บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
อภิธัมมปิฎก

พระอภิธัมมปิฎก
เล่ม ๑


..อภิธรรม ๗ คัมภีร์
๑.ธัมมสังตณี
๒.วิภังค์
๓.ธาตุกถา
๔.ปุคคลบัญญัติ
๕.กถาวัตถุ
๖.ยมก
๗.ปัฏฐาน
๑.แม่บท (มาติกา)
๒.จิตตุปปาทกัณฑ์
๓.รูปกัณฑ์
๔.นิกเขปกัณฑ์
๕.อัตถุทธารกัณฑ์

 

หน้าที่ ๑ ..อภิธรรม ๗ คัมภีร์
๑.ธัมมสังตณี
๒.วิภังค์
๓.ธาตุกถา
๔.ปุคคลบัญญัติ
๕.กถาวัตถุ
๖.ยมก
๗.ปัฏฐาน
๑.แม่บท (มาติกา)
๒.จิตตุปปาทกัณฑ์
๓.รูปกัณฑ์
๔.นิกเขปกัณฑ์
๕.อัตถุทธารกัณฑ์

..ขยายความเล่ม ๓๔
ธัมสังคณี
(รวมกลุ่มธรรมะ)
๑.แม่บทหรือมาติกา
ก.แม่บทหรือบท
ตั้งฝ่ายอภิธรรม
(อธิธัมมมาติกา)

 

หน้าที่ ๒ ..ข.แม่บทหรือ
บทตั้งฝ่ายพระสูตร
(สุตตันตมาติกา)

๒.จิตตุปปาทกัณฑ์
(คำอธิบายเรื่องจิต)

..จิตทั้วไป
..จิตฝ่ายกุศล
..จิตฝ่ายอกุศล
..จิตที่เป็นกลาง ๆ
..การแสดงแผนผัง
ที่ ๑ - ๑๐

 

หน้าที่ ๓
..การนับจำนวนจิต
..คำอธิบายใน
จิตตุปปาทกัณฑ์
ธรรมะประกอบจิต
แสดงจิตจาก
ลำดับที่ ๑ - ๘๙
กุศลจิต ๒๑
๓.รูปกัณฑ์
(คำอธิบายเรื่องรูป)
หมวด ๑ - ๑๑
๔.นิกเขปกัณฑ์
๕.อัตถุทธารกัณฑ์

 

หน้าที่ ๔
..อกุศลจิต ๑๒
..อัพยากตจิต ๕๖
..วิบากจิตฝ่ายอกุศล
..กิริยาจิต ๒๐
(คำอธิบายบทตั้ง
อย่างย่อ)
..คำอธิบาย
อกุศลธรรม
ในนิกเขปกัณฑ์
..คำอธิบาย
อกุศลธรรมใ
นอัตถุทธารกัณฑ์
..คำอธิบาย
อัพพยากตธรรม
ในนอกเขปกัณฑ์
..คำอธิบาย
อัพยากตธรรม
ในอัตถุธารกัณฑ์
..จบเล่ม ๓๔
ธัมมสังคณี

 

พระอภิธัมมปิฎก เล่ม ๑
เริ่มตั้งแต่เล่มที่ ๓๔ ถึงเล่มที่ ๔๕ รวมเป็น ๑๒ เล่ม

      (เมื่อมาถึงอภิธัมมปิฎก ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจไว้ด้วยว่า ข้อความที่จะย่อต่อไปนี้ เป็นการกล่าว ถึงหลักธรรมล้วน ๆ ไม่มีพาดพิงถึงบุคคล, เหตุการณ์ และเรื่องราวต่าง ๆ จะขออุปมาพอเข้าใจเป็นการเปรียบเทียบ คือบุคคล คณะหนึ่งเดินทางไปโดยรถยนต์ วินัยปิฎก เปรียบเหมือนการกล่าวถึงจรรยา มารยาทของบุคคลเหล่านั้น สุตตันตปิฎก เปรียบ เหมือนการกล่าวถึงเหตุการณ์ และบุคคล ตลอดจนข้อเตือนใจที่ได้พบปะระหว่างทาง ส่วนอภิธัมมปิฎก เลิกพูดถึงเรื่องบุคคล แต่ พูดถึงเครื่องยนต์กลไกในรถยนต์ หรือส่วนประกอบต่าง ๆในร่างกายจิตใจคน เป็นวิชาล้วน ๆ ซึ่งไม่มีนิทานหรือเรื่องสนุกอื่น ๆ ประกอบ โดยทั่วไปจึงรู้สึกกันว่า อภิธัมมปิฎกเข้าใจยาก แต่ถ้าสนใจศึกษาพิจารณาหรือทำความเข้าใจตาม โดยไม่กลัวความยาก จนเกินไป ก็จะเกิดความเพลิดเพลินในธรรม ในหลักวิชา. ตามที่ได้สังเกตมาผู้ศึกษาอภิธรรม มักจะติดใจเพลิดเพลินในความยาก แต่มีเหตุผลเกี่ยวโยงกันหลายแง่หลายมุม. เพราะฉะนั้น ในการย่อความต่อไปนี้ จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายเท่าที่สามารถจะทำได้ ข้อความใดไม่ชัด จะทำคำอธิบายไว้ในวงเล็บ ในเชิงอรรถ เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น.

      ความจริง คำว่า อภิธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมอันยิ่งนั้น มิใช่มีแต่ในอภิธัมมปิฎกเท่านั้น แม้ใน สุตตันตปิฎกก็มีอยู่ทั่วไป คือตอนใดพูดถึงหลักธรรมล้วน ๆ ไม่กล่าวถึงบุคคลและเหตุการณ์ ตอนนั้นย่อมเป็นอภิธรรม ขอยกตัว อย่างข้อความในกินนิสูตร อันเป็นสูตรที่ ๓ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ และได้ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ ในเชิงอรรถ,หมายเลขที่ ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ามีภิกษุ ๒ รูป พูดไม่ลงกัน ใน อภิธรรม ภิกษุ ( ผู้หวังจะระงับข้อโต้เถียง ) พึงเข้าไปหาภิกษุที่ว่าง่ายกว่า พูดให้รู้ถึงความต่าง กันโดยอรรถะพยัญชนะ เตือนอย่าให้วิวาทกัน อันไหนถือมาผิดหรือเรียนมาผิด ก็พึงกำหนดไว้แล้วกล่าวแต่ที่ถูกธรรมถูกวินัย. คำว่าอภิธรรมในพระสูตรที่กล่าวนี้ อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่โพธิปักขิยธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ) ๓๗ ประการ มี สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง เป็นต้น มีอริยมรรค ( ทางหรือข้อปฏิบัติอันประเสริฐ ) ๘ อย่างเป็นที่สุด เมื่อโพธิปักขิยธรรม มีความหมายเป็นอภิธรรมได้ เราก็เห็นได้ชัดว่า เพราะมีเนื้อหาเป็นธรรมะล้วน ๆ นั้นเอง.

      ผู้ที่ทราบหลักการข้อนี้ จึงมองเห็นอภิธรรมได้ในเรื่องราวทุกอย่าง เป็นแต่ให้รู้จักถอดธรรมะ เป็นเท่านั้น ขอยกตัวอย่าง หลักธรรมในพระสูตร ที่มีลักษณะเป็นอภิธรรม คือเป็นหลักธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาอีกสักข้อหนึ่ง เพื่อให้เห็นความเกี่ยวโยงอย่างน่าสนใจในธรรมะ คือเรื่องเวทนา.

        ๑. เวทนา หรืความรู้สึกอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น มีชื่อเรียกว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาโดยลำดับ เรื่องนี้เป็นการแบ่งตามข้อเท็จจริงธรรมดา.

        ๒. เวทนา หรืความรู้สึกอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุขนี้ จัดว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม นับว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ ทั้งสิ้น. ข้อนี้ก็เป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริง แต่ว่ามองในอีกแง่หนึ่ง คือแง่ที่ว่า ทนอยู่ไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นทุกข์.

        ๓. ในกรณีที่เวทนามีเพียง ๒ ข้อ คือพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กล่าวโดยนัยหนึ่ง เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์นั้น มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ สุข กับ ทุกข์. ก็เกิดปัญหาขึ้นว่าความรู้สึกเฉย ๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุขจะเอาไปไว้ ที่ไหน ตอบว่า ความรู้สึกเฉย ๆ จัดเข้าในสุข คือเมื่อไม่ทุกข์ ก็จัดเข้าในสุขได้ นี่ก็เป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริงอีกแง่หนึ่ง.

        ๔. เกิดปัญหาขึ้นอีกว่า ทุกข์เป็นทุกข์นั้น ลงตัวอยู่แล้ว แต่สุขกับไม่ทุกข์ไม่สุข ทำไม จึงกลายเป็นทุกข์ไปได้ ก็จะต้องตอบย้อนไปหาเหตุผลข้อที่ ๒ อีก คือจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ทุกข์ ที่ชี้ไปถึงความ ทนอยู่ไม่ได้ เพราะสุขก็ไม่คงที่ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่คงที่ มีความแปรปรวนไปทนอยู่ไม่ได้ จึงจัดว่าเป็นทุกข์.

        หลักวิชาดั่งกล่าวข้างบนนี้ เป็นการวิเคราะห์ตามแนวพระสูตรล้วน ๆ แต่ก็มีลีลาเป็น อภิธรรมอยู่ในตัว, เพราะฉะนั้น ธรรมะอันยิ่ง ธรรมะล้วน ๆ หรืออภิธรรมนั้นย่อมมีอยู่ แม้ในพระสูตร ถ้าเข้าใจความหมาย หรือ ถอดความได้ ).

อภิธรรม ๗ คัมภีร์

        ชาวไทยนิยมเรียกอภิธัมมปิฎกว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์ ก็เพราะอภิธัมมปิฎกแยกเป็นหัวข้อสำคัญ ๗ ข้อ คือ :-

         ๑. ธัมมสังคณี ว่าด้วยการ " รวมกลุ่มธรรมะ " คือจัดระเบียบธรรมะต่าง ๆ ที่กระจายกันอยู่มากมายมาไว้ในหัวข้อสั้น ๆ เทียบด้วยการนำเครื่องประกอบต่าง ๆ ของนาฬิกามาคุมกันเข้าเป็นนาฬิกาทั้งเรือน มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๔.

         ๒. วิภังค์ ว่าด้วยการ " แยกกลุ่ม " คือกระจายออกไปจากกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ เห็นรายละเอียด เช่น ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง แต่ละข้อนั้นแยกออกไปอย่างไรได้อีก เทียบด้วยการถอดส่วนประกอบของนาฬิกา ออกมาจากที่รวมกันอยู่เดิม มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๕.

         ๓. ธาตุกถา ว่าด้วย " ธาตุ " คือสิ่งที่เป็นต้นเดิมในทางธรรม ( โปรด เข้าใจว่า เป็นคนละอย่างกับธาตุทางวิทยาศาสตร์ เพราะทางธรรมมุ่งคติสอนใจ สิ่งที่เป็นต้นเดิมทางธรรม จึงมีความหมายตาม คติธรรม ) มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๖ อนึ่ง เล่มที่ ๓๖ นี้ ยังมีปุคคลบัญญัติรวมอยู่ด้วย.

         ๔. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วย " การบัญญัติบุคคล " โดยกล่าวถึงคุณธรรมสูง ต่ำของบุคคล เช่น คำว่า " สมยวิมุตฺโต " " ผู้พ้นเป็นคราว ๆ " คือบางคราวก็ละกิเลสได้ บางคราวก็ละไม่ได้ " อสมย- วิมุตฺโต " " ผู้พ้นตลอดไปไม่ขึ้นอยู่กับคราวสมัย " ได้แก่ผู้ละกิเลสได้เด็ดขาด เป็นต้น รวมอยู่ในเล่มที่ ๓๖ เป็นอันว่าเล่มที่ ๓๖ มี ๒ หัวข้อ.

         ๕. กถาวัตถุ ว่าด้วย " เรื่องของถ้อยคำ " คือการตั้งคำถามคำตอบ เพื่อชี้ให้ เห็นหลักธรรมที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา มีเล่มเดียว คือเล่มที่ ๓๗.

         ๖. ยมก ว่าด้วย " ธรรมะที่เป็นคู่ " คือการจัดธรรมะเป็นคู่ ๆ โดยอาศัยหลัก การต่าง ๆ มี ๒ เล่ม คือเล่มที่ ๓๘ และ ๓๙.

         ๗. ปัฏฐาน ว่าด้วย " ที่ตั้ง คือปัจจัย ๒๔ " แสดงว่าอะไรเป็นปัจจัยของ อะไรในทางธรรม มี ๖ เล่ม คือเล่มที่ ๔๐, ๔๑, ๔๒, ๔๓, ๔๔ และ ๔๕ .

        เฉพาะเล่มที่ ๓๔ ซึ่งมีชื่อว่า " ธัมมสังคณี " ( รวมกลุ่มธรรมะ ) นั้น แบ่งออก เป็น ๕ หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้ :-

         ๑. หัวข้อที่เป็นกระทู้ธรรมหรือแม่บท ( มาติกา ) เท่ากับเป็นแก่นหรือ สาระสำคัญของ ธัมมสังคณี แต่มีย่อมาก จึงจำเป็นต้องมีหัวข้ออื่น ๆ ต่อ ๆ ไปอีก ๔ ข้อ เพื่อช่วยขยายความ.

         ๒. คำอธิบายเรื่องจิตว่าเกิดขึ้นอย่างไร ( จิตตุปปาทกัณฑ์ ) เป็นคำ อธิบายเพียงบางส่วนของมาติกาหรือแม่บท เฉพาะที่เกี่ยวกับจิตกับธรรมะที่เนื่องด้วยจิต ( ที่เรียกว่าเจตสิก ) จัดว่าเป็นคำอธิบาย ที่พิสดารที่สุดกว่าหัวข้อทุก ๆ หัวข้อ.

         ๓. คำอธิบายเรื่องรูปคือส่วนที่เป็นร่างกาย ( รูปกัณฑ์ ) เมื่อแยกพูด เรื่องจิตและเจตสิกไว้ใน ข้อที่ ๒ แล้ว จึงพูดเรื่องรูปหรือกายไว้ในข้อที่ ๓ นี้.

         ๔. คำอธิบายแม่บทหรือมาติกาที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่ง หมดทุกข้อ ( นิกเขปกัณฑ์ ) เป็นการอธิบายบทตั้งทุกบทด้วยคำอธิบายขนาดกลาง ไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นเกินไป. ไม่เหมือนกับข้อ ๒ และข้อ ๓ ซึ่งอธิบายเฉพาะบทตั้งเพียงบางบทอย่างพิสดาร.

         ๕. คำอธิบายแม่บทหรือมาติกาที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่งแบบรวบรัดหมดทุกข้อ ( อัตถุทธารกัณฑ์ ) หัวข้อนี้อธิบายอย่างย่อมาก.

        เมื่ออ่านมาถึงเพียงนี้ ก็พอจะเห็นเค้าโครงแห่ง ธัมมสังคณี บ้างแล้ว ว่าแบ่ง ออกเป็น ๕ ส่วนอย่างไร และมีหลักเกณฑ์ในการแบ่งหัวข้ออย่างไร ต่อนี้ไป จะขยายความให้เห็นเนื้อหาของพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ เป็นลำดับไป.

ขยายความ เล่มที่ ๓๔

ธัมมสังคณี ( รวมกลุ่มธรรมะ )

๑. แม่บทหรือมาติกา

         แม่บทหรือมาติกานี้ แบ่งออกเป็น ๒ หัวข้อใหญ่ คือ อภิธัมมมาติกา ได้แก่ แม่บทหรือกระทู้ธรรมที่เป็นฝ่ายอภิธรรมอย่างหนึ่ง. สุตตันตมาติกา ได้แก่แม่บทหรือกระทู้ธรรมที่ฝ่ายพระสูตร คือนำ ธรรมะจากพระสูตรมาตั้งเทียบเคียงให้ดูอีกอย่างหนึ่ง. แม่บทฝ่ายพระสูตรไม่มีหัวย่อย คงกล่าวถึงชื่อธรรมะต่าง ๆ แต่ต้นจนจบ ส่วนแม่บทฝ่ายอภิธรรม แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ๑๔ หัวข้อดังต่อไปนี้ :-

ก. แม่บทหรือบทตั้งฝ่ายอภิธรรม

( อภิธัมมมาติกา )

         ๑. แม่บท ว่าด้วยการจัดธรรมะเป็นหมวดละ ๓ ข้อ รวม ๒๒ หมวด ( พาวี- สติติกมาติกา ) คือ :-

        (๑) ธรรมที่เป็นกุศล ( คือฝ่ายดี ), ธรรมที่เป็นอกุศล ( คือฝ่ายชั่ว ), ธรรมที่เป็นอัพยากฤต ( คือพระผู้มีพระภาคไม่ตรัสชี้ลงไปว่า เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว จะว่าเป็นกลาง ๆ ก็ได้ ) .

        (๒) ธรรมที่ประกอบด้วยเวทนา ( คือความรู้สึกอารมณ์ ) ที่เป็นสุข, ที่เป็นทุกข์, ที่ไม่ ทุกข์ไม่สุข.

        (๓) ธรรมที่เป็นวิบาก ( คือเป็นผล ) ธรรมที่มีผลเป็นธรรมดา ( คือเป็นเหตุ ), ธรรมที่ ไม่เป็นทั้ง ๒ อย่างข้างต้น ( คือไม่ใช่ผล ไม่ใช่เหตุ ),

        (๔) ธรรมที่ถูกยึดถือและเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ, ธรรมที่ไม่ถูกยึดถือ แต่เป็นที่ตั้ง แห่งความยึดถือ, ธรรมที่ไม่ถูกยึดถือและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ.

        (๕) ธรรมที่เศร้าหมองและเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง, ธรรมที่ไม่เศร้าหมอง แต่เป็น ที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง, ธรรมที่ไม่เศร้าหมองและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง.

        (๖) ธรรมที่มีวิตก ( ความตรึก ) และมีวิจาร ( ความตรอง ), ธรรมที่ไม่มีวิตก ( ความ ตรึก ) มีแต่ เพียงวิจาร ( ความตรอง ), ธรรมที่ไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั้งวิจาร.

        (๗) ธรรมที่ประกอบด้วยปีติ ( ความอิ่มใจ ), ธรรมที่ประกอบด้วยความสุข, ธรรมที่ ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความวางเฉย ).

        (๘) ธรรมที่ละได้ด้วยทัสสนะ ( =การเห็น, คือธรรมที่ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ), ธรรมที่ละได้ด้วยภาวนา( =การอบรม, คือธรรมที่ละได้ด้วยสกทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค, อรหัตตมรรค ), ธรรมที่ละไม่ได้ด้วย ทัสสนะ ละไม่ได้ด้วยภาวนา.

        (๙) ธรรมที่มีเหตุอันพึงละได้ด้วยทัสสนะ ( ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ), ธรรมที่มีเหตุ อันพึงละได้ด้วยภาวนา ( ละได้ด้วยอริยมรรคทั้งสามเบื้องบน ), ธรรมที่มีเหตุอันพึงละไม่ได้ทั้งด้วยทัสสนะทั้งด้วยภาวนา.

        (๑๐) ธรรมที่ไปสู่ความสั่งสมกิเลส, ธรรมที่ไม่ไปสู่ความสั่งสมกิเลส, ธรรมที่ไม่เป็น ทั้งสองอย่างนั้น.

        (๑๑) ธรรมที่เป็นของพระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา (ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคจนถึง อรหัตตมรรค รวม ๗ ประเภท ), ธรรมที่เป็นของพระอริยบุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา ( ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ), ธรรมที่ไม่เป็นทั้งสอง อย่างนั้น.

        (๑๒) ธรรมที่เป็นของเล็กน้อย ( =ปริตตะ คือเป็นกามาวจร ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม ), ธรรมที่เป็นของใหญ่ ( =มหัตคตะ คือเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน ), ธรรมที่ไม่มีประมาณ ( คือเป็นโลกุตตรธรรม ได้แก่ มรรค, ผล, นิพพาน ).

        (๑๓) ธรรมที่มีอารมณ์เล็กน้อย, ธรรมที่มีอารมณ์ใหญ่, ธรรมที่มีอารมณ์ไม่ประมาณ.

        (๑๔) ธรรมอันเลว ( อกุศลธรรม ), ธรรมอันปานกลาง ( ธรรมที่เป็นกุศลและอัพยากฤต ที่ยังมีอาสวะ ), ธรรมอันประณีต ( โลกุตตรธรรม ).

        (๑๕) ธรรมที่เป็นฝ่ายผิดและแน่นอน, ธรรมที่เป็นฝ่ายถูกและแน่นอน, ธรรมที่ไม่แน่ นอน.

        (๑๖) ธรรมที่มีมรรคเป็นอารมณ์, ธรรมที่มีมรรเป็นเหตุ, ธรรมที่มีมรรคเป็นใหญ่ ( อธิบดี ).

        (๑๗) ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว, ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น, ธรรมที่จักเกิดขึ้น.

        (๑๘) ธรรมที่เป็นอดีต, ธรรมที่เป็นอนาคต, ธรรมที่เป็นปัจจุบัน.

        (๑๙) ธรรมที่มีอารมณ์เป็นอดีต, ธรรมที่มีอารมณ์เป็นอนาคต, ธรรมที่มีอารมณ์เป็น ปัจจุบัน.

        (๒๐) ธรรมที่เป็นภายใน, ธรรมที่เป็นภายนอก, ธรรมที่เป็นภายในและภายนอก.

        (๒๑) ธรรมที่มีอารมณ์ภายใน, ธรรมที่มีอารมณ์ภายนอก, ธรรมที่มีอารมณ์ภายใน และภายนอก.

        (๒๒) ธรรมที่เห็นได้และถูกต้องได้, ธรรมที่เห็นไม่ได้ แต่ถูกต้องได้, ธรรมที่เห็น ไม่ได้และถูกต้องไม่ได้.

         ๒. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มเหตุ ( เหตุโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมที่เป็นเหตุ, ธรรมที่มิใช่เหตุ ; ๒. ธรรมที่มีเหตุ, ธรรมที่ไม่มีเหตุ เป็นต้น.

         ๓. แม่บทหรือบทตั้งหมวดสองข้อไม่สัมพันธ์กัน คู่น้อย ( จูฬันตรทุกะ)

        มี ๗ คู่ คือ ๑. ธรรมที่มีปัจจัย, ธรรมที่ไม่มีปัจจัย ; ๒. ธรรมที่เป็นสังขตะ ( ถูก ปัจจัยปรุงแต่ง ) ; ธรรมที่เป็นอสังขตะ ( ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ) เป็นต้น.

         ๔. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มอาสวะ ( อาสวโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมที่เป็นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ), ธรรมที่มิใช่อาสวะ ; ๒. ธรรมที่อาสวะ, ธรรมที่ไม่มีอาสวะ เป็นต้น.

         ๕. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มสัญโญชน์ ( สัญโญชนโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมที่เป็นสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องผูกมัด ), ธรรมที่ไม่เป็นสัญโญชน์ ; ๒. ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์, ธรรมที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ เป็นต้น.

         ๖. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มคันถะ ( คันถโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นคันถะ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ), ธรรมที่ไม่เป็นคันถะ ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งคันถะ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งคันถะ เป็นต้น.

         ๗. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มโอฆะ ( โอฆโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นโอฆะ ( กิเลสเครื่องทำสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะ คือความ เวียนว่ายตายเกิด ), ธรรมอันไม่เป็นโอฆะ ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโอฆะ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งโอฆะ เป็นต้น.

         ๘. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มโยคะ ( โยคโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นโยคะ ( กิเลสเครื่องประกอบหรือผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ), ธรรมที่ไม่เป็นโยคะ ; ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโยคะ, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งโยคะ เป็นต้น.

         ๙. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มนีวรณ์ ( นีวรณโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นนีวรณ์ ( กิเลสเครื่องกั้นจิตรัดรึงจิต ), ธรรมอันไม่เป็น นีวรณ์ ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งนีวรณ์, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งนีวรณ์ เป็นต้น.

         ๑๐. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกลุ่มปรามาส ( ปรามาสโคจฉกะ )

        มี ๕ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นปรามาส ( กิเลสเครื่องจับต้องในทางที่ผิดความจริง ), ธรรมอันไม่เป็นปรามาส เป็นต้น.

         ๑๑. แม่บทหรือบทตั้งหมวดสองข้อที่ไม่สัมพันธ์กัน คู่ใหญ่ ( มหันตรทุกะ )

        มี ๑๔ คู่ คือ ๑. ธรรมที่มีอารมณ์, ธรรมที่ไม่มีอารมณ์ ; ๒. ธรรมที่เป็นจิต, ธรรมที่ มิใช่จิต เป็นต้น. ( ได้แปลคำอธิบายธรรมเหล่านี้ไว้เพียง ๙ คู่ ในหน้าในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๘๖-๙๔ เป็นการแปลตามคำ อธิบายแบบสั้น จากอัตถุทธารกัณฑ์ เล่มที่ ๓๔ นี้เอง ).

         ๑๒. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยอุปาทาน ( อุปาทานโคจฉกะ )

        มี ๖ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นอุปาทาน ( เป็นเหตุยึดถือ ), ธรรมอันไม่เป็นอุปาทาน ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นต้น.

         ๑๓. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยกิเลส ( กิเลสโคจฉกะ )

        มี ๘ คู่ คือ ๑. ธรรมอันเป็นกิเลส ( เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ), ธรรมอันไม่เป็นกิเลส ; ๒. ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส, ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส.

         ๑๔. แม่บทหรือบทตั้ง ว่าด้วยหมวด ๒ อันรั้งท้าย ( ปิฏฐิทุกะ )

        มี ๑๘ คู่ คือ ๑. ธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะ ( ละด้วยการเห็น คือละด้วยโสดาปัตติ มรรคอันเห็นนิพพาน ), ธรรมที่ไม่พึงละด้วยทัสสนะ ; ๒. ธรรมที่พึงละด้วยการเจริญ ( ละด้วยการเจริญ คืออริยมรรคทั้งสาม เบื้องบน, ธรรมที่ไม่พึงละด้วยการเจริญ เป็นต้น.

( จบแม่บทฝ่ายอภิธรรม )


    '๑' . คำว่า อภิธัมม เขียนตามแบบบาลี, อภิธรรม เขียนตามแบบไทย ซึ่งแปลงมาจากสันสกฤต อภิธรฺม

    '๒' . อรรถกถาเรียกว่า " อัตถกถากัณฑ์ " โดยชี้แจงว่าศิษย์ของพระสาริบุตรไม่เข้าใจ พระสาริบุตรจึงพา ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคให้ตรัสอธิบาย

    '๓' . ได้แก่สัญโญชน์ ๓ สำหรับข้อแรก, สัญโญชน์ ๓, ๕, ๑๐ สำหรับข้อ ๒, และธรรมที่ฝ่ายกุศลและ กลาง ๆ สำหรับข้อ ๓ ดูคำอธิบายข้างหน้าและดูเชิงอรรถหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ซึ่งมี เขียนไว้ดังนี้ว่า สัญโญชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัยและสีลัพพต- ปรามาส การลูบคลำศีลและพรต คือถือโชคลาง หรือติดในลัทธิพิธี และดูหน้า ( พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ ) ด้วย วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

    '๔' . คำว่า เหตุ ในที่นี้ กล่าวตามสำนวนอภิธรรม หมายถึงสัมปยุตตเหตุ คือเหตุที่เกิดขึ้นผสม ได้แก่เหตุ ฝ่ายชั่วคือกิเลสที่มาผสมกับนามธรรม และเป็นสมุฏฐานแห่งกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม.

    '๕' . คำว่าแน่นอน ไม่แน่นอน หมายถึงแน่นอนในการให้ผล ฝ่ายผิดคืออนันตริยกรรม ๕ และความเห็นผิด อย่างแรง ฝ่ายถูกคืออริยมรรค ๔ ธรรมที่ไม่แน่นอน คือนอกจากสองข้อที่กล่าวแล้ว

    '๖' . คำว่า ไม่สัมพันธ์กัน คือในหมวดนี้ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่เลือกธรรมะมากล่าวเป็นคู่ ๆ ไม่เหมือน หมวดที่มีคำว่า โคจฉกะ ซึ่งเป็นเรื่องประเภทเดียวกันตลอด


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ