พระมโหสถ ๑๓

 
       “ขอเดชะ เกล้ากระหม่อมฉันได้อาศัยพระบารมีของพระองค์อยู่เป็นสุขนึกถึงพระคุณ จึงนำเอาเครื่องบรรณาการมาถวายพระองค์” นางอมรก็ให้คนไปยกกระชุ ซึ่งหุ้มด้วยเสื่อลำแพนเข้าไปถวาย
     “อะไรล่ะ แม่อมร?”
     “ขอได้โปรดทอดพระเนตรเองเถิดเพคะ” ก็รับสั่งให้ราชบุรุษเปิดขึ้น ครั้งแรกมองไปคล้ายลิงเผือกแต่ดู ๆ ไปก็ไม่ใช่ ครั้งแรกจะไม่ได้ว่าเป็นใคร ภายหลังพิจารณาไปก็จำได้ว่าเป็นอาจารย์ทั้ง  ๔   ถึงกับทรงนิ่งอึ้ง
     “นี่มันอะไรกัน? " ทรงถามตัวเองในพระทัย ส่วนขุนนางและราชบริพารที่เฝ้าอยู่ พอเห็นว่าเป็นอาจารย์ทั้ง  ๔  ก็อดขำไม่ได้ ปล่อยกันเสียครืนใหญ่ ลืมคิดไปว่าหน้าพระที่นั่งไปชั่วขณะ จากนั้นนางก็ได้ถวายสิ่งต่าง ๆ ที่อาจารย์เหล่านั้นให้คนไปขายให้นาง พร้อมทั้งหลักฐานที่นางได้บันทึกไว้ถวายให้ทอดพระเนตร

     ถึงเช่นนั้นพระเจ้าวิเทหราชก็หาได้จัดการอย่างไรไม่กลับให้อาจารย์ทั้ง  ๔  กลับบ้านได้ตามสบาย นี่คือความอยุติธรรมที่บุคคลจะได้รับจากผู้ใหญ่เหนือตนที่มีแต่อารมณ์เท่านั้น มโหสถตกอยู่ในสภาพมีปากก็เหมือนไม่มี พูดไม่ได้ โลกหนอโลกเป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้ายังมีคนเช่นนี้อยู่เชื่อเถอะว่าความอยุติธรรมเช่นนี้ยังมีอยู่แน่ ๆ

     หลังจากนั้นเทพเจ้าผู้รักษากัมพูฉัตรเห็นว่าจะไปกันใหญ่บ้านเมืองจะไม่มีขื่อมีแป เพราะคนสอพลอมีมาก ผิดก็ไม่ผิด ส่วนคนไม่ผิดบังคับให้ผิด คืนหนึ่งจึงปรากฎตัวในที่บรรทมของพระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามปัญหา  ๔   ข้อ

     ข้อ ๑   ว่า   ผู้ที่ตบตีผู้อื่นด้วยมือด้วยเท้า ตบปากผู้อื่น ผู้นั้นยิ่งเป็นที่รักของผู้ที่ถูกตี คือใคร?”

     ข้อ ๒   ว่า   ผู้ที่ด่าว่าผู้อื่น แต่ไม่อยากให้เขาเป็นไปตามนั้น และคนถูกเป็นคนที่รักของคนด่า คือใคร?”
     ข้อ ๓   ว่า   ผู้ที่โกหกกันเหลาะเเหละไม่เป็นความจริงแต่คนโกหกนั้นแหละเป็นที่รักของกันและกัน คือใคร?”
     ข้อ ๔   ว่า   ผู้ที่เอาพัสดุสิ่งของ ข้าวน้ำผ้าผ่อนไป แต่ผู้นั้นกลับเป็นผู้ที่ชอบใจของเจ้าของพัสดุเหล่านั้น ผู้นั้นคือใคร?” รวมเป็นปัญหา  ๔   ข้อด้วยกัน


 
     ถ้าพระเจ้าวิเทหราชตอบไม่ได้ตายแน่ ๆ ทีเดียว พระเจ้าวิเมหราชทรงกลัวเทวดานั้นมาก รุ่งเช้าจึงเรียกนักปราชญ์ทั้ง  ๔  มา แต่ทั้ง  ๔  ท่านกลับตอบมาว่า
     "ขอเดชะ ข้าพระองค์ออกจากบ้านไม่ได้ เพราะถูกโกนศรีษะเป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่ประชาชน” พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงส่งหมวก (หมวกแขก) ไปให้ใส่เข้ามา นักปราชญ์ทั้ง  ๔  จึงเข้ามาได้ เมื่อท่านปราชญ์ทั้ง  ๔  เข้ามาแล้วจึงตรัสถามปัญหา  ๔   ข้อนั้น ทั้ง  ๔  ก็จนปัญญาไม่สามารถจะตอบได้ เพิ่มความปวดเศียรให้แก่พระเจ้าวิเทหราชเป็นอเนกประการ

     ตกกลางคืนเทวดาก็มาออกมาซักถามหาคำตอบว่าพระองค์ตอบได้หรือยัง ก็ตรัสตอบไม่ได้ แถมนักปราชญ์ประจำราชสำนักก็ตอบไม่ได้อีก
     “พระองค์น่ะ มีเพชรใช้กลับไปเห็นพลอยดีกว่า ก็ช่วยไม่ได้ เรื่องนี้มันต้องมโหสถ แต่ถ้าพระองค์ยังตอบไม่ได้ที่สุดคือ ความตาย” พอรุ่งเช้า ก็รับสั่งให้ออกค้นหามโหสถทั้ง  ๔   ทิศ พร้อมกับสั่งไปด้วยว่า ยกโทษให้หมดทุกอย่าง ให้มโหสถรีบเข้ามาเฝ้าเร็วที่สุด พวกราชบุรุษก็ออกตามไปพบมโหสถที่โรงช่างหม้อที่หมู่บ้านทิศใต้ มีเนื้อตัวเปียกมอมไปด้วยดินที่ปั้นหม้อ เขากำลังทำหน้าที่เป็นคนใช้ ซึ่งนายช่างปั้นหม้อได้ใช้ให้เขาทำอยู่พอพบราชบุรุษเข้าไปกราบไหว้แล้วบอกให้ทราบถึงว่าพระราชายกโทษให้แล้ว ขอให้รีบกลับไปเข้าเฝ้า

     มโหสถพอเห็นราชบุรุษก็รู้ว่าหมดเคราะห์แล้ว จึงรีบทิ้งที่ตนกำลังกินอยู่ออกเดินทางมาเฝ้า เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทราบว่า มโหสถมาเฝ้าทั้งที่กำลังมีเนื้อตัวที่เปื้อนเปรอะดินทรายเต็มไปหมด จึงสั่งให้ไปอาบน้ำอาบท่าเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาเฝ้า มโหสถก็ทำตามรับสั่ง เมื่อเข้ามาเฝ้า

   พระเจ้าวิเทหราชจึงได้ตรัสเล่าถึงปัญหาของเทวดา  ๔   ข้อ ให้ฟัง และถามท้ายว่าถ้าพระองค์ตอบไม่ได้ก็จะสิ้นพระชนม์ มโหสถได้ฟังก็หัวเราะ
     “ง่ายพระเจ้าค่ะ”
     “พิโธ่ เราเป็นทุกข์เป็นร้อนจะตายไป แม้ท่านปราชญ์ทั้ง  ๔  ผู้เก่งกล้าสามารถก็ยังไม่สามารถจะตอบได้ยังมาพูดเป็นเล่นเสียอีก”
     “มิได้พระเจ้าค่ะ ไม่เป็นเล่น กระหม่อมทูลจริง ๆ ว่าปัญหานี้ง่ายมาก”
     “เออ ถ้าอย่างนั้นก็โล่งใจ พ่อช่วยแก้ดูทีว่าอะไรเป็นอะไร”
     "ขอเดชะ ปัญหาข้อมที่  ๑   ที่ว่า ผู้ที่ตบตีผู้อื่นแต่ผู้ถูกตีกลับรักผู้ตีนั้น ก็ได้แก่เด็กน้อยกับมารดา บิดา เด็กน้อยแม้จะหยิกทึ่งตบตีมารดาบิดาอย่างไร มารดาบิดากลับรักเด็กนั้นมายิ่งขึ้น”

    พอแก้ปัญหาจบเทวดาก็ให้สาธุการ “ดีจริงพ่อมโหสถ” จึงแก้ข้อ  ๒  ต่อไป

     “ข้อที่  ๒   ที่ว่า ผู้ที่ด่าผู้อื่นแต่ใจไม่คิดร้าย และผู้ถูกด่าก็เป็นที่รักของผู้ด่า ก็ได้แก่มารดาบิดาและบุตรพระเจ้าค่ะ เพราะเวลาบุตรขัดใจ มารดาบิดาจะด่าว่า แต่ในใจนั้นมิได้คิดร้ายไปด้วยเลย เพราะความรักแท้ ๆ จึงด่าว่าต่าง ๆ นานา”

   “ดีจริงพ่อมโหสถ” เทวดาให้สาธุการอีก

     "ข้อที่  ๓   ที่ว่า ผู้ที่โกหกเหลอะแหละไม่เป็นความจริง แต่คนโกหกนั้นกับเป็นที่รักของกันและกัน ก็ได้แก่สามีภรรยาที่อยู่ในที่รโหฐาน ก็เย้าหยอกกันด้วยถ้อยคำที่ไม่จริง ซึ่งต่างก็รู้กันว่าไม่จริง แต่ก็โกหกกันและรักกัน”

    พระเจ้าวิเทหราชถึงกับทรงพระสรวล “ง่ายจริงนะพ่อมโหสถ ทีเราเองคิดหัวแทบแตกแต่แก้ไม่ได้เลย” เทวดาก็ให้สาฑุการอีก

     “ส่วนข้อที่  ๔   ที่ว่า ผู้ที่เอาพัสดุสิ่งของข้าวปลาผ้าผ่อนไป ผู้นั้นกลับเป็นที่รักของเจ้าของเสียอีก ก็ได้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้มารับไทยทานจากสัตบุรุษซึ่งถวาย แม้จะรับไปสักเท่าไดกHไม่โมโหโกรธเคือง มีแต่จะถวายมากขึ้นเสียอีก”

     “ดีจริง” เทวดาให้สาธุการ


 
      และนับตั้งแค่นั้นมามโหสถก็หมดไปจากความระแวงของพระเจ้าวิเทหราชจะแย่งสมบัติ จึงพระราชทานเงินทองและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เจ้ามโหสถอีกมากทาย ความริษยาบังเกิดขึ้นแก่อาจารย์ทั้ง  ๔  เป็นอันมาก เขาได้ปรึกษาหารือกันถึงการที่จะกำจัดเจ้ามโหสถ เมื่อคิดขึ้นได้จึงไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช
     “ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ผู้ที่มีจิตใจจะคิดการใหญ่อยู่เสมอแล้ว เขาจะไม่ยอมบอกความลับของตนแก่ใครเลย พวกข้าพระองค์พิจจรณาดูเจ้ามโหสถแล้วเห็นว่าไม่น่าไว้วางใจเสียแล้ว เพราะเข้าไม่ยอมบอกบอกความลับของเข้าแก่ใคร หากพระองค์ไม่เชื่อโปรดสอบถามดูก็จะได้ความจริง” พระเจ้าวิเทหราชไม่อยากจะเชื่อ แต่เห็นว่าพระองค์พอวินิจฉัยได้ จึงคิดลองดูก่อนว่าจะเหมือนถ้อยคำของอาจารย์ทั้ง  ๔   หรือไม่

     ในเวลาเสด็จออกขุนนาง จึงปราภเหตุอันควรไว้ใจและมิควรจะไว้ใจ และตรัสถามปราชญ์ทั้ง  ๔   ท่านเป็นลำดับกัน
     “ท่านอาจารย์เป็นว่าควรจะบอกความลับแก่ใคร?”
     “ข้าพระองค์เห็นควรบอกแก่มิตร เพราะแม้นักปราชญ์แต่ปางก่อนก็ให้บอกมิตร”
     “ท่านปุกกุสะเล่า”
     “ข้าพระองค์เห็นว่าควรบอกแก่พี่ชายน้องชาย”
     “ท่านกามินทร์เล่า เห็นควรบอกแก่ใคร”
     “ข้าพระองค์เห็นว่าควรบอกแก่บุตร”
     “ท่านเทวินทร์เล่า”
     “ข้าพระองค์ถือภาษิตของปราชญ์แต่โบราณว่า มิตรในเรือนคือแม่ของเรา จึงควรบอกความลับแก่มารดาของตน” แล้วจึงทรงหันไปทางมโหสถ พรางตรัสถามว่า
     “พ่อมโหสถเล่า เห็นว่าอย่างไร ความลับควรจะบอกแก่ใครดี” ด้วยความซื่อมิได้คิดว่ามีเล่ห์กลอันใด มโหสถจึงทูลตอบออกไปว่า
     “ขอเดชะ สำหรับความคิดของข้าพระองค์แล้ว เห็นว่าความลับของตนไม่ควรจะบอกใครทั้งหมดพระเจ้าค่ะ จนกว่าความคิดนั้นสำเร็จแล้วจึงค่อยบอกกับคนทั้งปวง” พระเจ้าวิเทหราชได้ฟังก็ทรงเสียพระทัยมากว่าเจ้ามโหสถจะเป็นอย่างนักปราชญ์ทั้ง  ๔  บอกเสียเป็นแน่ ภาษิตที่ว่า
     “อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว” ยังเป็นความจริงที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย เมื่อจิตใจคิดอย่างนั้น สีหน้าก็เสดงปรากฎชัดออกมาเสนกะมองพระราชา และพระราชาก็มองเสนกะ มโหสถเมื่อตอบออกไปแล้วเห็นพระราชาและเสนกะทำพิรุษก็ชักเอะใจ
     “คงมีอะไรอีกแล้ว”


 
      พอดีเป็นเวลาเย็นแล้ว มโหสถจึงกราบถวายบังคมลาไปบ้าน ในขณะกลับเดินคิดถึงเรื่องปราชญ์ทั้ง  ๔    ตอบพระราชาคิดอยากจะรู้ และทราบว่าทั้ง  ๔    ท่านเมื่อออกมาจากที่เฝ้าก็มักจะชอบมานั่งคุยกันที่ข้างประตูซึ่งมีถังข้าวคว่ำไว้ และปราชญ์ทั้ง  ๔   ก็มานั่งคุยกันบนก้นถังเสมอ ๆ จึงรีบไปยังที่นั้น และตะแคงถังข้าวขึ้นแล้วตนก็เข้าไปนั่งใต้ถังข้าวนั้น พร้อมกับสั่งบังคับให้คนสนิทไว้ว่าเมื่อเขาเข้าไปเรียบร้อยแล้วก็ให้หลบไปอยู่เสียให้ห่าง ๆ ต่อเมื่อเห็นอาจารย์ทั้ง  ๔   กลับออกไปแล้วจึงค่อยมาตะแคงถังข้าวให้มโหสถออกมา มโหสถเข้าไปอยู่ใต้ถังข้าวไม่นานนัก อาจารย์เจ้าเล่ห์ทั้ง  ๔    ออกจากที่เฝ้าแล้วก็มาประชุมกันอยู่ที่นั้น เสนกะจึงได้ถามอาจารย์ทั้ง  ๓  ว่า ที่ท่านบอกกับพระเจ้าอยู่หัวว่าควรบอกความลับของตนแก่คนนั้น ท่านได้รับบอกเล่ามาจากผู้ใดหรือไม่ว่าท่านได้เคยประพฤติมาแล้ว อาจารย์ทั้ง  ๓    ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
     “ท่านอาจารย์ ความลับเหล่านั้นพวกเราได้ปฎิบัติกันมาแล้ว และถ้าหากว่าพระราชารู้เข้าพวกเราจะพากันสิ้นชีวิตไปตาม ๆ กัน”
     “ใครมันจะรู้นะ ก็มีแต่พวกเรา  ๔   คนเท่านั้นที่มา”
     “ว่าไม่ได้นา มโหสถอาจจะมาอยู่ใต้ถังนี้ก็ได้” เสนกะพูดเล่นเป็นเชิงเย้าอาจารย์ทั้ง  ๓    พร้อมกับเอานิ้วมือเคาะถังข้าว
     “คนเมายศอย่างเจ้ามโหสถ คงไม่ทำอย่างนี้เป็นแน่” เสนกะจึงเอ่ยขึ้น
     “ความลับของข้าพเจ้าถ้าใครรู้เข้าข้าก็มีหวังเป็นตายแน่”
     “บอกมาเถอะน่า ไม่มีใครเลยนี่นา”
     “พวกเราจำหญิงโสเภณีที่ชื่อสิริมาได้หรือเปล่า”
     “อ๋อ แม่คนสวยที่ติดจะหยิ่ง ยังแถมเลือกรับแขกน่ะเรอะ” เออ คนนั้นล่ะ”
     “ทำไมล่ะ?”
     “เดี๋ยวนี้พวกท่านเห็นนางบ้างหรือเปล่า?”
     “เออ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพบเห็นนางเลย หรือจะถูกเนรเทศไปทางไหนเสียแล้ว
     “ไม่มีคนเนรเทศนางหรอก”
     “แล้วนางหายไปไหนเสียเล่า”
     “ก็เรานี่แหละที่ทำให้นางหายไป”
     “ท่านอาจารย์ทำยังไงล่ะ”
     “คือว่าวันหนึ่งเราให้คนไปรับนางมาที่สวนแห่งหนึ่งนางแต่งตัวมาเสียสวยทีเดียว เราเกิดไปชอบใจจี้ห้อยคอของนางเข้า เมื่อร่วมกับนางเสร็จแล้วเราเลยพลั้งมือบีบคอนางเสียตาย แล้วแถมเอาศพฝังเสียด้วย เครื่องประดับของนางเรายังเอามาห่อเก็บไว้ในเรือนไม่กล้าเอาออกมาใช้ เพราะกลัวคนจำได้ นางเลยหายสาปสูญไป และเราได้บอกความลับนี้แก่สหายคนหนึ่ง เราจึงได้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าควรบอกความลับของตนแก่เพื่อน เรื่องนี้ถ้าพระเจ้าอยู่หัวรู้เข้า เราเป็นถูกประหารแน่ ๆ”
     “ข้าพเจ้าก็เหมือนกับท่านอาจารย์”
     “เป็นอย่างไรลองเล่าไปทีรึ”
     “ข้าพเจ้าเป็นโรคเรื้อนที่ขา ไม่มีใครรู้เลยนอกจากน้องชายของข้าพเจ้า เขาได้ทายาทำความสะอาดแผลและเอาผ้าพันแผลไว้ และท่านคงสังเกตเห็นแล้วว่าพระราชาโปรดข้าพเจ้ามาก บางทีถึงกับเอาเศียรพาดตักข้าพเจ้าบ่อย ๆ ถ้าพระราชารู้ข้าพเจ้าคงตายแน่ ๆ คนอื่นไม่มีใครรู้นอกจากข้าพเจ้าคนเดียวข้าพเจ้าจึงทูลว่าควรบอกความลับแก่น้องชาย” “ท่านกามินทร์ล่ะ มีอะไรจึงทำให้ท่านทูลพระราชาอย่างนั้น”
     "สำหรับข้าพเจ้าน่ะรึ มีโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่ง เวลาเป็นแล้วจะร้องเหมือนอย่างกับหมาบ้า บุตรข้าพเจ้ารู้ พอถึงเวลาข้าพเจ้าเป็นซึ่งจะต้องเป็นในแรม   ๘ ค่ำ   ก็จัดหามโหรสพมาเล่นที่หน้าบ้าน ปิดเสียงข้าพเจ้าที่ร้องได้ ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่าที่หน้าบ้านข้าพเจ้ามีการเล่นทุกเดือน นี่เป็นเพราะเหตุนี้ และความนี้ไม่มีใครรู้เลยนอกจากบุตรชายคนเดียวของข้าพระเจ้า จึงได้ทูลพระราชาไปอย่างนั้น”
     “แล้วท่านเทวินทร์ล่ะ”
     “สำหรับข้าพระเจ้า ถ้าความนี้ทราบถึงพระกรรณพระเจ้าอยู่หัวแล้วเป็นตายแน่นอน”
     “เพราะอะไรล่ะ?”
     “เพราะพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นของวิเศษน่ะสิ”
     “เอ้า ลองเล่าไปดูทีรึ”
     “สมัยพระเจ้ากุสราชได้รับแก้ววิเศษไว้ดวงหนึ่งจากพระอินทร์ พอใกล้จะสิ้นรัชกาลข้าพเจ้าได้โอกาสก็เลยลักเอาแก้วดวงนี้ไปฝากมารดาไว้ แล้วอาศัยแก้วดวงนี้จะทำอะไรก็ประกอบด้วยสิริเช่นการจะตรัส พระเจ้าอยู่หัวจะต้องตรัสกับข้าพระเจ้าก่อนคนอื่น และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเนือง ๆ ก็เพราะแก้วดวงนี้ ข้าพเจ้าจึงทูลแก่พระราชาให้บอกความลับแก่มารดา” นักปราชญ์เจ้าเล่ห์ทั้ง  ๔  จึงเอ่ยสรุปว่า
     “แล้วพวกเรารู้กันแล้วอย่าประมาท ช่วยกันฆ่าอ้ายเจ้ามโหสถเสียให้ได้” แล้วต่างก็พากันแยกย้ายกลับไป มโหสถก็ออกมาจากถังข้าวกลับบ้านไป และสั่งคนให้ไปคอยฟังข่าวจากพระนางอุทุมพร

 
       พระเจ้าวิเทหราชตั้งแต่ได้ทรงรับสั่งให้อาจารย์ทั้ง  ๔    ก็รับสั่งให้ฆ่ามโหสถเสียแลย เมื่อทรงคำนึงว่า มโหสถตั้งแต่เข้ามาอยู่ก็ยังไม่เคยปรากฎว่าทำร้ายพระองค์เลย แม้จะมีข่าวอย่างโน้นอย่างนี้ก็เป็นเพราะผู้อื่นทั้งนั้น เพียงอาจารย์ทั้ง  ๔    บอกเล่าเราก็ทิ้งคติโบราณที่ว่า

  จะตัดสินจะตั้งศาล จะต้องโจทก์จำเลยสม
  แม้ไต่สวนมิควรข้อง ก็ยกฟ้องนิรารมย์
  จะชอบเชิงวิชิตชม เผชิญดุลวินิจฉัย

     เมื่อทรงรำพึงทำให้ไม่สบายพระทัย เราออกจะหูเบามากทีเดียว ใครฟ้องอย่างไรก็เชื่อมันตะบันเลย เออ มโหสถเห็นจะตายเสียแล้วเป็นแน่ เ้ลยทำให้พระองค์ทรงบรรทมไม่หลับกระสับกระส่ายไปมา นี่ถ้าผู้ใหญ่เป็นอย่างนี้บ้างแล้ว ความยุติธรรมทั้งหลายก็คงจะดีไม่น้อย เว้นเสียแต่จะ ทิ้งพรหมวิหารให้กลายเป็นฝังอยู่ในตำราโลกปัจจุบันเราเท่านั้น พระนางอุทุมพรเห็นพระสวามีพลิกกระสับกระส่ายจึงทูลถามถึงสาเหตุที่ไม่สบายพระทัย พระองค์ก็ตรัสบอกที่ได้ข่าวมาว่า มโหสถจะคิดกบฎจึงได้สั่งให้ประหารชีวิตเสียแล้ว พระนางถึงกับตกพระทัยแต่ก็ควบคุมสติได้ เพราะได้ทราบว่ายังมิได้ประหารเจ้ามโหสถ จึงทูลเล้าโลมให้คลายพระทัย
     “พระองค์ตั้งเจ้ามโหสถไว้ในตำเเหน่งที่ยิ่งใหญ่แล้วกลับคิดกบฎทรยศ ก็สมควรแล้วที่พระองค์จะตรัสประหารเสีย” จึงทำให้พระราชาคลายวิตกบรรทมหลับไปได้ พระนางจึงเขียนสาส์นให้คนถือไปให้เจ้ามโหสถ
     “อย่าเข้ามาพรุ่งนี้เช้า ถ้าจะเข้ามาจงเอาประชาชนมาด้วย”

     ข้อนี้ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าทรงธรรมซึ่งพระยากลาโหมสิริวงศ์ถูกสั่งให้จับตายจมื่นศรีวรรักษ์ได้มีจดหมายถึงว่า
     “ถ้าจะเข้ามาก็ต้องขึ้นเวที เมื่อขึ้นเวทีก็ต้องเตรียมเครื่องมาให้พร้อม" แต่เพียงคล้ายคลึงกัน เพราะครั้งนั้นเข้ามาชิงเอาราชสมบัติเลย เจ้ามโหสถมิได้ทำเช่นนั้น ดูต่อไปดีกว่า

     เจ้ามโหสถได้รับข่าวจากราชบุรุษที่วางใจ ก็รีบจัดแจงออกไปยังบ้านเก่า เกณฑ์ประชาชนที่เคารพนับถือได้เป็นจำนวนพันก็พากันแห่แหนมายังพระราชวัง อาจารย์ทั้ง  ๔    ไปคอยดักฆ่าเจ้ามโหสถตั้งแต่เช้า แต่เมื่อไม่เห็นเจ้ามโหสถมาก็ผิดหวัง กลับออกไปคอยที่อยู่ว่าเอ็งมาเมื่อไรเข้ามาหัวหลุดจากบ่าทันที มโหสถพร้อมด้วยประชาชนพากันแห่แหนเข้าไปยังพระราชวัง เมื่อถึงเห็นพระเจ้าวิเหราชประทับอยู่ที่พระแกลก็ลงจากรถถวายบังคม พระเจ้าวิเทหราชเห็นมโหสถลงมาถวายบังคมก็ค่อยใจชื้น เพราะแน่รู้ว่ามโหสถไม่ชิงราชสมบัติ จึงทรงรับสั่งถามอย่างไม่รู้ไม่ชี้ว่า
     “พ่อมโหสถ เมื่อวานกลับแต่วัน เพื่งจะมาเดี๋ยวนี้เอง จะบอกเล่าเก้าสิบบ้างก็ไม่ได้”
     “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ เรื่องอะไรอยู่ก็รู้แก่พระทัยของพระองค์สิ้นแล้ว อย่าให้กระหม่อมฉันต้องทูลซ้ำเลย”
     “มโหสถ เธอออกจะดูหมิ่นฉันเสียแล้ว”
     “ขอเดชะ กระหม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น แต่ว่าความลับของท่านอาจารย์ทั้ง  ๔   น่ะ พระองค์รู้แล้วหรือ?” และได้ทูลต่อไปว่า “อาจารย์ทั้ง   ๔   ได้ทูลข้อความนั้น ข้าพระองค์ได้ทราบความลับของท่านอาจารย์ที้ง  ๔    อย่างแจ่มแจ้งแล้ว จะขอทูลถวายให้ทรงทราบ”
     “ลองว่าไป” มาจารย์เสนกะได้ล่อลวงหญิงแพสยาไปกระทำเสวนกิจแล้วฆ่านางฝังศพไว้ ที่อาจารย์เสนกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นกบฎนั้นเสนกะนั่นแหละพระเจ้าค่ะที่เป็นกบฎล่ะ”
     “จริงหรือเสนกะ ที่เจ้าฆ่าหญิง”
     เสนกะเหงื่อแตกโซมหน้า จะปฎิเสธก็ใช่ที่ เพราะหลักฐานมี จึงอ้อมแอ้มตอบว่า   “จริงพระเจ้าค่ะ”
     “ชะ ชะ ไอ้พวกนี้ เฮ้ย ราชมัลจับเจ้าเสนกะไปจำคุกไว้ก่อน” อาจารย์เสนกะก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินเข้าคุกไปโดยดีให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว
     “ส่วนอาจารย์ปุกกุสะ เป็นโรคที่สังคมรังเกียจคือโรคเรื้อนที่ขา ซึ่งทางราชการก็ไม่เลี้ยงคนเช่นนี้ พระองค์ยังแถมเคยหนุนแข้งขาของปุกกสะด้วย”
    พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า   “จริงหรือปุกกุสะ”
     “ขอเดชะ จริงพระเจ้าค่ะ” ปุกกุสะตอบอย่างไม่เงยหน้ามองผู้ใด”
     “เอามันไปขังคุกไว้ก่อน”
     “อาจารย์กามินทร์ถูกผีเสื้อยักษ์สิงพระเจ้าค่ะ เวลาสิงจะร้องเหมือนหมาบ้า ซึ่งพระองค์ไม่ควรจเลี้ยงไว้ให้เป็นเสนียดจัญไรแก่พระราชฐาน”
     “จริงไหมกามินทร์”
     “จริงพระเจ้าค่ะ”
     "จับมันไปขังคุก”
     “อาจารย์เทวินทร์ลักพระราชทรัพย์ โทษถึงสิ้นขีวิตพระเจ้าค่ะ”
     “เขาลักอะไรล่ะ?”
     “ลักแก้วมณีพระเจ้าค่ะ”
     “จริงรึเทวินทร์”
     “จริงพระเจ้าค่ะ”
     “เอามันไปขังคุก” เป็นอันว่าอาจารย์ทั้ง  ๔   ต้องเข้าไปประดิษฐานอยู่ในคุกเพราะความอิจฉาริษยา พยายามทำร้ายคนที่ไม่ทำร้ายตอบสาธุ ถ้าความยุติธรรมยังมี


 
       รุ่งขึ้นพระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษามโหสถว่า จะให้นักปราชญ์ทั้ง  ๔   เฆี่ยนคนล่ะ  ๑๐๐  แล้วก็ให้ประหารเสีย เมื่อนำอาจารย์ทั้ง  ๔  มาเฆี่ยนเรียบร้อยแล้ว ราชมัลก็จะนำไปสู่ที่ประหาร แต่มโหสถก็กราบทูลขอว่า
     “ชอเดชะ อาจารย์เหล่านี้เป็นคนเก่าคนแก่ของพระองค์ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะความริษยาข้าพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น พูดถึงความฉลาดเฉียบแหลมแล้วหาตัวจับยาก หากพระองค์พระราชทานชีวิตไว้ จะมีประโยชน์แก่แผ่นดินอีกมากพระเจ้าค่ะ”
     “เขาคิดจะฆ่าเจ้านะมโหสถ”
     “ข้าพระองค์ไม่คิดพยาบาทพระเจ้าค่ะ”
     “ถ้าเช่นนั้นเรายกให้เจ้า” และบังคับนักปราชญ์ทั้ง  ๔   ให้เป็นทาสของมโหสถ

     มโหสถก็ได้ยกให้เป็นไปในเวลาต่อมา และขอให้พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็ได้ตามความประสงค์ นักปราชญ์ทั้ง  ๔  รอดตายได้ก็เพราะมโหสถช่วย เลยเลิกคิดเคียดแค้น และนับแต่นั้นมา มโหสถก็เป็นอำมาตย์ว่าราชกิจการบ้านเมืองทุกอย่างเต็มที่


หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14