พระมโหสถ ๗

 
  
เรื่องหุงข้าว

       พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองมโหสถทั้งความรู้และเชาว์ไหวพริบหลายประการมาแล้ว มโหสถก็แก้ได้สมกับคำว่าปราชญ์ทีเดียว ถึงเช่นนั้นนักปราชญ์ประจำราชสำนักทั้ง  ๔ ท่าน  ก็ยังยืนยันคำอยู่ว่า ขอให้ทดลองดูไปก่อน หม้อจะดีต้องค่อย ๆ ตีกล่อมเกลาไปทีละน้อย จึงได้หม้อดี แต่จะอ้างเหตุผลอย่างไรก็ตาม แม้จะไม่พอพระทัยพระเจ้าวิเทหราชก็ตาม ก็ทรงยินยอม คือรอ และส่งปัญหาไปให้แก้ คราวนี้ก็เช่นกัน ทรงส่งราชบุรุษไปกำชับชาวบ้านหาจีนวยมัชณคาม จงหุงข้าวเปรี้ยวประกอบด้วยองค์ 8 ประการมาคือ

    
   ๑.  ไม่หุงด้วยข้าวสาร
    ๒.  ไม่หุงด้วยน้ำ
    ๓.  ไม่หุงข้าวด้วยหม้อข้าว
    ๔. ไม่หุงด้วยเตาหุงข้าว
    ๕.  ไม่หุงด้วยไฟ
    ๖.  ไม่หุงด้วยฟืน
    ๗.  ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา
    ๘.  ไม่ให้นำมาในทาง

     ถ้าไม่ได้  ๔.๐๐๐ บาท   จ่ายมาเสียดี ๆ ชาวบ้านพอได้รับคำสั่ง เออ ?  อกอีปุกจะแตก มีอะไรประหลาดพิศดารมาเรื่อย ทุกคนส่ายหัว พวกเราไม่มีปัญญาจะตอบปัญหานี้ได้ ส่งเรื่องไปให้พ่อมโหสถกันเถอะ พ่อมโหสถคนเดียวเท่านั้นที่จะคิดปัญหานี้ได้

     “จริงอย่างเกลอว่า เพราะคนอื่นคิดไม่ได้ “ ปัญหานี้ก็ถูกส่งไปให้เจ้ามโหสถแก้ และมโหสถ เจ้ามโหสถพิจารณาปัญหาแล้วก็ยิ้ม ๆ     “เรื่องเล็ก” เขาว่า
     “พ่อว่าเป็นเรื่องเล็ก ถ้าทำไม่ได้ชาวบ้านจะถูกปรับตั้ง  ๔.๐๐๐ บาท   จะเอาที่ไหนไปให้ท่านเล่า”
     “ไม่เป็นไร ถ้าแก้ไม่ได้ก็เอาที่ท่านพ่อ เพราะท่านเป็นเศรษฐีและเป็นหัวหน้าหมู่บ้านนี้”
     “พ่ออย่าพูดเป็นเล่นไปเลย” ท่านเศรษฐีว่า     “จะแก้อย่างไรก็จัดการเข้าเถอะ”

     “แหม มีข้อบังคับถึง  ๘ ข้อ  แต่ถึงอย่างนั้นผมก็จะแก้ให้ได้

     ๑.  ท่านไม่ให้หุงข้างสาร เราก็ต้องจัดการหุงด้วยข้าวป่นหรือปลายข้าว เพราะไม่ชื่อข้าวสาร
     ๒.  ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ข้อนี้ลำบากหน่อย ต้องให้คนไปรวมน้ำค้างมาให้พอจึงจะหุงได้ เพราะน้ำค้างไม่ใช่น้ำตามปกติ
     ๓.  ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าวเราก็หุงด้วยภาชนะอื่น เช่น กะทะก็ได้
     ๔.  ไม่ให้หุงด้วยเตา เราก็ตอกหลักเอาก้อนหินวางเป็นสามเส้าก็ใช้ได้
     ๕.  ไม่ให้หุงด้วยไฟ เราก็จัดแจงเอาแว่นส่องจากดวงอาทิตย์ลงมาจุดไฟ หรือมิฉะนั้นเราก็จัดการสีเอาไฟมาใช้ก็เป็นอันเสร็จ
     ๖.  ไม่ให้หุงด้วยฟืน เราก็หุงด้วยถ่าน หรือมิฉะนั้นก็เอาใบไม้ก็ได้เช่นกัน
     ๗.  ไม่ให้ชายหรือหญิงยกมา ข้อนี้ไม่ยาก เอากระเทยยกไปก็สิ้นเรื่อง
     ๘.  ไม่ให้นำมาในทาง ที่ใดเป็นทางคนเดินเราก็ไม่เดิน เดินเสียนอกทาง ก็เป็นอันแก้ได้ครบทั้ง  ๘ ข้อ  ท่านพ่อว่าสำเร็จไหม"

     “ความคิดของพ่อวิเศษจริง เป็นอันว่าชาวบ้านไม่ต้องจ่ายทรัพย์เป็นค่าปรับให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน” ท่านเศรษฐีได้ทำตามความคิดมโหสถเช่นนั้น แล้วให้กระเทยนำข้าวเปรี้ยวที่หุงสุกแล้ว ใส่ในภาชนะผูกด้วยตีตราแล้วนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน

     เมื่อพระเจ้าวิเทหราชได้เห็น และได้ทราบว่าสิ่งทั้งปวงนี้สำเร็จด้วยความคิดของมโหสถก็ทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก ทรงหันไปทางนักปราชญ์ทั้ง  ๔  ซึ่งต่างก็ก้มหน้าไม่ยอมสบพระเนตรด้วยทรงตรัสขึ้นมาลอย ๆ
     “รอไปก่อน ทดลองดูอีกก่อน” นักปราชญ์ทั้ง  ๔ ท่าน  ถือว่าไม่ใช้พระราชดำรัสถามก็เลยถือความดุษณีภาพเป็นสมบัติเสียเลย


 
  
เรื่องชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย

      เมื่อทดลองด้วยความจริงแล้ว คราวนี้ต้องการจะทดลองไหวพริบดูบ้าง มโหสถจะคงแก่เรียนประกอบด้วยเชาว์ไหวพริบสมบูรณ์หรือไม่ จึงดำรัสสั่งให้ราชบุรุษไปแจ้งแก่ท่านเศรษฐีบิดามโหสถว่า

     “ภายในพระราชสำนักมีชิงช้าห้อยด้วยเชือกทรายอยู่เชือกชิงช้าหนึ่ง เดี๋ยวนี้เชือกทรายนั้นขาดลงไป จงฟั่นเชือกส่งมาให้โดยด่วน จะห้อยชิงช้านั้น ถ้าไม่ได้  ๔.๐๐๐ บาท  จะต้องเสียค่าปรับ” พอปัญหานี้ไปถึงท่านเศรษฐี
     “เอาอีกแล้ว ปัญหานี้บ้าบอคอแตกทั้งนั้น เราเองรึก็แก้ไม่ได้สักที คนเฒ่าคนแก่ปัญญาเหี่ยวแห้งหัวโตไปด้วยกันทั้งนั้นต้องพึ่งเจ้ามโหสถลูกเล็กเสียเรื่อย ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าละอาย เสียแรงเป็นวัยวุฒิ แก่แต่ตัวเท่านั้นเอง” เศรษฐีรำพึงออกมาดัง ๆ
     “แต่เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะไม่มีใครเลยที่จะฟั่นทรายให้เป็นเชือกขึ้นมาได้
     “ เออ กลุ้มจริง ๆ ปัญหาแต่ละข้อหนักสมองพิลึก ลองดูเจ้ามโหสถก่อน ดูว่ามันจะฟั่นได้ไหม” แล้วท่านเศรษฐีก็ให้คนไปตามมโหสถมาจากสนามที่เล่นของเด็ก พอมาถึงก็บอกปัญหาให้ฟังพร้อมกับเสริมว่า
     “ตั้งแต่พ่อเกิดมาก็เพิ่งจะเคยได้ยินนี่เหละว่าเขาเอาทรายมาฟั่นเป็นเชือกก็ได้ อย่าว่าแต่เชือกทรายเลย เพียงแต่ได้ยินก็ไม่เคย เจ้านะคิดอย่างไร”
     "ฉันเองก็เหมือนกัน เพิ่งเคยได้ยินนี่เหละ”
     “งั้นก็แย่ล่ะมัง เห็นทีจะต้องเสียเงิน ๔.๐๐๐  เสียแล้ว”
     “เอ้า เจ้าจะคิดก็คิดเสีย จะเอายังไงก็เอา” มโหสถพิจราณาดูก็แล้วก็กล่าวว่า
     “พ่อ เรื่องนี้เห็นจะต้องหนามบ่งหนามเสียแล้ว”
     “บ่งก็บ่งสิ ทำอย่างไรก็ทำไปเลย”
     “พ่อ ข่วยหาคนที่กล้าหาญไม่ประหม่าให้ฉันสัก  ๒- ๓ คนเถอะ”  ท่านเศรษฐีก็จัดหาให้ มโหสถจึงชี้แจงให้คนเหล่านี้ได้ทราบวิธีการกราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดิน และกิริยาอาการที่ประพฤติทั้งปวงแล้วส่งไป

     พวกชาวบ้านเดินทางไปยังพระราชวังของพระเจ้าวิเทหราช ขออนุญาตจากเจ้าพนักงานเข้าไปเฝ้า พอได้รับอนุญาตแล้วเขาเหล่านั้นก็พากันเข้าไปยังท้องพระโรง ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชกำลังเสด็จออกราชการอยู่ พอเข้าไปถึงชาวบ้านกราบถวายบังคม พระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสถามว่า
     “พวกเจ้ามาจากบ้านปาจีนวยมัชคามหรือ”
     “พระเจ้าค่ะ พวกข้าพระบาทมาจากหมู่บ้านปาจัวยมัชคาม”
     “เชือกที่สั่งให้ฟั่นได้มาหรือยัง?”
     “พวกข้าพระองค์กำลังจะมาทูลถามพระองค์พระเจ้าค่ะ”
     “ถามเรื่องอะไรล่ะ?”
     “คือเชือกทรายพระเจ้าค่ะ ที่ทรงสั่งไปนั้นไม่บอกกำหนดว่าจะให้ฟั่นกี่เกลียว ตามธรรมชาติเชือกป่านที่เขาใช้ผูกว่าวนั้น บางคนชอบใช้สองเกลียวแต่ใหญ่หน่อย บางคนก็ใช้สี่เกลียวแต่เส้นให้เล็กหน่อย เส้นหนึ่งอาจจะฟั่น  ๒- ๓- ๔  เกลียวก็ได้ และอีกอย่างหนึ่งขนาดเล็กใหญ่แค่ไหนพระองค์ก็มิได้ตรัสบอกไปด้วย พวกข้าพระองค์จึงขอรับทราบ และอยากจะขอตัวอย่างไป เพื่อที่จะฟั่นใหม่พระเจ้าค่ะ”
     “อุวะ ? ข้าจะไปมีตัวอย่างให้พวกเจ้าได้อย่างไร ที่ในวังของข้ายังไม่เคยมีเชือกทรายสักเส้นเดียว”
     “ทรงพระกรุณาโปรด ถ้าเช่นนั้นข้าพระบาทก็ไม่สามารถจะฟั่นได้ เพราะไม่มีตัวอย่างพระเจ้าค่ะ”
     “ใครส่งพวกเจ้ามาขอตัวอย่างล่ะ?”
     “พ่อมโหสถเป็นคนจัดการพระเจ้าค่ะ”
     “เออ พวกเจ้าไปบอกมโหสถเถอะว่าข้าพอใจแล้ว” แล้วก็พระราชทานรางวัลให้คนเหล่านั้นตาม

    สมควรแล้วก็ส่งกลับไป แล้วหันไปทางนักปราชญ์เอกอุทั้ง 4 ซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ตรงพระพักตร์ ยิ้มแล้วตรัสว่า
    “รอไปก่อน ทดลองดูก่อน”  ทั้ง ๔  ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากออกปากรับว่า
     “พระเจ้าค่ะ”

     เรื่องเป็นอันว่าพระเจ้าวิเทหราชต้องรอต่อไป เพราะความอิจฉาริษยาที่ฝังแฝงอยู่ในดวงใจของนักปราชญ์ที่ด้อยศีลธรรมเหล่านั้น


 
  
เรื่องสระ

      เมื่อเรื่องเชือกผ่านไปแล้วไม่นานนัก ราชบุรุษที่ทรงส่งไปสังเกตการณ์ ณ หมู่บ้านของมโหสถไม่เห็นส่งข่าวคราวมาพระเจ้าวิเทหราช จึงส่งปริศนาไปเพื่อทดลองเจ้ามโหสถอีกข้างหนึ่งว่า
     “พระเจ้าแผ่นดินประสงค์จะเล่นน้ำในสระที่มีบัว  ๕ ชนิดขึ้นอยู่เต็มไป ให้ประกอบด้วยดอกนานาชนิด ให้ชาวบ้านปาจีนวยมัชณคาม ส่งสระดังกล่าวนี้ไปยังพระราชวังภายใน  ๗ วัน  ถ้าไม่ส่งจะต้องถูกปรับ  ๔.๐๐๐ บาท”  ท่านเศรษฐีได้รับคำสั่ง อดที่จะพึมพรำออกมาไม่ได้
     “ปัญหามีมาเสียเรื่อย เต่ละอย่างชวนให้ปวดเศียรเวียนหัวทั้งนั้น ถ้าไม่มีมโหสถเห็นจะต้องอพยพบ้านหนีไปอยู่เมืองอื่นทีเดียว” แล้วก็ใช้ให้ไปตามมโหสถมาดังเคย เมื่อมโหสถมาถึงก็บอกความทั้งปวงให้ฟัง
     “พ่อหาคนที่คล่องแคล่วรูปร่างกำยำล่ำสัน และกล้าหาญในการที่จะตอบโต้ข้อความให้ฉันสัก  ๕ – ๖ คน”  ท่านเศรษฐีออกไปจัดแจงมาให้ พอคนเหล่านั้นเข้ามาถึงมโหสถก็เรียกมาชี้แจงว่า
     “เมื่อท่านไปถึงพระราชวังแล้ว จงพยายามโต้ตอบกับพระเจ้าแผ่นดินให้ดี และพูดจนเห็นว่าพระองค์ยอมแล้วท่านจงกลับมา แต่ก่อนท่านจะไปท่านจงพากันเล่นน้ำเสียให้โชกโชนจนตาแดงผมเผ้าเปียกปอนแล้วถือเชือกเส้นใหญ่ไปด้วย”

     คนเหล่านั้นก็พากันปฎิบัติตามคำชี้แจง มองดูสภาพของคนเหล่านั้นที่พากันเดินทางไปพระราชวังของพระเจ้าวิเทหราชเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มโชกไปด้วยน้ำ ผมเผ้าเปียกปอน แถมยังถือเชือกเส้นใหญ่ไว้ในมือด้วยแล้ว คล้ายกับคนวิกลจริต ใครจะสอบถามอย่างไรคนเหล่านั้นก็นิ่งไม่ยอมตอบ แม้นายประตูจะถามก็บอกเพียงว่า
     “มาจากหมู่บ้านปาจีนวยมัชคามเหมือนเป็นคำสั่งว่าถ้าชาวบ้านนี้มาก็ให้ปล่อยเข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้เลย ไม่ต้องหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ นายประตูจึงยอมให้ผ่านได้พร้อมกับกล่าวทีเล่นทีจริงว่า
     “ได้รางวัลแล้วอย่าลืมกันเสียล่ะ”
     “เอาเถอะน่ะ ถ้าได้รับหวายแล้วจะมาแบ่งให้” นายประตูสงสัย
     “ว่ายังไงนะ” ผู้เป็นหัวหน้าชาวบ้านตอบยิ้ม ๆ
     “ถ้าได้รับหวายแล้วจะเอามาแบ่งให้บ้าง”
     “ทำไมถึงจะได้รับหวยล่ะ และหวายน่ะจะเอาไปทำอะไรได้ เห็นแต่เขาเอาไปเย็บจากบ้าง ทำราวตากผ้าบ้าง”
    “ไม่ใช่เช่นนั้น ที่พูดนี่เป็นเรื่องหวายตะค้าที่สำหรับเฆี่ยนนักโทษน่ะ”
     “แล้วจะเอาไปทำไมล่ะ”
     “ก็เอาไว้เฆี่ยนหลังจ่าสิ”
     “อาจจะอย่างนั้น เพราะพวกข้าพเจ้าพูดทูลไม่ต้องพระประสงค์ อาจจะถูกเฆี่ยนก็ได้ ถ้าได้จริงก็จะให้ท่านได้รับส่วนแบ่งด้วย ถ้าพวกข้าพเจ้าได้คนละ 30 ก็จะแบ่งให้ท่านคนละ 15 ดีไหม?” นายประตูทำคอย่น
     “พ่อคุณ ส่วนแบ่งนี้ของดเถอะไม่เอาแล้วไม่อยากได้ อยู่ดี ๆ จะหาหวายมาลงหลังเสียแล้ว ไปเถอะรีบ ๆ ไปเถอะ ไม่ต้องเอามาแบ่งนะ ไม่อยากได้" พวกชาวบ้านก็พากันมาเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ณ ที่พระโรงวินิจฉัย
     “ พวกเจ้ามาจากบ้านปาจีนวยมัชคามหรือ ?”
     “พระเจ้าค่ะพวกข้าพระองค์มาจากบ้านปาจันวยมัชคาม”
     “เจ้ามโหสถยังอยู่ดีหรือ?”
     “พระเจ้าค่ะ มโหสถตลอดตนบิดามารดาสบายดีพระเจ้าค่ะ”
     “แล้วพวกเจ้าที่เปียกมะล่อกมะแล่งมานี่ล่ะ เพราะอะไร?”
    “เป็นเพราะคำสั่งของพระองค์พระเจ้าค่ะ”
     “ข้าไม่ได้สั่งให้พวกเจ้าเปียกเลยนี่นา”
     “มิได้พระเจ้าค่ะ คือคำสั่งที่พระองค์ตรัสบังคับให้ชาวบ้านปาจีนวยมัชคามส่งสระมาไห้นั่นแหละ ที่ทำให้พวกข้าพระองค์ตกอยู่ในสภาพเปียกปอนเช่นนี้”
     “นึกว่าตูบ้าคนเดียว มโหสถก็บ้าไปกับตูเหมือนกัน แล้งทำไมไม่ส่งมาละ ขัดข้องอะไรรึ หรือจะเอาเงินทองมาเสียค่าปรับ”
     “มิได้พระเจ้าค่ะ พวกข้าพระองค์มาขอความกรุณาพระเจ้าค่ะ”
     “พวกเจ้าจะมาขอผัดผ่อนเรื่องเงิน ใช่หรือไม่ ?”
     “มิได้พระเจ้าค่ะ พวกข้าพระองค์มิได้มาขอผัดผ่อน แต่ว่าต้องขอพระราชทานอภัยก่อนพระเจ้าค่ะ”
     “เอ้า มีอะไรว่ามา ข้าให้”
     “คือว่า พวกเกล้ากระหม่อมฉันเปียกปอนมาทั้งนี้ก็เพราะสระที่พระองค์ต้องประสงค์นั้นแหละพระเจ้าค่ะ ทำพิษ”
     “มันทำพิษอย่างไร ลองว่าไปดูทีสิ ?”
     “คือว่า”
     “วะ แก่คือว่าเสียจริง” ทรงตรัสอย่างชักจะทรงพระพิโรธ
     “พวกเกล้ากระหม่อมได้รับคำสั่งจากท่านเศรษฐีให้นำสระใหญ่ที่เต็มไปด้วยบัวนานาชนิดจากหมู่บ้านมายังพระราชวังของพระองค์ พวกข้าพระองค์ก็เอาเชือกเส้นใหญ่ ๆ ผูกมัดเป็นอันดีแล้วก็เกิดเรื่องพระเจ้าค่ะ” “เกิดเรื่องอะไรล่ะ ?”
     “เกิดเพราะสระใหญ่นั้นเคยอยู่แต่ในดงพงพี ไม่เคยเห็นพระราชวัง พอเห็นประตูเมืองก็เลยตกใจสลัดเชือกหนีไปเสีย พวกข้าพระองค์จะช่วยกันโบยตีอย่างไรก็ไม่กลับพระเจ้าค่ะ”
     “เอ๊ะ เรื่องสนุกดีว่ะ แล้วเจ้าจะให้ข้าช่วยอย่างไร สระมันถึงจะยอมมาล่ะ”
     “ข้อนี้ล่ะที่พวกข้าพระองค์ต้องมาขอความกรุณาจากพระองค์”
     “จะขออะไรก็บอกมาสิ มัวอมพะนำอยู่ได้”
     “คือจะขอให้พระองค์เอาสระน้ำที่มีอยู่ในเมืองออกไปพบกับสระใหญ่สักหน่อยก็คงจะเข้าเรื่องกันได้” ทรงพระสรวลลั่นท้องพระโรง แลัวตรัสออกมาอย่างขบขันว่า
     “ถ้าจะต้องสร้างโรงพยาบาลโรคจิตเพิ่มขึ้นอีกเพราะเรื่องเอาสระไปต่อสระ หนอย..ยังแถมคุยกันรู้เรื่องเสียด้วยว่าไงท่านอำมาตย์ อากาศก็ไม่ค่อยร้อนนี่ไหงเป็นงั้นไป”
     “ไม่ทราบเกล้าเหมือนกันพระเจ้าค่ะ” ทรงหันไปทางชาวบ้าน
     “ใครบอกกับพวกแกล่ะว่าให้เอาสระในพระราชวังไปต่อสระข้างนอกมา อย่าว่าแต่มนุษย์จะทำเลย เทวดาก็ยังทำไม่ได้”
     “ได้ทรงพระกรุณาโปรด มโหสถเป็นคนบอกกับพวกข้าพระบาท”
     “คนบอกน่ะมันบ้า”
     “ขอเดชะ พระองค์รับสั่งให้ชลอสระเข้ามาในพระราชวัง ถ้าไม่ได้จะปรับชาวบ้านพระเจ้าค่ะ”
     “เออ เอ๊ะงั้นข้าก็บ้าเหมือนกันล่ะสิ” แล้วตรัสกำชับพวกชาวบ้านว่า
     “จริงสินะ ข้าก็บ้า พวกแกก็บอพอกันทั้งนั้น ไม่มีใครชะลอสระมาได้หรอก เจ้ามโหสถเข้าใจได้ดีแล้ว ข้าก็ลืมไปเหมือนกัน” แล้วพระราชทานรางวัลให้กับชาวบ้านเหล่านั้นตามสมควรแล้วส่งกลับไป เมื่อชาวบ้านกลับไปเรียบร้อยแล้ว ทรงหันไปทางนักปราชญ์ทั้ง ๔
     “ว่าไง ท่านอาจารย์คงทดลองดูต่อไปอีกสักหน่อยกระมัง”
     “ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ควรเป็นเช่นนั้นพระเจ้าค่ะ”
     “เอ้า รอก็รอ” ทรงตรัสอย่างฝืน ๆ


 
  
เรื่องสวน

      เมื่อมีพายุใหญ่พัดผ่านวิเทหราชมาในวันหนึ่ง ทำให้บ้านเรือนราษฎร ตลอดจนต้นหมากรากไม้ตามไร่ตามสวนหักโค่นเกลื่อนกลาดไปหมด ราษฎรปราศจากที่อยู่เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน พระเจ้าวิเทหราชต้องเสด็จออกทรงบรรเทาทุกข์วาตภัยโดยด่วน และก็ได้พบว่าพระราชอุทยานของพระองค์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก คงเป็ยอุทยานอยู่เพียงแต่ชื่อเท่านั้น หลังจากที่ได้บรรเทาทุกข์ให้ราชฎรเรียบร้อย แล้วพระองค์ก็ส่งปริศนาไปยังมโหสถอีกข้อหนึ่ง

     “เพราะอุทยานของเราหักโค่นหมดสภาพเป็นอุทยานให้ชาวปาจีนวยมัชคามส่งอุทยานใหม่มาให้เราภายใน  ๗ วัน  ถ้าไม่ได้จะต้องปรับไหม  ๔.๐๐๐ บาทเช่นเคย”  พวกชาวบ้านซึ่งรอดจากวาตภัยเพราะลมผ่านไปเสียทางอื่น พอเจอปัญหานี้เข้าบางคนถึงกับสะอึก
     “เอาอีกแล้ว ขี้ไม่ออกเยี่ยวไม่ออกก็ตกเป็นภาระของชาวบ้านปราจีนวยมัคาม ทีบ้านอื่นไม่เห็นจะถูกบังคับเช่นบ้านเรา ดู ๆ ออกจะไม่ยุติธรรมเสียเลย”

     ปัญหาก็ไปถึงมโหสถเช่นเคย เขาได้จัดการอย่างเคย โดยขอพระเจ้าวิเทหราชส่งยานพาหนะไปเพื่อบรรทุกอุทยานเข้ามา ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชก็ต้องยอมอีกวาระหนึ่ง และในครั้งนี้เองที่ทรงตัดสินพระทัยว่าจะรับเจ้ามโหสถเข้ามาในพระราชวัง แม้อาจารย์ทั้ง  ๔ จะคัดค้านอย่างไรก็ไม่ฟังเสียง สั่งให้ส่งม้าเสด็จไปรับเจ้ามโหสถ แต่พอเสด็จขึ้นหลังม้าเผอิญให้ม้านั้นมีอันเป็นไปกีบเท้าม้าเกิดแตกขึ้นมา ม้าเดินไม่ได้โดยปกติ เลยเป็นโอกาสของเสนกะปราชญ์จอมโกงไป

     “ข้าพระองค์บอกแล้วว่าให้รอก่อน พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อ นี่ดีแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ถ้าเสด็จออกไปข้างนอกแล้วอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ ทรงรอไปก่อนเถิดพระเจ้าค่ะ” ซึ่งด้วยความจำเป็นพระเจ้าวิเทหราชก็ต้องทรงยอมอีกวาระหนึ่ง


 
  
เรื่องม้าอาชาไนย

      เมื่อพระเจ้าวิเทหราชตกลงพระทัยจะรับมโหสถเข้าไปอยู่ในราชสำนักแล้ว เสนกะเห็นว่าขืนคัดค้านต่อไปตัวเองอาจจะเป็นที่ไม่พอพระทัยขององค์กษัตริย์มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่อยู่ในราชสำนักดูจะไม่ค่อยปลอดภัยนัก ซึ่งหลังจากนั้นอีก ๒-๓ วัน เสนกะจึงกราบทูลว่า
     “ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ หากว่าจะทรงรับเจ้ามโหสถเข้ามาอยู่บนราชสำนักจริง ๆ แล้ว ไม่ต้องเสด็จออกไปด้วยตนเองดอก เพียงแต่ตั้งปัญหาไปเรื่องก็สำเร็จพระเจ้าค่ะ”
     “จะตั้งปัญหาอย่างไรล่ะท่านอาจารย์”
     “ควรตั้งปัญหาเรื่องม้าอาชาไนยพระเจ้าค่ะ”
     “ท่านอาจารย์ลองว่าไปดูทีรึ ?”
     “ควรตั้งว่า เมื่อวันก่อนพระองค์เสด็จออกมาด้วยม้าเพื่อจะมารับ

     เจ้ามโหสถ เผอิญวันนั้นเท้าม้าเจ็บให้เจ้ามโหสถส่งม้าตัวประเสริฐมาแทน และเมื่อมาให้บิดามาด้วย”
     "แล้วมโหสถจะมาหรือ”
     “มาพระเจ้าค่ะ พอมโหสถได้ฟังปัญหาก็รู้ทันทีว่าพระองค์ต้องการพบ ก็ให้บิดามาก่อนแล้วตนก็จะตามมาภายหลัง” พระเจ้าวิเทหราชทรงเห็นชอบด้วย และได้ส่งปัญหาไปดังกล่าว ท่านเศรษฐีพอได้รับปัญหา ก็สั่งให้คัดเลือกม้าทันที
     “เฮ้ย ? เจ้าพวกเด็ก ๆ ลองไปตามดูบ้านต่าง ๆ ดูทีรึว่าใครมีม้าดีบ้าง เกณฑ์มาให้หมดจะใด้เลือกส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน แทนที่จะเสียเงินค่าปรับ” แต่เมื่อเจ้ามโหสถได้รู้ปัญหานี้เข้า กลับพูดกับท่านเศรษฐีว่า
     “คุณพ่อ อย่าต้องยุ่งเรื่องจัดการม้าลาอะไรเลย พระเจ้าแผ่นดินทรงพระประสงค์จะพบคุณพ่อและฉัน”
     “แล้วเราจะทำอย่างไรกันล่ะ”
     “เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะจัดการเอง”
     “เอ้า ? เจ้าบอกมาจะให้พ่อทำอย่างไรบ้าง”
     “พ่อพร้อมด้วยบริวารพันหนึ่ง จงเดินทางล่วงหน้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินก่อน แต่ว่าเมื่อไปอย่าไปมือเปล่า ต้องหาของติดมือไปถวายด้วย เพราะคำโบราณเขากล่างไว้ว่าไปหาเจ้านาย ๑ หาอุปัชฌาย์ ๑ หาบิดามารดา หญิงที่ตนรัก ๑ ต้องหาของติดมือไปด้วย ถ้าพระเจ้าอยู่จะทรงตรัส หรือให้ท่านพ่อนั่งที่ใดก็จงปฎิบัติตามสมควร แต่เมื่อข้าพเจ้าไปเฝ้าภายหลัง หากพระเจ้าแผ่นดินตรัสให้ข้าพเจ้าหาที่นั่งเอาเอง ข้าพเจ้าจะมองตาท่านพ่อจงมานั่ง ณ ที่นี่ เท่านี้เองปัญหาต่าง ๆ ก็เสร็จสิ้นกันเสียที”

     เมื่อได้ตกลงกับศิริวัฒกะผู้เป็นบิดาแล้ว มโหสถก็ส่งท่านพ่อเศรษฐีและบริวารเดินทางไปก่อน แล้วตนเองพร้อมด้วยเด็กที่เป็นบริวารพันคนก็เดินทางตามไปภายหลัง ไปพบลาเข้าตัวหนึ่งก็ให้พวกเด็กจับเอาเสื่อห่อให้มิดชิดแบกไปด้วย

     ครั้นเข้าไปถึงพระราชวัง ได้รับอณุญาตให้เข้าเฝ้าได้แล้วก็พร้อมด้วยเด็กผู้เป็นบริวารเข้าไปเฝ้า พอพระเจ้าวิเทหราชตรัสให้นั่งก็แลดูท่านเศรษฐี ๆ ก็เชื้อเชิญให้มโหสถนั่ง ณ ที่ซึ่งตนนั่งอยู่ก่อน ส่วนตนก็ลุกไปนั่งอีกที่หนึ่ง มโหสถก็นั่งที่นั้น

     ขณะนั้นบัณฑิตทั้ง ๔ เฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ต่างพากันหัวเรอะเยาะเย้ยมโหสถ
     “อ้อ คนมีปัญญาเขาทำกันอย่างนี้นะ ที่ของพ่อ แต่ลูกกลับมานั่ง เป็นบัณฑิตแท้ทีเดียวล่ะ”

     พวกที่มาประชุมอยู่ที่นั้นทั้งหมดแม้จะไม่พูด แต่ก็มีสีหน้าเย้ยหยันมโหสถทุกคน แม้พระเจ้าวิเทหราชเองก็พระพักตร์ก็เปลี่ยนไปทันทีที่เห็นมโหสถไปนั่งที่ ๆ ท่านเศรษฐีนั่งอยู่ก่อน และท่านเศรษฐีต้องเลื่อนมานั่งต่ำกว่า มโหสถมองดูพฤติการณ์ทั้งนั้นด้วยกิริยาปกติ เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่าจะประสบเช่นนั้น จึงได้ทูลถามพระเจ้าวิเทหราช
     “ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า พระองค์ทรงเสียพระทัยหรือ?”
     “เออ ข้าเสียใจ ข้าใด้ฟังเกียรติคุณของเจ้าน่าเลื่อมใสชื่อเสียงก็ดี สติปัญญาก็สามารถ แต่พอมาเห็นพฤติการณ์ของเจ้าที่ให้บิดาของเจ้าเองลุกจากที่ และเจ้านั่งแทนเสียเองข้าก็เสียใจ”
     “พระองค์สำคัญพระทัยว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในทุกสถานหรือ ?”
     “เออ ข้าเข้าใจอย่างนั้น”
     “พระองค์ทรงส่งข่าวไปถึงหม่อมฉันว่า ขอให้ส่งม้าอาชาไนยที่ประเสริฐกว่าม้าสามัญมาให้ พร้อมทั้งเอาพ่อมาด้วย”

     ทูลได้เท่านั้นแล้วก็พยักหน้าให้บริวารนำลาที่หุ่มห่อมาเป็นอันดีเข้ามาหาหน้าที่นั่ง ให้มันนอนแทบปลายพระบาทของพระเจ้าวิเทหราชซึ่งกำลังสนพระทัยเต็มที่ว่านี่มันตัวอะไรกัน” บริวารมโหสถเปิดขึ้นก็ปรากฎว่ามันเป็นลาตัวหนึ่ง
     “พระองค์โปรดตีราคาลาตัวนี้เถิดพระเจ้าค่ะ ว่าเป็นราคาสักเท่าไหร่ ?”
     “อย่างมากก็ไม่เกิน  ๒๐ บาท”   ทรงรับสั่ง
     “ถ้าเป็นม้าอาชาไนย จะมีราคาสักเท่าไหร่พระเจ้าค่ะ”
     “หาค่าไม่ได้น่ะสิเจ้า”
     “พระองค์เหตุไฉนจึงตรัสเช่นนั้น เมื่อกี้พระองค์ทรงตรัสว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในทุกสถานมิใช่หรือ”
     “ก็ใช่น่ะสิ”
     “ถ้าเช่นนั้นพระองค์โปรดรับลาตัวนี้ไว้เถิด ข้าพระองค์ขอถวาย และมิแต่เท่านั้น ขอพระองค์ได้โปรดรับท่านบิดาของกระหม่อมฉันไว้แทนกระหม่อมฉันด้วยเถิด”
     “ทำไมเป็นงั้นล่ะ”
     “เพราะเมื่อบิดาประเสริฐกว่าบุตรจึงควรจะรับบุตรไว้ ดังนี้จึงจะควรพระเจ้าค่ะ”
     “ว่าอย่างไรท่านปราชญ์” ทรงหันไปถามนักปราชญ์ทั้ง ๔
     “จริงอย่างมโหสถว่าพระเจ้าค่ะ”

     พระวิเทหราชทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทรงตรัสเรียกศิริวัฒกะเศรษฐีเข้าไปเฝ้าใกล้ ๆ ทรงหยิบพระคณทีทองหลั่งน้ำลงไปในมือของท่านเศรษฐี มอบให้ปกครองบ้านปาจีนวยมัชณคาม และตรัสสั่งประชาชนทั้งหลายในบ้านนั้นอุปถัมภ์บำรุงท่านเศรษฐี ได้ฝากของไปพระราชทานสุมนาเทวี ผู้มารดาของมโหสถด้วย และทรงรับสั่งว่า
     “ท่านเศรษฐี ฉันยินดีมากที่ได้ปัญญาของเจ้ามโหสถ ฉันจะรับเจ้ามโหสถไว้เป็นบุตรบำรุงเลี้ยงรักษาต่อไป”
     “ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า เจ้ามโหสถยังเล็กเกินไปพระเจ้าค่ะ ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมเลย”
     “เราพอจะเลี้ยงได้อยู่ ท่านรีบกลับบ้านเสียเถิด” ท่านเศรษฐีก็จำต้องกลับ แต่ก่อนจะกลับได้สวมกอดเจ้ามโหสถ แล้วให้ข้อเตือนใจว่า
     “พ่อมโหสถ เรื่องอะไรทั้งหลายพ่อก็ทราบดีแล้ว ทำอะไรอย่าได้ประมาทเป็นอันขาด”
     ตรงนี้ขอนำเอาคำกล่อนบทหนึ่งของท่าน น.ม.ส. มาเป็นคำเตือนของท่านเศรษฐี คำกลอนนั้นมีดังนี้


        “ใครจะว่าอย่างไรก็ตามเถิด
     แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า
     หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา
     สองสัตว์เขี้ยวงาอย่าวางใจ
     สามผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย
     สี่ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้
     ห้ามหากษัตรย์ทรงฉัตรไชย
     ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย”

     มโหสถก็ปลอบให้บิดาเบาใจ ว่าตนเองจะไม่ประมาทแล้วท่านเศรษฐีก็ลากลับไป พระเจ้าวิเทหราชจึงถามเจ้ามโหสถว่า
     “พ่อมโหสถ เจ้าจักเป็นข้าหลวงเรือนในหรือเรือนนอก”
     “ขอเดชะ บริวารของข้าพระองค์มีมากหน้าหลายตา ขอพระกรุณาเป็นข้าหลวงเรือนนอกพระเจ้าค่ะ"

     พระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสสั่งให้จัดสถานที่อยู่ให้มโหสถพร้อมบริวาร และนับแต่นั้นมามโหสถก็ต้องมีหน้าที่ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชเป็นประจำ


หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14