พระมโหสถ ๑

   พระมโหสถบัณฑิต ปัญญามีอยู่กับใคร ผู้นั้นย่อมจะเอาตัวรอดได้ในทุกกรณี และเป็นเครื่องส่งเสริมตัวเองให้เด่นกลายเป็นอัจฉริยะไป แต่ถ้าเอาไปใช้ในทางชั่ว ปัญญานั้นจะกลายเป็นดาบที่เชือดเฉือนตัวเองไป เพราะฉะนั้นปํญญาจึงมีลักษณะเป็นดาบสองคมที่จะให้ได้ดีก็ได้ ถ้าจะให้ชั่วก็ใช้ในทางชั่ว นี่เเหละคือคติของปัญญา โปรดอ่านเรื่องปัญญาสืบต่อไป  

   ในกาลที่ล่วงมาแล้วนมนาน พระเจ้าวิเทหะได้เสวยราชสมบัติในเมืองมิถิลา ท้าวเธอมีบัณฑิตประจำสำนักถึง   ๔ คน     มีนามว่า   เสนกะ   ปุกกุสะ   กามินทะ   และเทวินทะ

   วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงพระสุบินว่า ในที่มุมละของพระลาน มีกองไฟลุกขึ้นรุ่งโรจน์โชตนาการอยู่มุมละกองและตรงกลางพระลานมีกองไฟเล็กนิดเดียวค่อย ๆ โตขึ้น ๆ จนใหญ่กว่ากองไฟทั้งสี่นั้น และสว่างจ้าไปหมดทั้งบริเวณสามารถจะมองเห็นแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ ได้ ประชาชนพากันเอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชากองไฟนั้น และเที่ยวเดินไปมาอยู่ระหว่างกองไฟนั้น โดยไม่รู้สึกว่าจะร้อนเลย ส่วนพระองค์นั้นในพระสุบินว่ากลัวเสียเหลือเกิน จนกระทั่งตกพระทัยตื่น เมื่อทรงลุกจากแท่นบรรทมก็ยังทรงนึกอยู่
   “น่ากลัว จะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับเราและราชอาณาจักรเป็นประการใดบ้าง”
   จนกระทั่งถึงเวลาเสด็จออกขุนนาง ทรงประพาราชกิจเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสกับบัณฑิตประจำราชสำนักทั้ง   ๔   คนว่า    
  “ท่านอาจารย์ เมื่อคืนข้าพเจ้าได้ฝันไม่ค่อยดีเลย” “พระองค์พระสุบินอย่างไรพระเจ้าค่ะ” ท่านนักปราชญ์ทั้ง   ๔  คน     ถามขึ้นพร้อมกัน
    “ข้าพเจ้าฝันว่า มีกองเพลิงอยู่   ๔  กอง     ในมุมพระลานมุมละกอง มีกองไฟเล็กนิดเดียวอยู่ตรงกลาง และกองไฟนั้นใหญ่ขึ้น ๆ ส่งแสงสว่างไปทั่วจักรวาล พวกประชาชนพลเมืองพากันวิ่งอยู่ในกองไฟนั้นโดยไม่รู้สึกร้อนเลย ข้าพเจ้าเองกลัวจนเหงื่อแตกไปหมด ท่านอาจารย์ลองพิจารณาดูทีหรือว่าจะเป็นอย่างไร จะมีอันตรายกับตัวเราหรืออาณาจักรบ้างหรือไม่”

 

   อาจารย์ทั้ง   ๔     นั่งคิดอยู่ครู่แล้วหันหน้าเข้าปรึกษากันชั่ว ครู่เสนกะก็หันมากราบทูลจอมวิเทหะรัฐว่า
  “ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า สุบินเป็นนิมิตที่ดีจะไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เลย ทั้งพระองค์และพระอาณาจักรพระเจ้าค่ะ”
   “ถ้าเช่นนั้นมันหมายถึงอะไรกันล่ะ ท่านอาจารย์” ทรงชักต่อ
   “พระสุบินของพระองค์ขอกเหตุสังหรณ์ที่ดีว่า ต่อไปจะมีคนดีเกิดขึ้นในราชอาณาจักรของพระองค์ ข้อที่พระองค์ทรงสุบินว่ามีกองไฟ   ๔ กองนั้น     ได้แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง   ๔   คนนี้เอง   และที่ว่ากองไฟเล็กเกิดขึ้นท่ามกลางนั้น คือจะมีบัณฑิตเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์ และบัณฑิตนั้นจะมีปัญญาแก้ไขความเดือนร้อนแก่ประชากรทุกถ้วนหน้า จะมีวาสนาบารมีสติปัญญารุ่งโรจน์กว่าพวกข้าพระพุทธเจ้าอีกเหลือล้นพ้นประมาณพระเจ้าค่ะ”

   “เออ....ถ้ายังนั้น เวลานี้บัณฑิตนั้นอยู่ที่ใดเล่า”
  “ขอเดชะ อาญาไม่พ้นเกล้า ขณะนี้ถ้าบัณฑิตนั้นไม่ออกจากครรภ์ก็ต้องจุติเข้าสู่ครรภ์มารดาแน่นอน พระเจ้าค่ะ”

  “เอาล่ะท่านอาจารรย์ ข้าพระเจ้าจะให้เขาสืบดูว่าบัณฑิตผู้นั้นเกิดหรือยัง ถ้าเมื่อเกิดแล้ว จะใด้นำตัวเข้ามาบำรุงเลี้ยงไว้ในพระราชวัง”

   ปฐมวัย กาลล่วงผ่านไป   ๑๐ เดือน     มโหสถบัณฑิตคลอดจากครรภ์มารดา ในบ้านทางทิศตะวันออกของเมืองมิถิลา ในเวลาคลอดมือถือแท่งยาออกมาแท่งหนึ่ง เศรษฐีผู้เป็นบิดาปวดศรีษะมาถึง   ๗  ปี     ใช้ยานี้รักษาก็หายเป็นปลิดทิ้งไปเลย

   ประชาชนทราบข่าวก็พากันมาขอยาวิเศษเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็หายเป็นปลิดทิ้ง ไม่เหมือนน้ำในสระโกสินารายณ์ เพราะมียารักษาประชาชนนี่เอง เวลาตั้งชื่อจึงได้ขนานนามว่า มโหสถ เศรษฐีผู้เป็นบิดาได้ให้สืบถามว่ามีเด็กที่เกิดในวันเดียวกับมโหสถมีบ้างไหม ก็ได้ตั้งพันหมู่บ้านนั้น เศษฐีศิริวัฒกะผู้บิดาก็ให้อุปถัมภ์เลี้ยงดูกุมารเหล่านั้นเป็นอันดีเพื่อเอาไว้เป็นเพื่อนเล่นของเจ้ามโหสถ จัดหานางนมให้กุมารทั้งพันเหล่านั้น นับตั้งแต่นั้นมา เจ้ามโหสถก็ได้เพื่อนเล่นที่รุ่นราวคราวเดียวกันถึงพันคน เวลาก็ล่วงมาถึง   ๗  ปี    


                   
                   
 
  
สร้างศาลา

      เมื่อเจ้ามโหสถมีอายุได้   ๗  ปี     ได้พาเพื่อนออกเล่นอยู่ในลานที่เล่นของเด็ก ๆ ได้เกิดเห็นความไม่สะดวกนานาประการ ขณะกำลังเล่นกันอยู่เกิดฝนตก เด็ก ๆ ก็พากันวิ่งหนีฝนไปเข้าร่มไม้ชายคา เด็กนับพันก็ชนกันหกล้มลุกแข้งขาถลอกปอกเปิก หัวโน หน้าตาฟกช้ำดำเขียว แต่สำหรับเจ้ามโหสถอาศัยที่กำลังดีกว่าเด็กเหล่านั้น ก็วิ่งเข้าหลบฝนได้เสมอ โดยไม่ต้องไปชนกับใครถึงต้องบาดเจ็บ

   ถ้าสร้างศาลาเป็นที่พักสำหรับพวกเด็กเหล่านี้เห็นจะดีเป็นแน่ จึงประกาศให้เด็กเหล่านั้นทุก ๆ คนนำทรัพย์มาให้เขาคนละ   ๔   บาท     เขาจะจ้างช่างมาทำศาลาสำหรับเป็นที่พักในสนามเล่น ครั้นพวกเด็กนำเงินมาให้แล้ว ได้เงินทั้งหมด   ๔.๐๐๐ บาทเศษ     ก็ไปจัดช่างมาเพื่อจะให้สร้าง

   นายช่างรับสร้างแล้วก็เริ่มปรับพื้นให้เรียบ แล้วจึงขึงเชือกเพื่อจะกะผัง เจ้ามโหสถเองต้องเป็นคนบัญชาการงานเพราะไม่พอใจช่าง และยังแถมกำชับนายช่างให้ทำเป็นห้องใน ห้อง ห้องสำหรับคลอดลูกของคนยากคนจน 1 ห้อง สำหรับสมณพราหมณ์มาพัก   ๑  ห้อง     สำหรับคนเดินทางที่ผ่านไปมา   ๑  ห้อง     สำหรับพ่อค้าซึ่งมีที่สำหรับเก็บสินค้า   ๑  ห้อง     และให้มีที่ทารกพันคนจะพักเวลาร้อนจัดหรือฝนตก นายช่างก็ทำตามความประสงค์ เมื่อศาลาสำเร็จก็ให้ช่างเขียน ๆ จิตรกรรมในศาลาอย่างงดงาม มิใช่แต่จะสร้างศาลาเท่านั้น เพราะบริเวณที่เล่นยังอยู่อีกกว้างขวาง เห็นว่าคนเดินทางเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากระหายหิวเพราะความร้อน จึงขุดสระปลูกปทุมชาติต่างชนิดในสระนั้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเจ้ามโหสถเป็นผู้บัญชาการทั้งสิ้น

   คำโบราณที่ว่า “คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง” อันเป็นเครื่องแสดงว่าไม่ดี เพราะเด็ก ๆ ก็จะเอาแต่เล่น ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนคนหัวล้านเล่ามักจะใจไม่ค่อยใหญ่ ส่วนมากมักจะพอกับผมบนหัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะทำการใหญ่ต้องหนักแน่นอย่าเอาแต่อารมณ์ มิฉะนั้นบ้านก็ต้องค้าง เมืองก็จะคงหาสำเร็จไม่ได้

   แต่เจ้ามโหสถกลับทำลายคำโบราณนี้ไปได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาบัญชางานเองจนสำเร็จทุกอย่างทุกประการ นับแต่นั้นมาเด็ก ๆ ก็ไม่ต้องหกล้มหกลุกเพราะวิ่งหนีฝนและผู้คนที่ผ่านไปมาก็ได้อาศัยที่ศาลาของเจ้ามโหสถ ได้อาศัยอาบกินน้ำใสในสระก็เลยสรรเสริญเจ้ามโหสถ พร้อมกับให้ศิลให้พร

   “ลูกท่านเศรษฐีดีจริง ให้ความสุขแก่คนทั้งปวง ขอให้มีความสุขความเจริญเถิด” และมิใช่แต่เท่านั้น เจ้ามโหสถอายุเพียง   ๗ขวบ     แต่ก็สามารถวินิจฉัยข้อต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดพลาดให้เสียความยุติธรรม ศาลาหลังนั้นก็กลายเป็นศาลของประชาชนไปโดยปริยาย มีเจ้ามโหสถเป็นผู้พิพากษา กิตติศัพท์อันนี้ก็เลื่องลือในไปที่ต่าง ๆ


                    
 
   เมื่อล่วง   ๗   ปีไป     พระเจ้าวิเทหะทรงคิดได้ถึงสุบินนิมิตของพระองค์ และคำพยากรณ์ของนักปราชญ์ประจำราชสำนักทั้ง   ๔ ท่าน     ก็ได้ทรงส่งคนออกไปตรวจดูทั้ง 4  ทิศ   ว่าจะมีผู้ใดมีลักษณะที่จะเป็นบัณฑิตตามนิมิตของพระองค์ได้ อำมาตย์   ๔   คน     ถูกใช้ให้ไปตรวจดูทั้ง   ๔ ทิศ     ของเมืองต่างคนก็แยกย้ายกันไปคนละทิศ คนหนึ่งไปทิศเหนือ คนหนึ่งทิศตะวันออก คนหนึ่งไปทิศตะวันตก และอีกคนหนึ่งไปทิศใต้

   คนไปทางอื่นนอกจากทิศตะวันออก ไม่พบอะไรที่เป็น เครื่องส่อให้เห็นว่าจะมีนักปราชญ์เกิดขึ้นเลย ส่วนคนที่อื่นนอกจากทิศตะวันออก เมื่อเข้าไปถึงหมู่บ้านของศิริวัฒกะเศรษฐีผู้เป็นบิดาของเจ้ามโหสถ ได้เห็นศาลาและสระที่เจ้ามโหสถทำไว้ ตลอดจนได้ฟังกิตติศัพท์ของเจ้ามโหสถ ก็นำสิ่งที่ตนได้เห็นและฟังไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งพระองค์ก็เห็นว่าคงเป็นนักปราชญ์แน่แล้ว แต่เมื่อตรัสถามเสนกะก็กลับได้รับคำตอบว่า

  “ขอเดชะ อย่าเพิ่งด่วนลงพระทัยก่อน เพราะการสร้างศาลาเท่านั้นจะจัดว่าเป็นนักปราชญ์ไม่ได้”

   ทั้งนี้เพราะมิใช่อะไร เพราะเสนกะเกรงว่าลาภยศที่ตนได้นั้นลดน้อยลงไป หรืออาจจะต่อไม่ได้เลยเพราะปราชญ์คนใหม่เข้ามาแทนที่ตน “ขอเดชะ ให้พระองค์ทรงพิจารณาต่อไปอีกหน่อย เพราะช้า ๆได้พร้าสองเล่มงามพระเจ้าค่ะ”

   เรื่องก็เป็นอันหมดลง พระเจ้าวิเทหะยังไม่ทรงรับเจ้ามโหสถมา แต่ก็ได้ส่งคนออกไปสังเกตการณ์ใกล้ชิด..

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14