ตอนที่ ๑๐

            เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน อันเป็นการพิจารณาอารมณ์ คือ รู้ความสุข รู้ความทุกข์ หรือความไม่สุข ความไม่ทุกข์ของจิตเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี้ พระพุทธเจ้าให้ใช้อารมณ์คิด คือรู้อยู่ ตัวนี้เป็นสัมปชัญญะ ให้รู้อยู่ว่าเวลานี้เรามีทุกข์หรือเรามีสุข หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์ จำได้แล้วนะขอรับ ทีนี้คำว่าทุกข์หมายถึงว่าจำจะต้องทน สิ่งใดก็ตาม ถ้าจำจะต้องทนละก็ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นอาการฝืนอารมณ์อย่างเราหิวข้าวนี่มันทนหิว เพราะว่าต้องจำทนหิวจนกว่าจะกินอิ่ม อย่างนี้ก็ชื่อว่าทุกข์เพราะหิวข้าว เราป่วยไข้ไม่สบายอาการกายไม่ปกติ ปวดโน่นปวดนี่ เสียดโน่นเสียดนี่ นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ เขารักเรา จะเป็นผู้หญิงก็ตาม จะเป็นผู้ชายก็ตาม จะเป็นความรักเกี่ยวกับด้านกามารมณ์ หรือเป็นความรักเกี่ยวกับความเมตตาก็ตาม ถ้าเราใช้ความพยายามให้เขารัก ต้องเอาอกเอาใจเขา นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ทีนี้เมื่อเรามีคนรักแล้ว มีคนที่เรารักเขาแล้ว แต่เกรงว่าความรักของเขาจะคลาย ต้องพยายามปฏิบัติเอาอกเอาใจเขา มันก็เป็นการฝืน นี่เป็นความทุกข์ แล้วการปวดอุจจาระปวดปัสสวะมันก็ทุกข์ มีทรัพย์สินมาก เกรงว่าทรัพย์สินจะสลายไปอย่างนี้มันเป็นความทุกข์ ทีนี้ เราเป็นคนยากจนเข็ญใจ ทรัพย์สินไม่พอใช้ ต้องแสวงหาทรัพย์ แสวงหาอย่างนี้ก็เป็นอาการของความทุกข์ การทำไร่ไถนา การค้าขาย อยากจะได้ทรัพย์สินเข้ามาต้องใช้ร่างกายด้วยความเหนื่อยยาก ต้องใช้สติปัญญา นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ความเสื่อมไป ความเสื่อมไปทีละน้อย ๆ จากเด็กไปสู่ความเป็นหนุ่มสาวเป็นแก่ จากแก่ก็จะตาย อันนี้ ก็เป็นอาการของความทุกข์

            ความทุกข์คือสิ่งใดที่จำจะต้องทนอะไรก็ตามจำที่จะต้องทน บางทีทนเสียจนชิน จนไม่รู้สึกว่ามันทน เห็นเป็นของธรรมดาอันนี้ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ทีนี้มาว่ากันถึงความสุขบ้าง อาการใด ๆ ก็ตามถ้ามันมีความพอใจเกิดขึ้น นี่ว่าถึงทางโลกีย์ ไม่ใช่ความสุขโลกุตตระ สิ่งใดก็ตาม ถ้าเป็นความปรารถนาสมหวัง ถ้าเราพอใจสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นอาการของความสุข เมื่อสิ่งใดก็ตามถ้าเราปรารถนาสมหวัง หรือว่าเราชอบใจ นั่นเป็นอาการของความสุข คือสุขใจ ทีนี้อาการของอทุกข์ กับอสุข คือความไม่ทุกข์ไม่สุข จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่ใช่ มันเฉย ๆ เป็นอารมณ์ว่างจากความสุขและความทุกข์ มีอารมณ์ปลอดโปร่ง นี่เรียกว่าอทุกข์กับอสุข

            เวทนาในมหาสติปัฏฐาน ท่านบอกให้มีความรู้อยู่ว่าในขณะนี้จิตเรามีความสุขหรือความทุกข์ หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี ความไม่ทุกข์ไม่สุขก็ดี มีอามิสสิงอยู่หรือเปล่า คำว่าอามิส หมายความว่าวัตถุหรือสิ่งของ หรือความสุขความทุกข์นั้น หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นั้นไม่มีอามิสสิงอยู่ด้วย เป็นสัมปชัญญะเพราะว่าให้เป็นคนไม่เผลอ คิดว่าเวลานี้เราหนาวหรือเราร้อนถ้าหนาวมันก็ทุกข์ ร้อนมันก็ทุกข์ ให้รู้ว่า ทุกข์ ๆ เพราะสิ่งใด ให้รู้ว่าสุข ๆ เพราะสิ่งใด กำหนดรู้ไว้เท่านั้น รู้อย่างนี้ก็เพื่อจะให้มีสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นความไม่ประมาทในชีวิต เป็นความไม่มัวเมาในชีวิต เป็นความไม่มัวเมาในชีวิตที่คิดว่าเป็นความสุขตลอดเวลา จัดว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนไม่ประมาท รู้ความเป็นจริงของขันธ์ห้า

           จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ให้รู้อารมณ์ของจิต ว่าจิตเป็นยังไง กำหนดรู้ไว้ มี 15 ข้อ คือว่า

  1. รู้อยู่ว่าจิตมีราคะ
  2. รู้อยู่ว่าเวลานี้จิตของเราปราศจากราคะ คือ ไม่ต้องการความสวยสดงดงามใด ๆ
  3. รู้อยู่ว่าจิตมีโทสะ คือความโกรธ ความไม่ชอบใจ
  4. รู้ว่าจิตของเราปราศจากโทสะ ว่าเวลานี้เราว่าง เราไม่ได้โกรธ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร
  5. รู้อยู่จิตมีโมหะ คือความหลงความชั่วยึดนั่นยึดนี่ว่าเป็นเราเป้นของเรา ร่างกายก็ของเรา ทรัพย์สินก็ของเรา ลูกเมีย ผัว ตัว เมีย ลูก หลาน เป็นของเรา โมหะเป็นความโง่
  6. รู้ว่าจิตของเราปราศจากโมหะ คือว่าเวลานี้จิตของเรามีปัญญารู้ว่าร่างกายเรามันจะตาย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันจะสลายตัว มันไม่มีอะไรทรงสภาพมันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงทุกขัง อนัตตา สลายไปในที่สุด เป็นคนฉลาด
  7. มารู้อยู่ว่าจิตของเราหดหู่ คือมันเหี่ยวมันแห้งไม่มีกำลังใจ
  8. รู้ว่าจิตของเราฟุ้งซ่าน คิดสร้างวิมานในอากาศ คิดส่งเดชหาเหตุหาผลไม่ได้ หาสิ่งที่เป็นสาระไม่ได้
  9. รู้อยู่ว่าจิตมีอารมณ์ใหญ่ จิตคิดสร้างบ้านสร้างเมือง อยากมีผัวมีเมีย อยากมีลูก อยากมีทรัพย์สิน อยากมีอำนาจวาสนาว่ากันจิปาถะ หาจุดจบไม่ได้คิดเรื่อยเปื่อยไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุมีผลที่จะเป็นไปได้
  10. รู้ว่าจิตไม่มีอารมณ์ใหญ่ หมายความว่าเวลานี้จิตของเราอยู่ในวงแคบคิดในวงของร่างกายอย่างเดียว
  11. รู้อยู่ว่าอารมณ์อย่างอื่นเยี่ยมกว่า มีอารมณ์อย่างอื่นเยี่ยมกว่า นี้หมายความว่าตามธรรมดา เราเป็นคนเฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เวลานี้ซิกลับมีความปรารถนาอยากจะเป็นคนดีมีศีล อยากจะเป็นคนมีสมาธิ อยากจะเป็นคนวิปัสสนาญาณแจ่มใส คิดว่าอัตตภาพร่างกายหรือความเป็นอยู่มันไม่คงทนถาวรต่อไป ไม่ช้ามันก็ตายไม่ช้ามันก็สลายตัวเราอยากจะไปพระนิพพานดีกว่า นี่เป็นอารมณ์ที่เยี่ยมกว่า อารมณ์ธรรมดา หวังพระนิพพานเป็นอารมณ์
  12. รู้อยู่ว่าเราไม่มีอารมณ์ที่เยี่ยมกว่า คือยามปกติมันเกิดอารมณ์ขึ้นอีกทางหนึ่งบอกอย่าไปมันเลยนิพพาน ไปทำไม อยู่ในโลกนี้ดีกว่า มีโขน มีละคร มีหนัง มีความรัก เรียกว่าไม่มีอารมณ์ที่เยี่ยมกว่าอามรณ์ปกติ
  13. มีจิตตั้งมั่น รู้อยู่ว่าเวลานี้มีจิตตั้งมั่น หมายความว่าอามรณ์ส่ายที่เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะมันไม่มี อารมณ์นอกเหนือจากสมาธิที่เราตั้งใจไว้ไม่มี คือเราตั้งใจไว้ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งคืออานาปานสติกรรมฐาน อารมณ์ตั้งอยู่โดยเฉพาะไม่สอดส่ายไปในอารมณ์อื่น ๆ ยิ่งไปกว่านี้ นี่เรียกว่าอารมณ์จิตตั้งมั่น
  14. รู้ว่าในขณะนี้เรามีอารมณ์จิตไม่ตั้งมั่น นี่ขณะใดที่จิตมันส่ายออกนอกลู่นอกทางนอกจากอารมณ์ของมหาสติปัฏฐานสูตรหรือความดีใด ๆ ที่เราตั้งใจจะทรงไว้ แต่มันก็แลบออกไปเสียแล้วอย่างนี้เรารู้อยู่ ท่านเรียกว่ารู้อยู่จิตไม่ตั้งมั่น
  15. ข้อสุดท้ายเรารู้อยู่ว่าเวลานี้จิตเราหลุดพ้น รู้อยู่จิตหลุดพ้น
  16. เรารู้อยู่ว่าจิตไม่หลุดพ้น

            พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสัมปชัญญะ ว่าขณะนี้เรามีอารมณ์เป็นยังไง คือรู้อารมณ์ คุมอารมณ์เท่านั้น ว่าเรามีอารมณ์เป็นยังไง ถ้าจิตมีอารมณ์ราคะ ก็พยายามแก้ราคะเสียจิตมีโทสะก็แก้โทสะเสีย จิตมีโมหะก็แก้โมหะเสีย หากฎของความเป็นจริง จิตนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือว่าจิตมีอารมณ์ดีหรือว่าจิตมีอารมณ์ชั่ว ถ้าจิตมีอารมณ์ดีเนื่องในกุศลส่วนใดส่วนหนึ่ง อันนั้นควรส่งเสริมพยายามทำให้มากขึ้น รักษาอารมณ์นั้นให้แจ่มใส ถ้าอารมณ์ชั่วของจิตเกิดขึ้นเมื่อใดพยายามแก้ทันที แต่เรามักจะเผลอกัน เราไม่ค่อยได้สนใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของตัวเองไม่ค่อยมีใครสนใจ มักจะไปสนใจกับเรื่องขอบบุคคลอื่น อันนี้มันเป็นอุปกิเลสนะขอรับ รวมความว่าเข้าถึงความชั่ว อุป แปลว่าเข้าไป กิเลส แปลว่าความเศร้าหมอง และสำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐานสูตรในอานาปานสติกรรมฐานแล้ว แล้วก็ทรงวิชชาสามหรือได้ทิพยจักขุญาณ สามารถดูกระแสของจิต ว่าเวลานี้จิตของเรามีสีหรือไม่มีสี สีขาวธรรมดาสีขาวอยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ในเกณฑ์จิตผ่องใส อยู่ในเกณฑ์จิตสงบ แต่ว่าจิตสงบก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องเป็นสีใสเหมือนแก้วที่ขัดดีแล้ว ต้องขัดสีแก้วให้เป็นสีประกายพฤกษ์คล้าย ๆ กระจกเงาที่ตั้งไว้ทวนแสงพระอาทิตย์ มองดูแล้วแพรวพราว ถ้ามันเป็นประกายน้อยก็ขัดให้มันเป็นประกายมาก เป็นอาการระงับกิเลส จำกัดกิเลสให้สิ้นไป