พระมโหสถ ๑๑

 
  
มงคลสมรส

       เมื่อมโหสถมีอายุได้   ๑๖     สมควรจะมีภรรยาได้แล้ว พระนางจึงทูลพระเจ้าวิเทหราช ๆ ก็ดำริจะจัดการมงคลสมรสให้มโหสถ แต่มโหสถขอตัวไปเลือกผู้ที่ถูกใจก่อนสัก  ๒-๓  วันก่อน ถ้าหาได้จะมากลาบทูลให้ทรงทราบ ถ้าไม่ได้ก็จะกลับมาสมรสกับผู้ที่พระเจ้าวิเทหราชทรงเลือกให้ พระเจ้าวิเทหราชก็ยินยอม มโหสถจึงเดินทางออกไปนอกเมืองเพื่อเสวงหาสตรีที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะกัลยาณี

     แต่ว่าที่มโหสถไปนั้นไปอย่างปลอมแปลงเป็นนายช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า หาได้ไปอย่างมโหสถไม่ เขาเดินทางออกไปทางด้านอุดรของพระนคร ก็ไปถึงหมู่บ้านอุตตรวยมัชฌคาม

    ในบ้านนั้นมีตระกูลเก่าตระกูลหนึ่ง แต่บัดนี้ตกยาก ยังคงเหลือแต่สามี ภรรยากับบุตรสาวอีกคนหนึ่งเท่านั้น บุตรของท่านทั้งสองสมบูรณ์สวยลักษณะของหญิงที่ดี มีผู้ประสงค์จะได้ไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนมากด้วยกัน แต่นางก็หาไยดีกับใครไม่นางมีชื่อว่า อมร บิดาของนางต้องออกไปไถนาแต่เช้าทุกวัน นายช่างซ่อมเสื้อผ้ามโหสถ เดินทางนั้นผ่านมาก็พอดีพบกับนางซึ่งจะไปส่งข้าวบิดาซึ่งกำลังไถนาอยู่ มโหสถเห็นดำริว่า หญิงผู้นี้สวยงามจริงจังทั้งกิริยา ทั้งมารยาทก็สมเป็นกุลสตรีโดยแท้ พอเห็นก็เกิดความรัก นางอมรก็เช่นกัน พอเดินสวนกันเท่านั้นนางก็เกิดพอใจเสียแล้ว มโหสถคิดจะลองปัญญาของนางดู ว่านางจะรู้หรือไม่ จึงยืนอยู่ แล้วยื่นมือออกไปกำมือ นางอมรทราบความหมายออกทันทีว่าบุรุษนี้ถามเราว่า มีสามีหรือยัง นางก็หยุดยืนพร้อมกับแบมือซึ่งเป็นเครื่องหมายบอกว่ายังไม่มี มโหสถเมื่อทราบความแล้ว จึงเดินไปใกล้นางพลางถามว่า
     “ขอโทษเถิดนาง นางมีชื่อว่าอะไร”   นางอมรตอบว่า
     “สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่มีในอดีต ปัจจุปัน และอนาคต นั้นแหละเป็นเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า”   ดูเอาเถอะ คนมีปัญญาเขาเล่นสำนวนกันน่าดูเหมือนกัน พอพูดเท่านั้น มโหสถก็ทายได้ว่านางชื่อ “อมร” เพราะอมรแปลว่าไม่ตาย คำว่าไม่ตายไม่เคยมีใครมี ไม่ว่าเป็นกาลที่ล่วงมาแล้ว หรือกำลังเป็นอยู่ หรือในเบื้องหน้า จึงพูดกับนาง
     “ชื่ออมรหรือ”
     “นั่นแหละเป็นชื่อของข้าพเจ้า”
     “แล้วนางจะเอาข้าวไปให้ใคร?”
     “ให้บุพเทพ”
     “ถ้าจะเอาไปให้บิดา”
     “ถูกต้อง”
     “ท่านทำอะไรอยู่ล่ะ?”
     “ทำสิ่ง ๑   โดยส่วนสอง”
     “คงไถนาล่ะสิ”
     “ถูกต้อง”
     “อยู่ที่ไหนล่ะ?”
     “อยู่ที่คนไปแล้วไม่กลับ”
     “อ๋อ ก็คงข้าง ๆ ป่าช้านั้นเอง”
     “นางไปแล้วจะกลับหรือไม่กลับวันนี้”
     “ถ้าข้าพเจ้าจะไม่กลับ ถ้าไม่มาข้าพเจ้ากลับ” มโหสถรู้ได้แน่นอนว่า บิดาของนางไถนาอยู่ใกล้ ๆ ป่าช้าแถบริมน้ำ เพราะถ้าน้ำขึ้นนางจะข้ามกลับมาไม่ได้จึงบอกได้ว่า ถ้าจะไม่กลับ ถ้าน้ำไม่ขึ้นนางก็จะข้ามกลับจึงบอกความนั้นแก่นาง นางก็รับว่าถูกต้อง นางอมรจึงเชื้อเชิญให้มโหสถบริโภคอาหาร มโหสถก็บริโภคตามคำเชิญ ซึ่งนางก็แบ่งอาหารให้มโหสถทานส่วนหนึ่ง


 
     ปริศนาซึ่งไม่เหลือวิสัยของมโหสถแล้วนางก็รีบเอาอาหารไปส่งบิดา มโหสถก็เดินไปตามที่นางอมรบอก จนกระทั่งถึงบ้านซึ่งมีแต่มารดาของนางอยู่คนเดียว นางเชื้อเชิญมโหสถให้ปริโภคอาหาร แต่มโหสถกลับบอกว่า
     “นางอมรให้ข้าพเจ้าทานแล้ว” นางก็รู้ทันทีว่าชายผู้นี้พอใจธิดาของนางจึงมาถึงบ้าน มโหสถรู้ว่าตระกูลนี้ยากจน จึงบอกว่า
     “คุณแม่ ผมเป็นช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า ใครมีเสื้อผ้าที่จะซ่อมแซมบ้าง ผมคิดราคาย่อมเยาจริง ๆ”
     “เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ น่ะมี แต่เงินที่จะจ้างไม่มี”
     “เอามาเถอะคุณแม่ ผมจะทำเอง” มารดาของนางไปขนเสื้อผ้าขาด ๆ มาให้มโหสถซ่อมแซมพักเดียวเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อย พวกชาวบ้านรู้ก็พากันนำเสื้อผ้ามาซ่อมแซมบ้าง พักเดียวมโหสถก็ทำเสร็จ ได้ค่าจ้าง   ๔.๐๐๐ บาท     ซึ่งเป็นจำนวนที่มากโขอยู่

     ตกตอนเย็นนางอมรก็แบกฟืนกลับมาบ้าน บิดาของนางกลับเย็นกว่านางอีก ในฐานะเป็นแขก มโหสถได้บริโภคอาหารก่อนคนอื่นแล้วบิดามารดาของนางจึงกินภายหลัง มโหสถพักอยู่ที่นั้น  ๒-๓ วัน     พยายามพินิจพิจารณาดูนางอมรว่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งเห็นความดีของนางอมรจึงคิดจะทดลองว่านางจะฉลาดเฉลียวอย่างไรบ้าง
     “แม่อมร วันนี้เอาข้าวสารกึ่งทะนานหุงเป็นข้าวสวยต้มข้าวต้ม และทำขนมด้วยนะ” นางรับคำ แล้วเอาข้าวครึ่งขนานไปตำที่เป็นตัวดีต้มข้าวต้ม และเอาที่หักนิดหน่อยหุงเป็นข้าวสวย และปลายทำขนม เวลากิน แม้จะอร่อยมโหสถก็แกล้งเป็นว่าไม่อร่อย
     “แย่จริง แม่อมรหุงข้างก็ไม่ได้ความ ยิ่งข้าวต้มก็เละเทะไปหมด ขนมก็ไม่น่ากิน เข้ามานี้สิ” นางก็เดินเข้ามา รู้ไหมว่ามโหสถทำอย่างไร เขาข้าวสวยและข้าวต้ม และขนม ผสมกันขยำ ๆ ดีแล้วเอามาทาตัวนางอมรตั้งแต่เท้าถึงศรีษะ “ ไปออกไปทีเดียว ”
     โดยไม่ต่อล้อต่อเถียง นางอมรก็ออกไปโดยมิได้แสดงอาการโกรธเคือง เห็นว่านางไม่โกรธ มโหสถก็ยิ่งพอใจ จึงเรียกนางเข้ามา
     “แม่อมร”   พอเรียกนางก็เข้ามา เขาเอาผ้าเนื้อดีให้  ๑   ผืน
     “เอ้า เอาไปอาบน้ำอาบท่าผลัดเปลี่ยนเสีย แล้วจึงเข้ามา” พร้อมกับเอาเงินให้บิดามารดาของนางอมรรวมได้ถึง   ๘.๐๐๐ บาท   แล้วกล่าวว่า
     "คุณพ่อคุณแม่ครับ ผมขอรับอมรไปอยู่ด้วยกันล่ะ ขอคุณพ่อคุณแม่จงเป็นสุขเถิด” บิดามารดาของอมรก็ยินยอม พร้อมกับให้ศีลให้พรเป็นอันมาก


 
       เมื่อทั้งสองออกเดินทางจากบ้านมาแล้ว มโหสถก็ให้ร่มและรองเท้าแก่นางอมร แต่แล้วมโหสถก็คิดสงสัย เพราะในขณะแดดร้อนจัดนางอมรหุบร่มเสียเดินตากแดดไป พอถึงใต่ร่มสิ นางกลับกางร่มและรองเท้าก็เหมือนกัน ในที่ดอนนางอมรก็ถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่าไป ยามจะลุยน้ำนางจึงสวมรองเท้า เห็นอาการออกจะไม่เข้าที อดไม่ได้เลยต้องถาม นางตอบว่าอย่างไรรู้ไหม?  นางตอบว่า
     "ที่ข้าพเจ้ากางร่มภายไต้ต้นไม้ เพราะไม่ทราบว่าไม้แห้งไม้ผุอะไรจะหักตกลงมาประทุษร้ายร่างกายบ้าง และในขณะเดินบนดอนข้าพเจ้าไม่สวมรองเท้า เพราะเห็นว่าที่แจ้งอาจเห็นหนามได้ แต่ในน้ำที่ต้องสวมเพราะอาจมีภัยอันตรายต่าง ๆ ได้”

     เมื่อไปถึงบ้าน มโหสถก็ยังไม่แสดงตนให้นางทราบว่าตนคือ มโหสถ จึงพานางไปฝากไว้ที่ประตู แล้วกระซิบบอกผู้เฝ้าประตูให้ดูไว้ แล้วตนก็เข้าไปภายในบ้าน พร้อมส่งคนในบ้านออกมาเกี้ยวพาราสีนาง แต่นางก็ไม่ยินดี จนสุดท้ายให้คนไปฉุดนางมาจากประตู นางมาเห็นมโหสถ ซึ่งแต่งตัวอย่างผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มิได้กำหนดให้แน่นอนก็จำไม่ได้ พอนางแลเห็นก็หัวเราะแล้วร้องไห้
     “มโหสถจึงให้คนไปถามนางว่าเหตุใรนางจึงหัวเราะแล้วร้องไห้ นางก็บอกว่า
     “ที่นางหัวเราะเพราะดีใจที่เห็นสมบัติของท่านมากมาย ท่านคงได้สั่งสมไว้แต่ชาติปางก่อนมามาก มาชาตินี้จึงได้ร่ำรวยนักหนา แต่ที่ข้าพเจ้าร้องไห้ก็เพราะเห็นว่าตายไปท่านจะตกนรก ก็เลยพลอยเสียใจด้วย” มโหสถทำเป็นโกรธนาง
     “ปากดีนัก ชะ นางนี่ ชนิดนี้ต้องส่งโรงสีทำงานหนักเสียจึงจะสมควร” แล้วสั่งให้คนใช้พานางกลับไปที่เดิม พอตกตอนเย็นก็ปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้าไปแรมคืนอยู่กับนางอีก


 
       รุ่งขึ้นก็ได้กราบทูลให้พระนางอุทุมพรทราบว่าตนได้นางที่ตนพอใจแล้ว พระนางก็กราบทูลให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ พระองค์ได้สั่งจัดการแต่งงานคนทั้งสองอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพทุกประการ และนับแต่นั้นมาเจ้ามโหสถก็อยู่ร่วมกับภรรยาเป็นสุขสำราญ

     ยังไม่จบเรื่องของเจ้ามโหสถ ยังมีต่ออีก...นักปราชญ์เฒ่าหัวงูทั้ง   ๔   อันมีเสนกะเป็นหัวหน้าเห็นมโหสถได้รับความเอ็นดูจากพระเจ้าแผ่นดินเกินหน้าพวกตนก็เกิดความไม่ชอบใจ และเห็นว่ามโหสถยังอยู่ตราบใดพวกตนก็คงยังด้อยความนิยมนับถืออยู่ตราบนั้น และอีกประการหนึ่งมันมีเมียสวยและฉลาดเสียด้วย ถ้าคนได้กับพวกเราคนใดคนหนึ่งก็จะดีจึงนัดประชุมปรึกษาหารือกันวางแผนทำลายมโหสถพร้อมกับจะได้นางอมรไว้ในครอบครองอีกด้วย
     "พวกท่านทั้งสามมีความเห็นอย่างไรในการจะทำลายอ้ายเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมคนนี้”
     “ยังงี้มันต้องความคิดของอาจารย์ พวกกระผมไปไม่ตลอดหรอกครับ”
     “เรามีความคิดอย่างหนึ่ง แต่ว่าพวกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่”
     “ลองบอกก่อนสิครับ ถ้าเป็นเรื่องไม่รุนแรงนัก พวกผมเป็นตกลงเลย”
     “คือว่าเราทั้ง   ๔   ต้องลักพระราชสมบัติแล้วเอาไปไว้ที่บ้านเจ้ามโหสถ แล้วกล่าวหาว่ามันเป็นขโมยพระราชทรัพย์ เท่านั้นมันจะต้องตาย หรืออย่างน้อยก็ถูกเนรเทศ แล้วเมียมันจะไปไหนเสีย ก็ต้องมาเป็นเมียเรา เอ้ย...ไม่ใช่ คือว่าเป็นเมียของพวกเราไม่คนใดก็คนหนึ่ง ยังงี้ดีไหม?”
     “ดีจริงครับ อาจารย์”
     “ถ้าเช่นนั้นเรามาวางแผนกันเลย เราเองจะลักปิ่นปักผมของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านปุกกุสะลักดอกไม้ทอง ท่านกามินทร์จงเอาผ้าคลุมบรรทมมา ส่วนท่านเทวินทร์จงเอาฉลองพระบาททองมา แล้วให้คนนำไปขายที่บ้านมัน แล้วทีหลังเราก็เอาคนไปค้นจับมันเลย”


 
      ทุกคนลงความเห็นชอบด้วยกัน และเริ่มดำเนินตามแผนโจรกรรมที่วางไว้ เมื่อได้มาแล้วเสนกะก็วางอุบายต่อไปคือให้หญิงคนใช้ของตนคนหนึ่ง เอาเปรียงใส่หม้อไปขายให้คนในบ้านมโหสถ ถ้าคนอื่นซื้อไม่ขาย ถ้าคนในบ้านมโหสถล่ะก็ให้ขายไปเลยทั้งหม้อด้วย พร้อมกับเอาปิ่นทองใส่ก้นหม้อไปด้วย หญิงคนใช้ก็เอาไป “เปรียงแม่เอ๊ย อย่างดี ใหม่ สด ดีไม่มีสอง” แล้วแม่ค้าก็เดินกลับไปกลับมาอยู่หน้าบ้านมโหสถ

     นางอมรอยู่ภายในบ้านมองเห็นความผิดปกติของชาวค้าชาวขาย ทำไมมาเดินวน ๆ เวียน ๆ อยู่แถวหน้าบ้านตนเช่นนี้คงเห็นจะมีอะไรผิดปกติเป็นแน่ จึงให้คนใช้หลบไปเสียก่อน นางเองออกไปเรียกคนขายเปรียงมา พอนางเผลอก็ล้วงมือลงไปในหม้อก็เจอปิ่นทอง แต่นางทำเป็นไม่รู้ เสทำเป็นถามโน่นถามนี่
     “เปรียงของแม่ค้าดีจริงหรือเปล่าคะ”
     “ดีแน่เชียวคะ เป็นของใหม่และสดจริง ๆ และเป็นของที่มาจากนมบริสุทธิ์จริง ๆ”
     “แม่ค้าอยู่ไกลไหมคะ”
     “ดิฉันอยู่บ้านท่านเสนกะคะ”
     “แล้วทำไมมาขายของล่ะคะ”
     “หารายได้พิเศษน่ะคะ” แม่ค้าตอบอย่างไม่ค่อยเต็มคำนัก
     “ถ้าดีจริง ๆ ฉันจะซื้อไว้เอง”
     “คะดิฉันจะคิดให้ถูก ๆ และขี้เกียจจะเอาหม้อกลับไปเลยแถมให้เสียด้วย” นางอมรก็จัดแจงจดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้

     รุ่งขึ้น ปุกกุสะให้นางทาสีเอาดอกไม้ใส่กระเช้ามาขายพร้อมกับเอาดอกไม้ทองใส่ก้นกระเช้ามาด้วย นางคนขายคนนั้น ก็แสดงอาการพิรุธคือมาเดินวนเวียนอยู่ที่บ้านของมโหสถ นางอมรเห็นเข้าก็นึกรู้ว่าคงมีอะไรอีกเป็นแน่ ก็เลยเรียกเข้ามาซึ้อ และสอบถามได้ความว่าอยู่บ้านปราชญ์ปุกุสะ นางได้พบดอกไม้ทองก็เก็บไว้ พร้อมจดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย

     ส่วนกามินทร์ใช้ให้ทาสีในบ้านเอาผ้ามาขาย แต่ก็เอาผ้าคลุมบรรทมซ่อนใส่ข้างล่างไว้ด้วย ซึ่งนางอมรก็รู้ทันและได้สอบถามและก็จดไว้ด้วย เทวินทร์เอาข้าวโพดมาขาย พร้อมกับรองเท้าทองซ่อนใส่ในมัดข้าวโพดมาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่พ้นการพิจารณาของนางอมรไปได้ ซึ่งนางก็ทำเป็นจดหมายหมายเหตุไว้อีก เมียดีเป็นศรีแก่ผัวเห็นจะเป็นอย่างนางอมรนี่เอง ไม่ปล่อยไปให้สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผ่านเข้ามาในบ้านรอดหูรอดตาไปได้ ถ้าปล่อยไปมโหสถเห็นทีจะแย่เหมือนกัน


หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14