ตอนที่ ๕

            ขั้นแรก ต้องวางพื้นใหญ่คือ อานาปานสติกรรมฐาน ประการที่สอง จิตอย่าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน ประการที่สาม รักษาศีล ๓ ชั้น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าววาจามุสาวาท ไม่ดื่มสุราเมรัยด้วยตนเอง และไม่ยุยงให้ชาวบ้านเขา่ทำ ไม่ยินดีเมื่อชาวบ้านเขาทำแล้ว และระงับนิวรณ์ ๕ ประการ ขณะที่กำลังภาวนาอยู่ก็ตาม กำหนดลมหายใจอยู่ก็ตาม อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับกามคุณ ๕ อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับความโกรธ ความพยาบาท อย่าสนใจกับความง่วง อย่าเอาอารมณ์อื่นนอกจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกมาใช้ อย่าสงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางอารมณ์นี้ไว้ แล้วก็แผ่เมตตาไปในทิศทั้ง ๔ ว่า เราจะมีเมตตา กรุณา มุทิต อุเบกขา แก่คนและสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดเท่ากับตัวของเรา ประเดี๋ยวก็ได้ฌาน และฌานก็จะสามารถทรงอยู่ได้ตลอด หากท่านทรงภาคพื้นนี้ได้ตลอด
            ขั้นต่อไป เป็นการดัดแปลง เอามหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาดัดแปลงเป็นวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ
            การดัดแปลงสุขวิปัสโกมาเป็นเตวิชโช ขั้นแรกสุด เข้าฌาน ๔ ในอานาปานสติกรรมฐาน กำหนดลมหายใจแค่จมูกก่อนจนจิตสบาย เลื่อนเข้าไปรู้ลมเข้าออกยาวหรือสัน พอจิตสลาย กำหนดกองลมว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก พอจิตสบายตอนนั้นไม่สนใจกับกองลม วางอารมณ์เป็นเฉยเสีย จับอารมณ์เป็นดิ่ง พออารมณ์สบายแล้วลืมตาดูนิมิตกสิณ กสิณ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. สีขาว เรียกว่า โอทาตกสิณ 2. แสงสว่าง เรียกว่า อาโลกสิณ 3. แสงไฟ เรียกว่า เตโชกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดตั้งนิมิตเข้าไว้ ลืมตาดูภาพกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง พอจำได้แล้วหลับตา หากว่าดูไฟ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง หากว่าดูสีขาว ภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ถ้าดูแสงสว่าง ภาวนาว่า อาโลกกสิณัง แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น จิตเป็นฌานอยู่แล้ว นิมิตจับดิ่งเลย แต่หากว่านิมิตยังเป็นภาพเดิมอยู่ ก็ยังใช้ไม่ได้ รักษานิมิตและให้เคลื่อนเข้าไป ๆ ถ้าจิตถึงฌาน ๔ เข้าถึงฌานนิมิต จะเปลี่ยนสีเดิมไป เป็นสีประกายพรึกเหมือนกันหมด
            พอภาพกสิณปรากฎเป็นประกายพรึก สีขาวแพรวพราว บังคับใหญ่ก็ได้ ก็ใหญ่ขึ้น นึกให้ภาพเล็กลงก็จะเล็ก ให้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ อยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ หัดให้คล่อง
            เมื่อหัดจนคล่องนึกปั๊บจับภาพกสิณได้ แต่ที่สำคัญคือ อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก ยามปกติรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ จะทำอะไรก็ตามรักษานิมิตกสิณไว้ นิมิตกสิณที่เพ่งเห็นแล้วนั่นแหละ ให้ภาพกสิณปรากฎแก่ใจเป็นปกติ
            เมื่อจะดูภาพนรกสวรรค์อย่าลืม 1. ยามปกติอย่าทิ้งอานาปานสติกรรมฐาน 2. อย่าทิ้งภาพกสิณ นิมิตกสิณต้องชำระให้ใสจริง ๆ เพราะเป็นเครื่องวัด ถ้าเราเห็นภาพกสิณเท่าไร เราก็จะเห็นภาพนรกสวรรค์ได้เท่านั้น
            เมื่ออยากจะเห็นนรก ก็เพ่งภาพกสิณปั๊บ เห็นภาพกสิณแจ่มใส สบายใจดีแล้ว ก็อธิษฐานจิตว่า ขอภาพกสิณจงหายไป ภาพนรกจะปรากฎ ภาพสวรรค์ ภาพพรหม ก็เหมือนกัน
            ถ้าจะเป็นฉฬภิญโญ เมื่อได้กสิณกองใดกองหนึ่งแล้ว อีก ๙ กองก็เหมือนกัน เปลี่ยนภาพเท่านั้น ส่วนปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ยกภาพกสิณขึ้นเป็นนิมิต แล้วก็เพิกกสิณทิ้งเสีย ยกอากาสนานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะมาแทน แทนแต่ละอย่างให้ถึงฌาน ๔ ก็จะได้ชื่อว่า ได้สมาบัติ ๘ แล้วต่อไปก็จะได้ปฏิสัมภิทาญาณ