พระมโหสถ ๑๐

 
  
แพระกับสนัข (ต่อ)

       และนับแต่นั้นมาสหายทั้งสองก็ดำเนินอย่างคิด แพะไปโรงครัว ขาหลับก็คาบปลาบ้าง เนื้อบ้างมาให้สุนัข ส่วนเจ้าสุนัขเล่าก็ไปโรงช้าง ขากลับก็คาบหญ้ามาฝากเจ้าแพะ

     เรื่องเป็นมาอย่างนี้ พระเจ้าเทหราชทรงเห็นอากัปกิริยาและความเป็นไปของสัตว์ทั้งสองนั้น ก็ทรงดำริว่า
     “เจ้าหมาและเจ้าแพะปกติมันเป็นศัตรูกัน แต่นี้มันกลับมาเป็นสหายช่วยเหลือกันและกันได้ เราจะต้องผูกปัญหาถามบัณฑิตดู ใครตอบได้จะเพิ่มสินจ้างรางวัลให้ ใครไม่รู้ก็ไม่ควรเลี้ยงไว้”

     รุ่งขึ้นเสด็จออกและพวกขุนนางมากันพร้อมแล้ว พระองค์จึงทรงปัญหาว่า
     “สัตว์ที่เป็นศัตรูกัน ไม่เคยคิดร่วมเดินทางกันเลย มาร่วมเดินทางกันได้เพราะอะไร?” พร้อมกับสำทับว่า
     “วันนี้ถ้าใครตอบไม่ได้จะขับเสียจากแว่นแคว้น เราไม่ต้องการคนเขลาไว้ในบ้านเมือง”

     พวกปราชญ์พากันคิดก็คิดไม่ออก ได้แต่แลดูตากันอยู่ มโหสถคิดว่า “พระราชาคงทรงเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นแน่ จึงมาตั้งปัญหาเช่นนี้ ถ้าท่านเสนกะจักให้พระเจ้าวิเทหราชผ่อนเวลาไปอีกสักวันหนึ่ง ก็คงจะได้ความบ้าง” จึงได้แลดูตาเสนกะ ๆ ก็ทราบในทันที จึงทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า “ขอเดชะ ถ้าตอบไม่ได้พระองค์จักขับพวกข้าพระองค์จากแว่นแคว้นจริง ๆ หรือ” “จริง ๆ เราขับแน่” “พระตั้งปัญหามีแง่เงื่อนที่จะต้องคิด เพราะฉะนั้นข้าพระองค์ขอผลัดเวลาเป็นพรุ่งนี้ แล้วข้าพระองค์จักแก้ให้ทรงสดับ”
     “ทำไมจะแก้เดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ?”
     “ตามธรรมดาคนฉลาดจำเป็นต้องอาศัยความสงบสงัดช่วยตรึกตรอง หากพระองค์ทรงผัดผ่อนไปได้พรุ่งนี้แน่พระเจ้าค่ะ ที่ข้าพระองค์จะถวายคำเฉลยปัญหานี้ได้” พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงผัดผ่อนตามคำขอของเสนกะ


 
     เมื่อออกจากเฝ้าแล้ว แทนที่มโหสถจะกลับบ้านไปนอนคิดปัญหา ก็เลยเข้าไปเฝ้าพระนางอุทุมพรแล้วทูลถามว่า
     “ขอเดชะ เมื่อวานหรือวันนี้ พระราชาเสด็จประทับที่ใดนานมาก” พระนางอุทุมพรทรงนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง จึงตรัสตอบ
     “เมื่อวานนี้พระเจ้าพี่ประทับอยู่หน้ามุขเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว และได้ยินทรงพระสรวลเบา ๆ เสียด้วย”

       มโหสถจึงได้ไปที่หน้ามุข ดูไปทางโน้นทางนี้ก็พอดีพบเจ้าแพะกับสุนัขกำลังกินอาหารของตนอยู่บนที่เดียวกัน พอเห็นก็ทำให้ตีปัญหาออกทีเดียว จึงได้ทูลลาพระนางอุทุมพรกลับบ้าน

     ส่วนบัณฑิตทั้ง  ๔   นั้นคิดอะไรไม่ออกเลย เสนกะไปถามทั้ง  ๓   ท่านต่างก็บอกว่าคิดอะไรไม่ออก ไมรู้ว่าจะแก้ปริศนาของพระราชาได้อย่างไร เสนกะจึงกล่าวชวน
     “งั้นไปดูลาดเลามโหสถดูทีหรือ เขาเป็นคนฉลาดอาจจะคิดได้”

     แล้วก็พากันไปบ้านมโหสถ เมื่อมโหสถได้เห็นก็รู้ว่านักปราชญ์ทั้ง  ๔   มาเพราะปริศนานั้น แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ แสดงอาการดีอกดีใจต้อนรับนักปราชญ์ทั้ง 4 อย่างดี และไม่ถามอะไรทั้งหมด เสนกะเมื่อเห็นว่ามโหสถไม่ถามก็อดไม่ได้ เลยถามออกมาตรง ๆ ว่า
     “มโหสถ ที่พวกเรามาหาท่านก็เพราะปริศนาของพระเจ้าอยู่หัวนั้นแหละ พวกเราคิดกันแล้วแต่ไม่อาจจะตีความหมายของปัญหานั้นได้ ท่านล่ะพอจะคิดได้บ้างไหม?”

     มโหสถยิ้มพลางพูดเรื่อย ๆ
     “ท่านอาจารรย์ ปัญหาชนิดนี้เป็นเรื่องง่ายเสียเหลือเกินข้าพเจ้าคิดว่าท่านอาจารย์คิดได้แล้วเสียอีก ข้าพเจ้าน่ะคิดเห็นได้ตั้งแต่ออกจากเฝ้าออกจากที่เฝ้ามาแล้ว”
     “เมื่อท่านทราบ ก็ควรจะบอกให้พวกเราได้ทราบไว้บ้าง” มโหสถคิดว่า “ถ้าเราไม่บอก พวกนี้ก็จะต้องถูกขับจากแว่นแคว้น เสื่อมจากลาภยศ เราเองแม้จะเจริญด้วยชื่อเสียงลาภยศก็ปรากฎไปได้ไม่กี่วันเชียว อีกอย่างนักปราชญ์เหล่านี้ไม่มี คุณค่าปัญญาของเราก็คงไม่ปรากฎ เพราะฉะนั้นนคนเหล่านี้ยังไม่ควรที่จะต้องถูกขับไล่ ควรอยู่ร่วมรับราชการด้วยกันไปก่อน”

     จึงพูดตอบว่า
     “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่รังเกียจเลยในการที่จะบอกแต่ข้าพเจ้าจะบอกทีละคนเท่านั้น”
     “ก็ได้ แล้วแต่ท่านเถิด” มโหสถจึงให้นักปราชญ์เหล่านั้นเรียนคาถากันคนละบทแล้วจึงกลับไป
     รุ่งขึ้นในการเข้าเฝ้า พอพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกทรงตรัสถามเสนกะทีเดียว
     “ว่าอย่างไรท่านอาจารย์ ปัญหานั้นไปนั่งคิดนอนคิดมาดีแล้วหรือยัง”
     “ขอเดชะ คิดได้แล้วพระเจ้าค่ะ” และยังแถมท้ายต่อไปอีกว่า
     “คนอย่างเสนกะคิดไม่ได้แล้ว อย่ามีคนอื่นคิดได้เลยพระเจ้าค่ะ” พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลอย่างชอบพระทัย
     “เอ้า ท่านอาจารย์ลองแก้มาฟังดู” เสนะกะก็เลยกล่าวคาถาที่มโหสถบอกให้ ทั้ง ๆ ที่ตนไม่รู้อะไรกันแน่ว่า
     “เนื้อแพะเป็นที่ชอบใจของพลเมือง แต่เนื้อสุนัขหามีคนประสงค์ไม่ ครั้งนี้แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกันได้” เพียงเท่านี้พระเจ้าวิเทหราชก็ดำริว่า
     "เออ ท่านอาจารย์เสนกะก็รู้” แล้วตรัสถามปุกกุสะต่อไปเขาก็ทูลตอบอย่างที่ตนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า
     “ธรรมดาโลกเขาจะขี่ม้า ใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาด แต่ไม่มีใครใช้หนังสุนัขปูลาดเลย ครั้งนี้สุนัขกับแพะก็เป็นสหายกันได้” พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงดำริเช่นนั้นอีก แล้วตรัสถามกามินทร์ต่อไป ท่านกามินทร์ก็ท่องคาถาอย่างนกแก้วนกขนทองออกมาว่า
     “แพะมีเขาโค้งงอ แต่หมาไม่มีเขา ทั้งหมาและแพะจึงเป็นสหายกันได้” จึงตรัสถามเทวินทร์ต่อไป เทวินทร์ก็ร่ายโศลกอย่างอาจารย์ทั้ง  ๓   ท่านร่ายมาว่า
     “แพะกินหญ้า กินใบไม้ สุนัขไม่กินหญ้า และไม่กินใบไม้ แต่จับกระต่ายหรือแมวกิน ประหลาดแพะกับสุนัขก็เป็นเพื่อนกันได้” เอ้ะ? ท่านนักปราชญ์ทั้ง ๔ นี่สำมะคัญ”   ทรงนึกในพระทัยลองถามมโหสถดูทีจะได้หรือมิได้ประการใด
     “ยังไงพ่อมโหสถ พ่อจะแก้ปัญหาว่าอย่างไร”
     “ขอเดชะ ปริศนานี้ข้าพระองค์แก้ดังนี้ แพะมี  ๔ เท้า   และสุนัขก็มี  ๔ เท้า   ทั้งสองแม้จะมีอาหารต่างกัน คือแพะกินหญ้า สุนัขกินปลาและเนื้อ แต่สัตว์ทั้งสองต่างนำอาหารก็นำอาหารมาฝากกันและกัน เพราะฉะนั้นมิตรธรรมจึงบังเกิดแก่สัตว์ทั้งสอง” ทรงพระสรวลลั้น

     เออ เก่ง ๆ ยังงั้นสิ นักปราชญ์ในราชสำนักวิเทหราชมันต้องอย่างงี้สิ เอ้า เจ้าพนักงานเบิกเงินมารางวัลให้ท่านนักปราชญ์ทั้ง  ๕ สักคนละ  ๑๐ ชั่ง”   ก็เป็นอันว่าทุกคนรอดพ้นจากการต้องถูกขับออกจากพระราชนิเวช และยังแถมได้เงินรางวัลเสียอีกด้วย

     ธรรมดางูพิษ แม้ใครจะทำคุณสักเพียงไรก็ไม่รู้จักคุณอยู่เพียงนี้ นักปราชญ์ทั้ง  ๔ ท่านคือเสนกะ  ปุกกุสะ  กามินทร์ และเทวินทร์ ก็เช่นเดียวกับงูพิษ แล้วเจ้ามโหสถจะช่วยให้รอดพ้นเช่นนี้ก็ยังหาคิดถึงคุณไม่ กลับหมายมั่นปั้นมือจะเล่นงานเจ้ามโหสถให้ได้

     นี่แหละที่โบราณเขาว่า ความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอดอยากให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นแหละเป็นความพอใจของท่านเหล่านั้น
     “ไม่มีก็แล้วกัน ถ้ามีโอกาสเมื่อไรมึงหัวหลุด” เจ้ามโหสถไม่ได้เฉลียวใจถึงเหตุร้ายเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นจึงตกเป็นเครื่องเหยื่อของนักปราชญ์อธรรมเหล่านั้น ซึ่งก็ขอยืมมือคนอื่นเล่นงานเจ้ามโหสถแทบตายไปเลยทีเดียว ดูกันต่อไป


 
       เมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จเข้าข้างใน ได้ตรัสเรื่องนี้ให้พระนางอุทุมพรทราบ พระนางจึงทูลถามว่า
     “ใครแก้ปัญหาของพระองค์ ?”
     “นักปราชญ์ทั้ง ๕ แก้”
     “นักปราชญ์ทั้ง  ๔   คนไม่รู้อะไรเลย มาถามเจ้ามโหสถจึงทราบความเอาไปกราบทูลพระองค์ได้”
     “เราก็พลั้งให้ของรางวัลไปแล้ว”
     “ไม่เป็นธรรมพระเจ้าพี่”
     “งั้นจะทำอย่างไร ?”
     “งั้นก็พระราชทานเพิ่มเติม ให้เจ้ามโหสถมากกว่านักปราชญ์เหล่านั้น”

     พระเจ้าวิเทหราชก็คิดพระราชทานเพิ่มเติม เเต่จะให้เฉย ๆ ก็น่าเกลียด จึงตั้งปัญหาให้นักปราชญ์ทั้ง  ๕   ตอบเพราะทราบดีแล้วว่าใครเป็นผู้มีปัญญากว่าใคร ปัญหานั้นมีอยู่ว่า

     คนมีปัญญาแต่ไร้ทรัพย์ดี หรือคนมีบริโภคทรัพย์แต่ไร้ปัญญาดีกว่า    ทรงตรัสถามตั้งแต่เสนกะเป็นลำดับไป
     เสนกะทูลตอบว่า “ขอเดชะ คนมีปัญญาแม้จะล้นฟ้าแต่หาอาจสู้คนมีทรัพย์ไม่ได้ เพราะไม่ต้องดูอื่นไกลเศรษฐีจะมีปัญญาสู้ที่ปรึกษาไม่ได้ แต่คนมีปัญญาจะต้องเข้าไปรับใช้เป็นคู่ปรึกษา ฉะนั้นจึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา”

     แต่เมื่อเสนกะทูลตอบแล้ว ถามข้ามลำดับไปถึงมโหสถเลยว่า
     “พ่อมโหสถเล่า พ่อเห็นว่าอย่างไร ทรัพย์ดีหรือปัญญาดี" มโหสถทูลตอบว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์เห็นว่าทรัพย์สู้ปัญญาไม่ได้ เพราะคนไร้ปัญญาปรารถนาทรัพย์ก็อาจทำความชั่วต่าง ๆ ฉะนั้นจึงเห็นว่าปัญญาดีกว่าทรัพย์”

     เสนกะหัวเราะเยาะเย้ย พลางทูลบ้างว่า
     “มโหสถไม่รู้อะไร เพราะยังเด็กเกินไปจะพูดง่าย ๆ ว่าปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เธอเห็นโควินทเศรษฐีไหม เศรษฐีคนนี้รวยแต่ทรัพย์อย่างเดียว แถมเวลาจะพูดน้ำลายยังไหลออกมาจากมุมปาก ต้องเอาดอกบัวเขียวมารองรับน้ำลายแล้วโยนทิ้งไป พวกนักเลงพากันเก็บมาล้างน้ำ แล้วเอาประดับตัวและแถมมีคนรับใช้ใกล้ชิดมากมายนั้น จึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญาแน่นอน เพราะคนมีปัญญายังต้องเข้าไปเป็นข้าช่วงใช้ของเศรษฐีนั้น”


 
      พระเจ้าวิเทหราชเมื่อได้ทรงสดับก็คิดสนุก จึงตรัสกับมโหสถว่า
     “ว่าไงพ่อมโหสถ อาจารย์เสนกะอ้างเหตุผลอย่างนี้ พ่อจะคัดค้านอย่างไร”

     ข้าแต่สมมุติเทพ ท่านอาจารย์เสนกะจะรู้อะไร เห็นแก่ยศอย่างเดียว ไม่รู้ค้อนบนหัวจะลงเมื่อไหร่ เสมือนกาอยู่ที่เขาจะเมตตาเทเศษอาหารให้ เพ่งเฉพาะแต่จะกินเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นเสมือนหมาจิ้งจอกที่คิดจะดื่มนมท่าเดียว ธรรมดาคนมีปัญญาน้อย ได้รับความสุขเข้าแล้วก็มักจะประมาทพบทุกข์บ้างพบสุขบ้างก็หวั่นไหวไปตามนั้น เหมือนปลาที่เขาโยนขึ้นบนบกย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนไป ข้าพระองค์ขอยืนยันว่าปัญญานั้นแหละดีกว่าคนเขลาที่มีแต่ยศ”
     “ว่าไงท่านอาจารย์จะแก้ตัวอย่างไร”
     “ขอเดชะ เจ้ามโหสถเด็กเมื่อวานซืนจะรู้อะไร ลองคิดดูนกในป่าตั้งร้อยตั้งพัน ยังต้องมาที่ต้นไม้ที่อุดมไปด้วยผล นี้ก็เช่นเดียวกัน คนมีทรัพย์ใคร ๆ ก็พินอบพิเทาด้วยทรัพย์ของเขา จึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา”
     “ขอเดชะ หน้าท่านอาจารย์ดูจะมีสีโลหิตแจ่มใสดีเหลือเกิน เพราะอะไร ท่านอาจารย์ก็ต้องคิดเรื่องเงินก่อน” “คนสมบูรณ์พูนสุขมันต้องเป็นอย่างนั้น มโหสถลองคิดดู แม่น้ำทั้งหลายไหลไปที่ใด ทั้งหมดก็ย่อมจะไหลลงไปสู่มหาสมุทร เหมือนคนมีปัญญาไปถึงคนมีทรัพย์ก็ต้องหมอบราบคาบแก้วให้คนมีทรัพย์”
     “ท่านอาจารย์อย่าเพิ่งตีขลุมเอาง่าย ๆ แม่น้ำไหลไปสู่มหาสมุทร แต่ขอถามสักหน่อยเถิดว่ามหาสมุทรแม้จะมีคลื่นสักเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่สามารถจะชนะฝั่งไปได้ คนมีปัญญาเช่นเดียวกับฝั่งนั้นเพราะเที่ยงธรรมยั่งยืน เสมอต้นเสมอปลายอยู่เช่นนั้นพราะเช่นนั้นคนมีทรัพย์จึงดีกว่าปัญญาเป็นไปไม่ได้”
     “ท่านอาจารย์จะแก้อย่างไร ?”
     “ขอเดชะ มโหสถเด็กรุ่นคะนองก็เห็นต่าง ๆ ตามอารมณ์ของคนหนุ่ม โดยไม่ใคร่ครวญให้ถ่องแท้แน่นอน ทิ้งคำโบราณที่ว่าเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดเสียสิ้น จึงเห็นว่ามโหสถจะเป็นคนดีต่อไปไม่ได้ เรื่องทรัพย์กับปัญญานี้ข้าพองค์จะเปรียบให้ฟัง ข้าพระองค์นักปราชญ์ทั้ง  ๕   รวมทั้งมโหสถจัดว่าเป็นนักปราชญ์เป็นคนมากปัญญา แต่ยังต้องอาศัยพระองค์เลี้ยงชีพอยู่ ต้องมาเป็นข้าราชบริพารของพระองค์จึงเห็นได้ชัดว่าทรัพย์นั้นย่อมดีกว่าปัญญาอย่างแน่แท้พระเจ้าค่ะ ทีนี้มโหสถแก้ได้ข้าพระองค์ยอมแพ้”
     “ท่านอาจารย์ ไม่มีทางจะเอาชนะข้าพเจ้าได้หรอก เพราะถึงอย่างไรผู้มีปัญญาก็ต้องดีกว่าผู้มีทรัพย์ เพราะผู้มีปัญญาไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนและคนอื่น คนเขลาเท่านั้นชอบสร้างความชั่วเพื่อตนเองและผู้อื่น ไม่ต้องดูอื่นไกล การปฎิบัติราชกิจหากไม่มีปัญญาก็ปฎิบัติงานผิด ๆ พลาด ๆ และยังแถมโลภทรัพย์ ก็อาจฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ทุกประการ นี่แหละจึงเห็นว่าผู้มีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์แต่เป็นคนเขลา”
     “พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลด้วยความชอบพระทัย นักปราชญ์ทั้ง  ๔  ต่างเงียบไปตาม ๆกัน จึงพระราชทานทรัพย์ให้มโหสถเป็นอันมาก ลาภไหลมาเทมาที่มโหสถยังกับน้ำไหลจากกระบอก นักปราชญ์ทั้ง  ๔ ท่านก็เหมือนถ่านไฟจะดับมิดับแหล่


หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14