บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๒๑
มหานิทเทส

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๒๒
จูฬนิเทส

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๒๓
ทางแห่งความแตกฉาน

 

เล่มที่ ๒๙ ชื่อขุททกนิกาย มหานิทเทส
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๑)

      เล่มนี้อรรถกถากล่าวว่า ชี้แจงว่า เป็นภาษิตของพระสาริบุตร ใจความทั้งหมดก็คือ ยกเอาสูตร ๑๖ สูตร ในสุตตนิบาต วรรคที่ ๔ คือตั้งแต่กามสูตร ถึงสาริปุตตสูตร ( ซึ่งในการย่อนี้เท่ากับสูตรที่ ๓๙ ถึงสูตรที่ ๕๔ ดูหน้า พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ )  จากหัวข้อเลขที่ ๓๙ - ๕๔ มาอธิบายอย่างละเอียดทีละตัวอักษร ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เล่มที่ ๒๙ นี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับอรรถกถาสุตตนิบาต เพราะอธิบายพระสูตร ๑๖ สูตร ในสุตตนิบาต ให้ชัดเจนขึ้น แต่เพราะเหตุที่เป็นคำอธิบายของพระสาริบุตร จึงได้รับยกย่องให้เข้าอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย ในที่นี้จะไม่ย่อ เพราะถือว่าได้ย่อพระสูตรทั้งสิบหกไว้แล้ว.


เล่มที่ ๓๐ ชื่อขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๒)

      เล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นภาษิตของพระสาริบุตร อธิบายพระสูตรอีก ๑๖ สูตร ในสุตตนิบาต คือ อธิบายคำถามคำตอบเกี่ยวกับมาณพ ๑๖ คน   ( ซึ่งย่อไว้เป็นสูตรที่ ๕๕ ถึง ๗๐ โปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ )   จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ซึ่งมี ๑๖ สูตร   เป็นการอธิบายคำถามคำตอบอย่างละเอียดทุกตัวอักษรเช่นกัน. นอกจากนั้นยังอธิบายขัคควิสาณสูตรที่ ๓ ในสุตตนิบาต ( หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ หน้าเดียวกัน ในหัวข้อเรื่องหมายเลข   ๕. สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตร ) อีกโดยพิสดาร จึงรวมเป็น ๑๗ สูตร.


เล่มที่ ๓๑ ชื่อปฏิสัมภิทามรรค
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๓)
( ทางแห่งความแตกฉาน )

      พระไตรปิฎกเล่มนี้ เป็นภาษิตของพระสาริบุตร อธิบายศัพท์ธรรมะต่าง ๆ อย่างวิจิตรพิสดารวิธีการอธิบาย คือถ้ามีพระพุทธภาษิตว่าด้วยเรื่องนั้น ก็นำมาตั้งไว้แล้วอธิบายขยายความอีกต่อหนึ่ง ถ้าไม่มีพระพุทธภาษิตอธิบายไว้โดยตรง ท่านผู้กล่าว ( คือพระสาริบุตร ) ก็ตั้งบทตั้งขึ้นเอง และอธิบายขยายความไปตามบทตั้งละเอียดต่อไป มีบางครั้งก็ตั้งภาษิตของพระอานนท์เป็นหัวข้อแล้วแจกอธิบายในภายหลัง.

      เนื่องจากศัพท์ธรรมะที่เป็นบทตั้งในการอธิบายมีอยู่ ๓๐ ศัพท์ หรือ ๓๐ ข้อ จึงแบ่งเป็นวรรคได้ ๓ วรรค ๆ ละ ๑๐ ข้อ คือ :-

       วรรคที่ ๑ ชื่อมหาวรรค แปลว่า หมวดใหญ่ มี ๑๐ เรื่อง คือ :-  ๑. ญาณะ ( ความรู้ )   ๒. ทิฏฐิ ( ความเห็น )   ๓. อานาปานะ ( ลมหายใจเข้าออก )   ๔. อินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน )   ๕. วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น )   ๖. คติ ( ที่ไปหรือทางไป )   ๗. กัมมะ ( การกระทำ )   ๘. วิปัลลาสะ ( ความคลาดเคลื่อนวิปริต )   ๙. มัคคะ ( หนทาง )   ๑๐. มัณฑเปยยะ ( ของใส่ที่ควรดื่ม เทียบด้วยคุณธรรม ).

       วรรคที่ ๒ ชื่อยุคนัทธวรรค แปลว่า หมวดที่ขึ้นต้นด้วยธรรมที่เทียมคู่ คือธรรมที่แฝดกัน ได้แก่สมถะและวิปัสสนา มี ๑๐ เรื่อง คือ :-    ๑๑. ยุคนัทธะ ( ธรรมที่เทียมคู่ )   ๑๒. สัจจะ (ความจริง )   ๑๓. โพชฌงค์ ( องค์แห่งการตรัสรู้ )    ๑๔. เมตตา ( ไมตรีจิตคิดให้เป็นสุข )   ๑๕. วิราคะ (ความคลายกำหนัด )   ๑๖.ปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน )   ๑๗. ธัมมจักกะ ( ล้อรถคือพระธรรม )   ๑๘. โลกุตตระ ( ธรรมที่ข้ามพ้นจากโลก )   ๑๙. พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ๒๐. สุญญะ ( ความว่างเปล่า ).

       วรรคที่ ๓ ชื่อปัญญาวรรค แปลว่า หมวดที่ขึ้นต้นด้วยปัญญา มี ๑๐ เรื่อง คือ :-   ๒๑. มหาปัญญา ( ปัญญาใหญ่ )   ๒๒. อิทธิ ( ฤทธิ์หรือความสำเร็จ )   ๒๓. อภิสมัย (การตรัสรู้ )   ๒๔. วิเวก ( ความสงัด )    ๒๕. จริยา ( ความประพฤติ )   ๒๖. ปาฏิหาริยะ ( ปาฏิหาริย์ = นำกิเลสไปเสีย )   ๒๗. สมสีสะ ( สิ่งที่สงบและสิ่งที่มีศีรษะ )     ๒๘. สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ )    ๒๙. วัปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง )    ๓๐.มาติกา ( แม่บท).

คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๑

    ๑. ญาณะ ( ความรู้ ) ข้อนี้มีบทตั้งแสดงถึงญาณ ( ความรู้ ) อันได้แก่ปัญญา ๗๓ ประการ พร้อมทั้งกล่าวว่า ในญาณ ๗๓ ประการเหล่านี้ ๖๗ ข้อเป็นของทั่วไปแก่พระสาวก ส่วนอีก ๖ ข้อไม่ทั่วไปแก่พระสาวก.   ในการอธิบายญาณต่าง ๆ นั้น บทตั้ง ( ซึ่งเป็นภาษิตของพระสาริบุตร มิใช่พระพุทธภาษิต ) อธิบายว่าปัญญาอย่างนั้น ๆ ชื่อว่าญาณ ขอยกตัวอย่างตั้งแต่ข้อที่ ๑ ไป รวม ๑๐ ดังนี้ :-

      ๑. ปัญญาในการเงี่ยโสต ( สดับ ) ชื่อว่าญาณอันสำเร็จด้วยการฟัง   ๒. ครั้นฟังแล้ว ( เกิด ) ปัญญาในการสำรวม ชื่อว่าญาณอันสำเร็จด้วยศีล   ๓. ครั้นสำรวมแล้ว ( เกิด ) ปัญญาในการตั้งจิตมั่น ชื่อว่าญาณอันสำเร็จด้วยการเจริญสมาธิ   ๔. ปัญญาในการกำหนดรู้ปัจจัย ชื่อว่าญาณในความตั้งอยู่แห่งธรรม ( ธัมมัฏฐิติญาณ )   ๕. ปัญญาในการรวบรวมธรรมที่เป็นอดีต,  อนาคต,   ปัจจุบัน แล้วกำหนดรู้ ชื่อว่าญาณในการพิจารณา ( สัมมสเน ญาณ )    ๖. ปัญญาในการพิจารณาเห็นความปรวนแปรแห่งธรรมอันเป็นปัจจุบัน ชื่อว่าญาณในการพิจารณาความเกิด ความเสื่อม ( อุทยัพพยานุปัสสเน ญาณ )    ๗. ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกดับ ชื่อว่าญาณในการเห็นแจ้ง ( วิปัสสเน ญาณ )   ๘. ปัญญาในความปรากฏเป็นของน่ากลัว ( แห่งสังขาร ) ชื่อว่าญาณ คือความรู้ในโทษ ( อาทีนเว ญาณ )    ๙. ปัญญาที่ทำให้เกิดการพิจารณาด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย ชื่อว่าญาณในความวางเฉยในสังขาร ( สังขารุเปกขาสุ ญาณ )   ๑๐. ปัญญาในการออกในการหมุนกลับจากเครื่องหมายแห่งสังขารภายนอก ชื่อว่าโคตรภูญาณ ( ต่อจากนี้เป็นการแสดงมัคคญาณ, ผลญาณ, วิมุตติญาณ, ปัจจเวกขณญาณเป็นต้น มีญาณในอริยสัจจ์ ๔   และในปฏิสัมภิทา ๔  เป็นที่สุดรวม ๖๗ ญาณ  เป็นญาณที่ทั่วไปแก่พระสาวก ).

      ส่วนญาณอีก ๖ ประการที่มีเฉพาะแก่พระพุทธเจ้า ไม่ทั่วไปแก่พระสาวก คือ    ๑. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ญาณหยั่งรู้อินทรีย์อันยิ่งหย่อนของสัตว์)    ๒.อาสยานุสยญาณ ( ญาณหยั่งรู้อาสัยคือความน้อมใจไปทั้งทางดีทางชั่ว และอนุสัยคือกิเลสที่นอนเนื่องในสันดานมีกามราคะ เป็นต้น มีอวิชชาเป็นที่สุด )   ๓. ยมกปาฏิหิรญาณ ( ญาณอันทำให้สามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้ คือปาฏิหาริย์เนื่องด้วยธาตุน้ำและธาตุไฟ แสดงออกพร้อมกัน )   ๔. มหากรุณาสมาบัตติญาณ ( ญาณในการเข้าสมาบัติ มีมหากรุณาเป็นอารมณ์ )    ๕. สัพพัญญุตญาณ ( ญาณคือความเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง )   ๖. อนาวรณญาณ ( ญาณอันไม่มีความข้องขัดไม่มีเครื่องกั้น ).

       ๒. ทิฏฐิ ( ความเห็น )    ในข้อนี้มีบทตั้งเป็นของพระสาริบุตรเอง โดย แสดงถึงที่ตั้งแห่งทิฏฐิ ๘ ประการ มีขันธ์,   อวิชชา,  ผัสสะ เป็นต้น,  เครื่องรึงรัดคือทิฏฐิ ๑๘ ประการ แจกตามชื่อกิเลสพวกทิฏฐิ ตัวทิฏฐิเอง ๑๖ ประการ มีอัสสาททิฏฐิ ( ความเห็นด้วยความพอใจ ) เป็นต้น,   ความยึดถือทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยอาการมากน้อย ต่างกันตามประเภทของทิฏฐิ,   โสดาปัตติมรรค เป็นการถอนขึ้นซึ่งที่ตั้งแห่งทิฏฐิ,  การลูบคลำด้วยความยึดถือว่า ขันธ์ ๕ อายตนะภายในภายนอก เป็นต้น  ว่าเป็นของเรา,   เราเป็นนั่น,   นั่นเป็นตัวตนของเรา จัดเป็นทิฏฐิ ในการอธิบายรายละเอียดนั้นได้ลงสุดท้ายด้วยนำพระพุทธภาษิตแสดงถึงบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ๑๐ ประการ  ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒)   หมายเลขหัวข้อที่ ๑ - ๒

       ๓. อานาปานะ ( ลมหายใจเข้าออก )    ในข้อนี้มีบทตั้งเป็นของพระ สาริบุตรเองเช่นกัน แสดงญาณความรู้ ๒๐๐ ประการ อันเกิดจากสมาธิว่า จะเกิดแก่ผู้เจริญสมาธิ คือสติกำหนดลมหายใจเข้าออก เช่น ญาณหยั่งรู้อันตรายของสมาธิ ๘ ประการ อุปการะของสมาธิ ๘ ประการ อันเป็นคู่ปรับกัน ( รวมเป็น ๑๖ ) คือความพอใจในกาม กับการออกจากกาม,   ความพยาบาท กับความไม่พยาบาท,   ความหดหู่ง่วงงุน กับความกำหนดหมายแสงสว่าง, ความฟุ้งสร้าน กับความไม่ฟุ้งสร้าน,  ความลังเลสงสัย กับการกำหนดธรรมะ,   ความไม่รู้ ( อวิชชา ) กับความรู้ ( ญาณะ ), ความไม่ยินดี กับความปราโมทย์, อกุศลธรรมทั้งปวง กับกุศลธรรมทั้งปวง เป็นต้น.

       ๔. อินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน )    ในข้อนี้มีบทตั้งที่เป็นของพระพุทธภาษิต แสดงถึงธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ( อินทีรย์ ) ๕ ประการ คือ ศรัทธา ( ความเชื่อ ), วิริยะ ( ความเพียร ), สติ ( ความระลึกได้ ), สมาธิ ( ความตั้งใจมั่น ), และปัญญา ( ความรู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้ ). ครั้นแล้วแจกรายละเอียดออกไปอีก.

       ๕. วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น )    บทตั้งในพระพุทธภาษิต แสดงถึงวิโมกข์ ๓ ประการ คือ วิโมกข์ที่ว่างเปล่า ( สุญญตวิโมกข์ ), วิโมกข์ที่ไม่มีนิมิต ( อนิมิตตวิโมกข์ ), วิโมกข์ที่ไม่มีที่ตั้ง( อัปปณิหิตวิโมกข์ ) ในรายละเอียด ได้แจกวิโมกข์ออกไป ๘๐ ประการ.

       ๖. คติ ( ที่ไปหรือทางไป )    บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงว่าการที่จะถึงพร้อมด้วยคติ คือเกิดในที่ดี ๆ ตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไปถึงเทพว่า แต่ละประการนั้นมีเหตุกี่อย่าง.

       ๗. กัมมะ ( การกระทำ )    บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แจกกรรมและผลของกรรมออกไปมากมาย เช่น กรรมได้มีได้เป็นแล้ว ผลของกรรมได้มีได้เป็นแล้ว, กรรมได้มีได้เป็นแล้ว แต่ผลของกรรมยังมิได้มีได้เป็น, กรรมได้มีได้เป็นแล้ว แต่ผลของกรรมกำลังมีกำลังเป็น เป็นต้น

       ๘. วิปัลลาสะ ( ความคลาดเคลื่อนวิปริต )    บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงวิปัลลาส ๔ ประการ คือความวิปัลลาสคลาดเคลื่อนแห่งสัญญา แห่งจิต แห่งความเห็น    ๑. ในสิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง   ๒. ในสิ่งเป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข    ๓. ในสิ่งมิใช่ตน ว่าเป็นตน   ๔. ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม และพระพุทธภาษิต แสดงความไม่วิปัลลาส คือที่ตรงกันข้าม.

       ๙. มัคคะ ( หนทาง )    บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงเนื้อความของคำว่า มรรค และแจกรายละเอียดว่า ในขณะแห่งโสดาบัตติมรรค จนถึงอรหัตตมรรค สัมมาทิฎฐิ ( ความเห็นชอบ ) ทำหน้าที่อย่างไร เป็นมรรคเป็นเหตุอย่างไร.

       ๑๐. มัณฑเปยยะ ( ของใสที่ควรดื่ม เทียบด้วยคุณธรรม ) นำเอาพระพุทธภาษิตในสังยุตตนิกายมาเป็นบทตั้ง แสดงของใสที่ควรดื่ม ๓ ประการ คือ    ๑. เทศนา ( การแสดงธรรม )   ๒. ผู้รับทาน ( คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทพ มนุษย์ และใคร ๆ ก็ตามที่เป็นผู้รู้แจ้ง )   ๓. พรหมจรรย์ ( การประพฤติดังพรหม คือเว้นการเสพกาม ซึ่งอธิบายว่า ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ ).    ในภาคอธิบายแสดงธรรมะ ฝ่ายดีฝ่ายเลวคู่กัน ให้เห็นว่าฝ่ายหนึ่งเป็นเสมือนของใสที่ควรดื่ม อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเสมือนกากที่ควรทิ้ง เช่น ความเชื่อ ( สิ่งที่ควรเชื่อ ) เป็นฝ่ายดี ความไม่เชื่อเป็นฝ่ายที่ควรทิ้ง ความเพียรเป็นฝ่ายดี ความเกียจคร้านเป็นฝ่ายที่ควรทิ้ง เป็นต้น.

คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๒

  ๑๑. ยุคนัทธะ ( ธรรมที่เทียมคู่ ) บทตั้งเป็นภาษิตของพระอานนท์ แสดงว่าภิกษุ ภิกษุณีจะพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระอานนท์ ก็มี ๔ ทาง คือ ๑. เจริญวิปัสสนา มีสมถะเป็นเบื้องต้น(เจริญปัญญาโดยเจริญสมาธิก่อน ) ๒. เจริญสมถะ มีวิปัสสนเป็นเบื้องต้น ( เจริญสมาธิโดยเจริญปัญญาก่อน ) ๓. เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน ๔. มีจิตแยกจากความฟุ้งสร้านในธรรม   ( โปรดดูที่ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔ ด้วย )   หมายเลขหัวข้อที่ ๒ - ๓ ต่อจากนั้นเป็น คำอธิบายโดยละเอียด.

       ๑๒. สัจจะ ( ความจริง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิตแสดงความจริงคืออริยสัจจ์ ๔ ประการพร้อมด้วยคำอธิบายโดยละเอียด.

       ๑๓. สัจจะ ( ความจริง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงโพชฌงค์๗ ประการ คือคติ ( ความระลึกได้ ),    ธัมมวิจยะ ( การเลือกเฟ้นธรรมะ ),   วิริยะ ( ความเพียร ),   ปีติ ( ความอิ่มใจ),   ปัสสัทธิ์( ความสงบใจ ),   สมาธิ ( ความตั้งใจมั่น ),    อุเบกขา ( ความวางเฉย ).  ในภาคอธิบาย ได้แสดงวิเคราะห์ศัพท์อย่างพิสดาร.

       ๑๔. เมตตา ( ไมตรีจิตคิดให้เป็นสุข ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ ( ดังที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๔ ด้วย ) ในข้อ เอกาทสกนิบาต (ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๑ ข้อ) ในภาคอธิบายได้แสดงถึงเมตตาเจโตวิมุติ ที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงและโดยเจาะจงหลายวิธี.

       ๑๕. วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตรแสดงว่าวิราคะเป็นมรรควิมุติ ( ความหลุดพ้น ) เป็นผล.

       ๑๖. ปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วแสดงความแตกฉาน ๔ อย่างโดยละเอียด.

       ๑๗. ธัมมจักกะ ( ล้อรถคือพระธรรม ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิตบางตอนในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เฉพาะที่ว่าด้วยฌานเห็นอริยสัจจ์ ๔ ประการ แล้ววิเคราะห์ศัพท์โดยพิสดาร.

       ๑๘. โลกุตตระ ( ธรรมที่ข้ามพ้นจากโลก ) บทตั้งเป็นภาษิตของ พระสาริบุตร แสดงโลกุตตรธรรม คือ สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔,   สัมมัปปธาน ( เพียรชอบ ) ๔,   อิทธิบาท ( ธรรมที่ให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔,    อินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ) ๕,    พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ๕,   โพชฌงค์ ( องค์แห่งการตรัสรู้ ) ๗,   มรรค ( หนทางหรือข้อปฏิบัติ ) มีองค์ ๘,   อริยมรรค ๔,   สามัญญผล ๔,   นิพพาน ( พึงสังเกตุว่า บทตั้งนี้แสดงโลกุตตรธรรม ด้วยชี้ไปที่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ) แล้วแสดงวิเคราะห์ศัพท์.

       ๑๙. พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิตเรื่องพละคือธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ได้แก่ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา. แล้วได้แสดงพละตามนัยอื่นอีก รวม ๖๘ ประการ.

       ๒๐. สุญญะ ( ความว่างเปล่า ) บทตั้งเป็นเรื่องแสดงว่าพระอานนท์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า ที่ว่าโลกสูญ ๆ นั้นด้วยเหตุเพียงเท่าไร ตรัสตอบว่า เพราะเหตุที่สูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน จึงชื่อว่าโลกสูญ แล้วได้ตรัสแจกอายตนะภายในมีตา เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น รวมทั้งวิญญาณ,ผัสสะ, เวทนา ว่าล้วนสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน. ในภาคอธิบายได้กล่าวถึงความสูญ, ความสูญจากสังขาร, ความสูญเพราะปรวนแปร, ความสูญที่เลิศคือพระนิพพาน, ความสูญจากลักษณะ, ความสูญตามลักษณะวิมุติ ๕ เป็นต้น จนถึงความสูญโดยปรมัตถ์ คือสูญโดยประการทั้งปวง.

คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๓

       ๒๑. มหาปัญญา ( ปัญหาใหญ่ ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงว่าเจริญอนิจจานุปัสสนา ( การพิจารณาเห็นเป็นของไม่เที่ยง ) ทำให้ชวนปัญญา ( ปัญญาอันเหมือนฝีเท้า ) ให้บริบูรณ์, เจริญทุกขานุปัสสนา ( การพิจารณาเห็นเป็นทุกข์ ) ทำให้นิพเพธิกปัญญา ( ปัญญาอันชำแรกกิเลส ) ให้บริบูรณ์, เจริญอนัตตานุปัสสนา ( การพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ตน ) ทำให้มหาปัญญา ( ปัญญาใหญ่ ) บริบูรณ์ เป็นต้น.

       ๒๒. อิทธิ ( ฤทธิ์หรือความสำเร็จ ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงความหมายของคำว่า ฤทธิ์ ( คือความสำเร็จ ) แสดงฤทธิ์ ๑๐ อย่าง คือ    ๑. ฤทธิ์อันเกิดจากการอธิฐาน   ๒. ฤทธิ์เกิดจากการบันดาล ( วิกุมพพนา )   ๓. ฤทธิ์เกิดจากใจ   ๔. ฤทธิ์เกิดจากการแผ่ญาณ   ๕. ฤทธิ์เกิดจากการแผ่สมาธิ   ๖. ฤทธิ์อันเป็นอริยะ ( ในการพิจารณาธรรมะ )   ๗. ฤทธิ์เกิดจากผลของกรรม   ๘. ฤทธิ์ของผู้มีบุญ   ๙. ฤทธิ์เกิดจากวิชชา   ๑๐. ฤทธิ์มีการประกอบถูกส่วนเป็นปัจจัย. นอกจากนั้นยังแสดงภูมิของฤทธิ์ ๔   คือฌาน ๔  เป็นต้น.

       ๒๓. อภิสมยะ ( การตรัสรู้ ) บทตั้งเป็นพระสาริบุตร แสดงว่าการตรัสรู้ มีได้ด้วยจิตและด้วยญาณ เป็นต้น.

       ๒๔. วิเวกะ ( ความสงัด ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต ที่ว่าการงานใด ๆ ก็ตาม ที่พึงทำด้วยกำลัง การงานนั้น ๆ ทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดินฉันใด ภิกษุจะเจริญ ทำให้มากซึ่งอริยมรรค มีองค์ ๘ ก็ต้องอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลฉันนั้น แล้วตรัสแจกรายละเอียดออกไปถึงการเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น อันอาศัยความสงัด อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อาศัยการสละ แล้วแจกความสงัด, วิราคะ, นิโรธ, การสละ ออกไปอีกอย่างละ ๕ ข้อ คือ วิกขัมภนะ ( การข่มด้วยฌาน ), ตทังคะ ( องค์นั้นคือ สมาธิ ที่มีส่วนในการชำแรกหรือทำลายทิฏฐิ ),สมุจเฉท ( การตัดขาดด้วยมรรคอันเป็นโลกาตตระ ), ปฏิปัสสัทธิ ( การสงบระงับด้วยผล ) นิสสรณะ ( การแล่นออก คือนิโรธ หรือนิพพาน ).

       ๒๕. จริยา ( ความประพฤติ ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงจริยา ๘ ประการ คือ ๑. อิริยาปถจริยา ความประพฤติตามอิริยาบท คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน, ๒. อายตนจริยา ความประพฤติตามอายตนะภายในภายนอก, ๓. สติจริยา ควาประพฤติในการตั้งสติ ๓ อย่าง, ๔. สมาธิจริยา ( ความประพฤติในฌาน ๔ ),๕. ญาณจริยา ความประพฤติในอริยสัจจ์ ๔, ๖. มัคคจริยา ความประพฤติในมรรค ๔, ๗. ปัตติจริยา ความประพฤติในผล ๔, ๘. โลกัตถจริยา ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก บางส่วนเป็นของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางส่วนเป็นของพระปัจเจกพุทธเจ้า บางส่วนเป็นของพระสาวก. นอกจากนั้นยังแสดงจริยา ๘ อีก ๒ นัย.

       ๒๖. ปาฏิหาริยะ ( ปาฏิหาริย์-การนำไปเสีย ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงปาฏิหาริย์ ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์, อเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจ ทายได้เป็นอัศจรรย์, อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สั่งสอนเป็นอัศจรรย์. พร้อมทั้งพระพุทธภาษิตอธิบายปาฏิหาริย์ ๓ โดยละเอียด. ในภาคอธิบาย วิเคราะห์ศัพท์ปาฏิหาริย์ว่า นำไปเสีย คือนำกิเลสต่าง ๆ ไปเสีย.

       ๒๗. สมสีสะ ( สิ่งที่สงบและสิ่งที่มีศีร์ษะ )  บทตั้งเป็นพระสาริบุตร ให้คำอธิบายเพียงสั้น ๆ ว่า ปัญญาที่เห็นความไม่ปรากฏแห่งกิเลสในการตัดขาดและในการดับแห่งธรรมทั้งปวง ชื่อว่าญาณ คือความรู้ในเนื้อความแห่งสมสีสะ. ในภาคอธิบาย แสดงธรรมฝ่ายดีตั้งแต่เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จนถึงอรหัตตมรรค ว่าเป็นสมะ คือความสงบ และแสดงธรรมที่มีศีร์ษะรวม ๑๓ ประการ คือตัณหา มีความกังวลเป็นศีร์ษะ, มานะ มีความผูกพันเป็นศีร์ษะ, ทิฏฐิ มีความลูบคลำ ( ปรามาส ) เป็นศีร์ษะ, ความฟุ้งสร้าน มีความส่ายไปเป็นศีร์ษะ, อวิชชา มีกิเลสเป็นศีร์ษะ, ศรัทธา มีความน้อมใจเชื่อศีร์ษะ, วิริยะความเพียร มีความประคองเป็นศีร์ษะ, สติ มีความปรากฏเป็นศีร์ษะ, สมาธิ มีความไม่ส่ายไปเป็นศีร์ษะ, ปัญญามีการเห็นเป็นศีร์ษะ, ชีวิตินทรีย์ มีความเป็นไปเป็นศีร์ษะ, วิโมกข์ มีโคจรคืออารมณ์เป็นศีร์ษะ, นิโรธมีสังขารเป็นศีร์ษะ, ( คำว่า ศีร์ษะ น่าจะหมายความว่าเป็นส่วนสำคัญ ).

       ๒๘. สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงสติปัฏฐาน ๔ ประการ ( รายละเอียดโปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๒ ด้วย ) หมายเลขหัวข้อที่ ๒๔

       ๒๙. วิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงว่าเป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุพิจารณาเห็นสังขารว่าเที่ยง, เป็นสุข, เป็นอัตตา จะทำให้แจ้งโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตผล ในทางดีคือที่ตรงกันข้าม

       ๓๐. มาติกา ( แม่บท ) บทตั้งเป็นภาษิตของพระสาริบุตร แสดงเรื่องวิโมกข์, วิชชา ( ความรู้ ), วิมุติ ( ความหลุดพ้น ), อธิศีล, อธิจิต, อธิปัญญา, ปัสสัทธิ ( ความสงบระงับ ), ญาณ ( ความรู้ ),ทัสสนะ ( ความเห็น ), สุทธิ ( ความบริสุทธิ์ ), เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ), นิสสรณะ ( ความพ้นไป ความแล่นออก ),ปวิเวกะ ( ความสงัด ), โวสสัคคะ ( ความสละ ), จริยา ( ความประพฤติ ), ฌานวิโมกข์ ( ความพ้นด้วยฌาน ), ภาวนาธิฏฐานชีวิต ( ความเป็นอยู่โดยการเจริญความดีโดยตั้งใจมั่น ) แล้วอธิบายทีละศัพท์โดยละเอียด.

สรูป

      พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ นี้ สมที่ตั้งชื่อว่าปฏิสัมภิทามรรค ( ทางแห่งความแตกฉาน ) เพราะอธิบายธรรมะข้อเดียว แจกรายละเอียดออกไปเป็นสิบเป็นร้อยข้อ ทำให้เข้าใจศัพท์ และความหมายแตกฉาน แต่ที่ย่อมาแสดงเพียงเท่านี้สำหรับประชาชนทั่วไป แม้เช่นนั้น ก็รู้สึกว่าจะยังยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้านึกว่าธรรมะก็มีตั้งแต่อย่างต่ำเข้าใจง่าย จนถึงอย่างสูงเข้าใจยาก ก็คงทำให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระไตรปิฎกได้บ้าง.

จบเล่มที่ ๓๑ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค


    '๑' . โปรดดูคำอธิบายในตอนที่ยกอธิบายทีละศัพท์ต่อไป

    '๒' . ญาณข้อนี้ คือรู้ว่า มีกิเลสน้อยกิเลสมาก มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันเป็นอินทรีย์ คือธรรมที่เป็นใหญ่ กล้า หรืออ่อน มีอาการดี มีอาการเลว เป็นต้น

    '๓' . คำนี้ตามที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงดับกิเลส พร้อมด้วยดับชีวิต

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ