พระมโหสถ ๕

 
  
เรื่องรถ

       ชายคนหนึ่งขับรถม้าผ่านมาทางเทหะรัฐ ที่เรียกว่ารถก็ม้าก็เพราะมันเทียมด้วยม้า หรือเรียกง่าย ๆ ก็เพราะม้ามันลากไปจึงไปได้ เขาใช้ม้าลากเจ้ารถเก่า ๆ คันนั้นของเขามาตามทาง ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นและกรวดทราย บางแห่งก็เรียบบางแห่งรถก็โคลงเคลงไปตามรูปของถนนในสมัยครั้งกระโน้น

      เขาขับผ่านมาทางศาลาของเจ้ามโหสถ ก็มีอันเกิดเรื่องขึ้น เขาเกิดกระหายน้ำ พอเห็นสระก็หยุดรถโดดลงไปที่สระเพื่อจะดื่มน้ำ พระอินทร์หรือสักกเทวราชเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ แต่กลับแพ้ยักษ์เล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงเรียงนามอันใด คือรณพักตรลูกทศกัณฐ์ ตอนนั้นยังไม่เก่งกล้าเท่าไหร่นัก ถึงกับโดดหนีจากรถทรง ทิ้งจักรอันทรงศักดาให้กับเจ้ารณพักตรยักษ์ตัวนั้น ซึ่งมันก็รีบตะครุบเอาจักรไปเป็นเครื่องบำเหน็จมือเลย เสด็จพ่อทศกัณฐ์เลยตั้งชื่อให้เสียใหม่ว่า  อินทรชิต  ซึ่งเเปลว่าชนะพระอินทร์

      เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้เรานึกไปถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชของไทย ซึ่งก็ได้พระนามโดยลักษณะอย่างเดียวกันนี้ พ่อขุนรามคำแหงซึ่งเป็นมหาราชของไทยพระองค์หนึ่งผู้สร้างแบบอักษรไทยขึ้นใช้ เดิมมีพระนามมาว่าอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะหลักฐานไม่ปรากฎชัด อาจจะได้นามว่ารามก็ได้ เพราะคำว่ารามนั้นแปลได้ว่าน้อย เช่นในคำว่า วิหารใหญ่วิหารอาราม หรือคำว่าผู้ใหญ่ราม ดังนั้นเป็นต้น เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้ปลดแอกของชาวไปจากขอมในเวลานั้น กับนางเสือง พระรามคำแหงเป็นองค์เล็กก็คงเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า เจ้าเล็ก

      เมื่ออายุได้  ๑๙ ปี    ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพมารบ กับพ่อขุนศรีอิทราทิตย์ ซึ่งก็ได้ยกทัพออกไปประจันหน้ากันในสมรภูมิ ซึ่งเจ้าเล็กก็ขี่ช้างเชือกหนึ่งตามออกไปดูด้วย

      ขุนสามชนได้ขับช้างตะลุยเข้ามา ไพร่พลของพ่อขุนศรีอิทรทิตย์ แตกพ่ายกระจัดกระจาย คือแตกหนีไม่เป็นกระบวนและก่อนที่พ่อขุนศรีอิทราทิตย์จะขับช้างเข้าไปเผอิญกับขุนสามชน พระรามหรือเจ้าเล็กยืนช้างอยู่เบื้องหลังพ่อ ก็ขับช้างพรวดเข้าไปผจญกับขุนสามชน ยุทธหัตถีพระหว่างเจ้าหนุ่มน้อยกับขุนสามชนก็เกิดขึ้น

      ช้างขุนสามชนตัวชื่อชนะเมืองทองเสียเชิงก็เลยต้องพ่ายแก่ช้างของพระรามคำแหง โดยเหตุที่ชนะขุนสามชนนั้นแหละ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เลยเรียกว่า รามคำแหง ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็ว่า  “เจ้าเล็กเก่ง”  จึงได้นามว่า  “รามคำแหง”  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

      พระอินทร์ซึ่งแพ้รณพักตร์นั้น ประสงค์จะแสดงภูมิปัญญาของเจ้ามโหสถให้ปรากฎ เมื่อเห็นชายเจ้าของรถลงไปกินน้ำในสระก็ขึ้บนรถ เตือนม้าให้ออกเดิน ชายเจ้าของรถได้ยินเสียงม้าเดินก็หันมาดู ชะช้าเอากันต่อหน้าต่อตาเชียวนะ แถมกลางวันแสก ๆ เสียด้วย เขารีบวิ่งขึ้นมาจากสระ พร้อมกันตะโกน
   “ขโมย ขโมย” คนที่ผ่านไปมาก็ถามเขาว่า
   “ขโมยอะไรกัน” เมื่อเจ้าของรถวิ่งตามไปถึง ก็ยึดบังเหียนม้าให้หยุดอยู่พร้อมกับถามว่า
   “เจ้าจะขโมยรถของเราไปไหน” พระอินทร์ทำหน้าตาตื่น พร้อมกับถามว่า
   “ท่านว่าอะไรนะ”
   “ท่านจะขโมยรถของข้าพเจ้าไปไหน” ชายเจ้าของรถทวนคำ
   “อะไร ท่านว่าใครขโมย นี่รถของข้าพเจ้า ๆ ยังขับมาท่านก็วิ่งมายึดรถพร้อมกับกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นขโมย ระวังท่านจะถูกหาว่าหมิ่นประมาท”

      ชายเจ้าของรถพยายามอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่พระอินทร์ผู้เป็นขโมยสมัครเล่นก็หายินยอมไม่ แม้แต่ประชาชนที่ มุง ๆ มอง ๆ ทั้งหลายก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าของใคร เพราะทั้งเจ้าของรถและพระอินทร์ไม่มีใครรู้จักเลย เรื่องมันก็ต้องถึงมโหสถเด็กเจ้าปัญญา

      “เรื่องนี้ต้องให้มโหสถตัดสิน” ประชาชนคนหนึ่งที่ยืนฟังเหตุการณ์กล่าวขึ้น ทั้งสองฝ่ายก็ยอมตกลงที่จะให้มโหสถเป็นผู้ตัดสิน แล้วต่างก็พากันห้อมล้อมโจทก์และจำเลยไปสู่สำนักของมโหสถ

      เมื่อไปถึงเขาก็เข้าไปบอกแก่มโหสถถึงความเป็นมาของเรื่อง มโหสถออกมาดูก็รู้ทันทีว่าใครเป็นเจ้าของรถพระอินทร์เพราะสภาพของพระอินทร์แตกต่างจากคนธรรมดา อย่างน้อยก็ประกอบด้วยธรรม มีการเลี้ยงดูบิดามารดา ตลอดจนกระทั่งระงับความโกรธ จึงผิดแปลกจากบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่เพื่อจะให้ปรากฎแก่ประชาชนทั่ว ๆ ไปจึงทำเป็นไม่รู้เสีย และสอบถามโจทก์จำเลย ซึ่งต่างก็อ้างว่าเป็นรถของตน ถ้าเป็นท่านล่ะจะตัดสินใจได้อย่างไร ลองดูภูมิมโหสภต่อก็แล้วกัน
   “ท่านทั้งสองมีพยานบ้างไหม?”
   “ไม่มี”
   “เพราะอะไร?”
   “เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่คนใกล้เคียงที่นี่ ข้าพเจ้ามาจากเมืองไกล”
   “ท่านยอมให้ข้าพเจ้าตัดสินแน่ล่ะหรือ” “แน่ พวกข้าพเจ้ายอม”
   “เอ้า ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งสองจับท้ายรถคนละข้าง แล้วตีม้าให้วิ่ง ถ้าคนไหนวิ่งตามรถไปได้คนนั้นจะชนะ”

      แล้วให้คนทั้งสองจับท้ายรถ ข้างซ้ายคนหนึ่ง ข้างขวาคนหนึ่ง แล้วเตือนให้ม้าวิ่ง ม้าก็เริ่มออกวิ่งช้า ๆ คนทั้งสองก็ยังคงจับท้ายรถวิ่งตามรถไปได้ ต่อเมื่อม้าวิ่งเร็วขึ้น ๆ ชายเจ้าของรถทนวิ่งไปไม่ไหวอ้าปากหายใจหอบด้วยความเหนื่อย ต้องปล่อยรถยืนละห้อยละเหี่ยด้วยความเสียดายที่ต้องให้รถแก่ผู้อื่น ม้าจะวิ่งได้เร็วสักเท่าไร่ พระอินทร์ก็วิ่งตามได้ทันเสมอคนทั้งปวงเฮโลกันใหญ่ ถ้ามีแข่งกีฬาทางวิ่งพระอินทร์คงกินดิบแน่ ๆ

      เพราะวิ่งทันม้าเทียมรถ มโหสถจึงให้คนไปเรียกกลับมา พระอินทร์ก็วิ่งติดรถกลับมา ส่วนชายเจ้าของรถคงได้แต่เดินโซเซมาด้วยความเหนื่อยหอบแทบจะอ้าปากพูดไม่ไหว เมื่อคนทั้งสองมาถึง มโหสถจึงชี้ท้าวสักกะพลางถามว่า
   “ท่านมาทำอะไร?”
   “ข้าพเจ้าเป็นคนเดินทาง”
   “อย่าทำไก๋หน่อยเลยน่ะ บอกข้าพเจ้าตรง ๆ ดีกว่าว่าท่านมาทำอะไร รถคันนี้มีประโยชน์อะไรกับท่าน”
   “ท่านว่าเราเป็นใคร ?”
   “ท่านเป็นพวกเทพ”
   “ทำไมท่านจึงรู้ ?”
   “ท่านสังเกตหรือเปล่า ว่าท่านน่ะวิ่งไปตั้งครึ่งค่อนโยชน์เชียวนะ ดูแม้แต่ม้าที่เทียมรถเถิดเหงื่อออกเป็นมันระยับไปทั้งตัว แต่ท่านปกติทุกอย่าง เหงื่อแม้แต่สักหยดก็ไม่มี และนัยน์ตาของท่านน่าไม่กระพริบเลย เพราะฉนั้นข้าพเจ้าแน่ใจว่าท่านเป็นพวกเทพแน่ ๆ”
   “เมื่อท่านมีข้อสังเกตอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ยอมรับว่าข้าพเจ้าเป็นพวกเทพ แต่ใหญ่กว่าเทพเพราะข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ในชั้นดาวดึงส์”
   “ท่านมาทำอะไร”
   “เพื่อจะแสดงปัญญาของท่านให้ปรากฎ เพราะเรื่องนี้ใคร ๆ ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ นอกจากท่านผู้เดียว ขอให้ท่านมีความสุขความเจริญเถิด ข้าพเจ้าไปล่ะ” แล้วเทพมเหศักดิ์ก็จากที่นั้นไปยังเทวโลก รถคันนั้นมโหสถก็มอบให้เจ้าของรถไป

      พวกราชบุรุษได้ส่งข้อความเหล่านี้ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช
   “ควรจะรับเข้ามาได้หรือยังท่านอาจารย์” พระเจ้าวิเทหราชทรงตรัสถามนักปราชญ์ทั้ง   ๔ ท่าน
   “จวนแล้วพระเจ้าค่ะ เด็กคนนี้ดูมีปัญญามากจริง ๆ แต่จะด่วนรับเข้ามาจะไม่สมศักดิ์ศรีของนักปราชญ์สักหน่อยรอดูไปก่อนพระเจ้าค่ะ อย่าให้พลาดได้เลยพระเจ้าค่ะ”
   “ เอ.. แต่มโหสถทำอะไรไม่ผิดพลาด ผิดกว่าพวกที่ดีแต่พูด แต่ไม่จัดการอะไรเลย พูด พูด อีกหน่อยเห็นจะต้องเลี้ยงแพะเสียบ้างกระมัง” ทรงตรัสเป็นเชิงบ่นกับพระองค์เองดัง ๆ แล้วก็หันไปตรัสถามเสนกะว่า
   “หรืออย่างไรท่านอาจารย์ ควรเลี้ยงแพะเสียทีดีกระมัง”
   “เลี้ยงไว้ทำอะไรหรือพระเจ้าค่ะ” เสนกะชักสงสัย
   “เลี้ยงไว้แก่รำคาญ บางทีขี้ของมันอาจจะเป็นยาบ้างกระมัง” แล้วรับสั่งต่อไปอีกว่า
   “รอไปอีกก็ดีเหมือนกัน”


หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14