บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
อภิธัมมปิฎก

พระอภิธัมมปิฎก
เล่ม ๓


เล่มที่ ๓๖ ชื่อธาตุกถาและ
ปุคคลปัญญัตติ


 

หน้าที่ ๑


๑. ธาตุกถา
ตัวอย่างข้อที่ ๑
ตัวอย่างข้อที่ ๒
ตัวอย่างข้อที่ ๓
ตัวอย่างข้อที่ ๔
ตัวอย่างข้อที่ ๕
ตัวอย่างข้อที่ ๖

 
๒. ปุคคลบัญญัตติ
บุคคลจำนวน ๑
บุคคลจำนวน ๒
บุคคลจำนวน ๓
บุคคลจำนวน ๔
บุคคลจำนวน ๕
บุคคลจำนวน ๖
บุคคลจำนวน ๗
บุคคลจำนวน ๘
บุคคลจำนวน ๙
บุคคลจำนวน ๑๐

 

เล่มที่ ๓๖ ชื่อธาตุกถาและปุคคลบัญญัตติ

( เป็นอภิธัมมปิฎก )

   พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งหัวข้อใหญ่ออกเป็น ๒ ส่วน คือธาตุกถาและปุคคลปัญญัตติ ดังจะกล่าวต่อไป.

   การแยกกลุ่มหรืออธิบายแจกรายละเอียดของธรรมะต่าง ๆ ออกไปในเล่มที่ ๓๕ นี้ มี ๑๘ หมวด คือ

    ธาตุกถา ถ้อยคำว่าด้วยธาตุ เนื้อหาสำคัญของเรื่องนี้คือคำที่เป็นบทในภิวังค์ ๑๓ หัวข้อ ตั้งแต่ขันธ์จนถึงอัปปมัญญาตามลำดับ กับหัวข้อธรรมในธัมมสังคณี จะนำมาสงเคราะห์เข้ากันได้หรือไม่ได้กับธรรม ๓ ประการ คือ ขันธ์, อายตนะ, ธาตุ, ด้วยเหตุนี้พระนยานติโลกะพระเถระชาวเยอรมัน ผู้เรียบเรียงเรื่องนำทาง อภิธัมมปิฎก ( Guide Through the Abhidhamma-Pitaka ) จึงสันนิษฐานว่าชื่อเดิมของเรื่องนี้น่าจะเป็น ขันธ-อายตนะ-ธาตุกถา เพราะนำเอา ธรรมต่าง ๆ มาสงเคราะห์หรือไม่สงเคราะห์กับธรรม ๓ อย่างนี้เท่านั้น แต่เรียกย่อยเป็นธาตุกถา แต่ข้าพเจ้าผู้จัดทำหนังสือนี้มี ความเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง คือที่เรียกว่าธาตุกถานั้น พิจารณาดูเนื้อหาแล้ว ถ้าจะเทียบกับความรู้สมัยเก่า ตือการเล่นแร่ แปลธาตุฉลาดรู้ว่านำสิ่งนี้ไปผสมกับสิ่งนั้นจะเป็นอะไร อะไรผสมกับอะไรไม่ได้ ถ้าจะเทียบกับความรู้สมัยใหม่ ก็คือความรู้ทั้ง ทางฟิสิคส์และเคมี คือรู้คุณสมบัติของสารว่าอะไรเป็นอะไร เข้ากันไม่ได้ ในทางฟิสิคส์ และเคมีอย่างไร เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ยุ่งยากสำหรับผู้ไม่สนใจ แต่วิชาก็ต้องเป็นวิชา เพราะฉะนั้น จึงมีผู้เรียนรู้และหาประโยชน์ได้ เมื่อวิธีการเป็นเช่นนี้ จึงตั้งชื่อรวม ว่า ธาตุกถา ถ้อยคำว่าด้วยธาตุ ( รู้จักแยกธาตุ ผสมธาตุ ).

    ปุคคลปัญญัตติ บัญญัติบุคคลเป็นการกล่าวถึงการบัญญัติ (ทำให้รู้ทั่ว ๆ กัน ) ว่า บุคคลประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างไร มีชื่อเรียกว่าอย่างไร.

   ในการย่อความขยายความต่อไปนี้ จะนำมากล่าวพอให้เห็นเค้าโครงหน้าตาของแต่ละเรื่อง ส่วนรายละเอียด ปลีกย่อยจะผ่านไป.

ขยายความ

ธาตุกถา

       ธาตุกถาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือเป็น มาติกาหรือบทตั้ง ส่วนหนึ่ง, เป็น นิทเทสหรือคำอธิบายบทตั้ง อีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากบทตั้งพูดไว้รวม ๆ ในบทอธิบาย จึงพยายามจัดหัวข้อของบทตั้ง เพื่อสะดวกในการอธิบายไว้ ๑๔ บทดังต่อไปนี้

       ๑. บทว่าด้วยการสงเคราะห์เข้ากันได้ กับสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ ( สังคหาสังคหาบท )

       ๒. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งได้แล้ว แต่เข้ากับอย่างอื่นไม่ได้( สังคหิเตน อสังคหิตบท )

       ๓. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่เข้ากับอย่างอื่นได้( อสังคหิเตน สังคหิตบท )

       ๔. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งได้แล้ว ยังเข้ากับอย่างอื่นได้ด้วย( สังคหิเตน สังคหิตบท )

       ๕. บทว่าด้วยธรรมที่เข้ากับอย่างหนึ่งไม่ได้ ทั้งยังเข้ากับอย่างอื่นไม่ได้ด้วย( อสังคหิเตน อสังคหิตบท )

       ๖. บทว่าด้วยการประกอบกันได้ กับประกอบกันไม่ได้( สัมปโยควิปปโยคบท )

       ๗. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งได้แล้ว แต่ประกอบกับอย่างอื่นไม่ได้ ( สัมปยุตเตน อสัมปยุตตบท)

       ๘. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ประกอบกับอย่างอื่นได้ ( อสัมปยุตเตน สัมปยุตตบท)

       ๙. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งได้แล้ว ยังประกอบกับอย่างอื่นได้ด้วย ( สัมปยุตเตน อสัมปยุตตบท)

     ๑๐. บทว่าด้วยธรรมที่ประกอบกับอย่างหนึ่งไม่ได้ ทั้งยังประกอบกับอย่างอื่นไม่ได้ด้วย (อสัมปยุตเตน อสัมปยุตตบท)

       ๑๑. บทว่าด้วยธรรมที่ เข้ากันได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว ประกอบกันได้หรือ ประกอบกันไม่ได้ กับอะไร( สังคหิเตน- สัมปยุตตวิปปยุตตบท )

       ๑๒. บทว่าด้วยธรรมที่ ประกอบกันได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว เข้ากันได้หรือ เข้ากันไม่ได้ กับอะไร( สัมปยุตเตน สังค-หิตาสังคหิตบท )

       ๑๓. บทว่าด้วยธรรมที่ เข้ากันไม่ได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว ประกอบกันได้หรือ ประกอบกันไม่ได้ กับอะไร( อสังคหิเตน สัมปยุตตวิปปยุตตบท )

       ๑๔. บทว่าด้วยธรรมที่ ประกอบกันไม่ได้ กับอย่างหนึ่งแล้ว เข้ากันได้หรือ เข้ากันไม่ได้ กับอะไร( อสัมปยุตเตน สังคหิตาสังคหิตบท )

       จากบทตั้ง ๑๔ ข้อเหล่านี้ ถ้าท่านผู้อ่านพยายามเข้าใจความหมายของคำว่า เข้ากันได้ ( คือเป็นประเภทเดียวกัน ) ประกอบกันได้( คือเกิดดับพร้อมกัน ) ให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นการวิเคราะห์อย่าง ละเอียดลออเพียงไร ต่อไปนี้จะแสดงตัวอย่างประกอบเพียง ๖ ข้อเป็นลำดับไป.

ตัวอย่างข้อที่ ๑

( การเข้ากันได้กับการเข้ากันไม่ได้ )

       กองรูป ( รูปขันธ์ ) เข้ากันได้ กับขันธ์หนึ่ง ( คือรูปขันธ์ ), เข้ากันได้ กับอายตนะ ๑๑ ( เว้นอายตนะคือใจ ), เข้ากันได้ กับธาตุ ๑๑ ( เว้นมโนธาตุ กับวิญญาณธาตุทั้งหก ) ; เข้ากันไม่ได้ กับขันธ์ ๔ ( เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, ซึ่งเป็นนาม ) เข้ากันไม่ได้ กับอายตนะ ๑ ( อายตนะคือใจ ) เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๗ ( มโนธาตุกับวิญญาณธาตุทั้งหก ).

ตัวอย่างข้อที่ ๒

( เข้ากับอย่างหนึ่งได้ แต่เข้ากับอย่างอื่นไม่ได้ )

       ธรรมที่เข้ากันได้กับอายตนะ คือ ตา, รูป ; หู, เสียง ; จมูก, กลิ่น ; ลิ้น, รส ; กาย, สิ่งที่ถูก ต้องได้ด้วยกาย ( โผฏฐัพพะ ). ธรรมที่เข้ากันได้กับธาตุ คือ ตา, รูป ; หู, เสียง ; จมูก, กลิ่น ; ลิ้น, รส ; กาย. โผฏฐัพพะ โดย การสงเคราะห์เข้ากันได้โดยขันธ์ สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ โดยอายตนะและโดยธาตุ ธรรมเหล่านั้นสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๔ ( เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ). เข้ากันไม่ได้กับอายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจ, อายตนะคือธรรม ) เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๘ ( วิญญาณธาตุ ๖, มโนธาตุ, ธัมมธาตุ ).

ตัวอย่างข้อที่ ๓

เข้ากันไม่ได้กับสิ่งหนึ่ง แต่เข้ากันได้กับสิ่งอื่น ๆ

       ธรรมที่เข้ากันไม่ได้กับเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์ ; ธรรมที่เข้ากันไม่ได้กับ สมุทยสัจจ์, มัคคสัจจ์ โดยขันธสงเคราะห์ ( โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์ ) แต่เข้ากันได้ โดยอายตนสงเคราะห์ และ โดยธาตุสงเคราะห์ ( โดยการจัดประเภทเข้ากันทางอายตนะและทางธาตุ ). ธรรมเหล่านั้นเว้นอสังขตะ ( พระนิพพาน ) ซึ่งเข้ากัน ไม่ได้โดยขันธ์ ย่อมเข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๓ เข้ากันได้กับอายตนะ ๑ ( ธัมมายตนะ ), เข้ากันได้กับธาตุ ๑ ( ธัมมธาตุ ).

ตัวอย่างข้อที่ ๔

( เข้ากันได้กับสิ่งหนึ่ง ทั้งเข้ากันได้กับสิ่งอื่นด้วย )

       ก. ธรรมเหล่าใด เข้ากันได้กับสมุทยสัจจ์ เข้ากันได้กับมัคคสัจจ์ โดยขันธสงเคราะห์ โดย อายตนสงเคราะห์ โดยธาตุสงเคราะห์ ( โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ).

       ข. ธรรมเหล่าใด เข้ากันได้กับธรรมเหล่านั้น ( ที่กล่าวในข้อ ก. ) โดยจัดประเภทเข้ากับทาง ขันธ์, อายตนะ, ธาตุ.

       ค. ธรรมเหล่านั้น ( ทั้งข้อ ก. และข้อ ข. ) เข้ากันได้กับขันธ์ ๑, อายตนะ ๑, ธาตุ ๑.

       (หมายเหตุ : อรรถกถาอธิบายว่า เป็นการยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เข้ากันได้ทั้งใน ฐานะเป็นขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นธาตุ เพราะฉะนั้น จึงพึงเข้าใจว่าในข้อ ก. ธรรมที่เข้ากันได้กับสมุทยสัจจ์ กับธรรมที่เข้ากันได้ กับมรรคสัจจ์ เป็นต่างฝ่ายกัน )

ตัวอย่างข้อที่ ๕

( เข้ากันไม่ได้กับสิ่งหนึ่ง เข้ากันไม่ได้กับสิ่งอื่นด้วย )

       ก. ธรรมเหล่าใด เข้ากันไม่ได้กับรูปขันธ์ โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์, ทางอายตนะ, ทางธาตุ.

       ข. ธรรมเหล่าใด เข้ากันไม่ได้กับธรรมเหล่านั้น ( ในข้อ ก. ) โดยจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์, ทางอายตนะ, ทางธาตุ.

       ค. ธรรมเหล่านั้น เข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๑, เข้ากันไม่ได้อายตนะ ๑, เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๗.

       (หมายเหตุ : อรรถกถาอธิบายข้อความข้างบนนี้เป็น ๒ นัย ได้ผลคือคำตอบตรงกัน กล่าวคือนัยที่ ๑ ขันธ์ ๔ ( เว้นรูปขันธ์ ) และนิพพาน เข้ากันไม่ได้กับรูปขันธ์ โดยการจัดประเภทเข้ากันทางขันธ์ แต่ ธรรมเหล่านั้น เว้นวิญญาณ เข้ากันได้ ( กับรูป ) โดยการจัดประเภทเข้ากันทางอายตนะและธาตุ เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเข้า กันไม่ได้ ( กับรูป ) โดยการจัดประเภททั้งทางขันธ์อายตนะและธาตุ. ขันธ์ ๔ ( เว้นวิญญาณ ) และนิพพาน เข้าไม่ได้กับ วิญญาณ โดยการจัดประเภททางขันธ์ เป็นต้น อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด เข้ากันไม่ได้กับวิญญาณอย่างเดียว โดยการจัด ประเภททางขันธ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเข้ากันไม่ได้กับขันธ์ ๑ ( คือวิญญาณขันธ์ ), เข้ากันไม่ได้กับอายตนะ ๑ ( คือ มนายตนะ ) เข้ากันไม่ได้กับธาตุ ๗ ( คือวิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑ ). นัยที่ ๒ วิญญาณเข้ากันไม่ได้กับรูปขันธ์ โดย การสงเคราะห์ทั้งสามประเภท, รูปธรรมจึงเข้ากันไม่ได้กับวิญญาณธรรม โดยการสงเคราะห์ทั้งสามประเภท. วิญญาณเป็นขันธ์ เดียว คือวิญญาณขันธ์เป็นอายตนะเดียว คือมนายตนะ กล่าวโดยธาตุ เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ).

ตัวอย่างข้อที่ ๖

( การประกอบกัน และการไม่ประกอบกัน )

       รูปขันธ์ ที่ประกอบกับขันธ์, อายตนะ, ธาตุใด ๆ ไม่มี ( ไม่เกิดกันกับพร้อมกับอะไร ), ไม่ ประกอบกับขันธ์ ๔ ( เว้นรูปขันธ์ ), ไม่ประกอบกับอายตนะ ๑ ( คือมนายตนะ ), ไม่ประกอบกับธาตุ ๗ ( วิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑ หรือจะเรียกว่าวิญญาณธาตุทั้งเจ็ดก็ได้ ), ไม่ประกอบกับธรรมใด ๆ ที่เนื่องด้วยอยาตนะ ๑ เนื่องด้วยธาตุ ๑ (คือไม่ ประกอบด้วยเวทนา, สัญญา, สังขาร, ที่เนื่องด้วยธัมมายตนะและธัมมธาตุ ),

       ได้แสดงให้เห็นตัวอย่างในธาตุกถามาพอสมควรแล้ว อีก ๘ ข้อ ที่เหลือพึงทราบโดยพิจารณา จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว.

ปุคคลบัญญัติ

       การบัญญัติบุคคลอันเป็นหัวข้อใหญ่ที่ ๒ ในเล่มที่ ๓๖ นี้ เริ่มบทต้นแสดง การบัญญัติ ๖ ประเภทคือ :-

       ๑. บัญญัติขันธ์ คือขันธ์ ๕ มีรูป เป็นต้น

       ๒. บัญญัติอายตนะ คืออายตนะ ๑๒ มีอายตนะคือตา เป็นต้น

       ๓. บัญญัติธาตุ คือธาตุ ๑๘ มีธาตุคือตา เป็นต้น

       ๔. บัญญัติสัจจะ คืออริยสัจจ์ ๔ มีสัจจะคือทุกข์ เป็นต้น

       ๕. บัญญัติอินทรีย์ คืออินทรีย์ ๒๒ มีอินทรีย์คือตา เป็นต้น

       ๖. บัญญัติบุตตล แจกเป็นประเภทที่มีจำนวน ๑ ประเภทที่มีจำนวน ๒ จนถึง ประเภทที่มีจำนวน ๑๐

       ความสำคัญของเรื่องอยู่ที่คำอธิบายบุคคลทุกประเภทโดยคุณธรรม ต่อไปนี้จะแสดงพอเป็น ตัวอย่าง ประเภทที่มีจำนวน ๑ ถึงจำนวน ๑๐ พอให้เป็นทั้งบทตั้งและคำอธิบาย.

บุคคลที่มีจำนวน ๑

       เช่น สมยวิมุตโต ผู้พ้นโดยสมัย คือพ้นจากกิเลสได้เป็นครั้งคราว คำอธิบายกล่าวว่า ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย เห็นธรรมด้วยปัญญา อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) บางส่วนสิ้นไปเป็นครั้งคราว.

        อสมยวิมุตโต ผู้พ้นไม่มีสมัย คือพ้นจากกิเลสมิใช่เป็นคราว ๆ คำอธิบายกล่าวว่า ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย เห็นธรรมด้วยปัญญา อาสวะสิ้นไป มิใช่เป็นครั้งคราว. พระอริยบุคคลทุกประเภท ชื่อว่า ผู้พ้นโดยไม่มีสมัยในวิโมกข์อันเป็นอริยะ ( วิโมกข์ ๘ มีอะไรบ้าง โปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกายมหาวัคค์ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘).

        ปุถุชชโน ผู้ที่ยังหนาไปด้วยกิเลส คำอธิบายกล่าวว่า ยังละสัญโญชน์ ๓ ไม่ได้ ทั้ง ไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้น ( สัญโญชน์ ) ด้วย.

        โคตรภู ผู้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระอริยะกับบุถุชน คำอธิบายกล่าวว่า ความก้าวลง แห่งอริยธรรม ย่อมมีในลำดับแห่ง ( คือถัดจาก ) ธรรมเหล่าใด ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ( ประกอบด้วยธรรมที่พอถัดไปก็เป็น อริยธรรม ).

        ภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วเพราะกลัว ได้แก่พระเสขะ ๗ ประเภท (ผู้ตั้งอยู่ในโสดา- ปัตติมรรค จนถึงอรหัตตมรรค ) กับบุถุชนผู้มีศีล.

        อภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว ได้แก่พระอรหันต์.

        สมสีสี ผู้มีศีร์ษะ คือสุดยอดเสมอกัน คือความสิ้นอาสวะ และความสิ้นชีวิตมีพร้อม กัน ( สิ้นชีวิตพร้อมทั้งสิ้นกิเลส ) ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๒

       เช่น๑. โกธโน ผู้โกรธ, ๒. อุปนาหี ผู้ผูกโกรธ ; ๑. ทุพพโจ ผู้ว่ายาก, ๒. ปาปมิตโต ผู้คบคนชั่วเป็นมิตร ; ๑. ติตโต ผู้อิ่มเอง, ๒. ตัปเปตา ผู้ทำผู้อื่นให้อิ่ม ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๓

       เช่น๑. นิราโส ผู้ไม่มีความหวัง, ๒. อาสังโส ผู้หวัง ๓. วิคตาโส ผู้ปราศจากความหวัง ( อยู่เหนือความหวัง เอาชนะความหวังได้ ) ; ๑. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล, ๒. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ, ๓. ผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๔

       เช่น๑. สาวัชโช ผู้มีโทษ, ๒. วัชชพหุโล ผู้มากไปด้วยโทษ, ๓. อปัปสาวัชโช ผู้มีโทษน้อย, ๔. อนวัชโช ผู้ไม่มีโทษ ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๕

       เช่น ๑. ผู้ให้แล้วดูหมิ่น, ๒. ผู้ดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน, ๓. ผู้มีหน้าถือเอา ( หูเบา เชื่อง่าย ), ๔. ผู้โลเล, ๕. ผู้โง่เขลา ฯ ล ฯ.

บุคคลที่มีจำนวน ๖

       ๑. มีบุคคลบางคนตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, บรรลุความเป็น สัพพัญญู (ผู้รู้สิ่งทั้งปวง)ในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และบรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมอันเป็นกำลัง(ได้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ).

       ๒. มีบุคคลบางคนตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และไม่บรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมอันเป็นกำลัง ( ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ).

       ๓. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, เป็นผู้ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ในปัจจุบัน และบรรลุบารมีที่ให้เป็นพระสาวก ( ได้แก่พระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวก ).

       ๔. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, เป็นผู้ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ในปัจจุบัน และไม่บรรลุบารมีที่ให้เป็นพระสาวก ( ได้แก่พระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป ).

       ๕. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นพระอนาคามี ไม่มาสู่ความเป็นเช่นนี้.

       ๖. มีบุคคลบางคนไม่ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน, ไม่ทำที่สุดแห่ง ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

บุคคลที่มีจำนวน ๗

       ได้แก่บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ ประเภท เช่น จมลงไปคราวเดียวก็จมหายไปเลย เป็นต้น ซึ่ง ได้ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ ชื่ออังคุตตรนิกาย ) ในข้อ สัตตกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ ).

บุคคลที่มีจำนวน ๘

       บุคคล ๘ ได้แก่บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยมรรค ๔ ประเภท บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยผล ๔ ประเภท.

บุคคลที่มีจำนวน ๙

       ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( ผู้ตรัสรู้ได้เองและตั้งศาสนา )

       ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ( ผู้ตรัสรู้ได้เอง แต่มิได้ตั้งศาสนา )

       ๓. อุภโตภาควิมุต ( ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง คือทั้งด้วยสมาธิและด้วยปัญญา )

       ๔. ปัญญาวิมุต ( ผู้พ้นด้วยปัญญา )

       ๕. กายสักขี ( ผู้เห็นธรรมด้วยนามกาย สิ้นอาสวะบางส่วน )

       ๖. ทิฏฐิปัตตะ ( ผู้เห็นสัจจธรรมด้วยปัญญา สิ้นอาสวะบางส่วน )

       ๗. สัทธาวิมุต ( ผู้พ้นด้วยศรัทธา สิ้นอาสวะบางส่วน )

       ๘. ธัมมานุสารี ( ผู้แล่นไปตามธรรม คือปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีปัญญาออกหน้า )

       ๙. สัทธานุสารี ( ผู้แล่นไปตามศรัทธา คือปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีศรัทธาออกหน้า )

       (หมายเหตุ :ในคำอธิบายซึ่งเรียกว่านิทเทส เมื่ออธิบายบุคคลทั้งเก้าประเภทนี้จบ แล้ว ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ชื่อว่า สัทธานุสารี ผู้ตั้งอยู่ในผลชื่อว่า สัทธาวิมุติ อนึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับพระอริยบุคคลตั้งแต่ข้อ ๓ ถึงข้อ ๙ ได้กล่าวไว้ชัดเจนกว่านี้ในที่อื่น คือในหน้าพระ สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๓ ชื่อทีฆนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ) ในข้อ ๒๐. กีฎาคิริสูตร ).

บุคคลที่มีจำนวน ๑๐

       ได้แก่พระอริยบุคคล ๕ ประเภทผู้ถึงความตกลงใจ ( หมดความสงสัย ) ในพระพุทธเจ้า ใน ชาตินี้และพระอริยบุคคลอีก ๕ ประเภทผู้ละโลกนี้ไปแล้วจึงถึงความตกลงใจ ( ๕ ประเภทแรก ได้แก่พระโสดาบัน ๓ ประเภท กับพระสกทาคามี และพระอรหันต์. ๕ ประการหลัง ได้แก่พระอนาคามี ๕ ประเภท ผู้ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาส ).

       (หมายเหตุ :พระอริยบุคคลทั้งสิบประเภทนี้ มีกล่าวไว้แล้ว พร้อมด้วยคำอธิบายใน หน้ารวมพระสุตตันตปิฎก) ในพระสุตตันตะเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ในข้อ ๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงกรณียกิจของสมณะ )        และที่พระสุตตันตะเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒     ในข้อ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ )

       หมวดธรรมะว่าด้วยบุคคลตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ นี้ โดยเฉพาะตั้งแต่จำนวน ๒ ถึงจำนวน ๑๐ มีกล่าวไว้แล้วแทบทั้งสิ้นในตอนที่ย่อความในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ถึงทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือประมวลธรรมดาหมวด ๒ หมวด ๑๐ ดูที่พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ ) พระอังคุต-ตรนิกาย เล่มที่ ๑๒-๑๖   ถึง พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒  จึงแสดงไว้ในที่นี้ไม่พิสดาร.

จบปุคคลบัญญัติ


    '๑' . มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ คือ ข้อ ๑ ถึง ๕ ว่าด้วย " สงเคราะห์ ) คือเข้ากันได้หรือไม่ได้ ข้อ ๖ ถึง ๑๐ ว่าด้วย " สัมปโยค ) คือประกอบกันได้หรือประกอบกันไม่ได้ ความแตกต่างของคำว่า สงเคราะห์และสัมปโยค คือสงเคราะห์ หมายถึงธรรมะที่เป็นประเภทเดียวกัน ส่วนสัมปโยค หมายถึงเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน มีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน มี อารมณ์เป็นอันเดียวกัน

    '๒' . คือเข้ากันได้กับอายตนะ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมะ ปัญหาว่า เหตุไฉนรูปขันธ์จึงเข้ากับธรรมะ ซึ่งเป็นอารมณ์ของใจได้ ตอบว่า เพราะรูปที่เห็นไม่ได้ถูกต้องไม่ได้ เป็นอารมณ์ของ ใจมีอยู่

    '๓' . ธรรมที่กล่าวมาว่า เป็นพวกรูปธรรม จึงเข้ากันได้กับอายตนะและธาตุที่เป็นรูป แต่เข้ากันไม่ได้กับ อายตนะและธาตุที่เป็นนาม

    '๔' . ที่มิได้วงเล็บไว้ให้ เพราะต้องแล้วแต่คำว่า เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์ คือถ้าเข้ากันไม่ได้ กับเวทนาขันธ์ ก็เข้ากันได้กับขันธ์ ๓ คือ รูป, สัญญา, สังขาร ; ถ้าเข้ากันไม่ได้กับสัญญาขันธ์ ก็เข้ากันได้กับขันธ์ ๓ คือ รูป, เวทนา, สังขาร ; ถ้าเข้ากันไม่ได้กับสังขารขันธ์ ก็เข้ากันได้กับขันธ์ ๓ คือ รูป, เวทนา, สัญญา ; พระนิพพานเข้ากับขันธ์ไม่ได้, แต่เป็นธัมมายตนะ, ธัมมธาตุ

    '๕' . มโนธาตุ นับเป็นวิญญาณธาตุด้วย


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ