ตอนที่ ๒

            ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายเธอจงเป็นผู้มีสติ หายใจเข้า จงรู้ว่าเป็นผู้หายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็จงรู้ว่าเป็นผู้หายใจออก" หมายความว่า การรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกนี่เราไม่ต้องระวังกัน ไม่ต้องตั้งท่า ไม่ต้องหาเวลา เป็นเวลาใดก็ตาม เวลาที่กินข้าวอยู่ก็ดี หรือว่าทำการงานก็ดี เวลาพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดี เดินไปก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ทุกอิริยาบทเราสามารถรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้อย่างสบาย อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงอานาปานาสติ มหาสติปัฏฐานสูตรข้อนี้แล้ว
            เรื่องของพระกรรมฐานกับนิมิตเป็นของธรรมดา นิมิตของอานาปานาสติกรรมฐานก็มี เช่น สีเขียว สีแดง สีสว่างคล้าย ๆ แสงไฟฉาย หรือเหมือนแสงฟ้าแลบ การที่จะได้บุญ อยู่ตรงที่จิตเป็นสมาธิ ตัวบุญอยู่ที่จิตเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ตั้งมั่น ไม่ใช่อยู่ที่องค์ภาวนาอย่างเดียว การภาวนาด้วย ก็เพื่อจะใช้อารมณ์ยึด คือ สติ ให้รู้อยู่ว่าเรากำหนดลมหายใจเข้าออก หรือว่าเราภาวนาว่ายังไง แล้วก็ควบคุมอารมณ์อยู่เฉพาะอย่างนั้นอย่างเดียวให้เป็นเอกัคคตารมณ์ คำว่า เอกัคคตารมณ์ แปลว่า เป็นหนึ่ง ตัวบุญใหญ่คือ การทรงสมาธิจิต ถ้าสมาธิทรงได้สูงมากเพียงใด นิวรณ์ที่จะมากั้นความดีคืออารมณ์ของความชั่ว คำว่านิวรณ์ได้แก่ อารมณ์ของความชั่ว ถ้าขณะใดจิตทรงสมาธิที่เรียกกันว่าเป็นฌาน คำว่าฌานนี้ แปลว่า การเพ่ง การทรงอยู่ของจิต จิตเพ่งอยู่เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อันนี้เราเรียกกันว่า ฌาน
            เมื่อเรามีสติสามารถจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ที่กระทบเข้าและกระทบออกที่จมูกได้ เข้าก็รู้ออกก็รู้ จิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิ สมาธิขั้นต้นเรียกว่า ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิเล็กน้อย เมื่อขณิกสมาธิละเอียดขึ้น จิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์ของที่เป็นทิพย์จะปรากฎ จิตเป็นทิพย์ คือ จิตย่อมว่าจากกิเลส จิตว่างจากนิวรณ์ทั้ง ๕ เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์ ๕ ประการแล้ว จิตก็สามารถจะเป็นทิพย์ แต่จะเป็นมากหรือเป็นน้อยขึ้นอยู่กับสมาธิจิต จะเห็นแสง เห็นภาพ แต่ภาพที่ปรากฎก็ดี แสงสีที่ปรากฎก็ดี จงอย่าเอาจิตเข้าไปเกาะ เพียงกำหนดว่า ถ้าหากว่าเราเห็นนานหรือเร็ว จงรู้ตัวว่า นี่จิตของเราเป็นทิพย์ เข้าสู่อุปจารสมาธิ