พระมโหสถ ๘

 
  
ในราชสำนัก แก้วมณีในรังกา

       ในด้านทิศใต้ไม่ไกลจากประตูเมืองนัก มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง ใกล้ ๆ สระนั้นก็มีต้นตาลขึ้นอยู่ด้วย มีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นภายในสระ ยามแสงอาทิตย์ส่องจะปรากฎมีรัศมีพร่างพรายภายในสระ ประชาชนพากันพิศวงไม่รู้ว่าอะไรแน่ แต่ก็คิดว่าเป็นของดีแน่ บางคนถึงกับลงไปงมในสระ แต่ไม่ปรากฎว่าได้อะไรขึ้นมา พอหมดแสงอาทิตย์ รัศมีอันเลื่อมพรายนั้นก็หายไป

     จึงได้เกิดเป็นข่าวเล่าลือกันไปถึงว่าน้ำในสระเป็นของวิเศษกินแก้โรคภัยไข้เจ็บได้ทุกชนิด ใครมีเคราะห์หามยามร้ายอย่างไร เอาน้ำในสระไปรดจะหาย หรือบรรเทาเบาบางไป ประชาชนบางคนหัวคิดดี ก็นำเอาภาชนะสำหรับใส่น้ำเป็นต้นว่า ขวดหรือกระป๋องมาไว้จำหน่ายจ่ายแจกแก่พวกที่ต้องการนำน้ำในสระไปฝากพรรคพวกเพื่อนฝูง ที่นั้นเลยกลายเป็นชุมนุมชน กลิ่นธูปควันเทียนก็ตลบอบอวลไปทั่วทั้งบริเวณ

     ข่าวประหลาดพิสดารนี้ ก็ทราบไปถึงพระเจ้าวิเทหราชจึงเสด็จไปทอดพระเนตรเพื่อพิสูจน์ความจริง พร้อมมกับนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย เมื่อเสด็จไปถึงสระ ก็ทอดพระเนตรแสงเลื่อมพลายอันเกิดจากแก้ว ก็ให้พิศวงในพระทัย แต่ยังไม่ทราบว่าแสงนั้นเกิดจากอะไรแน่นอนจึงหันไปถามนักปราชญ์ ๔ พลางตรัสว่า
     “ท่านอาจารย์พอสังเกตเห็นว่าแสงนี้เกิดจากอะไร?”
     “ขอเดชะ” เสนกะกลาบทูล “ข้าพระพุทธเจ้าคาดว่าคงจะเป็นแสงเกิดจากแก้ววิเศษพระเจ้าค่ะ”
     “ท่านพอจะนำมาได้หรือไม่?”
     “ขอเดชะ ข้าพระองค์อาจนำมาได้” “ถ้าเช่นนั้น ท่านอาจารย์ไปนำมาดูทีหรือว่าแก้วนั้นจะวิเศษขนาดไหน ?”

     เสนกะได้รับอนุมัติจากพระเจ้าวิเทหราช แล้วก็สั่งให้ทหารวิดน้ำให้แห้ง เพื่อจะนำแก้วมณีจากก้นสระมาถวายพระราชา แต่เมื่อวิดน้ำจนแห้งก็แล้วก็หาแก้วมณีไม่พบ เมื่อมีน้ำแสงแก้วก็ปรากฎอีก
     " ข้าพระองค์หมดปัญญาจะนำมาถวายแล้วพระเจ้าค่ะ”
     “แล้วท่านนักปราชญ์ทั้ง ๓ ล่ะ พอจะจัดมาถวายได้หรือไม่”
     “เมื่อท่านเสนกะยังจัดมาถวายไม่ได้ พวกข้าพระองค์ก็ไม่สามารถจัดหาถวายได้พระเจ้าค่ะ”

    เมื่อนักปราชญ์ทั้ง ๔ หมดปัญญาแล้ว ก็ทรงหันไปตรัสถามมโหสถว่า
     “พ่อมโหสถ พ่อจะจัดหามาได้หรือไม่?”
     “ข้าพระองค์ขอออกไปพิจารณาก่อนพระเจ้าค่ะ”

     เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว มโหสถก็ออกไปพิจารณายังสระน้ำ ก็เห็นแสงแก้วกระทบน้ำเลื่อมพราย จึงได้พิจารณาไปก็เห็นต้นตาลสูงต้นหนึ่งอยู่ใกล้สระจึงสั่งให้คนใช้นำขันน้ำมาให้แลดู ปรากฎแสงนั้นอยู่ในน้ำ ก็แน่ใจได้ทีเดียวว่าแก้วนั้นไม่ได้อยู่ในสระ แต่อยู่บนต้นตาล จึงกลับมาเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พอเข้าเฝ้า พระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสถามว่า
     “ยังไง พ่อมโหสถได้ความว่าอย่างไร พอจะได้แก้วไหม?”
     “ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า แก้วนั้นข้าพระองค์อาจจะเอามาถวายได้”
     “ได้จริง ๆ หรือ?” ทรงถามด้วยความดีพระทัย
     “ได้พระเจ้าค่ะ”
     “แล้วต้องวิดน้ำอีกใหม?”
     “ไม่ต้องพระเจ้าค่ะ”
     “ทำไมล่ะ?”
     “เพราะแก้วไม่ได้อยู่ในสระพระเจ้าค่ะ”
     “แล้วอยู่ที่ไหนล่ะ?”
     “อยู่บนต้นตาลพระเจ้าค่ะ ขอพระองค์ใช้ให้ใครขึ้นไปเอาคงจะได้สมประสงค์พระเจ้าค่ะ”

     พระเจ้าวิเทหราชจึงสั่งให้ราชบุรุษขึ้นไปบนต้นตาล ก็พบว่าแก้วมณีอยู่ในรังกาบนต้นตาลนั้นเอง จึงนำมาถวายพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งพระองค์ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงชมเชยมโหสถเป็นอันมาก เป็นอันว่าเสนกะจอมปราชญ์ต้องขายหน้ามโหสถอีกวาระหนึ่ง


 
  
กิ้งก่าได้ทอง

       วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปประพาสพระราชอุทยานพอถึงประตูก็เห็นกิ้งก่าตัวหนึ่งลงมาจากซุ้มประตู หมอบอยู่เบื่องหน้า จึงตรัสถามมโหสถว่า
     “พ่อมโหสถ เจ้ากิ้งก่ามันทำอะไรของมัน”
     “ขอเดชะ กื้งก่ามันถวายตัวพระเจ้าค่ะ” ทรงพระสรวลด้วยความขบขัน แล้วตรัสดัง ๆ เป็นที่รำพึงกับพระองค์เองว่า
     “อะไร กิ้งก่าก็รู้จักถวายตัวเหมือนกันหรือ ?” แล้งตรัสถามมโหสถต่อว่า
     “เมื่อมันมาถวายตัวก็ดีแล้ว ก็ควรจะได้รับรางวัลบ้างควรจะให้อะไรมันดีล่ะ”
     “ขอเดชะ กิ้งก่าเป็นสัตว์ไม่ควรให้อะไรพระเจ้าค่ะ ควรให้แต่อาหารเท่านั้น”
     “มันกินอะไร?”
     “กินเนื้อพระเจ้าค่ะ”
     “ควรจะให้มันกินวันละเท่าไรดี?”
     “สักวันล่ะเฟื่องก็เห็นจะพอพระเจ้าค่ะ”
     “ของพระราชทานเฟื่องเดียวดูไม่สมควร เอาบาทหนึ่งเถอะ” แล้วหันไปตรัสกับราชบุรุษว่า
     “นับแต่นี้ต่อไป จ่ายค่าเนื้อให้เจ้ากิ้งก่าวันละบาท แล้วนำมาซื้อให้มันกิน” พนักงานคลังก็มอบหน้าที่ให้พนักงานสวนเป็นผู้จ่ายและหาเนื้อให้กิ้งก่า

     และนับตั้งแต่นั้นมา เจ้ากิ้งก่าก็ได้กินเนื้อซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าวิเทหราชเป็นนิตย์ วันหนึ่งเป็นวันพระที่ตลาดไม่มีเนื้อขาย นายอุทยานบาลจึงเอาเงิน ๑ บาท มาเจาะรูผูกคอกิ้งก่าตัวนั้นแทน พอได้เงินผูกคอเท่านั้น กิ้งก่าก็เกิดผยองขึ้นมาทันที
     “ใครพอมีทรัพย์ เรามีทรัพย์เหมือนกัน จะต้องไปอ่อนน้อมถ่อมตนกับใครกัน เสมอกันทั้งนั้น” เจ้ากิ้งก่าขึ้นไปชูคอร่อนบนซุ้มประตู ทำเอาคนรักษาสวนแสนจะหมั่นไส้ แต่เพราะเป็นสัตว์ที่โปรดปรานของเจ้านายก็ต้องอดทนไว้

     วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยานอีก คราวนี้เจ้ากิ่งก่าหาได้ลงมาหมอบถวายบังคมอย่างเคยไม่ ซ้ำกลับขึ้นไปชูคอทำหัวผงก ๆ อยู่บนซุ้มประตูเสียอีก พระเจ้าวิเทหราชสงสัยในอากัปกิริยาของเจ้ากิ้งก่านั้นเป็นประมาณ จึงตรัสถามมโหสถว่า
     “พ่อมโหสถ พ่อดูทีเจ้ากิ้งก่ามันชูคอทำผงก ๆ อยู่ซุ้มประตูน่ะ มันทำอะไรของมัน"

     มโหสถพิจารณาดูกิ้งก่า ก็เห็นว่าที่คอมันมีเงินผูกคออยู่ก็ทราบได้ทันทีว่า เพราะมันมีทรัพย์จึงได้ถือตัว จึงกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า
     “ขอเดชะ กิ้งก่ามันผยองในทรัพย์ที่มันมีจึงไม่ลงมาถวายบังคมพระเจ้าค่ะ”
     “ชะ ชะ อ้ายสัตว์กระจ้อยร่อยชนิดนี้มันควรตายได้แล้วให้นายสวนฆ่าเสียดีกว่ากระมัง”
     “ได้โปรดพระเจ้าค่ะ” มโหสถทูลขึ้น
     “ว่าอย่างไรล่ะ”
     “มันเป็นสัตว์ไร้ปัญญา โปรดอภัยโทษมันเถิดพระเจ้าค่ะ เพียงแต่ไม่พระราชทานเนื้อให้มันก็พอเพียงแล้ว”

     พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงตรัสให้งดเนื้อแก่เจ้ากิ้งก่าที่แสนจะจองหองนั้นเสียนับแต่บัดนี้ เจ้ากิ้งก่าที่แสนจะจองหองก็ปราศจากลาภแต่นั้นมา


หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6   หน้า 7
  หน้า 8   หน้า 9   หน้า 10   หน้า 11   หน้า 12   หน้า 13   หน้า 14