ตอนที่ ๗

            เจโตปริยัติญาณ เห็นอัตภาพร่างกายของตัว สภาวะการเห็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การที่ใช้ฌานโลกีย์ ถ้าจะเห็นอย่างดีเท่าไรก็ตาม ก็เป็นสภาพมัว ๆ สลัว ๆ เท่านั้น ฌานที่เราได้กัน เรียกว่า ฌานโลกีย์ ซึ่งมีสภาพเสื่อม และมีอุปาทานเข้ากันมาก เวลาจะดูอะไรจะรู้อะไรจริง ๆ ต้องเข้าฌานให้จิตใจแจ่มใสจริง ๆ ดูสภาพจิตของเราให้เป็นแก้วจริง ๆ ถ้ามัวไปนิดพยากรณ์อะไรจะผิดพลาดได้ เพราะกิเลสเข้ามาบังจิตเสีย ที่เรียกกันว่า นิวรณ์ ๕ เราก็ต้องดูว่า นิวรณ์ ๕ นั้น ข้อไหนที่มาสิงสู่ใจของเรา ข้อดีของทิพยจักขุญาณ รับรู้จิตของตัวเอง ทำให้บรรลุมรรคผลได้ง่าย

            ทิพยจักขุญาณ จะดูกันให้แจ่มใสจริง ๆ ต้องทำจิตให้เข้าสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ การได้ทิพยจักขุญาณใหม่ ๆ ทำให้มีอุปาทานกันมาก รู้ผิดรู้ถูก เพราะอุปาทานเห็น อุปาทานนี้ก็ได้แก่ความยึดมั่น แปลง่าย ๆ ก็คือ ความชั่วของจิตนั่นเอง เป็นการยึดถืออารมณ์ หมายความถึง ยึดถือสัญญาเดิม ความจำ ไว้มากเกินไป ไม่ใช่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ถ้าจิตยังเป็นอย่างนี้อยู่ พยายามเข้าฌาน ๔ ให้มาก ทรงฌาน ๔ ให้มาก เมื่อถอยหลังออกจากฌาน ๔ แล้ว ก็เข้าเจริญวิปัสสนาญาณ ชำระจิตให้ผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสดีแล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ ทำอย่างนี้สลับไปเรื่อย ๆ จนกว่าสภาพจิตจะแจ่มใส เมื่อจิตแจ่มใสดีแล้วก็คุมสภาวะไว้ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่ายุ่งเรื่องของชาวบ้าน ระวังนิวรณ์ ๕ ประการอย่าให้กวนใจ จิตทรงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ ไม่ช้าก็จะถึงความดี

            ถ้าจิตของเราต้องดูให้แจ่มใส นี่คือ เจโตปริยญาณ ดูว่าสภาพของจิตเป็นยังไง สภาวะจริง ๆ เป็นคนอีกคนหนึ่ง เรียกว่า คนทิพย์ เป็นกายซ้อนกาย กายภายในเห็นกายในกายของพวกทิพยจักขุ ญาณวิชชาสาม เราอยากจะรู้เรื่องราวของคนอื่นบ้าง อยากจะรู้พอเห็นหน้าปั๊บ พอได้ยินชื่อปั๊บว่า คนคนนี้เขาดีหรือเขาไม่ดีตามเสียงที่ชาวบ้านว่า เราก็จงปลดอารมณ์นั้นเสีย กำหนดเห็นจิตของเขา รู้จิตของเขาเสียก่อน ถ้ารู้จิตของเราจนคล่องแล้วจิตของชาวบ้านก็รู้ไม่ยาก ง่ายกว่าจิตของเรา ดูจิตของเราผ่องใส ดูจิตของเขาปั๊บ นึกน้อมอารมณ์ให้เห็นจิตของเขา ถ้าเห็นจิตของเราได้ ก็เห็นจิตของเขาได้ เอาจิตของเราเป็นกสิณไปเลย ถ้าทำแบบนี้ก็เป็นวิญญานัญจายตนะฌานด้วย เป็นอรูปฌานไปในตัวเสร็จ เห็นจิตของเขาปั๊บ คนนี้มีกิเลสอะไร จิตสีอะไร กำลังดีใจ หรือมีความทุกข์ เขามีความทุกข์ ๆ เพราะอะไร ขอภาพนั้นจงปรากฎ

            อยากรู้ตัวจิต ดวงจิตเราเห็นแล้ว สภาพของจิต คือกายที่ซ้อนกายของเขา ว่า คนนี้หากว่าเขาตายเวลานี้เขาจะไปไหน ก็ดูสภาพของเขาคือ กาย ในกายที่มันซ่อนอยู่กายอยู่ ถ้าเขาจะไปเกิดเป็นพรหม ภาพพรหมก็ปรากฎ ถ้าจะไปเกิดเป็นเทวดา ภาพเทวดาก็ปรากฎ ถ้าไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ภาพนั้น ๆ ก็ปรากฎ คนที่ได้ฌานเราจะรู้ได้ยังไง เราก็เอากำลังฌานของเราเป็นเครื่องวัด ว่าฌานของเราสูงกว่าหรือเสมอเขา ถ้าฌานของเราไม่แค่เขาเราก็รู้ของเรา เลยไปนั้นเรารู้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เป็นพระอริยเจ้า เราจะรู้เรื่องราวของพระอริยเจ้าไม่ได้เลย อย่าไปวัดกับท่านที่มีคุณธรรมสูงกว่า จะเป็นกรรมหนัก

            ปุพเพนิวาสนุสติญาณ การระลึกชาติได้ วิธีคือ เข้าฌาน ๔ แล้วก็ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เพ่งภาพกสิณแล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ แล้วถอยหลังออกมา แล้วก็ให้นึกถึงวันเวลาที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ เมื่อวานซืน เมื่อวันก่อน ปีก่อน ชาิตก่อน เป็นลำดับไป แล้วก็จะรู้เองระลึกชาติหนหลังได้ แต่ผู้ที่ได้ทิพยจักขุญาณแจ่มใส ทรงฌาน ๔ ได้แล้ว ไม่ต้องฝึก ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติได้มันปรากฎเอง

            อดีตังสญาณ เรื่องราวในอดีต เรื่องราวในอดีตนี้ หมายความถึง คนอื่นและสถานที่ ว่าความเป็นมาเขายังไง ในชาตินี้และชาติก่อน ก็ใช้ทิพยจักขุญาณ

            อนาคตัง ความเป็นไปในอนาคต ทั้งส่วนตัวของเราและบุคคลอื่น สัตว์และสถานที่

            ปัจจุบันนังสญาณ เวลานี้ใครอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร อยู่ใกล้หรือไกล อยู่คนมากหรือน้อย มีความสุขหรือความทุกข์

            ยถากัมมุตาญาณ รู้กฎของกรรม คนหรือสัตว์ในปัจจุบัน เพราะอาศัยกรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลอะไรในชาติก่อน หรือในชาตินี้ให้ผล คนที่ตายไปแล้วมีความสุขหรือความทุกข์อย่างใด อาศัยกรรมอะไรให้ผล

            ญานต่าง ๆ เป็นเครือของทิพยจักขุญาณ โดยเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานข้อต้น เรียกว่า อานาปานบรรพ แล้วก็สามารถดัดแปลงให้เป็นวิชชาสามได้ ดูสิว่า ที่เรามา มีอะไรติดตัวมา เอาจิตมา จิตที่เป็นนามธรรมคือ กายที่เป็นนามธรรม มาสิงอยู่ในร่างกายในชาตินี้ ชาติก่อน ๆ เคยเป็นกษัตริย์ เป็นเศรษฐี เป็นยาจก ก็กลายมาเป็นยาจก มาเป็นเศรษฐีกันได้ ว่าเป็นอนัตตา เป็นอนุตตาจริงหรือไม่จริงเพียงใด ก็ถอยไปดูสภาพในชาติก่อน ๆ พิจารณาไปก็แลเห็นความจริง ว่าจริงไหม เราเกิดมาทิ้งร่างกายของเรามานับไม่ถ้วน เป็นคนเท่าไหร่ เป็นสัตว์เท่าไหร่ มีความสุขความทุกข์กันมาเท่าไหร่ เราทำอะไรก็ทำเพื่ออยู่แต่เราก็ไม่สามารถอยู่ได้ เมื่อเห็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตใจเลื่อมใสในคำสอน ปฏิบัิติเรื่อย ไป ในไม่ช้าสังโยชน์ ๓ สังโยชน์ ๕ สังโยชน์ ๑๐ ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้าก็สามารถกำจัดเสียได้