ตอนที่ ๓

            ในการปฏิบัติทำได้ในทุกอิริยาบททั้ง ๔ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน เวลาหายใจเข้ายาวหรือสั้นก็รู้ หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้ หายใจเบาหรือหายใจแรงก็รู้ เรียกว่า เพิ่มสติให้มากกว่าเดิมอีกนิด ถ้าทำได้แล้วเป็นอุปจารสมาธิและปฐมฌานด้วย เมื่อสมาธิเริ่มมากขึ้น อารมณ์เริ่มละเอียดขึ้น อุปจารณสมาธิ มีปิติให้ปรากฎ มีความชุ่มชื่น มีขนพองสยองเกล้า มีน้ำตาไหล มีร่างกายโยกโคลง มีความอิ่มเิอิบใจ มีความปลาบปลื้มใจ ส่วนอาการของปฐมฌาน คือ อารมณ์ที่ไม่ข้องกับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ คือ

  1. ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวลไม่มี อารมณ์นิ่ง พอใจในการภาวนาหรือพอใจในการกำหนดลมหายใจเข้าออก
  2. ความโกรธความพยาบาทไม่ปรากฎ
  3. ความง่วงเหงาหาวนอนไม่ปรากฎ
  4. อารมณ์ภายนอก นอกจากากรกำหนดลมหายใจเข้าออกไม่ปรากฎ
  5. ทรงอารมณ์หายใจเข้าออกไว้ หูได้ยินเสียงทุกอย่าง แต่จิตไม่สอดส่ายไปตามนั้น คงรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ได้อย่างสบาย ๆ ไม่เกิดความรำคาญ

            อาการอย่างนี้คือ อาการของปฐมฌาน อานาปานุสสติเป็นกรรมฐานใหญ่ สามารถทรงได้ถึงฌาน ๔ ถ้าทรงได้ถึงฌาน ๔ แล้ว สามารถจะทรงวิชชาสามและอภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณด้วย หลักสูตรของวิชชาสาม เป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง เพราะสามารถพิสูจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ ที่บอกว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ตายแล้วไปเกิดที่ไหน เกิดมาจากไหน
            ก่อนที่จะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราจะกำหนดกองลมเสียก่อน คำว่า กำหนดกองลม คือตั้งใจไว้ว่าเราจะหายใจเข้า ว่านี่เราจะหายใจเข้า แล้วหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้ไว้ แต่เราไม่ต้องไปกำหนดตอนหายใจ ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว ไม่ต้องไปกำหนดกองลม จากนั้นเราก็ทำสติให้ละเอียดเข้าไปอีก การรู้ว่าหายใจเข้าหรือออก ยาวหรือสั้น กำหนดรู้ได้ สามารถทรงอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ คือไม่ปล่อยให้อารมณ์อื่นเข้ามายุ่ง กำหนดได้อย่างนี้ ครั้งละ ๒-๓ นาที หรือ ๕ นาทีก็ตาม แสดงว่าอารมณ์จิตเข้าถึงฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓ ซึ่งตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นไป คำภาวนาจะหยุดไปเอง ลมหายใจเข้าออกยังรู้อยู่แต่ว่าเบาลงไป
            สำหรับฌานที่ ๒ รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกเบาลงไป มีจิตชุ่มชื่น มีความเยือกเย็น มีความสบายมากขึ้น หูยังได้ยินเสียง แต่รู้สึกว่าเบากว่าปกตินิดหนึ่ง
            สำหรับฌานที่ ๓ จะรู้สึกว่าทางกายมันเครียด เหมือนมีอาการเกร็งตัว มีอาการตึงเป๋ง ลมหายใจรู้สึกว่าน้อยลง เสียงที่ได้ยินเบาเข้า ถึงแม้จะเป็นเสียงที่ใครพูดแรง ๆ ก็รู้สึกว่าเบาลงมาก
            ถ้าเมื่อกำหนดกองลมว่า ต่อไปเราจะหายใจเข้าแล้วเราก็หายใจเข้า เวลาหายใจเข้าสั้นหรือยาวเราก็รู้ เวลาจะหายใจออกก็นึกในใจว่านี่เราจะหายใจออก ไม่ต้องไปอั้นไว้ ปล่อยไปตามปกติ รู้ก่อนที่มันจะเข้า มันจะออกนิดหน่อย เรียกว่า กำหนดกองลมก่อนจะหายใจเข้าหรือหายออก ซึ่งเป็นอันดับที่สามของอานาปานาสติในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
            ต่อมาอันดับที่ ๔ เป็นอาการของฌาน ๔ จะไม่กำหนดรู้ลม คือปล่อยกองลมเสียมันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตาม เราจะไม่ยอมรู้ เพราะว่าจิตละเอียดขึ้น จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีลมหายใจ จะเกิดความรู้สึกเหมือนไม่หายใจ แต่อารมณ์จิตภายในมีความโพลง มีความสว่าง มีการทรงตัวมาก มีอารมณ์เป็นเอกกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง มีความชุ่มชื่น มีความสุขสบายที่สุด ไม่รู้สึกในการสัมผัสภายนอก เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ จงรักษาไว้ หมั่นทำไว้เสมอให้จิตคล่อง จะสามารถนั่งยืนเมื่อไร เข้าฌาน ๔ ได้ทันที แล้วสามารถจะกำหนดเวลาออกได้ด้วย อานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ระงับสังขารมีคุณประโยชน์มาก เวลาป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนา ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตเป็นฌาน อาการปวดเมื่อยทั้งหลายเหล่านั้น มันจะสลายตัวไป ท่านที่ได้อานาปานสติกรรมฐานจนคล่อง สามารถจะกำหนดเวลาตายได้
            พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ เรากำหนดเพื่อรู้ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไปหรือการสลายตัว ว่าร่างกายเรานี้ที่ชื่อว่าร่างกายของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นมันก็เสื่อมไป แล้วมันก็สลายตัว เราจะไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดในร่างกายนี้" ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ