ตอนที่ ๔

            พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ถ้ามีบารมีแก่กล้า หมายถึงมีกำลังใจสูง มีการระมัดระวังการปฏิบัติเป็นปกติไม่ขาดวรรคขาดตอน เรียกว่า วันทั้งวัน มีอารมณ์ครุ่นคิดอยู่ในมาหสติปัฏฐานสูตรทั้งสี่นี้ ท่านกล่าวว่า ท่านผู้นั้นบำเพ็ญบารมีเพียงแค่ไม่เกิน ๗ วัน จะเข้าถึงอรหัตตผล ถึงพระนิพพาน ถ้าหากว่ามีอารมณ์ย่อหย่อนไปนิดหนึ่งก็ไม่เกิน ๗ เดือน ถ้าหย่อนไปอีกก็เรียกว่า ไม่เกิน ๗ ปี
            การดัดแปลงอารมณ์ของมหาสติปัฏฐานสูตร ความจริงมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขั้นสุขวิปัสสโก การบรรลุมี ๔ สายด้วยกัน คือ สุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต

  1. สุขวิปัสสโก บรรลุแล้วไม่เห็นผี ไม่เห็นสวรรค์ ไม่เห็นนรก มีแต่จิตสบาย กิเลสแห้งเหือดไป
  2. เตวิชโช มีทิพย์จักขญาณ สามารถรู้สัตว์และคนที่ตายไปแล้ว ไปเกิดที่ไหน คนและสัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน แล้วมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติของตนเองได้
  3. ฉฬภิญโญ ก็ทรอภิญญา หมายความีฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด
  4. ปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความรู้พิเศษ ทรงพระไตรปิฎก รู้ภาษาสัตว์ต่าง ๆ ภาษาคนภาษาสัตว์ไม่ต้องเรียน รู้ แล้วก็รู้อธิบายขยายความให้กว้างก็ได้ หรือเนื้อความที่กว้างก็ย่อลงให้สั้นให้เข้าใจได้ดีก็ได้

            คนที่ชอบสงัดก็ศึกษาด้านสุขวิปัสสโก คนที่อยากรู้นั่นรู้นี่ อยากเห็นผี เห็นเทวดา ก็ศึกษาเตวิชโช เรียนวิชชาสาม ส่วนคนที่ชอบฤทธิ์ อยากแสดงฤทธิ์ ก็ต้องศึกษาฉฬภิญโญ
            พื้นฐานของวิชชาสาม จะต้องกำจัดอุปกิเลสทิ้งเสีย อุปกิเลส คือการเข้าถึงความเศร้าหมองจองจิต คือการไม่ไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านเขา ไม่อวดดีอวดเ่ด่น
            พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับนิโครธปริฺพฺพาชกว่า "นิโครธปริพพาชก อันนี้บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือยัง เป็นสาระเป็นแก่นสารไหม การไม่ไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านนี่ ใครจะด่าจะว่านินทายังไงก็ช่างเขา มันเป็นเรื่องของเขา เราไม่อวดดีอวดเด่นกับเขา ไม่เห็นว่าเขาเลวกว่า เขาเสมอเราหรือเขาดีกว่า ไม่โอ้อวดในข้อวัตรปฏิบัติที่ตนทำแล้ว ไม่เอาไปข่มขู่ชาวบ้าน ข้อนี้บริสุทธิ์เป็นแก่นสารหรือยัง"
            นิโคธปริพพาชกตอบว่า "ข้อนี้เป็นสาระเป็นแก่นสารบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแล้วพระเจ้าข้า"
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนนิโครธ แค่นี้ยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ แค่นี้เป็นสะเก็ดของพระพุทธศาสนาเท่านั้น"
            นิโครธปริพพาชกถามต่อว่า "ยังไงจึงจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นสาระแก่นสารล่ะพระเจ้าค่ะ"
            พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า "นิโครธะ คนที่จะบริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ต้องปฏิบัติในยามสี่ ได้แก่ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลฆ่าสัตว์ และไม่ยินดีเมื่อเขาฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นลัก และไม่ยินดีเมื่อเขาลักมาแล้ว ไม่ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นประพฤติผิดในกาม และไม่ยินดีเมื่อเขาประพฤติผิดในกามแล้ว ไม่กล่าววาจามุสาวาทด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นกล่าววาจมุสาวาท และไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นกล่าวมุสาวาทแล้ว จากนั้นพยายามระงับนิวรณ์ ๕ ประการจากจิตเสีย คือ ไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ไม่พยาบาท ไม่ง่วงเหงาหาวนอนในเวลาที่ปฏิบัติความดี ไม่ทำจิตฟุ้งซ่านยึดถืออารมณ์ภายนอก ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า และก็แผ่เมตตาไปในทิศทั้ง ๔ คือทรงพรหมวิหาร ๔ คิดว่าบุคคลและสัตว์ทั้งหมดเป็นมิตรกับเรา เราไม่เป็นศัตรูกับใคร แล้วก็ทำใจให้สบาย นิโครธะ นี่บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือยัง"
            "บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระเจ้าข้า"
            "นิโครธะ นี่ยังไม่บริสุทธิ์ไม่บริบูรณ์ นี่แค่เปลือของความดีในพระศาสนาเท่านั้น"
            "ทำยังไงจะเข้าถึงแก่นล่ะ พระเจ้าข้า"
            "เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จำทำปุพเพนิวาสานุสติญาณให้ปรากฎ คือระลึกชาติหนหลังได้"
            "แค่นี้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วหรือยัง พระเจ้าข้า"
            "แค่นี้เพียงกระพี้ของความดีเท่านั้น"
            "ถ้าจะให้เข้าถึงจุดของความดีจริง ๆ เป็นสาระแก่นสาร ก็ต้องทำทิพยจักขุญาณ คือสามารถรู้ว่าสัตว์ที่เกิดแล้ว เกิดมานี่ตายแล้วไปไหน เป็นอะไร สัตว์และคนที่เกิดมาในโลกนี้มาจากไหน ชาติก่อนเขาเป็นอะไรมา อย่างนี้แหละที่เรียกว่าถึงแก่นถึงสาระ"
            การเจริญพระกรรมฐานเอาดี จะเป็นด้านสุขวิปัสสโกก็ดี เตวิชโชก็ดี ฉฬภิญโญก็ดี ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ดี ต้องวางภาคพื้นไว้ก่อนสำหรับภาคพื้นในด้านวิชชาสาม พื้นของวิชชาสามนี้ใช้ได้ทั้งอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณ หรือแม้คนที่เจริญสุขวิปัสสโกก็ใช้ได้ แต่ต้องตัดปุพเพนิวาสานุสติญาณออก แล้วก็ตัดทิพยจุกขุญาณออก ก็เป็นสุขวิปัสสโก สำหรับท่านที่เจริญวิชชาสามก็ต้องเจริญปุพเพนิวาสนุสติญาณ และทิพยจักขุญาณด้วย ส่วนในด้านอภิญญา ๖ ก็ต้องเจริญกสิณทั้ง ๑๐ ประการ และหัดเข้าฌานตามลำดับญาณและลำดับกสิณ สลับฌานสลับกสิณให้คล่อง หากว่าท่านจะเข้าถึงปฏิสัมภิทาญาณ ก็เอากสิณเป็นภาคพื้น แล้วก็เจริญอรูปฌานให้ได้ อรูปฌาน ๔ ทรงอยู่ในฌาน ๔ เหมือนกันเท่านี้ ต่อไปก็เป็นปฏิสัมภิทาญาณ