาตินั้น จะจุติจากอัตตภาพนี้แล้วแลบังเกิดในเทวโลก จุติจากเวทโลก แล้วจะกลับมาเอาปฏิสนธิในมนุษย์สุคติอีกคราวหนึ่ง จึงจะสำเร็จแก่พระอรหัตต์สิ้นวัฏฏทุกข์

  ข้อความที่ซึ่งว่าจะกลับมาถือเอาปฏิสนธิ ในมนุษย์สุคติอีกคราวหนึ่งนั้น เป็นนิยมให้เว้นเสียซึ่งพระสกทาคามีบุคคล ๔ จำพวก แล้วเฉพาะถือเอาแต่จำพวกเดียว

  แท้จริงพระสกทาคามีบุคคลบางพระองค์ ได้พระสกทาคามิผลในมนุษย์โลกนี้แล้วก็ได้พระอรหัตต์ดับขันธปรินิพพานในมนุษย์โลก นี้บางพระองค์ได้พระสกทาคามิผลในมนุษย์โลกนี้แล้ว จุติขึ้นไปบังเกิดในเทวโลกจึงได้พระอรหัตต์บางพระองค์ได้พระสกทาคามิผล ในเทวโลกแล้ว ก็ได้พระอรหัตต์ ปรินิพพานในโลกนั้น บางพระองค์ก็ได้พระสกทาคามิผลในเทวโลกแล้ว จุติลงมาเอาปฏิเอาปฏิสนธิในมนุษย์นี้ จึงได้พระอรหันตต์

  แลพระอริยบุคคล ๔ จำพวกที่กล่าวมานี้ ก็ได้นามบัญญัติชื่อว่าพระสกทาคามีบุคคล แต่ทว่าพระอาจารย์มิได้ประสงค์เอา ด้วยบทว่า  “สกึเทว”  ที่แปลว่าจะกลับมาเอาปฏิสนธิในมนุษย์นี้คราวหนึ่งนั้นประสงค์เอาแต่พระสกทาคามีบุคคลที่ได้พระสกทาคามิผลในมนุษย์นี้แล้ว แลจุติไปบังเกิดในเทวโลกอยู่ตราบเท่ากำหนดอายุแล้ว จุติจากเทวโลกกลับเอาปฏิสนธิในมนุษย์นี้คราวหนึ่ง จึงได้พระอรหัตต์ จัดเป็นสกทาคามีบุคคลเป็นคำรบ ๖ พระอาจารย์ถือเอาด้วยบทคือ  “สกึเทว”  ในที่นี้

  บุคคลผู้จำเริญมรรคปัญญาเป็นคำรบ ๓ แล้วได้สำเร็จแก่โลกุตตรผลนั้น ได้นามชื่อว่า อนาคามีบุคคล

  อธิบายว่า ถ้ายังมิได้พระอรหัตต์ในชาตินั้น จะได้บังเกิดในพรหมโลก แล้วจะมิได้กลับมาเอาปฏิสนธิในกามโลกนี้เลย จึงได้ชื่อว่าอนาคามี

  แลพระอนาคามีบุคคล ที่มีปกติมละเสียซึ่งกามโลกนี้แล้ว แลตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปทาน ได้กิเลสปรินิพพานในสุทธาวาสพรหมโลกนั้นมีประเภท ๕ จำพวก คืออันตราปรินิพพายีจำพวก ๑ คือ อุปหัจจปรินิพพายีจำพวก ๑ คือสสังขารปริพพายีจำพวก ๑ คืออสังขารปรินิพพายีจำพวก ๑ คืออุทธังโสโตอกนิฏฐคามีจำพวก ๑ เข้ากันเป็น ๕ จำพวก โดยอินทรีย์เวมัตต์ คือสภาวะกล้าแลอ่อนแห่งสัทธาอินทรีย์ อันยังปัญญาวิมุตติให้เกือบแก่

  อธิบายว่า พระอนาคามีจำพวกใด บังเกิดในสุทธาสภพอันใดอันหนึ่งแล้ว ยังมิถึงท่ามกลางอายุ ก็ได้สำเร็จแก่กิเลสปรินิพพาน คือได้พระอรหัตต์ พระอนาคามีจำพวกนี้แลได้นามชื่อว่า อันตราปรินิพพายีเป็นปฐม

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด บังเกิดในสุทธาวาสอันใดอันหนึ่งแล้ว ต่อล่วงถึงท่ามกลางอายุจึงได้พระอรหัตต์ พระอนาคามีบุคคลจำพวกนี้ ชื่ออุปหัจจปรินิพพายี เป็นคำรบ ๒

  พระอนาคามิบุคคลจำพวกใด เมื่อยังพระอรหัตตมรรคให้บังเกิดได้โดยง่ายสบายมิได้ลำบาก พระอนาคามีบุคคลจำพวกนี้ ชื่อว่าสสังขารปรินิพพายีเป็นคำรบ ๓

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด เมื่อยังพระอรหัตตมรรคให้บังเกิดก็ให้บังเกิดด้วยยาก พระอนาคามีบุคคลนั้น ชื่อว่าอสังขารปรินิพพายีเป็นคำรบ ๔

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด บังเกิดในสุทธาวาสเบื้องต่ำ ๆ แล้วมิได้พระอรหัตต์ในสุทธาวาสเบื้องต่ำๆ นั้น จุติในสุทธาวาสเบื้องต่ำที่เกิดแล้ว ก็ขึ้นไปบังเกิดในสุทธาวาสเบื้องบน ๆ ตราบเท่าถึงชั้นอกนิฏฐแล้วจึงได้พระอรหัตต์ในอกนิฏฐภพนั้น พระอนาคามีบุคคลจำพวกนี้ชื่อว่าอุทธังโสโตอกนิฏฐคามีเป็นคำรบ ๕

  ในคัมภีร์ฎีกาจัดเป็นประเภทให้วิเศษเฉพาะอีกเล่าว่า นักปราชญ์พึงรู้จตุกกะ ชื่ออุทธังโสโตอกนิฏฐคามิจตุกกะ เพื่อจะได้รู้ซึ่งประเภทแห่งพระอนาคามีบุคคลทั้งหลายดังนี้

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด ชำระสุทธาวาสเทวโลกทั้งหลาย ๕ จำเดิมแต่ชั้นอวิหาแล้วก็ไปบังเกิดในชั้นอกนิฏฐ จึงได้พระอรหัตต์ พระอนาคามีบคคลจำพวกนี้ชื่อว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี

  อธิบายว่า มีกระแสตัณหาแลกระแสวัฏฏะในเบื้องบน แลไปสู่อกนิฏฐเป็นที่ ๑

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด ชำระสุทธาวาสเทวโลกเบื้องต่ำ ๓ ชั้นเสร็จแล้ว ก็ขึ้นไปชั้นสุทัสสีสุทธาวาส จึงได้พระอรหัตต์พระอนาคามีบุคคลจำพวกนี้ ได้นามบัญญัติชื่อว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี

  อธิบายว่า มีกระแสตัณหาแลกระแสวัฏฏะในเบื้องบน แต่ทว่าไปบ่มิได้ไปถึงชั้นอกนิฏฐ เป็นที่ ๒

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด จุติจากอาตมาภาพนี้แล้ว ก็ไปบังเกิดในชั้นอกนิฏฐที่เดียวก็ได้พระอรหัตต์ พระอนาคามีบุคคลจำพวกนี้ชื่อว่าอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เป็นที่ ๓

  พระอนาคามีบุคคลจำพวกใด เกิดในสุทธาวาสเบื้องต่ำ แต่อวิหาตราบเท่าถึงสุทัสสี เกิดในชั้นใดก็ได้พระอรหัตต์ในชั้นนั้น พระอนาคามีบุคคลจำพวกนี้ ชื่อว่าอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เป็น ๔

  ประเภทที่กล่าวมานี้ชื่อว่า อุทโธโสโตอกนิฏฐคาตุกกะ

  อนึ่งพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย อันเกิดในชั้นสุทธาวาสอันเป็นปฐมคือชั้น อวิหา อันมีอายุได้พันมหากัปป์ มีประเภท ๑๐ อย่าง

  คือพระอนาคามีบุคคลที่ได้พระอรหัตต์ ในลำดับที่ได้เกิดนั้นจัดเป็นอย่าง ๑

  ที่เนิ่นไปกว่านั้น แต่ทว่ายังไม่ถึงท่ามกลางอยู่ คือที่สุด ๕๐๐ มหากัปป์ ก็ได้พระอรหัตต์นั้นจัดเป็นอย่าง ๑ ที่พอถึงท่ามกลางอายุที่สุด ๕๑๐ กัปป์ จึงได้พระอรหัตต์จัดเป็นอย่าง ๑ เป็น ๓ อย่างด้วยกัน ชื่อว่าอันตราปรินิพพยายี

  พระอนาคามีบุคคลที่ถึงท่ามกลางอายุคือที่สุด ๕๐๐ มหากัปป์ แล้วจึงได้พระอรหัตต์จัดเป็นอย่าง ๑ ชื่อว่าอุปหัจจปรินิพพายี

  พระอนาคามีบุคคลที่มิได้พระอรหัตต์ ในชั้นอวิหาสุทธาวาสทรมานอยู่ถ้วนถึงพันมหากัปป์แล้ว จุติขึ้นไปบังเกิดในสุทธาวาสเบื้องบน คือชั้นอตัปปา จึงได้พระอรหัตต์จัดเป็นอย่าง ๑ ชื่อว่าอุทธังโสโตเป็นคำรบ ๕ จำพวกด้วย

  แจกเป็นอสังขารปรินิพพายี ก็ได้ทั้ง ๕ อย่าง เป็นสสังขารปรินิพพายี ก็ได้ทั้ง ๕ อย่าง สิริเป็นพระอนาคามีบุคคล ๑๐ อย่างแต่ชั้นอวิหาสุทธาวาส

  ในชั้นอตัปปามีอายุได้ ๒ พันมหากัปป์ ในชั้นสุทัสสีมีอายุได้ ๔ พันมหากัปป์ก็ดี ในชั้นสุทัสสีอันมีอายุยืนได้ ๕ พันมหากัปป์ก็ดี ก็มีประเภทแห่งพระอนาคามีบุคคลชั้นะสิบ ๆ เข้ากันเป็น ๔๐ แต่ชั้นสุทธาวาสเบื้องต่ำทั้ง ๔ นั้น

  ฝ่ายชั้นอกนิฏฐสุทธาวาสนั้น หาอุทธังโสตบ่มิได้ คงมีแต่อันตราปรินิพพายี ๓ จำพวก อุปหัจจปรินิพพายีจำพวก ๑ เป็นคำรบ ๔

  แจกเป็นอสังขารปรินิพพายี ๔ เป็นสสังขารปรินิพพายี ๔ เข้าด้วยกันเป็นพระอนาคามีบุคคล ๘ จำพวกในชั้นอกนิฏฐ์ สิริเป็น ๔๘ กับทั้งประเภทที่กล่าวในชั้นสทุธาวาสเบื้องต่ำทั้ง ๔ ด้วยกัน

  พระโยคาพจรผู้เจริญพระอริยมรรคเป็นคำรบ ๔ คือพระอรหัตต์บางพระองค์เป็นสัทธาวิมุตติ คือกระทำศรัทธาเป็นใหญ่แล้วก็พ้นจากกิเลสบางพระองค์เป็นปัญญาวิมุตติ คือพ้นจากกิเลสด้วยปัญญาเป็นใหญ่เป็นประธาน บางพระองค์เป็นอุภโตภาภาควิมุตติ

  อธิบายว่า พ้นจากรูป ด้วยอรูปสมบัติ แลพ้นจากนามกายคือกองกิเลส ด้วยอรหัตต์จึงได้นามบัญญัติชื่อว่า อุภโตภาควิมุตติ

  บางพระองค์ก็ทรงไตรวิชชา บางองค์ก็ทรงฉฬภิญญา บางองค์ก็ถึงประเภทแห่งจตุปฏิสัมภิทา เป็นมหาขีณาสพอันประเสริฐเป็นขีณาสพบุคคล ๖ อย่างโดยสังเขป จัดโดยพิสดารตั้งแต่แรกโสดาบันบุคคลนั้นมา โสดาบันบุคคลที่จัดเป็น ๓ จำพวก คือ สัตตักขัตตุปรมะก็ดี โกลังโกละก็ดีเอกพีซีก็ดี แต่ละพวก ๆ แจกเป็นพวกละสี่ ๆ ด้วยประเภทแห่งปฏิปทา ๔ มีทุกขา ปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นอาทิสิริเป็น ๑๒

  พระสกทาคามีบุคคลที่พ้นจากกิเลส ด้วยสุญญตวิโมกข์ คือเอาอนัตตาเป็นอารมณ์ ในขณะแห่งวุฏฐานคามีวิปัสสนา ในมรรควิถีสืบต่อเข้าด้วยพระสกทาคามีมรรคก็จัดเป็น ๔ จำพวกด้วยประเภทแห่งประฏิบัติ ๔ ที่พ้นจากกิเลสด้วยนิมิตตวิโมกข์ คือเอาทุกขังเป็นอารมณ์ก็ดี ก็มีประเภทละสี่ ๆ สิริเป็นสกทาคมีบุคคล ๑๒ จำพวกด้วยกัน

  ฝ่ายพระอรหัตต์มีประเภท ๑๒ ด้วยสามารถแห่งวิโมกข์ ๓ แลปฏิปทา ๔ เหมือนกับพระสกทาคามี แล้วแจกเจือสัทธาธุระก็ได้ ๑๒ ปัญญาธุระก็ได้ ๑๒ แจกด้วยไตรวิชา แลฉฬภิญญา แลปฏิสัมภิทาก็ได้สิ่งละ ๑๒ สิริเป็นพระอรหัตต์ ๖๐ ทัศ

  แลพระอริยบุคคลเจ้าทั้งหลายที่พรรณามานี้ เป็นพระโสดาบัน ๒๔ พระสกทาคามี ๑๒ พระอนาคามี ๔๘ พระอรหัตต์ ๖๐ สิริเป็นอริยบุคคลได้ ๑๔๔ กับทั้งพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ แลพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ๑ จึงรวมพระอริยบุคคลทั้งสิ้นเป็น ๑๔๖ ด้วยกัน

  กิริยาที่สำเร็จซึ่งสภาวะเป็นอริยะ แห่งพระอริยบุคคลทั้งหลายนั้นก็สำเร็จด้วยโลกุตตรปัญญาภาวนา

   “เตน วุตฺตํ”  เหตุดังนั้น พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าผู้รจนาคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคจึงได้กล่าวไว้ว่า

   “อาหุเนยฺยภควาทิสิทฺธิปิ อิมิสฺสา โลกุตฺตรปญฺญภาวนาย อานิสํโสติ เวทิตพฺโพ”

  แปลความว่า กิริยาที่สำเร็จคุณมีชื่อว่า  “อาหุเนยฺย”  เป็นอาทิก็เป็นอานิสงส์แห่งโลกุตตรปัญญาภาวนา  “เอวํ อเนกานิสํสา”  อันว่ากิริยาอันเจริญซึ่งอริยปัญญานี้ มีผลานิสงส์เป็นปริยายจะนับประมาณมิได้ด้วยประการดังนี้

  เหตุใด เหตุดังนั้น นักปราชญ์ผู้ประกอบด้วยวิจารณะปัญญาพึงอุตสาหะกระทำซึ่งความเสน่หารักใคร่ จงรักภักดียิ่งนักในทางพิธีที่เจริญซึ่งพระโลกุตตรปัญญานั้นเถิด

  แสดงมาด้วยปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ ปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๓ ก็จบข้อความตามวาระพระบาลี ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคบั้นปลายยุติการแต่เพียงนี้แล


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com