ตอนที่ ๑

            เมื่อครั้งที่มีการทำปฐมสังคายนากันครั้งแรกมีพระมหากัสสปเป็นประธาน แล้วก็มีพระอานนท์เป็นผู้ว่าการฝ่ายพระสูตรและพระอภิธรรม พระอานนท์ท่านได้กล่าวไว้ว่า
            ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ ได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของชาวกุรุ ซึ่งมีชื่อว่ากัมมาสกัมมะนิคม ในแคว้นกุรุ ในที่นั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตักเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แล้วภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับคำว่า พระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้โปรดประทานพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นทางระงับเสียซึ่งความเศร้าโศกและเสียใจ และความพิไรรำพัน เป็นทางให้เข้าถึงซึ่งความสิ้นทุกข์และโทมนัส เป็นทางให้ได้ซึ่งอรรถธรรมและความรู้ เป็นทางให้สำเร็จซึ่งพระนิิพพาน ทางเอกนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ คืออะไรบ้าง คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภิกษุในธรรมวินัยนี้ต้องเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ จึงจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้”
สติปัฏฐาน ๔ นี้มีอะไรบ้าง

    ๑. ให้พิจารณากายในกาย
    ๒. พิจารณาเวทนาในเวทนา
    ๓. พิจารณาจิตในจิต
    ๔. พิจารณาธรรมในธรรม
            "พิจารณาเห็นกายในกายนั้น คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่าหรือว่า อยู่ที่โคนต้นไม้ หรือไปอยู่ที่ว่างบ้านเรือน แล้วก็นั่งตั้งกายให้ตรง ดำรงสติอันเป็นเครื่องกำหนดไว้ ภิกษุนั้นหายใจออกก็มีสติ หายใจเข้าก็มีสติ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น จะกำหนดกองลมทั้งปวง แล้วจึงหายใจออก เราจะกำหนดกองลมทั้งปวงแล้วจึงจะหายใจเข้า เราจะระงับกองลมแล้วจึงจะหายใจออก เราจะระงับกองลมแล้วจึงจะหายใจเข้า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึงผู้ฉลาดหรือว่าลูกมือช่างกลึง เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ว่าชักเชือกกลึงยาว เมื่อชักเชือกกลึงสัน ก็รู้ว่าเราชักเชือกกลึงสั้น ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น ภิกษุนั้นย่อมศึกษาว่า เราจะกำนหดรู้กองลมทั้งปวงแล้วจึงจะหายใจออก เราจะกำหนดรู้กองลมทั้งปวงแล้วจึงจะหายใจเข้า เราจะระงับกองลมแล้วจึงจะหายใจออก จะระงับกองลมแล้วจึงหายใจเข้า"
            การพิจารณากายในกาย ในขั้นแรก ท่านถือเอากองลมเป็นสำคัญ อันนี้เขาเรียกว่า อานาปานบรรพ หรือว่า อานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งมีความสำคัญมาก สามารถทรงฌาน ๔ ได้แล้ว ถ้าเจริญตามแบบนี้ ท่านจะมีความสุขแบบสุขวิปัสสโก และมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ จะดัดแปลงขึ้นไปสู่วิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้
            อานาปานาสติกรรมฐานตอนต้น ว่าเมื่อเราหายใจเข้าก็มีสติ หายใจออกก็มีสติ สตินี่แปลว่านึกได้รู้อยู่ คำว่ามีสตินี่ ตัวนึกเข้าไว้ ตัวไม่ลืม หมายถึง จงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเอาไว้ เวลาจะหายใจเข้าก็ตาม เวลาจะหายใจออกก็ตาม ต้องรู้เข้าไว้ รู้ลมเข้าไว้ เวลาลมเข้าให้รู็ว่าลมเข้า ลมออกก็ให้รู้ว่าลมออก เดินไปก็ในรู้ว่าลมเข้าลมออก นั่งอยู่รู้ลมเข้าลมออก นอนอยู่รู้ลมเข้าลมออก ยืนอยู่รู้ลมเข้าลมออก ทำได้ตลอดทุกอิริยาบท ทำอย่างนี้ให้ชินจนกระทั่งจิตไม่ต้องระวังเรื่องลมเข้าลมออก รู้ได้เป็นปกติ อย่าไปดัดแปลงลมหายใจ ร่างกายมันต้องการหายใจสั้นหรือยาวปล่อยมัน หายใจแรงหรือหายใจเบาเปล่อยมัน ไม่ต้องฝืน
            จำไว้ว่าท่านจะเจริญมหาสติปฏิฐานสูตรในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในบทว่าอานาปานาบรรพเราจะรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกอยู่เสมอ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะอาบน้ำ จะดูหนังสือ จะเดินไปไหน ทำงานอย่างใดก็ตาม รู้ลมเข้ารู้ลมออก